การเปลี่ยน "ความคิด" เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนตนเองได้

หากเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง 
เราไม่ควรทำเพียงแค่คิดหรือจินตนาการ 
แต่เราจะต้องออกแบบสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมด้วย

            ผู้อ่านหลายคนเคยได้ยินคำว่าแค่คิด ชีวิตเปลี่ยน หรือหากเปลี่ยนมุมมองก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ จริง ๆ มันก็ถูกครับ แต่ไม่ทั้งหมด หากเราพบเจอเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ความคิดเปลี่ยนได้ เราก็สามารถเปลี่ยนตัวเราเองได้ ยกตัวอย่างเช่น คนบางคนที่ใช้เงินเก่งมาก แต่พอเรียนรู้วิธีการบริหารเงิน หรือเจอกับคนที่ใช้เงินจนหมดตัวมา ก็เลยตระหนักว่าเราควรจะเก็บเงินให้มากขึ้น 

            ดังนั้นการที่เปลี่ยนความคิดแล้วเปลี่ยนพฤติกรรม มันก็คือการที่เราเข้าใจเรื่องราวบางอย่าง และยอมรับมัน ซึ่ง เข้าใจ + ยอมรับ = ตระหนักรู้  ผู้อ่านลองจินตนาการดูนะครับ สมมติว่าแม่ของเราเดินมาบอกว่า เราควรจะเก็บเงินบ้างนะ เราเข้าใจที่แม่สื่อ แต่เราไม่ได้ยอมรับมัน พฤติกรรมเราจึงไม่เปลี่ยน กล่าวคือถึงเราจะเข้าใจ แต่มันก็ไม่มี "อิทธิพล" มากพอที่จะเปลี่ยนได้

            ในขณะเดียวกัน หากคนที่มีอิทธิพลกับเราสูงยกตัวอย่างเช่น คนรักของเรา บอกว่าเราควรจะเก็บเงินบ้าง เราเข้าใจสิ่งที่คนรักสื่อ และยอมรับมันด้วย ซึ่งการยอมรับนั้นหลายครั้งเราควบคุมมันไม่ได้ มันจะเป็นของมันไปเอง มันก็เหมือนกับการที่นักร้องที่เราชอบ พูดอะไรเราก็เชื่อไปหมดนั้นแหละครับ มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะเจอสถานการณ์ที่ทำให้เรายอมรับบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งจะทำให้เกิดความตระหนักรู้ และตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

            แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงอย่างสองอย่าง มันไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เราจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ได้หลาย ๆ พฤติกรรม เพื่อที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ในท้ายที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน มันยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ แต่ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน พฤติกรรมการอ่าน พฤติกรรมการกล้าแสดง พฤติกรรมการกิน หรือพฤติกรรมการดื่ม ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้

            อย่างไรก็ตามการจะสามารถทำให้เกิดการตระหนักรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ มันไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องอาศัยตัวกระตุ้นที่มีอิทธิพลมากพอ การที่คนที่เรารักสอนให้เราเก็บเงิน หรือนักการเมืองที่เราชอบขอให้เราออกไปเลือกตั้ง สามารถกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมตามมาได้ ซึ่งอาจใช้ไม่ได้กับทุกคน บางคนอาจจะไม่มีวันหาตัวกระตุ้นเจอได้เลยก็ได้ แต่มันมีวิธีการอื่นที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ นั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว

            เราสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองได้  เราไม่จำเป็นต้องหาตัวกระตุ้น หรือมีคนที่มีอิทธิพลมาบอกให้เราทำด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น หากเราจะปรับนิสัยการกินของเรา เราจะต้องทำให้ตู้เย็นของเราโล่งจนไม่สามารถหยิบอะไรมากินได้ หรือหากเราอยากจะเป็นนักอ่าน เราก็ตั้งหนังสือเอาไว้ที่ตาเห็นบ่อย ๆ เช่นโต๊ะทำงาน บนที่นอน หรือการที่เราเอาสมาร์ทโฟนออกไปให้ไกลที่สุดก่อนนอน ก็สามารถช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอนได้ 

            แน่นอนว่าเราจะไม่คิดที่จะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมถ้าเราไม่มีความต้องการอะไรบางอย่าง แต่จริง ๆ แล้วก็มักจะถูกปรับพฤติกรรมโดยอัตโนมัติอยู่ตลอดเวลาเมื่อเราเจอสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ร้านอาหารบางร้านที่เปิดเพลงสนุก เพลงเร็ว เน้นสีในร้านให้ออกสีโทนร้อน เช่น แดง เหลือง ก็ทำให้เรารับประทานอาหารอย่างรวดเร็วมากขึ้น เพื่อที่ร้านค้าจะดึงคนเข้าออกอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามความปรารถนา หรือความคิดก็มีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เพียงแต่มันจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีตัวกระตุ้นหรือสภาพแวดล้อมมาช่วยเสริม

ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง คือการจินตนาการ

            โดยปกติแล้วเวลาที่เรานึกคิดอะไรบางอย่าง แล้วอยากจะเป็นในสิ่งนั้น มันคือการที่เราใช้จินตนาการของเราออกมานั้นเอง หลายคนมักจะคิดว่าเวลาที่เราปรารถนาอะไรสักอย่าง แล้วเราแน่วแน่กับมัน สิ่งนั้นจะเป็นจริง ๆ ความจริงแล้วมันก็เป็นเพียงจินตนาการเท่านั้นเอง สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ว่า เราจินตนาการ แล้วมีปัจจัยอะไรบ้างมาเสริมแรงให้เราแสดงพฤติกรรมออกไปจนเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือพัฒนาตัวเองได้

            ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบแบบแผนตามจินตนาการที่ฝังลึกลงไปในโลกทางวัตถุ ในหนังสือ Sapians ยูวาล โนอา ฮารารี่  (Yuval Noah Harari) ผู้เขียนได้ยกเรื่องค่านิยมของชาวตะวันตกที่เชื่อในเรื่องของปัจเจกชน กล่าวคือชาวตะวันตกเชื่อว่าแต่ละคนมีรัศมีหรือลำแสงที่จะเฉิดฉายเป็นตัวของตัวเอง มีคุณค่าความหมายกับชีวิตของเราเอง ครูตามโรงเรียนสมัยใหม่ของชาวตะวันตกและบรรดาผู้ปกครองต่างก็บอกกับเด็ก ๆ ว่าหากมีเพื่อนร่วมชั้นแกล้งหรือดูถูกพวกเขา พวกเขาก็ไม่ควรจะสนใจ ตัวของเราเท่านั้นที่จะรู้คุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง หาใช่คนอื่นไม่

            หากเพียงแค่คำพูด หรือความเชื่อมันก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดค่านิยมแบบปัจเจกชน หรือคุณค่าแท้ในตัวเองอย่างอื่นขึ้นมาได้ง่าย ๆ หรอก ถ้าไม่มีปัจจัยมากระตุ้น หรือเสริมแรง ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ "วัตถุ" หรือจะเรียกว่า "สภาพแวดล้อม" ก็ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ที่อยู่อาศัยของเด็กชาวตะวันตก หากผู้อ่านเคยดูภาพยนตร์ตะวันตกจะเห็นว่าบ้านของพวกเขาเป็นอย่างไร

            บ้านของพวกเขา (ฐานะปานกลาง - สูง)  มักจะแบ่งออกเป็นห้อง ๆ จำนวนมาก เพื่อให้เด็กแต่ละคนได้มีพื้นที่ส่วนตัวที่พ้นสายตาเพื่อให้แสดงความเป็นตัวตนออกมาได้เต็มที่ ห้องส่วนตัวแบบนี้จะต้องมีประตูพร้อมคล้องกุญแจ แม้แต่พ่อแม่ก็ห้ามล่วงล้ำเข้าห้องโดยไม่เคาะหรือขออนุญาตก่อน เด็ก ๆ จะตกแต่งอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์นักร้องวงร็อกบนผนังหรือถุงเท้าสกปรกกองอยู่ที่พื้น 

            เด็กที่โตมาในสภาพแวดล้อมเหล่านี้ ก็ช่วยไม่ได้ที่พวกเขาจะจินตนาการว่าตัวเอง "เป็นปัจเจกชน" พวกเขาเชื่อว่าตัวเองมีคุณค่าที่แท้จริงอยู่ภายในตัวเอง ที่แตกต่างกันไปแต่ละคน เพราะว่าในระหว่างที่พวกเขาโตขึ้น พวกเขาได้ค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเอง ค้นหาตัวเอง และสร้างสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้เกิดอัตลักษณ์เฉพาะบุคคลขึ้นมา กล่าวคือค่านิยมดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีสภาพแวดล้อมที่อำนวย หรือเสริมแรงให้เกิดขึ้น

            ค่านิยมปัจเจกชนที่แตกต่างกับในอดีต แม้จะเป็นประเทศตะวันตกด้วยกัน แต่ในยุคกลางไม่มีความเชื่อเรื่องปัจเจกชน คุณค่าของคนกำหนดไว้ด้วยสถานะในลำดับชั้นทางสังคมและด้วยสิ่งที่คนอื่น ๆ กล่าวเกี่ยวกับคนคนนั้น การถูกหัวเราะเยาะเป็นการหยามเกียรติอย่างร้ายแรง คนชั้นสูงสั่งสอนลูก ๆ ให้ปกป้องเกียรติของพวกเขาอย่างสุดความสามารถ ซึ่งแตกต่างกับประเทศตะวันตกในปัจจุบันที่เชื่อว่าเกียรติไม่มีวันสั่นคลอนเพียงแค่การหยอกล้อ หรือเหยียดหยาม แต่มันจะคงอยู่ในตัวเราเสมอ

            เหตุผลที่คนยุคกลางมีค่านิยมแบบนั้นก็มีอิทธิพลมาจากสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นครอบครัวที่รวยขนาดไหนก็ตาม หรือมีบ้านเป็นประสาท ก็หายากมากที่จะมีห้องส่วนตัวสำหรับเด็ก ลูกชายวัยรุ่นของบารอนในยุคกลางไม่มีห้องส่วนตัวที่ชั้นสองของปราสาท ไม่มีโปสเตอร์รูปพระเจ้า ริชาร์ดใจสิงห์ หรือกษัตริย์อาร์เธอร์บนผนัง และไม่มีประตูที่ลงกลอนที่พ่อแม่จะต้องได้รับอนุญาตก่อนจะเปิดได้ 

            เด็ก ๆ จะต้องนอนข้าง ๆ วัยรุ่นคนอื่น ๆ อีกมากมายที่อยู่ในห้องโถงใหญ่ ทุกคนจะได้เห็นพวกเขาได้ตลอดเวลา และพวกเขาเองก็จะต้องใส่ใจกับสิ่งที่คนอื่นเห็นและพูดเช่นกัน คนที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมดังกล่าวย่อมต้องสรุปเอาเองตามธรรมชาติว่าคุณค่าที่แท้จริงของคนถูกกำหนดด้วยตำแหน่งของเขาในลำดับชั้นทางสังคม และโดยสิ่งที่ผู้อื่นกล่าวถึงเกี่ยวกับตัวเขา 

            มันก็เหมือนกับองค์กรชั้นนำระดับโลกที่สร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรให้น่าทำงานนั้นแหละครับ เขาต้องการให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขเพราะ พนักงานที่มีความสุขหมายถึงกำไรที่มากขึ้น ยิ่งคนกระตือรือร้นและลงทุนลงแรงกับงานเท่าใด บริษัทก็ยิ่งประสบความสำเร็จตามเกณฑ์วัดต่าง ๆ มากขึ้นเท่านั้น การศึกษาบอกว่าพนักงานที่มีความสุขจะมีผลิตภาพดีขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นและให้บริการลูกค้าดีขึ้น พวกเขาจะลาออกหรือลาป่วยน้อยลง

การสร้างนิสัยเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง

            นอกเหนือจากสภาพแวดล้อมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ "นิสัย" ในหนังสือ Atomic Habits  เจมส์ เคลียร์ (James Clear) ผู้เขียนได้อธิบายที่มาของนิสัย ว่ามาจากการแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความจริงแล้ว คำว่า Identity (อัตลักษณ์) มาจากภาษาละตินว่า Essentitals หมายถึง เป็น และ Identidem ซึ่งหมายถึง "อย่างซ้ำ ๆ" ดังนั้น ตัวตนของเราตามหลักการทางภาษาแล้ว จึงหมายถึง "การเป็นอย่างนั้นซ้ำ ๆ" นั้นเอง
            นิสัยจึงเป็น "การกระทำที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ" ดังนั้นหากเราจินตนาการว่าตนเองเป็นศิลปิน คงไม่ใช่การวาดรูปเพียงไม่กี่ภาพ แต่มันมาจากการฝึกวาดรูปจำนวนมาก และวาดทุกวัน กล่าวคือ หากคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่ลงมือทำบางอย่างเพียงไม่กี่วัน แต่ต้องหมั่นทำอยู่เสมอ ทุกการพัฒนาย่อมเกิดขึ่้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่การดีดนิ้วแล้วบอกว่า "ฉันจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง" ความจริงแล้วเราจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อย ทีละวัน ๆ ทีละนิสัยไปเรื่อย ๆ 

            หากเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองในด้านของน้ำหนัก เราไม่ควรทำเพียงแค่จินตนาการ แต่เราจะต้องออกแบบสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น การนำเอาอาหารน้ำตาลเยอะออกจากตู้เย็น การนำอาหารเพื่อสุขภาพมาไว้ในบ้าน การออกแบบวิธีออกกำลังที่ทำให้ไม่เบื่อ และเราจะต้องกินอาหารเพื่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย 

            อย่างไรก็ตามสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือการให้รางวัลกับตัวเอง ตามทฤษฎีการวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ (Operant Conditioning Theory) ของนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Burhus Skinner เป็นนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม เขาเชื่อว่า "ถ้าคุณให้รางวัลหรือลงโทษอย่างเหมาะสม คุณจะสามารถทำให้ผู้อื่นเกิดพฤติกรรมตามที่ต้องการได้" กล่าวคือ หากเราได้รับแรงเสริมพฤติกรรมที่เรากำลังแสดงอยู่นั้นจะมีอัตราที่เพิ่มขึ้น เช่น นักเรียนแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน คุณครูจึงให้ชมนักเรียน นักเรียนจึงแสดงความคิดเห็นเพิ่มมากขึ้นในห้องเรียน

สรุป

            เพียงแค่มีความคิด (จินตนาการ) ไม่อาจเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงตัวเองมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลาย ๆ พฤติกรรม ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้โดยการออกแบบสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนขยัน เราจะต้องออกแบบสภาพแวดล้อม โดยการนำสิ่งล่อใจออกให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลบเกมออกจากคอมพิวเตอร์ นำหนังสือมาไว้ใกล้ตัวเสมอ ใช้โปรแกรมเพื่อช่วยในการหลีกเลี่ยงเครือข่ายสังคมต่าง ๆ 

            นอกจากการออกแบบสภาพแวดล้อมแล้ว เราจะต้องสร้างนิสัยขึ้นมาโดยการทำพฤติกรรมบางอย่างที่จะก่อให้เกิดนิสัยนั้น ๆ ซ้ำ ๆ ซึ่งจากตัวอย่างด้านบน หากเราต้องการเป็นคนขยัน เราจะต้องวางแผนออกแบบกิจวัตรประจำวันให้สอดคล้องกับความคิดที่อยากจะเป็นคนขยัน เช่น อ่านหนังสือวันละ 1 ชั่วโมง ฟัง Podcast วันละ 1 ชั่วโมง ออกกำลังกายวันละ 30 นาที ทำความสะอาดบ้านวันละ 20 นาที หากเราทำพฤติกรรมดังกล่าวทุกวัน เราก็จะสามารถสร้างความมีวินัยได้

            ท้ายที่สุด สิ่งที่เราต้องคำนึงก็คือรางวัลเพื่อการเสริมแรง ผมเป็นครูการศึกษาพิเศษที่สอนเด็กนักเรียนออทิสติก ผมมักจะออกแบบบทเรียนให้เริ่มต้นจากง่ายปหาบทเรียนยาก เพื่อให้พวกเขาตอบคำถามได้ถูกต้อง แล้วพวกเขาจะได้รับคำชม กับดาวเด็กเก่ง มันทำให้พวกเขากระตือรือร้นที่จะเรียนมากขึ้น และรู้สึกดีที่ได้รางวัล สุดท้ายเมื่อพวกเขาเจอกับบทเรียนที่ยากมากขึ้น พวกเขาก็จะสามารถเรียนได้ เพราะพวกเขาตั้งใจเรียนบทเรียนที่ง่ายมาได้อย่างดีแล้ว

            เราสามารถนำเอามาประยุกต์ใช้ได้ โดยการออกแบบเงื่อนไขว่า หากเราออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฟัง Podcast ทำความสะอาดบ้านได้ครบ 1 วัน เราจะสะสมคะแนนเอาไว้ ซึ่งสามารถนำไปใช้แลกอาหารอร่อย ๆ หรือสิ่งที่เราชอบได้ หลักการก็คือจะต้องได้รับสิ่งเสริมแรงทันทีหลังจากทำกิจกรรมบางอย่างสำเร็จ อย่าลืมว่ามนุษย์เราดงรงชีวิตด้วยสัญชาตญาณเป็นส่วนใหญ่ เราใช้ความคิดวิเคราะห์ในแต่ละวันน้อยมาก 

การเข้าใจตัวเอง แล้วออกแบบสภาพแวดล้อม 
ออกแบบสิ่งเสริมแรง จำแนกพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมา 
พร้อมกับปรับเปลี่ยนมัน เพื่อที่เราจะได้สร้างนิสัยที่พึงปรารถนา 
และสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ในท้ายที่สุด

อ้างอิง

Harari, N. Y. (2015). Sapiens a Brief History of Humankind NY: Harper.

Clear, J. (2018). Atomic Habits: An Easy & Proven Way to Build Good Habits & Break Bad Ones. NY: Avery. 

คาลอส บุญสุภา. (2564). การออกแบบสถานที่ทำงานให้พนักงานมีความสุข. https://sircr.blogspot.com/2021/08/blog-post_12.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). การเสริมแรงและการลงโทษ (B.F.Skinner). https://sircr.blogspot.com/2021/05/bfskinner.html

ความคิดเห็น