เพื่อนที่ดีที่สุดของเรา ก็คือตัวเราเอง (Your best friend is your self)

เราไม่ควรคาดหวังในตัวคนอื่นว่าเขาจะมาช่วยเราได้อย่างทันท่วงที 
มีแต่ตัวเองเท่านั้นในเบื้องต้นที่สามารถพึ่งพาได้

            ในเวลาที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นคนที่เข้มแข็งมากแค่ไหนก็ตาม ต่างก็ต้องเคยล้มลงด้วยกันทั้งนั้น แน่นอนว่าคนเรามีความเข้มแข็งทางจิตใจที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะมีกรรมพันธุ์ที่แข็งแรง และเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี ก็ย่อมเติมโตขึ้นมามีความเข้มแข็งทางจิตใจที่มากพอสมควร ตรงกันข้ามกับคนที่อาจจะมีกรรมพันธุ์ที่เปราะบางในบางจุด และเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีนักก็ย่อมเติบโตขึ้นมามีความเข้มแข็งทางจิตใจที่เปราะบางกว่าคนทั่วไป

            อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเข้มแข็งหือเปราะบาง ก็ต้องมีสักวันที่เราจะต้องเผชิญหน้ากับปัญญาที่ผลักเราให้ล้มลงอย่างแน่นอน และในขณะที่เราล้มลงเราก็ต้องการใครสักคนที่จะมาช่วยฉุดเราให้ลุกขึ้นมา เนื่องจากมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมมีความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่ถ้าในช่วงเวลานั้นไม่มีใครที่สามารถฉุดเราให้ลุกขึ้นมาได้ อาจจะเป็นช่วงที่เราปิดกั้นตัวเอง ไม่อยากบอกเรื่องราวนี้กับใคร หรือเราอาจจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่ ๆ มีคนรอบตัวที่แย่ ๆ 

จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องฉุดตัวเองขึ้นมาด้วยตัวของเราเอง

            เพราะเพื่อนที่ดีที่สุดของเราก็คือตัวเราเอง เป็นตัวเราเองที่อยู่กับเรามาตลอดทั้งชีวิต คอยดูเราตัดสินใจผิดพลาด ทุกข์ใจ หรือมีความสุขร่วมกับเรา ดังนั้นแทนที่เราจะต้องพึ่งหาคนอื่นอยู่เสมอไป หรืออาจจะไม่มีใครให้พึ่งพาเลย เราก็สามารถเยียวยาตัวเองร่วมกับตัวของเราเองได้เหมือนกัน ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อนำเสนอความสำคัญของการผูกมิตรกับตัวเอง และวิธีการที่จะสื่อสารกับตัวเองอย่างเป็นมิตร ซึ่งจะสามารถทำให้เราลุกขึ้นมาจากช่วงเวลาที่ยากลำบากได้อย่างคาดไม่ถึง

เพื่อนที่ดีที่สุดของเราก็คือตัวเราเอง

            มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) เด็กหญิงในวัย 14 ปี ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในเวลาต่อมา เธออาศัยอยู่กับครอบครัวที่หุบเขาสวัต ประเทศปากีสถาน และในฤดูร้อนของปี 2012 เธอได้ทราบข่าวว่าตาลีบันประกาศว่าจะล่าสังหารเธอโทษฐานที่เธอออกมาเรียกร้องสิทธิ์การเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนกับเด็กผู้หญิง เธอรู้สึกหวาดกลัวและผวาที่สุดเท่าที่เธอเคยเจอมา ซึ่งเธอได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเดอะ เดลี่ โชว์ วิธ จอห์น สจ๊วต (The Daily Show with Jon Stewart) เป็นรายการโทรทัศน์ชื่อดัง

            สจ๊วร์ตซึ่งเป็นพิธีกรในขณะนั้นได้ถามเธอว่า เธอรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร มาลาลาตอบว่า "การใช้ชื่อตัวเองในการพูดคุยกับตัวเองเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยให้เธอผ่านมันมาได้" เธอเริ่มเล่าถึงประสบการณ์ของเธอโดยใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง และเมื่อเธอเล่ามาถึงจุดที่น่ากลัวที่สุด เธอบอกสจ๊วร์ตว่า "ฉันถามตัวเองว่า ถ้าเป็นเธอ เธอจะทำอย่างไร มาลาลา แล้วฉันก็ตอบตัวเองว่า มาลาลา เธอก็แค่ปารองเท้าใส่เขาไปเลยสิ" แต่จากนั้นเธอก็พูดกับตัวเองต่อไปว่า "ถ้าเธอใช้รองเท้าขว้างใส่พวกตาลิบัน เธอก็ไม่ได้ต่างอะไรจากพวกนั้นซิ"

            เรื่องราวของมาลาลาเป็นคำตอบที่ชัดเจนมากที่สุดสำหรับบทความนี้ เพราะว่าช่วงเวลานั้นเธอแทบจะไม่สามารถปรึกษากับใครได้ ครอบครัวของเธอต่างเป็นห่วงเธอ เธอไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้เลย ซึ่งช่วงเวลาอันน่าหวาดกลัวนั้น คนที่อยู่กับเธอตลอดเวลาก็คือตัวของเธอเอง เธอจึงใช้การพูดคุยกับตัวเอง โดยถอยตัวเองออกมาเป็นบุรุษที่สอง และมองตัวเองในขณะนั้นเป็นบุรุษที่หนึ่ง "มาลาลา เธอจะทำอย่างไรดี" (บุรุษที่สอง) "ฉันก็แค่ปารองเท้าใส่เขาไปเลยสิ" (บุรุษที่หนึ่ง) "ถ้าเธอใช้รองเท้าขว้างใส่พวกตาลิบัน เธอก็ไม่ต่างอะไรจากพวกนั้นเลยนะ" (บุรุษที่สอง)

            หลายคนอาจคิดว่าการพูดคุยกับตัวเองจะเป็นเหมือนคนเสียสติ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะหลายคนร่วมทั้งมาลาลา สามารถก้าวข้ามผ่านสถานการณ์ที่กดดันได้จากการพูดกับตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น นักแสดงสาวชื่อดังอย่าง เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (Jennifer Lawrence) ระหว่างที่เธอกำลังตอบคำถามของผู้สื่อข่าว นิวยอร์ก ไทมส์ เกี่ยวกับเรื่องน่าสะเทือนใจ เธอหยุดตอบคำถามไปชั่วขณะ แล้วพูดกับตัวเองว่า "โอเค เจนนิเฟอร์ รวบรวมสติหน่อย" เพื่อทำให้การตอบคำถามนั้นให้ผ่านไปได้ด้วยดี

            ไม่เพียงแค่นั้นในประวัติศาสตร์ได้มีการบัญญัติศัพท์ที่ใช้เรียกวิธีการพูดถึงตัวเองโดยใช้สรรพนามบุรุษที่สาม (เขา หรือ เธอ) ว่า อิลลิอิสม์ (Illeism) และมักใช้เป็นคำจำกัดความของวิธีที่ จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ใช้บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสงครามแกลลิก ซึ่งตัวเขาเป็นผู้นำรบในสงครามนี้ เขาใส่ชื่อตัวเองและสรรพนามว่า "เขา" แทนที่จะใช้คำว่า "ฉัน" นอกจากนั้น เฮนรี่ อดัมส์ (Henry Adams) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันที่ได้รางวัลพูลิตเชอร์ สาขาอัตชีวประวัติ จากหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1918 ก็ใช้สรรพนามบุรุษที่สามในการเขียนหนังสือตลอดเล่มเช่นเดียวกัน

การคุยกับตัวเองอย่างมีระยะห่าง

            อีธาน ครอส (Ethan Kross) นักจิตวิทยาชื่อดังผู้เขียนหนังสือ Chatter: The Voice in Our Head, Why It Matters, and How to Harness It เรียกการพูดคุยกับตัวเองโดยเรียกตัวเองเป็นบุรษที่หนึ่ง ว่า การคุยกับตัวเองอย่างมีระยะห่าง (Distanced Self-talk) หรือ การซูมออก (Zooming Out) คือการมองเห็นปัญหาจากมุมมองที่กว้างขึ้นเพื่อที่จะเข้าไปจัดการกับมัน เพราะเมื่อเราเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ เราจะไม่สามารถมองปัญหาจากหลาย ๆ มุมได้ ทำให้เกิดอารมณ์เขิงลบขึ้นมา เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด หรือความเศร้า ซึ่งเราสามารถทำได้โดยการเรียกชื่อตัวเองอย่างที่มาลาลา ยูซาฟไซ และ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ทำ

            การคุยกับตัวเองอย่างมีระยะห่างยังเป็นเทคนิคที่สอดคล้องกับ การสร้างระยะห่าง (Distancing) ซึ่งเป็นเทคนิคการบำบัดทางความคิด (Cognitive Therapy) เทคนิคดังกล่าวสามารถช่วยเราได้อย่างดีในช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญกับปัญหาและไม่สามารถมองปัญหาดังกล่าวได้อย่างรอบด้าน เพราะเมื่อเราไม่สามารถมองรอบด้านได้จะทำให้เราหมกมุ่นกับปัญหานั้น และทำให้ความคิดเชิงลบทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ เนื่องจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลเรื่องตัวเอง (Self Referential) ที่ทำหน้าที่สร้างอารมณ์ จะถูกกระตุ้นให้หลั่งสารสื่อประสาทบางตัวที่จะส่งผลให้เกิดความคิดเชิงลบขึ้นมา

            เมื่อเราเกิดความคิดเชิงลบขึ้นมาขณะที่กำลังเจอปัญหาบางอย่าง เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการถอยห่างออกมาจากปัญหา แล้วกลับมามองความคิดของตัวเองที่กำลังเกิดขึ้นจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับปัญหานั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ฟิลิป เวอร์แดน (Philippe Verduyn) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลูเวิน ประเทศเบลเยียมและคณะได้ทำการศึกษาเทคนิคการพูดคุยกับตัวเองอย่างมีระยะห่าง พวกเขาค้นพบว่าการสร้างระยะห่างสามารถลดระยะเวลาที่รู้สึกแย่ต่อเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอารมณ์เชิงลบขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ หรือความโศกเศร้าได้

            ในเวลาที่ยากลำบากทุกอย่างจะเหมือนมืดแปดด้าน แม้ตัวเราจะมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาได้อย่างท่วมท้น แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย เนื่องจากกลไกทางสมองที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้นการพูดคุยกับตัวเองจะทำให้เราถอยห่างออกมาจากปัญหานั้น จนมองเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเรียกว่าภาพมุมสูง (Bird Eye View) ทั้งมาลาลา ยูซาฟไซ และ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ต่างก็ใช้เทคนิคนี้และสามารถข้ามผ่านสถานการณ์ที่กดดันมาได้ทั้งคู่

            เพราะน้อยครั้งมากที่เราจะได้รับความช่วยเหลือตามที่ใจปรารถนา ไม่มีใครที่รู้สึกว่าตัวเองแก้ไขปัญหาไม่ได้ แล้วจะขอเข้ารับคำปรึกษากับผู้อื่นหรือนักจิตวิทยาทันที พวกเขาจะพยายามดิ้นรนไปสักช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อน จนรู้สึกว่าตัวเองไม่ไหวแล้ว ถึงได้หาตัวช่วยที่เหมาะสม ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วน้อยคนมากที่จะสามารถเข้าถึงตัวช่วยดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที หลายคนต้องดิ้นรนกับความคิดเชิงลบเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่เพียงแค่นั้นสำหรับบางคนอาจเผชิญกับคนรอบตัวที่คอยแต่จะทิ่มแทง ทำร้ายจิตใจทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว หรือบางคนอาจไม่กล้าที่จะขอความช่วยเหลือด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง

            ดังนั้นเราจึงไม่ควรที่จะคาดหวังในตัวคนอื่นว่าเขาจะมาช่วยเราได้อย่างทันท่วงที มีแต่ตัวเองเท่านั้นในเบื้องต้นที่เราจะสามารถพึ่งพาได้ เราจะต้องไม่ลืมว่าเพื่อนที่ดีที่สุดของเราก็คือตัวเราเอง เราต้องถอยตัวเองออกจากปัญหาให้ได้มากที่สุด "ฉันจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไรดีนะ" หรือ "คุณน่าจะลองทบทวนดูอีกทีนึงนะว่าติดสินใจดีแล้วหรือยัง" หรือ "สุภาภรณ์เธอควรจะต้องตั้งสติให้กว่านี้ หายใจลึก ๆ" การแทนตัวเองด้วยบุรษที่หนึ่งบ้าง สองบ้าง ก็จะสามารถช่วยให้เราถอยห่างจากปัญหาได้มากยิ่งขึ้น 

และยังจะช่วยให้เราจัดการความคิดเชิงลบ 
หรือออารมณ์เชิงลบได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

อ้างอิง

Kross, E. (2021). Chatter: The Voice in Your Head, Why It Matters, and How to Harness It. NY: Crown.

Verduyn, P., Van Mechelen, I., Kross, E., Chezzi, C., & Van Bever, F. (2012). The relationship between self-distancing and the duration of negative and positive emotional experiences in daily life. Emotion. 12(6), 1248-1263.

ความคิดเห็น