การสนับสนุนทางจิตใจที่มองไม่เห็น (Invisible Support)

ารสนับสนุนทางจิตใจที่มองไม่เห็นมีประสิทธิภาพ 
เพราะการให้คำแนะนำโดยตรงอาจกลายเป็นการลดทอน 
ความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองของคนคนนั้น  

            มนุษย์ทุกคนต่างปรารถนาการสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราเป็นสัตว์สังคมที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ทำงานร่วมกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อการ ซึ่งวิถีทางนี้ทำให้สายพันธ์ของเราอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ งานวิจัยอันยาวนานที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแสดงให้เห็นแล้วว่าคนที่มีความสุขคือคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งในความสัมพันธ์ที่ดีนั้นก็คือการที่แต่ละคนสนับสนุน รับฟัง ระบาย และช่วยเหลือกัน เราเรียกสิ่งนี้ว่าการสนับสนุนทางจิตใจ (Support)

            แต่จริง ๆ แล้วการสนับสนุนซึ่งกันและกันไม่จำเป็นว่าจะต้องทำแบบตรงไปตรงมา เช่น การให้คำแนะนำ การชมเชย การช่วยเหลือแบบตรงไปตรงมา แต่สามารถทำได้มากกว่านั้นมหาศาลโดยที่ผู้รับอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ เรียกสิ่งนี้ว่าการสนับสนุนทางจิตใจที่มองไม่เห็น (Invisible Support) โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ (Roger Federer) เป็นนักเทนนิสที่ชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยวมากที่สุดจำนวน 20 สมัย ในช่วงที่เขายังเป็นเด็ก เขามีแม่เป็นโค้ชที่ไม่ได้สอนอะไรให้กับเขาเลย เพียงแค่เตะฟุตบอลเล่นตอนหัดเดิน

            เมื่อโตขึ้นด้วยประสบกาณ์ที่เคยเล่นกับคุณแม่ ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเล่นกีฬาเกือบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น สกี มวยปล้ำ ว่ายน้ำ สเกตบอร์ด บาสเกตบอล แฮนด์บอล เทนนิส ปิงปอง แบดมินตัน และฟุตบอล แต่สิ่งที่เขาชอบมากที่สุดก็คือกีฬาที่มีลูกบอลเป็นส่วนประกอบ โดยมีเหตุผลเพราะว่าเขาชอบเล่น พ่อแม่ไม่ได้ตั้งความหวังด้านกีฬากับเขาเลย อีกทั้งเหตุผลที่แม่เขาพาเล่นกีฬาหลาย ๆ อย่างเพราะว่าเฟเดอเรอร์เป็นเด็กที่ซนมากเวลาเขาอยู่นิ่ง ๆ จนพ่อแม่เหลือจะทน

            "เวลาตีเทนนิส เขาจะตีลูกด้วยวิธีแปลกประหลาดทุกรูปแบบ แทบจะไม่ตีแบบปกติเลย" แม่ของเขาเล่า "นั้นมันไม่สนุกเลยนักนิดสำหรับคนเป็นแม่" เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เฟเดอเรอร์สนใจกีฬาเทนนิสมากขึ้นและเริ่มลงแข่ง แม่ของเขามักจะเดินไปคุยกับเพื่อน ๆ ขณะที่ลูกตัวเองแข่ง พ่อของเขาไม่ว่าอะไรถ้าเขาอยากลงแข่ง แต่ตั้งกฎไว้ข้อเดียวว่า "อย่าโกง" ทำให้เขาไม่เคยโกงและเริ่มพัฒนาฝีมือขึ้นทุกวัน แม้ว่าฝีมือเขาจะพัฒนาจนครูสอนเทนนิสตัดสินใจเลื่อนขั้นให้เขาไปแข่งกับกลุ่มผู้เล่นที่อายุมากกว่า 

            แต่เขากลับขอย้ายกลับมาเล่นกับเพื่อนเหมือนเดิม เพราะสุดท้ายสิ่งที่สนุกที่สุดของเขาก็คือการได้ขลุกอยู่กับเพื่อนหลังเลิกเรียนเทนนิส คุยกันเรื่องดนตรี มวยปล่ำ หรือฟุตบอลต่างหาก ซึ่งกว่าเขาจะเลิกเล่นกีฬาฟุตบอลได้เพื่อมุ่งมั่นเทนนิสเพียงอย่างเดียว เด็กคนอื่นก็มีคนช่วยฝึกพัฒนาความแข็งแกร่งกันไปนานแล้ว แต่ข้อเสียเปรียบดังกล่าวก็ไม่ได้กระทบต่อเขาเลย เขาเติบโตขึ้นมาและประสบความสำเร็จจนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่เก่งที่สุดตลอดกาล อีกทั้งเขายังถือครองสถิติตำแหน่งอันดับหนึ่งของโลกติดต่อยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย

            จากประวัติย่อ ๆ ของเฟเดอเรอร์ เราจะเห็นว่าคุณพ่อ กับคุณแม่ของเขาไม่ได้สนับสนุนเขาอย่างชัดเจนถ้าเทียบกับประวัตินักกีฬาระดับโลกคนอื่นที่มีผู้ปกครองสนับสนุนตั้งแต่ยังเด็ก แต่ตรงกันข้ามกับโรเจอร์ ในช่วงที่เขาเป็นวัยรุ่นเฟเดอเรอร์ชอบเล่นซนและตีลูกด้วยวิธีแปลก ๆ จนพ่อแม่ของเขาต้องคอยรั่งไม่ให้เขาเล่นไปมากกว่านี้ แต่ด้วยความรักเขาจึงได้รับอิสระในการฝึกฝนและลงแข่งมากขึ้น กล่าวคือ พ่อกับแม่ของเฟเดอเรอร์ให้การสนับสนุนที่มองไม่เห็นแก่เขา ไม่ว่าเขาจะเล่นกีฬาอะไรก็ตาม

            ทักษะเหล่านั้นมันได้หล่อหลอมให้เขาพัฒนาศักยภาพทางด้านเทนนิสให้เด่นจนกลายเป็นระดับโลก เขายกความดีให้กับความชอบกีฬาทั้งหลายที่เคยเล่น ไม่ว่าจะเป็น แฮนด์บอล ปิงปอง แบดมินตัน ฟุตบอล ว่ายน้ำ สเกตบอร์ด บาสเกตบอล ฯลฯ ว่ามีส่วนทำให้เขาพัฒนาความสามารถทางร่างกายและตากับมือทำงานประสานกันได้ดีเลิศ ซึ่งส่งผลให้เขาถือครองสถิติมือหนึ่งของโลกอย่างยาวนาน 

ทั้งหมดนั้นเป็นผลจากการสนับสนุนทางจิตใจที่มองไม่เห็นที่คอยผลักดันเราแบบไม่รู้ตัว

การสนับสนุนทางจิตใจที่มองไม่เห็น

            ในปลายทศวรรษ 1990 ไนอัลล์ โบลเจอร์ (Niall Bolger) และคณะวิจัยของเขาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ทำการศึกษาโดยใช้การสอบเนติบัณฑิตของรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นลักษณะการสอบที่ยากอย่างมากในหมู่นักกฎหมายและคู่ชีวิตของพวกเขาจะรู้กันดีว่าการสอบนี้มันชั่งแสนทรหดขนาดไหน มันเป็นการสอบที่ส่งผลถึงอารมณ์อย่างรุนแรง ทำให้เกิดเสียงพล่ามในใจ แต่การทดลองนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสอบ แต่ให้ความสำคัญไปที่ความยากของมัน และลักษณะการให้ความช่วยเหลือของคู่ชีวิต

            ในการวิจัยนี้โบลเจอร์เปิดรับสมัครผู้เข้ารับการสอบและคู่ชีวิตของพวกเขาจำนวนหลายคู่ เพื่อทำการศึกษาว่าความช่วยเหลือแบบไหนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด หลังจากการทำการทดลองไปได้เดือนกว่า ๆ โบลเจอร์ขอให้ผู้เข้ารับการสอบตอบคำถามชุดหนึ่งเพื่อวัดระดับความกังวลและความเครียดของพวกเขา และถามถึงแรงสนับสนุนที่พวกเขาได้รับจากคู่รัก โบลเจอร์ยังให้คู่ครองของผู้เข้าสอบตอบแบบสอบถามด้วยว่าพวกเขาได้สนับสนุนผู้เข้าสอบอย่างไรบ้าง 

            สิ่งที่โบลเจอร์ค้นพบในการทดลองนี้ก็คือ การช่วยโดยที่ผู้ได้รับการช่วยเหลือไม่รู้ตัวหรือปรากฎการณ์ที่เรียกว่า อินวิซิเบิล ซัพพอร์ต (Invisible Support) หรือการสนับสนุนทางจิตใจที่มองไม่เห็น เป็นสูตรในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนคนอื่น โดยไม่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ด้วยตัวเอง การช่วยเหลือทางอ้อมเช่นนี้จึงทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองรู้สึกหดหู่น้อยลง ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การเก็บกวดบ้าน หรือสร้างบรรยากาศที่สงบภายในบ้านเพื่อผู้เข้าสอบมีสมาธิจดจ่อกับการสอบ หรืออาจจะเป็นคำแนะนำที่เปิดมุมมองหลากหลายให้พวกเขาโดยไม่ได้เจาะจงไปที่เนื้อหาของปัญหาโดยตรง

            หรืออาจจะเป็นการทำให้เขารู้สึกว่าปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนอีกหลาย ๆ คน โดยการพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาของบุคคลนั้น ๆ ที่เผชิญกับปัญหาในรูปแบบคล้ายกัน วิธีการเหล่านี้จะทำให้คนที่เราต้องการให้ความช่วยเหลือมีข้อมูลและมีกำลังใจมากขึ้น โดยไม่ทำให้ข้อบกพร่องที่เขาไม่อยากเปิดเผยกลายเป็นจุดสนใจขึ้นมา ซึ่งวิธีดังกล่าวใช้กันมากในการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา เพราะนักจิตวิทยาจะไม่ให้คำแนะนำโดยตรงต่อผู้รับคำปรึกษา แต่จะช่วยเหลือให้เขาสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง 

            ในหนังสือ Chatter ที่เขียนโดย อีธาน ครอสส์ (Ethan Kross) อาจารย์และนักจิตวิทยาชื่อดังได้พูดการให้ความช่วยเหลือโดยตรงแบบรู้ตัวอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดถ้าเทียบกับการสนับสนุนทางจิตใจที่มองไม่เห็น เพราะมันส่งผลให้เราลดความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง (Self-efficacy) มันคือความเชื่อว่าตัวเราสามารถจัดการอุปสรรคได้หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้สึกในแง่บวกต่อตัวเอง 

            เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งแปลกอะไรเพราะเราทุกคนอยากจะรู้สึกมีคุณค่าหรือมีความสำคัญ การที่คนอื่นมาช่วยเหลือเราโดยตรง มันย่อมลดอัตราของเราลงโดยอัตโนมัติรวมไปถึงความภาคภูมิใจในตัวเองก็จะลดลงไปด้วย หรือสามารถอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นว่า เวลาเรารู้สึกว่ามีคนพยายามช่วยเรา แต่เรายังไม่ได้ร้องขอ เรามักจะแปลเจตนาว่าคนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออาจมองว่าเราไม่มีศักยภาพพอที่จัดการตัวเอง หรือไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพความรู้สึกนี้อาจกลายเป็นเสียงในหัวที่ติดตรึงอยู่ในนั้นไปอีกนาน

            จากการวิจัยทางด้านจิตวิทยาเรื่องความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองซึ่งศึกษากันมายาวนาน แสดงให้เห็นว่า หากมันสั่นคลอนจะไม่เพียงแต่ทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองลดลงเท่านั้น แต่ยังทำลายสุขภาพ ความสามารถในการตัดสินใจ และความสัมพันธ์ของเราอีกด้วย ดังนั้นการได้รับการสนับสนุนทางจิตใจที่มองไม่เห็น จะเป็นการรักษาความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองเอาไว้ซึ่งจะส่งผลถึงทั้งสุขภาพ จิตใจ และความสัมพันธ์อีกด้วย

            นอกจากนั้นยังมีการศึกษาหนึ่งที่เกี่ยวกับชีวิตแต่งงานที่ได้ผลลัพธ์ออกมาว่า การได้รับการสนับสนุนทางจิตใจที่มองไม่เห็น (Invisible Support) ทำให้คู่แต่งงานพึงพอใจกับชีวิตคู่ของพวกเขามากขึ้น เพียงแค่หนึ่งวันเท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนดังกล่าว ส่วนมีอีกการทดลองที่พบว่าคนจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาตัวเองมากขึ้น หากพวกเขาไม่รู้ตัวว่าคู่รักของตนแอบสนับสนุนอยู่ 

            อีธาน ครอสส์ (Ethan Kross) เสนอว่า การสนับสนุนทางจิตใจแบบมองไม่เห็นจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กำลังถูกประเมิน หรือกำลังเตรียมตัวก่อนโดนประเมิน เช่น ช่วงอ่านหนังสือเตรียมสอบ เตรียมตัวสัมภาษณ์งาน หรือซ้อมพรีเซ้นต์งาน กล่าวคือเป็นสถานการณ์ที่เรารู้สึกกังวลและไม่มั่นคงมากที่สุด เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เรามีความเปราะบางทางอารมณ์สูงที่สุด 

            เวลาที่เราอยู่ในสภาพที่มีความเปราะบางหรือไม่มั่นคง ตัวเราจะลดความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง (Self-efficacy) ลง เพราะว่าฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายจะทำงานผิดปกติเวลาที่เราเครียดหรือวิตกกังวล เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอลที่จะหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อเราเกิดความเครียด กระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจะทำให้เรารู้สึกแตกต่างกับสถานการณ์ปกติที่ไม่ได้เครียดหรือกังวลมากนัก และหากเราได้รับคำแนะนำโดยตรงเมื่ออยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ความเชื่อมั่นของเราก็จะลดลงตามไปด้วย หรืออาจจะต้องใช้เวลานานกว่าความเชื่อมั่นจะกลับขึ้นมาได้

ในทางกลับกันหากเราสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ด้วยตัวเอง เราก็จะได้รับความเชื่อมั่นกลับคืนมา

โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ได้รับการสนับสนุนทางจิตใจที่มองไม่เห็นอย่างไร

            ย้อนกลับมาที่ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ (Roger Federer) เขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวโดยตรง ไม่ได้มีคำแนะนำหรือวิธีการแก้ปัญหาเมื่อเขาเล่นกีฬาต่าง ๆ  แต่ครอบครัวของเขาสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีโดยที่พวกเขาก็ไม่รู้ตัวเหมือนกัน กล่าวคือพวกเขาให้อิสระเฟเดอเรอร์ได้เล่นกีฬาอะไรก็ได้ อะไรก็ได้ที่เขาชอบ แม้เขาจะเล่นกีฬาต่าง ๆ ด้วยวิธีแปลก ๆ และไม่ได้ตั้งเป้าหมายอยากจะเอาดีทางด้านเทนนิสตั้งแต่ต้นเลยด้วยซ้ำก็ตาม

            ครอบครัวของเขาก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองสนับสนุนทางด้านจิตใจแก่ลูก พวกเขาเพียงแค่รักลูกและให้อิสระกับเขา ให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งกลายเป็นผลดีอย่างมากในการเลี้ยงลูก เพราะหากเด็กได้อิสระในการลองผิดลองถูก ได้ลองพยายาม ค้นคว้า ทดลอง พัฒนาตัวเอง เป็นสิ่งที่จะทำให้เขาเติบโตไปในทิศทางที่ดี ดีน คีท ไซมอนตัน (Dean Keith Simonton) นักจิตวิทยาและนักวิจัยด้านความคิดสร้างสรรค์คนสำคัญตั้งข้อสังเกตว่า "แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับหัวข้อแคบ ๆ ผู้ประสบความสำเร็จด้านความคิดสร้างสรรค์ต่างสนใจในเรื่องกว้างขวาง บ่อยครั้งความกว้างนี้ช่วยให้เกิดความรู้ที่ไม่อาจรู้ได้ในความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพียงอย่างเดียว"

            อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ผู้เขียนหนังสือ Originals ได้อธิบายถึงงานวิจัยที่พบว่าในช่วงอายุ 2-10 ขวบว่า เด็กจะถูกพ่อแม่เร่งเร้าให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทุก 6-9 นาที ดังที่มาร์ติน ฮอฟฟ์แมน (Martin Hoffman) นักจิตวิทยาพัฒนาการที่มีชื่อเสียงได้สรุปไว้ว่า "นี่เท่ากับเด็กจะโดนอบรมประมาณ 50 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า 15,000 ครั้งต่อปีทีเดียว" อีกทั้งยังมีการศึกษาว่าพ่อแม่ของเด็กทั่วไปวางกฎระเบียบโดยเฉลี่ย 6 ข้อ เช่น ตารางเวลาสำหรับทำการบ้าน และตารางเวลาเข้านอน ในขณะที่พ่อแม่ของเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างสูงจะวางกฎระเบียบโดยเฉลี่ยน้อยกว่าหนึ่งข้อเท่านั้น

            จากการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้น จะแสดงให้เห็นว่าการให้อิสระโดยมีกฎระเบียบเพื่อตีกรอบให้น้อยที่สุด จะทำให้เด็กโตขึ้นมาอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่พ่อแม่เข้มงวดจะตีกรอบลูกจนเขาไม่สามารถแสดงออกเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวเองได้เลย  ผู้อ่านจะเห็นว่าพ่อแม่ของเฟเดอเรอร์ ไม่บังคับ ไม่ตีกรอบ ปล่อยให้เขาได้เลือกสิ่งที่ลูกชอบ อยากจะเล่นอะไรก็เล่น อยากจะเล่นวิธีไหนก็ได้ นั้นคือการสนับสนุนทางจิตใจที่มองไม่เห็น (Invisible Support) ที่โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ได้รับและเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นนักเทนนิสที่ถือครองสถิติมือหนึ่งของโลกอย่างยาวนาน

เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง

            ข้อที่ 1 เวลาที่เราจะช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำใครก็ตามในสถานการณ์ที่เขากำลังเผชิญกับสภาวะกดดัน เครียด กังวล เราสามารถให้กำลังใจ รับฟัง ใช้มือสัมผัสเบา ๆ เพื่อสนับสนุนแบบมองไม่เห็นแก่เขา และนอกจากเราจะรับฟังแล้วเรายังสามารถถามคำถามที่จะทำให้เขาเกิดการตระหนักรู้และวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น "ที่ผ่านมาเคยเจอเรื่องเครียด ๆ แล้วคุณแก้ปัญหาอย่างไร" หรือ "ลองคิดวิธีแก้ปัญหาออกมาให้ดูหน่อยสิว่าคิดได้กี่วิธี" การตั้งคำถามเหล่านี้จะกระตุ้นให้เขาฉุกคิด และสามารถคิดวิธีการแก้ไขปัญหาออกมาได้ด้วยตัวของเขาเอง

            ข้อที่ 2 เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนที่กำลังเผชิญกับความกดดันสบายใจมากขึ้น เช่น เปิดเพลงที่เขาชอบหรือเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย อาหารที่เขาชอบ บ้านที่สะอาด เครื่องดื่มเย็น ๆ หวาน ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย และสามารถกระตุ้นให้เขาสามารถกลับมาอยู่ในสภาวะปกติได้ นอกจากนั้นการทำบ้าน สำนักงาน หรือห้องพักให้สะอาดมากขึ้น มีกลิ่นหอมมากขึ้น ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

            ข้อที่ 3 ในเมื่อบุคคลอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย เขาจะลดความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง (Self-efficacy) ลง เราจึงต้องปรับสภาพแวดล้อมให้สร้างความกดดันน้อยที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การสร้างวัฒนธรรมองค์กร หรือวัฒนธรรมของทีมงานที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ ทุกคนสามารถนำเสนอความคิดเห็น มีอิสระสามารถสื่อสาร หรือพูดอะไรออกมาก็ได้ หรือการสร้างสภาพแวดล้อมในครอบครัวที่ลดความกดดัน ให้อิสระในอนาคตของลูกที่จะเติบโตในทิศทางที่เขาชอบ ไม่บังคับหรือกดดันโดยไม่จำเป็น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

            ทั้ง 3 ข้อจะเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนให้บุคคลสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งสัมพันธภาพที่ดีคือกุญแจแห่งความสุข เราสามารถมอบสิ่งดี ๆ กับผู้อื่นได้โดยการสนับสนุนทางจิตใจที่มองไม่เห็น ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่ามีประสิทธิภาพอย่างมาก ในสภาวะที่อีกฝ่ายกำลังรู้สึกเครียด กดดัน หรือไม่สบายใจ แต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่เราทุกคนจำเป็นต้องมีก็คือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ (Empathy) เพราะหากเราขาดซึ่งความรู้สึกดังกล่าว ความช่วยเหลือไม่ว่าจะโดยตรงหรือแบบที่ไม่มองไม่เห็นก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน 

ดังนั้นความเห็นอกเห็นใจจะเป็นตัวแปรสำคัญ 
ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีงาม เต็มไปด้วยความสุข 
และสร้างการสนับสนุนทางจิตใจต่อกันและกันให้เกิดขึ้นได้

อ้างอิง

Bolger, N., Zuckerman, A. & Kessler, C. (2000). Invisible support and Adjustment to stress Journal of Personality and Social Psychology, 79(6), 953–961. https://doi.org/10.1037/0022-3514.79.6.953

Epstein, D. (2019). Range: Why Generalists Triumph in a Specialized World. NY: Riverhead Books.

Grant, A. (2017). Originals: How Non-Conformists Move the World. NY: Penguin.

Kross, E. (2021). Chatter: The Voice in Your Head, Why It Matters, and How to Harness It. NY: Crown.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ข้อเสียของการเลี้ยงลูกแบบเข้มงวด (Strict). https://sircr.blogspot.com/2021/06/strict.html

ความคิดเห็น