ความคับข้องใจในวัยเด็ก
จะส่งผลเมื่อเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน
ในแวดวงเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์มีทฤษฎีมากมายที่นำมาใช้อธิบาย บางทฤษฎีได้รับการยอมรับเพราะ สามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายได้อย่างเป็นระบบ ยกตัวอย่างเช่น ทฤษฎีพัฒนาการทางด้านร่างกาย หรือ ทฤษฎีพัฒนาการทางปัญญา แต่ก็มีบางทฤษฎีที่มีการศึกษาวิจัยอย่างหลากหลาย เนื่องจากมีปัจจัยทางด้านจิตวิทยาเข้ามาพัวพันมากเกินไป เช่น ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม และทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพ
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในศตวรรษที่ 19 แนวคิดจิตวิเคราะห์ของเขาเป็นที่พูดถึงทั้งในทางบวกและทางลบทั่วทวีปยุโรปไปจนถึงอเมริกา ทำให้การศึกษาด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ได้รับความสนใจอย่างสูง แม้แนวคิดหลายอย่างของเขาจะถูกหักล้างไปบ้าง หรือได้รับการยอมรับน้อยลงบ้าง แต่ทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์หลายชิ้นก็ยังเป็นที่พูดถึงกันจนถึงทุกวันนี้ และได้ถูกนำไปพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในทฤษฎีของเขาที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากก็คือ ทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพของฟรอยด์ (Psychosexual Development)
พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์เบื้องต้น
ซิกมันด์ ฟรอยด์พูดและเขียนถึงสภาวะจิตที่ประกอบไปด้วยจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกเมื่อราว 100 ปีก่อน เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษและส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยจำนวนมากใน 100 ปีถัดมา โดยหัวใจสำคัญของทฤษฎีทางจิตวิทยาของฟรอยด์ก็คือ จิตไร้สำนึก (Uncoscious) คือหน่วยความจำมหาศาลที่เก็บสะสมสิ่งต่าง ๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสัญชาตญาณ ประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะความทรงจำที่เจ็บปวดที่มนุษย์เคยเผชิญ และสิ่งที่อยู่ภายในจิตไร้สำนึกจะเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถนึกถึงได้และไม่รู้ตัวว่ามันมีอยู่
จอห์น บาร์ก (John Bargh) ได้อธิบายว่ามนุษย์ตัดสินใจกระทำอะไรด้วยจิตไร้สำนึกมากกว่าจิตสำนึก (Conscious) คือการใช้สติในขณะนี้ ซึ่งบ่อยครั้งที่เราเลือกทำอะไรบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล มหัศจรรย์กว่านั้นคือ แม้ว่าบางครั้งเรามีเหตุผลที่ดีกว่าในสมอง แต่เราก็ยังคงเลือกกระทำโดยไม่มีเหตุผลอยู่ดี สมองซึ่งมีน้ำหนักน้อยมากเมื่อเทียบกับร่างกายมนุษย์ทั้งร่างกายแต่บริโภคแคลอรี่มากถึงร้อยละ 20 ของร่างกายทั้งหมด และตรงไหนกันแน่ที่กินพลังงานมากมายขนาดนั้น
ในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคสมัยที่งานวิจัยเกี่ยวกับสมองรุดหน้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นักวิทยาศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่รู้จักสมองและวิธีการทำงานของสมองอย่างก้าวกระโดด ทำให้พวกเขารู้สาเหตุของพฤติกรรมหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ในอดีต หรือนิสัย พฤติกรรม อาการทางจิตที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม นอกจากนั้นประสบการณ์อดีต พันธุกรรม ยังมีสัญชาตญาณที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ก่อให้เกิดอคติต่าง ๆ หลากหลายประเภท
สัญชาตญาณเป็นหนึ่งในสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึก ซึ่งฟรอยด์อธิบายว่าเรามีติดตามมาตั้งแต่กำเนิด โดยในทฤษฎีของฟรอยด์ได้แบ่งสัญชาตญาณออกเป็น 2 ชนิดคือ สัญชาตญาณการดำรงชีวิต (Life Instinct) และสัญชาตญาณความตาย (Death Instinct) สัญชาตญาณเหล่านี้จะถูกเก็บเอาไว้ในจิตไร้สำนึก สัญชาตญาณการดำรงชีวิตเป็นการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปของมนุษย์รวมไปถึงเรื่องเพศ ฟรอยด์เรียกสิ่งนี้ว่าแรงขับทางเพศ (Libido) คือพลังงานเพื่อการดำรงชีวิตเพื่อการจะได้รับความพึงพอใจ
คำว่าแรงขับทางเพศไม่ได้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์เสมอไป แต่แรงขับทางเพศจะเป็นจุดที่ตอบสนองความพึงพอใจของเรา การได้รักและใกล้ชิดคนที่เรารักก็เป็นการตอบสนองแรงขับทางเพศเช่นเดียวกัน ไม่เพียงแค่นั้นในมุมมองจิตวิเคราะห์มองว่า การมีรถ บ้าน ความเชื่อ อาหาร ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีและอยากได้มาครอบครองล้วนมีไว้เพื่อการตอบสนองแรงขับทางเพศของตัวเองทั้งนั้น แน่นอนว่าปัจจุบันจิตวิทยาก้าวหน้ามากขึ้น จึงสามารถอธิบายได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราปรารถนาไม่ใช่เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของเราเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีแรงจูงใจอื่น ๆ ในตัวมนุษย์อีกมากมาย
อย่างไรก็ตามความต้องการหรือแรงขับทางเพศ (Libido) เป็นพลังงานที่สำคัญ ซึ่งแต่ละช่วงวัยตั้งแต่เด็กจนโต มนุษย์เราจะมีแรงขับทางเพศที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย ขึ้นอยู่กับความไวต่อความรู้สึก เรียกว่า โซนเสน่หา (Erogenous Zones) กล่าวคือ แต่วัยเราจะมีโซนความพึงพอใจตามจุดต่าง ๆ ในร่างกายที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราทุกคนมีการตอบสนองที่โซนต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน
ซึ่งการตอบสนองตามจุดต่าง ๆ ที่แตกต่างกันนี้แหละที่จะทำให้บุคลิกภาพของเราแตกต่างกันออกไปด้วย
กรณีที่บุคคลแต่ละช่วงวัยไม่ได้รับการตอบสนองแรงขับทางเพศเท่าที่เขาต้องการในส่วนต่าง ๆ ตามช่วงวัยนั้น เขาจะเกิดการความข้องใจ (Frustration) กล่าวคือความไม่พอใจ ที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ตามมา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการชะงักงัน (Fixation) เหมือนกับการตรึงความต้องการนั้นเอาไว้ ทำให้เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น พวกเขาก็ยังพยายามที่จะแสวงหาความต้องการที่เคยถูกตรึงเอาไว้นั่นเอง
ทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพของฟรอยด์ 5 ขั้น
1) ขั้นปาก (Oral Stage/Zone อายุตั้งแต่ 0 - 18 เดือน) ในขั้นนี้แรงขับทางเพศ (Libido) จะอยู่ที่ปากซึ่งเป็นโซนเสน่หาของขั้นนี้ ทำให้ทารกในช่วงวัยนี้มักจะชอบใช้ปากสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกิน กัด คายทิ้ง หรือปิดปากไม่ยอมรับเข้าไป กล่าวคือ ทารกจะใช้กิจกรรมทางปากเพื่อทำให้เกิดความพึงพอใจ เนื่องจากเวลาที่เขาหิวน้ำหรืออาหาร เขาจะร้องไห้เพื่อผู้ใหญ่นำสิ่งเหล่านั้นมาเข้าปากทำให้เขารู้สึกดี รู้สึกอิ่ม จึงทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ ความอบอุ่น รู้จักอำนาจในการเรียกหา หรือปฏิเสธ ปากจึงเป็นช่องทางของการเรียนรู้ประสบการณ์แรก ๆ ที่เด็กได้เรียนรู้โลกใบนี้
หากเขาได้รับการตอบสนองความพึงพอใจ หรือไม่พอใจก็จะทำให้เขาเติบโตขึ้นมามีบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไป หากลูกร้องไห้เพื่อเรียกหาของกิน แล้วแม่ไม่ตอบสนองความต้องการ เพราะอยากจะลงโทษที่ทารกเกเรบ้าง หรือไม่มีเวลามากพอที่จะตอบสนอง ก็จะทำให้เด็กเกิดความวิตกกังวล ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่พยายามเอาใจคนอื่น เพื่อให้คนอื่นปฏิบัติต่อเขาดี บางส่วนของทฤษฎีนี้จึงสอดคล้องกับทฤษฎีทฤษฎีจิตสังคมของอีริคสันในขั้นแรก แต่ทฤษฎีของฟรอยด์จะมีความซับซ้อนกว่านั้น
นอกจากนั้นการตอบสนองความพึงพอใจโดยการกัดของทารกมากจนเกินไป ก็ส่งผลกระทบทำให้เขาเติบโตขึ้นกลายเป็นคนที่ชอบเสียดสี เหน็บแนม เยอะเย้ย วิพากษ์วิจารณ์ แต่ในกรณีที่รู้สึกผิดก็จะแสดงออกมาในรูปแบบการตำหนิตัวเอง กัดริมผีปาก หรือกัดลิ้นตัวเอง รวมไปถึงพฤติกรรมชอบคายของออกจากปากก็ส่งผลกระทบให้เขาเป็นคนที่วิตกกังวลต่อการคิดและการพูดของตัวเองเมื่อเขาเติบโตขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับการชอบคายออกมา
2) ขั้นทวารหนัก (The Anal Stage/Zone 18 เดือน - 3 ปี) ในขั้นนี้แรงขับทางเพศจะอยู่ที่ทวารหนัก เป็นโซนเสน่หาของขั้นนี้ เด็กจะรู้สึกอึดอัดและวิตกกังวลเวลาที่อาหารอยู่ในลำใส่ แต่เมื่ออาหารได้ที่ขับออกไปทางทวารหนักจะทำให้เด็กรู้สึกสบายตัวมากขึ้น ผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวลลง เขาจึงอยากจะขับถ่ายตามที่ต้องการ แต่ในยุคสมัยปัจจุบันในช่วงวัยนี้พ่อแม่จะฝึกให้เด็กนั่งกระโถน และฝึกระเบียบวินัยในการขับถ่าย สิ่งนี้ขัดแย้งกับสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ทำให้เด็กพยายามที่จะต่อต้าน
ยิ่งพ่อแม่ครอบครัวไหนเคร่งกฎมากเกินไปหรือมีการทำโทษ ก็จะยิ่งเป็นการสร้างความรำคาญใจให้กับเด็กมากตามลำดับไป เขาจึงตอบสนองโดยการพยายามขบฎ ซึ่งจะทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ละเอียด ประณีตเกินธรรมดา รักสะอาด กลัวความสกปรกแบบเกินพอดี ขี้เหนียวระมัดระวังตัว มีระเบียบอย่างเคร่งครัด ตรงกันข้ามกับครอบครัวที่พ่อแม่พยายามอ้อนวอน เอาใจลูกให้นั่งกระโถน เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองมีค่ามาก เมื่อโตขึ้นเขาก็จะพยายามเอาใจทั้งตัวเองและคนอื่น ๆ เหมือนกับตอนที่เขานั่งกระโถนเพื่อเอาใจพ่อแม่ ยกตัวอย่างเช่น การให้ของขวัญ บริจาค ใจบุญสุนทาน
อย่างไรก็ตามเด็กหลายคนในขั้นนี้จะพยายามอั้นการขับถ่าย เพราะเด็กให้คุณค่ากับสิ่งที่รับประทานลงไป ความรู้สึกที่กากอาหารวิ่งวนอยู่ในลำใส้ เขาจึงแสดงออกโดยการนั่งแช่อ้อยอิ่งอยู่บนปากกระโถน ทำให้ตัวเองรู้สึกพึงพอใจมากขึ้นเพราะรู้สึกมีอำนาจ ควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะเป็นพวกที่ชอบสะสม ชอบเป็นเจ้าของ ชอบผูกขาดหรือพยายามจะควบคุมสิ่งต่าง ๆ ไม่ชอบการสูญเสีย
3) ขั้นอวัยวะเพศ (The Sexual Zone หรือ Phallic Stage อายุ 3 - 5) เด็กในวัยนี้จะมีแรงขับทางเพศอยู่ที่อวัยเพศของตนเองเป็นโซนเสน่หาของขั้นนี้ เป็นระยะที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงความสนใจ ระยะที่เด็กจะหมกมุ่นอยู่กับอวัยวะเพศของตนเอง ซึ่งจะทำให้เด็กในวัยนี้ลูบ จับ คลำอวัยวะเพศของตนเอง โดยเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะมีสาเหตุความหมกมุ่นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งฟรอยด์ใช้ตำนานกรีกมาเปรียบเปรยดังนี้
เด็กผู้ชายจะมีปมแอดิปุส (Oedipus Complex) ซึ่งฟรอยนำชื่อนี้มาจากตำนานกรีก แอดิปัสผู้ที่ฆ่าพ่อและแต่งงานกับแม่ของตนเอง เพราะเด็กผู้ชายในช่วงวัยนี้จะติดและรักแม่มาก ต้องการที่จะเป็นเจ้าของแม่เพียงคนเดียว ไปจนถึงอยากร่วมรักกับแม่ (ในระดับจิตไร้สำนึก) แต่ในขณะเดียวกันก็สังเกตว่าแม่กับพ่อรักกัน และรู้ว่าตัวเองด้อยกว่าพ่อในทุกด้าน จึงแสดงพฤติกรรมเลียนแบบพ่อเพื่อจะให้แม่รัก เด็กวัยนี้จะกลัวโดนตัดอวัยวะเพศออกไป (Castration Fear) จากการที่เขาเข้าใจว่าผู้หญิงไม่มีอวัยวะเพศเหมือนกับเขา เขาจึงกลัวจะถูกตัดออกไปและจะไม่ได้เป็นผู้ชายที่จะชนะใจแม่ได้อีกต่อไป แต่สุดท้ายความรักนี้ต้องผิดหวังเด็กผู้ชายจึงเก็บกดความต้องการนี้ลงไปในจิตไร้สำนึก
เด็กผู้หญิงก็เช่นเดียวกัน ซึ่งฟรอยด์เรียกปมนี้ว่า ปมอีเล็คตรา (Electra Complex) ตามตำนานกรีกเช่นกัน ในช่วงเริ่มต้นเด็กผู้หญิงก็รักแม่ในตอนต้น แต่เมื่อโตขึ้นพบว่าตนเองไม่มีอวัยวะเพศเหมือนกับผู้ชายจึงรู้สึกอิจฉาอย่างมาก (Penis Enny) เขาคิดว่าแม่เป็นคนต้องรับผิดชอบ จึงโกรธแม่และโทษแม่ที่เป็นสาเหตุ เธอจึงถอนความรักที่มีต่อแม่มาให้พ่อที่มีอวัยวะเพศที่ตนอยากจะมี นอกจากนั้นยังเลียนแบบแม่เพื่อให้พ่อรักตนเองด้วย แต่ก็รู้ว่าพ่อรักแม่ เธอจึงเก็บกดความต้องการนี้เอาไว้ในจิตไร้สำนึกเช่นเดียวกับเด็กชาย
ในขั้นนี้จุดสำคัญก็คือการเลียนแบบพ่อและแม่ ในทางจิตวิเคราะห์เชื่อว่าคนเรามีทั้ง 2 เพศในตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละเพศจะเลียนแบบเพศไหนมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น เด็กชายที่พยายามเลียนแบบพ่อ แต่มักไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อจึงเลียนแบบแม่มากกว่า ก็จะทำให้มีลักษณะไปจนถึงนิสัยที่ออกไปทางผู้หญิง เช่นเดียวกับเด็กหญิงถ้าเลียนแบบพ่อไปมากก็จะมีลักษณะไปจนถึงนิสัยที่คล้ายกับผู้ชาย นอกจากนั้น หากพ่อแม่ควบคุมการสัมผัสอวัยเพศของเด็กมากจนเกินไป ก็จะทำให้เขาเกิดความขับข้องใจและตรึงความต้องการนี้เอาไว้ เมื่อเขาโตขึ้นก็จะหมกมุ่นกับอวัยเพศของตัวเองมากเกินปกติ
4) ขั้นแฝง (Latency Stage อายุ 6 - 15 ปี) เป็นระยะที่ฟรอยด์อธิบายว่า เด็ก ๆ จะเก็บกดแรงขับทางเพศเอาไว้จึงทำให้ทุกอย่างสงบลง โดยเด็กชายจะจับกลุ่มเล่นกับเด็กชาย และเช่นเดียวกันเด็กผู้หญิงก็จะจับกลุ่มเล่นกับเด็กผู้หญิง พวกเขาจะใช้พลังงานของตนออกไปเพื่อตอบสนองความพึงพอใจ และเรียกร้องความรักจากคนรอบข้างโดยไม่ได้มีจุดเสน่หาที่จุดไหนเป็นพิเศษ
5) ขั้นสนใจเพศตรงข้าม (Genital Stage อายุ 12 ปีขึ้น) เป็นช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดความต้องการทางเพศขึ้นมา ซึ่งจะแสดงออกโดยการสนใจเพศตรงข้าม เมื่อเขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่เขาจะสามารถทำอะไรก็ตามได้อย่างอิสระมากขึ้น จึงทำให้ความคับข้องใจที่ถูกตรึง (Fixation) เอาไว้ในจิตไร้สำนึกจะถูกดึงออกมาผ่านกระบวนการชดเชยในวัยนี้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่ไม่ได้รับความอบอุ่นหรือการโอบกอดจากพ่อแม่ ก็จะชดเชยความรู้สึกนี้เมื่อเติบโตขึ้น โดยการเรียกร้องหาความอบอุ่นจากคนรอบข้างหรือการโอบกอดไปมากเกินธรรมดา
สัญชาตญาณที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดจึงมีอิทธิพลอย่างมาก สามารถควบคุมพฤติกรรมที่แสดงออกมาได้ ซึ่งตามทฤษฎีของฟรอยด์เป็นการอธิบายที่ท้าทายยุคสมัยวิกตอเรียที่มีความเข้มงวดทางสังคมและศีลธรรมสูงมาก เป็นยุคที่เพศชายเป็นใหญ่มากกว่าเพศหญิง ทำให้เพศหญิงถูกกดเอาไว้และจะต้องประพฤติตัวดี รักษาพรหมจรรย์ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ทำให้เพศหญิงเก็บกดความต้องการ ความคับข้องใจเอาไว้จำนวนมาก ส่งผลเกิดอาการทางจิตที่รุนแรงอย่าง ฮิสทีเรีย (Hysteria) ที่เรียกร้องหาความรักและความสนใจ ความอบอุ่น ซึ่งจะแสดงอาการออกมาแตกต่างกันออกไป บางคนพิการเฉพาะจุด เดินไม่ได้ ไม่มีแรง บางคนอาจจะเห็นภาพหลอน ไปจนถึงประสาทหลอนก็มี
ด้วยสาเหตุนี้ฟรอยด์จึงได้ทำการศึกษาจนพบว่าสาเหตุสำคัญก็คือความคับข้องใจที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก จากการปฏิเสธแรงขับทางเพศของตนเอง ซึ่งแตกต่างในปัจุบันที่มีการค้นพบแรงจูงใจ แรงขับอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลเทียบเท่าหรือมากกว่าแรงขับทางเพศขึ้นมาจำนวนมาก อีกทั้งยุคสมัยปัจจุบันมีการเลี้ยงดูบุตรที่แตกต่างกับเมื่อในยุคสมัยฟรอยด์ นอกจากนั้นเด็กยังสามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้มากกว่า ทำให้มีความคับข้องใจที่ถูกตรึงไว้น้อยกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแรงขับทางเพศจะไม่ได้มีอิทธิพลมากเท่ากับที่ฟรอยด์สันนิษฐานเอาไว้ แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามนุษย์เรามีแรงขับทางเพศที่ต้องการได้รับการตอบสนองเหมือนกัน นอกจากนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าความคับข้องใจในวัยเด็กจะส่งผลเมื่อเติบโตขึ้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กไม่ได้รับความอบอุ่น การตอบสนองต่อความหิว ความเมื่อย ความกังวลใจ ความเครียด ก็จะส่งผลให้เขาเป็นคนที่ขี้วิตกกังวล เครียดง่าย ต้องการความรักและความสนใจมากเกินปกติเมื่อเติบโตขึ้น
หากเราตอบสนองความต้องการน้อยเกินไป เมื่อเติบโตขึ้นก็จะต้องชดเชยสิ่งที่ขาดไป แต่หากเราตอบสนองความต้องการมากเกินไปก็จะเป็นความล้นเกินไปอีกแบบ การเลี้ยงดูบุตรจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ที่จะต้องหาความพอดีหรือความสมดุลให้ได้ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีใครที่จะสามารถได้อย่างพอดี มันจะต้องมีการล้นหรือขาดไปบ้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราจึงต้องตระหนักในหน้าที่ของพ่อแม่ให้ดีที่สุด ให้ความอบอุ่น การเรียนรู้ และประสบการณ์ที่น่าจดจำเอาไว้ และไม่ว่าเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไร พ่อแม่ก็จะต้องคอยอยู่เคียงข้าง คอยแก้ปัญหาและเรียนรู้ร่วมกัน
เพื่อให้เขาเติบโตไปอย่างภาคภูมิใจ
มีค่า และมีความสุขกับชีวิตให้มากที่สุด
กิติกร มีทรัพย์. (2554). พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สมิต.
ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2563). รู้ไว้บำบัดใจ. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
สุรางค์ โค้วตระกูล. (2559). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
คาลอส บุญสุภา. (2564). ความลับของจิตไร้สำนึก หรือ จิตใต้สำนึก (Unconsciouns). https://sircr.blogspot.com/2021/07/unconsciouns.html
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น