การจัดการอารมณ์ (Emotional Management)

"หนทางที่เราจะไม่เศร้าหรือทุกข์ไปกว่านี้ก็คือ 
การเข้าใจสัญญาณที่จิตใจของเราส่งออกมา 
และอยู่ร่วมกับน้ำตาที่ไหลออกมาอย่างเป็นมิตร"

            ในช่วงเวลาแห่งชัยชนะ ศาลสูงสุดได้ตัดสินให้การแบ่งแยกเชื้อชาติในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หลังจากหนึ่งปีที่ โรซา พาร์กส์ (Rosa Parks) ถูกจับกุมโทษฐานไม่ยอมไปนั่งบริเวณที่นั่งของคนผิวดำบนรถประจำทาง ต่อไปนี้คนผิวดำสามารถจะนั่งตรงไหนก็ได้ในรถประจำทาง แต่ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) มองไกลมากกว่านั้น เขาเตรียมความพร้อมของพลเมืองเพื่อรับมือกับความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่อาจเกิดขึ้นบนรถประจำทางที่ไม่ได้มีการแบ่งแยกที่นั่งตามสีผิวแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว

            เขาออกแบบและจัดการอบรมให้กับคนผิวดำในรัฐแอละแบมา โดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการไม่ใช้ความรุนแรง พวกเขาจำลองรถประจำทางขึ้นมาด้วยการตั้งเก้าอี้เรียงแถว แล้วกำหนดให้ผู้เข้าร่วมการอบรมประมาณ 12 คนรับบทบาทเป็นคนขับรถและผู้โดยสาร ต้องนึกภาพว่าในสมัยนั้นการเหยียดสีผิวเป็นเรื่องธรรมดา และคนผิวขาวมีพฤติกรรมการเหยียดที่รุนแรง จึงเป็นเหตุให้ความขัดแย้งระหว่างสีผิวยังคงอยู่ถึงทุกวันนี้ แม้จะไม่รุนแรงเหมือนในอดีตแล้วก็ตาม

            ในการแสดงบทบาทสมมุตินี้ "ผู้โดยสารผิวขาว" จะพูดจาเหยียดหยามผู้โดนสารผิวดำ ทั้งถ่มน้ำลายใส่ เอาหมากฝรั่งป้าย ดีดเถ้าบุหรี่ใส่พวกเขา และเทนมใส่ศีรษะของพวกเขา รวมถึงบีบซอสมะเขือเทศและมัสตาร์ดใส่หน้าของพวกเขา แน่นอนว่าคิงคงมองในแง่ร้ายเพื่อให้คนของเขาสามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็มีแนวโน้มว่าสามารถเกิดขึ้นได้

            คิงไม่เพียงแค่อบรมให้คนผิวดำเตรียมความพร้อมเท่านั้น แต่เขาแฝงนัยยะบางอย่างที่ลึกซึ้ง คิงอยากทำให้พลเมืองผิวดำโกรธเคืองมากพอที่จะลุกขึ้นประท้วงแต่ไม่มากพอที่จะเลือกใช้ความรุนแรง

             คิงและผู้ร่วมงานของเขาจึงต้องคิดกลยุทธ์ขึ้นมา ซึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็คือการระบายความโกรธ นักบำบัดหลายคนมีความเห็นว่าเราควรจะระบายอารมณ์ออกมาด้วยการทุบหมอนหรือกรีดร้อง ซึ่งสอดคล้อง กับความเห็นของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่มีความเห็นว่าการแสดงความเกรี้ยวกราดที่ถูกกักเก็บไว้ออกมา ก็เหมือนเป็นการได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นในใจและคลายความกดดันได้

            ความคาดหวังของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ก็คือการให้ประชาชนสามารถจัดการอารมณ์ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Emotional Menagement) เพราะการจัดการอารมณ์ไม่ใช่การไม่โกรธ ไม่แสดงความรู้สึกออกมา แต่การจัดการอารมณ์ คือ การที่เราตระหนักถึงอารมณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะ โกรธ สิ้นหวัง กลัว เสียใจ แล้วแสดงออกอย่างมีสติ กล่าวคือ หากประชาผิวดำรู้สึกโกรธ แล้วเรียกร้องความถูกต้อง แต่ไม่โกรธมากพอที่จะทำร้ายคนอื่น หรือทำในสิ่งที่ผิด นั้นหมายความว่าเขาสามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้ แต่การระบายอามณ์จะสามารถช่วยให้จัดการอารมณ์ได้จริงหรือไม่ หรือจะทำให้ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่

การจัดการอารมณ์

            แบรด บุชแมน (Brad Bushman) นักจิตวิทยาผู้ต้องการทดสอบว่าการระบายอารมณ์ช่วยจัดการความโกรธได้จริงหรือไม่ เขาจึงได้ออกแบบการทดลองที่ทำให้ผู้คนโกรธ ซึ่งเป็นการทดลองที่ฉลาดมาก เขาให้ผู้เข้าร่วมทดลองได้รับคำขอให้เขียนเรียงความคัดค้านการทำแท้งหรือเรียงความสนับสนุนให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกเองว่าจะทำแท้งหรือไม่ จากนั้นก็ได้รับคำวิจารณ์ที่เขียนด้วยถ้อยคำรุนแรงจากเพื่อนที่มีมุมมองตรงกันข้าม ซึ่งประเมินว่าเรียงความของพวกเขาดูสะเปะสะปะไม่มีความแปลกใหม่ ภาษาไม่สละสลวย ไม่ชัดเจน ไม่มีพลังโน้มน้าวใจและมีคุณภาพต่ำ พร้อมกับเสริมเพิ่มเติมว่า "นี่คือเรียงความที่ห่วยที่สุดเท่าที่ฉันเคยอ่าน"

            ทำไมการวิจารณ์ความคิดเห็นถึงทำให้เราโกรธขนาดนี้ เคยไหมครับเวลาที่เราแสดงความคิดเห็น แล้วเราเจอความคิดเห็นที่ขัดแย้ง เราจะรู้สึกโกรธมากทั้ง ๆ ที่เรารู้ว่าปกติคนคนทั่วไปก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่แล้ว อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นก็เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่เหตุผลที่เราโกรธก็เพราะว่าปกติแล้วมนุษย์ดำเนินชีวิตโดยการพึ่งพาสัญชาตญาณซึ่งเป็นระบบ 1 ที่คิดได้อย่างรวดเร็ว มากกว่าระบบ 2 ที่คิดได้วิเคราะห์อย่างมีสติ 

            เราใช้ความรวดเร็วและง่ายดายในการดำเนินชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะโมโหหรือโกรธเมื่อทุกอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ ยิ่งไปกว่านั้นการเขียนเรียงความก็คือการผลิตผลงานหรือลูกของเราดี ๆ นั้นเอง การโดนคนอื่นมาวิจารณ์ย่อมเป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกโกรธมากกว่าเวลาที่เราแสดงความคิดเห็นทั่วไปแล้วโดยคนวิจารณ์

            กลับมาที่การทดลองกันต่อ หลังจากที่กลุ่มทดลองได้รับคำวิจารณ์ ก็รู้สึกโกรธอย่างมาก ผู้วิจัยจึงได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม พร้อมกับกำหนดวิธีโต้ตอบออกมา 3 แบบ ประกอบไปด้วย 

            1) ระบายอารมณ์ ผู้วิจัยจะให้ผู้ทดลองต่อยกระสอบทรายอย่างหนักที่สุดเท่าที่พวกเขาต้องการเป็นเวลานานแค่ไหนก็ได้ ขณะเดียวกันก็ให้นึกถึงคนที่วิพากษ์วิจารณ์ผลงานของเขาด้วยพร้อมกับมองดูรูปภาพของคนคนนั้นไปด้วย (ระบายอารมณ์โดยตรง)

            2) หันเหความสนใจ ผู้วิจัยจะให้ผู้ทดลองต่อยกระสบทราย แต่ได้รับคำสั่งให้คิดว่าพวกเขาจะมีร่างกายที่แข็งแรงและได้เห็นรูปภาพของคนที่ออกกำลังกาย (เบี่ยงเบนเป้าหมาย)

            3) ไม่ทำอะไรเลย ซึ่งกลุ่มจะเป็นกลุ่มควบคุม ผู้เข้าร่วมทอดลองจะต้องนั่งเงียบ ๆ เป็นเวลา 2 นาทีระหว่างที่รอช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ (เก็บกด)

            เมื่อเสร็จสิ้นการทดลองทั้ง 3 แบบ บุชแมนให้กลุ่มทดลองทั้ง 3 กลุ่มมีโอกาสเปิดเสียงดังใส่ผู้วิจารณ์ที่วิจารณ์ผลงานของเขา โดยสามรถกำหนดระยะเวลาและความดังแค่ไหนก็ได้ ผลปรากฎว่ากลุ่มระบายอารมณ์มีความก้าวร้าวมากที่สุด พวกเขาเปิดเสียงดังใส่ผู้วิจารณ์มากกว่าและกดปุ่มค้างเสียงไว้นานกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มหันเหความสนใจและกลุ่มที่ไม่ทำอะไรเลย

            ผู้เข้าร่วมการทดลองคนหนึ่งรู้สึกว่าโกรธเคืองอย่างมากหลังจากนึกถึงคำวิจารณ์เชิงดูหมิ่นถึงขั้นที่การต่อยกระสอบทรายยังไม่พอ เขาต่อยกำแพงห้องปฏิบัติการวิจัยจนทะลุเป็นรูโบ๋เลย เราสามารถสรุปได้ว่าการระบายอารมณ์ไม่อาจดับไฟแห่งความโกรธได้ แต่ยิ่งทำให้ไฟโหมกระหน่ำ เมื่อเราระบายความโกรธ การต่อยกระสอบทรายโดยไม่นึกถึงคนคนนั้น ก็เป็นการเปิดระบบเดินหน้าเช่นกัน แต่มันไม่ได้ทำให้เราเลือกที่จะตอบโต้รุนแรง ส่วนกลุ่มที่นั่งเงียบ ๆ ส่งผลให้ระบบหยุดเริ่มทำงาน

            ในการทดลองอื่น ๆ บุชแมนเผยให้เห็นว่าการระบายอารมณ์ใช้ไม่ได้ผลถึงแม้ว่าเราจะคิดว่ามันได้ผล และถึงแม้มันจะทำให้คุณรู้สึกดีก็ตาม แต่มันก็เป็นการที่ทำให้รู้สึกดีหลังจากที่ระบายอารมณ์เท่านั้น ไม่ใช่แค่แสดงความความก้าวร้าวต่อคนที่วิจารณ์เรา แต่ยังก้าวร้าวต่อคนบริสุทธิ์ทั่วไปที่อยู่ใกล้ตัวอีกด้วย 

            จากผลการทดลองของ บุชแมน พบว่าการอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลยทำให้เราไม่แสดงความก้าวร้าวออกมามากที่สุด แต่มันจะดีกับตัวเราเองในระยะยาวหรือไม่ คนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่าคนที่มีความฉลาดทางด้านอารมณ์คือคนที่สามารถควบคุมอารมณ์ไม่ให้แสดงออกมา  ยกตัวอย่างความเข้าใจผิด ๆ เช่น เวลาที่เราโกรธ คนส่วนมากจะมองการแสดงความโกรธตอบ คือความก้าวร้าว หรือ เมื่อเวลาที่เราพบเจอกับเรื่องเศร้า ผู้ชายมักจะถูกวัฒนธรรมหล่อหลอมไม่ให้แสดงความเศร้าหรือร้องไห้ออกมา นั้นจึงเป็นสาเหตุที่ว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศชายฆ่าตายมากกว่าผู้ป่วยในเพศหญิง ทั้ง ๆ ที่สถิติเพศหญิงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า

หน้าที่ของอารมณ์

            อารมณ์มีพื้นฐานอยู่ 7 ชนิดใหญ่ ๆ (จริงแล้วมีมากกว่านั้นมหาศาล) ประกอบด้วย ความเบิกบาน (Joy) ความโกรธ (Anger) ความเศร้า (Sadness) ความกลัว (Fear) ความประหลาดใจ (Surprise) ความหยิ่งยโส (Contempt) และความขยะแขยง (Disgust) เป้าหมายของอารมณ์ทั้งหมดมีหน้าที่ไว้เพื่อให้เรามีชีวิตรอด ความกลัวและขยะแขยงจะเกิดขึ้นเมื่อเรากำลังอยู่ในอันตราย ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับสัตว์ป่า หรือได้กลิ่นขยะแขยงจากอาหารที่เสียแล้ว 

            แล้วทำไมอารมณ์ส่วนใหญ่ของเราจึงสะท้อนด้านมืดของประสบการณ์มนุษย์ออกมา ทั้งที่อารมณ์ส่วนใหญ่ของเรามีหน้าที่เพื่อผ่านการคัดสรรตามธรรมชาติ หรืออารมณ์จำพวก ความโกรธ ความเศร้า อาจจะมีประโยชน์บ้างเหมือนกัน แล้วเราควรจะหลีกเลี่ยงมันหรือไม่ หรือเราควรจะยอมรับพวกมันว่าเป็นส่วนที่มีประโยชน์ในชีวิตของเรา แม้ว่าหลายครั้งมันจะสร้างปัญหาและทำให้เราเผชิญกับความอึดอัด

            นั้นแหละถูกแล้ว แม้ว่าอารมณ์จำพวกความเศร้า หรือความโกรธจะทำให้เราอึดอัด ก่อปัญหามากมายกับเรา แต่ความจริงแล้วมันเป็นสัญญาณบางอย่าง แต่น่าเศร้าที่คนจำนวนมากเชื่อว่าคนเราควรจะควบคุมอารมณ์ของตนเองเอาไว้ "นั้นเป็นสิ่งที่ผิด" เพราะหน้าที่อารมณ์คือการส่งสัญญาณถึงความผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีอารมณ์เศร้านั้นหมายความว่าจิตใจของเรากำลังส่งสัญญาณออกมา ใ้ห้เราแก้ปัญหาบางอย่าง

            สาเหตุที่คนเป็นโรคซึมเศร้าก็คือเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่จิตใจเราเรียกร้องได้ ในทางกลับกันเรากลับให้ความสนใจที่ความเศร้าและมองมันในแง่ลบ นั้นจึงเป็นกับดักแห่งมนุษยชาติ แน่นอนปัญหาบางปัญหาเราไม่สามารถแก้ไขมันได้ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะสูญเสียคนที่เรารักไปจนทำให้เราเกิดความทุกข์ จิตใจก็เลยส่งสัญญาณเป็นอารมณ์เศร้าโดยทำให้น้ำตาไหลออกมา ซึ่งปัญหาดังกล่าวเราไม่สามารถแก้ไขอะไรมันได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราจะปรับตัวได้กับช่วงเวลาที่ไม่มีคนที่เรารักอีกต่อไปแล้ว "หนทางที่เราจะไม่เศร้าหรือทุกข์ไปกว่านี้ก็คือ การเข้าใจสัญญาณที่จิตใจของเราส่งออกมา และอยู่ร่วมกับน้ำตาที่ไหลออกมาอย่างเป็นมิตร"

            กลับมาที่ผลการทดลองของ แบรด บุชแมน กลุ่มตัวอย่างที่ไม่ตอบสนองต่อความโกรธ โดยให้นั่งอยู่เฉย ๆ ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวก็จริง แต่สิ่งนี้จะเป็นปัญหาที่รุนแรงตามมาในระยะยาว เพราะพวกเขากำลังมองข้ามอารมณ์หรือสัญญาณความโกรธที่ถูกส่งมา แล้วเลือกที่จะ "เก็บกด" ปัญหาของการเก็บกดคือ การละเลยอารมณ์ที่เป็นปัญหา มันจึงไม่สามารถทำให้เราไปถึงรากของอะไรก็ตามที่ก่อให้เกิดปัญหานั้นขึ้น 

            โดยส่วนมากคนที่เก็บกดบางสิ่งบางอย่างลงไปในจิตใต้นึก จะพยายามจะคิดบวก และกดความคิดลบ ๆ ออกไปจากหัว มันคือการไม่ทำอะไรกับปัญหาเลย กลับจะยิ่งกินพื้นที่ช่องสัญญาณของสมอง (Mental Bandwitdth) มากขึ้นจนน่าตกใจ นอกจากนั้นในหนังสือ Emotional Agility ซูซาน เดวิด (Susan David) ได้อธิบายว่า "มีผลการวิจัยออกมาแล้วว่า การพยายามที่จะไม่คิดหรือเพิกเฉยต่อความคิดและอารมณ์จะยิ่งเป็นการเพิ่มพลังให้มันมากขึ้นด้วย" 

            ยกตัวอย่างผลการศึกษาของนักจิตวิทยาสังคม แดเนียล เวกเนอร์ (Daniel Wegner) เขาบอกกับกลุ่มผู้เข้าร่วมทดลองให้ไม่ต้องคิดถึงหมีขาว ผลก็คือล้มเหลว ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากที่เขาบอกให้คิดถึงหมีขาวได้ ผลกลายเป็นว่าพวกเขาเหล่านั้นคิดถึงหมีขาวมากกว่า กลุ่มทดลองที่ไม่ได้ห้ามคิดถึงหมีขาวตั้งแต่แรกเสียอีก มันก็เหมือนคนที่พยายามควบคุมอาหารที่ฝันถึงบุฟเฟ่ หรืออาหารที่มีน้ำตาล ไขมันเยอะ ๆ นั้นแหละครับ กล่าวคือการห้ามใครทำอะไรสักอย่าง มันจะทำให้เขาคิดถึงสิ่งนั้นมากยิ่งขึ้น 

            สิ่งนี้คือการย้อนแย้งของการเก็บกด เราจะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ แต่จริง ๆ แล้วเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย อันดับแรก อารมณ์ของเราจะเป็นฝ่ายควบคุม สองอารมณ์ที่ถูกเก็บกดไว้จะโผล่ขึ้นมาอย่างคาดไม่ถึงโดยไม่รู้ตัว นี้คือกระบวนการที่นักจิตวิทยาเรียกว่า การรั่วไหลของอารมณ์ (Emotional Leakage) เช่น เวลาที่เราโกรธเพื่อนแล้วพยายามเก็บกดมันไว้ (ไม่นึกถึงมัน) จากนั้นในวันที่เราดื่มเลี้ยงฉลองที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เรากลับระเบิดอารมณ์ออกมาจากปากอย่างรุนแรง แล้วงานฉลองนั้นก็ตึงเครียดขึ้นมาทันที

            คนจำนวนมากมกหมุ่นกับการพยายามจะควบคุมตนเอง โดยมองข้ามอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น อารมณ์โกรธ อับอาย หรือความละอายใจ แม้ประสบการณ์เหล่านั้นจะไม่น่ายินดีเอาเสียเลยเมื่อมันเกิดขึ้น แต่มันก็ล้วนมีเหตุผล อารมณ์เชิงลบดึงความสนใจของเราไปยังอะไรก็ตามในสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งสัญญาณเพื่อให้เราทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขความผิดปกติบางอย่าง

            การกลบเกลื่อนโดยการไปทำอย่างอื่นแทน เช่น ต่อยกระสอบทราย หรือทำความสะอาดบ้าน หรือพยายามเก็บกดอารมณ์โดยพยายามคิดถึงเรื่องอื่น สามารถทำให้อารมณ์นั้นจางลงไปได้ แต่ความผิดปกตินั้นยังคงอยู่ นักจิตวิทยา จูน กรูเบอร์ (June Gruber) ไอริส เมาส์ (Iris Mauss) และมายา ทามีร์ (Maya Tamir) ได้เขียนบทความในปี 2011 ที่ระบุถึงประโยชน์ที่น่าประหลาดใจหลายอย่างเกี่ยวกับความรู้สึกเชิงลบ เช่น ความเศร้า 

            กรูเบอร์และคณะมองว่า เมื่อเรารู้สึกเศร้า เรากำลังส่งสัญญาณไปยังคนรอบตัวว่าต้องการความช่วยเหลือ ลองนึกถึงครั้งล่าสุดที่เห็นคนร้องไห้ หากเราเป็นเหมือนกับคนส่วนใหญ่ เราจะรู้สึกว่าอยากไปปลอบโยนหรือช่วยเหลือเขา สิ่งที่กระตุ้นให้เราทำเช่นนั้นก็คือความเศร้า ดังนั้นการปฏิเสธความเศร้าเอาไว้ภายใต้ผ้าคลุมแห่งแง่บวกจอมปลอมเป็นการปฏิเสธการนำทางที่เหมาะสมให้กับตนเอง และอาจจะปัดมือที่ยื่นให้ความช่วยเหลือกับเราออกไปด้วย

            นอกจากความเศร้าแล้วความรู้สึกละอายใจก็มีประโยชน์เช่นกัน มันกระตุ้นให้เราแก้ไขความผิดพลาดเมื่อทำให้ผู้อื่นต้องเจ็บปวด แม้แต่ความอับอายก็มีข้อดี เพราะมันบอกว่าเราได้ทำสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ และกระตุ้นให้เราแก้ไข แน่นอนอารมณ์เหล่านี้มันทำให้เราเจ็บปวด รู้สึกเหมือนโดนกระหน่ำจากชีวิตจนบางทีไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ แต่ลึกลงไปแล้วมันก็มักจะมีสิ่งเล็ก ๆ แต่สำคัญซ้อนอยู่ ซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อเราในภายภาคหน้าเสมอ จึงไม่จำเป็นที่เราจะต้องเอาแต่เก็บกดหรือคิดมาก มันดีกว่าถ้าเราจะอยู่กับปัจจุบันและเปิดใจพร้อมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นทุกประเภทด้วยความอยากรู้อยากเห็นและท่าทียอมรับความจริง 

การตอบสนองสัญญาณจากอารมณ์

            กลับมาที่ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ กับเพื่อนร่วมงาน พวกเขารู้ว่าการกระบายอารมณ์เป็นทางออกที่ผิด พวกเขาจึงพยายามหยุดยั้งไม่ให้ผู้เข้าร่วมการอบรมระบายอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น "บางครั้งคนที่รับบทเป็นชายผิวขาวก็ใส่อารมณ์ในการแสดงออกมาเกินไป" คิงเล่า "พลเมืองที่รับบทเป็นชาวผิวดำมักจะตอบสนองด้วยการลืมบทบาทไม่ใช้ความรุนแรงของเตัวเองและตอบโต้กลับไปอย่างหนัก เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เราจะพยายามหันเหคำพูดและการกระทำของเขาไปสู่ทิศทางของการไม่ใช้ความรุนแรง" หลังจากการแสดงแต่ละรอบ คนกลุ่มนี้จะได้คำติชมและข้อเสนอแนะเพื่อการตอบโต้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น

            หากอยากจัดการกับความโกรธให้มีประสิทธิภาพ เราไม่ควรระบายอารมณ์ที่สะสมมาจากความเสียหายที่ผู้กระทำผิดก่อไว้ แต่เราจำเป็นต้องนึกถึงเหยื่อที่ทุกข์ทรมานจากความเสียหายนั้น เพราะการมุ่งความสนใจไปที่เหยื่อช่วยกระตุ้นสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่าความโกรธเชิงเข้าอกเข้าใจ (Empathetic Anger) หรือความต้องการที่จะหยุดยั้งการกระทำผิดใส่ผู้อื่น สิ่งนี้ช่วยให้ระบบเดินหน้าทำงานพร้อมกับทำให้เราหาวิธีการในแบบที่เคารพศักดิ์ศรีของเหยื่อ 

            เมื่อผู้อื่นทำเรื่องที่เลวร้ายกับเรา เราจะรู้สึกโกรธซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเราจะพุ่งเป้าไปที่การตอบโต้หรือแก้แค้น แต่เมื่อเราเห็นอกเห็นใจคนอื่น (แม้เราจะโกรธไปด้วยก็ตาม) เราจะแสวงหาความยุติธรรมและระบบที่ดีกว่าเดิม เราไม่ได้อยากลงโทษเพียงอย่างเดียวแต่อยากช่วยเหลือด้วย ดังนั้นเมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้นมา เราสามารถตอบสนองกับมันได้หลายทิศทาง ยกตัวอย่างเมื่อมีอารมณ์โกรธเราสามารถใช้ความโกรธเชิงเข้าอกเข้าใจก็ได้ หรือเมื่อเรามีอารมณ์เศร้า เราสามารถตอบสนองโดยการร้องไห้กับคนสนิท เล่าความในใจ หรือเขียนระบายความรู้สึกออกมาได้ ดีกว่าการพยายามปฏิเสธหรือควบคุมอารมณ์ที่เกิดขึ้นมา เพราะในความจริงแล้วเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้

"มันดีกว่าถ้าเราจะอยู่กับปัจจุบันและเปิดใจ 
พร้อมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นทุกประเภท 
ด้วยความอยากรู้อยากเห็นและท่าทียอมรับความจริง" 


อ่านบทความ แนวทางการจัดการอารมณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ในลิ้งนี้


อ้างอิง 

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Friedman, R. (2015). The Best Place to Work: The Art and Science of Creating an Extraordinary. Workplace NY: TarcherPerigee.

Grant, A. (2017). Originals: How Non-Conformists Move the World. NY: Penguin.

Gruber, J., Mauss, I., & Tamir, M. (2011).  A Dark Side of Happiness? How, When, and Why Happiness Is Not Always Good. Perspectives on Psychological Science. 6(3): 222-233. https://doi.org/10.1177/1745691611406927

คาลอส บุญสุภา. (2564). กลไกการเก็บกด (Repression) เพื่อปกป้องตนเอง. https://sircr.blogspot.com/2021/07/repression.html

ความคิดเห็น