อาการปากว่าตาขยิบทางศีลธรรม (Moral Hypocrisy)

         "พวกเราใส่ใจว่าตัวเองจะต้องดูดี มากกว่าเป็นคนดีจริง ๆ" 
            เบนจนมิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) คือ หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นหนึ่งในนักการฑูตที่เก่งที่สุดในยุคศตวรรษที่ 18 ครั้งหนึ่งที่เขาต้องเดินทางข้ามทะเลไปไกล เขาเป็นมังสวิรัติจึงมีความลำบากในเรื่องอาหาร วันหนึ่งคนเรือย่างปลากลิ่นหอมดูน่ารับประทาน แต่ความอยากนั้นมันทำให้เขาสังเกตตัวเอง จนมองเห็น"สมดุลระหว่างหลักการกับความอยาก"อยู่พักหนึ่ง เขาระลึกว่า "ตอนคนเรือชำแหละปลา ผมเห็นปลาตัวเล็กหลุดออกมาจากกระเพาะ จากนั้นจึงคิดว่า ถ้าแกกินปลาอื่นได้ ฉันก็ไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมฉันจึงจะกินแกไม่ได้"

            เขาจึงกินปลาตัวนั้นอย่างเอร็ดอร่อย แล้วกินร่วมกับคนอื่นต่อมาจากนั้น เขากลับไปกินมังสวิรัติแค่เป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น แฟรงคลิน สรุปว่า "การเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้เหตุผลนั้นช่างสะดวกสบาย เพราะมันทำให้เราหาหรือสร้างเหตุผลสำหรับทุกเรื่องที่ต้องคิดได้" โชคดีที่แฟรงคลินฉลาดหลักแหลมจนมองเห็นว่าเขาใช้เหตุผลเพื่อข้างตัวเอง แล้วยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น แต่คนอื่นมองเห็นหรือไม่

            สมัยที่ผมเป็นเด็ก ผมมองว่าการปากว่าตาขยิบเป็นเรื่องที่ไกลตัวอย่างมาก อาจจะเห็นบ้างในนักการเมืองบางคน แต่เมื่อผมเติบโตขึ้นจนได้อยู่ร่วมกับผู้คนมากมาย ผมจึงตระหนักว่า "มนุษย์ทุกคนปากว่าตาขยิบด้วยกันทั้งนั้นรวมทั้งตัวผมเองด้วย" เรื่องของแฟรงคลินเป็นการยืนยันที่ดีว่าทุกคนปากว่าตาขยิบด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น คนที่บอกว่าตัวเองชอบเข้าวัดทำบุญ เป็นคนดีทำเพื่อคนอื่น แต่นอกใจภรรยาไปมีเมียน้อย เราเรียกสิ่งนี้ว่า "อาการปากว่าตาขยิบทางศีลธรรม" (Moral Hypocrisy) 

อาการปากว่าตาขยิบทางศีลธรรม

            อาการปากว่าตาขยิบทางศีลธรรมจึงหมายถึง พฤติกรรมที่บุคคลเที่ยวบอกกับคนอื่นว่าตัวเองมีศีลธรรมที่สูง (สูงกว่าค่าเฉลี่ย) แต่ในความจริงกลับมีพฤติกรรมที่ไม่ต่างกับคนทั่วไปหรือต่ำกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย) ในมุมมองของจิตวิเคราะห์ อาการปากว่าตาขยิบเป็นผลมาจากกลไกการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism) ซึ่งเรียกว่า กลไกปากว่าตาขยิบ (Reaction Formation) หรือการทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม

            กลไกปากว่าตาขยิบ (Reaction Formation) เป็นกลไกลป้องกันตนเองของมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัญชาตญาณกระตุ้นให้คนเกิดความวิตกกังวลโดยกดดัน Ego (ตัวเรา)โดยตรงหรือผ่านทาง Superego (ศีลธรรม)  ดังนั้น Ego จะพยายามที่จะเปลี่ยนแนวการป้องกันแรงกดดันนั้น โดยเน้นไปในทิศทางตรงกันข้าม ดังนั้น ทั้งกลไกลปากว่าตาขยิบ หรืออาการปากว่าตาขยิบทางศีลธรรม (Moral Hypocrisy) จึงไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแค่ "กลไกลปากว่าตาขยิบ" เป็นการทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามซึ่งกว้างกว่า ในขณะที่ "อาการปากว่าตาขยิบทางศีลธรรม" จะเน้นไปที่มาตรฐานทางศีลธรรมที่บุคคลชอบเอามาอ้าง

            กรณีปากว่าตาขยิบที่เกิดขึ้นทั่ว ๆ ไปนั้น มันเกิดได้หลายสถานการณ์ เช่นภาพลักษณ์ที่เรามองตัวเอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราทุกคนมีภาพลวงตาที่มองตัวเองในด้านบวกด้วยกันทั้งนั้น เช่น เรามองว่าตัวเองเป็นคนรักแฟนมาก โดยที่เราไม่มองผู้หญิงคนอื่นเลย ซึ่งเราอาจจะรักจริงแต่ด้วยสัญชาตญาณบางครั้งเราก็มองผู้หญิงคนอื่นเป็นเรื่องธรรมดา ตัวอย่างดังกล่าวเป็นธรรมชาติทั่วไปที่พบเจอ แล้วผมมองว่าอาการปากว่าตาขยิบดังกล่าวไม่ได้เลวร้ายมาก

            แต่มันก็มีหลายกรณีที่เลวร้ายมาก หากเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เช่น เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สองโดยนาซี พวกเขาสร้างค่ายกักกันขึ้นมาพร้อมกับมองว่าตัวเองเป็นคนที่ดี และมีเหตุผลที่ดี พวกเขากำลังทำเพื่อชาติ และสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ในความจริงแล้วสิ่งที่พวกเขาทำมันเป็นการฆ่ามนุษย์ด้วยกันเป็นล้านคนอย่างเป็นระบบด้วยความโหดเหี้ยม ตัวอย่างดังกล่าวอาจเป็นตัวอย่างที่สุดโต่ง แต่ก็ทำให้มองเห็นภาพว่าอาการปากว่าตาขยิบทางศีลธรรมหลายครั้งมันก็น่าสมเพช

            ในหนังสือ The Righteous Mind โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ได้ยกคำกล่าวของ กลาวคอน (Glaucon) พี่ชายของเพลโต เขากล่าวว่า "พวกเราใส่ใจว่าตัวเองจะต้องดูดี มากกว่าเป็นคนดีจริง ๆ" เฮดต์ ยังกล่าวว่า "เราจะโป้ปด คดโกง และซอกแซกทางศีลธรรมบ่อย ๆ ถ้าคิดว่าจะสามารถหนีหรอดจากความผิดไปได้ แล้วเราก็จะใช้ความคิดเชิงศีลธรรมเพื่อบริหารจัดการชื่อเสียงของเรา และเพื่ออธิบายตัวเองให้คนอื่นฟัง เราเชื่อการใช้เหตุผลตามหลังของตัวมันเองโดยสิ้นเชิง จนในที่สุด เราก็ชักจูงตัวเองให้กลายเป็นคนถือดี ด้วยความดีของตัวเอง"

            วิธีที่ง่ายที่สุดในการสร้างชื่อให้ตัวเองว่าเป็นคนดีมีศีลธรรมก็คือจะต้องทำตัวให้ดูเป็นคนดีมีศีลธรรมจริง ๆ ในหนังสือ The Happiness Hypothesis  เขีนนโดย โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) คนเดียวกัน ได้นำเสนอการทดลองทางจิตวิทยาของ แดน แบตตัน (Dan Batson) เขานำนักศึกษาจิตวิทยาเข้ามาในห้องปฏิบัติการทีละคน ซึ่งนักศึกษาเหล่านั้นคิดว่าตนเองเป็นกลุ่มตัวอย่างการทดลองเพื่อศึกษาว่ารางวัลที่ไม่เท่าเทียมกันส่งผลต่อการทำงานเป็นทีมอย่างไร

            นักศึกษาทุกคนทราบว่าสมาชิกคนหนึ่งในทีมที่มีอยู่สองคนจะได้รับรางวัลที่ตอบคำถามถูก เป็นตั๋วชิงโชคที่อาจชนะรางวัลใหญ่ แต่อีกคนจะไม่ได้อะไรเลย ผู้เข้าร่วมทดลองจะมีสิทธิ์ควบคุมการทดลองขั้นต่อไปด้วยการเลือกว่าใครในทีมจะเป็นผู้ได้รางวัล และใครจะไม่ได้ "คู่ของคุณก็ต้องตัดสินใจแบบเดียวกับคุณ คุณจะตัดสินใจอย่างไร จะโยนเหรียญก็ได้นะ" คนส่วนใหญ่ในการทดลองนี้คิดว่าการโยนเหรียญเป็นวิธีตัดสินที่ยุติธรรมที่สุด

            จากนั้นก็ปล่อยให้ผู้เข้าร่วมทดลองได้เลือก ครึ่งหนึ่งของกลุ่มทดลองใช้วิธีการโยนเหรียญ แบตสันรู้เพราะเขาใส่เหรียญไว้ในถุงพลาสติก และครึ่งหรึ่งของถุงพลาสติกถูกฉีกออก ในกลุ่มคนที่ไม่ได้โยนเหรียญ 90% เลือกให้ตัวเองได้รางวัลไป ส่วนกลุ่มที่โยนเหรียญ ปรากฎว่ามีการโยนกฎแห่งความน่าจะเป็นทิ้ง และ 90% เลือกรางวัลให้กับตัวเองอีกเหมือนกัน การทดลองนี้ทำให้ค้นพบว่า คนที่บอกว่าตัวเองเป็นห่วงเป็นใยคนอื่นและสนใจประเด็นความรับผิดชอบทางสังคมนั้นมีแนวโน้มจะฉีกถุงพลาสติกออกมากกว่า แต่ไม่ได้มีแนวโน้มจะให้รางวัลแก่คนอื่นมากกว่า 

            กล่าวคือ คนที่คิดว่าตัวเองมีศีลธรรมสูงนั้น ที่จริงก็อยาก "ทำสิ่งที่ถูกต้อง" ด้วยวิธีการโยนเหรียญ แต่เมื่อเหรียญออกมาไม่ตรงใจ พวกเขาก็หาวิธีเพิกเฉยแล้วทำตามผลประโยชน์ของตัวเอง แบตสันเรียกแนวโน้มที่จะให้คุณค่าแก่ภาพที่ปรากฎของศีลธรรมมากกว่าความเป็นจริงนี้ว่า "ปากว่าตาขยิบทางศีลธรรม" (ก่อนเข้าร่วมทดลองเขาให้นักศึกษาเหล่านั้นทำแบบสอบถามเกี่ยวกับศีลธรรมมาก่อนแล้ว)

            ผู้เข้าร่วมการทดลองที่โยนเหรี่ยญรายงานผ่านแบบสอบถามเพิ่มเติมว่า พวกเขาตัดสินใจแบบนี้ด้วยเหตุผลทางจริยธรรม หลังจากการศึกษาครั้งแรก แบตสันสงสัยว่าคนเหล่านี้อาจจะหลอกตัวเองด้วยการไม่พูดชัด ๆ ว่าหัวหรือก้อยหมายถึงอะไรกันแน่ (เดี๋ยวนะ ออกหัวเหรอ นั้นแปลว่า อืม ใช่แล้ว ฉันได้" แต่เมื่อเขาทำเครื่องหมายที่สองด้านของเหรียญเพื่อกำจัดความคลุมเครือปรากฎว่าผลก็ออกมาไม่ต่างกัน

            วิธีเดียวที่ช่วยให้เกิดผลต่างออกไปคือวางกระจกบานใหญ่ไว้ในห้องตรงหน้าผู้เข้าร่วมการทดลอง และพร้อมกันนั้น ตอนอธิบายการทดลองเขาก็เน้นย้ำด้วยว่าความยุติธรรมสำคัญมาก เมื่อคนถูกบังคับให้คิดถึงความยุติธรรมและเห็นตัวเองกำลังโกงอยู่ ก็จะหยุดโกง นั้นแสดงให้เห็นว่าเราห่วงภาพลักษณ์ของตัวเอง เหมือนกับที่ นิกโกเลาะ มาเกียเวลี (Niccolò Machiavelli) นักเขียน นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงเคยกล่าวไว้ว่า

"มนุษยชาติส่วนใหญ่พึงพอใจกับภาพลักษณ์ที่ปรากฎ ราวกับภาพพวกนั้นเป็นความจริง และมักตกอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งต่าง ๆ ที่ดูเหมือนเป็นเช่นนั้นยิ่งกว่าที่มันเป็นจริง"

            โชคร้ายที่น้อยคนนักจะสามารถตระหนักถึงอาการปากว่าตาขยิบของตัวเอง เหมือนกับ เบนจามิน แฟรงคลิน ที่สังเกตตัวเองตอนที่เขาอยากกินปลาทั้ง ๆ ที่เขาเป็นมังสวิรัติ ซึ่งเขาอ้างเหตุผลว่า "ขนาดปลายังกินปลาด้วยกันได้เลย" ดังนั้นผู้อ่านหรือแม้แต่ผมก็มักจะแสดงอาการปากว่าตาขยิบอยู่บ้างเช่นเดียวกัน โดยที่เรารู้ตัวบ้างและไม่รู้ตัวบ้าง "การบอกให้เราเลิกปากวาตาขยิบก็เหมือนกับการบอกให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้า ให้เลิกเศร้าเสียที" มันเป็นไม่ได้

            นอกจากนั้นคนส่วนมากยังเชื่อว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนปากว่าตาขยิบ เพราะเรามักจะมองว่าตัวเองเป็นคนดี มีศีลธรรม ซึ่งมันเป็นอคติจากการชื่นชมตัวเอง คนทุกคนมีภาพลวงตาทางบวก (Positive Illusions) กับตัวเอง เรามักจะมองว่าเราเป็นคนดี เป็นแฟนที่ดี ทำทุกอย่างไว้ดีมากแล้ว การที่เรามีอคติแบบนั้นมันช่วยให้เราสบายใจ และรู้สึกดีกับตัวเอง แต่ในเวลาเดียวกัน อคตินี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองสมควรได้รับอะไร ๆ มากกว่าที่ได้อยู่ ดังนั้นจึงก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่รู้จบกับคนอื่น ๆ ที่ก็รู้สึกว่าตัวเองดีงามเก่งกาจพอ ๆ กัน

            คนเรามักปล่อยให้ความคลุมเครือเข้ามาเป็นเกณฑ์ตัดสินเพื่อประโยชน์ของเราเอง จากนั้นก็มองหาหลักฐานมาแสดงว่าเราสมควรจะได้ในสิ่งที่เราควรได้ แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ยุติธรรมกับผู้อื่นเอาเสียเลย อีกทั้งอาจจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น พนักงานคนหนึ่งมองว่าตัวเองควรได้รับการขึ้นเงินเดือน แต่คนอื่นไม่สมควรได้รับ ทั้ง ๆ มันเป็นสิ่งที่ทุกคนสมควรได้รับ

อคติเข้าข้างตัวเอง

            ในหนังสือ Evil: Inside Human Cruelty and Aggression ผู้เขียน รอย เบาไมสเตอร์ (Roy Baumeister) เป็นจิตวิทยาสังคมที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ได้ทำการสำรวจความชั่วร้ายจากมุมมองของทั้งเหยื่อและผู้กระทำ เมื่อมองจากมุมของผู้กระทำ เขาพบว่าคนที่ทำสิ่งที่คนอื่นเห็นว่าชั่วร้าย ตั้งแต่ทำร้ายคู่รักของตนเองจนไปถึงฆาตกรรมหมู่ แทบไม่คิดว่าตัวเองทำผิดเลย พวกเขามักจะให้ความเห็นว่าถูกยั่วยุก่อน จึงตอบสนองด้วยวิธีที่เขาคิดว่ามันยุติธรรม 

            ยกตัวอย่างเหตุการณ์ทะเลาะเบาะแว้งในครัวเรือน ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ความรุนแรง ต่างฝ่ายก็มักคิดว่าตัวเองได้ทำสิ่งที่ยุติธรรมแล้ว แม้กระทั่งในเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดว่าตำรวจแสดงความโหดร้ายโดยการยิงกระสุนอย่างแบบเผาขนใส่ประชาชนที่ชุมนุม เจ้าหน้าที่ก็คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว สิ่งนี้มันคือการปกป้องความนับถือตัวเอง โดยบิดเบือนความจริงให้ตัวเองเหมือนตกเป็นเหยื่อ เบาไมสเตอร์ชี้ว่า อธิบายว่า "คนเรามักมีเหตุผลในการก่อเหตุรุนแรง และเหตุผลเหล่านั้นก็มักเป็นเรื่องของการตอบโต้เมื่อเห็นว่าตัวเองได้รับความอยุติธรรม หรือทำเพื่อปกป้องตนเอง"

            เบาไมสเตอร์เรียกสิ่งนี้ว่า มายาคติว่าด้วยปีศาจร้ายบริสุทธิ์ คืออคติเข้าข้างตัวเองขั้นสูงสุดเป็นรูปแบบสูงสุดของสัจนิยมสามัญ ทั้งยังเป็นสาเหตุของวงจรความรุนแรงที่หมุนวนมายาวนาน ยกตัวอย่างเช่นเหตุก่อนการร้าย 9/11 อุสามะห์ บิน ลาดิน ไม่ได้โกรธชาวอเมริกันเกี่ยวกับเสรีภาพเหมือนกับที่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช อ้างกับประชาชนว่า "พวกเขาเกลียดเสรีภาพของเรา" ความจริงแล้วเขาไม่ได้เกลียดที่ผู้หญิงอเมริกันขับรถได้ ลงคะแนนเสียง หรือใส่ชุดที่ดูไม่สุภาพ 

            โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ผู้เขียนหนังสือ The Happiness Hypothesis ได้อธิบายในหนังสือว่า "พวกอิสลามหัวรุนแรงจำนวนมากอยากสังหารชาวอเมริกัน ก็เพราะใช้มายาคติว่าด้วยปีศาจร้ายบริสุทธิ์ตีความประวัติศาสตร์อาหรับ และเหตุการณ์ปัจจุบัน พวกเขาเห็นว่าอเมริกาเป็นซาตานตัวเอ้ เป็นวายร้ายตัวแทนของโลกตะวันตกที่คอยรังแกประเทศและผู้คนในอาหรับมาโดยตลอด พวกเขาทำสิ่งที่ทำเพื่อตอบสนองต่อการกระทำของอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อตะวันออกกลาง เพราะพวกเขาเห็นผ่านมายาคติว่าด้วยปีศาจร้ายบริสุทธิ์อันบิดเบือน แม้เป็นเรื่องน่าหวาดกลัวที่กลุ่มก่อการร้ายเหมารวมพลเมืองเข้าไปอยู่ในกลุ่ม ศัตรู ด้วยแล้วฆ่าไม่เลือกหน้า" 

            สิ่งที่ เฮดต์ อธิบายมานั้นเข้าใจได้ในทางจิตวิทยา แต่สิ่งที่บุชกล่าวอ้างว่า "พวกเขาทำเพราะว่าเกลียดเสรีภาพของพวกเรา" นั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล นอกจากนั้นเบาไมเสตอร์ยังพบว่า ความรุนแรงและความโหดร้ายมีสาเหตุหลักสี่อย่าง สองอย่างแรกเป็นคุณสมบัติชั่วร้ายที่เห็นได้ชัด นั้นคือ 1) ความโลภ/ทะเยอทะยาน (ใช้ความรุนแรงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น การปล้น) และ 2) ซาดิสม์ (มีความสุขกับการทำร้ายคนอื่น) ซึ่งเป็นส่วนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะพบเห็นในภาพยนตร์เสียมากกว่า 

            สาเหตุใหญ่ที่สุดอีกสองอย่างของความชั่วร้ายเป็นสองเรื่องที่เราคิดว่าดี และพยายามปลูกฝังลงไปในตัวเด็ก ๆ นั้นคือ 3) การมีความนับถือตัวเองสูง และ 4) อุดมคติทางศีลธรรม การมีความนับถือตัวเองสูงไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงโดยตรง แต่หากเรานับถือตัวเองมาก ๆ จนหลงตัวเองหรือมองไม่เห็นโลกที่เป็นจริง เราก็อาจจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมคุกคามเราได้ง่ายขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการคุกคามเหล่านั้น 

            สิ่งที่ รอย เบาไมสเตอร์ (Roy Baumeister) ได้นำเสนอแสดงให้เห็นถึงแง่ร้ายของการนับถือตนเอง (Self-Esteem) ดังนั้นแทนที่จะสอนให้เด็กนับถือตัวเองโดยตรง จะเป็นการบ่มเพาะอาการหลงตัวเองที่แปรปรวนขึ้นมาได้ ทางที่ดีควจจะสอนทักษะต่าง ๆ ที่ทำให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจตัวเองจะดีกว่า เพราะหากเรามีความนับถือตัวเองที่สูงและถูกคุกคามจะเป็นเหตุของความรุนแรงส่วนบุคคลได้ 

            แต่การจะก่อเหตุเลวร้ายที่ระดับมวลชนได้ต้องใช้อุดมคติ หรือความเชื่อที่ว่าความรุนแรงคือหนทางไปสู่ข้อยุติทางศีลธรรม การกระทำที่โหดเหี้ยมในประวัติศาสตร์เกิดจากการคิดว่าตัวเองกำลังสร้างโลกในอุดมคติ หรือไม่ก็เชื่อว่าตนเองกำลังปกป้องบ้านเกิดหรือเผ่าพันธุ์จากการถูกโจมตี ยกตัวอย่างเช่น การล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว หรือ เหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 อุดมคติจึงเป็นอันตรายได้ง่ายมาก ถ้าเราต่อสู้เพื่อความดีหรือเพื่อพระเจ้า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือผลลัพธ์ไม่ใช่วิธีการ นั้นจึงเป็นเหตุให้ผู้ก่อการร้ายใช้วิธีการที่เลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นการตัดหัว หรือการใช้อาวุธชีวภาพ หรือการที่ จอร์จ บุช มักจะเสนออยู่เรื่อย ๆ ว่าการวิสามัญฆาตกรรม และการปฏิบัติกับนักโทษอย่างโหดร้าย เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย

            อาการปากว่าตาขยิบทางศีลธรรม จึงเกิดมาจากการที่เราใช้กลไกป้องกันตนเองเพื่อปกป้องการนับถือตนเอง กล่าวคือ แม้ว่าเราจะทำในสิ่งที่แย่อย่างมาก แต่เราก็ยังจะมองว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเรานับถือตัวเอง ("คนที่ดีน่ายกย่องอย่างฉัน ไม่ทำสิ่งที่ผิดแน่นอน") นั้นแสดงให้เห็นว่า เราอาจจะทำร้ายคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันเราก็มองว่าตัวเองมีศีลธรรม มันก็เหมือนกับตำรวจที่ยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมมือเปล่า แล้วมองว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันถูกหลักการนั้นแหละครับ ซึ่งมันก็ประกอบไปด้วยอคติการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง 

            เพราะการที่เราทำสิ่งที่แย่ แต่มองว่าตัวเองดี มันจะต้องใช้เหตุผลมารองรับ ยิ่งมุมมองของตัวเองกับสิ่งที่ทำมันขัดแย้งกัน เหตุผลก็ยิ่งไร้สาระมากขึ้น เช่น พระเจ้าหรือมนุษย์ต่างดาวสั่งมาให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังนั้นการที่เราจะอยู่กับความเป็นจริงให้มากที่สุด เราจะต้องเห็นอคติและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งภายในตนเอง ด้วยการสังเกต และทำความเข้าใจความคิดหรือความขัดแย้งภายในดังกล่าว

วิธีจัดการอาการปากว่าตาขยิบทางศีลธรรม

            แอรอน เบก (Aaron Beck) ผู้ก่อตั้งการบำบัดแบบรู้คิด เขาใช้วิธีการบำบัดผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า โดยให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเขียนความคิดของตนเองลงไปบนกระดาษ ให้เขาได้เรียนรู้วิธีสังเกตความบิดเบือนต่าง ๆ ในความคิด แล้วคิดเสียใหม่ให้เหมาะสมขึ้น ซึ่งเดวิด เบินส์ (David Burns) ได้แนะนำวิธีดังกล่าวเอาไว้ใช้เพื่อการบัดบัดความโกรธ เบินส์เน้นว่าเราจดจำแนวคิดที่ว่า "โลกควรเป็นอย่างไร คนอื่นควรปฏิบัติต่อเราอย่างไร" การละเมิดข้อปฏิบัตินี้คือสาเหตุหลักของความโกรธและเกลียดชัง เขายังแนะนำเพิ่มเติมว่าเราควรจะสร้างความเข้าอกเข้าใจ เวลาเกิดความขัดแย้ง โดยการมองโลกจากมุมมองของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งการที่เราทำแบบนี้เราจะตระหนักว่าคนอื่นก็ไปได้บ้าไปทั้งหมดเสียทีเดียว

            อย่างไรก็ตามการเข้าอกเข้าใจคนอื่นเป็นเรื่องที่ยากอย่างมาก ในหนังสือ The Midnight Library ที่เขียนโดย แมตต์ เฮก (Matt Haig) ตัวละครหลัก นอรา ซีด ตระหนักได้ว่า "ต่อให้คุณซื่อตรงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในชีวิต แต่ผู้อื่นจะเห็นความจริงก็ต่อเมื่อมันใกล้เคียงกับความจริงของพวกเขามากพอ เหมือนกับที่ธอโรเขียนไว้ว่า 

สิ่งที่เธอมองไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่เธอเห็นต่างหากที่สำคัญ" 

            ถ้านำสิ่งเบินส์แนะนำ และข้อคิดของธอโร มาสังเคราะห์เราจะเห็นว่าการจะสามารถทำลายอคติที่เกิดขึ้นได้นั้น เราจะต้องสำรวจตนเองโดยการมอง ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราเห็น หรือมองตามความเป็นจริงให้มากที่สุด เราจะเห็นปัญหาก็ต่อเมื่อเรามุ่งมั่นใช้ความพยายามเพื่อตั้งใจดูมัน เพราะหากเราตั้งใจสังเกตความคิดของตัวเองให้ดี ๆ เราจะพบว่าภายตัวเราจะมีทนายความที่คอยแก้ต่างและหาเหตุผลซึ่งบางทีก็เป็นเหตุผลประหลาด ๆ มาให้ ทำให้ก่อเกิดเป็นอคติมากมาย

            ทนายความในหัวของเราจะแก้ต่างแทนเราแล้วคอยแต่ตำหนิคนอื่น ดังนั้นเราจะต้องตั้งใจ พยายามมองให้เห็น ไม่ใช่เพียงมองอย่างเดียว (รับรู้ตามความคิดของตัวเอง) เมื่อเรามองเห็นถึงข้อผิดพลาด ความอ่อนแอ ความขัดแย้ง ภายในตัวเรามันจะเจ็บไม่นาน จากนั้นจะรู้สึกโล่งสบาย โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ได้อธิบายว่า "เวลาคุณมองหาข้อผิดพลาดในตัวเอง มันจะเจ็บแค่ครู่เดียว แต่ถ้าคุณมองหาต่อไปจนรับรู้ความผิดพลาด คุณจะได้รับรางวัลเป็นความรู้สึกยินดีผสมผสานไปกับความภาคภูมิใจอย่างประหลาด มันคือความสุขที่เกิดจากการรับผิดชอบในพฤติกรรมของคุณเอง มันคือความรู้สึกมีเกียรติ"

            การหาข้อผิดพลาดของตัวเองจึงเป็นกุญแจที่จะเอาชนะอาการปากว่าตาขยิบทางศีลธรรม เหมือนกับที่แฟรงคลินสังเกตว่าตัวเองใช้เหตุผลเข้าข้างตัวเองนั้นแหละครับ เพราะทันทีที่เรามองเห็นความขัดแย้ง (ที่เกิดจากปากอย่างใจอย่าง) ความโกรธจะเบาบางลง อาจเพียงเล็กน้อย แต่ก็มากพอที่เราจะรับรู้ถึงความดีของอีกฝ่ายมากขึ้น เราจะสามารถก้าวออกจากเกมปั่นหัวทางสังคมแบบโบราณที่ถูกกระบวนการวิวัฒนาการกล่อมเกลา 

เมื่อมองเห็นความจริงด้วยตาของตัวเอง เราจะมีอคติน้อยลง 
ยึดมั่นในศีลธรรมลวงตาน้อยลง เกิดความขัดแย้งน้อยลง 
เราจะสามารถเดินไปตามวิธีแห่งความสุขที่เราปรารถนาได้

อ้างอิง

Baumeister, R. (1999). Evil: Inside Human Violence and Cruelty. NY: Henry Holt.

Haidt, J. (2013). The Righteous Mind: Why Good People Are Divided by Politics and Religion NY: Vintage.

Haidt, J. (2006). The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom. NY: Basic Books.

Haig, M. (2020). Midnight Library. NY: Viking

คาลอส บุญสุภา. (2563). กลไกปากว่าตาขยิบ (Reaction Formation) ธรรมชาติของสังคม. https://sircr.blogspot.com/2020/04/reaction-formation.html

ความคิดเห็น