เข้าใจ ข่าวปลอม (Fake News) เพื่อดำเนินชีวิตอย่างรู้เท่าทัน

"คำโกหกที่พูดหนึ่งครั้งจะเป็นเพียงคำโกหก 
แต่คำโกหกที่พูดพันครั้งจะกลายเป็นความจริง"

            ในปัจจุบันมีคำศัพท์คำหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากเป็นอันดับต้น ๆ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา-19  และประเด็นทางด้านการเมือง ซึ่งเรียกคำนี้ว่า "ข่าวลวง" หรือ "ข่าวปลอม" ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Fake News โดยในบทความนี้ผมจะขอใช้คำว่า "ข่าวปลอม" ครับ

            คำนี้ถูกพูดถึงและโด่งมากที่สุดตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) และ ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) เป็นการแข่งขันที่เต็มไปด้วยข่าวปลอมจำนวนมาก และมีผลต่อคะแนนการเลือกตั้ง ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาไปในท้ายที่สุด 

            ข่าวปลอม (Fake News) คือข่าวที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งอาจจะมีระดับจริงเพียงเล็กน้อยไปจนถึงไม่จริงเลย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสับสน ความตื่นตระหนักในสังคม ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 2016 ในระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา มีข่าวปลอมที่ระบุว่า ฮิลลารี คลินตัน ควบคุมเครือข่ายค้ามนุษย์โดยกักขังเด็ก ๆ ไว้เป็นทาสค้ากามที่ชั้นใต้ดินของร้านพิซซ่าที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ซึ่งข่าวปลอมนี้มีชาวอเมริกันมากพอที่เชื่อเรื่องนี้จนเป็นผลร้ายต่อแคมเปญเลือกตั้งของคลินตัน และมีประชาชนคนหนึ่งถึงกับพกปืนไปที่ร้านขายพิซซ่าดังกล่าวเพื่อเรียกร้องของดูชั้นใต้ดิน ทั้ง ๆ ที่ร้านนั้นไม่มีชั้นใต้ดินเลยด้วยซ้ำ

            บทความนี้ผมจึงเขียนมาเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจข่าวปลอม (Fake News) มากขึ้น โดยเราจะต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่สิ่งที่พึ่งเกิดขึ้นมาในปัจจุบันที่มีสื่อสังคมออนไลน์ (Social Medias) เท่านั้น แต่ข่าวปลอมคือสิ่งที่เกิดขึ้นมานานตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งบทความนี้จะสามารถช่วยให้เราทุกคนรู้เท่าทันว่าไม่ใช่เพียงแค่ข่าวปลอมเกี่ยวกับการเมืองหรือข่าวโควิด-19 ในปัจจุบันเท่านั้น แต่มันสามารถเป็นเรื่องราวความเชื่อต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรามาตั้งนานแล้ว โดยที่เราก็ไม่รู้ตัวว่า "นั้นหรอคือข่าวปลอม"

การเปลี่ยนข่าวปลอมให้เป็นความจริง

            ทุกคนอาจจะคิดว่าข่าวปลอมคือสิ่งที่พึ่งเกิดขึ้นมา แต่จริง ๆ แล้วมันเกิดขึ้นมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติอย่างที่ได้กล่าวไปเบื่องต้น ไม่ว่าจะเป็นตำนาน ความเชื่อ เรื่องผี ๆ ไปจนถึงภาพลักษณ์ของผู้ปกครอง โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น ภาพลักษณ์ของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำของรัฐเซีย ซึ่งในสมัยนั้นใช้ชื่อว่า สหภาพโซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

            ฝ่ายรัฐบาลของโซเวียตจำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์สตาลินให้เป็นที่ยอมรับ เคารพ นับถือ จึงได้ถ่ายรูปภาพเขากำลังยิ้มและอุ้ม เกลยา มาร์คิโซวา เด็กหญิงวัย 7 ขวบ ภาพดังกล่าวกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้นิยมสตาลิน ซึ่งถูกเผยแพร่พิมพ์ออกเป็นโปสเตอร์ รูปปั้น และวิธีการอื่นอีกเป็นล้าน ๆ ชุดเพื่อนำไปแสดงตามองค์กรและสถานที่สาธารณะทั่วสหภาพโซเวียต รวมไปถึงหนังสือเรียนที่สอนในโรงเรียนด้วย

แต่ความจริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกับเด็กหญิงมาร์คิโซวาวัย 7 ควบ 

            ภายในปีเดียวพ่อของเธอก็ถูกจับกุมด้วยข้อหาว่าเป็นสายลับญี่ปุ่นและเป็นผู้ก่อการร้าย ทำให้เขาถูกประหารในปี ค.ศ. 1938 ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในเหยื่อนับล้าน ๆ ชีวิต ที่เป็นภัยต่อลัทธินิยมสตาลิน เกลยาและคุณแม่ของเธอจึงได้ถูกเนรเทศไปคาซัคสถาน เคาะร้ายไปกว่านั้นคุณแม่ของเธอเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นานภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ดูน่าสงสัย นับตั้งแต่นั้นเกลยา มาร์คิโซวา ก็หายสาบสูญไปตลอดกาล ที่น่าเศร้าก็คือรูปปั้นและภาพโปสเตอร์ยังคงอยู่ แต่ได้เปลี่ยนชื่อจากเกลยาเป็นเด็กผู้หญิงคนอื่นแทน และหากใครมีข้อสงสัยก็จะถูกต่อต้านทันที

            กระบวนการดังกล่าวเรียกว่า โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เป็นรูปแบบการสื่อสารอย่างหนึ่งซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อโน้มน้าวจูงใจผู้รับฟัง และเพื่อผลักดันเป้าหมายบางอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเมือง มันไม่ได้ต่างอะไรจากข่าวปลอม (Fake News) เลยด้วยซ้ำ เพราะการโฆษณาชวนเชื่อจะสร้างเรื่องราวหรือภาพลักษณ์บางอย่างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการโน้มน้าวจูงใจในขณะที่ข่าวปลอมมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลายกว่า ซึ่งในหนังสือ 21 lessons for the 21st century ผู้เขียน ยูวาล โนอา ฮารารี่  (Yuval Noah Harari) ได้เล่าถึง โยเซฟ เกิบเบิลส์ ผู้ชำนาญการโฆษณาชวนเชื่อของนาซี

            โดยเกิบเบิลส์ ได้ระบุว่า "คำโกหกที่พูดหนึ่งครั้งจะเป็นเพียงคำโกหก แต่คำโกหกที่พูดพันครั้งจะกลายเป็นความจริง" ซึ่งจากตัวอย่างการสร้างภาพลักษณ์ของสตาลินที่ผมได้ยกขึ้นมาเป็นหลักฐานอย่างชัดเจน เพราะกระบวนการของโซเวียตในยุคนั้นคือการโฆษณาชวนเชื่อในทุกช่องทางเท่าที่ทำได้ มันจึงเป็นการโกหกเป็นพันเป็นหมื่นครั้งนั้นเอง อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ Adolf Hitler เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ซึ่งเขาได้เขียนในหนังสือ ไมน์ คัมพฟ์ (Mein Kampf) หรือ "การต่อสู้ของข้าพเจ้า" เป็นหนังสือที่ใช้กันในวงวิชาการ

            ฮิตเลอร์เขียนว่า "เทคนิคการชวนเชื่อที่ยอดเยี่ยมที่สุดจะไม่ได้ผลเลยถ้าปราศจากหลักการพื้นฐานซึ่งต้องจดจำในใจอย่างแน่วแน่ ต้องจำกัดให้มีเพียงไม่กี่ประเด็น และพูดย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า" กล่าวคือ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะต้องเรียบง่ายแล้วย้ำบ่อย ๆ สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงการเมืองอย่างเดียว แต่ถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ด้วย โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์มักจะเล่าเรื่องเดิมซ้ำ ๆ จนกระทั่งผู้คนถูกกล่อมว่านั่นคือความจริง ทั้ง ๆ ที่ในหลายกรณีจะขัดแย้งกันก็ตาม 

            ยูวาล โนอา ฮารารี่ (Yuval Noah Harari) ยกตัวอย่างบริษัทโคคา-โคล่า (Coca-Cola) ที่เป็นเครื่องดื่มมีน้ำตาลมีน้ำตาลในปริมาณสูงและไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะสามารถทำให้เป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้หากดื่มในปริมาณมาก ๆ  แต่คคา-โคล่ากลับลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในการเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับความหนุ่มสาว สุขภาพ และกีฬา ทำให้ผู้คนนับพันล้านคนเชื่อความเชื่อมโยงอย่างดังกล่าวอย่าไม่สมเหตุสมผลโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ก็มีความเชื่อมโยงมากมายทางธุรกิจที่มักจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ (ขัดแย้งกันเอง)

ข่าวปลอมสามารถทำร้ายเราได้อย่างไรบ้าง

            ผู้อ่านจะเห็นว่าข่าวปลอม (Fake News) สามารถสร้างพลังอำนาจให้กับผู้ผลิตได้ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเมือง หรือกรณีทางธุรกิจ แต่หลายครั้งข่าวปลอมที่บิดเบือนความจริงมากจนเกินไปจะทำให้เราเกิดอันตรายได้ ยกตัวอย่างเมื่อสองพันปีก่อน มีการกบฏครั้งใหญ่ของชาวยิวที่ต่อต้านโรมัน พวกเขามีความเชื่อมั่นอันแรงกล้าว่าพระเจ้าจะต่อสู้เพื่อชาวยิวและช่วยพวกเขาเอาชนะจักรวรรดิโรมันที่ดูในตอนนั้นแข่งแกร่งอย่างมาก (ไม่ต่างอะไรกับเอาปืนไปสู้กับรถถัง) ซึ่งสุดท้ายก็ล้มเหลวและนำไปสู่การทำลายกรุงเยรูซาเลมและการเนรเทศชาวยิวในท้ายที่สุด

            กลับมาในปัจจุบันผู้อ่านจะเห็นตัวอย่างมากมายของข่าวปลอมที่สามารถทำให้เราเป็นอันตรายได้หากเราเชื่อจนสนิทใจ ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่ว่า วัคซีน = พิษ ทำให้คนจำนวนมากมายบนโลกโดยเฉพาะประเทศทางตะวันตกปฏิเสธการฉีดวัคซีนไม่เพียงแต่โควิด-19 เท่านั้นแต่วัคซีนอื่น ๆ ด้วย เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะทำให้คนกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรครุนแรงได้ หรือ ข่าวลวงเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาเป็นคนปล่อยเชื้อโควิด-19 ออกมา ซึ่งข่าวปลอมนี้ถูกสร้างออกมาจากความเกลียดชังสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นยังมีข่าวปลอมอีกมากมายที่คนจำนวนมากต่างหลงเชื่อกันอยู่ทุกวันนี้

            เหตุผลที่ข่าวปลอมมีประสิทธิภาพสูงตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ยูวาล โนอา ฮารารี่ (Yuval Noah Harari) ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะมนุษย์ชื่นชมอำนาจมากกว่าความจริง เราใช้เวลาและความพยายามไปมากกับการควบคุมโลกมากกว่าการพยายามเข้าใจโลก และถึงแม้เราจะพยายามเข้าใจแล้ว เราก็มักทำไปด้วยความหวังว่า สิ่งที่เราเข้าใจโลกจะสามารถทำให้เราควบคุมโลกได้ง่ายขึ้น ดังนั้นหากเรายังฝันถึงสังคมที่ความจริงเป็นใหญ่มากที่สุด และตำนานปลอม ๆ ถูกมองข้าม 

เราก็คาดหวังกับมนุษย์ได้น้อยมากจริง ๆ 

            ลองนึกถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ข่วงปลอมจำนวนมากส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในปัจจุบัน ยกตัวอย่างสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ ข่าวปลอมจำนวนมากถูกผลิตออกมา เช่น วัคซีน วิธีรักษา อาการ และอื่น ๆ โดยมีจุดประสงค์ที่หลากหลาย บ้างก็เป็นความเชื่อ บ้างก็ทำเพื่อให้สับสน นอกจากนั้นยังมีสถานการณ์ทางด้านการเมืองที่มีการจงใจสร้างข่าวปลอมใส่ร้ายป้ายสีกัน เช่น นักการเมือง A ร่วมมือกับนักการเมือง B หรือนักการเมือง C วางแผนปลุกระดมประชาชนขึ้นมา โดยทั้งหมดนี้ไม่มีหลักฐานเลยแม้แต่นิด ซึ่งคนจำนวนมากก็พร้อมจะเชื่อข่าวลวงดังกล่าวเพราะมีอคติทางจิตใจอยู่แล้ว

            อย่างที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นเรื่องการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2016 ที่มีข่าวปลอมเกี่ยวกับ ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ว่าเธอได้ควบคุมเครือข่ายค้ามนุษย์โดยกักขังเด็ก ๆ ไว้เป็นทาสค้ากามที่ชั้นใต้ดินของร้านพิซซ่าที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง หรือในประเทศไทยมีข่าวปลอมที่นำเสียงของอดีตนายก ทักษิณ ชินวัตร กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักการเมืองชาวไทย มาตัดต่อเข้าด้วยกัน และถูกนำเสนอในสำนักข่าวแห่งหนึ่ง จนสุดท้ายความแตกว่าเป็นข่าวปลอม นอกจากนั้นยังมีข่าวปลอมต่าง ๆ อีกมากมายที่กำลังสร้างความเข้าใจผิดในสังคม

            ข่าวปลอม (Fake News) จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนเสพข่าวเข้าใจว่ามันเป็นความจริง โดยมีวัตถุประสงค์มากมาย บางครั้งอาจจะถูกสร้างขึ้นเพราะคนปล่อยข่าวเชื่อแบบนั้นจริง ๆ และปรารถนาดีกับคนอื่น หรือเป็นเพราะว่าเขานับถือสิ่งนี้มากจริง ๆ ก็เลยสร้างเรื่องราวให้มันยิ่งใหญ่เกินจริง หรือเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่พยายามสร้างข่าวปลอมยกย่องคณะรัฐบาลเพื่อสร้างเครดิตความชอบ หรือเป็นการใส่ร้ายนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือสุดท้ายอาจเกิดเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นเฉย ๆ กล่าวคือ ข่าวลวงมีวัตถุประสงค์ที่ไม่แน่ชัด ขึ้นอยู่กับเจตนาของฝ่ายที่ปล่อยข่าวว่าต้องการอะไร

            ดังนั้นการจะพยายามไปยับยั้งข่าวปลอมไม่ให้เกิดขึ้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะด้วยเจตนาที่แตกต่างกัน และการที่ประชาชนจำนวนมากสามารถเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารที่เผยแพร่ข่าวสารได้อย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง ผลจึงต้องตกไปที่ประชาชนผู้เสพข่าวจำเป็นต้องสละเวลาและความเพียรเพื่อเปิดเผยความลำเอียง อคติ เจตนาดังกล่าวออกมา แน่นอนว่าเราไม่สามารถตรวจสอบทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเราเองทั้งหมด แต่เราสามารถตรวจสอบแหล่งข้อมูลที่เราชอบเสพมากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งใน Facebook กลุ่ม Line หรือช่องทางอื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน 

เพราะสุดท้ายก็เป็นพวกเราเองนี้เแหละ 
ที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้น 
เพื่อจะได้รู้เท่าทันข่าวลวงที่มีอยู่มากมายจนแทบนับไม่ถ้วน 

อ่าน กลยุทธ์รับมือกับข้อมูลที่เต็มไปด้วยข่าวปลอม (Fake News) ต่อได้ในลิ้งนี้

อ้างอิง

Harari, N. Y. (2018). 21 Lessons for the 21st Century. NY: Random House.

ความคิดเห็น