การประคับประคองใจเมื่ออกหักจากความรัก (Broken Heart)

เราต้องหันมาใจดีกับตัวเองบ้าง 
เพราะเราทำดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้แล้ว     

            ความรักเป็นสิ่งที่วิเศษที่เกิดขึ้นกับคนทุกคน เวลาที่เรามีความรักมันเหมือนกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งหมด เราสามารถทำได้ทุกอย่าง ก้าวไปได้ทุกอาณาเขต ทุกบริเวณ แม้มันจะยากสักเพียงใดก็ตาม ในขณะเดียวกันช่วงเวลาที่ความรักสิ้นสุดลงก็เป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดมากที่สุดเช่นเดียวกัน ทุกอย่างดูเหมือนเป็นอัมพาตไปเสียหมด โลกแทบจะหยุดลงทันที หลายคนเผชิญกับความทุกข์ และความโศกเศร้าที่เกินกว่าจะรับมือได้ บางคนเผชิญเป็นระยะเวลายาวนานจนเป็นโรคซึมเศร้าก็มี

            ผมเชื่อว่าเราทุกคนเคยมีความรัก และความผิดหวังมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการหัวใจสลายจากการสูญเสียของใครสักคนที่เราผูกพันหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงก็ตาม มันมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับการอกหักอย่างมากเพราะมันคือรูปแบบหนึ่งของความผิดหวัง ที่ทำให้เรารู้สึกว่าโลกรอบ ๆ ตัวมันได้แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ หลายคนเคยฟื้นขึ้นมาจากการช่วยเหลือของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือครอบครัว ในขณะที่บางคนมีปัจจัยภายนอกมาช่วยเหลือน้อยมาก มีเพียงแค่ตัวเองเท่านั้นที่ต้องพึ่งพา

            ผู้อ่านบางคนอาจกำลังเผชิญกับความรู้สึกเจ็บปวดจากการอกหักอยู่ก็ได้ บางคนอาจกำลังมีความรู้สึกและอารมณ์ที่อัดแน่นจนยากจะระบุได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงความรู้สึกสับสน ไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองถึงไม่สามารถหลุดออกภาวะนี้ไปได้เสียที กลายเป็นความคับข้องใจที่จะต้องใช้เวลาให้เคยชินเพื่อปล่อยวางความรู้สึกดังกล่าวออกไป บทความนี้ผมเขียนขึ้นมาเป็นความรู้โดยจะใช้จิตวิทยาเพื่อทำความเข้าใจกับความรักมากขึ้น และนำเสนอว่าเราจะประคับประคองใจเมื่ออกหักจากความรักได้อย่างไร 

การอกหักเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

            ก่อนจะไปถึงการอกหักผมอยากจะอธิบายจุดเริ่มต้นของความรักเสียก่อน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจการอกหักได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลายคนคงรู้จักช่วงเวลาโปรโมชั่น เป็นช่วงที่ความรักมันเอ่อล้นมาก ๆ เพราะในช่วงเวลานั้นระบบทุกอย่างในร่างกายจะทำงานไม่เหมือนช่วงเวลาปกติ ลองนึกภาพดูนะครับช่วงเวลาที่เราตกหลุมรัก ทุกอย่างดูเป็นไปได้หมด เราสามารถทำทุกอย่างเพื่อคนที่รักได้ คนที่น้ำหนักเยอะก็มีแรงผลักดันที่จะลดน้ำหนัก เด็กบางคนขยันเรียนขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ อีกทั้งเรายังวิตกกังวล คิดมาก นอนแทบไม่หลับเพราะมัวแต่คิดถึงคนที่รักอยู่ตลอดเวลา

            ความผิดปกติต่าง ๆ เกิดจากการที่เราตกหลุมรักใครสักคน รู้จักกันในชื่อ "ช่วงโปรโมชั่น" ซึ่งในมุมของประสาทวิทยา สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความรักมากที่สุดคือสารโดพามีน (Dopamine) ที่เป็นสารที่ทำให้อารมณ์ดี เป็นแห่งรางวัล และสารออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่สารที่ทำให้ผ่อนคลาย อบอุ่น สุดท้าย สารสื่อประสาททั้ง 2 จะทำงานร่วมกันเมื่อเราเกิดความรัก มันเหมือนกับเป็นรางวัลทางจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น เวลาได้ยินคำว่ารักจากคนรู้ใจ จะทำให้เรารู้สึกดีและอบอุ่น (จากสารออกซิโทซิน) ซึ่งจะไปกระตุ้นการทำงานของโดพามีน ทำให้เราอยากได้คำพูดนั้นอยู่เสมอ เพราะเป็นการได้รับรางวัล 

            โดพามีนยิ่งหลั่งออกมามากขึ้นยิ่งทำให้เราอยากได้มันอีกครั้งหนึ่ง นั้นเป็นเหตุผลที่เรารู้สึกเศร้าอย่างมาก เวลาที่ไม่มีคนมาพูดบอกรักเราอีกแล้ว เพราะโดพามีนถูกกระตุ้นน้อยลงนั้นเอง แต่มีอีกสารสื่อประสาทหนึ่งที่สำคัญและจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีความรัก สารนี้ชื่อเอพิเนฟรีน (Norepinephrine) โดยสารนี้จะหลั่งออกมาจากต่อมหมวกไตเมื่อร่างกายเกิดความเครียด เช่น หัวใจเต้นเร็วและแรง กล้ามเนื้อเกร็ง ตื่นตัว สมาธิจดจ่อ ระบบทางเดินอาหารทำงานช้าลง จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเวลาเรามีความรักจะมีรู้สึกมีพลัง มีเรี่ยวแรงเยอะ ไม่หิว ไม่ง่วง

            ไม่เพียงแค่สารสื่อประสาทบางตัวจะทำงานเพิ่มขึ้นเมื่อตกหลุมรัก หรืออยู่ในช่วงโปรโมชั่น เพราะมีสื่อประสาทบางชนิดที่ลดลงและส่งผลกระทบต่อร่างกาย สารนั้นชื่อว่าเซโรโทนิน (Serotonin) โดยสารนี้จะลดลงเมื่อเรากำลังตกหลุมรัก และส่งผลให้สมองทำงานคล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ทำให้เราหมกมุ่นอยู่กับคนที่รัก และกังวลว่าอีกฝ่ายจะไม่สนใจ หรือกังวลว่าอีกฝ่ายจะนอกใจ คิดวนไปวนมา ซ้ำไปซ้ำมา โดยไม่สามารถสลัดเรื่องนี้ออกไปจากหัวได้เลย จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเวลาเรามีความรัก แต่รู้สึกไม่มีความสุข เพราะเรามัวแต่เป็นวิตกกังวลมากจนเกินไป ซึ่งหลายคนอาจจะแสดงออกเป็นการหึงหวงเกินเหตุก็ได้

            ผมได้เล่าการทำงานของระบบประสาทเมื่อมีความรัก เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจพฤติกรรมระหว่างตกหลุมรักหรืออยู่ในช่วงโปรโมชั่นมากขึ้น ทั้งการทำอะไรเวอร์ ๆ อบอุ่น ใส่ใจ ดูคลั่งรัก มีแรงเยอะ ไม่เป็นอันกินอันนอน ย้ำคิดย้ำทำ และหึงหวง เกิดจากการทำงานของสารสื่อประสาท ซึ่งจะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ กล่าวคือวันใดวันหนึ่ง ความอบอุ่น ดูใส่ใจ คลั่งจนไม่เป็นอันกินอันนอน และความย้ำคิดย้ำทำนี้จะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ ทำให้ทุกคู่รักเกิดการเปลี่ยนแปลง จนเป็นสาเหตุให้ความสัมพันธ์จบลงและมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอกหัก

การประคับประคองใจเมื่ออกหัก

            เมื่อมีโปรโมชั่น ก็มีวันที่หมดโปรโมชั่น ทำให้ความรักแบบหลงใหลค่อย ๆ ลดลงไป ทำให้ความรักอีกประเภทที่เป็นความผูกพันก่อตัวขึ้นช้า ๆ และความรักประเภทนี้เองที่คู่รักที่อยู่คู่กันมาอย่างยืนยาวต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่และมีความสุขมากกว่าช่วงโปรโมชั่นที่เต็มไปด้วยความร้อนแรง และความกังวล อย่างไรก็ตามคู่รักส่วนมากต้องยุติความสัมพันธ์หลังจากหมดช่วงโปรโมชั่น หรือบางคู่อาจจะผูกพันกันบ้างแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกลากันไปด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง 

            หลายครั้งเวลาที่ความสัมพันธ์ยุติลงจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เจ็บปวดเสมอ หรือเจ็บทั้งสองฝ่าย หรืออาจจะเลิกรากันด้วยดีก็ได้ (กรณีที่ไม่มีใครเจ็บเลยพบได้น้อยมาก ๆ)  อย่างไรก็ตาม คำว่าอกหักมาจากอาการที่ส่งผลมาจากความรู้สึกผิดหวังจากความรัก ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่โดนบอกเลิก ซึ่งจะรู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก โดยจะมีอาการแตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้วจะรู้สึกเศร้า ผิดหวัง โกรธ เหงา ไปจนถึงความรู้สึกที่ไม่อยากมีชีวิต (สำหรับบางคน)

            การอกหักไม่ได้ตามมาซึ่งความรู้สึกเจ็บช้ำอย่างเดียว แต่หลายครั้งมันตามมาด้วยการโทษตัวเอง หรือการลงโทษตัวเอง ลึก ๆ แล้วเราโทษตัวเองว่า สาเหตุทั้งหมดมันเป็นเพราะแย่หรือดีไม่พอ หน้าตาไม่หล่อ/สวย ไม่รวย การศึกษาไม่ดี ตำแหน่งงานไม่ได้เป็นที่เชิดหน้าชูตา ความรู้สึกและความคิดทั้งหมดนี่ทำให้คุณค่าในตัวเองลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความมั่นใจในตัวเองด้วย ความเจ็บปวดทั้งหมดนี้จะหล่อหลอมเป็นประสบการณ์ที่เจ็บช้ำ ซึ่งจะส่งผลไปถึงการดำเนินชีวิตและการมีความรักอีกครั้งหนึ่งในอนาคต

            ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับคนที่มีภาวะซึมเศร้า แล้วดันโดนหักอกซ้ำไปอีก ย่อมทำให้ฟุ่งซ่านและโศกเศร้ามากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า พวกเขาจะไม่กล้าติดต่อใคร ปลีกวิเวกเพื่อหลีกหนี ทุกข์ทรมานอยู่แต่เพียงผู้ด้วย เอาแต่ตำหนิตัวเอง ทำให้คุณค่าในตัวเองลดลงมากกว่าบุคคลที่มีสุขภาพจิตปกติ นอกจากนั้นคนที่มีภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าจะไม่สามารถให้กำลังใจตัวเอง ทั้ง ๆ ที่การให้กำลังใจเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องการเมื่อเผชิญกับการอกหัก

            แน่นอนว่ามีหลายคนที่อกหักแล้วโทษอีกฝ่ายแต่นั้นเป็นเพียงแค่ช่วงแรก เพราะสุดท้ายแล้วลึก ๆ เรามักจะโทษตัวเองเสมอ แต่สิ่งที่เราควรทำจริง ๆ ก็คือการยอมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เราต้องยอมรับในสิ่งที่โลกมันเป็น เราจะสามารถอยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุขไม่ได้จนกว่าเราเลิกพยายามควบคุม หรือคาดหวังว่าทุกสิ่งต้องเป็นไปอย่างที่เราต้องการ เราจะไม่สามารถฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ หากเราไม่หยุดระดมยิงใส่ตัวเองให้ได้เสียก่อน 

เมื่อเราสามารถหยุดระดมยิงใส่ตัวเองแล้วยอมรับว่าทุกอย่างก็เป็นอย่างที่มันเป็น เราจะสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้

            การที่เราจะสามารถหลุดพ้นออกจากการโทษตัวเองได้ คือเราจะต้องกลับมาบนเส้นทางปกติให้ได้อีกครั้งหนึ่ง โดยจะต้องตระหนักและต้องเต็มใจปล่อยวางความเชื่อที่ตำหนิตัวเอง และยอมรับพฤติกรรมทางจิตใจบางอย่าง ที่จะสามารถกำจัดความเกลียดชังตัวเองทิ้งไป จนสามารถสร้างเสริมการเห็นคุณค่าในตัวเองให้เกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งได้ ซึ่งเรียกว่า "การมีเมตตาต่อตนเอง"

            ในหนังสือ Emotional Agility ซูซาน เดวิด (Susan David) ได้เล่าถึงการศึกษากลุ่มคนที่กำลังผ่านช่วงหย่าร้าง โดยนักวิจัยพบว่า คนที่แสดงความเห็นอกเห็นใจตัวเองในช่วงแรกที่เจอประสบการณ์อันเจ็บปวด ในอีก 9 เดือนต่อไปคนกลุ่มคนเหล่านี้จะรู้สึกดีขึ้นกว่ากลุ่มที่เอาแต่โยนความผิดให้กับตัวเอง ดังนั้นการมีเมตตาต่อตัวเองจึงเป็นความรู้สึกต่อตนเองที่ทรงพลังอย่างมากในเวลาที่เราเผชิญกับสิ่งเลวร้าย

            หลายคนเข้าใจผิดว่าการมีเมตตาต่อตัวเอง ให้กำลังใจตัวเอง คือการโกหกตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วมันคือการที่เรามองตัวเองจากมุมมองภายนอกอย่างเปิดกว้าง ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจถึงความยากลำบากและความล้มเหลวที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ "อย่าลืมว่าเราทุกคนคือสิ่งมีชีวิตที่ทำผิดพลาดอยู่เสมอ ไม่มีใครทำอะไรแล้วได้ดั่งใจไปทุกเรื่องอย่างแน่นอน" การตระหนักถึงความจริง และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริง เป็นขั้นตอนแรกของการมีเมตตาต่อตนเอง

            วิธีต่อมาที่จะเพิ่มการมีเมตตาต่อตนเองได้คือการมีเมตตาต่อผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น ในการศึกษาครั้งหนึ่ง ผู้วิจัยให้กลุ่มทดลองที่เคยเผชิญเหตุการณ์เชิงลบในอดีต เขียนข้อความปลอบโยนให้กับคนแปลกหน้าที่กำลังหัวใจสลาย โดยพบว่า สามารถเพิ่มความเมตตาต่อตนเองได้อย่างดี ไม่เพียงแต่การเขียนข้อความปลอบโยนคนอื่นโดยตรงเท่านั้น เรายังสามารถเขียนข้อความดังกล่าวปลอบโยนคนอื่นหรือตัวเองในไดอารี่ประจำวันก็ได้เช่นกัน

            อีกเทคนิคหนึ่งก็คือการนึกภาพตัวเองกำลังพูดคำตำหนิที่เคยตำหนิตัวเอง ให้เพื่อนรักที่กำลังอกหักและรู้สึกเจ็บปวด พวกเราส่วนใหญ่จะรู้สึกแย่ที่ต้องพูดจาโหดร้ายกับเพื่อนที่กำลังลำบากแบบนี้ มันเป็นเครื่องเตือนใจที่เด่นชัดว่าเราไม่ควรจะตำหนิ ติเตียนแบบนี้กับตัวเองเช่นเดียวกัน หลายคนใจดีกับคนอื่น แต่ใจร้ายกับตัวเอง เราต้องหันมาใจดีกับตัวเองบ้าง เพราะเราทำดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้แล้ว อย่าลืมความจริงที่ว่า

การเลิกราเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไปด้วยกันไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ต่างคนต่างเดินไปคนละทาง

สรุป

            เวลาที่เราตกหลุมรักใครสักคนจะทำให้สารสื่อประสาทบางตัวทำงานเพิ่มขึ้น บางตัวทำงานลดลง ส่งผลให้เรามีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนปกติ เราเรียกช่วงนี้ว่าช่วงโปรโมชั่น อย่างไรก็ตามสารสื่อประสาทจะค่อย ๆ กลับเข้าสู่จุดสมดุลอีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้ช่วงเวลาแห่งเวทมนต์ยุติลง พฤติกรรมที่เคยเหมือนเดิมก็เปลี่ยนแปลงไป จากความรักที่ร้อนแรง จะค่อย ๆ กลายเป็นความผูกพัน และถ้าหากไม่เหลือความผูกพันแล้วสุดท้ายก็ต้องเลิกรากัน ซึ่งจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่อกหัก (เป็นส่วนใหญ่)

            การอกหัก เป็นความรู้สึกที่เจ็บช้ำ หลายคนเผชิญกับมันเป็นระยะเวลานาน ยิ่งผู้ที่มีภาวะหรือโรคซึมเศร้ายิ่งรู้สึกแย่ยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนั้น ลึก ๆ แล้วเราทุกคนยังโทษตัวเองอีกด้วย เช่น ดีไม่พอ หน้าตาไม่หล่อ/สวย ไม่รวย การศึกษาไม่ดี ตำแหน่งงานไม่ได้เป็นที่เชิดหน้าชูตา ความรู้สึกและความคิดทั้งหมดนี่ทำให้คุณค่าในตัวเองลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความมั่นใจในตัวเองด้วย ความเจ็บปวดทั้งหมดนี้จะหล่อหลอมเป็นประสบการณ์ที่เจ็บช้ำ

            เราจะสามารถหลุดพ้นออกจากการโทษตัวเองได้ โดยเราจะต้องมีความเมตตาต่อตนเอง และจะต้องตระหนักและต้องเต็มใจปล่อยวางความเชื่อที่ตำหนิตัวเอง และยอมรับพฤติกรรมทางจิตใจบางอย่าง ที่จะสามารถกำจัดความเกลียดชังตัวเองทิ้งไป จนสามารถสร้างเสริมการเห็นคุณค่าในตัวเองให้เกิดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเราสามารถหยุดระดมยิงใส่ตัวเองแล้วยอมรับว่าทุกอย่างก็เป็นอย่างที่มันเป็น เราจะสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ซึ่งเราสามารถมีเมตตาต่อตนเองได้โดย

            1) ตระหนักถึงถึงความจริง และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริง ยอมรับว่าเราทุกคนคือสิ่งมีชีวิตที่ทำผิดพลาดอยู่เสมอ ไม่มีใครทำอะไรแล้วได้ดั่งใจไปทุกเรื่อยอย่างแน่นอน

            2) การเขียนข้อความปลอบโยนให้กับคนแปลกหน้าที่กำลังหัวใจสลาย หรือเขียนข้อความดังกล่าวปลอบโยนคนอื่นหรือตัวเองในไดอารี่ประจำวันด้วยก็ได้เช่นกัน

            3) นึกภาพตัวเองกำลังพูดคำตำหนิที่เคยตำหนิตัวเอง ให้เพื่อนรักที่กำลังอกหักและรู้สึกเจ็บปวด เพราะพวกเราส่วนใหญ่ใจดีกับเพื่อน แต่ใจร้ายกับตัวเอง เราไม่พูดจากับเพื่อที่กำลังลำบากแบบนี้ มันเป็นเครื่องเตือนใจที่เด่นชัดว่าเราไม่ควรจะตำหนิใครก็ตามที่กำลังอกหักและเจ็บปวดอยู่

อย่าลืมว่าเราทุกคนคือสิ่งมีชีวิตที่ทำผิดพลาดอยู่เสมอ 
ไม่มีใครทำอะไรแล้วได้ดั่งใจไปทุกเรื่องอย่างแน่นอน

อ้างอิง

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Winch, G. (2018). How to Fix a Broken Heart. NY: Simon & Schuster/ TED.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ถึงเวลาที่ต้องเมตตาต่อตนเองแล้ว (Self-Compassion). https://sircr.blogspot.com/2021/07/self-compassion.html

ความคิดเห็น