อิทธิพลของ สิ่งเร้า (Stimulus) แรงกดดันที่ยากจะต้านทาน

สิ่งเร้าแต่ละคนมีความเข้มข้นไม่เท่ากัน ดังนั้นจะเป็นการดีมาก 
ที่เราไม่ควรไปตัดสินใครว่าสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าว่าเป็นคนไม่ดี
เพราะมนุษย์เราแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

            เทพปกรนัมกรีกเป็นสิ่งที่สะท้อนพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างดีมาก นักจิตวิทยาหลายคนได้ยกตัวอย่างตำนานบางอย่างมาอธิบายทฤษฎีของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ตำนาน ออดิปุส oedipus ที่ถูกมาใช้อธิบาย oedipus complex ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)  และหนึ่งในตำนานที่ผมชื่นชอบอย่างมาก และสามารถมาใช้อธิบายพฤติกรรมมนุษย์ และยิ่งไปกว่านั้นสามารถนำมาใช้เพื่อเป็นตัวอย่างในการปรับพฤติกรรมได้อย่างดีก็คือ เรื่องราวของยูลิสซีส (Ulysses) เและเสียงของปีศาจไซเรน (Siren)

            เรื่องราวย่อ ๆ มีอยู่ว่า ยูลิสซีสที่เกิดอยากฟังเสียงร้องเพลงของปีศาจไซเรน สักครั้งหนึ่งว่ามันจะไพเราะสักแค่ไหน เนื่องจากตามเรื่องเล่าแล้วไซเรนสามารถร้องเพลงที่ไรเราะจนไม่ว่ามนุษย์หน้าไหนก็ถูกสะกดหยุดนิ่งไปทุกราย ยูลิสซีสรู้ตัวดีว่าตัวเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งมีกิเลสตัณหาไม่ต่างกับมนุษย์คนอื่น ๆ ถ้าได้ยินเสียงนี้ เขาก็อาจจะถูกสสะกดจนขับเรือไปหาต้นเสียงนั้นและตายแบบผู้อื่น

            ยูลิสซีสจึงสั่งให้ลูกเรืออุดหูด้วยขี้ผึ้งเพื่อจะได้ไม่เคลิบเคลิ้มไปกับเสียงเพลงมรณะ ซ้ำยังบอกให้บลูกเรือมัดเขาเอาไว้กับเสากระโดงเรือด้วย เพราะเขาอยากลองฟังเสียงโดยไม่เผลอใจบังคับเรือเข้าไปใกล้พวกนางขณะตกอยู่ในภาวะเร่าร้อน โดยเขาสั่งกับลูกเรือของตัวเองว่า ไม่ว่าเขาจะขอวิงวอนให้แก้เชือกอย่างไรก็ห้ามแก้โดยเด็ดขาด

            ทุกอย่างเป็นไปตามคาดเสียงร้องเพลงของไซเรนดึงดูดให้ยูลิสซีสเกิดภาวะเร่าร้อนจนพยายามแก้เชือก และออกคำสั่งให้ลูกเรือแกะเชือกให้กับตนเอง จนกระทั่งเมื่อทุกอย่างผ่านไป ยูลิสซีสที่หลุดออกจากสภาพถูกสะกดก็ได้รับการปล่อยตัว ทุกอย่างจบลงด้วยดี ซึ่งเรื่องราวนี้สามารนำมาปรับใช้กับหลายบริบทของมนุษย์ได้อย่าง

            ทุกวันนี้เราแสดงพฤติกรรมหลายอย่างออกไป โดยเราแทบจะไม่รู้ตัวเลย เพราะรอบตัวเรามี "สิ่งเร้า" มากมายที่มามีอิทธิพลเหนือตัวเรา หรือจูงใจให้เราแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกไป มันเกิดอะไรขึ้นทำไมนักเดินทางหลายคนจึงหลงใหลเสียงของไซเรน แม้ว่าพวกเขาจะเคยได้ยินเรื่องเล่าของไซเรนอย่างดี แต่ก็ไม่เชื่อ และมั่นใจว่าตัวเองจะไม่หลงตามเสียงนั้นอย่างแน่นอน สุดท้ายพวกเขาต้องพบกับจุดจบที่ต่างกับยูลิสซีส

            ในบทความนี้ผมจะอธิบายถึงสาเหตุที่มนุษย์แสดงพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล หลงไปตามสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และทำไมสิ่งเร้าถึงสามารถจูงใจให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกไปได้ เพื่อที่จะทำให้เรารู้เท่าทัน และสามารถควบคุมตนเองได้ไม่มากก็น้อย เพราะหลายครั้งเราประเมินพลังของสิ่งเร้าต่าง ๆ ต่ำเกินไป เราคิดว่าเราสามารถควบคุมตนเองได้

            ในตำนานบุรุษมากมายที่ยิ่งใหญ่ก็คิดว่าตัวเองสามารถฟังเสียงของไซเรนได้ แต่สุดท้ายก็พลาดท่าเสียชีวิตด้วยความลุ่มหลงและความเร่าร้อน เราทุกคนควรจะเหมือนกับยูลิสซีสที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ในตัวเอง และสามารถวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหานั้นได้ เขาสามารถจัดการกับตัวเองและเอาชนะสิ่งเร้านั้นได้ จากการเข้าใจธรรมชาติของตัวเอง ดังนั้นหากเราเข้าใจธรรมชาติของตัวเอง เข้าใจอิทธิพลของสิ่งเร้า ว่ามันเป็นแรงกดดันที่ยากจะต้านทาน เราก็จะสามารถจัดการตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปได้

ระบบของสมองที่ทำให้เราควบคุมตัวเองได้ยาก

            นักวิทยาศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่รู้จักสมองและวิธีการทำงานของสมองอย่างก้าวกระโดด ทำให้พวกเขารู้สาเหตุของพฤติกรรมหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ในอดีต นิสัย อาการทางจิตที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และสัญชาตญาณที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ก่อให้เกิดอคติต่าง ๆ หลากหลายประเภท แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาชาวอิสราเอล-อเมริกัน ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ Thinking Fast and Slow ได้แยกระบบการทำงานของสมองออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบ 1 (เร็ว) ระบบ 2 (ช้า) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            1. ระบบที่ 1 จะเป็นระบบที่ทำงานอย่างรวดเร็ว แต่จะเป็นการคิดแบบง่าย ๆ ใช้สัญชาตญาณ (จิตใต้สำนึก)

            2. ระบบที่ 2 จะเป็นระบบที่ทำงานช้า ขี้เกียจ แต่เป็นระบบคิดแบบซับซ้อน ใช้การคิดวิเคราะห์ (จิตสำนึก)

            คาฮ์นะมัน อธิบายว่า ระบบ 1 (จิตใต้สำนึก) จะทำงานโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ระบบ 2 (จิตสำนึก) จะอยู่ในสถานะที่ใช้ความพยายามต่ำ ระบบ 1 จะมอบคำแนะนำให่แก่ระบบ 2 อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเเป็นความรู้สึก สัญชาตญาณ ความตั้งใจ หรืออารมณ์ต่าง ๆ หากระบบ 2 เห็นด้วยกับคำแนะนำนั้น ความรู้สึกกับสัญชาตญาณจะแปรเปลี่ยนไปเป็นความเชื่อ ส่วนสิ่งอื่น ๆ จะแปรเปลี่ยนเป็นการกระทำที่ควบคุมได้ หากสถานการณ์ดำเนินไปด้วยดี (ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นแบบนั้น) ระบบ 2 จะทำตามคำแนะนำของระบบ 1          

            สิ่งนี้เป็นระบบการทำงานเช่นเดียวกันกับ จิตสำนึก และจิตใต้สำนึก จิตสำนึกก็คือการมีเหตุผล ความจำใช้งานที่เราสามารถดึงมันออกมาใช้ได้ คิดถึงมันได้ รวมไปถึง การคิดวิเคราะห์ ซึ่งก็คือ ระบบ 2 เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ ส่วนระบบที่ 1 เป็น ความจุที่เหลือที่เก็บไว้ในสมองของเรา ซึ่งมีอิทธิพลกับระบบ 2 อย่างมาก เช่น ความคิดในแง่ดีที่เรากำลังคิดอยู่ขนาดนี้ อาจมาจากประสบการณ์ดี ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นในชีวิต และพันธุกรรมที่ถ่ายทอดความคิดเชิงบวกมาจากครอบครัว หรืออคติต่าง ๆ เช่น อคติที่ทำให้เราเปรียบเทียบกับคนอื่น การมองโลกในแง่ร้าย การคิดเข้าข้างตัวเอง มั่นใจในความคิดของตัวเอง ล้วนมาจากการทำงานของระบบ 1 ทั้งสิ้น ซึ่งก็คือจิตใต้สำนึกทั้งสิ้น

            เราอาจพูดได้ว่าระบบ 1 คือการตอบสนองตามสัญชาตญาณส่วนระบบ 2 คือการคิดอย่างมีสติ จริงอยู่ที่บางครั้งสัญตญาณมีความแม่นยำสูงมาก แต่เราก็มักจะทำผิดพลาดเพราะพึ่งพาระบบ 1 มากเกินไป ยกตัวอย่างเช่น ระบบ 1 อาจบอกว่า "เครื่องบินส่ายไปมาฉันต้องตายแน่ ๆ" ในขณะที่ระบบ 2 อาจบอกว่า "เครื่องบินมีความปลอดภัยมาก การส่ายไปส่ายมาเป็นเรื่องธรรมดา" 
และที่น่าตลกก็คือส่วนใหญ่แล้วเราจะใช้ระบบที่ 1 ในการดำรงชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนมักจะมีความคิดที่มักง่าย คิดเชื่อมโยงอะไรแบบง่าย ๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะทฤษฎีสมคบคิด
            กลับมาที่ผมบอกว่าสัญชาตญาณมีความแม่นยำ ก็เพราะว่าเวลาที่เราทำอะไรซ้ำ ๆ บ่อย ๆ  อย่างเช่นการเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล กลอ์ฟ หรือเทมนิส เริ่มแรกเราจะใช้ระบบ 2 ในการเรียนรู้ว่าจะตีแบบไหน หรือเตะแบบไหน วิธีการเลี้ยงหลบ วิธีการตีกอล์ฟ ซึ่งหลังจากที่เราซ้อมเป็นระยะเวลาหนึ่ง เราจะเลิกใช้ระบบ 2 แล้วหันมาใช้ระบบที่ 1 แทน จนเมื่อเวลาผ่านไปพอสมควรเราจะเชี่ยวชาญมากขึ้น จนสามารถรู้วิธีการตี การเตะ การเลี้ยงหลบที่ดีออกมาได้โดยที่เราแทบไม่ได้คิดอะไรเลย
            แม้ว่าระบบที่ 1 จะมีข้อดี แต่ก็มีข้อเสียมากมาย เพราะว่ามันมักง่ายเกินไป เหมือนเรื่องราวตำนานเสียงของไซเรน ระบบที่ 1 ทำให้ยูลิสซีสอยากลองฟังเสียงไซเรน แต่ระบบที่ 2 ก็คิดไตร่ตรองจึงพยายามหาทางแก้ไขปัญหา ในขณะที่หลายคนหลงเข้าไปกับเสียงร้องอันไพเราะของไซเรนจนเสียชีวิต  มนุษย์เรามักจะดำเนินชีวิตด้วยสัญชาตญาณจนหลายครั้งทำให้เราทำผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นคนที่ติดบุหรี่หรือเหล้า การไม่ยอมออกกำลังกาย รูดบัตรเครดิตมากเกินไป และไม่รู้จักออมเงิน 

            เหตุผลที่สัญชาตญาณทำให้เกิดความผิดพลาด เพราะมันไวต่อสิ่งเร้ามาก เราหิวก็อยากกิน แต่ที่เราไม่วิ่งเข้าไปขโมยของที่ร้านมากินทันที เพราะมันเป็นกฎระเบียบสังคม มันคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาทีหลัง โดยเฉพาะศีลธรรมต่าง ๆ นั้นทำให้เราปฏิบัติตัวเป็นอย่างดี นอกจากนั้นหากเราคิดพิจารณาให้ดี การที่เราขโมยของอาจทำให้เราติดคุก หรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน การคิดไตร่ตรองเช่นนี้ คือการใช้ระบบ 2 "เป็นจอมวางแผน" ในขณะที่ระบบ 1 จะเป็น "ขาลุย"

            ระบบ 2 จะวางแผนทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตในระยะยาว แต่ต้องต่อกรกับอารมณ์ความรู้สึกที่เจ้าเล่ห์ และหัวแข็งของระบบที่ 1 ที่มักจะยอมจำนนให้กับความเย้ายวนของสิ่งเร้า เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องอาศัยการควบคุมตนเอง สมองสองส่วนจะทำงานพร้อมกัน กล่าวคือ ขณะที่สมองส่วนหนึ่งถูกความเย้ายวนสะกด สมองอีกส่วนจะหาทางต้านทานความเย้ายวนนั้นด้วยการประเมินว่าควรตอบสนองอย่างไร

            จึงเหมือนกับว่าสมองทั้ง 2 ส่วนมันกำลังชักเย่อกัน แต่น่าเสียดายที่ระบบ 2 จอมวางแผนของเรามันเป็นคนขี้เกียจอย่างมาก มันจึงชอบนั่งชิวริมชายหาด ไม่ได้ชักเย่อกันตลอดเวลา มันปล่อยให้ระบบที่ 1 ดูแลจัดการทุกสิ่งทุกอย่างไป มันจะออกมานาน ๆ ทีเท่านั้น เมื่อเราพยายามคิดให้ลึกซึ้งมากขึ้น เช่น การนำตัวเลข 38 คูณกับ 25 ในขณะที่การใช้ 38 คูณกับ 10 ไม่จำเป็นต้องใช้การคิดวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งแต่อย่างใด ซึ่งส่วนใหญ่ในชีวิตของเราก็ไม่ต่างอะไรกับ 38 คูณกับ 10 เราคิดว่ามันง่ายไปหมด ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรมากมาย ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วหลายอย่างควรจะคิดพิจารณาอย่างดีก่อนจะตัดสินใจด้วยซ้ำ

            นั้นจึงเป็นเหตุผลที่เราแสดงพฤติกรรมที่ไร้สติออกมาโดยอัตโนมัติและไม่ได้มีสติ (ระบบ 2) จดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่าง เวลาที่เราหยิบยาที่กินอยู่เป็นประจำ แต่พอมารู้ตัวอีกทีก็จำไม่ได้ว่ากินไปหรือยัง หรือเวลาที่เรากำลังขับรถพอสักพักหนึ่งก็มารู้ตัวอีกทีว่ากำลังขับผิดทาง กล่าวคือ เวลาที่เราทำอะไรที่เคยชิน เราจะใช้สติน้อยอย่างมากในการคิด 

สิ่งเร้ามีอิทธิพลต่อระบบ 1 อย่างมาก

            ก่อนอื่นต้องอธิบายถึงสิ่งเร้า (Stimulus) ก่อนว่าหมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต สิ่งเร้านี้เองถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการตอบสนอง ซึ่งจะตามมาด้วยพฤติกรรม ซึ่งสิ่งเร้าแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประกอบไปด้วย

            1) สิ่งเร้าภายใน ได้แก่ สภาวะการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบไหลเวียนโลหิต เป็นต้น เมื่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายเหล่านี้เกิดความผิดปกติ หรือทำงานตามระบบของมัน สิ่งมีชีวิตก็เกิดการตอบสนองและแสดงพฤติกรรมออกมา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อร่างกายไม่มีอาหารให้ย่อย เราก็จะตอบสนองโดยเกิดความรู้สึกหิวขึ้นมา และแสดงพฤติกรรมโดยการออกไปหาอาหาร

            2) สิ่งเร้าภายนอก ได้แก่ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัว ป้ายอาหาร แสง สี อากาศ พื้นปูน ขยะข้างทาง กลิ่น รสชาติ รวมไปถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งหลาย เมื่อสิ่งเร้าภายนอกมากระทบตัว สิ่งมีชีวิตจะเกิดการตอบสนอง และแสดงพฤติกรรมออกมา ยกตัวอย่างเช่น ป้ายอาหารน่ากินมาก ทำให้เราเกิดการตอบสนองโดยรู้สึกอยากกิน (แม้จะไม่ได้หิวก็ตาม) ซึ่งทำให้เราแสดงพฤติกรรมโดยการเดินเข้าไปในร้านเพื่อรับประทาน หรือ แม้แต่เรื่องปกติอย่างเช่นเมื่ออากาศหนาว เราจะตอบสนองโดยการสั่นของร่างกาย รู้สึกหนาว จึงแสดงพฤติกรรมโดยการหยิบเสื้อกันหนาวขึ้นมาใส่ 
            จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สิ่งเร้าต่าง ๆ จะมีอิทธิพลกับระบบ 1 (สัญชาตญาณ) ของเราอย่างมาก ยกตัวอย่างเรื่องการใช้เงิน เวลาที่เราได้เงินมาง่าย ๆ เราจะใช้เงินได้ง่ายมาก ในทางตรงกันข้ามหากเราได้เงินมาอย่างยากเย็น ยากลำบากก็จะใช้เงินนั้นยากไปด้วย จึงเป็นเรื่องดีหากให้เด็กเรียนรู้จักการได้เงินมาอย่างยากลำบาก เพื่อฝึกนิสัยการเก็บออมตั้งแต่เริ่มต้น 

            นอกจากนิสัยการใช้เงินแล้ว สิ่งเร้าอย่างอาหารหวาน มัน เค็ม ก็เป็นสิ่งเร้าที่เข้มข้นมากอีกด้วย เพราะอาหารรสชาติดังกล่าวถูกฝังอยู่ใน DNA ของเรา เนื่องจากในอดีต สมัยที่บรรพบุรุษเป็นพรานล่าของป่า เราจะมีโอกาสได้กินค่อนข้างน้อย อาหารจำพวกหวาน มัน เค็มจะให้พลังงานได้เยอะเพื่อให้เรามีพลังงานไว้ล่าสัตว์หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องใช้แรง มันจึงทำให้เรายังคงโหยหา และรู้สึกชอบอาหารรสชาติดังกล่าวอย่างไม่เสื่อมคลาย

            ยิ่งไปกว่าการที่เราติดอาหารรสชาติหวาน มัน เค็มแล้ว เรายังไม่ชอบการออกกำลังกายอีกด้วย ในอดีตเราใช้พลังงานในการดำเนินชีวิตอยู่ตลอดไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง โดยเฉพาะในอดีตบรรพบุรุษเดินเยอะมาก แตกต่างกับในปัจจุบันที่มนุษย์บางคนแทบจะไม่ได้เดินเลยในแต่ละวัน นั่งรถ นั่งทำงาน กลับบ้าน ทานข้าว แล้วเข้านอน ทั้ง ๆ ที่บางคนอาจจะพึ่งกินพิซซ่ากับไอศกรีมมาด้วยซ้ำ 

            สุดท้ายมันจึงทำให้เราอ้วนมากขึ้น ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือเรายังไม่ลดความอ้วนด้วยทั้ง ๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าความอ้วนทำให้เป็นอันตรายอย่างมากในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่นเดียวกับการดื่มเหล้า กับสูบบุหรี่มาก ๆ ซึ่งไม่ใช่ว่าพวกเขาเหล่านั้นคิดไม่ได้ แต่ในบางกรณีมันอาจจะเป็นเพราะยีนของเขามันทำให้ บุหรี่  สุรา หรือการพนัน เป็นสิ่งเร้าที่เข้มข้นกว่าคนทั่วไป คนบางคนเพียงแค่ลองสูบบุหรี่ก็ไอจนสำลักเกือบตายก็มี คนบางคนเล่นการพนันแล้วได้ความสุขจนไม่สามารถเลิกเล่นได้เลยก็มีเช่นกัน

            สิ่งเร้าแต่ละคนมีความเข้มข้นไม่เท่ากัน ดังนั้นการจะเป็นการดีมากที่เราไม่ควรไปตัดสินใครว่าสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือเล่นการพนัน ว่าเป็นคนไม่ดีเพราะเรามีความแตกต่างกัน ไม่ใช่เพียงแค่บุคลิกภาพ รูปร่างหน้าตา แต่ยังเป็นประสบการณ์ในอดีต และพันธุกรรม นอกจากนั้นแล้วสิ่งแวดล้อมก็มีสิ่งเร้าจำนวนมากที่มีอิทธิพลทำให้เราตอบสนองอย่างรวดเร็ว และตามมาด้วยพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

            ยกตัวอย่างเช่น ทอมกำลังควบคุมน้ำหนักและตอบตกลงไปงานเลี้ยงอาคารค่ำเพื่อเจรจาธุรกิจโดยคิดว่าจะสามารถบังคับตัวเองให้ดื่มไวน์เพียงหนึ่งแก้วแล้วไม่กินของหวานได้ แต่เมื่อเจ้าภาพสั่งไวน์ขวดที่สองและบริกรเข็นรถของหวานเข้ามาให้เลือก ความแน่วแน่ที่ตั้งใจไว้ก็พังไม่เป็นท่า ก็เหมือนกับเวลาที่เราจะไปดื่มเหล้าทั้ง ๆ ที่พรุ่งนี้มีงานสำคัญนั้นแหละครับ สรุปเราก็เมาค้างไปในวันรุ่งขึ้นตามระเบียบ

            ดังนั้นไม่ใช้เพียง ประสบการณ์ในอดีต ยีน (พันธุกรรม) ที่ทำให้สิ่งเร้าบางอย่างมันเข้มข้นขึ้น แต่ยังเป็นสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เราตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นอย่างรุนแรง ยกตัวอย่างเพิ่มเติมเวลาที่เราไปรับประทานอาหารบางร้านที่เปิดเพลงสนุก เพลงเร็ว เน้นสีในร้านให้ออกสีโทนร้อน เช่น แดง เหลือง ก็ทำให้เรารับประทานอาหารอย่างรวดเร็วมากขึ้น เพื่อที่ร้านค้าจะดึงคนเข้าออกอย่างรวดเร็ว ในขณะที่บางร้านใช้เพลงแบบผ่อนคลายเพื่อให้เรานั่งในร้านนานขึ้น

            กลับมาที่ยูลิสซีสผู้สามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ เพราะเขาประเมินสิ่งเร้าอย่างเสียงไซเรนได้อย่างดี จึงหาทางป้องกันเอาไว้ ในขณะที่คนทั่วไปประเมินสิ่งเร้าต่ำเกินไป ริชาร์ด ธาเลอร์ (Richard Thaler) และ แคส ซันสตีน (Cass Sunstein) ผู้เขียนหนังสือ Nudge ได้เขียนถึง จอร์จ โลเวนสไตน์ (George Loewenstein) นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม จอร์จเรียกปรากฎการณ์เช่นนี้ว่า "ช่องว่างระหว่างภาวะปกติกับภาวะเร่าร้อน (Hot-cold empathy gap) 

            เราไม่มีทางรู้ว่าความปรารถนาและพฤติกรรมของตัวเองจะผิดแผกไปมากแค่ไหนเมื่ออยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งเร้า และไม่ได้คาดคิดว่าสิ่งแวดล้อมจะมีผลต่อพฤติกรรมของเราอย่างไรบ้าง เหมือนกับตัวอย่างทอมที่ผมยกมานั้นแหละครับ ทอมมีความตั้งใจแน่วแน่ แต่เมื่อไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้าที่พร้อมจะทำลายความตั้งใจนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเห็นคนเต็มห้องดื่มไวน์ รับประทานของหวานกันอย่างอร่อย บรรยากาศความสนุกสนาน หรือแม้แต่ความน่าเบื่อของงานเลี้ยงก็อาจจะกระตุ้นให้เราดื่มไวน์เยอะได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของแต่ละบุคคลด้วย

            ดังนั้นแนวทางที่เราจะทำสิ่งต่าง ๆ ที่ระบบ 2 พิจารณาไตร่ตรองว่าเป็นสิ่งดีต่ออนาคตตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการออมเงิน การเลิกสูบบุหรี่ การลดหรือเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ คือการควบคุมสิ่งเร้า และพฤติกรรม แน่นอนว่าเปลี่ยนตัวเอง (พฤติกรรม) มันง่ายกว่าจริง ๆ แต่มันก็อาจจะเกิดความผิดพลาดเหมือนกับที่ทอมตั้งใจจะไม่ดื่มไวน์กับของหวาน หรือนักเดินเรือหลายคนในตำนานต้องพลาดท่าหลงฟังเสียงของไซเรนจนเดินเรือไปสู่หายนะ เพราะอย่างที่ผมนำเสนอไว้ข้างต้น ระบบ 1 หรือสัญชาตญาณของเรามันผลักดันให้เราตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้น ๆ ซึ่งแต่ละคนจะตอบสนองไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับพันธุกรรม ประสบการณ์ในอดีต นิสัย ฯลฯ
มันจึงเป็นเรื่องที่ฉลาดหากเราสามารถควบคุมสิ่งเร้าเพื่อลดการตอบสนองที่จะตามมาด้วยพฤติกรรมที่เราไม่พึงประสงค์ เหมือนกับที่ยูลิสซีสผูกตัวเองไว้กับเสากระโดงเรือ 
            ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทอมรู้ว่าไปงานเลี้ยงแล้วจะต้องรับประทานไวน์และของหวานเยอะ ทอมก็ไม่ควรจะไปงานเลี้ยงบ่อยครั้งจนเกินไป เพื่อที่จะสามารถควบคุมน้ำหนักได้ หรือหากเราต้องไปฉลองกับแฟนบ่อย ก็ควรจะไปกินอาหารตามสั่งแทนที่จะเป็นบุฟเฟ่ เหมือนกับสนามบิน Schipolในเมือง Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ แก้ปัญหาสุภาพบุรุษยืนปัสสวะกระเส็นออกมานอกโถ โดยการติดสติ๊กเกอร์แมลงวันขนาดเล็กเอาไว้ทุกโถในสนามบิน ทำให้ลดการกระเส็นถึง 80% ส่งผลให้สนามบิน Schipol สามารถลดภาระและค่าใช้จ่ายในการจ้างคนมาทำความสะอาดได้อย่างมหาศาลต่อปี 

            เราสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองได้  เราไม่จำเป็นต้องหาตัวกระตุ้น หรือมีคนที่มีอิทธิพลมาบอกให้เราทำด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น หากเราจะปรับนิสัยการกินของเรา เราจะต้องทำให้ตู้เย็นของเราโล่งจนไม่สามารถหยิบอะไรมากินได้ หรือหากเราอยากจะเป็นนักอ่าน เราก็ตั้งหนังสือเอาไว้ที่ตาเห็นบ่อย ๆ เช่นโต๊ะทำงาน บนที่นอน หรือการที่เราเอาสมาร์ทโฟนออกไปให้ไกลที่สุดก่อนนอน ก็สามารถช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอนได้ 

สรุป

            สิ่งเร้าประกอบไปด้วยสิ่งเร้าภายใน เช่น การไหลเวียนของเลือด ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ฯลฯ ส่วนสิ่งเร้าภายนอกคือ สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวเราที่มาเร้าให้เราเกิดการตอบสนอง และตามมาด้วยพฤติกรรม ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารที่ใช้สีแดงกระตุ้นให้เรารับประทานอาหารเร็วขึ้น เสียงเพลงที่มีทำนองสนุก ทำให้เราเดินจับจ่ายใช้สอยอย่างเพลิดเพลิน หรือการจะดื่มและรับประทานมากขึ้นเมื่อเราไปงานเลี้ยงที่สนุกหรือน่าเบื่อ แม้จะตั้งใจว่าจะลดความน้ำหนักก็ตาม

            ระบบที่ 1 หรือสัญชาตญาณเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต ในขณะที่ระบบ 2 หรือการคิดไตร่ตรอง เป็นจอมวางแผนที่ขี้เกียจ จึงปล่อยให้ขาลุยอย่างระบบที่ 1 ควบคุมทุกอย่างแทน ทำให้การดำเนินชีวิตก็เราส่วนใหญ่เป็นไปตามสัญชาตญาณส่งผลให้เราตอบสนองต่อสิ่งเร้าหลายอย่างโดยที่เราไม่รู้ตัว เห็นป้ายอาหารน่ากินก็เดินเข้าไปกินพร้อมกับถ่ายรูปด้วยถึงแม้เราจะไม่ได้หิวก็ตาม แม้หลายครั้งเราจะพยายามใช้ระบบที่ 2 มาคานอำนาจ แต่เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้าเราก็มักจะแพ้ภัยตัวเอง

            ดังนั้นเราจะต้องผูกตัวเองไว้กับเสากระโดงเรือแบบที่ยูลิสซีสทำ โดยการควบคุมสิ่งเร้าให้มากที่สุด หากอยากลดความอ้วนก็ปรับตู้เย็นของเราให้มีของจำพวกน้ำตาล น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอร์ให้น้อยลง ลดไปงานปาตี้น้อยลง ลดการฉลองด้วยการกินบุฟเฟ่และทดแทนด้วยอาหารตามสั่งแทน หรือลบ แอปพลิเคชันซื้อของออนไลน์ออกไป
ในเมื่อการควบคุมพฤติกรรมตัวเองเป็นเรื่องยาก 
ก็ลดสิ่งเร้าหรือควบคุมมันให้เกิดการตอบสนอง 
อย่างที่เราต้องการแทน
อ้างอิง

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

Thaler, R. & Sunstein, C. (2009). Nudge: Improving Decisions About Health, Wealth, and Happiness. NY: Penguin Books.

คาลอส บุญสภา. (2564). ทำอย่างไรถึงจะมีชีวิตอย่างมีความสุข (Happiness at Life). https://sircr.blogspot.com/2021/09/happiness-at-life.html

คาลอส บุญสภา. (2564). การเปลี่ยน "ความคิด" เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนตนเองได้. https://sircr.blogspot.com/2021/09/blog-post.html

ความคิดเห็น