สภาพแวดล้อมสร้าง พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ขึ้นมาได้อย่างไร (Inappropriate Behavior)

เราตีความข้อเท็จจริงผิดไปเพราะเราคิดเข้าข้างตัวเอง 
เหมือนกับที่เราเห็นภาพลวงตา เราเห็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นความจริง 

            เราทุกคนมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หลายอย่าง เป็นพฤติกรรมที่เราไม่ชอบและไม่ต้องการมี แต่ก็อดไม่ได้ที่จะแสดงออกมาตลอด โดยที่หลายครั้งเราก็ไม่ได้ตั้งใจไม่ว่าจะเป็นการชอบเล่นเกมก่อนนอนจนนอนไม่หลับ หรือนอนดึกเกินไป ไม่ยอมออกกำลังกาย ขี้เกียจ ไม่ยอมอ่านหนังสือ ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากไปทำงาน ไปจนถึงชอบดูแต่ซีรีย์ที่ไม่มีสาระ หลายคนผิดหวังที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หรือไม่สามารถทำให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายตามที่ใจปรารถนาได้

            บางคนอาจจะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์. แต่จริง ๆ แล้วเป็นคำที่เงียบง่ายมาก พฤติกรรม คือการกระทำที่เป็นการตอบสนองต่อสิ่งเราที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว ซึ่งอาจจะแสดงออกโดยที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ ส่วนคำว่า ไม่พึงประสงค์ คือ ไม่ต้องการ ไม่ปรารถนา หรือไม่ควรปฏิบัติ ดังนั้น พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จึงมีความหมายว่า การกระทำที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว ซึ่งเป็นการแสดงออกในทิศทางที่เราไม่ต้องการ

            ผู้อ่านคงจะนึกออกว่าพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อะไรบ้างที่ผู้อ่านกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และอยากจะเลิกทำสักที แต่ก็ไม่สามารถเลิกได้โดยง่าย เพราะว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวของเราก็คือ "สภาพแวดล้อม" ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนของเราบางคนอาจจะชอบทำตัวเป็นอันธพาลเวลาอยู่กับเพื่อน ๆ อีกกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นคนอบอุ่นมากเวลาอยู่กับคนรัก หรือเด็กบางคนอยู่ที่โรงเรียนดูมีความสุข แต่เวลาอยู่บ้านกลับเครียดและไม่ค่อยพูด หรือเราอาจจะควบคุมการกินตามใจปากของตัวเองไม่ได้เวลาอยู่กับเพื่อน แต่ควบคุมได้เวลาอยู่คนเดียว

            ส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมที่ทั้งพึงประสงค์และไม่พึงประสงค์จะถูกแสดงออกมาโดยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เพราะมนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ควบคุมตัวเองได้ยากมาก เราแสดงพฤติกรรมออกไปตามอารมณ์ สัญชาตญาณ และน้อยครั้งในแต่ละวันที่เราจะใช้สติในการพิจารณา วิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ทำให้หลายครั้งเราแสดงออกในสิ่งที่เราไม่ต้องการหรือไม่พึงประสงค์ ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงอิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และเราจะมีทางออกอย่างไรได้บ้าง

สภาพแวดล้อมสร้างพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

            อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสภาพแวดล้อมส่งผลให้เราแสดงพฤติกรรมออกมา เพราะพฤติกรรมของเราเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว สิ่งแวดล้อมก็คือสิ่งเร้า ซึ่งมีเป็นร้อยเป็นพันอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา หลายครั้งเราจึงตอบสนองต่อสิ่งเร้าจำนวนมากนั้นโดยที่เราก็ไม่รู้ตัวสักนิด ยกตัวอย่าง สีของป้ายร้านอาหารร้านหนึ่งซึ่งมีความสวยงามมาก มีเมนูอาหารที่น่ากิน มันเย้ายวนให้เราเดินเข้าไปในร้านอาหารนั้น แม้เราจะไม่ได้หิวเลยแม้แต่นิดเดียวก็ตาม

            จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สิ่งเร้าต่าง ๆ จะมีอิทธิพลกับสัญชาตญาณของเราอย่างมาก ยกตัวอย่างเรื่องการใช้เงิน เวลาที่เราได้เงินมาง่าย ๆ เราจะใช้เงินได้ง่ายมาก ในทางตรงกันข้ามหากเราได้เงินมาอย่างยากเย็น ยากลำบากก็จะใช้เงินนั้นยากไปด้วย จึงเป็นเรื่องดีหากให้เด็กเรียนรู้จักการได้เงินมาอย่างยากลำบาก เพื่อฝึกนิสัยการเก็บออมตั้งแต่เริ่มต้น 

            หลายครั้งที่เราตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นรอบตัวโดยที่เราไม่รู้ตัวจนทำให้มันกลายเป็นนิสัยติดตัวเราไปเลย ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งเป็นเด็กที่ตื่นเช้าไปโรงเรียน แต่เมื่อถึงเวลาปิดเทอมทำให้เขามีเวลาเล่นเกมมากขึ้น เขาเลือกใช้เวลาช่วงกลางคืนเล่นเกมกับเพื่อนทำให้นอนดึกทุกวัน จนเมื่อเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ เขาก็กลายเป็นคนที่นอนดึกไปเลย จนกระทั้งเมื่อเปิดเทอมเขาก็ไม่สามารถตื่นเช้าได้ทันเวลาและไปสายตลอดในช่วงแรก ๆ 

            แม้สิ่งแวดล้อมจะเหมือนเดิมแต่บริบทเปลี่ยนแปลงไป เพราะเป็นช่วงปิดเทอมที่ไม่จำเป็นต้องตื่นเช้าไปโรงเรียนรวมไปถึงการมีกลุ่มเพื่อนมาเล่มเกมด้วยกันตอนกลางคืน ทำให้พฤติกรรมตื่นเช้าหายไปและแทนที่ด้วยนิสัยการนอนดึก หลายคนคงเคยเผชิญกับประสบการณ์ดังกล่าวรวมถึงตัวผมเองด้วยในอดีต ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อีกมากมายที่เกิดขึ้นจาก "นิสัย" การนอนดึกของเรา เช่น ไม่ได้ออกกำลังกาย อ่านหนังสือน้อยลง ไม่ตั้งใจเรียน (เพราะง่วงนอนจึงเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง)

            พฤติกรรมที่เราแสดงออกซ้ำ ๆ หลายครั้งจะกลายเป็นนิสัยของเรา ที่จะต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งเพื่อแก้ไขให้กลับเข้าสู่สมดุลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนก็สามารถแก้ไขปัญหาการตื่นสายของตัวเองได้โดยการฝืนตัวเองให้ตื่นเช้า อาจจะนอนน้อยบ้างหรือเพลียบ้างในช่วงแรก แต่ก็ทำสำเร็จเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม ยังมีนิสัยหรือพฤติกรรมที่เราแสดงออกซ้ำ ๆ ตามความเคยชินอีกมากมายที่เราก็ไม่รู้ตัว และส่วนใหญ่มันก็เป็นพฤติกรรมที่เราไม่พึงประสงค์สะด้วย

            มีบางโอกาสเท่านั้นที่เราสามารถรับรู้ตัวเองได้ว่าเรากำลังทำตามความเคยชินหรือนิสัยของตัวเอง เพราะปกติเรามักจะสังเกตเห็นพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการ เช่น การใช้เงินมากเกินไปที่ห้างสรรพสินค้า กัดเล็บ หรือดูรายการทีวีติดต่อกัน นอนดึก ๆ ทั้งที่ต้องตื่นเช้าอย่างที่ผมยกตัวอย่างเอาไว้ข้างต้น นอกจากนั้นเรายังสังเกตเห็นนิสัยที่น่ารำคาญของคนอื่นและหวังว่าพวกเขาจะรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ บางทีเพื่อนร่วมงานอาจจะเข้าประชุมสายเป็นประจำ 

เราเห็นนิสัยที่ไม่ปรารถนาในตัวเองและตัวคนอื่น ๆ เพราะนิสัยเหล่านี้ขวางเป้าหมายที่วางเอาไว้

            แต่เราไม่มีทางรู้ทั้งหมดเลยว่าเรามีนิสัยที่ไม่ต้องการ (ไม่พึงประสงค์) อะไรบ้าง เพราะนิสัยที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมมักจะไม่เป็นที่รู้จัก เราจำข้อมูลในแต่ละวันที่เราพูดออกไปได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เรามักจะคิดว่าเราจำได้หรือเรารู้จักตัวเองดีสะเหลือเกิน เรารู้จักนิสัยของตัวเองอย่างดี และโดยส่วนใหญ่เรามีพฤติกรรมที่พึงประสงค์เท่านั้น เราเชื่อว่าเราเช็คราคาของสินค้าอย่างดีก่อนจะตัดสินใจซื้อ หรือวิเคราะห์ถึงความจำเป็นก่อนจะซื้ออะไรสักอย่าง รวมไปถึงการดูแลสุขภาพของเราและการออมเงินของเราด้วย

            ทางจิตวิทยาจะเรียกความคิดเข้าข้างตัวเองประเภทนี้ว่า ภาพลวงตาของการตีความภายใน (Introspection Illusion) หรือการมองตัวเองผิดไปจากความเป็นจริง อคตินี้ทำให้เราประเมินว่าการกระทำของตัวเองขึ้นอยู่กับสภาวะภายในมากเกินไป กล่าวคือ เราตีความข้อเท็จจริงผิดไป เพราะเราคิดเข้าข้างตัวเอง เหมือนกับที่เราเห็นภาพลวงตา เราเห็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นความจริง 

            เราจมอยู่กับความรู้สึก อารมณ์และความคิดมากเกินไป สิ่งเหล่านี้เข้ามากลบความสามารถในการรับรู้อิทธิพลของสิ่งที่เป็นไปได้อื่น ๆ ที่เข้ามามีผลต่อพฤติกรรมโดยเฉพาะอิทธิพลที่เราไม่รู้ตัว อย่างเช่น นิสัยของตัวเอง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เรามั่นใจมากเกินไปว่าเราทำทุกอย่างตามความตั้งใจและความปรารถนา ดูเหมือนว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวจะแฝงอยู่ในความลึกลับของนิสัย เราเชื่อว่าเราทำทุกอย่างเพราะเรามุ่งมั่นที่จะทำ ความเชื่อนี้ทั้งเยินยอและทำให้รู้สึกมีพลัง แต่มันไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้อง

พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์สร้างนิสัยที่ไม่พึงประสงค์

            หากเราต้องการจะกำจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ออกไป เราจะต้องเปลี่ยนแปลงนิสัยของตัวเอง หรือเปลี่ยนแปลงแบบแผนของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยการเปลี่ยนแปลงบริบทหรือสภาพแวดล้อมเสียก่อน เพราะเราทุกคนได้รับแรงจูงใจและทำสิ่งต่าง ๆ ตามบริบทหรือสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ หลายครั้งเราทำบางสิ่งบางอย่างเพราะมีสิ่งแวดล้อมเกื้อหนุน ยกตัวอย่างเช่น เราออกไปวิ่งทุกเช้าเพราะเพื่อนสนิทของเรานัดออกไปวิ่งด้วยกันที่สวนใกล้บ้าน (สิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนคือเพื่อนและสวนใกล้บ้าน)

            พูดง่าย ๆ ก็คือพฤติกรรมที่เราแสดงออกมาทั้งที่เป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติมากกว่าแรงจูงใจที่มาจากจิตสำนึก (การมีสติรู้ตัว) เมื่อพฤติกรรมเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในบริบทใกล้เคียงกันมันจะกลายเป็นนิสัยหรือความเคยชินขึ้นมา การที่รู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้นง่ายดาย ไหลลื่น เกิดขึ้นเองระหว่างที่ทำบางอย่างด้วยความเคยชิน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ยกตัวอย่างเช่น เรานึกไม่ออกว่าตัวอักษรใดอยู่บนแป้นพิมพ์บ้าง แต่เมื่อเราวางมือสัมผัสมันเรากลับสามารถพิมพ์ได้โดยอัตโนมัติ

            ในชีวิตประจำวัน เราเรียนรู้การเชื่อมโยงทางจิตใจต่าง ๆ เองตามธรรมชาติ กล่าวคือ เราสร้างนิสัยขึ้นมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน การทำบางสิ่งบางอย่างซ้ำ ๆ ในบริบทเดิม ๆ ถึงจะไม่รู้ตัว แต่นิสัยก็กำลังทำงานอย่างขยันขันแข็ง มันไม่เกี่ยวว่านิสัยนี้จะดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด แต่ขอแค่มีองค์ประกอบเพียงแค่ 3 อย่างก็เพียงพอ ประกอบไปด้วย 1) การแสดงออกซ้ำ ๆ 2) รางวัลที่เกิดขึ้นเมื่อเราทำบางสิ่งบางอย่างทั้งดีและไม่ดี และสุดท้าย 3) บริบทหรือสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เราตอบสนองโดยอัตโนมัติ

            พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นมาด้วยวิธีเดียวกัน เราอาจจะชอบเล่นเกมตอนดึก ๆ จนไม่ยอมนอน ทำให้เรารู้สึกผิดที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หรือมันอาจจะเป็นนิสัยที่เราไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้นมา เช่นตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาข้างต้นเกี่ยวกับนักเรียนที่นอนดึกในช่วงปิดเทอม หรือบางทีเรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง พนักงานบางคนอาจจะเบื่อ คิดมาก เครียด นอนไม่หลับจึงเริ่มหาเกมเล่นไปเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปหลายวัน สุดท้ายพนักงานคนนั้นก็สร้างนิสัยการเล่นเกมตอนกลางคืนก่อนนอนขึ้นมา

            ในกรณีนี้นิสัยที่ไม่พึงประสงค์ถูกสร้างมาจากการทำพฤติกรรมนี้ซ้ำ ๆ หลายครั้งจากปัญหาความเครียดในที่ทำงาน หรือความเบื่อหน่าย ยิ่งไปกว่านั้นการได้เล่นเกมยังเป็นเรื่องที่สนุกซึ่งกลายเป็นรางวัลชั้นดีอีกด้วย เพราะรางวัลจะไปกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาทโดพามีนในสมองของเรา ทำให้เกิดความพึงพอใจขึ้นมา ดังนั้นเราควรจะให้รางวัลกับพฤติกรรมที่ถูกต้องเพื่อส่งเสริมให้พฤติกรรมนั้นคงอยู่มากกว่าให้รางวัลกับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ซึ่งจะสร้าง

นิสัยที่ไม่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นต่อไปในภายภาคหน้า

การแก้ไขนิสัยที่ไม่พึงประสงค์

            ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าบริบทหรือสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็น ผู้คน สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก อากาศ รวมไปถึงสภาพการเงิน สามารถจูงใจให้เราแสดงพฤติกรรมที่ทั้งพึงประสงค์และไม่พึงประสงค์โดยที่เรารู้ตัว และไม่รู้ตัว ซึ่งส่วนมากจะไม่รู้ตัว เนื่องจากเราดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความเคยชิน ด้วยสัญชาตญาณ หรืออารมณ์ มากกว่าการใช้สติในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ นอกจากนั้นเรายังมั่นใจในตัวเองผิด ๆ ว่าเรารู้ตัวไปเสียหมดทุกอย่าง 

            หากในกรณีที่เราแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์บ่อยครั้งด้วยความเคยชิน เช่น เครียด กดดันจากการที่จะต้องสอบ จึงหลีกเลี่ยงที่จะไม่คิดเรื่องนี้ หรือแม้กระทั่้งไม่อ่านหนังสือเลย จนสุดท้ายกลายเป็นนิสัยที่เราชอบหลีกเลี่ยงความกดดัน และพยายามจะบ่ายเบี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งนิสัยแบบนี้เรามักจะพบเห็นกันโดยทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น พนักงานที่บริษัทเก่าของผมชอบหลีกเลี่ยงการเจอกับลูกค้าที่ดุ หรือ เวลาที่เขาทำงานผิดพลาด ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ พนักงานคนนั้นจะพยายามส่งคนอื่นไปรับหน้าแทนและอ้างว่าตัวเองไม่ว่าง

            นิสัยหนีปัญหาดังกล่าวสามารถสร้างความเสียหายทั้งกับตัวเองและผู้อื่นอย่างคาดไม่ถึง ไม่เพียงแค่นั้นยังมีตัวอย่างอีกมากมาย เช่น นิสัยที่ชอบมองโลกในแง่ดีมากเกินไปหรือมักง่าย ซึ่งมาจากพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่กดดัน อาจจะเพราะเคยมีประสบการณ์ในอดีตที่เคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่เลวร้ายจนทำให้เกิดความเปราะบางทางด้านจิตใจ ส่งผลให้เขาพยายามมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ดีมากเกินไป  หรือมักง่ายมากเกินไป (เป็นการใ้ช้กลไกป้องกันตัวเอง) ทำให้เขามักจะโดนเอาเปรียบ หรือทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน 

            เราจะเห็นว่านิสัยที่ไม่พึงประสงค์ดังตัวอย่างและอีกมากมายนอกเหนือจากที่ผมยกตัวอย่างมา สามารถทำให้เราเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายในภายภาคหน้าได้ หรือทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่เราปรารถนาได้ ดังนั้นเราจะทำอย่างดีที่สุดเพื่อที่จะแก้ไขนิสัยที่เป็นปัญหาเหล่านี้ โดยการตระหนักถึงนิสัยแบบนี้ของตัวเองเสียก่อน เพราะก่อนที่เราจะซ่อมแซมสิ่งที่เสียหาย เราจะต้องเห็นข้อผิดพลาดหรือความผิดปกติบางอย่างเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น นิสัยมักง่ายเกินไปอาจจะมีเพื่อนร่วมงานมาเตือนเราจนเรารู้ตัว 

            เมื่อเราตระหนักถึงนิสัยของตัวเองแล้ว เราถึงจะสามารถวางแผนเพื่อแก้ไขนิสัยของตัวเองได้ โดยการเปลี่ยนแปลงบริบทรอบ ๆ ตัว ยกตัวอย่างนิสัยไม่ชอบออกกำลังกายที่ผมยกขึ้นมา เราสามารถนอนให้เร็วขึ้นเพื่อตื่นเช้ามาออกกำลังกาย หรือเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น การไม่เล่นเกม หรือใช้ Smart Phone ในการสื่อสารก่อนนอน รวมไปถึงการวางรองเท้าออกกำลังกายเอาไว้ในที่ที่มองเห็นได้ง่าย ๆ

            เราสามารถสร้างบริบทโดยการจับคู่กับเป้าหมายที่เราปรารถนา ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะออกไปวิ่งทุกเช้าหลังจากดื่มกาแฟเรียบร้อยแล้ว ในกรณีที่เราดื่มกาแฟทุกเช้าอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเราตื่นเช้ามาแล้วดื่มกาแฟ จากนั้นก็พยายามเข็นตัวเองไปใส่รองเท้าที่วางในจุดที่เห็นโดยง่าย ทำให้เวลาเราดื่มกาแฟในวันถัด ๆ มาจะนึกถึงการออกไปวิ่งทันที นอกจากนั้นเราควรให้รางวัลตัวเองหลังจากที่ออกกำลังกายเรียบร้อยแล้ว เช่น ทำ Check Lists ประจำวันเอาไว้ พร้อมกับวางเงื่อนไขเอาไว้ว่า หากทำได้สำเร็จ 1-2 สัปดาห์ จะให้รางวัลอะไรกับตัวเอง

            สิ่งที่เราจะต้องไม่ลืมก็คือ เราควรจะทำให้พฤติกรรมที่พึงประสงค์เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กันอย่างต่อเนื่องทุกวัน จนกลายเป็นนิสัย ยกตัวอย่างเช่น ตั้งเป้าหมายอ่านหนังสือกับตัวเองเอาไว้วันละ 30 นาที และทำให้พฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นทุกวัน สุดท้ายจะกลายเป็นนิสัยขึ้นมาเอง หลังจากนั้นเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องวางเงื่อนไขหรือให้รางวัลอะไรกับตัวเองอีกต่อไป

            วิธีการนี้ไม่ได้แก้นิสัยแบบตรงตัวแต่เป็นการสร้างนิสัยที่พึงประสงค์ขึ้นมาทดแทน หากเป็นคนที่ขี้เกียจ เราจะต้องวิเคราะห์ก่อนว่า "อะไรบ้างที่เราขี้เกียจ และอะไรบ้างที่เราอยากจะขยัน" เราถึงจะสามารถสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ขึ้นมาทดแทนได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากเราสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ขึ้นมาทดแทนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพหลายอย่างของเราได้ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าสื่อสาร ไม่มั่นใจในตัวเอง หากเราสามารถสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ขึ้นมาทดแทนได้ เช่น ฝึกร้องเพลง ฝึกพูดทำคลิปลง Youtube หรือฝึกแสดงความคิดเห็นกับคนที่เราไม่รู้จักมากขึ้นบ่อย ๆ 

ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายและท้าทายอย่างมาก

            สิ่งที่เราจะต้องไม่ลืมก็คือ บริบทหรือสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลอย่างมาก แม้เราจะมีความตั้งใจมากแค่ไหนก็ตาม หากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยก็ไม่สามารถสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์บางอย่างได้ ยกตัวอย่างเช่น คนที่ต้องการจะออกกำลังกายมากขึ้นแต่มีที่อยู่อาศัยห่างไกลจากที่ทำงาน ทำให้ต้องตื่นแต่เช้าและกลับดึก การจะออกกำลังกายทุกวันจึงเป็นไปได้ยาก หรืออยากจะนอนแต่หัวค่ำแต่บริษัทมักจะเอาเปรียบโดยส่งงานมาให้ทำตอนกลางคืน ทำให้ไม่สามารถนอนเป็นเวลาที่แน่นอนได้

            ด้วยบริบทที่ผมยกตัวอย่างทำให้การจะสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นเราควรจะออกแบบบริบทหรือสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่เราตั้งใจเอาไว้ หลายคนอาจจะท้อแท้เพราะว่าเปรียบเทียบกับคนที่ประสบความสำเร็จ หรือคนใกล้ตัวที่มีความก้าวหน้า มีพัฒนาการที่ดีกว่าในด้านต่าง ๆ แต่ผมอยากให้ผู้อ่านมีกำลังใจมากขึ้น เพราะมันไม่มีอะไรสายเกินไป อะไรที่เคยผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไป เราเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีได้ เราควรจะปล่อยวางพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในดีตไปแล้วสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ขึ้นมาทดแทนอย่างต่อเนื่อง

จนสามารถสร้างนิสัยที่ดีได้ ซึ่งจะส่งผลให้เรา 
ประสบความสำเร็จตามที่ใจเราปรารถนา

อ้างอิง

Thaler, R. & Sunstein, C. (2009). Nudge: Improving Decisions About Health, Wealth, and Happiness. NY: Penguin Books.

Wood, W. (2019). Good Habits, Bad Habits: The Science of Making Positive Changes. NY: Farrar, Straus and Giroux.

คาลอส บุญสุภา. (2564). อิทธิพลของ สิ่งเร้า (Stimulus) แรงกดดันที่ยากจะต้านทาน. https://sircr.blogspot.com/2021/10/stimulus.html

ความคิดเห็น