การรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง (Emotional Awareness)

คนที่สามารถรับรู้อารมณ์ตัวเองได้ 

และเลือกจัดการอารมณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 คือคนที่มีความฉลาดทางด้านอารมณ์

            ซูซาน เดวิด (Susan David) เติบโตมาในประเทศแอฟริกาใต้ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและมีการบังคับให้แบ่งแยกสีผิว เธอเล่าว่า "คนแอฟริกันส่วนใหญ่มีโอกาสที่จะถูกข่มขืนมากกว่ามีโอกาสได้อ่านหนังสือเสียอีก รัฐบาลบังคับให้ผู้คนย้ายออกจากบ้านของตนเอง ทรมานพวกเขา ตำรวจยิงประชาชนเพียงเพราะเขากำลังไปที่โปสถ์ เด็กผิวดำและเด็กผิวขาวถูกจับแยกกันในทุกภาคส่วนของสังคม ตั้งแต่โรงเรียน ร้านอาหาร ห้องน้ำ โรงภาพยนตร์"

            แม้ว่าเธอจะเป็นเด็กผิวขาว แต่เธอก็ตระหนักถึงความเลวร้ายทุกภาคส่วนนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งสิ่งเลวร้ายก็เกิดขึ้น เพื่อนของเธอถูกรุมข่มขืน ลุงของเธอถูกฆาตกรรม ชีวิตของเธอเหมือนกำลังดิ่งลงเหวลึก จนกระทั่งสิ่งที่แย่ที่สุดก็เกิดขึ้นกับเธอ ตอนที่เธออายุ 16 ปี 

            พ่อของเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และจะมีชีวิตอีกเพียงไม่กี่เดือนเเท่านั้น "ประสบการณ์ในตอนนั้นเป็นความทุกข์ทรมานและทำให้ฉันหลีกหนีออกจากผู้คน" เธอเล่า "ฉันไม่มีผู้ใหญ่ที่จะหันไปปรึกษาได้มากนัก ส่วนเพื่อน ๆ ก็ไม่มีใครเลยที่เคยผ่านประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกัน"

            โชคยังดีที่ประสบการณ์ในชีวิตอันเลวร้ายของเธอ ได้หลงเหลือรางวัลบางอย่างเอาไว้ ครูสอนภาษาอังกฤษที่ใส่ใจการสอนและได้ผลักดันให้นักเรียนทุกคนเขียนบันทึกประจำวัน เธอเลาว่า "พวกเราสามารถเขียนอะไรก็ได้ที่อยากเขียน แต่เราต้องส่งบันทึกให้ครูตอนบ่ายของทุกวันเพื่อให้เธอตรวจ" ซูซานได้บันทึกเกี่ยวกับอาการป่วยของคุณพ่อ ซึ่งก็ลงเอยที่การบันทึกถึงความตายของท่านด้วย

            ครูของเธอเขียนสะท้อนความรู้สึกของซูซานออกมาอย่างจริงใจต่อเรื่องทั้งหมดของเธอ รวมถึงถามเธอว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง การเขียนบันทึกจึงกลายเป็นแหล่งพลังสำคัญในการพยุงจิตใจของเธอเอาไว้ "ไม่นานฉันก็ตระหนักว่ามันช่วยให้ฉันได้อธิบาย ทำความเข้าใจ และประมวลความรู้สึกที่เกิดขึ้นของตัวเอง "มันไม่ได้ช่วยทำให้ฉันเศร้าโศกน้อยลงแม้แต่นิดเดียว" เธอเล่า "แต่มันช่วยทำให้ฉันก้าวผ่านความทุกข์ และยังแสดงให้ฉันเห็นถึงพลังของการเผชิญหน้ากับความรู้สึกที่เลวร้าย แทนที่จะหลีกหนี"

            ประสบการณ์นี้สอนให้เธอได้เห็นความสำคัญของการเผชิญหน้ากับความทุกข์ ความเศร้า โดยปกติแล้วพวกเรามักจะหลีกเลี่ยงการพูดและแสดงออกถึงความเศร้า เพราะมันเจ็บปวด ลองนึกถึงความรู้สึกตอนโดนอกหัก มันทั้งเจ็บ บางคนอาจอับอาย รู้สึกต่ำต้อย บางคนมีคำพูดประมาณ "ทำไมเราถึงได้ทำอะไรโง่ ๆ แบบนั้น" 

            บางคนอาจกำลังเผชิญกับความสับสนของโลกใบนี้ "ทำไมฉันถึงได้แคร์คนอื่นมากเกินไป ทำไมคนอื่นถึงทำกับฉันเลวร้ายขนาดนั้น" หลายคนจบลงด้วยโรคซึมเศร้า หรือเลวร้ายกว่านั้นคือความตาย ทุกวันนี้คนจำนวนมากวิ่งตามหาความสุข ที่เขาจะไม่มีวันเจอ หรืออาจจะเจอเพียงชั่วคราว ไม่นานก็หายไป เหมือนกับที่ อาเธอร์ โชเปนฮาวเออร์ (Arthur Schopenhauer) กล่าวว่า "ชีวิตคือการไล่ล่าที่ไร้ประโยชน์ เราเป่าฟองสบู่ให้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้มั่นใจว่ามันจะต้องแตก 

            หากคิดให้ดีชีวิตที่เต็มไปด้วยเป้าหมายก็มักจบลงอย่างน่าผิดหวัง มันอาจจะขับเคลื่อนคุณไปข้างหน้า พลิกหน้ากระดาษแห่งชีวิต แต่ท้ายที่สุดก็จะทอดทิ้งคุณไว้ในความว่างเปล่า เพราะแม้คุณจะบรรลุเป้าหมาย แล้วอย่างไรต่อ มนุษย์เราดำเนินชีวิตด้วยสัญชาตญาณ เราอยากจะเป็นคนสำคัญ ทำทุกอย่างโดยมักง่าย เห็นแก่ตัวมากกว่าเห็นแก่คนอื่น หลายครั้งเราแสดงพฤติกรรมที่เราแทบจะคาดไม่ถึงออกไป ด้วยการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ออกมา

            เราจะไม่สามารถจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เลย ถ้าเราไม่รู้เท่าทันอารมณ์ เช่นเดียวกับการมีความสุข ที่ผมอธิบายก่อนหน้านี้ ผมไม่ได้จะบอกว่าความสุขมันไม่มีจริง แต่สิ่งที่ผมกำลังจะอธิบายก็คือ ความสุขมันคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะนั้น มันเหมือนกับลมหายใจ เราจะไม่มีวันเจอลมหายใจถ้าเราพยายามวิ่งตามหามัน มันอยู่กับเราอยู่แล้วเราจะวิ่งให้เหนื่อยไปทำไม ยิ่งเราตามหาก็ยิ่งไม่เจอ อารมณ์ก็เหมือนกันเราต้องคอยสังเกตมันถึงจะรู้เท่าทันผลลัพธ์ที่เกิด

การรู้เท่าทันอารมณ์

            อารมณ์มีหลายชนิดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ เศร้า รู้สึกผิด อิจฉา ขยะแขยง ฯลฯ อารมณ์ทั้งหมดมีหน้าที่ไว้เพื่อให้เรามีชีวิตรอด ความกลัวและขยะแขยงจะเกิดขึ้นเมื่อเรากำลังอยู่ในอันตราย ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับสัตว์ป่า หรือได้กลิ่นขยะแขยงจากอาหารที่เสียแล้ว อารมณ์อิจฉาเกิดจากสัญชาตญาณการแข่งขัน และการเปรียบเทียบกับผู้อื่นเพื่อเอาตัวรอด หรือเพื่อเอาชนะ

            แล้วทำไมอารมณ์ส่วนใหญ่ของเราจึงสะท้อนด้านมืดของประสบการณ์มนุษย์ออกมา ทั้งที่อารมณ์ส่วนใหญ่ของเรามีหน้าที่เพื่อผ่านการคัดสรรตามธรรมชาติ หรืออารมณ์จำพวก ความโกรธ ความเศร้า อาจจะมีประโยชน์บ้างเหมือนกัน ความจริงแล้วมันเป็นสัญญาณบางอย่าง แต่น่าเศร้าที่คนจำนวนมากเชื่อว่าคนเราควรจะควบคุมอารมณ์ของตนเองเอาไว้ "นั้นเป็นสิ่งที่ผิด" เพราะหน้าที่อารมณ์คือการส่งสัญญาณถึงความผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีอารมณ์เศร้านั้นหมายความว่าจิตใจของเรากำลังส่งสัญญาณออกมา ใ้ห้เราแก้ปัญหาบางอย่าง

            อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วว่ามนุษย์เราดำรงชีวิตด้วยสัญชาตญาณ เราแสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมออกมาบ่อยครั้งมาก หลายครั้งเราทำโทษตัวเอง และไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องแสดงอารมณ์เหล่านี้ออกมา ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสัญญาณบางอย่างให้เราแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา บางคนแสดงอารมณ์โกรธมาก เพราะเขากำลังปกปิดอะไรบางอย่างอยู่ บางคนรู้สึกผิดมากเพราะเขาทำผิดอะไรบางอย่างเอาไว้ 

            คนที่รู้เท่าทันอารมณ์จะแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และซับซ้อน เขาพวกจะสามารถทนต่อความเครียดในระดับสูงและรับมือกับความล้มเหลวได้โดยที่ยังคงแน่วแน่ เปิดกว้างและเปิดรับ พวกเขาเข้าใจว่าชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป แต่พวกเขาจะยังคงกระทำสิ่งต่าง ๆ ไปตามคุณค่าสูงสุดที่ตนยึดถือ และมุ่งมั่นที่จะไขว่คว้าเป้าหมายระยะยาวอันยิ่งใหญ่ต่อไป 

            นอกจากนั้นพวกเขายังรับรู้ถึงอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะโกรธ เศร้า และอารมณ์อื่น ๆ อีกมากมาย ใครบ้างล่ะที่ไม่มี เพียงแต่พวกเขาจะเผชิญหน้าเรื่องเหล่านี้ด้วยความสงสัยใครรู้ เห็นอกเห็นใจตัวเอง และด้วยความยอมรับ และแทนที่จะปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้พวกเขาเสียศูนย์ 

            ซูซาน เดวิด (Susan David) เรียกทักษะในการเท่าทันอารมณ์ว่า ความคล่องแคล่ว (Emotional Agilitiy) ทางอารมณ์ เธออธิบายว่า "คนที่มีความคล่องแคล่วทางอารมณ์นั้นแม้จะพบกับอุปสรรค ก็ยังแน่วแน่ต่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขาต่อไป" การจะรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองได้ เราจะต้องมีความคล่องแคล่วทางอารมณ์ เราจะต้องรับรู้ถึงอารมณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และมันเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายอะไร

            เมื่อเรารู้เท่าทันอารมณ์ จะสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ อยู่กับสติหรือความตั้งมั่นในจิตใจ เราจะสามารถเลือกวิธีที่เราจะตอบสนองต่ออารมณ์ ที่เป็นระบบเตือนภัยของเรา เหมือนกับที่วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Victor Frankl) นักจิตบำบัดที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันนาซี ซึ่งต่อมาเขาเขียนไว้ในหนังสือชื่อ Man's Search for Meaning ที่ว่าด้วยการใช้ชีวิตที่เปี่ยมด้วยความหมาย ชีวิตที่ศักยภาพของมนุษย์สามารถได้รับการเติมเต็ม แฟรงเคิลอธิบายว่า 

"ตรงกลางระหว่างตัวกระตุ้นกับการตอบสนองนั้นคือพื้นที่ว่าง และในพื้นที่ว่างดังกล่าวนั้นเอง คืออำนาจของเราที่จะเลือกวิธีการตอบสนองและในการตอบสนองของเรานั้นก็มีการเติบโตและอิสรภาพรออยู่" 

            หากพิจารณาสิ่งที่แฟรงเคิลกล่าวก็คือ มันขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะตอบสนองไปตามอารมณ์นั้นหรือไม่ แต่เราจะไม่รู้เลยว่าเราควรจะตอบสนองอย่างไร ถ้าเราไม่เห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราโดนด่าด้วยคำหยาบ จนเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมา เราสามารถรับรู้อารมณ์โกรธแล้วเลือกตอบสนองกลับได้ตามที่เราต้องการ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องพึงระวังไว้ก็คือ ห้ามเก็บกดอารมณ์ สิ่งที่เรามักจะพลาดกันก็คือ เมื่อเราโดนกระทำจนเกิดอารมณ์โกรธเรามักจะสงวนท่าทีซึ่งมันจะทำลายสุขภาพยจิตของเราในภายหลัง ในกรณีดังกล่าวเราสามารถแสดงอารมณ์โกรธกลับไปได้ตามความเหมาะสม ที่มันจะไม่สร้างความเสียหายให้กับตนเอง

            ดังนั้นการรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง ไม่ใช่การไม่ตอบสนอง หรือนิ่งเฉย แต่มันคือการเข้าใจรูปแบบอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ส่วนการตอบสนองนั้นขึ้นอยู่ว่าเราจะจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นของตนเองอย่างไร คนที่สามารถรับรู้อารมณ์ตัวเองได้ และเลือกจัดการอารมณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือคนที่มีความฉลาดทางด้านอารมณ์ (Emotional Intelligence) 

วิธีการฝึกรู้เท่าทันอารมณ์

            การจะสามารถรู้เท่าทันอารมณ์ อันดับแรกจะต้องใช้สติในการรับรู้เสียงในใจที่คอยวิจารณ์ ติเตียน และทำให้เรารู้สึกแย่ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นหลังจากที่เราเผชิญกับเหตุการณ์บางอย่างทำให้มีอารมณ์เกิดขึ้นมา เช่น ทำงานผิดพลาด ล้มเหลว ทำให้เราคิดว่าตัวเองไม่เก่งเลย มีความขุ่นเคือง ไม่พอใจ รังเกียจออกมา เมื่อเราได้ยินเสียงความรู้สึกดังกล่าว เราไม่จำเป็นต้องยอมรับ ให้เหตุผล หรือแก้ตัว แค่ปล่อยให้มันออกมา

            อย่าพึ่งหาเหตุผลไปต่อต้านมันทันที เราจะต้องยอมรับอารมณ์นั้นโดยไม่พยายามยับยั้งมัน ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่าอารมณ์แต่ละอย่างของเรามีเสียง และเสียงก็แสดงออกเป็นคำพูด เราจะต้องใส่ใจกับอารมณ์เพื่อฟังน้ำเสียงให้ออก ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ กังวล หรือไม่ชอบใจ ขอให้ใส่ใจอย่างถี่ถ้วนเพื่อที่เราจะสามารถรับรู้ ได้ยิน และประมวลมันได้ว่ามันกำลังพูดอะไรออกมา

            ถ้ามันเป็นอารมณ์โกรธ ก็อาจจะมีเสียงเช่น "ฉันเกลียดเรื่องนี้ที่สุด" "ฉันโมโหแม้งเหลือเกิน" "ไม่อยากเชื่อเลยว่าสิ่งนี้แม้งจะเกิดขึ้น" ซึ่งมันจะตามมาด้วยอะไรลบ ๆ ที่เราอยาทำกับคนที่เราโกรธ หรือถ้าเป็นอารมณ์กังวล เสียงจะพูดคล้าย ๆ "ฉันไม่รู้จะทำไงดี" "แล้วถ้าฉันทำพลาดล่ะ" ซึ่งจะตามมาด้วยผลต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นถ้าอะไร ๆ ไม่เป็นไปตามแผน

            ส่วนอารมณ์ไม่พอใจตัวเอง เสียงจะพูดประมาณว่า "ฉันไม่ชอบตัวเองเลย" "ฉันเกลียดตัวเองที่เป็นแบบนี้" "ทำไมฉันทำให้มันออกมาดีไม่ได้นะ" จากนั้นเราก็จะนึกย้อนไปถึงความผิดพลาดหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองช่างโง่ และทำอะไรผิดพลาดแบบนี้เสมอ

            เสียงที่เกิดขึ้นดังกล่าวดำรงอยู่กับอารมณ์ทั้งหลาย ตั้งแต่ ไม่ยอมรับ เสียใจ ไปจนถึงยอมรับและสุขใจ และเช่นเคย การสังเกตและยอมรับย่อมสามารถช่วยให้เราได้ยินว่ามันกำลังพูดอะไรอยู่ การเข้าใจว่ามันพูดหรือสื่อสารอะไร ช่วยทำให้มันอ่อนตัวลงมากทีเดียว 

            เนื่องจากอารมณ์ต่าง ๆ มีสุ้มเสียง คำพูดและภาพในความคิดมากมาย จึงเป็นผลจากอารมณ์บางอย่างที่แฝงอยู่ ถ้าหมกมุ่นกับความคิดว่าฉันเกลียดนี่ ฉันเกลียดนั่น ก็แปลว่าเรารู้สึกโกรธ หรือคำพูดที่ว่า "ฉันคงทำสิ่งนี้ไม่ได้หรอก" ก็เป็นเครื่องหมายบอกความกังวลหรือหวั่นกลัว เราอาจไม่ตระหนักถึงความกลัวนั้น แต่มันซ่อนอยู่ใต้เสียงพูดหรือภาพในความคิด เราจะต้องคอยเฝ้าดูให้ดี เพื่อให้เวลาที่อารมณ์ต่าง ๆ แสดงตัวออกมา เราจะได้ไม่เผลอปิดกั้นมันโดยไม่รู้ตัว

            ขณะที่กำลังฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ ขอให้อยู่กับความคิดหรืออารมณ์อย่างหนึ่งให้นานตราบเท่าที่มันยังเด่นชัด อย่าพยายามเปลี่ยนหรือรีบ ๆ ปล่อยผ่าน ไม่ว่าอะไรจะผุดขึ้นมา เราจะต้องปล่อยให้มันอยู่นานที่สุด อย่าผลักใสอะไร แม้มันจะเป็นความคิดหรืออารมณ์ที่เราไม่ชอบ หรือรู้สึกเจ็บปวดก็ตาม 

            หรือในกรณีที่ความคิดมันกระโดดไปอีกเรื่องหนึ่ง (อีกอารมณ์หนึ่ง) ก็ให้เราปล่อยมันเป็นเช่นนั้น หลักการก็คือ เราจะต้องไม่บังคับตัวเองให้คิด แต่เราจะต้องปล่อยใจไปตามที่มันเป็นโดยไม่ผลักดันหรือฉุดดึงมันไปทางอื่น เป้าหมายหนึ่งเดียวของเราคือการสังเกตเท่านั้น เพราะการผลักดัน ฉุนดึง อาจแปลว่าหลายอย่างในการรับรู้เป็นสิ่งรบกวนเราให้เขวจากอารมณ์ที่เราพยายามจะเลี่ยง

            อารมณ์แง่ลบไม่ว่าจะเป็น ความละอายใจ อับอายขายหน้า เย้ยหยัน เครียด ประหม่า วิตกกังวล สูญเสีย และโศกเศร้านั้นช่างแย่สุด ๆ บางทีมันแย่เสียจนจิตใจของเรายังไม่อยากพบเจอกับมัน ฉะนั้นจิตใจของเราก็จะทำอะไรเท่าที่มันทำได้ เพื่อเบนความสนใจของเราไปจากความรู้สึกแย่ ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการโยนความคิดหรือภาพบางอย่างใส่เข้าไปทำให้เกิดความสับสนแล้วมองข้ามอารมณ์เชิงลบต่าง ๆ ไป

            ดังนั้นจะต้องใช้เวลาในการฝึก เราจะมองอารมณ์ออกก็ต่อเมื่อได้ยินเสียงที่ดังออกมาตามอารมณ์นั้นอย่างที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อเราหัดทำไปสักพักเราจะเริ่มจับอารมณ์ได้ว่า "อ๋อเรากำลังโกรธอยู่" หรือ "อ๋อเรากำลังเศร้าอยู่" โดยการที่เราสังเกตเมื่อมันเกิดขึ้น อย่าพยายามวิ่งไล่ตามหาเสียงของความคิด เราเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์ ไม่ต้องตัดสิน ไม่ต้องโทษตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราหาทางรับมือหรือจัดการอารมร์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

"เมื่ออารมณ์โกรธ อับอาย เศร้า 
หรืออารมณ์เชิงลบอื่น ๆ เกิดขึ้นในจิตใจเรา 
ให้จดจำไว้เสมอว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ 
พยายามสังเกตมัน รับรู้มัน มันจะจางลง 
แล้วเราจึงค่อยหาวิธีจัดการมันอีกที"


อ่านบทความ การจัดการอารมณ์ ได้ในลิ้งนี้ 


อ้างอิง

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Frankl, V. (2006). Man's Search for Meaning. MS: Beacon Press

Haig, M. (2016). Reasons to Stay Alive. NY: Penguin Life.

Knight, K. (2020). Concentration: Maintain Laser Sharp Focus and Attention for Stretches of 5 Hours or More. MindLily.com.

คาลอส บุญสุภา. (2564). การจัดการอารมณ์ (Emotional Management). https://sircr.blogspot.com/2021/08/emotional-management.html

ความคิดเห็น