กลยุทธ์รับมือกับข้อมูลที่เต็มไปด้วยข่าวปลอม (Fake News)

 การคิดอย่างมีวิจารณญาณ คือกระบวนการ 
ที่จำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะในการตัดสินใจ 
พิจารณาไตร่ตรองก่อนจะ เชื่อหรือกระทำสิ่งใด

            ข่าวปลอม (Fake News) เป็นที่รู้จักกันอย่างดี และกลายเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เราทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วเพียงแต่กระดิกนิ้วเท่านั้น จึงทำให้เกิดสื่อต่าง ๆ มากมายที่ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทใหญ่โตเหมือนในอดีต แต่เพียงแค่ประชาชนที่ใช้สื่อสารสังคมออนไลน์​เท่านั้น (Social Medias) ก็สามารถกลายเป็นสื่อได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้สื่อใหญ่ ๆ ต้องปรับตัวโดยการผลิตข่าวสารออกมาอย่างรวดเร็ว ด้วยสาเหตุทั้งหมดนี้ทำให้ข่าวต่าง ๆ ผ่านการกลั่นกลองน้อยลงไปกว่าเดิม ทำให้บางหลายครั้งมีข่าวปลอมที่ถูกผลิตขึ้นด้วยเจตนาที่แตกต่างกันออกไปหลุดออกไปได้

            ยกตัวอย่างข่าวปลอมเกี่ยวกับการเมืองที่มีการใส่ร้ายกัน หรือข่าวสถานการณ์โควิด-19 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใส่ร้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือหลายกรณีก็เป็นการสร้างข่าวปลอมด้วยการเข้าใจผิด เช่น การดื่มน้ำมะนาวรักษาโควิด-19 บ้าง อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถหยุดยั้งข่าวปลอมเหล่านี้ได้ เพราะเราไม่สามารถปิดกั้นได้ทุกช่องทาง โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ สิ่งที่เราพอจะทำได้นอกเหนือจากการที่รัฐบาลจะต้องเอาผิดกับข้อมูลข่าวปลอมที่ก่อให้เกิดความเสียหายก็คือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณต่อข่าวปลอม

            เราจะสามารถดำเนินชีวิตบนโลกที่เต็มไปด้วยข่าวปลอมได้จากการที่เราพัฒนากระบวนการคิดให้มีวิจารณญาณมากขึ้น บทความนี้ผมจึงเขียนขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักข่าวปลอมมากขึ้น  และนำเสนอกลยุทธ์ที่จะสามารถรับมือกับข่าวปลอมได้ โดยเราสามรถฝึกพัฒนากระบวนการคิดของตัวเองให้มีวิจารณญาณมากยิ่งขึ้น เพราะในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วจะนำมาซึ่ง "ปัญหา" ที่เราทุกคนจำเป็นต้องรับมืออย่างมีวิจารณญาณ

มาทำความรู้จักกับข่าวปลอม (Fake News)

            ข่าวปลอม (Fake News) คือข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงหรือมีความจริงเพียงเล็กน้อยผสมกับเรื่องเท็จ โดยมีอีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกกันก็คือ "ข่วงลวง" เป็นโฆษณาชวนเชื่อที่เผยแพร่ผ่านสิ่งตีพิมพ์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งข่าวปลอมเผยแพร่โดยมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป อาจจะมาจากความเชื่อแบบนั้นจริง ๆ และมีเจตนาที่ดี เช่น น้ำมะนาวรักษาโรค แต่โดยส่วนใหญ่แล้วข่าวปลอมจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความเสียหายกับบุคคลหรือองค์กร อย่างไรก็ตามข่าวปลอมแม้ว่าผู้ปล่อยจะมีเจตนาที่ดีหรือไม่ดี ก็สร้างความเสียกับผู้รับสื่ออยู่ดี

            ข่าวปลอมเป็นคำที่คนพึ่งจะรู้จักกันไม่นาน แต่จริง ๆ แล้วมันก็คือ โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารอย่างหนึ่งซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อโน้มน้าวฃผู้รับฟัง และเพื่อผลักดันเป้าหมายบางอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเมือง การโฆษณาชวนเชื่อจะสร้างเรื่องราวหรือภาพลักษณ์บางอย่างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการโน้มน้าวจูงใจ  ซึ่งในหนังสือ 21 lessons for the 21st century ผู้เขียน ยูวาล โนอา ฮารารี่  (Yuval Noah Harari) ได้เล่าถึง โยเซฟ เกิบเบิลส์ ผู้ชำนาญการโฆษณาชวนเชื่อของนาซี

            โดยเกิบเบิลส์ ได้ระบุว่า "คำโกหกที่พูดหนึ่งครั้งจะเป็นเพียงคำโกหก แต่คำโกหกที่พูดพันครั้งจะกลายเป็นความจริง"  สอดคล้องกับสิ่งที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ Adolf Hitler เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ซึ่งเขาได้เขียนในหนังสือ ไมน์ คัมพฟ์ (Mein Kampf) หรือ "การต่อสู้ของข้าพเจ้า" โดยฮิตเลอร์เขียนในหนังสือเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อว่า "เทคนิคการชวนเชื่อที่ยอดเยี่ยมที่สุดจะไม่ได้ผลเลยถ้าปราศจากหลักการพื้นฐานซึ่งต้องจดจำในใจอย่างแน่วแน่ ต้องจำกัดให้มีเพียงไม่กี่ประเด็น และพูดย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า

กล่าวคือ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะต้องเรียบง่ายแล้วย้ำบ่อย ๆ 

ข่าวปลอมระบาดอย่างรวดเร็วได้อย่างไร

            ข่าวปลอมจำนวนมากมักเกิดขึ้นพร้อมกับสถานการณ์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชน เช่น การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา-19 พบว่ามีข้อมูลข่าวสารจำนวนมากที่ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อนและบิดเบือนเกี่ยวกับโรคจำนวนมากผ่านเคลือข่ายสังคมออนไลน์ เพราะเป็นช่องทางที่สามารถสื่อได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถส่งข้อความทำให้ผู้คนจำนวนมากรับรู้ได้พร้อมกันทั้วโลก ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาหรือควบคุมได้ยาก สอดรับกับพฤติกรรมการคล้อยตามที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น ญาติของเราได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสการเสียชีวิตของผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สูง ทำให้ญาติของเราเลือกไม่ไปฉีด ส่งผลให้คนใกล้ตัวของญาติเลือกที่จะไม่ฉีดด้วย

            การอยู่รวมเป็นกลุ่มเป็นธรรมชาติปกติของเราทุกคน อีกทั้งเรายังปฏิบัติตนไปตามบรรทัดฐานของกลุ่มอีกด้วย ซึ่งบางครั้งเราอาจจะแสดงออกในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของกลุ่มหรือสังคม แต่ด้วยความกลัวว่าจะถูกลงโทษจากกลุ่ม เราจึงจำเป็นต้องระงับความคิดนั้นและปฏิบัติตามกลุ่มอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเพื่อนของเราโดดเรียนกันหมดทุกคน แม้เราจะไม่อยากโดดเรียนด้วย แต่ด้วยความกลัวว่าเพื่อนจะไม่ยอมรับ จึงต้องโดดเรียนตามเพื่อนด้วย เราเรียกสิ่งนี้ว่าการคล้อยตาม (Conformity)

            ในอดีตเคยมีการทดลองเกี่ยวกับการคล้อยตามที่มีชื่อเสียง ซึ่งทำการทดลองโดย นักจิตวิทยาชาวโปแลนด์-อเมริกันชื่อ Solomon Asch เขาได้เตรียมห้องทดลองที่มีหน้าม้าจำนวนมาก และให้อาสาสมัครพิจารณาเส้นตรงทางซ้ายมือเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับเส้น A, B และ C ทางด้านขวา โดยจะต้องตอบว่าเส้นไหน (ด้านขวา) ที่มีความยาวเท่ากับเส้นตรงซ้ายมือ คำตอบที่ถูกต้องอย่างเห็นได้ชัดคือเส้น B และทุกคนในกลุ่มก็เลือกตอบข้อนี้ 


            การทดลองดังกล่าวเกิดขึ้นหลายครั้งจนกระทั้งรอบหนึ่งที่หน้าม้าในห้องเลือกเส้นที่ผิดโดยตั้งใจ ทำให้อาสาสมัครตัดสินใจเลือกเส้นที่ผิดตามไปด้วย ซึ่งสามในสี่ของผู้เข้าร่วมการทดลองยอมคล้อยตามคำตอบที่ผิดอย่างน้อยหนึ่งครั้งจากการทดลองหลาย แต่เมื่อผู้เข้าร่วมการทดลองถูกทดสอบคนเดียว พวกเขาแทบไม่เคยตอบผิดเลย จากการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมการทดลอง พบว่า ตอนที่คล้อยตามกลุ่มพวกเขารู้ว่าตัวเองเลือกคำตอบที่ไม่ถูกต้องแต่ก็ยังคงเลือกเพราะกลัวว่าจะถูกหัวเราะเยาะ

กลยุทธ์รับมือกับข้อมูลที่เต็มไปด้วยข่าวปลอม

            ผู้อ่านทุกท่านจะเห็นแล้วว่านอกจากข่าวปลอมจะถูกส่งผ่านไปอย่างรวดเร็วด้วยเครื่องมือเครือข่ายสังคมออนไลน์แล้ว มันยังสามารถแพร่ระบาดได้ผ่านการคล้อยตามของเราทุกคนอีกด้วย พวกเราต่างใช้สติ และความคิดในการพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ในแต่ละวันไม่มากพอ รวมไปถึงความลำเอียงและอคติในตัวของเราทุกคน ยกตัวอย่างเช่น เราเกลียดพรรคการเมืองหนึ่ง และเราได้ยินข้อมูลที่เป็นข่าวปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใส่ร้าย แต่เรากลับเชื่อข่าวปลอมนั้นอย่างสนิทใจเพราะเราเกลียดพรรคนั้นอยู่แล้วเป็นทุน 

            ด้วยสาเหตุนี้ทำให้ข่าวปลอม (Fake News) เป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะต้องช่วยเหลือกันเพื่อรับมือไม่ให้มันส่งผลกระทบในเชิงลบต่อชีวิตของเราทุกคน จึงเป็นเหตุให้เกิดความร่วมมือจากภาคี Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) และเครือข่ายอีก 6 องค์กร ที่ได้ร่วมกันจัดงานแถลงปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวปลอมหรือข่าวลวง และมีวิทยากรทั้งไทยและต่างประเทศจำนวน 25 คน โดยมีจุดประสงค์เพื่อแบ่งปันข้อมูล แบ่งปันประสบการณ์ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับมือข่าวปลอม เพื่อนำไปสู้การรู้เท่าทันสื่อและเสริมสร้างความรู้ให้กับประชาชน 

            จากความร่วมมือของหลายองค์กร FNF ได้ทำการสังเคราะห์มาตรการในการต่อต้านข่าวปลอมแบ่งออกเป็น 4 ด้าน

            1) ความร่วมมือ แพลตฟอร์ม (เช่น Facebook Page) จะต้องมีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งนั่นรวมถึงผู้ตรวจสอบในระดับท้องถิ่น โดยจะต้องไม่คำนึงถึงแต่เรื่องถูกผิดเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและสภาพบริบท ยกตัวอย่างในกรณี Facebook ที่หลาย Page ช่วยกันแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องทันทีในสถานการณ์โควิด-19 เมื่อมีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกลายเป็นกระแสขึ้นมา

            2) การตรวจสอบ สร้างเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อตอบโต้ข่าวปลอม เช่น ระบบ AI เพื่อเรียนรู้ วิเคราะห์ จนสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม ซึ่งจะเป็นมาตรการเชิงรุกที่สำคัญในอนาคต

            3) ให้การศึกษา จัดให้มีการสอนเรื่องข่าวปลอมตั้งแต่ในโรงเรียน โดยฝึกฝนและส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในเด็กและเยาวชน โดยเปิดกว้างให้เยาวชนได้มีโอกาสเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงนอกจากนั้น ยังต้องให้ความรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรที่จะโพสต์หรือเผยแพร่ออกไป ไม่เพียงเท่านั้นยังต้องให้ความรู้และอบรมนักข่าวหรือตัวแพลตฟอร์มให้รู้เท่าทันสื่อและสอนว่าอะไรคือข่าวปลอม

            4) กฎหมาย เมื่อเกิดสิ่งผิดปกติขึ้น กฎหมายจะต้องตอบสนองอย่างทันท่วงที โดยสามารถฟ้องร้องดำเนินคดี เรียกค่าปรับ หรือสั่งให้นำข่าวปลอมนั้นออกได้ 

            สรุปแล้วข่าวปลอมจะต้องอาศัยวิธีทั้งเชิงรุกและรับในการจัดการ ไม่สามารถใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียว และจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนประสานและทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตามมาตรการที่ทาง FNF ได้สรุปมานั้นเป็นมาตรการในภาพกว้าง แต่สิ่งที่เราทุกคนสามารถฝึกฝน พัฒนา และสามารถเตรียมพร้อมได้เลยก็คือ การพัฒนากระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อรู้เท่าทันข่าวปลอม

            การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) คือ กระบวนการที่จำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะในการตัดสินใจ พิจารณาไตร่ตรองก่อนจะ เชื่อ หรือ กระทำ สิ่งใด โดยจะต้องแยกแยะว่าสิ่งใดเป็นความ จริง หรือ เท็จ อีกทั้งยังต้องสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือ และสุดท้ายจะต้องสรุปได้ว่าข้อมูลนั้นมีหลักการพื้นฐานอะไร มีอคติ หรือลำเอียง ใช้ตรรกะถูกหรือผิด ซึ่งกระบวนการคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 อีกทั้งยังสอดคล้องกับทักษะการรู้เท่าทันสื่อที่เป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้วยเช่นกัน 

            ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy Skill)  คือ ความสามารถในการตรวจสอบ วิเคราะห์ แยะแยกข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดก่อนจะตัดสินใจเชื่อหรือนำไปแชร์ต่อ พ่อแม่หรือครูสามารถสอนทักษะเหล่านี้ให้กับลูกหรือนักเรียนตั้งแต่ยังเด็ก โดยสอนให้เขาเข้าใจธรรมชาติของสื่อและสอนให้รู้จักแยกแยะข้อมูลว่าข้อมูลใดเป็นข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็น มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นการปลูกฝังการคิดอย่างมีวิจารณญาณไปด้วยในตัว

            ดังนั้นกลยุทธิ์ในการรับมือกับข้อมูลที่เต็มไปด้วยข่าวปลอมจึงต้องอาศัยการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะการรู้เท่าทันสื่อ โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

            ขั้นตอนที่ 1 การทำความเข้าใจ เป็นการนิยามข้อมูลนั้น ๆ ว่าคืออะไรกันแน่ เป็นข้อมูลประเภทใด มาจากแหล่งใด

            ขั้นตอนที่ 2 พิจารณาและแยกแยะ หลังจากที่เข้าใจปัญหาแล้วจะต้องพิจารณาแยกแยะว่าข้อมูลดังกล่าว มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน โดยใช้ประสบการณ์ หรือข้อมูลต่าง ๆ เพื่อมาอ้างอิง โดยในขั้นนี้จะต้องระหวังอคติและความลำเอียงของตนเอง

            ขั้นตอนที่ 3 ประเมินและสรุปข้อมูล ว่าเป็นข้อมูลตามข้อเท็จจริงหรือข้อมูลปลอม มีอคติหรือความลำเอียงในข้อมูลนั้น ๆ หรือไม่

            สรุปแล้ว หัวใจทั้ง 3 ขั้นตอนก็คือการเข้าใจข้อมูล จากนั้นนำไปแยกแยะ และสุดท้ายสรุปออกมาเป็นคำตอบฃ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราจะต้องระวังมากที่สุดก็คืออคติและความลำเอียงส่วนตน เนื่องจากเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราทุกคนต่างมีทั้งนั้น รวมไปถึงการคล้อยตามกลุ่มหรือสังคมที่เราอาศัยอยู่ จึงเป็นเหตุให้บุคคลไม่ว่าจะมีการศึกษาระดับใดก็สามารถตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมได้ทั้งนั้น 

เราจึงต้องระมัดระวังและจำเป็นต้องเรียนรู้ ฝึกฝน 
พัฒนากระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 
และการรู้เท่าทันสื่อให้แหลมคมอย่างต่อเนื่อง

อ่าน เข้าใจ ข่าวปลอม (Fake News) เพื่อดำเนินชีวิตอย่างรู้เท่าทัน ต่อได้ในลิ้งนี้ 

อ้างอิง

Bayer, K. (1988). Common sense about teaching thinking skills. Education Leadership. 41(3): 44-49.

Grant, A. (2017). Originals: How Non-Conformists Move the World. NY: Penguin.

Harari, N. Y. (2018). 21 Lessons for the 21st Century. NY: Random House.

Starfish Academy. 2564. Media Literacy ทักษะสำคัญของเด็กในยุคดิจิทัล. https://www.starfishlabz.com/blog/317-media-literacy-ทักษะสำคัญของเด็กในยุคดิจิทัล

คาลอส บุญสุภา. (2565). เข้าใจ ข่าวลวง (Fake News) เพื่อดำเนินชีวิตอย่างรู้เท่าทัน. https://sircr.blogspot.com/2022/01/fake-news.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). อิทธิพลทางสังคม ที่ทำให้เกิด การคล้อยตาม (Conformity). https://sircr.blogspot.com/2021/10/conformity.html

ความคิดเห็น