มนุษย์เราเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

"ความชอบในงานและในชีวิตของเราไม่มีทางเหมือนเดิม เพราะตัวเราก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา" 

            ในประวัติศาสตร์ฝั่งตะวันตก ศาสนามีอำนาจสูงมากในช่วงเวลาหนึ่ง ความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าและการกำเนิดมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในโลก เป็นความเชื่อที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาล แต่ก็มีหลายทฤษฎี หลายชุดความจริงที่เข้ามาเขย่าวงการศาสนาและความเชื่อดั่งเดิมดังกล่าว หนึ่งในทฤษฎีนั้นคือ ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Theory of Evolution) หรือเรียกว่าการคัดเลือกตามธรรมขาติ (Natural Selection) ที่กลายมาเป็นหนังสือเปลี่ยนโลก ชื่อว่า "กำเนิดของสรรพชีพชีวิต" (The Origin of Species) ผู้ที่นำเสนอแนวคิดเปลี่ยนโลกและเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าวคือ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)

            ดาร์วินเกิดในครอบครัวที่มีความพร้อม ตระกูลมารดาเป็นมหาเศรษฐี ส่วนตระกูลบิดาเป็นปัญญาชนที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะคุณปู่ของเขาที่เป็นทั้งแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ กวี และนักปรัชญา แต่น่าเสียดายและน่าเศร้าที่มารดาของดาร์วินเสียไปตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก ดาร์วินจึงเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของบรรดาพี่สาวทั้งสาม เขาเป็นเด็กซนที่รักธรรมชาติอย่างมาก สนใจต้นไม้ใบหญ้า รวมทั้งสัตว์หลายชนิด

            ที่บ้านของเขามีคนสวนที่ช่วยให้ความรู้เรื่องพืชพรรณต่าง ๆ ส่วนพี่สาวก็สอนวิธีสะสมไข่นก และตัวอย่างแมลง รวมทั้งแนะนำให้เขาจดบันทึกและจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ ไม่เฉพาะแต่แมลงและไข่นกเท่านั้น การเล่นเหล่านี้หล่อหลอมให้เขามีความรู้และความสนใจเรื่องธรรมชาติอย่างมากเมื่อเขาเติบโตขึ้น ตรงกันข้ามกับเรื่องเรียนที่เขาไม่ค่อยสนใจ แต่อาศัยการท่องจำเพื่อให้สอบผ่านเท่านั้น

            เขาตั้งใจจะเป็นหมอตามความปราถนาของพ่อ แต่เขาก็พบว่าวิชาแพทย์น่าเบื่ออย่างมาก เบื่อห้องผ่าตัดที่มีแต่เสียงเลื่อย เขาทนอยู่ได้ไม่นานก็ออกมาจากห้องนั้น เขาเล่าว่า "ผมจะไม่กลับไปอีก เพราะไม่มีอะไรน่าดึงดูดใจพอที่จะกลับไปได้" ในช่วงวัยนั้นดาร์วินศึกษาตีความไบเบิลและคิดว่าตัวเองอยากบวชเป็นพระ เขาจึงลงเรียนวิชาต่าง ๆ ที่หลากหลาย รวมถึงวิชาพฤกษศาสตร์ซึ่งต่อมาอาจารย์ของเขาแนะนำให้เขาไปทำงานเป็นลูกเรือที่ไม่ได้ค่าจ้างบนเรือหลวง 

            เขากับน้าชายช่วยกันเกี้ยวกล่อมพ่อจนยอมให้เขาไปโดยจะต้องรับปากว่า เขาจะไม่กลายเป็นคนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อจากการตัดสินใจครั้งนี้ ดาร์วินจึงรับปากและออกเดินทางหาประสบการณ์ ซึ่งนั้นจะกลายเป็นประสบการณ์ที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งทำให้เขาสามารถหลอมรวมประสบการณ์ทั้งหมดนั้นออกมาเป็นทฤษฎีวิวัฒนาการที่ยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ เมื่อเวลาผ่านไปดาร์วินหวนรำลึกถึงกระบวนการค้นพบตัวเองและเล่าว่า "คิดแล้วก็น่าหัวเราะ ที่ครั้งหนึ่งผมเคยนึกอยากเป็นพระ" พ่อของเขาซึ่งเป็นหมอมานานกว่า 60 ปี ทนเห็นเลือดไม่ได้ "ถ้าปู่มอบทางเลือกให้พ่อ" ดาร์วินอธิบายต่อ "พ่อก็คงไม่เลือกทางนั้นเหมือนกัน" 

            กระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กของดาร์วิน รวมไปถึงประสบการณ์ที่ได้เรียนวิชาแพทย์ วิชาพฤกษศาสตร์ และการออกเดินทางข้ามทะเล ทำให้ดาร์วินรู้จักตัวเองมากขึ้น เขาเล่าว่า "เป้าหมายอาชีพที่เคยรู้สึกปลอดภัยและแน่นอนกลายเป็นเรื่องน่าหัวเราะสิ้นดี ความชอบในงานและในชีวิตของเราไม่มีทางเหมือนเดิม เพราะตัวเราก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา" 

มนุษย์เราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด

            ตอนเป็นเด็ก ๆ ผมมักจะเฝ้าตามตนเองว่าโตขึ้นไปอยากเป็นอะไร อาจเป็นเพราะว่ามันเป็นคำถามที่คนมักถามกัน เมื่อเติบโตขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับผมคำถามนี้ก็กลายเป็นคำถามที่ไม่น่าถามอีกต่อไป เพราะความชอบของเราเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เหมือนกับที่ มิเชลล์ โอบามา (Michelle Obama) กล่าวไว้ในหนังสือ Becoming ว่า "เราเติบโตไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันสิ้นสุด" การกำหนดเป้าหมายเอาไว้ไม่กี่เป้าหมาย แล้ววิ่งชนเข้าไป มันเป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย ปลอดภัย เหมือนเรามีจุดหมายแล้ว แต่มันขัดแย้งอยู่บ้างต่อศักยภาพในตนเองของมนุษย์ เพราะเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

            นักจิตวิทยา แดน กิลเบิร์ต (Dan Gilbert) เรียกสิ่งนี้ว่า "ภาพลวงของจุดจบทางประวัติศาสตร์" (End of History Illusion) ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ เราทุกคนรู้ว่าความปรารถนาและแรงจูงใจของเราในอดีตเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ความชอบดารา ทรงผม วิชาที่ชอบ อาหารที่ชอบ หรือ ภาพยนตร์ที่ชอบ แต่เรามักจะเชื่อว่ามันมักจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในอนาคต กิลเบิร์ตใช้คำว่า เราต่างเป็นแบบร่างที่อ้างว่าตัวเองสมบูรณ์แล้ว

            เดวิด เอปชไตน์ (David Epstein) ได้เล่าเกี่ยวกับงานวิจัยของกิลเบิร์ตและคณะไว้ในหนังสือ  Range เข่าเล่าว่า กิลเบิร์ตและทีมวิจัยได้ศึกษารสนิยม ค่านิยม และบุคลิกของผู้ใหญ่อายุ 18-68 ปีก จำนวน 19,000 คน พวกเขาบอกให้บางคนลองทำนายว่าตัวเองจะเปลี่ยนไปแค่ไหนในอีก 10 ปีข้างหน้า และให้คนที่เหลือนึกย้อนว่าตัวเองเปลี่ยนไปแค่ไหนจากเมื่อ 10 ปีก่อน 

            กลุ่มคนที่ทำนาย พวกเขาเลือกที่จะทำนายว่าตัวเองจะเปลี่ยนไปน้อยมากใน 10 ปีข้างหน้า ในทางตรงกันข้ามกลุ่มที่เหลือกลับบอกว่าตัวเองเปลี่ยนไปมากมายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเจาะลึกลงไปพบว่าคุณลักษณะบางประการที่ดูเหมือนจะติดแน่นคงทนกลับเปลี่ยนไปมหาศาล ค่านิยมหลักอย่างความชอบ ความมั่นคง ความสำเร็จ และความซื่อสัตย์ เปลี่ยนไปโดยสินเชิง รวมไปถึงรสนิยม การท่องเที่ยว ดนตรี งานอดิเรก โดยเฉพาะการคบเพื่อนก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน 

            สิ่งที่น่าตลกก็คือ คนที่ต้องทำนายอนาคตยอมซื้อตั๋วราคาเฉลี่ย 129 ดอลลาร์ (ประมาณ 4,000 บาท) เพื่อดูวงที่ตัวเองชอบในปัจจุบันเล่นในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนคนที่ย้อนกลับไปยอมจ่ายเพียง 80 ดอลลาร์ (ประมาณ 2,500 บาท) เพื่อดูวงที่ตัวเองชอบเมื่อ 10 ปีก่อนที่แล้ว เล่นในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถสรุปได้ว่า คนที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้กำลังเลือนหายไป ไม่ต่างจากอีกหลายต่อหลายคนที่เราเคยเป็นในอดีต เหมือนกับที่ เฮราคลีตุส (Heraclitus) กล่าวว่า "ไม่มีใครเคยเหยียบย่างลงบนแม่น้ำสายเดิมเป็นครั้งที่สอง"

            มาถึงตรงนี้ผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วยในใจ เพราะรสนิยมบางอย่างของคนบางคนก็อาจจะคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าเด็กขี้อายมีแนวโน้มจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขี้อาย แต่นั้นก็ไม่ใช่ทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะไม่ว่าจะเป็นบุคลิกใดบุคลิกหนึ่งก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตอนนี้อาจจะยังไม่เปลี่ยน แต่อนาคตก็ไม่แน่นอน คุณอาจจะขี้อายเหมือนเดิม ชอบภาพยนตร์เรื่องเดิมอยู่ แต่คุณอาจไม่ชอบเพลงร็อค หรือไม่ชอบสีฟ้าอีกต่อไปแล้วก็ได้เช่นกัน 

            เบรนต์ รอเบิตส์ (Brent Roberts) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยอิลลิยนอยส์เป็นผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาพัฒนาการบุคลิกภาพ ซึ่งเขาและคณะได้ทำการรวบรวมงานวิจัย 92 ชิ้นเพื่อพิสูจน์ว่าบุคลิกลักษณะบางประการจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาในรูปแบบที่คาดการณ์ได้ ผู้ใหญ่จะมีนิสัยโอนอ่อนผ่อนตามมากขึ้น รอบคอบมากขึ้น มีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น และหวาดระแวงน้อยลงตามวัย แต่ก็จะเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ น้อยลงด้วย เมื่อก้าวเข้าสู่วัยกลางคน เราจะมีความคงเส้นคงวามากขึ้นและระมัดระวังมากขึ้น แต่ก็จะสงสัยใคร่รู้น้อยลง เปิดใจกว้างน้อยลงและรักนวัตกรรมน้อยลง 

            การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นที่เข้าใจกันทั่วไป ถึงแม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ แต่ก็มีบางลักษณะนิสัยหรือบางคนที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน คำถามก็คือการเปลี่ยนแปลงนั้นมันมีผลมาจากธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว หรือเป็นเพราะสภาพแวดล้อม เช่น สังคม วัฒนธรรม การศึกษา หรือการเลี้ยงดู ยูอิจิ โชดะ (Yuichi Shoda) อธิบายว่ามันทั้งถูกและก็ผิดไปพร้อม ๆ กัน เขาอธิบายว่า ณ จุดหนึ่งของชีวิต ธรรมขาติของมนุษย์อาจมีอิทธิพลที่กำหนดว่าบุคคลจะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไร 

            แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นก็อาจจะแสดงออกในทิศทางที่แตกต่างเมื่อคนคนนั้นไปอยู่ในอีกสถานการณ์หนึ่ง โชดะเริ่มศึกษา "เอกลักษณ์แบบมีเงื่อนไข" (If-Then Signature) รวมกับ วอลเตอร์ มิเชล (Walter Mischel) เช่น ถ้าเดวิดอยู่ในงานปาตี้ขนาดใหญ่ เขาอาจจะดูเหมือนพวกเก็บตัว (Introvert) แต่ถ้าเดวิดอยู่กับเพื่อนที่ทำงาน เขาอาจจะดูเหมือนพวกชอบเข้าสังคม (Extrovert) คำถามก็คือเดวิด เป็น Extrovert หรือ Introvert กันแน่ คำตอบก็คือ เป็นทั้ง 2 อย่าง ซึ่ง ทอดด์ โรส (Todd Rose)  และ โอกิ ออกัส (Ogi Ogas) เรียกแนวคิดนี้ว่า หลักการบริบท (Context Principle) 

            ในปี 2007 มิเชลเขียนไว้ว่า "ประเด็นหลักของเรื่องนี้คือเด็กที่ก้าวร้าวตอนอยู่บ้าน อาจก้าวร้าวน้อยลงตอนที่อยู่โรงเรียน ชายที่ไม่รับฟังอะไรเลยเวลาอกหักอาจใจกว้างอย่างมาก เวลาฟังคนวิพากษ์วิจารณ์งานของเขา คนที่กระวนกระวายตอนไปหาหมอ อาจเป็นนักปีนเขาผู้เยือกเย็น นักลงทุนที่ชอบความเสี่ยงอาจไม่เลือกแบกรับความเสี่ยงอื่น ๆ ในชีวิต โรสอธิบายเรื่องนี้โดยใช้บริบทในชีวิตประจำวันว่า "ถ้าคุณเป็นคนมีสติและระมัดระวังตอนขับรถ เราก็เดาได้ไม่ยากว่าพรุ่งนี้คุณจะมีสติและระมัดระวังตอนขับรถเช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน คุณอาจไม่มีสติและระมัดระวังตอนเล่นเพลงบีเทิลส์กับวงในผับแถวบ้านก็ได้"

            ด้วยความที่บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าที่เราคาดคิดเมื่อผ่านเวลา ประสบการณ์ และบริบทต่าง ๆ เราจึงไม่อาจตั้งเป้าหมายระยะยาวตายตัวลงไปได้ เพราะเวลา ประสบการณ์ และบริบทต่าง ๆ มันมีวิวัฒนาการอยู่เสมอ มันจึงเป็นเหตุผลที่มิเชล โอบามา (Michelle Obama) ไม่เห็นด้วยกับคำถามที่ว่าโตขึ้นคุณอยากเป็นอะไร เพราะชีวิตมันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นในเมื่อเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น ประสบการณ์ชีวิต หรือบริบทต่าง ๆ เราจะตั้งเป้าหมายระยะยาวขนาดนั้นได้อย่างไร

            แนวคิดเก่า ๆ มักจะชักชวนให้เราตั้งคำถามกับตนเองว่าเรามีบุคลิกภาพแบบไหน มีความสนใจแบบไหน โดยใช้แบบทดสอบต่าง ๆ เพื่อหาจุดแข็ง สิ่งนี้มันทำให้เราจัดประเภทตัวเองและคนอื่นโดยไม่พิจารณาเลยว่าเราเติบโต มีวิวัฒนาการ เบ่งบาน และค้นพบสิ่งใหม่มากมายขนาดไหน เป็นไปได้ยากที่เราจะมีเป้าหมายในอุดมคติแล้ววิ่งไล่ตามมันจนสำเร็จ เพราะในความจริงแล้วบุคลิกภาพของเรามันเปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลาและบริบท 

            การที่เรามองว่านิสัยใจคอเป็นสิ่งที่ไม่สั่นคลอนและใช้อธิบายพฤติกรรมได้ครอบคลุมนั้น ก็คือจุดบอดในการประมวลผลข้อมูลอย่างหนึ่งนั้นเอง นักจิตวิทยาเรียกความโน้มเอียงดังกล่าวว่า การตีความแบบเหมารวม (Fundamental Attribution Error) เกิดขึ้นเมื่อเราตีความพฤติกรรมของคนอื่นโดยให้ความสำคัญกับลักษณะส่วนบุคคลมากเกินไป และให้ความสำคัญกับบริบทแวดล้อมน้อยเกินไป ก็เหมือนกับเวลาที่เราเห็นเพื่อนคนหนึ่งดูร่าเริงในงานปาตี้ของกลุ่มเพื่อนเล็ก ๆ แล้วเราไปตัดสินเขาว่าเป็นคนชอบเข้าสังคม แต่เมื่อไปอยู่ในอีกลุ่มหนึ่งซึ่งใหญ่กว่า เขากลับดูเก็บตัวและไม่ค่อยพูดกับใคร ซึ่งนั้นคืออิทธิพลจากบริบทแวดล้อม

            จริง ๆ แล้วสิ่งนี้มันเป็นการตัดสินโดยสัญชาตญาณปกติทั่วไป เป็นการวิเคราะห์มาจากจิตใต้สำนึก หรือ ระบบ 1 ซึ่งจะมีลักษณะรวดเร็วมาก หรือถ้าอธิบายให้ลึกกว่านั้นมันเป็นเพราะเราคุ้นเคยกับคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลมากกว่าคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับบริบทแวดล้อม นอกจากนี้ มันยังทำให้โลกใบนี้ซับซ้อนน้อยลงและเข้าใจง่ายมากขึ้นด้วย เพราะมันจะเป็นเรื่องยากอย่างมากที่เราต้องคอยปรับเปลี่ยนเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินคนรอบตัวอยู่ตลอดเวลา

            เราจะทำความเข้าใจโลกใบนี้อย่างไร ลองคิดดูสิว่าการตัดสินใจว่าเราชอบ รัก ไว้ใจ หรืออยากให้คำแนะนำใครสักคนหรือไม่นั้นจะยากขึ้นขนาดไหน ในหนังสือ The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwel) ได้เขียนถึง วอลเตอร์ มิเชล (Walter Mischel) นักจิตวิทยาชื่อดังที่ผมเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ โดยเขากล่าวว่า "จิตใจของมนุษย์มี วาล์ว ซึ่งทำหน้าที่สร้างและรักษาความต่อเนื่องทางความคิดเอาไว้ ถึงแม้จะสังเกตเห็นอยู่ตลอดเวลาว่าพฤติกรรมได้เปลี่ยนไปแล้วก็ตาม"

            "เมื่อเราสังเกตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งมีท่าทีไม่เป็นมิตรและทะนงตน" มิเชลเล่า "แต่บางครั้งก็กลับมีท่าทางอ่อนโยน โอนอ่อนผ่อนตาม และนอบน้อม วาล์วของเรามักจะบีบให้เราเลือกระหว่างท่าทีทั้งสองนี้ เราจึงมองว่าท่าทีหนึ่งเป็นฉากหน้าของอีกท่าทีหนึ่ง หรือทั้งสองท่าทีเป็นฉากหน้าของตัวตนที่แท้จริง เธอคงเป็นสาวแกร่งที่ซ่อนความอ่อนโยนเอาไว้หรือไม่อาจเป็นผู้หญิงหัวอ่อนที่มีฉากหน้าเป็นท่าทีอันแข็งกร้าว 

            "อย่างไรก็ตาม บางทีธรรมชาติอาจยิ่งใหญ่กว่าที่ความคิดของมนุษย์จะรองรับไหวก็เป็นไปได้ ผู้หญิงคนนั้นอาจทะนงตน ไม่เป็นมิตร โอนอ่อนผ่อนตาม นอบน้อม อ่อนโยน ก้าวร้าว อบอุ่น และห้าวหาญรวมอยู่ในตัวคนคนเดียว แน่นอนว่าอุปนิสัยที่เธอแสดงออกมาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้แบบแผนหรือตามอำเภอใจ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เวลา คนรอบตัว และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ทุกอุปนิสัยที่เธอแสดงออกมาล้วนเป็นตัวตนของเธอจริง ๆ ทั้งนั้น"

            สุดท้ายแล้วนอกจากเราจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดตามกาลเวลา นิสัย การกระทำของเรายังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมอีกด้วย ดังนั้นเราไม่ควรคิดว่าตัวเราไม่มีทางเปลี่ยน เพราะในเมื่อแค่บริบทที่แตกต่างกันก็ทำให้คนเราแสดงออกต่างกันแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหากเราไม่ได้เกิดที่เมือง ๆ นี้ แต่ไปโตอีกเมืองที่เจริญไม่เท่า เราจะยังเป็นเราอยู่ทุกวันนี้หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันทำให้การทำนายอนาคตนั้นยิ่งกว่าคำว่าเป็นไปไม่ได้ 

            สถานการณ์โควิด-19 เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมาก ว่าเรามีความสามารถในการทำนายที่แย่มากแค่ไหน แล้วหากสถานการณ์ดังกล่าวจบไปแล้ว มันจะมีอะไรมาอีกเราไม่มีทางรู้ได้เลย การวางยุทธศาสตร์ไว้ล่วงหน้าหลาย ๆ ปีจึงเป็นเรื่องที่น่าขันอย่างมาก ดังนั้นมันเป็นเรื่องดีจริงหรือไม่ที่เราจะวางแผนอนาคตของตัวเองเอาไว้ แล้วพยายามจะวิ่งไปสู่เป้าหมายนั้น ในเมื่อเราล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งการเปลี่นแปลงจากภายใน และบริบทสภาพแวดล้อมที่ทำให้เราเปลี่ยนแปลง ถ้าเราไปถึงจุดหมายแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไว้ มันคงจะเป็นจุดหมายที่เคว้งคว้างเหลือเกิน

เราควรวางแผนอนาคตอย่างไร

            ผู้อ่านทุกท่ายคงเคยทำแบบทดสอบบุคลิกภาพกันมาบ้างแล้ว จริง ๆ หลักการวางแผนอาชีพทั้งในอดีตและปัจจุบันแนะนำให้ใช้เพื่อทำความเข้าใจตนเอง หาจุดแข็ง จุดอ่อน และนิสัยใจคอของตัวเอง เพราะไม่เพียงแค่เราต้องรู้เขา แต่ต้องรู้เราให้ดีด้วย หลังจากนั้นเราถึงค่อยตัดสินใจเลือกอาชีพ และวิ่งไปหาความฝันของเรา เป็นขั้นตอนการเตรียมตัวที่กินเวลาหลายปีมาก แต่ก็เหมือนกับข้อความที่ผมยกไว้ข้างต้นแหละครับ

ถ้าเราไปถึงจุดหมายแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไว้ มันคงจะเป็นจุดหมายที่เคว้งคว้างเหลือเกิน

            เฮอร์มิเนีย อิบาร์รา (Herminia Ibarra) ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร แนะนำว่าแทนที่ ทำแบบทดสอบต่าง ๆ แล้วนึกภาพสิ่งที่คุณต้องการให้ชัดเจน วิธีมองมุมกลับที่ฉลาดกว่าก็คือ "ทำก่อนแล้วค่อยคิด" อิบาร์ราใช้หลักจิตวิทยาสังคมมาอธิบายว่าคนเราต่างมีความเป็นไปได้หลากหลายในตัวเอง เธอบอกว่า "เราค้นพบความเป็นไปได้นั้นด้วยการลงมือทำ ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ ๆ สร้างเครือข่ายใหม่ ๆ หรือค้นพบต้นแบบใหม่ ๆ เราเรียนรู้ว่าเราเป็นใครได้ด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่ทฤษฎี"

            แทนที่จะคาดหวังคำตอบล่วงหน้าตายตัวของคำถามที่ว่า "จริง ๆ แล้วฉันต้องการเป็นอะไร" งานวิจัยต่าง ๆ กลับบอกเราว่า ทางที่ดีคือน่าจะลองเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาตัวเองดู ลองตั้งคำถามเล็ก ๆ ที่อาจตรวจสอบได้จริง ๆ เช่น "ในหมู่ตัวตนที่เป็นไปได้หลากหลาย ตัวตนไหนที่ฉันจะลองสำรวจดูก่อน แล้วฉันจะเริ่มได้อย่างไร" ลองกระเซ้าเย้าแหย่กับตัวตนที่เป็นไปได้ของเราดู แทนที่จะตั้งเป้าหมายไว้ไกลที่ต้องใช้เวลานาน ลองมองหาการทดลองเล็ก ๆ ที่จะทำได้เร็วดีกว่า 

"ทดสอบและเรียนรู้ อิบาร์รากล่าว "ไม่ใช่วางแผนแล้วปฏิบัติ" 

           ในหนังสือ Range เดวิด เอปชไตน์ (David Epstein) ได้เขียนเกี่ยวกับ พอล แกรม (Paul Graham) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และผู้ร่วมก่อตั้งวายคอมบิเนเตอร์ ได้เขียนสุนทรพจน์จบการศึกษามัธยมปลาย แต่ไม่เคยกล่าวที่ไหนมาก่อน โดยเขาเขียนว่า "การตัดสินใจว่าคุณชอบอะไรอาจดูเป็นเรื่องง่าย 

            แต่แท้จริงแล้วมันยากเย็นมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะเราไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่างานงานหนึ่งประกอบไปด้วยอะไรบ้าง งานส่วนใหญ่ที่ผมทำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีอยู่ตอนผมเรียนมัธยมปลาย ในโลกที่เปลี่ยนแปลงฉับไวเช่นนี้ การมีแผนตายตัวอาจไม่ใช่เรื่องฉลาดนัก"

            "แต่ถึงอย่างนั้น ทุกเดือนพฤษภาคม ผู้กล่าวสุนทรพจน์จบการศึกษาทั่วประเทศต่างก็พูดถึงสิ่งเดียวกัน ประเด็นหลักก็คืออย่าละทิ้งความฝัน ผมรู้ว่าพวกเขาหมายความอย่างไร แต่นี้อาจไม่ใช่วิธีสื่อสารที่ดีที่สุด เพราะมันบอกเป็นนัยว่าคุณควรดำเนินตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่แรกไม่เปลี่ยนแปลง โลกคอมพิวเตอร์มีศัพท์ที่เรียกการกระทำเช่นนี้ว่า Premature Optimization หรือการปรับเปลี่ยนให้เหมาะก่อนเวลาอันควร แทนที่จะตั้งเป้าไว้แล้วเดินไปให้ถึง ลองเดินหน้าจากจุดที่ดูเป็นไปได้มากกว่า 

            นั่นคือสิ่งที่ผู้ประสบความสำเร็จจำนวนมากปฏิบัติ วิธีการแบบสุนทรพนจน์จบการศึกษา (วิธีทั่วไป) คุณต้องตัดสินใจว่าอีก 20 ปีคุณอยากเป็นอะไร แล้วถามตัวเองว่าตอนนี้ต้องทำอะไรเพื่อให้ไปถึงฝั่งฝัน"

"ผมขอเสนอว่าคุณไม่ควรปักหลักกับความฝันใดในอนาคต แต่ให้ลองดูว่าปัจจุบันมีทางเลือกอะไรบ้าง แล้วเลือกเส้นทางที่จะให้ทางเลือกที่กว้างขวาง และดูเป็นไปได้ที่สุดในภายหลัง"

อ้างอิง

Epstein, D. (2019). Range: Why Generalists Triumph in a Specialized World. NY: Riverhead Books.

Gladwell, M. (2002). The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference NY: Back Bay Books.

Mischel, W., & Shoda, Y. (1995). A cognitive-affective system theory of personality: Reconceptualizing situations, dispositions, dynamics, and invariance in personality structure. Psychological Review, 102(2), 246-268. https://doi.org/10.1037/0033-295X.102.2.246

Roberts, W., Walton, E., & Viechtbauer, W. (2006). Patterns of mean-level change in personality traits across the life course: A meta-analysis of longitudinal studies. Psychological Bulletin, 132(1), 1-25. https://doi.org/10.1037/0033-2909.132.1.1

สุภาศิริ สุพรรณเภสัช. (2554). วันเยาว์ของคนใหญ่ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

ความคิดเห็น