เหตุผลที่เราไม่ควรตัดสินใคร หากไม่รู้จักเขาจริง (Judge Other People)

พฤติกรรมของมนุษย์มีสาเหตุจากปัจจัยมากมาย 
ราวกับดวงดาวที่อยู่บนฟากฟ้าในยามราตรี

            ผู้อ่านทุกท่านคงจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า "เราไม่ควรจะไปตัดสินใคร ก่อนจะรู้จักเขาจริง ๆ" แต่ความผิดพลาดมันก็มักจะเกิดขึ้นเสมอ เพราะโดยส่วนใหญ่เราทุกคนก็ล้วนตัดสินคนอยู่เสมอโดยอัตโนมัติ ด้วยเหตุผลทางจิตวิทยามากมาย รวมไปถึงสภาพสังคมแบบทุนนิยมที่บีบให้เราทุกคนแข่งขันกัน ชิงดีชิงเด่นกัน ทำให้เราห้ามตัวเองไม่ให้รู้สึกอยากสำคัญกว่าคนอื่นได้ เราจึงมักจะตัดสินคนอื่นและโดยส่วนมากจะเป็นไปในทางที่ไม่ดี

            อย่างไรก็ตามมันก็ถูกต้องแล้วแหละที่เราไม่ควรจะไปตัดสินใคร ส่วนวิธีการห้ามใจตัวเองก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะทำอย่างไร แต่จุดประสงค์ที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อนำเสนอเหตุผลต่าง ๆ ที่เราไม่ควรตัดสินใครก่อนหากไม่รู้จักเขาจริง โดยคาดหวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและพยายามที่จะไม่ตัดสินใครก่อน หรือคาดหวังกับใครมากจนเกินไป

เหตุผลที่เราไม่ควรตัดสินใครก่อน

            การแสดงออกหรือพฤติกรรมของมนุษย์มีสาเหตุจากปัจจัยต่าง ๆ มากมาย แม้จะมีการศึกษาวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับพฤติกรรม บุคลิกภาพ หรือนิสัยของคนแต่ก็ไม่สามารถชี้ขาดได้จริง ๆ ว่าใครจะเป็นคนอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้มากมายกว่าที่เราคิด แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกัน แม้พวกเราจะมีสัญชาตญาณและอารมณ์บางอย่างที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนักก็ตาม

            ในประวัติศาสตร์การศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพ มีการศึกษาและพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดแนวคิดหรือทฤษฎีที่แตกต่างกันออกไปจำนวนมาก เนื่องจากปัจจัยทางด้านจิตใจเป็นปัจจัยที่อธิบายและชี้ชัดได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม การเลี้ยงดู การศึกษา สภาพแวดล้อมในขณะนั้น สังคมรอบตัว ที่อยู่อาศัย ฐานะทางสังคม และการเงิน ไม่นับรวมปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมและระบอบทุนนิยมที่ทุกวันนี้บีบให้คนเป็นทุกข์และซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

            โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมในขณะนั้นมีผลต่อพฤติกรรมของเราเกินกว่าจะคาดเดาได้ นหนังสือ The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwel) ได้เล่าถึงนักจิตวิทยาชื่อดัง วอลเตอร์ มิเชล (Walter Mischel) ที่ได้กล่าวถึงจิตใจของมนุษย์โดยมีใจความว่า "จิตใจของมนุษย์มี วาล์ว ซึ่งทำหน้าที่สร้างและรักษาความต่อเนื่องทางความคิดเอาไว้ ถึงแม้จะสังเกตเห็นอยู่ตลอดเวลาว่าพฤติกรรมได้เปลี่ยนไปแล้วก็ตาม" กล่าวคือเราไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่าเราจะมีพฤติกรรมอะไรบ้างในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป 

            มิเชลยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าบางทีคนเราก็แสดงพฤติกรรมที่ขัดแย้งกันออกมาโดยเขาเล่าว่า "เมื่อเราสังเกตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งมีท่าทีไม่เป็นมิตรและทะนงตน แต่บางครั้งก็กลับมีท่าทางอ่อนโยน โอนอ่อนผ่อนตาม และนอบน้อม วาล์วของเรามักจะบีบให้เราเลือกระหว่างท่าทีทั้งสองนี้ เราจึงมองว่าท่าทีหนึ่งเป็นฉากหน้าของอีกท่าทีหนึ่ง หรือทั้งสองท่าทีเป็นฉากหน้าของตัวตนที่แท้จริง เธอคงเป็นสาวแกร่งที่ซ่อนความอ่อนโยนเอาไว้หรือไม่อาจเป็นผู้หญิงหัวอ่อนที่มีฉากหน้าเป็นท่าทีอันแข็งกร้าว"

            "อย่างไรก็ตาม บางทีธรรมชาติอาจยิ่งใหญ่กว่าที่ความคิดของมนุษย์จะรองรับไหวก็เป็นไปได้" มิเชลเล่าต่อ "ผู้หญิงคนนั้นอาจทะนงตน ไม่เป็นมิตร โอนอ่อนผ่อนตาม นอบน้อม อ่อนโยน ก้าวร้าว อบอุ่น และห้าวหาญรวมอยู่ในตัวคนคนเดียว แน่นอนว่าอุปนิสัยที่เธอแสดงออกมาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้แบบแผนหรือตามอำเภอใจ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เวลา คนรอบตัว และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ทุกอุปนิสัยที่เธอแสดงออกมาล้วนเป็นตัวตนของเธอจริง ๆ ทั้งนั้น"

            ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมจึงมีผลมากกว่าที่เราคาดคิด ไม่เพียงแค่นั้นต่อให้คนที่เกิดมาในฐานะยากจนและใช้ความรุนแรงก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเติบโตมาแล้วเป็นคนที่ใช้ความรุนแรงเสมอไป เช่นเดียวกัน ต่อให้คนหนึ่งเติบโตมาในครอบครัวที่ร่ำรวยสั่งสอนมาดีก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่เพียงแค่นั้นคนบางคนอาจจะชอบใช้ความรุนแรงเวลาอยู่กับคนรัก แต่เป็นคนเรียบร้อยขณะที่อยู่กับเพื่อนร่วมงาน ผมเชื่อว่าผู้อ่านคงรู้จักหลายคนที่แสดงออกเหมือนตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมา

พฤติกรรมของเราจึงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมหรือบริบทที่เกิดขึ้นขณะนั้นเป็นส่วนใหญ่

            ยกตัวอย่างการเป็นคนขยัน คนบางคนที่ดูภายนอกเป็นคนขยันมาก ๆ อาจจะมีปัจจัยมากมายมาเกี่ยวข้องก็ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูของพ่อแม่ การให้การศึกษาที่ดีของโรงเรียน การเกิดมาในครอบครัวที่เป็นคนขยันทำให้เห็นตัวแบบขยันจากพ่อแม่มาตั้งแต่เด็ก หรือการที่เขาทำงานในบริบทที่คนรอบ ๆ ตัวเป็นคนขยันกันหมด รวมไปถึงวัฒนธรรมที่นิยมคนขยันมากกว่าคนขี้เกียจ ไม่เพียงแค่ปัจจัยดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ยังมีช่วงเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย เนื่องจากพนักงานหลายคนจะขยันมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลาเส้นตาย Death Line หรือที่รุ่นพี่ของผมสมัยเรียนปริญญาตรีเรียกว่า "Death Line เป็นแรงบัลดาลใจ"

            หลายสถานที่ทำงานบีบให้คนต้องขยันด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มข้น จึงได้มีการนิยามวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ Work-Life Integration หมายถึง การทำงานที่หลอมรวมระหว่างชีวิตส่วนตัว กับชีวิตการทำงานเข้าด้วยกัน เพราะบริษัทส่วนใหญ่จะขาดผลประโยชน์ทันทีหากพนักงานมีสัดส่วนในการพักผ่อนและการทำงานที่สมดุลแบบดั่งเดิมที่เรียกว่า Work-Life Balance ทำให้บางองค์กรที่ยังสามารถสร้างสมดุลระหว่างการพักผ่อนและการทำงานได้จะถูกมองว่าไม่ขยันหากเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมองค์กรแบบหลอมรวมระหว่างชีวิตและการทำงาน

            จากตัวอย่างความขยันที่ผมยกขึ้นมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการที่จะตัดสินคนว่าขยันหรือขี้เกียจต้องดูลึกลงไปมากกว่านั้น ปัญหาก็คือมันมีปัจจัยแทรกซ้อนจำนวนมาก ทำให้จริง ๆ แล้วเราไม่ควรจะตัดสินใครเลยด้วยซ้ำไป การจะเข้าใจมนุษย์คนคนหนึ่งได้ จำเป็นต้องศึกษาเป็นรายกรณี ทำการวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดู ฐานะ ครอบครัว การศึกษา บุคลิกภาพ ไปจนถึงพันธุกรรม อีกทั้งยังไม่สามารถนำมาอธิบายแทนคนอื่น ๆ ได้อีกด้วย เพราะแต่ละคนก็จะมีปัจจัยเบื้องหลังพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน

            การที่เราไปตัดสินคนอื่นก่อนที่จะรู้จักเขาจริง ๆ ก็ไม่ต่างกับความผิดพลาด ซึ่งหากทำบ่อย ๆ จะทำให้เรามั่นใจในตัวเองแบบผิด ๆ และจะส่งผลต่อความสัมพันธ์รอบตัวเราด้วย เพราะจากที่กล่าวมาทั้งหมดพฤติกรรมของมนุษย์มีสาเหตุจากปัจจัยต่าง ๆ มากมายไม่ต่างกับจำนวนดวงดาวที่อยู่บนฟากฟ้าในยามราตรี ดังนั้นให้เราตั้งกรอบความคิดของตัวเองเอาไว้ว่า เราไม่สามารถเข้าใจคนอื่นได้ 100% แต่เราสามารถพยายามเข้าใจคนอื่นได้ นอกจากนั้น

เราไม่ควรไปคาดหวังกับใครมากจนเกินไป 
เพราะเราจะต้องผิดหวังอย่างแน่นอน

อ้างอิง

Gladwell, M. (2002). The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference NY: Back Bay Books.

ความคิดเห็น