เราคาดหวังที่จะประสบความสำเร็จจากการเลือกคู่
ที่เหมาะกับเรามากกว่าความสุขที่เป็นผลพลอยได้
จากสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น
เวลาที่ใครก็ตามขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะได้รับความสนใจอย่างสูงในทันที เนื่องจากเป็นประเทศมหาอำนาจและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างสูงเช่นเดียวกันก็คือสตีหมายเลขหนึ่ง ซึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศสหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดี และสตีหมายเลขหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในด้านความสัมพันธ์หลายคู่ หนึ่งในนั้นคือ บารัค โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐคนที่ 44 ที่ได้รีบการเลือกตั้งถึง 2 สมัยและมี มิเชลล์ โอบามา (Michelle Obama) ภรรยาของเขาซึ่งเป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง
ทั้งคู่แต่งงานและมีชีวิตคู่ร่วมกันมา 28 ปี และได้รับการยอมรับจากประชาชนมากมายให้เป็นคู่รักที่สมบูรณ์แบบ แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาไม่คิดแบบนั้น มิเชลล์เคยเล่าเอาไว้ว่า ตลอดระยะเวลาที่แต่งงานกัน 28 ปี มีบางช่วงที่เธออยากจะผลักบารัคให้กระเด็นตกหน้าต่างไปเลย อีกทั้งยังเคยมีเหตุการณ์ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาทะเลาะกันจนมิเชลล์ถอดแหวนหมั้นทิ้ง แม้เธอจะเล็งไปในจุดที่สุดท้ายแล้วเธอต้องหาเจอก็ตาม
ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง พวกเขาต้องพบเจอช่วงเวลาที่ยากลำบากหลายครั้ง ซึ่งเต็มไปด้วยความเครียด การกระทบกระทั่งกันและบางทีก็ทิ้งเวลาบาดหมางยาวนานพอสมควร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะจบความสัมพันธ์ลง ในทางกลับกันความสัมพันธ์ของทั่งคู่เข้มแข็งมากขึ้น พวกเขามีความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นพื้นฐาน และทั่งสองต่างมีความเห็นอกเห็นใจต่อกัน เธอเล่าว่า "ถ้าฉันยอมแพ้ตั้งแต่ตอนนั้น ถ้าฉันเดินจากความสัมพันธ์ออกมาในระหว่างช่วงเวลาที่ยากลำบาก"
"ฉันอาจจะพลาดช่วงเวลาที่ดีอีกมากมายที่อยู่ตรงนั้นเช่นกัน"
ในเมื่อคู่รักที่โลกยอมรับขนาดนี้ยังมีเหตุการณ์ทะเลาะกันรุนแรงไม่ใช่เพียงครั้งสองครั้ง เช่นเดียวกับคู่รักมากมายทั่วโลกที่ต่างก็มีปัญหาความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน แต่เพราะเหตุใดหลายคู่ต้องเลิกรากันไปแม้ว่าจะคบกันมานานแค่ไหนก็ตาม ในทางกลับกันบางคู่แม้จะทะเลาะกันบ้างแต่ก็รักกันและอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง คำถามนี้น่าสนใจอย่างมาก บทความนี้จึงให้ความสำคัญกับคำถามดังกล่าว
สาเหตุที่ความสัมพันธ์ไม่คงอยู่ตลอดไป
ผมเชื่อว่าตอนแรกที่คบกัน แทบจะไม่มีคู่ไหนคาดคิดถึงจุดจบว่าจะต้องเลิกรากัน ทุกคนต่างพบเจอกันและตกหลุมรักโดยมีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งแรกที่ทุกคนต่างเข้าใจผิดก็คือ "เราจะคบหากับคนที่สมบูรณ์" หลายคนคาดหวังไว้เช่นนั้น แต่มันจะเป็นแบบนั้นได้จริงหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ที่คนคนหนึ่งจะสมบูรณ์แบบเป็นไปตามที่เราต้องการ ผมเชื่อว่าหลายคนคิดเข้าข้างตัวเองว่าคนนั้นคือคนที่ใช่ อันเนื่องมาจากกลไกทางจิตใจและกลไกทางชีววิทยาในร่างกาย (ฮอร์โมนและสารสื่อประสาท) ต่อให้เราพบเจอคนที่สมบูรณ์พร้อมไปเสียทุกอย่างก็ตาม แต่มันคงเดิมแบบนี้ไปตลอดหรือไม่
สิ่งที่เรามักจะลืมคิดไปก็คือ ลักษณะนิสัยหรือบุคลิกของคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นคู่ที่เราคิดว่าสมบูรณ์แบบอาจจะไม่สมบูรณ์แบบไปตลอดก็ได้ เพราะมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยไปตามบริบทที่เราอยู่ ในหนังสือ The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwel) ได้เขียนถึง วอลเตอร์ มิเชล (Walter Mischel) นักจิตวิทยาชื่อดัง เขากล่าวว่า "จิตใจของมนุษย์มี วาล์ว ซึ่งทำหน้าที่สร้างและรักษาความต่อเนื่องทางความคิดเอาไว้ กล่าวคือ เรายังคิดว่าเราก็ยังเหมือนเดิมอยู่นะ แต่ในความจริงแล้วเราเปลี่ยนไป
จึงไม่แปลกที่หลายครั้งเราเปลี่ยนไป เติบโตขึ้น แต่เรากลับไม่รู้ตัวเองจนกระทั่งมีคนรอบตัวมาทัก นอกจากนั้นเราอาจจะแสดงพฤติกรรมที่อ่อนโยน อบอุ่น โอนอ่อนผ่อนตามเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมหนึ่ง เช่น ร้านกาแฟ ที่ทำงาน หรืออยู่สังคมที่ไม่คุ้นเคย แต่กลับแสดงพฤติกรรม ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตร เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยอย่างบ้าน หรือเวลาที่อยู่กับเพื่อนสนิท ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมหรือผู้คนที่เราคุ้นเคย กล่าวคือ แค่บริบท สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันก็ทำให้คนเราแสดงออกต่างกันแล้วหลายคนเชื่อว่าบุคลิกเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คุณทำแบบทดสอบ MBTI อย่างไรก็ต้องเป็นแบบนั้นแน่นอน พวกเขาใช้เวลาไปกับการมองหาคนที่ "สมบูรณ์แบบ" มาคบกันและแต่งงานด้วย หรือคนที่มีบุคลิกสอดคล้องกับเรา (ตามทฤษฎี) หลายคนไม่เคยอยู่ในความสัมพันธ์ระยะยาวเพราะความเข้าใจพื้นฐานแบบผิด ๆ เกี่ยวกับมนุษย์ พวกเขาคิดว่าเมื่อเจอคนที่ใช่ทุกอย่างก็จะได้ผลเอง แต่ด้วยการศึกษาของ วอลเตอร์ มิเชล (Walter Mischel) ทำให้เราเข้าใจอย่างชัดเจนว่าคนเราเปลี่ยนไปอยู่เสมอ และสามารถเปลี่ยนไปตามบริบทที่เกิดขึ้น นั่นจึงทำให้การสร้างชีวิตแต่งงานเป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ
เราคาดหวังที่จะประสบความสำเร็จจากการเลือกคู่ที่เหมาะกับเรามากกว่าความสุขที่เป็นผลพลอยได้จากสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น เมื่อทุก ๆ อย่างไม่เป็นอย่างที่เราคิด เราก็มุ่งแต่จะจับผิดข้อเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเลือกที่จะไม่มองข้อดีของกันและกัน ทำให้เกิดการทะเลาะ ความโกรธ ความขัดแย้ง สะสมเป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือน แม้ว่าการทะเลาะกันจะเป็นเรื่องธรรมชาติในทุกความสัมพันธ์ แต่การทะเลาะกันรุนแรงบ่อยมากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะมันจะเป็นการสะสมประสบการณ์เชิงลบให้มากขึ้นไปเรื่อย ๆ
ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความผิดหวังที่คู่ครองไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่เราปรารถนา
เคล็ดลับทำให้ความสัมพันธ์ยั่งยืน
เบนจามิน ฮาร์ดี้ (Benjamin Hardy) นักจิตวิทยาชื่อดังผู้เขียนหนังสือ Personality isn't Permanent ได้แบ่งปันเคล็ดลับการสร้างความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน เขาอธิบายว่า อย่าแต่งงานเพราะตัวตน เพราะบุคลิกภาพจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา พูดง่าย ๆ บุคลิกของคู่ที่เราเลือกจะไม่คงอยู่ตลอดไป บางคนผ่านไปไม่กี่ปีทุกอย่างก็เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมแล้ว ในขณะที่บางคนอาจจะใช้เวลามากหน่อย แต่ไม่ว่าจะใครก็ตามล้วนเปลี่ยนแปลง เติบโตไปตามกาลเวลาแทบทั้งนั้น
คนเราจะเปลี่ยนแปลงได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับบริบทและความซับซ้อนของความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เงิน การย้ายที่อยู่ ลูก ๆ การเดินทาง อายุ โศกนาฏกรรม ความสำเร็จ ข้อมูลใหม่ ประสบการณ์ใหม่ หรือวัฒนธรรมใหม่ ปัจจัยทั้งหมดจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย ซึ่งจะทำให้บุคลิก นิสัยใจคอของเราค่อย ๆ เปลี่ยนตามไปด้วย
ในเมื่อคนที่เรารักจะต้องเปลี่ยนแปงไปอยู่แล้ว มันจึงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลที่เราจะต้องการคนที่สมบูรณ์แบบ และอยากให้เป็นแบบนี้อยู่เสมอ ดังนั้นแทนที่จะคบหา หรือแต่งงานกับคนคนหนึ่งเพราะตัวตนของเขาในตอนนี้ มันต้องใช้มากกว่าปัญญาและความเข้าใจในการเลือกใครสักคนเพราะตัวตนในอนาคตของเขา และมุมมองที่ว่าเขาจะช่วยผลักดันเราให้เติบโตไปเป็นตัวตนที่เราต้องการในอนาคตได้อย่างไร เราจะต้องพิจารณาว่าคนคนนี้จะให้โอกาสเราได้ทำและเป็นทุกอย่างที่ต้องการหรือไม่
แล้วเราจะทำให้เขาได้ทำในแบบที่เขาต้องการหรือเปล่า
กล่าวคือเราจะต้องคบหาด้วยจุดประสงค์ที่สอดคล้องกัน "ฉันต้องการอะไร" "เธอต้องการอะไร" "เธอและฉันจะเติบโตไปในทิศทางใดในอนาคต" ซึ่งมันดีกว่าที่เราจะคบหากันเพราะบุคลิกภาพ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเป้าหมายหรือจุดประสงค์ที่ฉันและเธอตั้งเอาไว้มันก็เปลี่ยนเราทั่งคู่อย่างแน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นการพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพไม่เกี่ยวข้องกับการค้นหาความสมบูรณ์แบบ แต่เป็นการร่วมกันสร้างและกลายเป็นคนใหม่ด้วยกันผ่านความสัมพันธ์ที่ทั้งสองคนต้องปรับและเปลี่ยนมันอย่างแน่นอน
มิเชลล์ โอบามา (Michelle Obama) ไม่ได้ปรารถนาว่าวันหนึ่ง บารัค โอบามา (Barack Obama) จะเป็นประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐ แต่เธอยอมรับกับการตัดสินใจและการพยายามจะต่อสู้เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเขา แม้เธอจะมีอัตรา มีสิ่งที่เธอคาดหวังเอาไว้บ้าง และสิ่ง ๆ นั้นก็ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้ ซึ่งทำให้ทั่งคู่เกิดการทะเลาะกันบ้าง รุนแรงบ้าง เบาบ้าง แต่ความสัมพันธ์ก็ไม่ได้จบลง มันยั่งยืน คงที่
เพราะทั้งเธอและเขารักกันในสิ่งที่เป็น
และยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง
ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
อ้างอิง
Gladwell, M. (2002). The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference NY: Back Bay Books.
Hardy, B. (2020). Personality Isn't Permanent: Break Free from Self-Limiting Beliefs and Rewrite Your Story. NY: portfolio.
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์. (2564). More Than Word คำบันดาลใจ. กรุงเทพ: อะไรเอ่ย.
คาลอส บุญสุภา. (2564). อิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม (Environmental Influences). https://sircr.blogspot.com/2021/10/environmental-influences.html
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น