การต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ (Creative Resistance)

"การเปลี่ยนแปลงสามารถประสบความสำเร็จได้ 
จากการที่ผู้คนร่วมมือกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง"  

            สังคมของเราประกอบด้วยผู้คนจำนวนมากมายที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม สถานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม ความเปราะบางทางจิตใจ สภาพแวดล้อม นิสัยใจคอ ฯลฯ กล่าวคือ เราแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว จึงเป็นเรื่องยากอย่างมากที่เราจะเข้าใจและยอมรับกันและกันอย่างสนิทใจ ความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นในสังคม เราไม่สามารถปฏิเสธความขัดแย้งได้ เช่นเดียวกับที่เราไม่สามารถปฏิเสธการหายใจด้วยออกซิเจนได้ สังคมและความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีวันแยกออกจากกันได้

            มันจึงขึ้นอยู่ว่าสังคมแต่ละกลุ่มจัดการความขัดแย้งกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ประชาคมโลก แต่ละกลุ่มมีปริมาณผู้คนมากน้อยแตกต่างกันไป มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป ความขัดแย้งจึงมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นหากเราให้เสรีภาพในการแสดงออกและการตัดสินใจกับผู้คนมากขึ้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดความขัดแย้งกันบ้าง เป็นเรื่องธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกันการปกครองแบบคนกลุ่มน้อยเป็นใหญ่หรือการปกครองแบบเผด็จการก็นำมาซึ่งความขัดแย้งเช่นเดียวกัน แต่เป็นรูปแบบที่แตกต่างกัน

            อย่างไรก็ตามความขัดแย้งไม่สามารถใช้เป็นเหตุในการก่อกรรมทำชั่วกับผู้คนได้ แต่ก็มีหลายประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการที่มีอาวุธที่พร้อมเข่นฆ่าประชาชนแม้บางประเทศจะกล่าวอ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยก็ตาม หากผู้ปกครองพยายามลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเท่าไหร่ การต่อต้านก็จะเกิดขึ้นรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ในประเทศไทยมีประวัติศาสตร์การเมืองที่นองเลือดจากการที่รัฐบาลลิดรอนสิทธิของประชาชนไปไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาทมิฬ 2535 และ การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ พ.ศ. 2553 ในเดือนพฤษภาคม นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์นองเลือดอีกมากมายที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยและในต่างประเทศ

            จะเห็นว่าการต่อต้านเกิดขึ้นอยู่ตลอดประวัติศาสตร์โลก และการที่คนหลายคนรวมกันเพื่อสู้กับความอยุติธรรมที่มีอำนาจและอาวุธที่มากกว่าก็นำมาซึ่งเลือดและหยาดน้ำตาที่หลั่งออกมา หลายครั้งเป็นชัยชนะของประชาชน แต่หลายครั้งก็เป็นความพ่ายแพ้ที่เจ็บปวดเกินจะบรรยาย แต่ในประวัติศาสตร์ก็มีการต่อต้านที่น่าสนใจและกระทำอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งยังสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อนำเสนอการต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ที่เคยเกิดขึ้น และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

การต่อต้านอย่างสร้างสรรค์โดยใช้อารมณ์ขัน

            เซิร์ดจา โพโพวิช (Srdja Popovic) หนึ่งในผู้วางแผนเบื้องหลังกลุ่มออตปอร์ (Otpor) หรือขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรงของเยาวชนรากหญ้าเพื่อโค่นล้ม สลอบอดัน มีลอเชวิช (Slobodan Milosevic) และนำประชาธิปไตรมาสู่เซอร์เบีย ในอดีตก่อนที่เขาจะเป็นผู้นำการต่อต้าน เขาต้องทนทุกข์จากความสูญเสีย เขาจ้องมองผู้คนรวมถึงแม่ของเขาในอาคารที่อยู่ในจุดทิ้งระเบิด เขาโดนจับกุม เข้าคุก และโดยทุบตี และเคยโดนเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายคนหนึ่งเอาปืนพกจ่อเข้าไปในปากของเขา

            วิธีการของโพโพวิชน่าสนใจและสร้างสรรค์มาก อีกทั้งมันยังประสบผลสำเร็จจนกลายเป็นตำนานแห่งการประท้วงหรือการต่อต้านอย่างสร้างสรรค์อีกด้วย เขาและพรรคพวกเปลี่ยนแปลงความหวาดกลัวให้กลายเป็นอารมณ์แง่บวกอันแรงกล้าอีกประเภทหนึ่ง นั้นคือ ความตลกขบขัน พวกเขาไม่แสดงท่าทีขึงขังและเด็ดเดี่ยวเหมือนผู้นำทางศีลธรรมที่ยิ่งใหญ่อย่างคานธี แต่กลับใช้อารมณ์ขันเพื่อดึงดูดพันธมิตรและโค่นล้มศัตรู เช่นครั้งหนึ่งที่พวกเขาส่งของขวัญวันเกิดหลายชิ้นให้มีลอเชวิช

            ไม่ว่าจะเป็นตั๋วเที่ยวเดียวไปยังกรุงเฮกเพื่อรับการพิจารณาคดีจากความผิดของตัวเอง กุญแจมือ หรือเครื่องแบบในเรือนจำ นอกจากนี้พวกเขายังเฉลิมฉลองปรากฎการณ์จันทรุปราคาด้วยการเชิญชวนให้ผู้ครที่มาเดินซื้อของในตัวเมืองจ้องเข้าไปในกล้องโทรทรรศน์ซึ่งแสดงใบหน้าของมีลอเชวิชที่ถูกบดบัง ในเวลาต่อมากลุ่มออตปอร์ (กลุ่มของโพโพวิช) ผลิตโฆษณาที่มีภาพของมิลอเชวิชอยู่บนเสื้อยืด และมีผู้หญิงคนหนึ่งพูดขณะยืนอยู่ข้างเครื่องซักผ้า 

            ผู้หญิงในโฆษณาพูดว่า "ฉันพยายามขจัดคราบสกปรกตรงนี้มาสิบปีแล้ว เชื่อเถอะค่ะ ฉันพยายามทุกวิถีทางแล้ว แต่ตอนนี้มีเครื่องซักผ้าแบบใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีมาก สามารถขจัดคราบนี้และคราบที่คล้ายคลึงกันได้อย่างถาวร" นอกจากนั้นยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่นักเคลื่อนไหวคนหนึ่งของกลุ่มออตปอร์คว้าไมโครโฟนและประกาศกลับฝูงชนที่มารวมตัวกันว่า

            "เรากำลังรายงานสดจากหน้าสถานีตำรวจเมืองนิส และนี่คือตัวอย่างของผู้ก่อการร้ายรายหนึ่งบริเวณพรมแดนระหว่างเซอร์เบียกับมอนเตเนโกร ผู้ก่อการร้ายรายนี้สูงประมาณ 180 เซนติเมตรและสวมเสื้อยืดขององค์กรก่อการร้ายออตปอร์ ที่สำคัญคือเขาสวมแว่นตา ซึ่งหมายความว่าเขาอ่านหนังสือเยอะ การอ่านหนังสือเยอะในเทศนี้นับว่าอันตราย ดังนั้นจงระวังให้ดี" การแสดงอารมณ์ขันอย่างมีประสิทธิภาพคือสิ่งที่โพโพวิชเรียกว่าการไลต้อนให้จนมุม (Dilemma Action) 

หรือก็คือการทำให้ผู้กดขี่ตกอยู่ในสถานการณ์พ่ายแพ้ทั้งขึ้นทั้งล่อง 

การร่วมมือกันใช้วิธีต่อต้านอย่างสร้างสรรค์

            นอกจากการใช้อารมณ์ขันในการต่อต้านแล้ว ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่สร้างสรรค์และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เช่นในประเทศซีเรียสมัยที่เผด็จการ บัชชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) กำลังปกครอง นักเคลื่อนไหวเขียนคำ อย่างเช่น เสรีภาพ และ พอกันที บนลูกปิงปองหลายพันลูกและทิ้งมันลงบนท้องถนนในกรุงดามัสกัส โพโพวิชตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อประชาชนได้ยินเสียงลูกปิงปองเด้ง พวกเขาจะรู้ว่าฝ่ายต่อต้านแบบไม่ใช้ความรุนแรงกำลังทิ่มแทงระบบเผด็จการอยู่ ไม่นานตำรวจก็โผล่มาวิ่งกระหืดกระหอบเก็บลูกปิงปองไม่ทั่วเมืองหลวง ซึ่งในความจริงแล้วลูกปิงปองเป็นเพียงแค่ตัวประกอบเท่านั้น เพราะเป้าหมายก็คือผู้บังคับกฎหมายในระบอบนี้ต่ากหากที่ได้รับเลือกให้แสดงเป็นตัวตลก

            ไม่ใช่มีเพียงแค่ลูกปิงปองเท่านั้นนักเคลื่อนไหวยังเทสีผสมอาหารสีแดงลงในน้ำพุตามจัตุรัสต่าง ๆ ในกรุงดามัสกัส เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าพลเมืองจะไม่ยอมรับการปกครองแบบนองเลือดของผู้นำเผด็จการอย่างอัสซาด การทำแบบนี้ช่วยให้ผู้คนรับรู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม จึงไม่ต้องเผชิญความหวาดกลัวว่าจะเป็นจุดเด่นในฐานะผู้ต่อต้านเพียงคนเดียว การต่อต้านย่อมเป็นเรื่องง่ายดายมากเมื่อพวกเขารู้สึกว่าใคร ๆ ก็ทำมัน ทุกคนต่างมีส่วนร่วม "เราก็น่าจะมีส่วนร่วมบ้างเหมือนกัน"

            การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นพลังในการต่อต้านที่สำคัญ เพราะการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของผู้คน ในประเทศโปแลนด์เมื่อนักเคลื่อนไหวต้องการคัดค้านข่าวลวงที่รัฐบาลปล่อยออกมา พวกเขารู้ว่าการปิดโทรทัศน์ในบ้านย่อมไม่ได้แสดงให้ประชาชนด้วยกันเห็นว่าพวกเขาพร้อมจะลุกขึ้นประท้วง พวกเขาจึงเอาโทรทัศน์ของตัวเองใส่รถเข็นและเข็นไปตามถนน ไม่นานก็มีคนทำแบบเดียวกัน และทำตามกันไปทั้งเมืองไปจนถึงทั่วประเทศ จนกระทั่งในที่สุดฝ่ายค้านก็ได้อำนาจมาปกครอง

            เช่นเดียวกับคนงานเหมืองแร่ชาวชิลีที่ประท้วงออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ผู้นำเผด็จการในสมัยนั้น แทนที่พวกเขาจะเสี่ยงด้วยการหยุดงานประท้วง พวกเขาใช้วิธีเรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศแสดงท่าทีต่อต้านด้วยการเปิดและปิดไฟในบ้านสลับกันเป็นพัก ๆ พวกเขาไม่กลัวที่จะทำแบบนั้น และไม่นานเขาก็รู้ว่า ผู้คนก็ไม่กลัวที่จะทำแบบนี้เช่นเดียวกัน และไม่นานเขาก็รู้ว่าเพื่อนบ้านก็ไม่กลัวที่จะทำในแบบเดียวกัน 

            นอกจากนั้นคนงานเหมืองแร่ยังชวนให้ประชาชนเริ่มขับรถอย่างช้า ๆ คนขับแท็กซี่ขับรถช้าลง และคนขับรถประจำทางก็เช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับรถยนต์และรถบรรทุกต่างก็บังคับรถให้เคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้า ทั้ง ๆ ที่ชิลีในสมัยเผด็จการปิโนเชต์ผู้คนกลัวที่จะแสดงความเกลียดชังอย่างเปิดเผย จุดเปลี่ยนจึงเป็นตอนที่ประชาชนจำนวนมากตระหนักว่า "เราคือคนส่วนใหญ่และพวกเขา (คนที่เห็นด้วยกับเผด็จการ) คือคนส่วนน้อย" อีกทั้งการขับรถช้าก็ยังไม่ผิดกฎหมายอีกด้วย

การต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ด้วยปลายพู่กัน

            หวง หย่ง-ฟู่ (Huang Yung-Fu) เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1924 ในเมืองไถซาน มณฑลกว่างตง เขาเริ่มหัดจับปืนยาวตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเริ่มออกเดินทางจากบ้านเกิดเพื่อเข้าร่วมกับทหารอาสาในสงครามต่อต้านญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1937 ในภายหลังเขาเข้าร่วมกับพรรคก๊กมินตั๋ง และต้องหันกระบอกปืนมาสู้รบกับคนจีนด้วยกัน แต่โชคร้ายที่ชัยชนะเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ของ เหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) ในปี ค.ศ. 1949 หลังการพ่ายแพ้ของพรรคก๊กมินตั๋ง เขากับเหล่าทหารและครอบครัวอีกกว่าสองล้านชีวิตจำเป็นต้องหนีข้ามทะเลไปยังเกาะไต้หวันและอยู่ที่นั้นตลอดมาจนปลดประจำการในปี ค.ศ. 1978 

            เขาเก็บหอมรอมริดมานานเพื่อซื้อบ้านพักยามเกษียณในหมู่บ้านทหารผ่านศึก แถมชานเมืองไถจง ซึ่งในปี ค.ศ. 2010 หมู่บ้านนี้ก็เกือบร้างผู้คน เพราะคนรุ่นเก่าเริ่มเสียชีวิตไป อีกทั้งคนรุ่นใหม่ก็ทยอยย้ายออกไป เหลือเพียงแค่ 11 หลังที่ยังคงมีลมหายใจรวมถึงคุณปู่ หวง หย่ง-ฟู่ ที่ใช้ที่นี้เป็นที่พำนักมานานกว่า 30 ปี จนกระทั่งเขาได้รับจดหมายแจ้งจากทางการเพื่อขอคืนพื้นที่ โดยให้เลือกระหว่างจะรับเงินชดเชย หรือจะรับสิทธิย้ายไปบ้านหลังใหม่ 

"แต่ผมไม่อยากย้ายที่นี่คือบ้านเพียงแห่งเดียวที่ผมรู้จักในไต้หวัน" หวง หย่ง-ฟู่ กล่าว

            เงินจำนวนไม่ถึงสองล้านบาทเมื่อเทียบเป็นเงินบาทไม่สามารถทดแทนสถานที่ที่เขาใช้นอนหลับอย่างสบายใจและเป็นสถานที่แห่งความทรงจำของเขาตลอดในช่วงท้ายชีวิตได้แม้แต่น้อย เขาจึงตัดสินใจที่จะลุกขึ้นต่อสู้ มือที่เคยถือปืนกลับมาเปลี่ยนเป็นถือผู้กันแทน และสีสันที่งดงามแทนกระสุนปืนที่มุ่งหมายจะทำลายชีวิตคน เพื่อต่อสู้กับการรื้อถอนที่คืบคลานเข้ามาทำลายหมู่บ้านแห่งนี้อย่างช้า ๆ 

หมู่บ้านสายรุ้ง (Rainbow Village) 

            พ่อของเขาเคยสอนเขาวาดรูปเมื่อตอนอายุ 5 ขวบ ซึ่งเขาไม่ได้วาดอีกเลยจนกระทั่งตอนนี้ และสิ่งแรกที่เขาวาดก็คือเจ้านกน้อยที่ชอบบินเข้ามาในบ้านของเขา จากนั้นก็ตามมาด้วยสุนัข แมว กระต่าย เครื่องบิน รูปภาพและสีสันปรากฎขึ้นเต็มผนังบ้านล้นออกไปยังตึกร้าง ลามไปถึงถนน ก่อนจะเลื่อนไปทั่วหมู่บ้านที่รกร้างแห่งนี้ แม้รูปภาพจะไม่ได้สวดสดงดงามแต่สีสันและความพยายามกลับไปสะดุดตากลุ่มนักศึกษาด้านศิลปะเข้าอย่างจัง พวกเขาจึงตัดสินใจช่วยเหลือคุณปู่ในการรณรงค์ไม่ให้ทางการรื้อถอนหมู่บ้าน

            พวกเขาตั้งชื่อให้หมู่บ้านแห่งนี้ใหม่ว่า หมู่บ้านสายรุ้ง (Rainbow Village) พร้อมกับเรียกคุณปู่หวงด้วยชื่อที่พ้องกันว่า "คุณปู่สายรุ้ง" หลังจากนั้นไม่นานเรื่องราวนี้ก็รู้กันไปทั่ว ทำให้มีแนวร่วมที่หลั่งใหลเข้ามาเยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่องทั้งสื่อมวลชน นักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศไต้หวันและต่างประเทศ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนที่ไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของไต้หวันถูกรื้อถอนไป และถูกทำลายกลายเป็นสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ที่ไร้จิตวิญญาณ

            พวกเขาร่วมมือกันละเลงสีลงบนพื้นผิวจนกลายเป็นเมืองที่สวยสดงดงาม และในที่สุดทางการก็ตัดสินใจยกเลิกการรื้อถอนหมู่บ้านสายรุ้ง และซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองไถจง โดยทางการสัญญากับคุณปู่ว่าจะเก็บบ้านของเขาเอาไว้ คุณปู่หวง หย่ง-ฟู่ เล่าว่า "ผมได้ยินแล้วก็มีความสุข และอยากขอบคุณผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ผมชอบพูดคุยกับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนหมู่บ้านแห่งนี้ ส่วนใหญ่พวกเขาบอกว่าชอบภาพวาดพวกนี้ ผมไม่รู้สึกเหงาเลย เพราะมีคนแวะมาตลอด"

การร่วมมือกันของผู้คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่งดงามได้

            เบื้องหลังชัยชนะของคุณปู่หวง หย่ง-ฟู่ ที่เริ่มต้นหยิบพู่กันขึ้นมาปกป้องหมู่บ้านเพียงลำพังสำเร็จได้ก็เพราะแรงสนับสนุนของผู้คนมากมาย ตั้งแต่การสนับสนุนของนักศึกษา นักสื่อสารมวลชน เจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงนักท่องเที่ยว ทุกคนช่วยกันปลูกชีวิตของหมู่บ้านเก่าแก่ที่ใกล้ผุพังให้กลับมามีชีวิตชีวาสดใสขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับ ซีเรีย ชิลี เซอร์เบีย และโปแลนด์ กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงสามารถประสบความสำเร็จได้จากการที่ผู้คนร่วมมือกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

            การรับรู้ว่าคุณไม่ใช่ผู้ต่อต้านเพียงคนเดียวนั้น เพียงพอที่จะทำให้การเกิดการต่อต้านร่วมของฝูงชนอย่างง่ายดาย ความเข้มแข็งทางอารมณ์เป็นสิ่งที่สามารถพบได้แม้แต่ในคนจำนวนเพียงเล็กน้อย ดังที่ มาร์กาเร็ต มีด (Margaret Mead) เคยกล่าวไว้ว่า "อย่าได้สงสัยว่าพลเมืองผู้มีหัวคิดกลุ่มเล็ก ๆ จะเปลี่ยนแปลงโลกได้จริง ๆ ความจริงแล้วกลุ่มคนเพียงเล็กน้อยนั่นแหละที่ทำได้มาโดยตลอด" กล่าวคือ โลกพัฒนาขึ้นได้จากคนเพียงเล็กน้อยที่ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และสามารถจุดกระแสร่วมมือให้ขยายใหญ่โตมากขึ้นได้

            ถ้าเราอยากให้ผู้คนมาเข้าร่วมและกล้าเสี่ยงร่วมกัน เราจำเป็นต้องแสดงให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว นั่นคือกุญแจสู่ความสำเร็จข้อแรกของกลุ่มออตปอร์และการปฏิวัติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ซีเรีย ชิลี โปแลนด์ รวมไปถึงหมู่บ้านสายรุ้งด้วยเช่นเดียวกัน ตอนที่โพโพวิชและพรรคพวกแสดงภาพกำปั้นทั่วกรุงเบลเกรด พวกเขายังเขียนคำขวัญประกอบอย่างเช่น "ต่อต้านเพราะฉักรักเซอร์เบีย" หรือ "โค่นล้มระบบ" และ "ต่อต้านจนกว่าจะชนะ!" 

            ก่อนหน้านั้นชาวเซอร์เบียต่อต้านระบอบเผด็จการของมีลอเชวิชแบบเงีบบ ๆ พวกเขาหวาดกลัวที่จะแสดงออกในที่สาธารณะ แต่รูปภาพกำปั้นของกลุ่มออตปอร์ทำให้พวกเขาตระหนักว่ามีคนอีกมากมายที่เต็มใจจะก้าวออกมาต่อสู้ ในเวลาต่อมาเมื่อสมาชิกของขบวนการเคลื่อนไหวถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจถามพวกเขาว่าใครเป็นผู้บงการ โพโพวิชและพรรคพวกฝึกให้พวกเขาบอกว่าตัวเองเป็น "หนึ่งในแกนนำ 20,000 คนของกลุ่มออตปอร์" การร่วมมือกันของผู้คนเหตุผลที่ซีเรีย ชิลี เซอร์เบีย และโปแลนด์ ประสบความสำเร็จในการเอาชนะอำนาจนิยมได้

            แม้การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มมาจากกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน แต่สังคม ประเทศชาติ หรือโลกใบนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จำเป็นต้องพึ่งผู้คนจำนวนมาก ดังนั้นการต่อต้านอย่างสร้างสรรค์และอารมณ์ขันจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าสังคมของเราประกอบด้วยผู้คนจำนวนมากมายที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม สถานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม ความเปราะบางทางจิตใจ สภาพแวดล้อม นิสัยใจคอ ฯลฯ จึงเป็นเหตุผลที่เรามีความเห็นไม่ตรงกัน และยากมากที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของกันและกันได้ เราจึงจำเป็นต้องค้นหาวิธีเอาชนะใจคนจำนวนมากอย่างสร้างสรรค์ 

เพื่อทำให้พวกเขาเห็นว่าสิ่งเลวร้ายรอบ ๆ ตัว 
สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากพวกเราร่วมมือกัน

อ้างอิง

Grant, A. (2017). Originals: How Non-Conformists Move the World. NY: Penguin.

ทีมนักเขียน THE PEOPLE. (2564). THE PEOPLE เรื่องเล่า 'คน' เปลี่ยนโลก. กรุงเทพฯ: loupe.

ความคิดเห็น