ไม่จำเป็นต้องหาสิ่งที่ "หลงใหล (Passion)" เสมอไป

ความหลงใหลของคนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น 
หลังจากได้ทดลองทำ ก่อนจะค้นพบว่าชอบสิ่งนั้น 
และสานต่อจนพัฒนาไปเป็นความเชี่ยวชาญ

            ผมชอบการเปรียบเปรยเกี่ยวกับชีวิตว่า "ชีวิตคือการผจญภัย" อย่างมาก เพราะว่าการผจญภัยมันคือการเดินทางโดยที่เราแทบจะไม่รู้จุดหมายเลย ชีวิตก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แม้แต่การเดินทางในสถานที่ที่เราคุ้นเคยในแต่ละวัน เราก็มักจะพบเจอเรื่องราวแปลก ๆ มากมาย มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเนื่องจากชีวิตมันหลอมรวมไปด้วยผู้คน สิ่งมีชีวิต และธรรมชาติต่าง ๆ ที่เราแทบจะควบคุมอะไรไม่ได้เลย บางครั้งก็เจอสภาพอากาศที่รุนแรง หรือสิ่งก่อสร้างเกิดการชำรุด หรือแม้แต่ผู้คนที่เข้ามาต่อว่า หรือดูถูกเรา

            มีตำนานเกี่ยวกับการผจญภัยจำนวนมาก และหนึ่งในตำนานที่มีชื่อเสียงคือ ตำนานปรัมปราของโอดิสซีอุส (Odyseeus) ประพันธ์โดย โฮเมอร์ (Homer) ที่พวกเรามักเรียกกัยว่า ตำนานโอดิสซีย์ ซึ่งผมคิดว่าการดำเนินชีวิตของเราก็เหมือนกับตำนานดังกล่าวนั้นแหละ เพราะตำนานโอดิสซีย์เป็นการเดินทางของโอดิสซีอุสที่ใช้เวลายาวนานมุ่งสู่อนาคตที่มีทั้งความหวัง เป้าหมาย ผู้คนที่คอยสนับสนุน คนรัก ศัตรู โชคชะตา และเรื่องราวที่คาดไม่ถึง

            ชีวิตของเราก็เช่นกัน ทุกวันนี้เรามักจะเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง ยิ่งในปัจจุบันเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่ให้ผู้คนต้องปรับตัวเองอย่างฉับพลัน อีกทั้งในอนาคตอันใกล้อาชีพ การทำงาน วิถีการดำเนินชีวิตก็จะเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการแทรกแซงทางด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้คือการเปลี่ยนแปลกภายนอกที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจที่เกิดจากการที่เราต้องดิ้นรนปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

            ผมเกริ่นทั้งหมดที่กล่าวมาเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าการดำเนินชีวิตของเราแต่ละวันก็คือการผจญภัย มันคาดเดาอะไรไม่ได้ และมีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย อะไรที่เราเคยวางแผนไว้มันก็มักจะมีอะไรแทรกแทรงจนทำให้แผนเหล่านั้นต้องยุบลงไปบ้าง หรือเปลี่ยนแปลงไปบ้าง จึงเป็นเรื่องยากมากที่ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนที่เราวางเอาไว้ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เรารู้กันดี แต่น่าประหลาดใจนักที่แม้ว่าทุกคนจะรู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยาก แต่พวกเราก็มักจะมีความคิดที่ว่า ควรจะต้องตั้งเป้าหมาย วางแผนระยะยาวเพื่อดำเนินชีวิตไปตามนั้น ยกตัวอย่างเช่น การวางแผน 5 - 20 ปีข้างหน้า

            ยิ่งในปัจจุบันเรามักจะได้ยินคำว่า ความหลงใหล (Passion) กันอยู่เสมอ "เราต้องหาความหลงใหลให้เจอ" "เราต้องหางานที่ตอบสนองความหลงใหลของตัวเอง" หรือ "การทำในสิ่งที่หลงใหลจะทำให้เราประสบความสำเร็จ" แน่นอนการทำในสิ่งที่ชอบ สามารถทำเงินกับมันได้ มันก็จะทำให้เราทำสิ่งนั้นอย่างมีความสุข เป็นอะไรที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถค้นหา Passion ได้

จำเป็นหรือไม่ที่ต้องค้นหาสิ่งที่ "หลงใหล"

            หลายคนโดยเฉพาะในประเทศไทยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถค้นหาความหลงใหล หรือแม้กระทั่งค้นหาตนเองได้เลย ลองนึกสภาพครอบครัวที่ยากจนถึงขนาดที่จะต้องอดมื้อกินมื้อ ต้องอยู่แบบวันต่อไปวัน ถึงแม้ว่าโดยส่วนมากสังคมประเทศเราจะมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ได้แย่อย่างที่ผมกล่าว แต่สภาพที่ต้องใช้ชีวิตแบบวันต่อวันก็มีจำนวนมากในประเทศไทย แน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในตัวเองอยู่แล้ว แต่การที่ต้องเผชิญสภาพแวดล้อมดังกล่าวก็ทำให้เด็ก หรือวัยรุ่นไม่ได้คิดถึงเรื่องอนาคต หรือไม่ได้วางแผนของตัวเอง เพราะต้องดิ้นรนเอาตัวให้รอดก่อน

            ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่เจริญแล้วจะมีครอบครัวโดยส่วนมากเป็นชนชั้นกลาง แต่เยาวชนส่วนมากก็หาความหลงใหลไม่เจอ วิลเลี่ยม เดมอน (Willim Damon) ผู้อำนวยการศูนย์ดูแลเยาวชนแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Center on Adolescence) พบว่า มีวัยรุ่นเพียง 1 ใน 5 ที่มีอายุระหว่าง 12 - 26 ปีที่รู้ว่าตัวเองอยากจะมุ่งไปทางไหน ต้องการอะไรในชีวิต และเหตุใดจึงต้องการสิ่งนั้น และไม่ใช่เพียงแค่วัยรุ่นเท่านั้น บิล เบอร์เนทท์ (Bill Burnett) และ เดฟ อีแวนส์ (Dave Evans) อาจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ยังพบว่า 80% ของคนทุกวัยไม่รู้ว่าตัวเองหลงใหล ใฝ่ฝันถึงสิ่งใด


            หากผู้อ่านได้อ่านมาถึงจุดนี้ อาจจะคิดว่าผมปฏิเสธความหลงใหล แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น หากเราสามารถค้นหาความหลงใหลได้ มันจะเป็นเรื่องดีมาก มีหนังสือหลายเล่มดี ๆ ที่เขียนถึงความหลงใหล สภาวะลื่นใหล (Flow) หลักการดังกล่าวเป็นแนวความคิดของจิตวิทยาเชิงบวก ที่ใช้ทฤษฎีทางจิตวิทยาเพื่อสร้างสรรค์ชีวิตเชิงบวกให้กับผู้คน จึงเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำที่เราสามารถค้นหาตัวตน ความชอบ ความหลงใหลของตนเองพบ

            แต่มันเป็นไปได้ยากด้วยปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมที่ผมกล่าวไปข้างต้น และอีกปัจจัยที่สำคัญก็คือมันต้องผ่านการทดลองหลายครั้ง กล่าวคือเราจะต้องลองทำอะไรหลายต่อหลายอย่างถึงจะรู้ว่าเราชอบอะไร เคยมั่ยครับที่เราได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ถึงได้รู้ว่าที่จริงแล้วเราชอบอะไรกันแน่ ไม่ว่าจะเป็น เกม อาหาร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวคือ กว่าที่เราจะมีร้านอาหารที่โปรดปราน เราต้องประทานร้านอาหารมาจำนวนหนึ่งก่อน เช่นเดียวกับการเล่มเกมที่เราจะต้องลองเล่นเกมหลาย ๆ ชนิดถึงจะพบว่าเราชอบเกมแนวไหน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าความชอบของเรามันได้ผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกมาแล้วหลาย

            การประกอบอาชีพก็เหมือนกัน ในหนังสือ Designing Your Life ที่เขียนโดย บิล เบอร์เนทท์ และ เดฟ อีแวนส์ พวกเขาได้อธิบายว่า ต่อให้เรารู้ว่าตัวเองเหมาะที่จะเป็นนักบิน วิศวกร หรือช่างซ่อมลิฟต์ ก็ไม่ได้มีประโยชน์หรือนำไปประยุกต์ใช้จริงได้สักเท่าไร ดังนั้นทั้ง เบอร์เนทท์ และอีแวส์ จึงไม่ค่อยชอบเกี่ยวกับเรื่องการค้นหาสิ่งที่ตนหลงใหลมากนัก พวกเขาเชื่อว่าทุกคนต้องใช้เวลาบ่มเพาะความหลงใหลของตน และงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าความหลงใหลของคนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น หลังจากได้ทดลองทำ ก่อนจะค้นพบว่าชอบสิ่งนั้น และสานต่อจนพัฒนาไปเป็นความเชี่ยวชาญ ความหลงใหลไม่ได้เกิดขึ้นมาก่อนขั้นตอนเหล่านี้

            ความใหลจึงเป็นลัพธ์ของการได้ลองผิดลองถูกแล้วต่างหาก ดังนั้นการที่เราได้ออกแบบชีวิตของตัวเองได้ทดลอง ลองผิดลองถูก ได้ทำอะไรหลายอย่าง เก็บเกี่ยวประสบการณ์จำนวนมาก มันจะทำให้เราค้นพบความหลงใหลได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องวิ่งตามหาความหลงใหลก่อนถึงจะเลือกทำอะไรสักอย่าง อย่างไรก็ตามก็มีคนจำนวนเล็กน้อยที่ได้ลองทำบางสิ่งบางอย่าง แล้วรู้ตัวเลยว่าตนเองมีความหลงใหลกับอะไร นั้นก็เป็นเรื่องดี แต่ก็เกิดขึ้นน้อยมาก ๆ 

            เหมือนกับที่เฮอร์มิเนีย อิบาร์รา (Herminia Ibarra) ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร แนะนำว่าแทนที่ จะพยายามใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อค้นหาตนเอง หรือนึกภาพสิ่งที่คุณต้องการให้ชัดเจน วิธีมองมุมกลับที่ฉลาดกว่าก็คือ "ทำก่อนแล้วค่อยคิด" อิบาร์ราใช้หลักจิตวิทยาสังคมมาอธิบายว่าคนเราต่างมีความเป็นไปได้หลากหลายในตัวเอง เธอบอกว่า "เราค้นพบความเป็นไปได้นั้นด้วยการลงมือทำ ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ ๆ สร้างเครือข่ายใหม่ ๆ หรือค้นพบต้นแบบใหม่ ๆ เราเรียนรู้ว่าเราเป็นใครได้ด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่ทฤษฎี"

            แทนที่จะคาดหวังคำตอบล่วงหน้าตายตัวของคำถามที่ว่า "จริง ๆ แล้วฉันต้องการเป็นอะไร" งานวิจัยต่าง ๆ กลับบอกเราว่า ทางที่ดีคือน่าจะลองเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาตัวเองดู ลองตั้งคำถามเล็ก ๆ ที่อาจตรวจสอบได้จริง ๆ เช่น "ในหมู่ตัวตนที่เป็นไปได้หลากหลาย ตัวตนไหนที่ฉันจะลองสำรวจดูก่อน แล้วฉันจะเริ่มได้อย่างไร" เธอแนะนำว่าแทนที่จะตั้งเป้าหมายไว้ไกลที่ต้องใช้เวลานาน ลองมองหาการทดลองเล็ก ๆ ที่จะทำได้เร็วดีกว่า "ทดสอบและเรียนรู้ ไม่ใช่วางแผนแล้วปฏิบัติ" 

           ในหนังสือ Range เดวิด เอปชไตน์ (David Epstein) ได้เขียนเกี่ยวกับ พอล แกรม (Paul Graham) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และผู้ร่วมก่อตั้งวายคอมบิเนเตอร์  แกรมเคยกล่าวว่า "การตัดสินใจว่าคุณชอบอะไรอาจดูเป็นเรื่องง่าย แต่แท้จริงแล้วมันยากเย็นมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะเราไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่างานงานหนึ่งประกอบไปด้วยอะไรบ้าง งานส่วนใหญ่ที่ผมทำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีอยู่ตอนผมเรียนมัธยมปลาย ในโลกที่เปลี่ยนแปลงฉับไวเช่นนี้ การมีแผนตายตัวอาจไม่ใช่เรื่องฉลาดนัก"

            เขากล่าวต่อ "โลกคอมพิวเตอร์มีศัพท์ที่เรียกการกระทำเช่นนี้ว่า Premature Optimization หรือการปรับเปลี่ยนให้เหมาะก่อนเวลาอันควร แทนที่จะตั้งเป้าไว้แล้วเดินไปให้ถึง ลองเดินหน้าจากจุดที่ดูเป็นไปได้มากกว่า นั่นคือสิ่งที่ผู้ประสบความสำเร็จจำนวนมากปฏิบัติ ผมขอเสนอว่าคุณไม่ควรปักหลักกับความฝันใดในอนาคต แต่ให้ลองดูว่าปัจจุบันมีทางเลือกอะไรบ้าง แล้วเลือกเส้นทางที่จะให้ทางเลือกที่กว้างขวาง และดูเป็นไปได้ที่สุดในภายหลัง"

สรุป

            เราไม่จำเป็นต้องค้นหาความหลงใหล (Passion) แต่เราจำเป็นต้องลองผิดลองถูกกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม งานอดิเรก การได้ลองทำงาน ฝึกงาน หรือทำงานที่น่าสนใจ เวลาที่ผมฟัง Podcast ที่เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ โดยส่วนมากพวกเขาจะแนะนำให้เด็กรุ่นใหม่ได้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ทำงานหลาย ๆ แผนก หรือคบเพื่อนหลายแผนกเอาไว้ เพราะมันเป็นการเรียนรู้กระบวนการทำงาน เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า อีกทั้งประสบการณ์ต่าง ๆ จะเป็นจุดที่เมื่อลากเส้นต่อกัน จะเป็นการบูรณาการประสบการณ์เพื่อก่อเกิดอัตลักษณ์ของเราขึ้นมา 

            การมีความฝันเป็นเครื่องที่ดี คนบางกลุ่มที่ทำแบบทดสอบต่าง ๆ แล้วพบว่าตัวเองอยากเป็นอะไรนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน แต่เราจะรู้ว่าสิ่งที่แบบทดสอบ หรือความฝันที่เราตั้งไว้ มันคือสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเราไม่ลองทำดูเสียก่อน สอดคล้องกับสิ่งที่ พอล แกรม แนะนำว่า "คุณไม่ควรปักหลักความฝันใด แต่ให้ลองดูว่าปัจจุบันมีทางเลือกอะไรบ้าง" ยิ่งเราได้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ มากเท่าไหร่เราก็จะยิ่งรู้ว่าเราถนัดอะไร คุณครู อาจารย์ที่ผมรู้จักหรือร่วมงานด้วยหลายคนที่ค้นพบทักษะพิเศษจากการได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อ การวาดการ์ตูน ทำอาหาร หรือทำขนม 

            สุดท้ายผมจะย้ำอีกครั้งว่า หากใครที่สามารถค้นพบตัวเอง ค้นพบความฝันความหลงใหลของตัวเอง แล้วพยายามวิ่งไปหาสิ่งนั้น ก็เป็นเรื่องดีอย่างมาก แต่ถ้าหาไม่เจอก็ไม่เป็นไร มันไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น สิ่งที่ควรทำคือการทดลองทำสิ่งต่าง ๆ  เข้าสู่กระบวนการลองผิดลองถูก เราจะค้นพบทักษะหลาย ๆ อย่าง ที่จะสามารถลากเส้นต่อจุดได้ สุดท้ายเมื่อเราทดลองมาถึงจุดหนึ่งแล้วรู้ว่าควรจะเดินไปตามเส้นทางไหน แต่ถ้าเดินไปแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเอาไว้ ก็เข้าสู่กระบวนการลองผิดลองถูกและออกเดินเรือผจญภัยไปเรื่อย ๆ เพื่อบ่มเพาะประสบการณ์ของเราต่อไป เหมือนกับที่ เฮอร์มิเนีย อิบาร์รา กล่าวว่า

"ทดสอบและเรียนรู้ ไม่ใช่วางแผนแล้วปฏิบัติ" 

อ้างอิง

Burnett, B & Evans, D. (2016). Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life. NY: Knopf.

Epstein, D. (2019). Range: Why Generalists Triumph in a Specialized World. NY: Riverhead Books.

คาลอส บุญสุภา. (2564). มนุษย์เราเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา. https://sircr.blogspot.com/2021/07/blog-post_30.html

ความคิดเห็น