แนวทางการเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นผู้ให้ (Giver)

            ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากการสูญเสียจากการรบแล้ว สิ่งที่ทำให้คนสงสัยและตกใจมากที่สุดก็คือการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวที่เกิดขึ้น ผู้คนมากมายต่างสงสัยว่าทำไมทหารหรือคนทั่ว ๆ ไปที่ดูไม่ได้เลวร้ายอะไร ถึงได้เห็นด้วย หรือร่วมมือทำสิ่งที่ชั่วร้ายแบบนั้นได้ วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Viktor Frankl) หัวหน้าแผนกประสาทวิทยา ซึ่งต่อมาเป็นจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เคยถูกจับเป็นเชลยในค่ายกักกันที่โหดร้ายที่สุดชื่อเอาชวิทซ์ ซึ่งเป็นค่ายที่มีการรมแก๊สเพื่อฆ่าชาวยิวอย่างเป็นระบบสำหรับผู้ที่อ่อนแอ ในขณะที่ผู้เข้มแข็งจะถูกใช้งานอย่างหนัก และได้รับประทานเพียงแค่เศษขนมปังกับซุปเย็นชืด

            ผู้คุมเกือบทุกคนปฏิบัติต่อเชลยเหมือนกับว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ทั้ง เฆียนตี ทารุณ และอีกมากมาย เป็นไปได้อย่างไรที่คนมีเลือดเนื้อเหมือนกันจะปฏิบัติต่อมนุษย์ผู้อื่นอย่างเลวร้ายขนาดนี้ ผู้คุมบางคนซึ่งเป็นเชลยเหมือนกัน กลับมีจิตใจหยาบกระด้างยิ่งกว่าผู้คุมนาซีเสียอีก เป็นการปฏิบัติกับเพื่อนร่วมชะตากรรมด้วยกันอย่างโหดเหี้ยมทารุณ พวกเขาเฆี่ยนตีเชลยคนอื่นทุกครั้งที่มีโอกาส หรือที่ไซต์งานก่อสร้างเมื่อเชลยได้รับอนุญาตให้ผิงไฟเป็นเวลาสองสามนาที หลังจากทำงานท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ แต่ก็มีหนัวหน้าคนงานบางคนทีมีความสุขมาก ถ้าได้ยื้อแย่งความสบายอบอุ่นลักษณะนี้ไปจากเชลย ใบหน้าของพวกเขาสะท้อนความพึงพอใจอย่างเห็นได้ชัดเจน เขาไม่เพียงออกคำสั่งให้พวกเชลยลุกขึ้น แต่ยังให้จับเตาไฟคว่ำทิ้งบนกองหิมะ 

            ในขณะเดียวกันผู้คุมบางคนมีจิตใจและจริยธรรมที่เข้มแข็ง อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็จะไม่ยอมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเจ็บปวด ผู้บัญชาการของค่ายบางคนไม่เคยอออกคำสั่งลงโทษเสียด้วยซ้ำ 

แฟรงเคิลยังจำได้ดีว่าหัวหน้าคนงานคนหนึ่งแอบหยิบขนมปังให้เขา ซึ่งเป็นขนมปังที่หัวหน้าคนงานแอบแบ่งจากอาหารเช้าของตนเอง สิ่งนี้ทำให้แฟรงเคิลน้ำตาซึม แต่เขาไม่ได้ตื้นตันจากการที่เขาได้รับขนมปัง แต่ตื้นตันเพราะบางสิ่งบางอย่างในตัวมนุษย์ที่ชายผู้นี้ได้มอบให้แก่เขา เป็นขนมปังที่หยิบยื่นให้พร้อมกับคำพูดและแววตาอันส่อถึงจิตใจ 

            เคยมีเหตุการณ์ที่ผู้บัญชาการค่ายกักกันควักเงินตัวเองจำนวนไม่น้อย เพื่อซื้อยาจากตลาดในเมืองใกล้ที่สุดมาให้เชลยของเขาด้วยเช่นกัน

            มีหลายคนที่ไม่ได้เป็นชาวยิวแต่ก็พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น อิเรนา เชนด์เลอร์ (Irena Sendler) ที่ปลอมเอกสารนับพับชิ้นเพื่อช่วยเหลือครอบครัวชาวยิวให้หนีออกจากค่ายกักกันสุดโหดในกรุงวอซ์ซอ เธอปลอมตัวเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำหน้าที่ตรวจโรคไข้ไทฟัสเข้าไปในค่ายกักกันแล้วค่อย ๆ แอบพาเด็ก ๆ หนีออกมา หรือ ออสการ์ ชินด์เลอร์ (Oskar Schindler) ใช้เงินสะสมทั้งชีวิตเพื่อซื้อตัวชาวยิว 1,100 คน เพื่อไม่ให้เชลยเหล่านั้นทุกข์ทรมาณในค่ายกักกันที่โหดร้าย

            ทำไมคนคนหนึ่งถึงเติบโตขึ้นมาแล้วคล้อยตามอิทธิพลทางสังคมอย่างง่ายดาย อีกทั้งยังปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างโหดร้ายตามสภาพสังคมรอบตัว แต่ในขณะเดียวกันคนคนหนึ่งกลับเติบโตขึ้นมาเป็นเป็นผู้ให้ที่พยายามช่วยเหลือผู้อื่น แม้จะต้องเสี่ยงชีวิตตัวเองก็ตาม เราจะมีวิธีเลี้ยงลูกอย่างไรเพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ให้ที่สนใจผลประโยชน์ของคนรอบตัวมากกว่าตัวเอง 

            ในหนังสือ Originals ที่เขียนโดย อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ได้อธิบายถึงการศึกษาที่ให้ผู้ช่วยเหลือชาวยิวในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ ย้อนนึกถึงวัยเด็กของตนเอง พวกเขาล้วนจำได้ว่าเคยได้รับการอบรมจากพ่อแม่ในรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะ คู่สามีภรรยาโอลิเนอร์พบว่า "คำว่าอธิบายเป็นคำที่ผู้ให้ความช่วยเหลือใช้บ่อยที่สุด" นอกจากนั้นทั้งคู่สามีภรรยายังได้ระบุว่า "สิ่งที่ทำให้พ่อแม่ของผู้ให้ความช่วยเหลือชาวยิวแตกต่างจากพ่อแม่คนอื่นมากที่สุด คือ พวกเขาชี้แจงเหตุผล อธิบาย เสนอแนะวิธีบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้ว โน้มน้าวใจและให้คำแนะนำ 

            เนื่องจากการชี้แจงเหตุผลสื่อให้เห็นถึงการให้เกียรติลูก โดยบ่งบอกเป็นนัยว่าถ้าลูก ๆ มีความรู้และความเข้าใจมากขึ้น พวกเขาก็คงจะไม่ปฏิบัติตัวในลักษณะที่ไม่เหมาะสมมันคือสัญลักษณ์ของการให้เกียรติผู้ฟัง เป็นการแสดงความเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะสามารถทำความเข้าใจ พัฒนา และปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น"

            ในขณะที่พ่อแม่ของคนที่นิ่งดูดาย (ไม่ช่วยเหลือชาวยิว) เลือกใช้การชี้แจงเหตุผลเพียง 6% ของการอบรมทั้งหมด ในขณะที่พ่อแม่ของผู้ให้ความช่วยเหลือกลับเลือกใช้วิธีชี้แจงเหตุผลถึง 21% ผู้ให้ความช่วยเหลือคนหนึ่งเล่าว่า "แม่ของฉันคอยเตือนเวลาที่ฉันทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ท่านไม่เคยลงโทษหรือดุด่าฉัน แต่จะพยายามทำให้ฉันเข้าใจด้วยตัวเองว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง" 

            กล่าวคือพ่อแม่ของผู้ให้ความช่วยเหลือ พวกเขามักจะอธิบายว่าทำไมพฤติกรรมต่าง ๆ ถึงไม่เหมาะสมโดยอ้างถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนอื่น ๆ ในขณะที่พ่อแม่ของคนที่นิ่งดูดายมุ่งเน้นการบังคับให้ลูก ๆ ปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อตัวของพวกเขาเอง สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ พ่อแม่ของผู้ให้ความช่วยเหลือกลับส่งเสริมให้ลูกพิจารณาว่าการกระทำของตัวเองส่งผลต่อคนอื่นอย่างไร

            อย่างไรก็ตาม มาร์ติน ฮอฟฟ์แมน (Martin Hoffman) นักจิตวิทยาพัฒนาการที่มีชื่อเสียงได้อธิบายว่า วิธีการอธิบายถึงผลกระทบต่อผู้อื่นควรจะแตกต่างกันไปตามอายุของลูก เมื่อลูกยังเด็กมาก พ่อแม่สามารถเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าพฤติกรรมของพวกเขาก่อให้เกิดความเสียหายที่เห็นได้ชัดอย่างไรบ้าง เช่น "ถ้าลูกผลักเขาอีก เขาจะล้มและร้องไห้" หรือ "ถ้าลูกทำน้ำหกลงบนพื้น พวกเขาจะต้องทำความสะอาดใหม่อีกรอบ" แต่เมื่อลูกเติบโตขึ้น พ่อแม่สามารถอธิบายผลกระทบที่มีต่อความรู้สึกพื้นฐาน เช่น "ตอนที่ลูกแย่งตุ๊กตาของน้อง ลูกทำร้ายจิตใจของน้องอย่างหนักและทำให้น้องเสียใจ" หรือ "เขารู้สึกไม่ดีที่ลูกไม่ยอมแบ่งของเล่นให้" เหมือนที่ลูกรู้สึกไม่ดีถ้าเขาไม่ยอมแบ่งของเล่นให้ลูก" 

            ในเวลาต่อมาพ่อแม่สามารถพูดถึงความรู้สึกที่ล้ำลึกมากขึ้น เช่น "เธอเสียใจเพราะเธอภูมิใจกับประสาททรายของตัวเองมาก แต่ลูกกลับทำมันถล่ม" หรือ "พยายามอยู่เงียบ ๆ หน่อยนะ เขาจะได้นอนหลับได้นานขึ้นและรู้สึกดีมากขึ้นเมื่อเขาตื่นขึ้นมา"

            การเน้นย้ำผลกระทบที่มีต่อคนอื่นช่วยให้ลูกใส่ใจความทุกข์ยากของคนที่อาจได้รับความเสียหายจากพฤติกรรมของพวกเขาและกระตุ้นให้เกิดความเข้าอกเข้าใจคนคนนั้น ทั้งยังช่วยให้ลูกเข้าใจว่าการกระทำของตนเองก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง พวกเขาจึงเกิดความรู้สึกผิด นอกจากนั้นคู่สามีภรรยาโอลิเนอร์ยังสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่านิยมที่พวกเขาได้เรียนรู้จากพ่อแม่ โดยพบว่าผู้ให้ความช่วยเหลือมีแนวโน้มที่จะอ้างถึงค่านิยมเชิงศีลธรรมที่นำไปใช้กับทุกคนมากกว่าคนที่นิ่งดูดายถึงสามเท่า ผู้ให้ความช่วยเหลือได้อธิบายว่า "พ่อแม่สอนให้ฉันเคารพมนุษย์ทุกคน" ส่วนคนที่นิ่งดูดายจะยึดถือค่านิยมเชิงศีลธรรมเช่นกัน แต่พวกเขาเชื่อมโยงค่านิยมเหล่านั้นเข้ากับพฤติกรรมหรือกลุ่มคน เช่น ตั้งใจเรียนเมื่ออยู่ที่โรงเรียน อย่าทะเลาะกับเพื่อน ทำตัวให้สุภาพกับครู ซื่อสัตย์ต่อพ่อแม่ จงรักภักดีต่อชาติ

            มาตรฐานศิลธรรมจึงถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากสิ่งที่พ่อแม่พูดหลังจากลูกทำสิ่งที่ถูกต้อง ในการทดลองของนักจิตวิทยา โจน กรูเซค (Joan Grusec) เขาให้เด็ก ๆ แบ่งลูกแก้วให้เพื่อน เด็กจำนวนหนึ่งจะถูกสุ่มชมเชยพฤติกรรมว่า "เยี่ยมมากที่หนูแบ่งปันลูกแก้วให้เด็ก ๆ ที่น่าสงสารเหล่านั้น นั้นเป็นการกระทำที่น่ารักและเอื้อเฟื้อมากเลย" ส่วนเด็กอีกกลุ่มจะได้รับคำชมเชยไปที่นิสัยใจคอ "ฉันเดาว่าหนูเป็นคนประเภทที่ชอบช่วยเหลือคนอื่นทุกครั้งที่ทำได้ หนูเป็นคนน่ารักและเอื้อเฟื้อมากเลย" ผลการทดลองพบว่าเด็ก ๆ ที่ได้รับคำชมเชยที่นิสัยใจคอจะมีน้ำใจมากกว่าในเวลาต่อมา

            เมื่อเราได้รับการชมเชยที่นิสัยใจค่อ เราจะยอมรับนิสัยใจคอนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา แทนที่จะมองการกระทำที่มีศีลธรรมแต่ละครั้งแยกจากกัน เรากลับเริ่มหล่อหลอภาพรวมเกี่ยวกับตัวเองในฐานะคนที่มีศีลธรรมหรือเป็นผู้ให้

ดังนั้นการหล่อหลอมนิสัยการเป็นให้ผู้เริ่มจากการที่เขามองตัวเองว่าเป็นผู้ให้
            นอกจากนั้นพ่อแม่หรือครูสามารถส่งเสริมการเป็นผู้ให้ โดยการให้เขารู้จักบุคคลตัวอย่างที่เป็นผู้ให้ ยกตัวอย่างเช่น มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุด เด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ที่ต่อสู้เพื่อให้เด็กผู้หญิงในประเทศปากีสถานได้เรียนหนังสือเทียบเท่ากับผู้ชาย ทำให้เธอถูกผู้ก่อการร้ายยิงเข้าที่หัวบนรถประจำทาง (เธอรอดชีวิต) ซึ่งเธอรู้สึกประทับใจเมื่อได้อ่านชีวประวัติของมาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) ส่วนมาร์ติน ลูเธอร์คิง และเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) ได้รับแรงบัลดาลใจจากคานธี (Gandhi) ที่เรียกร้องอิสรภาพให้กับประชาชนชาวอินเดียต่อการปกครองของอังกฤษ

            นอกจากบุคคลตัวอย่าง บางกรณีตัวละครที่แต่งขึ้นมาก็สามารถเป็นแรงบัลดาลใจเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นการอ่านหนังสือเรื่อง Harry Potter สามารถทำให้เด็ก ๆ มีทัศนคติที่ดีต่อกลุ่มคนชายขอบ เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าแฮร์รี่และเฮอร์ไมโอนีเผชิญกับการเลือกปฏิบัติเพราะไม่ได้มีเลือดพ่อมดแม่มดบริสุทธิ์ พวกเขาจึงเข้าอกเข้าใจและมีอคติน้อยลงต่อชนกลุ่มน้อยในชีวิตจริง เมื่อเด็ก ๆ เห็นว่าตัวเองคล้ายคลึงกับวีรบุรุษผู้เป็นตัวอย่างของการให้ พวกเขาก็จะเลือกลักษณะเฉพาะตัวในแบบที่แตกต่างออกไป 

            คนที่เป็นผู้ให้เป็นคนที่แตกต่าง คนกลุ่มนี้ต้องการให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ ซึ่งอดัม แกรนต์ (Adam Grant) มองว่าผู้ให้จะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ผู้อื่น ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา แบ่งปันความดีความชอบ อีกทั้งทีมหรือองค์กรที่มีคนเป็นผู้ให้ที่คอยแบ่งปันความรู้ และให้คำแนะนำหรือสอนงานมากเท่าไหร่ องค์กรจะยิ่งดีมากขึ้นในทุกมิติที่ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนมากขึ้น ความพึงพอใจมากขึ้น มีลูกค้ามากขึ้น การรักษาบุคลากรดีมากขึ้น 

            แม้กระทั่งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างของผู้ให้ในองค์กร หรือผู้ให้ทั้งหมดที่ผมยกตัวอย่างล้วนเป็นบุคคลที่น่านับถือ และประสบความสำเร็จมากมาย ผมจึงอยากนำเสนอให้พ่อแม่หรือคุณครูนำวิธีการเหล่านี้เพื่อสร้างสรรค์ลูกหรือนักเรียนให้เป็นผู้ให้ อันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในภายภาคหน้า

สรุป

        1. เชื่อมโยงพฤติกรรมที่ดีเข้ากับนิสัย เนื่องจากเด็กจะมีน้ำใจมากขึ้นหากได้รับคำชมว่าเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือคน เช่น "ฉันเดาว่าหนูเป็นคนประเภทที่ชอบช่วยเหลือคนอื่นทุกครั้งที่ทำได้ หนูเป็นคนน่ารักและเอื้อเฟื้อมากเลย"

        2. อธิบายว่าพฤติกรรมที่ไม่ดีส่งผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร เมื่อเด็กประพฤติตัวถูกต้อง ลองช่วยให้พวกเขามองเห็นว่ากระกระทำนั้นทำร้ายคนอื่นอย่างไร เช่น "หนูคิดว่าทำแบบนี้แล้วเพื่อนจะรู้สึกอย่างไร" เมื่อเด็กพิจารณาผลกระทบด้านลบทีมีต่อคนอื่น พวกเข้าจะเริ่มเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น กล่าวคือให้ใช้เหตุผลกับพวกเขา

        3. เน้นเรื่องการสร้างค่านิยมมากกว่ากฎเกณฑ์ เนื่องจากกฎเกณฑ์เป็นข้อจำกัดแบบตายตัวทำให้เด็กมองโลกแบบตายตัวเกินไป ส่วนค่านิยมจะส่งเสริมให้เด็กยอมรับหลักการแล้วมาปรับใช้ พ่อแม่ของผู้ที่ช่วยชีวิตระหว่างการฆ่าล้างเผ้าพันธุ์ชาวยิว มักจะสอนให้ลูกเคารพมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่เพียงเคารพคุณครู พ่อแม่เท่านั้น

        4. ช่วยให้เด็กรู้จักบุคคลตัวอย่าง เพื่อให้เขามีแรงบัลดาลใจในการสร้างตัวตนที่เป็นผู้ให้ขึ้นมา อีกทั้งยังสามารถขยายการเรียนรู้โดยสอบถามเด็ก ๆ ว่าพวกเขาอยากปรับปรุงอะไรในครอบครัวหรือโรงเรียนให้ดีขึ้น จากนั้นขอให้พวกเขาระบุชื่อบุคคลในชีวิตหรือตัวละครที่พวกยกย่อง แล้วจินตนาการว่าบุคคลเหล่านั้นจะทำอย่างไรในสถานการณ์นี้

อ้างอิง

Frankl, V. (2006). Man's Search for Meaning. MS: Beacon Press.

Grant, A. (2014). Give and Take: Why Helping Others Drives Our Success. NY: Penguin. Books

Grant, A. (2017). Originals: How Non-Conformists Move the World. NY: Penguin.

คาลอส บุญสุภา. (2564). การค้นหาความหมายของชีวิต (Meaning of Life). https://sircr.blogspot.com/2021/06/meaning-of-life.html

ความคิดเห็น