"เราเป็นเพียงแค่คนธรรมดาที่มักจะผิดพลาดเสมอ
เมตตาต่อตัวเองเข้าไว้ครับ"
ลอเรน เป็นนักศึกษาแพทย์ที่ชอบอยู่กับตำราและจานเพาะเชื้อมากกว่าผู้คน เธอมีประสบการณ์ด้านความรักไม่มาก ยิ่งไปกว่านั้นเธอมีประสบการณ์ด้านคนน้อยด้วยซ้ำ ทำให้เธอต้องต่อสู้กับโรคหวาดกลัวการเข้าสังคม เธอรู้สึกว่าเธอมีปมด้อย และมักจะตำหนิตัวเอง มีการมองโลกในแง่ร้ายมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การเห็นคุณค่าในตนเองของเธอต่ำและทำให้เธอไม่มั่นใจในตัวเอง
บุคคลที่มีคุณค่าในตนเองต่ำจะมองตัวเองในด้านต่าง ๆ ต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งความคิด หน้าตา บุคลิก เสน่ห์ดึงดูดใจ ลอเรนเข้ารับการบำบัดกับ กาย วินซ์ (Guy Winch) ซึ่งนำเรื่องของเธอใส่ไว้ในหนังสือชื่อ How to Fix a Broken Heart วินซ์อยากให้เธอสร้างความนับถือตนเองให้มากขึ้น ซึ่งหลังจากที่เข้ารับการบำบัดได้ 2 - 3 เดือน เขาก็สามารถเกลี้ยกล่อมเธอให้ตกลงมีนัดเดท เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์
หลังจากผ่านหนึ่งวันเธอมีความสุขมาก เธอกระตือรือร้นที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้วินซ์ฟังในข้อความ แต่เมื่อผ่านไปเพียงสองวัน เธอก็ได้รับข้อความห้วน ๆ ประมาณว่า "เขาสนุกกับการนัดครั้งนั้น แต่ไม่อยากเจอเธออีก" เธอนอนร้องไห้อยู่บนเตียงสามวัน เธอรู้สึกเจ็บปวด ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเข้าเวร เธอรู้สึกว่าหัวใจของเธอแหลกสลาย แม้เธอจะตั้งความหวังไว้น้อยมาก ๆ แต่หัวใจของเธอก็แหลกสลายเพียงไม่กี่วันจากการมีนัดแค่ครั้งเดียว
ไม่เพียงแค่หัวใจของเธอจะบอบช้ำจากการอกหัก แต่เป็นความคิดเธอด้วยที่มัวแต่ฟุ่งซ่านว่าคนอื่น ๆ จะมองเรื่องของเธอเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ เธอคิดว่าคนอื่นจะมองอาการหัวใจแหลกสลายนี้ เป็นแค่เรื่องเหลวไหล เธอจึงไม่กล้าติดต่อใครรวมทั้ง วินซ์ด้วย เธอปลีกวิเวกเพื่อหลีกหนีการเย้ยหยันที่เธอคิดว่าตัวเองจะต้องเผชิญจากคนรอบข้าง ความคิดนี้ทำให้เธอทุกข์ทรมาน เธอกำลังมองสิ่งต่าง ๆ ในทางลบจากนิสัยที่เธอชอบตำหนิตัวเอง มองโลกในแง่ร้ายและเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ ทำให้เธอปฏิเสธไม่ยอมรับความเห็นใจและไม่ยอมให้กำลังใจตัวเองทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด
ลอเรนคิดว่าจากการหัวใจแหลกสลายครั้งนี้ เธอจะไม่สามารถมีความรักได้อีก เธอพยายามปกป้องหัวใจของตัวเองเพื่อไม่ให้ปวดร้าวไปมากกว่านี้ เธอเชื่อว่าตนเองไม่สวย ไม่มีเสน่ห์มากพอที่จะมีความรักได้อีก และไม่มีประโยชน์ที่เธอจะพยายาม วิธีที่เธอจะสามารถกลับมาบนเส้นทางปกติอีกครั้งหนึ่งได้ คือเธอต้องเต็มใจปล่อยวางความเชื่อที่ตำหนิตัวเอง และยอมรับพฤติกรรมทางจิตใจบางอย่าง ที่จะสามารถกำจัดความเกลียดชังตัวเองทิ้งไป และสร้างการเห็นคุณค่าของตนเองให้กลับมาอีกครั้งหนึ่งได้ นั้นคือ "ความมีเมตตาต่อตนเอง"
เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือเหตุการณ์ใด ๆ ได้ จนกว่าเราจะสามารถยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นตอนนี้ให้ได้เสียก่อน เราต้องยอมรับในสิ่งที่โลกมันเป็น เราจะสามารถอยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุขไม่ได้จนกว่าเราเลิกพยายามควบคุม หรือคาดหวังว่าทุกสิ่งต้องเป็นไปอย่างที่เราต้องการ เราจะไม่สามารถฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ หากเราไม่หยุดระดมยิงใส่ตัวเองให้ได้เสียก่อน
เมื่อเราสามารถหยุดระดมยิงใส่ตัวเองแล้วยอมรับว่าทุกอย่างก็เป็นอย่างที่มันเป็น เราจะสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับว่า "เรามันก็คือมนุษย์ตัวเล็กคนหนึ่ง เป็นเพียงแค่เศษผงในจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยสัญชาตญาณที่ควบคุมไม่ได้ ใช้เหตุผลน้อยและมักจะทำในสิ่งที่ผิดพลาดเสมอ" คนที่กำลังเผชิญวิกฤตสำคัญในชีวิตไม่ว่าจะเป็นการเลิกรา ตกงาน หรือพลาดโอกาสต่าง ๆ มักจะมีแนวโน้มที่จะเหยียดหยามตัวเอง ประณาม และลงโทษตัวเอง ในหนังสือ Emotional Agility ซูซาน เดวิด (Susan David) ผู้เขียนใช้คำว่า "พวกเขาเอาแต่พล่ามในหัวและย้ำแต่คำว่า "ควรจะ" "น่าจะ" และ "ฉันก็แค่คนที่ไม่ดีพอ" มันเป็นเสียงตัวป่วนดี ๆ นี้เอง"
ในหนังสือ Emotional Agility ยังได้กล่าวถึงการศึกษากลุ่มคนที่กำลังผ่านช่วงหย่าร้าง นักวิจัยพบว่า คนที่แสดงความเห็นอกเห็นใจตัวเองในช่วงแรกที่เจอประสบการณ์อันเจ็บปวด ในอีก 9 เดือนต่อไปกลุ่มคนเหล่านี้จะรู้สึกดีขึ้นกว่ากลุ่มที่เอาแต่โยนความผิดให้กับตัวเอง ดังนั้นการมีเมตตาต่อตัวเองจึงเป็นความรู้สึกต่อตนเองที่ทรงพลังอย่างมากในเวลาที่เราเผชิญกับสิ่งเลวร้าย มันไม่ใช่การโกหกตัวเอง แต่มันคือการที่เรามองตัวเองจากมุมมองภายนอกอย่างเปิดกว้าง ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจถึงความยากลำบากและความล้มเหลวที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ อย่าลืมว่าเรามันก็แค่สิ่งมีชีวิตที่มักจะผิดพลาดอยู่เสมอ เพราะเราจะไม่สามารถมีความเมตตาต่อตนเองได้ ถ้าเราไม่เผชิญหน้ากับความจริงที่ว่า "เรากำลังรู้สึกอย่างไร" เสียก่อน
ทุกวันนี้ เราล้วนแต่ต้องวิ่งให้เร็วขึ้น ทำงานให้หนักขึ้น อยู่ให้ดึกกว่าเดิมและทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ทั้งหมดนั้นเพียงเพื่อจะตามคนอื่นให้ทัน ในสภาพแวดล้อมที่เราถูกคาดหวังให้ใช้ชีวิตราวกับกำลังแข่งขันอันดุเดือดอยู่เสมอ การแสดงความเมตตาต่อตัวเองก็อาจถูกมองเป็นสัญญาณว่าเรากำลังขาดความทะเยอทะยานหรือไม่รักในความสำเร็จมากเท่าคนรอบข้างได้
สิ่งที่เราพบเจอทุกวันคือคำเชิญให้เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ๆ อย่างไม่รู้จบและเลี่ยงไม่ได้เลยที่เราจะรู้สึกบกพร่องอะไรสักอย่างเมื่อต้องมานั่งเปรียบเทียบแข่งขันกับคนอื่นอย่างดุเดือดขนาดนี้
แต่การเคี่ยวกรำตัวเองเพื่อที่จะให้ตัวเองเป็นคนเก่งอยู่เสมอ มันเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะคนที่ยอมรับความล้มเหลวของตัวเองอย่างเต็มใจมากกว่า จะสามารถพัฒนาตนเองได้มากกว่าคนไม่ยอมรับความล้มเหลว อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าคนที่มีเมตตาต่อตนเองจะไม่มีเป้าหมาย แต่ในความจริงแล้วคนที่มีเมตตาต่อตนเองก็สามารถตั้งเป้าหมายไว้สูงได้เช่นเดียวกัน แต่ความแตกต่างก็คือคนที่มีความเมตตาต่อตนเองจะไม่รู้สึกเหมือนโลกถล่มทลายเมื่อไปไม่ถึงจุดหมายที่ปรารถนา ซึ่งความผิดหวังนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และต้องเกิดขึ้นแน่นอน!
ความเมตตาต่อตนเองยังเชื่อมโยงกับพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น การกินอาหารที่ดี การออกกำลังกาย นอนหลับเพียงพอ และความสามารถในการจัดการความเครียดในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งมันจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรง ทำให้มีโอกาสเกิดโรคภัยใข้เจ็บยากมากขึ้น ความลับมันก็เหมือนกับบทความที่แล้วที่ผมเขียนเรื่องการขอบคุณนั้นแหละครับ ความเมตตาต่อตนเองและการขอบคุณเป็นอารมณ์เชิงบวก ซึ่งจะทำให้เกิดผลที่ต่อสุขภาพ และเมื่อสุขภาพกายใจดีขึ้น เราก็จะอยากออกกำลังกายมากขึ้น นอนหลับสบายมากขึ้น อยากจะลดการกินอาการที่แย่ต่อสุขภาพ ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดสารสื่อประสาท และสามารถจัดการกับความเครียดได้
วิธีการยอมรับความจริงและมีเมตตาต่อตนเอง
กลับมาที่ลอเรน เธอหัวใจแหลกสลายกับความรัก จนทำให้เธอมีความเห็นคุณค่าในตนเองที่ต่ำลงอย่างมาก เธอจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจในตัวเองกลับมาอีกครั้ง เธอต้องตอบสนองต่อความทุกข์ทรมานของเธอด้วยความเมตตา ไม่ใช่การตำหนิตัวเอง เราสามารถฝึกนิสัยนี้ด้วยการแทนที่ความคิดตำหนิตนเอง ด้วยความคิดเมตตาและให้กำลังใจ เราจะต้องตระหนักว่าความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ เราจึงทำได้แค่เพียงยอมรับความผิดพลาดนั้น แต่ไม่ควรจะตำหนิหรือลงโทษตนเอง การทำแบบนั้นมันมีผลต่อการนับถือและความมั่นใจของเราเอง
วินซ์แนะนำให้ลอเรนเพิ่มการมีเมตตาต่อตนเอง โดยการมีเมตตาต่อผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น ในการศึกษาครั้งหนึ่ง แค่เขียนข้อความปลอบโยนให้กับคนแปลกหน้าที่กำลังหัวใจสลายก็สามารถเพิ่มความเมตตาต่อตนเองในกลุ่มทดลองที่เคยเผชิญเหตุการณ์เชิงลบในอดีต อีกเทคนิคหนึ่งก็คือการนึกภาพตัวเองกำลังพูดคำตำหนิ ติเตียน (ที่เราเคยตำหนิตัวเอง) ให้เพื่อนรักที่กำลังเจ็บปวดฟัง พวกเราส่วนใหญ่จะรู้สึกแย่ที่ต้องพูดจาโหดร้ายกับเพื่อนที่กำลังลำบากแบบนี้ มันเป็นเครื่องเตือนใจที่เด่นชัดว่าเราไม่ควรจะตำหนิ ติเตียนแบบนี้กับตัวเองเช่นกัน
ซูซาน เดวิด (Susan David) เป็นนักจิตวิทยา เธอมักจะแนะนำลูกค้าของเธอว่า หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เรายอมรับความจริงและเมตตาต่อตนเองได้มากขึ้น ก็คือการมองย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ยังเป็นเด็ก แล้วจะเห็นว่าเราไม่สามารถเลือกพ่อแม่ของตัวเอง ไม่สามารถเลือกสถานภาพทางเศรษฐกิจ หรือบุคลิกภาพหรือแม้แต่รูปร่างของตัวเอง การตระหนักว่าเราจะต้องดำเนินชีวิตไปตามสิ่งที่มี เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการโอบกอด อ่อนโยน และให้อภัยตนเอง
ขั้นตอนถัดไปก็คือ การคิดถึงภาพตัวเองตอนเป็นเด็กที่ถูกทำร้ายแล้วเด็กคนนั้นก็วิ่งตรงเข้ามาหาเราที่เป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ (คล้ายกับสิ่งที่วินซ์แนะนำกับลอเรน แต่ในกรณีนี้เปลี่ยนจากเพื่อนรักเป็นเด็ก) เราจะไม่ตำหนิ ซ้ำเติม หรือโทษว่าเป็นความผิดของเด็กคนนี้อย่างแน่นอน สิ่งแรกที่เราจะทำกับเด็กที่กำลังสับสนก็คือดึงเขาเข้ามากอดและปลอบโยนต่างหาก แล้วทำไมเราถึงไม่ทำกับตัวเองในตอนที่เป็นผู้ใหญ่ด้วยความเห็นอกเห็นใจในแบบเดียวกันบ้างล่ะ
การฝึกความมีเมตตาต่อตนเองต้องใช้ความอดทนและสติ เราต้องคอยระวังและหยุดตัวเองให้ทันเมื่อเราเริ่มจะลงโทษตัวเอง เราสามารถใช้วิธีเตือนตัวเองด้วยการเขียนโน๊ตแปะเอาไว้ในที่ที่สามารถมองเห็นได้ตลอด มีการฝึกสมาธิบ้างโดยการนับลมหายใจตัวเอง หากไปคิดเรื่องอื่นให้พยายามดึงสติกลับมาที่ลมหายใจตัวเอง สัก 10 นาทีต่อวันก็เพียงพอ ชิออน คาบาซาวะ ผู้เขียนหนังสือ The Power of Output แนะนำว่า ให้เราหายใจเข้า 5 วินาที และหายใจออก 15 วินาที เวลาทำให้นับ 1 2 3... ไปเรื่อย ๆ การทำเช่นนี้จะทำให้เราจดจ่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแทนที่จะไปคิดเรื่องอื่น ๆ แต่หากสติหลุดไปก็เหมือนกับที่ผมแนะนำไปตอนแรกคือดึงกลับมาใหม่อีกครั้ง ไม่เป็นไรถ้าเราจะหลุดบ้าง
ความพยายามของลอเรนประสบผลสำเร็จเมื่อเธอได้ตั้งใจฝึกการมีเมตตาต่อตนเอง เธอนับถือตัวเองเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนั้นวินซ์ยังแนะนำเธอโฟกัสคุณสมบัติที่ดีของตัวเอง 5 ข้อที่เธอต้องนำเสนอในโลกของการมีนัดโดยไม่ซ้ำกับของเก่าที่เธอใช้ไปแล้ว ถึงแม้ว่าตอนแรกเธอจะเขียนแทบไม่ออก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เธอก็เริ่มรู้สึกสบายใจมากขึ้น เมื่อเธอสามารถส่งรายการของเธอได้อย่างมั่นใจ และไม่ต้องมีคำขยายอะไรเพิ่มเติม วินซ์รู้ทันทีว่าเธอพร้อมที่จะมีนัดอีกครั้ง และสุดท้ายมันก็ประสบผลสำเร็จ ชีวิตของเธอสามารถเริ่มใหม่ได้อีกครั้งหนึ่งด้วยการมีเมตตาต่อตนเองมากขึ้น
บนโลกที่สับสนอลหม่านใบนี้ มันพร้อมที่จะทำให้เราต้องเผชิญกับเรื่องราวที่น่าผิดหวังอย่างนับไม่ถ้วน มันจึงเป็นการเลวร้ายกับตัวเองอย่างมากที่เรามัวแต่จะต้องมาลงโทษตัวเอง เพราะเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ ไม่ได้เก่งกาจอะไรขนาดนั้น เราเป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็กธรรมดาคนหนึ่ง เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงด้วยสัญชาตญาณที่ควบคุมไม่ได้ ใช้เหตุผลน้อยและมักจะทำในสิ่งที่ผิดพลาดเสมอ แต่ถึงอย่างนั้นมนุษย์ทุกคนก็มีสิทธิที่จะมีความสุข มีชีวิตที่ดี มีรอยยิ้มให้กับตนเองและผู้อื่นได้ เพียงแต่เราจะต้องเริ่มจากตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ด้วยการยิ้มให้ตัวเอง ขอบคุณตัวเอง ปลอบโยนตัวเอง เพราะว่าเราเก่งมากแล้วที่เผชิญหน้ากับชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้
มันจึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยอมรับความเป็นจริง
และมีเมตตาต่อตนเองมากขึ้น
อ้างอิง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น