อิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม (Environmental Influences)

"อุปนิสัยที่เธอแสดงออกมาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั้น 
ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้แบบแผนหรือตามอำเภอใจ 
แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เวลา คนรอบตัว และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย"

            ในช่วงทศวรรษที่ 1970 นักสังคมศาสตร์กลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นำโดย ฟิลิป ซิมบาร์โด (Philip Zimbardo) ตัดสินใจสร้างคุกจำลองในห้องใต้ดินของอาคารภาควิชาจิตวิทยา มีผู้สมัครทั้งหมด 75 คน ซิมบาร์โดกับคณะได้ทำการคัดเลือกคนที่ดูมีสุขภาพจิตใจปกติโดยประเมินจากแบบทดสอบทางจิตวิทยา และมีสุขภาพที่แข็งแรงที่สุดเหลือ 24 จากนั้นก็เลือกว่าใครจะเป็นผู้คุมโดยใช้การสุ่ม แล้วมอบชุดเครื่องแบบ และแว่นกันแดดสีดำให้ พร้อมกับบอกหน้าที่ของพวกเขา ซึ่งก็คือรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเรือนจำ ส่วนที่เหลือครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นนักโทษ 

            เป้าหมายของการทดลองนี้เพื่อพยายามหาคำตอบว่า ทำไมเรือนจำถึงเป็นสถานที่ที่น่ารังเกียจนัก พวกเขาตั้งสมมติฐานว่าเพราะเรือนจำเต็มไปด้วยคนที่น่ารังเกียจ หรือเป็นเพราะสภาพแวดล้อมในเรือนจำที่น่ารังเกียจจนทำให้ผู้คนภายในเรือนจำมีนิสัยที่น่ารังเกียจตามไปด้วย เขาอยากจะรู้ว่าสภาพแวดล้อมมีผลต่อพฤติกรรมมากแค่ไหน 

            ในคืนแรกของการทดลอง ผู้คุมปลุกนักโทษตั้งแต่ตีสองแล้วสั่งให้พวกเขาวิดพื้นเข้าแถวเรียงชิดกำแพง และทำทุกอย่างตามที่ผู้คุมสั่ง ในตอนเช้าของวันที่สองบรรดานักโทษประท้วงด้วยการดึงหมายเลขประจำตัวบนเสื้ออกและไม่ยอมออกจากห้องขัง ผู้คุมจึงตอบโต้ด้วยการจับนักโทษแก้ผ้า ฉีดโฟมจากถึงดับเพลิงใส่พวกเขา จากนั้นจึงจับพวกผู้นำการประท้วงไปขังเดี่ยว ผู้คุมคนหนึ่งเล่าว่า "หลาย ๆ ครั้งพวกเราตะคอกใส่หน้าพวกเขาอย่างไม่ปราณี เพราะมันดูเข้ากันดีกับบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว" ระหว่างที่การทดลองดำเนินไป ผู้คุมก็ยิ่งโหดเหี้ยมและใช้ความรุนแรงมากขึ้น 

            หลังจากผ่าน 36 ชั่วโมงไป นักโทษคนหนึ่งเริ่มมีอาการทางจิตจนต้องออกจากการทดลอง และนั้นก็ไม่ได้หยุดผู้คุมเหล่านั้นเลย ไม่กี่วันผ่านไป ผู้คุมทุกคนต่างเริ่มคุกคามและข่มขู่นักโทษมากขึ้น พวกเขารู้สึกมีอำนาจเหนือกว่า ขณะที่นักโทษกลับยอมจำนนทั้งพยายามหาวิธีทำให้ผู้คุมพอใจ แต่นั้นยิ่งไปกระตุ้นความก้าวร้าวและความบ้าอำนาจของผู้คุมมากขึ้นไปเรื่อย ๆ 

            นักโทษคนหนึ่ง ร้องไห้อย่างบ้าคลั่งแต่ไม่กล้าออกไปจากคุกนี้ เพราะกลัวนักโทษคนอื่น ๆ จะตราหน้าว่าเขาเป็นนักโทษที่ไม่ดี ทำให้สถานการณ์ในห้องขังวุ่นวายและทำให้เพื่อนนักโทษคนอื่นเดือดร้อน จนซิมบาร์โดต้องเข้าไปแทรกแซงและปลอบกับนักโทษคนนั้นว่า "ฟังนะคุณไม่ใช่นักโทษ คุณคือ (ชื่อจริงของเขา) และผมเป็นนักจิตวิทยา ไม่ใช่ผู้คุม และที่นี่ไม่ใช่เรือนจำจริง เป็นเพียงการทดลอง และพวกเขาคืออาสาสมัคร ไม่ใช่นักโทษเหมือนกันกับคุณ ออกมาข้างนอกเถอะครับ" การปลอบโยนดังกล่าวได้ผล นักโทษหนุ่มสงบลงได้ในที่สุด ซึ่งสุดท้ายซิมบาร์โดจึงต้องยุติการทดลองลางคันหลังจากผ่านไปเพียงหกวัน นักโทษคนหนึ่งกล่าวหลังการทดลองสิ้นสุดว่า 

"ตอนนี้ผมรู้ซึ้งแล้วครับ ไม่ว่าผมจะคิดว่าตัวเองครองสติได้ดีแค่ไหน ผมก็ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมได้อย่างที่คิดไว้" 
            ข้อสรุปของซิมบาร์โดก็คือ สถานการณ์บางอย่างมีพลังมหาศาลเสียจนสามารถเข้าครอบงำนิสัยใจคอของเรา แน่นอนว่าพฤติกรรมของเราถูกหล่อหลอมมาจากสิ่งแวดล้อม ก่อนที่ซิมบาร์โดจะทำการทดลองนี้ นักจิตวิทยาทุกคนเข้าใจอย่างดีว่า การเลี้ยงดู สภาพสังคม เพื่อน ที่อยู่อาศัย สถานะทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อพฤติกรรมของเราแน่นอน รวมไปถึงพันธุกรรมด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ซิมบาร์โดค้นพบก็คือ สถานการณ์ ที่ประกอบไปด้วย ช่วงเวลา สถานที่ และบริบทแวดล้อมบางอย่างสามารถทำให้ปัจจัยเหล่านั้นไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง 

อิทธิพลของสภาพแวดล้อม

            นอกจากการทดลองของซิมบาร์โดจะแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างชัดเจนแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนอีกด้วย เพราะแม้แต่คนที่มีสุขภาพจิตดี ไม่ได้มีลักษณะพฤติกรรมที่ดูก้าวร้าวเลย ดูเป็นคนปกติทั่วไปนี้แหละ ยังแสดงพฤติกรรมที่น่ารังเกียจซึ่งตัวเขาในตอนหลังก็แทบจะไม่อยากเชื่อว่าตัวเองทำแบบนั้นลงไป หรือขนาดซิมบาร์โดเองซึ่งเป็นนักจิตวิทยาก็ยังนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์น่ารังเกียจที่เกิดขึ้นในคุกจำลอง

            ถ้าไม่ได้นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน คริสตินา มาสเลช (Christina Maslach) ที่เตือนสติซิมบาร์โดและทีมวิจัยทั้งหมด การทดลองนี้ก็คงยังดำเนินต่อไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาบ้าง มาสเลชเตือนสติพวกเขาโดยกล่าวว่า "พวกคุณรู้ไหมว่าสิ่งที่พวกคุณทำกับอาสาสมัครพวกนี้มันแย่มาก พวกเขาไม่ใช่นักโทษหรือผู้คุม พวกเขาเป็นแค่คนธรรมดาและพวกคุณจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น" นั้นจึงเป็นเหตุผลให้การทดลองนี้ยุติหลังจากผ่านไปเพียงแค่ 6 วัน

            จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างมากว่าเพราะอะไรสภาพแวดล้อมถึงมีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์ได้ถึงขนาดนี้ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถใช้การคิดขั้นสูงได้ สามารถสร้างสรรค์สิ่งวิเศษมากมาย แต่กลับตกม้าตายเพียงเพราะพื้นที่รอบ ๆ ไม่กี่เมตรหรือสิ่งเร้ารอบตัวเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น แล้วหลายครั้งสิ่งเร้านั้นก็มีพลังเกินกว่าที่จะต้านทานได้ การทดลองของซิมบาร์โดเป็นตัวอย่างที่ดีมากว่าสิ่งเร้ารอบ ๆ ตัวกระตุ้นให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมที่ยากเกินกว่าที่จะคาดเดา แล้วที่น่าตลกก็คือเราแสดงออกโดยไม่รู้ตัว

            ในหนังสือ The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwel) ได้เขียนถึง วอลเตอร์ มิเชล (Walter Mischel) นักจิตวิทยาชื่อดัง เขากล่าวว่า "จิตใจของมนุษย์มี วาล์ว ซึ่งทำหน้าที่สร้างและรักษาความต่อเนื่องทางความคิดเอาไว้ ถึงแม้จะสังเกตเห็นอยู่ตลอดเวลาว่าพฤติกรรมได้เปลี่ยนไปแล้วก็ตาม" กล่าวคือ เรายังคิดว่าเราก็ยังเหมือนเดิมอยู่ ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยทั้ง ๆ ที่เราเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ จึงไม่แปลกที่หลายครั้งเราเปลี่ยนไป เติบโตขึ้น แต่เรากลับไม่รู้ตัวเองจนกระทั่งมีคนรอบตัวมาทัก

            มิเชลยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าบางทีมนุษย์ก็แสดงพฤติกรรมที่ขัดแย้งกันออกมาโดยเขาเล่าว่า "เมื่อเราสังเกตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งมีท่าทีไม่เป็นมิตรและทะนงตน แต่บางครั้งก็กลับมีท่าทางอ่อนโยน โอนอ่อนผ่อนตาม และนอบน้อม วาล์วของเรามักจะบีบให้เราเลือกระหว่างท่าทีทั้งสองนี้ เราจึงมองว่าท่าทีหนึ่งเป็นฉากหน้าของอีกท่าทีหนึ่ง หรือทั้งสองท่าทีเป็นฉากหน้าของตัวตนที่แท้จริง เธอคงเป็นสาวแกร่งที่ซ่อนความอ่อนโยนเอาไว้หรือไม่อาจเป็นผู้หญิงหัวอ่อนที่มีฉากหน้าเป็นท่าทีอันแข็งกร้าว"

            "อย่างไรก็ตาม บางทีธรรมชาติอาจยิ่งใหญ่กว่าที่ความคิดของมนุษย์จะรองรับไหวก็เป็นไปได้" มิเชลเล่าต่อ "ผู้หญิงคนนั้นอาจทะนงตน ไม่เป็นมิตร โอนอ่อนผ่อนตาม นอบน้อม อ่อนโยน ก้าวร้าว อบอุ่น และห้าวหาญรวมอยู่ในตัวคนคนเดียว แน่นอนว่าอุปนิสัยที่เธอแสดงออกมาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้แบบแผนหรือตามอำเภอใจ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เวลา คนรอบตัว และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ทุกอุปนิสัยที่เธอแสดงออกมาล้วนเป็นตัวตนของเธอจริง ๆ ทั้งนั้น"

            ดังนั้นพฤติกรรมของเราที่แสดงออกมาอาจจะอ่อนโยน อบอุ่น โอนอ่อนผ่อนตามเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมหนึ่ง เช่น ร้านกาแฟ ที่ทำงาน หรืออยู่สังคมที่ไม่คุ้นเคย แต่กลับแสดงพฤติกรรม ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตร เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยอย่างบ้าน หรือเวลาที่อยู่กับเพื่อนสนิท ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมหรือผู้คนที่เราคุ้นเคย กล่าวคือ แค่บริบทหรือสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันก็ทำให้คนเราแสดงออกต่างกันแล้ว

            สภาพแวดล้อมจึงประกอบไปด้วยสิ่งเร้าเยอะแยะมากมายที่กระตุ้นให้มนุษย์แสดงออกแตกต่างกันไป เช่น เวลาเราอยู่ในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดก็จะรับประทานอาหารเร็วขึ้น ด้วยสีของร้านบ้าง หรือเพลงบ้าง แต่จะรับประทานอาหารช้าลงหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผ่อยคลาย เพลงเบา ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่วัตถุอย่างเดียวที่มีอิทธิพลต่อเรา แต่สังคมก็มีอิทธิพลกับเราด้วยเหมือนกัน เช่น เราอาจจะค่อย ๆ มีความคิดที่จำเจมากขึ้น เมื่อคนรอบ ๆ ตัวเป็นคนที่คิดแบบจำเจ พูดง่าย ๆ พฤติกรรมเราจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามคนรอบ ๆ ตัว

            หรือตัวอย่างที่เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ "หากเพื่อนสนิทของเราเริ่มอ้วนเราก็มีความเสี่ยงจะอ้วนขึ้นด้วย" เพราะมนุษย์เรามีสัญชาตญาณที่ชอบอาหาร หวาน มัน เค็ม เนื่องจากในอดีต สมัยที่บรรพบุรุษเป็นพรานล่าของป่า เราจะมีโอกาสได้กินค่อนข้างน้อย อาหารจำพวกหวาน มัน เค็มจะให้พลังงานได้เยอะเพื่อให้เรามีพลังงานไว้ล่าสัตว์หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องใช้แรง ดังนั้นเมื่อเราเห็นเพื่อนชอบกินอาหารประเภทนี้ ก็มีแนวโน้มจะกินตามไปด้วย (เพราะเราชอบมันอยู่แล้ว)

            ไม่ใช่เพียงพฤติกรรมของเราจะเปลี่ยนแปลงแบบไม่รู้ตัวเท่านั้น แต่บางครั้งอิทธิพลทางสังคมก็กดดันให้เราจำเป็นต้องประพฤติตัวตามคนในสังคมโดยที่เรารู้ตัว เพราะหลัก ๆ แล้วอิทธิพลทางสังคมมีหน้าที่สองอย่างด้วยกัน อย่างแรกคือข้อมูล โดยการกระทำและความคิดอ่านของคนหมู่มากจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่านั้นคือสิ่งที่คุณควรทำหรือคิด หน้าที่อย่างที่สองคือ เป็นแรงกดดันให้เกิดพฤติกรรม หากเรากังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตนเอง (แม้ส่วนใหญ่เราจะทึกทักไปเองก็ตาม) เราก็อาจทำตามคนส่วนใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พวกเขาขุ่นเคืองหรือเพื่อเพิ่มคะแนนพิศวาส

            ตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุการณ์นี้เกิดจากแผนฆ่าชาวยิวทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นดินภายใต้การยึดครองของเยอรมนี โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) นับตั้งแต่ปี 1930 เป็นต้นมาที่นาซีได้เริ่มบัญญัติกฎหมายลิดรอนสิทธิของชาวยิว ห้ามมิให้ชาวยิวเข้าไปเรียนในสถานศึกษาของรัฐ บังคับให้มอบทรัพย์สินเงินทองแก่รัฐ และกำหนดให้พวกเขาต้องติดดาวสีเหลืองไว้กับตัว อันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) เป็นนักปรัชญาชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกาเล่าว่า 

"นาซีจำนวนมหาศาลยินดีที่จะทุบตีชาวยิวให้ตายคาถนน หากชาวยิวคนนั้นไม่กล่าวทักทายด้วยวลี ไฮล์ ฮิตเลอร์"

            พฤติกรรมที่น่าสมเพชดังกล่าวเกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว ที่ชาวฝรั่งเศสผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกไล่สังหารชาวฝรั่งเศสที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ หรือแม้แต่การฆ่านักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่คนจำนวน 1100 คน ดื่มน่ำผลไม้ผสมยาพิษไซยาไนด์ เพื่อฆ่าตัวตายหมู่ (White Night)

            เพราะอะไรสภาพแวดล้อมถึงมีอิทธิพลต่อมนุษย์มากมายขนาดนี้ ทั้งตัวอย่างที่ผมกล่าวมาด้านบน การทดลองของซิมบาร์โด และการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว ความจริงแล้วมันอยู่ที่ระบบการคิดของเรา แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาชาวอิสราเอล-อเมริกัน ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ Thinking Fast and Slow ได้แยกระบบการทำงานของสมองออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบ 1 (เร็ว) ระบบ 2 (ช้า) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            ระบบที่ 1 จะเป็นระบบที่ทำงานอย่างรวดเร็ว แต่จะเป็นการคิดแบบง่าย ๆ ใช้สัญชาตญาณ อารมณ์ ความรู้สึก (จิตใต้สำนึก) ในขณะที่ ระบบที่ 2 จะเป็นระบบที่ทำงานช้า ขี้เกียจ แต่เป็นระบบคิดแบบซับซ้อน ใช้การคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง (จิตสำนึก)

            คาฮ์นะมัน อธิบายว่า ระบบ 1 (จิตใต้สำนึก) จะทำงานโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ระบบ 2 (จิตสำนึก) จะอยู่ในสถานะที่ใช้ความพยายามต่ำ ระบบ 1 จะมอบคำแนะนำให่แก่ระบบ 2 อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเเป็นความรู้สึก สัญชาตญาณ ความตั้งใจ หรืออารมณ์ต่าง ๆ หากระบบ 2 เห็นด้วยกับคำแนะนำนั้น ความรู้สึกกับสัญชาตญาณจะแปรเปลี่ยนไปเป็นความเชื่อ ส่วนสิ่งอื่น ๆ จะแปรเปลี่ยนเป็นการกระทำที่ควบคุมได้ หากสถานการณ์ดำเนินไปด้วยดี (ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นแบบนั้น) ระบบ 2 จะทำตามคำแนะนำของระบบ 1  

            จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายครั้งเราจะทำตามกลุ่มทั้ง ๆ ที่หลายครั้งสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องที่ผิดก็ตาม เหมือนกับตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมา เพราะเราดำเนินชีวิตด้วยระบบ 1 (สัญชาตญาณ อารมณ์ ความรู้สึก)ในขณะที่ระบบ 2 (การคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง) เป็นส่วนที่ขี้เกียจมาก มันจะปล่อยให้ระบบ 1 จัดการและดูแลเป็นส่วนใหญ่ นั้นจึงเป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทีอิทธิพลมนุษย์เป็นอย่างมากหากเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มด้วยวัฒนธรรมหรือด้วยการเลี้ยงดู เราก็มีแนวโน้มจะเติบโตมาเป็นคนคล้อยตามคนส่วนใหญ่ได้ง่ายโดยที่เราแทบจะไม่คิดไตร่ตรองอะไรเลยด้วยซ้ำ

ค่านิยมตลอดชีวิตสามารถถูกกำหนดด้วยสภาพแวดล้อม

            ในหนังสือ Sapians ยูวาล โนอา ฮารารี่  (Yuval Noah Harari) ผู้เขียนได้ยกเรื่องค่านิยมของชาวตะวันตกที่เชื่อในเรื่องของปัจเจกชน กล่าวคือชาวตะวันตกเชื่อว่าแต่ละคนมีรัศมีหรือลำแสงที่จะเฉิดฉายเป็นตัวของตัวเอง มีคุณค่าเฉพาะบุคคลที่ไม่เหมือนใคร หรือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ครูตามโรงเรียนสมัยใหม่ของชาวตะวันตกและบรรดาผู้ปกครองต่างก็บอกกับเด็ก ๆ ว่าหากมีเพื่อนร่วมชั้นแกล้งหรือดูถูกพวกเขา พวกเขาก็ไม่ควรจะสนใจ ตัวของเราเท่านั้นที่จะรู้คุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง หาใช่คนอื่นไม่

            หากเพียงแค่คำพูด หรือความเชื่อมันก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดค่านิยมแบบปัจเจกชน หรือคุณค่าแท้ในตัวเองอย่างอื่นขึ้นมาได้ง่าย ๆ หรอก ถ้าไม่มีปัจจัยมากระตุ้น หรือเสริมแรง ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ "วัตถุ" หรือจะเรียกว่า "สภาพแวดล้อม" ก็ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ที่อยู่อาศัยของเด็กชาวตะวันตก หากผู้อ่านเคยดูภาพยนตร์ตะวันตกจะเห็นว่าบ้านของพวกเขาเป็นอย่างไร

            บ้านของพวกเขาส่วนใหญ่มักจะแบ่งออกเป็นห้อง ๆ จำนวนมาก เพื่อให้เด็กแต่ละคนได้มีพื้นที่ส่วนตัวที่พ้นสายตาเพื่อให้แสดงความเป็นตัวตนออกมาได้เต็มที่ ห้องส่วนตัวแบบนี้จะต้องมีประตูพร้อมคล้องกุญแจ แม้แต่พ่อแม่ก็ห้ามล่วงล้ำเข้าห้องโดยไม่เคาะหรือขออนุญาตก่อน เด็ก ๆ จะตกแต่งอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์นักร้องวงร็อกบนผนังหรือถุงเท้าสกปรกกองอยู่ที่พื้น 

            เด็กที่โตมาในสภาพแวดล้อมเหล่านี้ ก็ช่วยไม่ได้ที่พวกเขาจะจินตนาการว่าตัวเอง "เป็นปัจเจกชน" พวกเขาเชื่อว่าตัวเองมีคุณค่าที่แท้จริงอยู่ภายในตัวเอง ที่แตกต่างกันไปแต่ละคน เพราะว่าในระหว่างที่พวกเขาโตขึ้น พวกเขาได้ค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเอง ค้นหาตัวเอง และสร้างสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้เกิดอัตลักษณ์เฉพาะบุคคลขึ้นมา กล่าวคือค่านิยมดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีสภาพแวดล้อมที่อำนวย หรือเสริมแรงให้เกิดขึ้น

            ค่านิยมปัจเจกชนที่แตกต่างกับในอดีต แม้จะเป็นประเทศตะวันตกด้วยกัน แต่ในยุคกลางไม่มีความเชื่อเรื่องปัจเจกชน คุณค่าของคนกำหนดไว้ด้วยสถานะในลำดับชั้นทางสังคมและด้วยสิ่งที่คนอื่น ๆ กล่าวเกี่ยวกับคนคนนั้น การถูกหัวเราะเยาะเป็นการหยามเกียรติอย่างร้ายแรง คนชั้นสูงสั่งสอนลูก ๆ ให้ปกป้องเกียรติของพวกเขาอย่างสุดความสามารถ ซึ่งแตกต่างกับประเทศตะวันตกในปัจจุบันที่เชื่อว่าเกียรติไม่มีวันสั่นคลอนเพียงแค่การหยอกล้อ หรือเหยียดหยาม แต่มันจะคงอยู่ในตัวเราเสมอ

            เหตุผลที่คนยุคกลางมีค่านิยมแบบนั้นก็มีอิทธิพลมาจากสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นครอบครัวที่รวยขนาดไหนก็ตาม หรือมีบ้านเป็นประสาท ก็หายากมากที่จะมีห้องส่วนตัวสำหรับเด็ก ลูกชายวัยรุ่นของบารอนในยุคกลางไม่มีห้องส่วนตัวที่ชั้นสองของปราสาท ไม่มีโปสเตอร์รูปพระเจ้า ริชาร์ดใจสิงห์ หรือกษัตริย์อาร์เธอร์บนผนัง และไม่มีประตูที่ลงกลอนที่พ่อแม่จะต้องได้รับอนุญาตก่อนจะเปิดได้ 

            เด็ก ๆ จะต้องนอนข้าง ๆ วัยรุ่นคนอื่น ๆ อีกมากมายที่อยู่ในห้องโถงใหญ่ ทุกคนจะได้เห็นพวกเขาได้ตลอดเวลา และพวกเขาเองก็จะต้องใส่ใจกับสิ่งที่คนอื่นเห็นและพูดเช่นกัน คนที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมดังกล่าวย่อมต้องสรุปเอาเองตามธรรมชาติว่าคุณค่าที่แท้จริงของคนถูกกำหนดด้วยตำแหน่งของเขาในลำดับชั้นทางสังคม และโดยสิ่งที่ผู้อื่นกล่าวถึงเกี่ยวกับตัวเขา คล้าย ๆ กับวัฒนธรรมตะวันออกในหลาย ๆ ประเทศที่ครอบครัวจะอยู่รวมกันโดยที่แทบจะไม่มีพื้นที่ความเป็นส่วนตัวเลย

            วัฒนธรรม ความคิด พฤติกรรมของมนุษย์ในแต่ละประเทศจึงมีความแตกต่างกันไปด้วยสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเติบโตมาด้วยกล่าวคือ ชาวตะวันตกที่ยึดกับคุณค่าเฉพาะตัวบุคคลแต่ต้องเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกับชาวตะวันออกส่วนใหญ่ที่ทุกคนต้องอยู่รวมกันในห้องเดียวกัน ไม่มีความเป็นส่วนตัว ก็เป็นเรื่องยากจนถึงยากมาก ๆ ที่เขาจะเติบโตมาด้วยยึดถือคุณค่าเฉพาะตัวบุคคลที่แท้จริง เพราะอย่าลืมว่าวิถีชีวิตสามารถออกแบบได้โดยสภาพแวดล้อม

            เราจึงพบเห็นมากมายว่าในประเทศเรา ผู้ใหญ่จะไม่ไว้ใจเด็กเลย เช่น คิดว่าถ้าใส่ชุดอะไรก็ได้มาโรงเรียนเด็กจะใส่ชุดว่ายน้ำ ใส่ชุดที่ไม่เหมาะสมบ้าง หากไว้ผมได้ตามใจชอบก็จะคิดว่าเด็กจะไปย้อมสีผมมาบ้าง ทำผมแบบแปลก ๆ ที่ดูไม่สุภาพบ้าง ทั้ง ๆ ที่มันควรจะเป็นพื้นที่ที่ให้พวกเขาได้ค้นหาตัวเองได้อย่างเต็มที่ ลองผิด ลองถูก ลองล้ม ลองคลานดูบ้างกับชีวิต 

เพื่อที่เขาจะเติบโตไปอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล ไม่ใช่ใช้เพียงระบบที่ 1 ทำตาม ๆ กันอย่างกับหุ่นยนต์ที่ถูกเขียนโปรแกรมไว้ให้วิ่งหาความสำเร็จ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้เลยว่าความสำเร็จมันคืออะไร
สรุป

            ดังนั้นถ้าเราอยากจะปลูกฝังทัศนคติหรือความคิดอะไรบางอย่าง เราสามารถเริ่มได้จากการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เพียงแต่เราจะต้องเข้าใจว่าสภาพแวดล้อมแบบไหนที่หล่อหลอมให้คนมีพฤติกรรมที่พึงปรารถนาได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากจะเรียนเก่งมากขึ้นจะต้องอยู่กลุ่มเดียวกับเพื่อนที่เรียนเก่ง หรืออยู่ในห้องที่สิ่งเร้ารบกวนสมาธิน้อย หรือหากอยากจะลดความอ้วนจะต้องไม่เข้าไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่นิยมการกินเป็นพิเศษ และที่บ้านจะต้องมีอาหารในตู้เย็นไม่เยอะจนเกินไป

            สภาพแวดล้อมสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเราจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หลายอย่างที่ทำให้เรารู้สึกตกใจได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว ผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกไล่สังหารชาวฝรั่งเศสที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ การฆ่านักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์ฆ่าตัวตายหมู่ (White Night) รวมไปถึงการทดลองคุกสแตนฟอร์ด โดย ฟิลิป ซิมบาร์โด (Philip Zimbardo) ก็สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน เพียงแค่อยู่ในบริบทหรือสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งเร้ามากพอในการกระตุ้น

            เหตุผลที่จิตใจของมนุษย์ปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม วอลเตอร์ มิเชล (Walter Mischel) นักจิตวิทยาชื่อดัง เขากล่าวว่า "จิตใจของมนุษย์มี วาล์ว ซึ่งทำหน้าที่สร้างและรักษาความต่อเนื่องทางความคิดเอาไว้ กล่าวคือ เรายังคิดว่าเราก็ยังเหมือนเดิมอยู่นะ แต่ในความจริงแล้วเราเปลี่ยนไป จึงไม่แปลกที่หลายครั้งเราเปลี่ยนไป เติบโตขึ้น แต่เรากลับไม่รู้ตัวเองจนกระทั่งมีคนรอบตัวมาทัก นอกจากนั้นเราอาจจะแสดงพฤติกรรมที่อ่อนโยน อบอุ่น โอนอ่อนผ่อนตามเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมหนึ่ง เช่น ร้านกาแฟ ที่ทำงาน หรืออยู่สังคมที่ไม่คุ้นเคย แต่กลับแสดงพฤติกรรม ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตร เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยอย่างบ้าน หรือเวลาที่อยู่กับเพื่อนสนิท ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมหรือผู้คนที่เราคุ้นเคย กล่าวคือ 

แค่บริบท สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันก็ทำให้คนเราแสดงออกต่างกันแล้ว

            นอกจากนั้นแล้วค่านิยมตลอดชีวิตสามารถถูกกำหนดด้วยสภาพแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น ค่านิยมปัจเจกบุคคล คุณค่าที่เชื่อว่ารัศมีหรือลำแสงที่จะเฉิดฉายเป็นตัวของตัวเอง เราทุกคนต่างมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป ก็สามารถถูกหล่อหลอมและสร้างขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นส่วนตัว เด็กสามารถกำหนดความเป็นตัวเองได้ตามที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นการติดโปสเตอร์ต่าง ๆ หรือตกแต่งห้องได้ตามที่ตัวเองต้องการ ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมตะวันออกที่โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะใช้เวลาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว มากกว่าการอยู่เป็นส่วนตัวหรือมีพื้นที่ส่วนตัว 

            สภาพแวดล้อมมีอิทธิพลกับเรามากถึงขนาดนี้เป็นเพราะว่ากระบวนการคิด 2 ระบบของเรา ที่มีความช้าเร็วแตกต่างกัน พฤติกรรมส่วนใหญ่ของเราแสดงออกอย่างที่เราไม่รู้ตัวเพราะระบบที่ 1 ที่ใช้สัญชาตญาณ อารมณ์ ความรู้สึก มากกว่าระบบ 2 ที่ใช้การคิดวิเคราะห์ หรือการไตร่ตรอง นั้นจึงเป็นเหตุผลที่สิ่งเร้ารอบ ๆ ตัวมีอิทธิพลกับเราอย่างมาก และสิ่งแวดล้อมยังสามารถกำหนดคุณค่าในชีวิต ความเชื่อและพฤติกรรมของเราได้ ยกตัวอย่างการออกแบบสำนักงานที่กระตุ้นให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นโดยการสร้างพื้นที่ให้พนักงานพูดคุยสื่อสารกันมากขึ้น ดังนั้น

เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม 
หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้เลย
อ้างอิง

Gladwell, M. (2002). The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference NY: Back Bay Books.

Harari, N. Y. (2015). Sapiens a Brief History of Humankind NY: Harper.

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

Thaler, R. & Sunstein, C. (2009). Nudge: Improving Decisions About Health, Wealth, and Happiness. NY: Penguin Books.

คาลอส บุญสุภา. (2564). รู้เท่าทันตนเองและการทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ด (Standford Prison Experiment). https://sircr.blogspot.com/2021/08/standford-prison-experiment.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). มนุษย์เราเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา. https://sircr.blogspot.com/2021/07/blog-post_30.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). การเปลี่ยน "ความคิด" เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนตนเองได้. https://sircr.blogspot.com/2021/09/blog-post.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). อิทธิพลทางสังคม ที่ทำให้เกิด การคล้อยตาม (Conformity). https://sircr.blogspot.com/2021/10/conformity.html

ความคิดเห็น