อิทธิพลทางสังคม ที่ทำให้เกิด การคล้อยตาม (Conformity)

ธรรมเนียมหรือความเชื่อบางอย่างคงอยู่ไม่ใช่เพราะเห็นด้วย 
แต่เพราะคนหลายคนคิดว่าคนอื่น ๆ เห็นชอบต่างหาก 
ธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคมหลายอย่างถึงคงอยู่จนปัจจุบัน 
แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายก็ตาม

            ในประวัติศาสตร์มีหลายเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นมากมาย โดยที่มีคนมากมายเชื่อตามกันว่าสิ่งนั้นถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว ที่ชาวฝรั่งเศสผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกไล่สังหารชาวฝรั่งเศสที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ หรือแม้แต่การฆ่านักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่คนจำนวน 1100 คน ดื่มน่ำผลไม้ผสมยาพิษไซยาไนด์ เพื่อฆ่าตัวตายหมู่ ในปี 1978 เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า ค่ำคืนแห่งการฆ่าตัวตายหมู่ที่โจนส์ทาวน์ หรือ White Night

            เป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากที่ จิม โจนส์ (Jim Jones) สาธุคุณผู้มีวาทศิลป์ และเทศน์สั่งสอนไบเบิลได้ตั้งแต่อายุ 12 ปี ได้ทำในสิ่งที่เลวร้ายขนาดนั้น เขาเคร่งศาสนา ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม ต่อต้านการเหยียดสีผิว และยังให้ความช่วยเหลือคนผิวดำอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ที่พัก และหางานให้ทำแม้จิมจะถูกต่อต้านจากกลุ่มคนเหยียดผิวอย่างรุนแรง เขาก็ไม่เคยยอมแพ้และยิ่งรณรงค์เพื่อต่อต้านการแบ่งแยกผิวสี ทั้งเดินขบวน ออกรายการโทรทัศน์ ให้ความช่วยเหลือคนยากจน คนตกงาน คนมีคดีติดตัว ผู้ติดยาเสพติด และกลุ่มเเปราะบางอื่น ๆ อีกมากมาย 

            เขาสร้างศรัทธากับสาวกอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะ โครงการต่อต้านการฆ่าตัวตายในปี 1977 จิม โจนส์ และสาวกผู้ติดตามมากกว่า 500 คนเดินทางไปสะพานโกลเด้นเกท (Golden Gate) ที่เมืองซานฟรานซิสโก เพื่อต่อต้านการฆ่าตัวตาย เนื่องจากสะพานนี้เป็นสะพานที่ชาวอเมริกันฆ่าตัวตายมากที่สุด ทำให้จิมได้รับรางวัล และเหรียญเชิดชูเกียรติการทำงานรับใช้สังคมมากมาย

            ด้วยความที่ช่วงนั้นมีความตึงเครียดว่าจะเกิดสงครามปรมาณู โจนส์จึงได้แสดงอาการหวาดกลัวอย่างมาก จนเมื่อเวลาผ่านไปเขาก็ค่อย ๆ เสียสติ แน่นอนว่ามีสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้เขามีอาการทางจิต แต่สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือเขามีอิทธิพลอย่างมากต่อสาวก แม้เขาจะเริ่มปฏิเสธพระเจ้า มีอารมณ์รุนแรง เริ่มรักษาโรคด้วยปาฏิหาริย์ ไม่ว่าจะเป็นการรักษามะเร็งหรือรักษาคนตาบอด เริ่มชักชวนสาวกให้บริจาคสมบัติทั้งหมดแก่โบสถ์ และมาใช้ชีวิตที่โบสถ์แทน 

            อาการทางจิตของเขารุนแรงมากขึ้น แต่สาวกก็ยังศรัทธาเขาอย่างมาก แม้ว่าเขาจะจัดการซ้อมฆ่าตัวตาย โดยเขาบอกกับสาวกของเขาว่า มีคนคอยจับตัวคนผิวสีไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ใครที่แตกต่างจะถูกฆ่า ดังนั้นเราจะต้องไม่โดนอย่างนั้นด้วยการชิงฆ่าตัวตายก่อน ใเป็นช่วงเดียวกับที่ จิม โจนส์ ผู้ก่อตั้งและผู้นำลัทธิโบสถ์มวลชนถูกตั้งข้อหาหนีภาษี เขาจึงนำสาวกพวกกว่าพนคนย้ายจากเมืองซานฟรนซิสโกไปตั้งชุมชนเล็ก ๆ ในประเทสกายอานา ซึ่งเขาตั้งชื่อว่าโจน์ทาวน์ 

            เมื่อรัฐบาลกลางสหรัฐทำการสืบสวนหลังจากได้รับแจ้งว่าเขาทำทารุณกรรมและล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก โจนส์ก็ตัดสินใจสั่งให้สาวกทุกคนกรอกยาพิษให้ลูกหลานของตัวเองก่อนแล้วดื่มตาม โดยมีการจัดเตรียมยาพิษในถังขนาดใหญ่หลายใบ หลายคนไม่เห็นด้วย หลายคนตะโกนทักท้วง แต่คนเหล่านี้ก็ถูกกดดันจนต้องหุบปาก พ่อแม่เริ่มป้อนยาพิษให้ลูกแล้วค่อยกรอกปากตัวเองตามคำสั่งของโจนส์และแรงกดดันจากสาวกคนอื่น ๆ ศพของพวกเขาถูกพบนอนเรียงรายโดยกุมมือของกันและกันเอาไว้  

ความทรงพลังของอิทธิพลทางสังคม

            ค่ำคืนแห่งการฆ่าตัวตายหมู่ White Night เป็นการแสดงถึงอิทธิพลของสังคมที่ทรงพลังอย่างมาก ไม่ใช่ว่าสาวกของ จิม โจนส์ จะไม่มีหัวคิด ไม่ฉลาด เขาไม่ได้โง่ พวกเขาเพียงเชื่อและศรัทธาในตัวโจนส์อย่างมาก บวกกับการทำร่วมกันเป็นกลุ่ม ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นวันกวาดล้างนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยการใส่ร้ายป้ายสี ตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และสร้างวาทกรรมต่าง ๆ เช่น ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปขึ้นมา ทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดรุนแรง ซึ่งเป็นตราบาปของประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้

            เมื่อผู้คนพร้อมกันเชื่อตามผู้มีอิทธิพลหลายคนที่ตีตรานักศึกษา แม้จะมีบางคนที่คิดว่าอย่างไรก็ไม่สมควรจะทำร้ายกันถึงขนาดนั้น แต่เมื่อเขาเห็นผู้คนรอบตัวทำเลวร้ายแบบนั้น เขาก็กลับทำตามอย่างไร้หัวคิด ทั้ง ๆ ที่ใจจริงผมเชื่อว่าหลายคนก็ไม่อยากทำ ไม่เห็นด้วย แต่คิดว่ามันคงเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะคนอื่นก็ทำกัน เหตุการณ์การสลายผู้ชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553 ก็เช่นเดียวกัน คนเสื้อถูกตีตราอย่างเลวร้าย และโดนสลายการชุมนุมจนถนนนองไปด้วยเลือด ผู้คนบางกลุ่มก็พร้อมใจกันสะใจ และออกมาทำความสะอาดถนน (หลักฐาน) กันยกใหญ่

            อย่างไรก็ตามแม้อิทธิพลสังคมจะทรงพลังถึงขั้นทำให้คนทั้งชุมชนฆ่าตัวตาย หรือผู้คนเห็นการเข่นฆ่าแต่คิดว่ามันถูกต้อง ในขณะเดียวกันมันก็สามารถสร้างสิ่งอัศจรรย์ได้ด้วยเช่นกัน ในเมืองใหญ่หลายแห่งในประเทศตะวันตก เจ้าของสุนัขจะพกถุงพลาสติกติดตัวเวลาพาสุนัขออกไปเดินเล่น ผู้คนจึงสามารถเดินกินลมชมวิวตามสวนสาธารณะได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องมูลของสุนัขอีกต่อไป ในขณะที่หลายเมืองในบางประเทศสุนัขจะถ่ายตรงไหนก็ได้ โดยที่เจ้าของไม่ต้องรับผิดชอบอะไร 

พลเมืองทั้งสองเมืองไม่ได้มีใครดีใครชั่ว รับผิดชอบมากน้อยกว่ากัน แต่เป็นเพราะอิทธิพลทางสังคมที่กำหนดให้คนแสดงออก หรือมีระดับความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน

            หลัก ๆ แล้วอิทธิพลทางสังคมมีหน้าที่สองอย่างด้วยกัน อย่างแรกคือข้อมูล โดยการกระทำและความคิดอ่านของคนหมู่มากจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่านั้นคือสิ่งที่คุณควรทำหรือคิด หน้าที่อย่างที่สองคือ เป็นแรงกดดันให้เกิดพฤติกรรม หากเรากังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตนเอง (แม้ส่วนใหญ่เราจะทึกทักไปเองก็ตาม) เราก็อาจทำตามคนส่วนใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พวกเขาขุ่นเคืองหรือเพื่อเพิ่มคะแนนพิศวาส

            นอกจากตัวอย่างที่ผมยกไปข้างต้นแล้ว ยังมีตัวอย่างอื่น ๆ ที่คนมักจะทำตามกัน ซึ่งหลายครั้งเราทำตามโดยไม่รู้ตัว เช่น "หากเพื่อนสนิทของเราเริ่มอ้วนเราก็มีความเสี่ยงจะอ้วนขึ้นด้วย" เพราะมนุษย์เรามีสัญชาตญาณที่ชอบอาหาร หวาน มัน เค็ม เนื่องจากในอดีต สมัยที่บรรพบุรุษเป็นพรานล่าของป่า เราจะมีโอกาสได้กินค่อนข้างน้อย อาหารจำพวกหวาน มัน เค็มจะให้พลังงานได้เยอะเพื่อให้เรามีพลังงานไว้ล่าสัตว์หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องใช้แรง ดังนั้นเมื่อเราเห็นเพื่อนชอบกินอาหารประเภทนี้ ก็มีแนวโน้มจะกินตามไปด้วย (เพราะเราชอบมันอยู่แล้ว)

            หรือ "เพื่อนมีผลต่อความตั้งใจเรียนของนึกศึกษาในมหาวิทยาลัย" ข้อนี้คงไม่มีใครปฏิเสธนะครับ มีคำพูดว่าคบคนพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตพาไปหาผล ไม่ได้เป็นเรื่อเท็จแต่อย่างใดเลย พระพุทธเจ้าจึงแนะนำว่า การคบมิตรที่ดี จะทำให้บรรลุมรรคผล ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารตามเพื่อน การโดดเรียน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ จนไม่สนใจเรียนตามเพื่อน แสดงให้เห็นว่ามนุษย์คล้อยตามผู้อื่นได้อย่างง่ายดายนั้นเอง

การคล้อยตาม

            อิทธิพลสังคมมีพลังอย่างมากต่อปัจเจกบุคคลเนื่องจากสัญชาตญาณของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ทำให้พฤติกรรมของเรามีแนวโน้มจะปฏิบัติตามกลุ่มเพื่อความมั่นใจ และผาสุขในการดำเนินชีวิต อีกทั้ง แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาชาวอิสราเอล-อเมริกัน ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ Thinking Fast and Slow ได้แยกระบบการทำงานของสมองออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบ 1 (เร็ว) ระบบ 2 (ช้า) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            1. ระบบที่ 1 จะเป็นระบบที่ทำงานอย่างรวดเร็ว แต่จะเป็นการคิดแบบง่าย ๆ ใช้สัญชาตญาณ (จิตใต้สำนึก)

            2. ระบบที่ 2 จะเป็นระบบที่ทำงานช้า ขี้เกียจ แต่เป็นระบบคิดแบบซับซ้อน ใช้การคิดวิเคราะห์ (จิตสำนึก)

            คาฮ์นะมัน อธิบายว่า ระบบ 1 (จิตใต้สำนึก) จะทำงานโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ระบบ 2 (จิตสำนึก) จะอยู่ในสถานะที่ใช้ความพยายามต่ำ ระบบ 1 จะมอบคำแนะนำให่แก่ระบบ 2 อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเเป็นความรู้สึก สัญชาตญาณ ความตั้งใจ หรืออารมณ์ต่าง ๆ หากระบบ 2 เห็นด้วยกับคำแนะนำนั้น ความรู้สึกกับสัญชาตญาณจะแปรเปลี่ยนไปเป็นความเชื่อ ส่วนสิ่งอื่น ๆ จะแปรเปลี่ยนเป็นการกระทำที่ควบคุมได้ หากสถานการณ์ดำเนินไปด้วยดี (ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นแบบนั้น) ระบบ 2 จะทำตามคำแนะนำของระบบ 1  

            จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายครั้งเราจะทำตามกลุ่มทั้ง ๆ ที่หลายครั้งสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องที่ผิดก็ตาม เหมือนกับตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว ที่ชาวฝรั่งเศสผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกไล่สังหารชาวฝรั่งเศสที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ หรือแม้แต่การฆ่านักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือค่ำคืนแห่งการฆ่าตัวตายหมู่ที่โจนส์ทาวน์ (White Night) 

            การอยู่รวมเป็นกลุ่มเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนปกติทุกคน การที่คนเราอยู่ในกลุ่มได้อย่างมีความสุขนั้น เราจะต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปตามบรรทัดฐานของกลุ่ม บางครั้งเราอาจจะอยากกระทำในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐาน แต่ด้วยความกลัวว่าจะถูกลงโทษจากกลุ่ม เราจึงจำเป็นต้องระงับความคิดนั้นและปฏิบัติตามกลุ่มอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเพื่อนของเราโดดเรียนกันหมดทุกคน ทั้งที่เราไม่อยากโดดเรียนด้วย แต่กลัวว่าเพื่อนจะไม่ยอมรับ จึงต้องโดดเรียนตาม เราเรียกสิ่งนี้ว่าการคล้อยตาม (Conformity)

            การคล้อยตาม คือ การที่บุคคลเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เข้ากับมาตรฐานหรือความเชื่อซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป หรือเข้ากับบรรทัดฐาน (Norms) ของกลุ่มหรือสังคม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการคล้อยตามนั้นคือแรงกดดันจากกลุ่ม เหมือนกับที่ผมยกตัวอย่างเรื่องการโดดเรียนตามเพื่อนไว้ข้างต้น ยิ่งกลุ่มเพื่อนมีความคิดเหมือนกันมากเท่าไหร่ยิ่งมีอิทธิพลทำให้คนในกลุ่มนั้นต้องคล้อยตามมากขึ้นเท่านั้น 

            นอกจากนั้นปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างมากก็คือระบบ 1 หรือสัญชาตญาณที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การอยู่กับกลุ่มทำให้บรรพบุรุษของเราปลอดภัย สิ่งนี้จึงถูกฝังใน DNA ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของเรา และหากเราไม่ใช้ระบบ 2 ในการต้านพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลที่เกิดขึ้น ก็ไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นกลุ่มคนในสังคมร่วมกันทำเรื่องที่เลวร้าย แม้ว่าคนบางคนในกลุ่มจะดูเป็นคนที่ไม่น่าจะทำเรื่องแบบนั้นได้เลยก็ตาม

การทดลองที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการคล้อยตาม

            การทดลองครั้งหนึ่งที่รู้จักกันดี โดยนักจิตวิทยาชื่อโซโลมอน แอช (Solomon Asch) ขอให้ผู้คนตัดสินความยาวของเส้นตรงจำนวนหนึ่ง ผู้อ่านลองจินตนาการว่าหากเราถูกพาเข้าไปในห้องที่มีคนอื่น ๆ อยุ่ด้วยอีกเจ็ดคนและเห็นภาพดังต่อไปนี้
            ภารกิจของเราก็คือการพิจารณาเส้นตรงทางซ้ายมือและตัดสินว่าเส้น A, B หรือ C ทางด้านขวาเส้นไหนที่มีความยาวเท่ากับเส้นตรงซ้ายมือ คำตอบที่ถูกต้องอย่างเห็นได้ชัดคือเส้น B และทุกคนในกลุ่มก็เลือกตอบข้อนี้ จากนั้นนักวิจัยก็ให้ดูภาพเส้นตรงชุดต่อไป คำตอบของคนทุกคนต่างก็สอดคล้องกันเช่นเดิม จนกระทั่งมาถึงการทดลองรอบที่ 3 ดังภาพด้านล่าง
            ผู้อ่านจะเห็นว่าในภาพด้านบนเส้นที่เท่ากันกับภาพซ้ายมือก็คือ C อย่างเห็นได้ชัด แต่น่าแปลกที่คนแรกในกลุ่มยืนกรานว่าเป็นเส้น B คุณอาจจะรู้สึกตะลึงเมื่อคนที่สองเลือก เส้น B เหมือนกัน สมาชิกคนที่สามและสี่ของกลุ่มก็เลือก B ตามไปด้วย คราวนี้เราจะเลือกอย่างไรครับ

            ที่จริงแล้วสมาชิกคนอื่น ๆ ในกลุ่มของเราเป็นหน้าม้าที่สมรู้ร่วมคิดกับทีมวิจัยตั้งแต่แรก การทดลองทั้งหมดแบ่งเป็น 18 ทีม และหน้าม้าเหล่านี้ได้รับคำสั่งให้จงใจเลือกคำตอบที่ผิดในการทดลอง 12 รอบ เพื่อดูว่าเราจะยอมฝ่าฝืนวิจารณญาณที่ดีกว่าของตัวเองและคล้อยตามคนส่วนใหญ่หรือไม่ ผลปรากฎว่าผู้เข้าร่วมการทดลองยอมคล้อยตามเกินหนึ่งในสามของรอบการทดลองทั้งหมด พวกเขาเลือกเส้นที่ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเพียงเพราะคนที่เหลือในกลุ่มเลือกเส้นนั้น 
สามในสี่ของผู้เข้าร่วมการทดลองยอมคล้อยตามคำตอบที่ผิดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
            เมื่อผู้เข้าร่วมการทดลองถูกทดสอบคนเดียว พวกเขาแทบไม่เคยตอบผิดเลย ตอนที่คล้อยตามกลุ่ม พวกเขารู้ว่าตัวเองเลือกคำตอบที่ไม่ถูกต้องแต่ก็ยังคงเลือกเพราะกลัวว่าจะถูกหัวเราะเยาะ ไม่จำเป็นต้องมีผู้นำเผด็จการที่โหดเหี้ยมมาข่มขู่ให้เราหวาดกลัวจนยอมปิดปากเงียบ การมีความคิดเห็นแบบหัวเดียวกระเทียมลีบสามารถทำให้แม้กระทั่งคนต้นแบบที่มีความยึดมั่นเกิดความหวาดกลัวมากพอที่จะยอมคล้อยตามคนส่วนใหญ่

            สิ่งที่แอชค้นพบจะปรากฎในตัวมนุษย์ทุกคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนา มีผู้ทำการทดลองเรื่องการคล้อยตามนี้ในหลากหลายรูปแบบไม่ต่ำกว่า 130 ครั้งใน 17 ประเทศ รวมถึงซาอีร์ (คองโกในปัจจุบัน) เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น นอร์เวย์ เลบานอน และคูเวต ฯลฯ ผลปรากฎว่าแบบแผนการคล้อยตามของกลุ่มตัวอย่างในแต่ละประเทศไม่แตกต่างกันมากนัก โดยจะตอบผิด (ตอบตามคนอื่น) ราว ๆ 20 - 40% ของคำถาม แม้อัตราการตอบผิดจะไม่สูงมาก แต่ภารกิจง่ายมากอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น 
ผลลัพธ์ที่แสดงออกมาทำให้รู้ว่า คนเราสามารถทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิดแค่ไหนเพียงเพราะว่าคนรอบตัวของเขาทำสิ่งนั้น 
            ในงานวิจัยของโซโลมอน แอช (Solomon Asch) ผู้เข้าร่วมการทดลองที่คล้อยตามคำตอบของกลุ่มบอกในการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวว่า พวกเขาคิดว่าตัวเองคงมองผิดไป ในเมื่อทุก ๆ คนพูดเป็นเสียงเดียวกัน สิ่งนั้นก็คงถูกต้องแล้ว อีกทั้งยังมีผลการศึกษาวิจัยจากภาพถ่ายสมองพบว่า ตอนที่คนเราคล้อยตามผู้อื่น (อย่างในการทดลองของแอช) สมองจะมองเห็นสถานการณ์อย่างที่คนอื่นบอกจริง ๆ กล่าวคือเชื่อแบบนั้นจริง ๆ 

            วิธีที่ง่ายดายที่สุดเพื่อส่งเสริมการไม่คล้อยตามคือการเพิ่มผู้คัดค้านเข้าไปหนึ่งคน ดังที่ เดเร็ค ซิเวอร์ส (Derek Sivers) กล่าวไว้ว่า "ผู้สนับสนุนคนแรกเปลี่ยนคนหัวเดียวกระเทียมลีบให้กลายเป็นผู้นำได้" ถ้าเรานั่งอยู่กับคนอีกเจ็ดคนและสมาชิกหกคนในกลุ่มเลือกคำตอบที่ผิด แต่สมาชิกหนึ่งคนที่เหลืออยู่เลือกคำตอบที่ถูกต้อง อัตราการยอมคล้อยตามจะลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยคนจะเลือกคำตอบที่ผิดลดลงจาก 37% เหลือเพียง 5.5% "การมีผู้สนับสนุนหนึ่งคนช่วยลดทอนแรงกดดันจากคนส่วนใหญ่ได้มากทีเดียว" แอชกล่าว

            ตัวการสำคัญในที่นี้คือ การพร้อมใจกันเพิกเฉย (Pluralistic Ignorance) หมายถึงการที่สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่หรือทั้งหมดไม่คิดจะหาคำตอบว่าคนอื่น ๆ คิดอย่างไร เราอาจปฏิบัตติตามธรรมเนียมหรือความเชื่อบางอย่างไม่ใช่เพราะเห็นด้วย (หรืออาจไม่ได้ฉุกคิดด้วยซ้ำว่าจำเป็นต้องทำตามหรือเปล่า) แต่เพราะคิดว่าคนอื่น ๆ เห็นชอบต่างหาก ธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคมหลายอย่างถึงยังคงอยู่ได้มาจนถึงปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างได้สลายไปจากสังคม โดยเริ่มต้นจากคนไม่กี่คนที่ใช้ระบบ 2 ในการไตร่ตรอง และกระพือสังคมจนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่กำลังจะเกิดขึ้น

สรุป

            อิทธิพลทางสังคม ทำให้เกิดการคล้อยตามขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งคนที่คล้อยตามแทบจะไม่ได้ตั้งคำถามกับสิ่งนั้นเลย ทุกคนต่างพร้อมใจกันเพิกเฉยเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว การฆ่านักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์ White Night ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์คล้อยตามในเรื่องเลวร้ายขนาดนี้ทั้ง ๆ ที่หลายคนไม่ได้มีจิตใจอันโหดเหี้ยมเลยก็คือระบบการคิดที่ใช้สัญชาตญาณ

            ด้วยการที่เราใช้การคิดแบบระบบ 1 ที่ใช้สัญชาตญาณ มากกว่าระบบ 2 ที่ใช้การคิดแบบไตร่ตรอง ทำให้มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมและพึ่งพิงอาศัยการอยู่เป็นกลุ่มตั้งแต่ในอดีต การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มจึงจำเป็นสำหรับคนปกติทุกคน การที่คนเราอยู่ในกลุ่มได้อย่างมีความสุขนั้น เราจะต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปตามบรรทัดฐานของกลุ่ม บางครั้งเราอาจจะอยากกระทำในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐาน แต่ด้วยความกลัวว่าจะถูกลงโทษจากกลุ่ม เราจึงจำเป็นต้องระงับความคิดนั้นและปฏิบัติตามกลุ่มอยู่ดี

            วิธีที่ง่ายดายที่สุดเพื่อทำลายการคล้อยตามในทางลบของคนในสังคมได้ก็คือ การส่งเสียงออกมา เพราะถ้าหากมีใครส่งเสียงออกมา ก็จะทำให้คนในกลุ่มหลายคนเลือกในเส้นทางที่ถูกต้องได้ อย่างที่แอชกล่าว "การมีผู้สนับสนุนหนึ่งคนช่วยลดทอนแรงกดดันจากคนส่วนใหญ่ได้มากทีเดียว" โดยอัตราการยอมคล้อยตามจะลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยคนจะเลือกคำตอบที่ผิดลดลงจาก 37% เหลือเพียง 5.5% 

            สิ่งที่ขาดไปไม่ได้ก็คือ การใช้ระบบ 2 ในการพิจารณาไต่รตรอง คิดอย่างมีวิจารณญาณว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้องหรือไม่ มันจะส่งผลถึงใครและส่งผลอย่างไรบ้าง เพราะอย่าลืมว่าในประวัติศาสตร์มีบุคคลที่น่ายกย่องมากมายที่ปฏิเสธอยู่ข้างเดียวกับความชั่วร้าย และเลือกที่จะช่วยเหลือคนมากมาย แม้เขาหรือเธอจะเป็นชาวเยอรมันในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ของนาซีก็ตาม จึงไม่แปลกที่การคิดอย่างมีวิจารณญาณจะเป็นทักษะที่ทุกประเทศต่างกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก สุดท้ายอย่าลืมสิ่งที่ เดเร็ค ซิเวอร์ส (Derek Sivers) ได้กล่าวไว้ 
"ผู้สนับหนุนคนแรกเปลี่ยนคนหัวเดียวกระเทียมลีบ 
ให้กลายเป็นผู้นำได้"
อ้างอิง

Grant, A. (2017). Originals: How Non-Conformists Move the World. NY: Penguin.

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

Thaler, R. & Sunstein, C. (2009). Nudge: Improving Decisions About Health, Wealth, and Happiness. NY: Penguin Books.

Muzika. (2563). โจนส์ทาวน์ เมืองลัทธิฆ่าตัวตายหมู่ ที่น่ากลัวที่สุดในประวัติศาสตร์โลก. https://travel.trueid.net/detail/p7gMwwzkM4ev

คาลอส บุญสุภา. (2564). อิทธิพลของ สิ่งเร้า (Stimulus) แรงกดดันที่ยากจะต้านทาน. https://sircr.blogspot.com/2021/10/stimulus.html

สิทธิโชค วรานุสันติกุล. (2546). จิตวิทยาสังคม : ทฤษฎีและการประยุกต์. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น

ความคิดเห็น