ตั้งเป้าหมายปีใหม่อย่างไรให้สำเร็จ (New Year Resolution)

หลายคนตั้งเป้าหมายที่เป็นนามธรรม 
เช่น "ปีนี้จะต้องประสบความสำเร็จมากขึ้น" 
 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่สามารถจับต้องได้

            วันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันปีใหม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันคือสิ่งที่สมมุติขึ้นมาเป็นเพียงแค่วันธรรมดาที่คนเชื่อตรงกันเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นสิ่งสมมุติแต่มันก็อยู่ที่ว่าเราให้ค่ามันอย่างไร เพราะไม่ว่าจะอย่างไรวันปีใหม่ก็คือข้อตกลงร่วมกันของคนทั้งโลกว่าเป็นวันขึ้นตอนปีใหม่ จึงเป็นวันที่เหมาะจะ "คาดหวัง" สิ่งใหม่ ๆ ตัวตนใหม่ ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น วันปีใหม่ของทุกปีจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

            เราจึงเลือกวันปีใหม่เป็นการตั้งเป้าหมายเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แม้ว่าในปีนั้นชีวิตเราจะเหนื่อย เศร้า ทุกข์ สุขแค่ไหนก็ตามแต่เราทุกคนก็ล้วนอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นทั้งนั้น ซึ่งผมสนับสนุนการตั้งเป้าหมายวันปีใหม่อย่างแน่นอน แม้จะเป็นวันที่สมมุติอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นก็ตาม แต่วันปีใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งวันที่เหมาะสมในการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ อย่างแท้จริง นั้นจึงเป็นเหตุผลที่ผู้คนมักจะตั้งปณิธานปีใหม่ (New Year Resolution) หรือเป้าหมายแห่งปีใหม่ขึ้นมา

            แต่สิ่งที่ผู้คนมักพบก็คือ เมื่อตั้งเป้าหมายวันปีใหม่ไปแล้วไม่สามารถทำได้ตามที่ตั้งเอาไว้ ซึ่ง U.S. News & World Report รายงานว่า 80% ของคนที่ตั้งเป้าหมายวันปีใหม่หรือตั้งปณิธานปีใหม่จะล้มเหลวไม่เกินกลางเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น ซึ่งเป็นเวลาเพียงแค่ 1 เดือนครึ่งเท่านั้น แม้จะเป็นรายงานเมื่อนานมาแล้ว แต่ยิ่งในปัจจุบันมีสื่อ มีสิ่งล่อใจ หรือการแข่งขันที่สูงมากขึ้นจากค่านิยม และเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวไกลมากขึ้น รวมไปถึงในอนาคตจะมี Metaverse หรือโลกเหมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเปิดให้ผู้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนอีกไม่มากก็น้อย 

กล่าวคือยิ่งเวลาผ่านไปความสำเร็จในการตั้งเป้าหมายวันปีใหม่ก็ยิ่งท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ 

            การตั้งเป้าหมายวันปีใหม่จึงเป็นเรื่องยากมากกว่าที่เราคิดเอาไว้ เพราะนอกจากมนุษย์เราจะมีจินตนาการที่ก้าวไกล เรายังมีความหวังว่าสิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้น เราส่วนใหญ่มองในแง่ดีมากกว่าที่เราคิดเอาไว้ ซึ่งนั้นมักจะทำให้เราพบกับความผิดหวัง หรือผิดพลาดอยู่เสมอ บทความนี้ผมจึงอยากจะมาแนะนำวิธีการตั้งเป้าหมายวันปีใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งทุกคนสามารถนำไปใช้ได้เพื่อพัฒนาตัวเองให้ดำเนินชีวิตบนโลกใบนี้อย่างมีคุณค่าและมีความสุขได้

ทำไมเป้าหมายปีใหม่ถึงล้มเหลว

            อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วว่ามีโอกาส 80% ที่เป้าหมายของเราจะล้มเหลวในเวลาเพียงเดือนครึ่งหลังจากตั้งเป้าหมายวันปีใหม่ (ไม่นับความล้มเหลวหลังจากนั้นอีกนะครับ) ซึ่งจริง ๆ แล้วมีสาเหตุของความล้มเหลวอยู่ 2 ข้อใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้

            1) เป้าหมายนามธรรมเกินไป หลายคนตั้งเป้าหมายให้ตัวเองแบบไม่สามารถจับต้องได้ ยกตัวอย่างเช่น "ปีนี้จะต้องประสบความสำเร็จมากขึ้น" หรือ "ปีนี้ฉันจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง" ซึ่งทั้ง 2 อย่างเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ ยกตัวอย่างคำว่าประสบความสำเร็จ เท่าไหนถึงจะประสบความสำเร็จ อะไรที่สามารถวัดได้ว่าเราประสบความสำเร็จ กล่าวคือ คำ ๆ นี้เป็นสิ่งที่วัดไม่ได้ เป็นเพียงแค่ความรู้สึกที่แต่ละคนมีแตกต่างกันไป มันเป็นเพียงแต่ความรู้สึกดี ๆ กับตัวเองเท่านั้นเอง ดังนั้นคนที่ทำธุรกิจมีเงิน 1 พันล้าน ก็อาจจะรู้สึกว่ายังไม่สบความสำเร็จก็ได้ ในทางกลับกันคนที่สะสมเงินเพื่อซื้อของที่ตัวเองชอบอาจจะมองว่าประสบความสำเร็จแล้วก็ได้

            2) เป้าหมายใหญ่หรือยากเกินไป แม้ว่าบางคนจะสามารถระบุเป้าหมายออกมาเป็นรูปธรรมได้ ยกตัวอย่างเช่น จะลดน้ำหนักลง 50 กิโล หรืออ่านหนังสือ 100 เล่ม หรือเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาทในปีนี้ แต่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้อาจจะใหญ่เกินไปอย่างที่ผมยกตัวอย่างมา การระบุจำนวน ตัวเลขเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ควรจะระบุตัวเลขที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น ต้องพิจารณาว่าเราสามารถลดน้ำหนัก 1 เดือนได้กี่กิโล แล้วจึงตั้งตัวเลขตลอดปีที่จับต้องได้ ยกตัวอย่างเช่น 20 กิโลต่อปี เช่นเดียวกับหนังสือ และการเก็บเงิน ต้องพิจารณาว่าแต่ละเดือนเราอ่านหนังสือได้เต็มที่กี่เล่ม หรือสามารถเก็บเงินได้เดือนละเท่าไหร่

แนวทางการตั้งเป้าหมายวันปีใหม่ให้สำเร็จ

            ข้อ 1 ตั้งเป้าหมายให้ง่าย โดยปกติแล้วเราจะตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไป เช่น จะลดน้ำหนักให้ได้ภายในไม่กี่เดือน เพราะเราอยากจะเห็นผลโดยเร็ว พร้อมกับธรรมชาติของเราที่มองโลกในแง่ดี นั่นจึงเป็นเหตุให้เราล้มเหลวในการตั้งเป้าหมายวันปีใหม่ ในทางกลับกันหากเราตั้งเป้าหมายง่าย ๆ เอาไว้เราจะสามารถทำมันสำเร็จได้แน่นอน ซึ่งจะเป็นการง่ายต่อการบรรลุความพึงพอใจ เพราะตามหลักวิทยาศาสตร์ "เป้าหมายที่สูงเกินไป" จะไม่ทำให้สารสื่อประสาทโดพามีนหลั่งออกมา ซึ่งเป็นสารที่จะหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อเราได้รับความพึงพอใจ

           ข้อ 2 ซอยย่อยเป้าหมายราสามารถแบ่งเป้าหมายออกเป็นหลาย ๆ เป้าหมาย เช่น วิ่งวันละ 30 นาที อ่านหนังสือวันละ 1 ชม ไปฟิตเนสสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และงดกินระหว่างมื้อ การซอยย่อยจะสอดคล้องกับข้อที่ 1 (ตั้งเป้าหมายให้ง่าย) เนื่องจากการที่เราทำภารกิจสำเร็จแม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ หรือเรื่อง่าย ๆ ย่อมทำให้เราเกิดความพึงพอใจ (โดพามีนหลั่ง) ซึ่งการสร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นแบบต่อเนื่อง ย่อมทำให้เราบรรลุเป้าหมายอย่างมีความสุข และสุดท้ายเราก็จะบรรลุเป้าหมายปีใหม่ที่ตั้งเอาไว้

          ข้อ 3 กำหนดปริมาณ อย่างที่ผมกล่าวข้างต้นหลายคนมักตั้งเป้าหมายเป็นนามธรรมเกินไป ยกตัวอย่างเช่น "จะต้องเก่งขึ้น" หรือ "มีผลการเรียนที่ดีขึ้น" แต่นั่นเป็นความสำเร็จหรือสิ่งที่คาดหวัง เป้าหมายควรจะต้องเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่จับต้องได้ และสามารถทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะทำให้ได้รับรางวัลตามที่คาดหวังไว้ (ผลการเรียนที่ดี) ซึ่งสิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับการตั้งเป้าหมายก็คือ "ระยะเวลา" หรือ "จำนวน" หากเราตั้งเป้าหมายว่าจะอ่านหนังสือทุกวัน จะต้องกำหนดระยะเวลาว่าวันหนึ่งเราจะอ่านหนังสือกี่นาที โดยจะต้องตั้งเวลาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ยกตัวอย่าง ผมตั้งเป้าหมายอ่านหนังสือวันละ 1 ชม เป็นกิจวัตรประวำวันของตนเอง หรือกำหนดจำนวนออกมา เช่น อ่านหนังสือวันละ 30 หน้า

           ข้อ 4 ทำ TO DO LIST วิธีการนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก และมี Applications มากมายที่ช่วยเราทำ List หรือรายชื่อกิจกรรมที่จะต้องทำในแต่ละวัน โดยเราจะต้องออกแบบกิจกรรมหรือเป้าหมายที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จหรือสิ่งที่คาดหวังไว้ ยกตัวอย่างเช่น หากเราคาดหวังว่าจะเก่งขึ้น และมีสุขภาพดีมากขึ้น เราจะต้องกำหนดเป้าหมายในแต่ละวันออกมาโดยบูรณาการข้อที่ 1 2 และ 3 เข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น วิ่งวันละ 30 นาที อ่านหนังสือวันละ 1 ชม ไปฟิตเนสสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และงดกินระหว่างมื้อ โดยจะต้องมี Check List ให้เราติกถูกเมื่อทำสำเร็จด้วยเพื่อจะเป็นการให้รางวัลตัวเองว่าเราทำสำเร็จแล้ว

            เนื่องจากเวลาที่เรา Check List จะให้ความรู้สึกเหมือนได้รับรางวัล มันเป็นความรู้สึกว่าเราได้ทำภารกิจสำเร็จลุล่วง ดังนั้นเราสามารถนำแนวคิดทั้งหมดมาบูรณาการ นั่นคือทำให้ง่าย และกำหนดปริมาณ จากนั้นทำ List เพื่อให้สมองรู้สึกเหมือนได้รับรางวัล ซึ่งจะทำให้เราทำกิจกรรมที่จะบรรลุเป้าหมายปีใหม่อย่างมีความสุขมากขึ้น นอกจากนั้นเรายังสามารถระบุสิ่งที่เราทำเป็นกิจวัตรประจำวันลงใน TO DO LIST เพื่อเพิ่มความภูมิใจได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เราตื่นเช้าทุกเช้าอยู่แล้ว ก็ตั้งเป้าหมายไปเลยว่าจะตื่นเช้าทุกวัน เป็นต้น เพื่อเล่นกับความภาคภูมิใจในจิตใต้สำนึกของเรา

            อย่างไรก็ตามการตั้งเป้าหมายจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหากเราบอกให้คนอื่นรู้ สิ่งนี้มันจะช่วยได้ใน 2 ทาง 1) หากเราสามารถทำสำเร็จ มันก็จะเป็นเหมือนกับการอวดคนอื่นด้วย ฟังเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นการเล่นกับสัญชาตญาณของเราเอง เพราะมนุษย์ทุกคนอยากจะเป็นคนสำคัญอยากรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง อย่าลืมว่า "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" ดังนั้นการบอกกับผู้อื่นนี้แหละที่จะกระตุ้นให้เราภาคภูมิใจมากยิ่งขึ้น แล้วจะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง และ 2) ในกรณีที่เราลดความอ้วน หากเพื่อนรู้ว่าเรามีเป้าหมายอย่างไร เขาก็จะไม่ชวนเราไปกินอาหารที่มีน้ำตาลมาก ไขมันมาก หรือไม่ชวนไปดื่มบ่อย ๆ หรือเราสามารถใช้สิ่งนี้เป็นข้ออ้างบอกปัดได้ 

สรุป

            คนเราส่วนใหญ่มักตั้งเป้าหมายปีใหม่กันแทบทั้งนั้น แต่มักจะพบกับความล้มเหลวหรือล้มเลิกไปกลางทาง เนื่องจากเรามักตั้งเป้าหมายที่ "นามธรรมเกินไป" เช่น อยากประสบความสำเร็จ อยากลดความอ้วน หรือการ "ตั้งเป้าหมายที่ใหญ่หรือยากเกินไป" เช่น ต้องอ่านหนังสือให้ได้ปีละ 100 เล่ม ลดความอ้วน 50 กิโลกรัม ซึ่งเป็นหมายที่เป็นไปได้ค่อนข้างยาก ผมจึงแนะนำวิธีการตั้งเป้าหมายให้ประสบผลสำเร็จ โดยแบ่งออกเป็น 4 วิธี ดังนี้

           1) ตั้งเป้าหมายให้ง่าย เป้าหมายจะต้องไม่ยากเกินไป มีความเรียบง่าย สามารถทำสำเร็จได้โดยง่าย เช่น อ่านหนังสือวันละ 30 หน้า 

           2) ซอยย่อยเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น เราอยากลดความอ้วนได้ ก็ซอยเป้าหมายออกเป็น เดินตอนเช้า 20 นาที วิ่งวันละ 30 นาที เข้าฟิตเนตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง งดกินน้ำอัดลม เป็นต้น

           3) กำหนดปริมาณ ตั้งเป้าหมายโดยมีระยะเวลาหรือจำนวนกำกับเอาไว้ เพื่อให้สามารถทำเป็นกิจวัตรประจำวันได้ ยกตัวอย่างเช่น วิ่ง 30 นาที หรือ วิ่ง 5 กิโลเมตร

           4) ทำ TO DO LIST การตั้งเป้าหมายจะประสบความสำเร็จมากหากเราทำ List เป็นภารกิจเอาไว้หลาย ๆ อัน เพื่อให้เราบรรลุผลได้ในแต่ละวัน โดย List ภารกิจไว้เป็นรายเดือนจะยิ่งดีเพื่อให้เห็นภาพความสำเร็จที่ชัดเจน

            อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ต้องเป็นไปตามความต้องการของเราเอง ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นทำกัน หรือมีใครสั่งให้เราทำ เพราะการที่เราจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ไม่เพียงแต่เราต้องใช้แรงกาย แต่ต้องใช้แรงใจด้วย หากเรามีความมุ่งมั่น และมีวินัยในการใช้ชีวิตมากขึ้น ก็จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการตั้งเป้าหมายได้ แต่ต้องไม่ลืมไปว่าเราเป็นมนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่มักจะหาข้ออ้างต่าง ๆ ได้มากมาย ดังนั้นจะต้องเข้าใจตัวเองและ

ตั้งเป้าหมายที่จับต้องได้ มีหลายเป้าหมาย 
กำหนดปริมาณระเวลาหรือจำนวนครั้ง 
และจะต้องมีการบันทึกให้เห็นถึงผลสำเร็จ 

อ้างอิง

Kabasawa, S. (2018). The Power of Output: How to Change Learning to Outcome. Tokyo: Sanctuary.

Luciani, J. (2015). Why 80 Percent of New Year's Resolutions Fail. https://health.usnews.com/health-news/blogs/eat-run/articles/2015-12-29/why-80-percent-of-new-years-resolutions-fail

คาลอส บุญสุภา. (2564). แนวทางการตั้งเป้าหมายให้ประสบผลสำเร็จ (Goal Setting). https://sircr.blogspot.com/2021/10/goal-setting.html

ความคิดเห็น