เป้าหมายไม่ใช่ความสำเร็จ
แต่เป็นการทำกิจวัตรประจำวันอย่างมีเป้าหมาย
เพื่อดำเนินไปสู่เส้นทางที่เราคาดหวังเอาไว้
หากเรานึกถึงการแพทย์ในปัจจุบัน เรามักจะพบยามากมายหลายชนิด สมมติว่าเราโดนบาดแล้วติดเชื้อ เราเพียงแค่ไปหาหมอเพื่อทำแผลแล้วรับยาปฏิชีวนะมากินสักระยะหนึ่งเชื้อโรคก็หายไปแล้ว แต่ในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา แทบจะไม่มียาให้คนไข้รับประทานเลย หากมีใครได้รับบาดแผลจนติดเชื้อก็จะทรมานจนตาย หรือตัดอวัยวะที่ติดเชื้อทิ้งไป ยากมากที่จะรักษาได้ การค้นพบยาปฏิชีวนะในสมัยก่อนเขาจึงเรียกกันว่ากระสุนวิเศษ (Magic bullet) เป็นกระสุนที่ยิงเข้าไปแล้วจะทำลายเชื้อโรคแต่ไม่ทำมันตรายคนไข้
หากพูดถึงยาปฏิชีวนะที่มีชื่อเสียงมากในประวัติศาสตร์ คงหนีไม่พ้นยาเพนิซิลลิน ซึ่งกว่าจะผลิตออกมาได้ทีมนักวิจัยของประเทศอังกฤษต้องผ่านวิบากกรรมมากมายโดยเฉพาะในสมัยนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่เยอรมนีส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดหมายจะยึดประเทศอังกฤษในสมรภูมิที่มีชื่อว่า Battle of Britain เป็นช่วงเวลาที่เยอรมนีทดสอบความอดทนของกองทัพอากาศอังกฤษอย่างหนัก
กองทัพอากาศของนาซีเยอรมันบินมาทิ้งระเบิดในเมืองลอนดอนอย่างหนัก ทำให้ห้องทำงานวิจัยต่าง ๆ ในโรงพยาบาลถูกเปลี่ยนให้เป็นห้องฉุกเฉินเพื่อเตรียมรับคนป่วยที่มาได้ตลอดเวลา ไม่มีใครรู้ว่าอังกฤษจะโดนกองทัพนาซียึดครองหรือไม่ แต่นักวิทยาศาสตร์อังกฤษทุกคนรู้ดีว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ดูเหมือนว่าอังกฤษจะต้านไม่ไหว นักวิทยาศาสตร์ทุกคนจะต้องทำลายงานวิจัยของตนเองทิ้งให้หมด เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในมือของกองทัพนาซี
ทีมวิจัยยาเพนิซิลลินของออกซฟอร์ดรู้ดีกว่า การทำลายยาที่มีแนวโน้มจะเป็นกระสุนวิเศษ ถือได้ว่าเป็นการทำลายโอกาสของมนุษยชาติที่จะต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย นับเป็นเวลาหลายพันหลายหมื่นปีมาแล้วที่มนุษย์พยายามเอาชนะโรคติดเชื้อ พวกเขาจึงตัดสินใจวางเป้าหมายร่วมกันว่า ถ้านาซีบุกเข้ามาได้จริง หรือพวกเขาคนใดคนหนึ่งถูกฆ่า คนที่เหลือจะต้องพยายามหนีไปให้รอด และหาทางสานต่องานวิจัยนี้ให้สำเร็จ
แพทย์นักวิจัยในทีมจึงนำเสนอให้ทุกคนนำสปอร์ของเชื้อราเพนิซิลลินมาถูไว้กับเสื้อโค้ตขนสัตว์หนา ๆ ที่มีสีน้ำตาลเพื่อไม่ให้สังเกตเห็นได้ง่าย กรณีที่ไม่สามารถขนเพนิซิลลินหลบหนีไปได้ อย่างน้อยก็ยังมีสปอร์ของเพนิซิลลินติดอยู่บนเสื้อโค้ตเพื่อนำไปเริ่มต้นทำงานวิจัยใหม่ได้ แต่สุดท้ายฮิตเลอร์ก็ไม่สามารถยึดอังกฤษได้เสียที จึงเปลี่ยนใจเลิกบุก ทำให้ยาเพนิซิลลินสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วย และนำไปพัฒนาต่อยอดที่สหรัฐอเมริกาที่มีพื้นที่ เครื่องมือ และทุนทางวิทยาศาสตร์พร้อม ในปี 1941
ทีมนักวิจัยต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ลองผิดลองถูก แต่พวกเขายึดมั่นในเป้าหมายที่จะผลิตกระสุนวิเศษ (Magic bullet) ออกมาเพื่อมนุษยชาติให้ได้ สุดท้ายด้วยการร่วมมือของแพทย์นักวิจัยอังกฤษ และอเมริกัน ก็สามารถผลิตกระสุนวิเศษจนได้ ส่งผลให้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกในวันดีเดย์ พร้อมกับยาเพนิซิลลินที่สามารถรักษาทหารได้ 40,000 คนต่อเดือน ในกรณีที่พวกเขามีแผลติดเชื้อ ไม่กี่วันถัดมาก็สามารถรักษาให้หายดีแล้วออกรบอีกครั้งได้ ในขณะที่ทหารนาซีมีเพียงผงซัลฟาที่ด้อยกว่ามาก
เพนิซิลลินจึงถือได้ว่าเป็นอาวุธสงครามที่ทรงอนุภาพที่สุดชนิดหนึ่ง และมีส่วนสำคัญทำให้ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถรบชนะกองทัพนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ ด้วยความมุ่งมั่นของทีมวิจัย แม้จะมีใครจะต้องตายไป ก็จะต้องมีคนไปสานต่อเพื่อผลิตกระสุนวิเศษนี้ให้ได้ จากเรื่องราวประวัติศาสตร์สำคัญนี้ เราสามารถนำไปเรียนรู้เพื่อออกแบบวิธีการตั้งเป้าหมายให้ประสบผลสำเร็จได้ โดยผมได้ศึกษาวิธีการตั้งเป้าหมายแบบต่าง ๆ จากนั้นจึงนำมาสังเคราะห์เพื่อนำเสนอแก่ผู้อ่านทุกคนเป็นตัวเลือกในการนำไปใช้
ความแตกต่างระหว่างเป้าหมายและความสำเร็จ
เราไม่ต้องถึงขนาดจะต้องตั้งเป้าหมายว่าจะผลิตกระสุนวิเศษเหมือนกับนักวิจัยเพนิซิลลิน แต่เราสามารถตั้งเป้าหมายเพื่อทำให้ตนเองประสบความสำเร็จได้ อย่างไรก็ตามก่อนจะไปถึงวิธีการตั้งเป้าหมาย ต้องมาทำความเข้าใจคำว่าประสบความสำเร็จเสียก่อน เพราะเป็นคำที่คนใช้แตกต่างกัน กล่าวคือมนุษย์แต่ละคนมีนิยามของคำว่าประสบความสำเร็จแตกต่างกัน บางคนอาจคิดว่ามีเงินจำนวนมาก บางคนมีบ้านมีรถ บางคนมีสุขภาพที่ดี บางคนเพียงแค่มีชีวิตรอดไปแต่ละวันก็ประสบความสำเร็จแล้ว
จริง ๆ แล้วคำว่าประสบความสำเร็จมันคือความต้องการที่จะอยู่เหนือกว่าที่เราอยู่ตอนนี้นั้นแหละ ยกตัวอย่างเช่น เรามีเงินเดือน 20,000 ก็จะอยากได้ตำแหน่งงานที่ดีขึ้น และมีเงินเดือนมากขึ้น หรือบางคนอาจจะตั้งเป้าหมายไปไกลกว่านั้น ซึ่งก็ไม่มีใครผิดเลย เพราะมันขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคล เราจะนิยามมันอย่างไรก็ได้ เพียงแต่ผมไม่อยากให้ผู้อ่านตั้งเป้าความสำเร็จไว้ไกลจนเกินไป เพราะมันจะเป็นสิ่งที่เอื้อมไม่ถึง พูดง่าย ๆ มันควรจะเป็นระยะทางที่เรามองเห็นอีกฝั่งหนึ่งได้ ซึ่งคำว่าเป้าหมายจะเป็นตัวช่วยให้เราไปถึงความสำเร็จนั้น
เวลาที่ผมสอนนักเรียนผมจะวางเป้าความสำเร็จให้กับนักเรียน โดยวางเงื่อนไขว่าเวลาที่เขาเรียนแต่ละคาบ ถ้าเขาตั้งใจ เขาจะได้รับดาว 1 ดวง (ได้อย่างแน่นอน) ซึ่งถ้าเขาสะสมไปได้ทีละ 5 ดวง เขาจะได้พัฒนายศอัศวินของเขา จนสุดท้ายเขาจะได้รับมงกฎ (เมื่อเขามีดาว 30 ดวง) ยศแต่ละยศก็คือความสำเร็จ ส่วนดาวก็จะเป็นเป้าหมายของเขานั้นเอง สิ่งนี้ทำให้นักเรียนรู้สึกภูมิใจมาก และสนุกกับการเรียนมากขึ้นไม่มากก็น้อย
วิธีการตั้งเป้าหมายมีหลากหลายวิธีมากมาย ผู้อ่านสามารถนำเอาวิธีของผมไปประยุกต์ก็ได้ หรือจะใช้วิธีอื่นก็ได้เช่นเดียวกัน สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการตั้งเป้าหมายก็คือ การสับสนระหว่างความสำเร็จกับเป้าหมาย เพราะจริง ๆ แล้วเป้าหมายคือสิ่งที่จะพาเราไปถึงความสำเร็จ ดังนั้นเป้าหมายจะต้องเป็นเหมือนตัวช่วย เป็นเครื่องมือที่จะพาเราไปในจุดที่เราคาดหวังไว้
ยกตัวอย่างเช่นการลดน้ำหนัก คนมักตั้งเป้าหมายว่าจะลดน้ำหนัก แต่จริงๆ น้ำหนักที่ลดได้นั้นคือความสำเร็จ แต่เป้าหมายจะต้องเป็นตัวช่วยไปถึงจุดนั้น ยกตัวอย่างเช่น จะวิ่งวันละ 30 นาที ไม่กินขนมหวาน ไม่ดื่มน้ำอัดลม ดังนั้นถ้านำเอาเรื่องราวของนักวิจัยเพนิซิลลินมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อเสนอของผม จะพบว่า เหล่านักวิจัยไม่ได้วางเป้าหมายที่จะผลิตกระสุนวิเศษให้ได้ แต่กระสุนวิเศษคือความสำเร็จ ในขณะที่เป้าหมายคือการทดลอง ลองผิดลองถูกในแต่ละวัน
แนวทางการตั้งเป้าหมาย
1. ตั้งเป้าหมายให้ง่าย โดยปกติแล้วเราจะตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไป เช่น จะลดน้ำหนักให้ได้ภายในไม่กี่เดือน เพราะเราอยากจะเห็นผลเร็ว ผสมโรงกับการมองโลกในแง่ดี แต่จริง ๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์ "เป้าหมายที่สูงเกินไป" จะไม่ทำให้สารสื่อประสาทโดพามีนหลั่งออกมา ซึ่งเป็นสารที่จะหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อเกิดความพึงพอใจ เพื่อที่เราจะทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราจะต้องออกแบบเป้าหมายให้เราเกิดความพึงพอใจ การที่เราออกแบบกิจกรรมให้ง่ายเข้าไว้ จะทำให้ง่ายต่อการได้รางวัล ซึ่งจะเป็นการง่านต่อการบรรลุความพึงพอใจ
โดพามีน เป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้อารมณ์ดี เป็นความรู้สึกเหมือนกับได้รับรางวัล ยิ่งสารสื่อประสาทชนิดนี้หลั่งออกมามากขึ้นก็จะทำให้อยากจะทำกิจกรรมนั้นไปเรื่อย ๆ เหมือนกับเวลาที่เราตกหลุมรัก หรือเสพยา ก็อยากจะได้รับความรู้สึกนั้นอีกเรื่อย ๆ การออกแบบกิจกรรมให้ง่าย มีความสนุก และได้รับรางวัล ไม่ว่าจะเป็นการ Check list หรือได้รับรางวัลเล็ก ๆ น้อยก็จะหล่อหลอมให้เราทำกิจกรรมนั้นซ้ำไปเรื่อย ๆ
2. กำหนดระยะเวลา นักเรียนหลายคนมักตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับผลการเรียนที่ดี แต่นั้นเป็นความสำเร็จหรือสิ่งที่คาดหวัง เป้าหมายจะต้องเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่จับต้องได้ และสามารถทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะทำให้ได้รับรางวัลตามที่คาดหวังไว้ (ผลการเรียนที่ดี) ซึ่งสิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับการตั้งเป้าหมายก็คือ "ระยะเวลา" หากเราตั้งเป้าหมายว่าจะอ่านหนังสือทุกวัน จะต้องกำหนดระยะเวลาว่าวันหนึ่งเราจะอ่านหนังสือกี่นาที โดยจะต้องตั้งเวลาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ยกตัวอย่าง ผมตั้งเป้าหมายอ่านหนังสือวันละ 1 ชม เป็นกิจวัตรประวำวันของตนเอง
การกำหนดระยะเวลาจะช่วยให้เราควบคุมกิจกรรมให้สำเร็จโดยมีเวลาที่กำหนด แน่นอนว่าความสำเร็จของแต่ละคนอาจจะแลกมาด้วยเป้าหมายที่ไม่น่าพึงพอใจนัก เช่น คาดหวังว่าจะต้องมีซิกแพค จึงตั้งเป้าหมายด้วยวิธีการออกกำลังกายที่เจ็บกล้ามเนื้ออย่างมาก จึงเป็นการแลกมาด้วยกิจกรรมที่ไม่ได้สนุก หรือพึงพอใจสำหรับหลายคน การกำหนดระยะเวลาจะช่วยให้เราพยายามทำจนสำเร็จได้ในแต่ละวัน โดยไม่ควรกำหนดเวลาไว้นานเกินไปสำหรับกิจกรรมที่ไม่น่าพึงพอใจ
3. แบ่งเป้าหมายออกเป็นย่อย ๆ เหมือนกับที่ผมบอกไว้ในข้อหนึ่งว่า เราจะต้องออกแบบเป้าหมายให้เราพึงพอใจ ให้โดพามีนหลั่งบ่อย ๆ เหมือนกับได้รางวัลบ่อย ๆ การซอยย่อยกิจกรรมจะสามารถช่วยให้เราได้รับรางวัลบ่อย ๆ ได้ ซึ่งเหมือนกับในข้อ 3 ที่ผมยกตัวอย่างความคาดหวังว่าอยากจะเก่งขึ้น และสุขภาพดีมากขึ้น จะต้องซอยย่อยเป้าหมายออกเป็นหลาย ๆ เป้าหมาย วิ่งวันละ 30 นาที อ่านหนังสือวันละ 1 ชม ไปฟิตเนสสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และงดกินระหว่างมื้อ ซึ่งการซอยย่อยเป้าหมายจะสามารถทำให้เราบรรลุได้ทุกข้อที่ผมกล่าวมา
การซอยย่อยเป้าหมายยังจะช่วยให้เราสามารถทำให้บรรลุความคาดหวังที่ยากลำบากได้ ยกตัวอย่างเช่น คาดหวังว่าจะต้องมีซิกแพค ซึ่งการจะสร้างได้นั้นจะต้องออกกำลังกายโดยการทำลายกล้ามเนื้อเพื่อให้เกิดการสร้างใหม่หลาย ๆ ครั้ง การแบ่งวิธีการออกกำลังกายออกเป็นเซต ๆ จะช่วยให้เราสามารถสร้างกล้ามเนื้อได้หลาย ๆ ส่วน ซึ่งจะไม่ทำให้เราเจ็บปวดมากจนเกินไป อีกทั้งการแบ่งวิธีการออกกำลังกายเป็นเซต ๆ ยังสามารถช่วยให้เราสนุกได้อีกด้วย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะออกแบบได้ตรงกับจริตเราหรือไม่
4. ทำ TO DO LIST สิ่งนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก และมี Applications มากมายที่ช่วยเราทำ list หรือรายชื่อกิจกรรมที่จะต้องทำในแต่ละวันได้ โดยเราจะต้องออกแบบกิจกรรมหรือเป้าหมายที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จหรือคาดหวังไว้ ยกตัวอย่างเช่น หากเราคาดหวังว่าจะเก่งขึ้น และมีสุขภาพดีมากขึ้น เราจะต้องกำหนดเป้าหมายในแต่ละวันออกมาโดยบูรณาการข้อที่ 1 2 และ 3 เข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น วิ่งวันละ 30 นาที อ่านหนังสือวันละ 1 ชม ไปฟิตเนสสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และงดกินระหว่างมื้อ โดยจะต้องมี Check List ให้เราติกถูกเมื่อทำสำเร็จด้วยเพื่อจะเป็นการให้รางวัลตัวเองว่าเราทำสำเร็จแล้ว
กล่าวคือเป็นการออกแบบเป้าหมายให้ง่าย กำหนดระยะเวลา และซอยย่อยออกเป็นหลายส่วน สุดท้ายจะต้องมีการทำ Check List เพื่อให้เราเห็นว่าเราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งในแต่ละวันแล้วนะ การบูรณาทุกข้อเข้าด้วยกันจะช่วยให้เราสามารถออกแบบเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่สุดท้ายเราจะสามารถบรรลุความสำเร็จตามที่เราคาดหวังเอาไว้ได้
TO DO LIST ที่มีประสิทธิภาพจะต้องทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมด เพื่อเป็นการ Feedback ตัวเองว่าเราทำสำเร็จและมีความตั้งใจ แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้รู้สึกภูมิใจอะไรมากมาย แต่ที่จริงแล้วลึก ๆ มันมีผลมาก ดังนั้นทำไปเถอะครับ มันจะแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาเราทำได้ดีแล้ว แม้ว่าเราจะทำทุกวันเหมือนกับเป็นกิจวัตรไปแล้ว ยิ่งเราเอากิจวัตรของเราไปออกแบบ TO DO LIST ก็จะช่วยให้เราภูมิใจมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราตื่นเช้าทุกเช้าอยู่แล้ว ก็ตั้งเป้าหมายไปเลยว่าจะตื่นเช้าทุกวัน เป็นต้น เพื่อเล่นกับความภาคภูมิใจในจิตใต้สำนึกของเรา
อย่างไรก็ตามการตั้งเป้าหมายจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหากเราบอกให้คนอื่นรู้ สิ่งนี้มันจะช่วยได้ใน 2 ทาง 1) หากเราสามารถทำสำเร็จ มันก็จะเป็นเหมือนกับการอวดเพื่อนด้วย ฟังเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นการเล่นกับสัญชาตญาณของเราเอง เพราะมนุษย์ทุกคนอยากจะเป็นคนสำคัญ อยากจะภาคภูมิใจ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นการบอกกับผู้อื่นนี้แหละที่จะกระตุ้นให้เราภาคภูมิใจมากยิ่งขึ้น แล้วจะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง 2) ในกรณีที่เราลดความอ้วน หากเพื่อนรู้ว่าเรามีเป้าหมายอย่างไร เขาก็จะไม่ชวนเราไปกินอาหารที่มีน้ำตาลมาก ไขมันมาก หรือไม่ชวนไปดื่มบ่อย ๆ หรือเราสามารถใช้สิ่งนี้เป็นข้ออ้างบอกปัดได้
สรุป
1. ตั้งเป้าหมายให้ง่าย เป้าหมายจะต้องไม่ยากเกินไป มีความเรียบง่าย สามารถทำสำเร็จได้โดยง่าย เช่น อ่านหนังสือวันละ 30 หน้า
2. กำหนดระยะเวลา ตั้งเป้าหมายโดยมีระยะเวลากำกับเอาไว้ เพื่อให้สามารถทำเป็นกิจวัตรประจำวันได้ ยกตัวอย่างเช่น วิ่ง 30 นาที
3. แบ่งเป้าหมายออกเป็นย่อย ๆ เมื่อเรามีความคาดหวังเอาไว้ หรือมีความสำเร็จที่คาดหวังเอาไว้ เราจะต้องซอยย่อยออกเป็นเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น อยากจะมีสุขภาพดีขึ้น จะต้องซอยย่อยเป้าหมายออกเป็น ไม่รับประทานของหวาน งดน้ำอัดลม วิ่ง 30 นาที เป็นต้น
4. ทำ TO DO LIST การตั้งเป้าหมายจะประสบความสำเร็จมากหากเราทำ List เป็นภารกิจเอาไว้หลาย ๆ อัน เพื่อให้เราบรรลุผลได้ในแต่ละวัน โดย List ภารกิจไว้เป็นรายเดือนจะยิ่งดีเพื่อให้เห็นภาพความสำเร็จที่ชัดเจน
การออกแบบเป้าหมาย ควรจะมีความเรียบง่าย
สามารถทำได้ทุกวัน มีความสนุก
และทำให้เกิดความภาคภูมิใจ
อ้างอิง
Kabasawa, S. (2018). The Power of Output: How to Change Learning to Outcome. Tokyo: Sanctuary.
ชัชพล เกียรติขจรธาดา. (2561). สงครามที่ไม่มีวันชนะ. นนทบุรี: อมรินบุ๊คเซ็นเตอร์
คาลอส บุญสุภา. (2564). จิตวิทยาของการขอบคุณ (Psychology of Gratitude). https://sircr.blogspot.com/2021/07/psychology-of-gratitude.html
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น