หายนะของการเป็นคนที่ มั่นใจมากจนเกินไป (Overconfident)

ถ้าความรู้คืออำนาจ การรู้ตัวว่าเราไม่รู้สิ่งใดก็คือปัญญา  

            ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันผู้คนให้คุณค่ากับความมั่นใจอย่างมาก สังเกตได้จากรายการทางโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดหรือนิยมผู้ที่กล้าแสดงออก หรือแสดงความมั่นใจออกมา แม้ว่าหลายคนอาจจะมีความไม่มั่นใจอยู่บ้าง แต่ก็กล้าหาญที่จะนำเสนอ เราจึงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ความมั่นใจเป็นหนึ่งในค่านิยมที่คนปรารถนาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแสดง การทำธุรกิจ การตัดสินใจ ไปจนถึงเรื่องเล็ก ๆ อย่างการสนทนาระหว่างกันและกัน

            แต่สิ่งที่คนทั่วไปแทบจะไม่เคยคิดถึงก็คือ การเป็นคนที่มั่นใจมากเกินไปจะส่งผลอย่างไรบ้าง เรามักจะยกย่องผู้ประกอบการและผู้นำที่ยิ่งใหญ่ว่าเป็นคนจิตใจเด็ดเดี่ยวและมุมมองเฉียบคม พวกเขาน่าจะเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของคนที่มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า โดยเป็นคนที่เด็ดขาดและมั่นใจ แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นเหมือนกับที่ทุกคนคาดเอาไว้ เพราะมีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อผู้บริหารธุรกิจเข้าร่วมการแข่งขันกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ที่ดีที่สุดกลับเป็นกลยุทธ์ที่เชื่องช้าและไม่แน่นอน

            ความมั่นใจที่มากเกินไปหรือความเด็ดขาดจึงเป็นสิ่งที่คนประเมินค่าสูงเกินไป นั่นจึงเป็นเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนมักจะเป็นผู้รอบคอบ พวกเขาจะค่อย ๆ ใช้เวลาเพื่อให้ตัวเองมีความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงความคิด ดังนั้นการเป็นคนที่มั่นใจมากเกินไป มีความเด็ดขาด ไม่ใช่ผลที่ดีเสมอไป ตรงกันข้ามกลับแย่อย่างมากด้วยซ้ำถ้าเทียบกับนักคิดที่ยืดหยุ่นและถ่อมตัว บทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอหายนะหรือข้อเสียของการเป็นคนที่มีความมั่นใจมากที่เกินไป และจะนำเสนอวิธีที่คิดดีกว่าความเด็ดขาดแบบกลวง ๆ

หายนะของการเป็นคนที่มั่นใจมากจนเกินไป

            ในปี ค.ศ. 2004 วิศวกร นักออกแบบ และนักการตลาดกลุ่มเล็ก ๆ นำเสนอแนวคิดต่อ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) เกี่ยวกับการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของพวกเขาอย่างไอพอดให้กลายเป็นโทรศัพท์ แต่สิ่งนี้เป็นไปตามที่พวกเขาคาดเอาไว้ เพราะจ็อบส์ตะคอกกลับว่า "มีเหตุผลบ้าบออะไรที่เราจะต้องทำแบบนั้น นี่เป็นไอเดียที่โง่เง่าที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมาเลย" เขากังวลว่าการผลิตโทรทัพท์จะไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากธุรกิจไอพอดที่กำลังเฟื่องฟูของแอปเปิล 

            อีกทั้งเขายังมีอคติต่อบริษัทให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและไม่อยากออกแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้ข้อจำกัดที่ผู้ให้บริการเครือข่ายกำหนดขึ้นมา เพราะเวลาที่จ็อบส์เจอสายหลุดหรือซอฟแวต์ขัดข้อง บางครั้งเขาจะขว้างโทรศัพท์จนแตกกระจายด้วยความหงุดหงิด จ็อบส์ถึงกลับเอ่ยครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งในการประชุมแบบส่วนตัวและบนเวทีสาธารณะว่าเขาจะไม่มีวันผลิตโทรศัพท์เด็ดขาด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขาอารมณ์ร้อนใส่วิศวกร นักออกแบบ และนักการตลาดกลุ่มเล็ก ๆ ที่นำเสนอไอเดียดังกล่าว

ความมั่นใจที่มากเกินไปหรือความเด็ดขาดจึงเป็นสิ่งที่คนประเมินค่าสูงเกินไป

            แต่วิศวกรบางส่วนของแอปเปิลได้ทำการศึกษาวิจัยด้านนี้ไปแล้ว พวกเขาร่วมมือกันโน้มน้าวให้จ็อบส์รู้ตัวว่าเขายังมีสิ่งที่ตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกัน และกระตุ้นให้เขาตั้งข้อสงสัยในความเชื่อของตัวเองดู คนเหล่านั้นโต้แย้งว่าบริษัทอาจสามารถสร้างสมาร์ตโฟนแบบที่ทุกคนชอบใช้ และผลักดันผู้ให้บริการเครือข่ายดำเนินงานในวิถีทางของแอปเปิลได้ พวกเขาใช้วิธีเน้นย้ำอย่างต่อเนื่อง เพราะวิสัยทัศน์เพื่อการเปลี่ยนแปลงจะทรงพลังมากขึ้นเมื่อมันรวมเอาวิสัยทัศน์เพื่อการสืบสวนเข้าไป 

            วิศวกรที่ทำงานใกล้ชิดกับสตีฟ จ็อบส์รู้ว่านี่คือหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการโน้มน้าวเขา พวกเขาทำให้จ็อบส์มั่นใจว่าเหล่าวิศวกรไม่ได้พยายามจะเปลี่ยนแอปเปิลให้กลายเป็นบริษัทโทรศัพท์ แอปเปิลจะยังคงเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ เพียงแต่พวกเขาแค่นำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วมาเพิ่มคุณสมบัติการโทรเข้าไป เพราะพวกเขาคิดว่าแอปเปิลได้ใส่เพลง 20,000 เพลงเข้าไปในกระเป๋ากางเกงได้เรียบร้อยแล้ว ทำไมจะมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหลือไม่ได้บ้างล่ะ 

            หลังจากที่หารือกันนานถึง 6 เดือน ในที่สุดจ็อบส์ก็รู้สึกสนใจมากพอที่จะรับรองความพยายามในครั้งนี้ ทีมงานทั้ง 2 ทีมเริ่มดำเนินการทดลองเพื่อทดสอบว่าพวกเขาควรเพิ่มคุณสมบัติการโทรเข้าในไอพอด หรือควรเปลี่ยนแมคให้เป็นแท็บเล็ตขนาดจิ๋วซึ่งทำหน้าที่เป็นโทรศัพท์ควบคู่กันไปด้วย ผลที่ออกมาก็คือไอโฟนรุ่นแรกที่เปิดตัวออกมาก็พลิกวงการทันที เพราะเพียงแค่ 4 ปีหลังจากนั้นไอโฟนก็ครองสัดส่วนครึ่งหนึ่งของรายได้บริษัท และทำให้ทุกวันนี้แอปเปิลกลายเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ทำเงินได้มากที่สุดในโลก

            เรื่องนี้น่าสนใจอย่างมาก หากลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าสตีฟ จ็อบส์ ยังคงมั่นใจและดึงดันอย่างสุดแรง และไม่ยอมรับความคิดเห็นของวิศวกร นักออกแบบ และนักการตลาด บริษัทแอปเปิลอาจจะไม่ประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ก็เป็นได้ เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับ ไมก์ ลาซาริดิส (Mike Lazaridis) ที่มั่นใจอย่างสุดแรงว่าแบล็กเบอร์รี่ที่โด่งดังอย่างมากในอดีตไม่จำเป็นต้องปรับตัวอะไรทั้งสิ้น เขาเชื่อว่าอย่างไรก็ตามแป้นพิมพ์ก็ดีกว่าหน้าจอสัมผัส ผลจึงทำให้บริษัทของเขาที่เคยรุ่งโรจน์ต้องขาดทุนอย่างย่อยยับ

            อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ผู้เขียนหนังสือ Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know ให้ความเห็นว่า ความภาคภูมิใจจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นแทนที่จะเป็นความเคลือบแคลงสงสัย ส่งผลให้เราเพ่งความสนใจอย่างแน่วแน่ไปกับการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนอื่น แต่ความคิดของเราเองกลับแน่วแน่ไม่เปลี่ยนแปลง มันทำให้เราเกิดอคติเพื่อยืนยันความเชื่อและอคติตามความพอใจ ทำให้เรากลายเป็นคนที่เพิกเฉยและบอกปัดความคิดภายนอกที่ไม่สอดคล้องกับความคิดของเราเอง

            แกรนต์ เรียกภาวะนี้ว่า โรคแมวอ้วน (Fat-cat Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะการยึดติดกับชื่อเสียงจากความสำเร็จในอดีตแทนที่จะทดสอบความเชื่อของตัวเองภายใต้แรงกดดัน เราจะพยายามฉายสปอร์ตไลท์ไปที่ตัวเอง และทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมชั้นในโรงเรียนมัธยมปลายประทับใจ เราหมกมุ่นอยู่กับการแสดงบนเวทีมากเสียจนความจริงถูกผลักไสไปหลังเวที และการยืนยันความถูกต้องที่เกิดขึ้นตามมาอาจทำให้เราทะนงตัว ทำให้เราเข้าสู่ภาวะแมวอ้วนเหมือนที่แกรนต์กล่าวไว้

            หากไมก์ ลาซาริดิส เปิดกว้างต่อความคิด และได้ทบทวนผลิตภัณฑ์ที่เขารักมากกว่านี้ แบล็กเบอร์รี่อาจไม่จำเป็นต้องจบลงอย่าน่าเศร้าอย่างในปัจจุบันก็เป็นได้ ความมั่นใจที่มากเกินไปไม่ต่างอะไรกับคำสาป มันปิดกั้นความคิดของเราต่อสิ่งที่เราไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่วิจารณญาณที่ดีขึ้นอยู่กับการมีทักษะและความมุ่งมั่นที่จะเปิดกว้างทางความคิด และการที่เราจะเปิดกว้างได้มากพอ เราจะต้องเปิดใจตัวเองเอาไว้ และใช้หลักคิดทบทวนอยู่เสมอ

หมั่นคิดทบทวนเพื่อเอาชนะความมั่นใจที่มากจนเกินไป

            ในหนังสือ Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ได้นำเสนอกระบวนการคิดทบทวน เขาค้นพบว่ากระบวนการนี้มักเกิดขึ้นเป็นวงจร มันเริ่มต้นจากความถ่อมตัวทางสติปัญญาหรือการรู้ตัวว่าเราไม่รู้สิ่งใดบ้าง เราทุกคนควรเขียนรายการสิ่งที่ตัวเองไม่มีความรู้ออกมาได้ แกรนต์อธิบายว่าเราสามารถตั้งคำถามหรือคิดทบทวนไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ ตลาดการเงิน แฟชั่น เคมี อาหาร ยกตัวอย่างเช่น เหตุผลที่สำเนียงอังกฤษกลายเป็นสำเนียงอเมริกันในเพลง และเหตุผลที่คุณไม่สามารถทำให้ตัวเองจั๊กจี้ได้ 

            ไม่เพียงแค่ศิลปะ ตลาดการเงิน แฟชั่น เคมี หรืออาหารเท่านั้น แต่การรู้จุดบกพร่องของตัวเองก็สามารถนำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยได้เช่นกัน กล่าวคือเมื่อเราตั้งข้อสงสัยกับความเข้าใจที่ตัวเองมีอยู่ในปัจจุบัน เราย่อมอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับข้อมูลที่เราไม่รู้ การแสวงหาสิ่งที่เกิดจากความอยากรู้อยากเห็นจะชักนำเราไปสู่การค้นพบเรื่องใหม่ ๆ ไม่เพียงแค่นั้นเรายังสามารถรักษาความถ่อมตัวของเราไว้ด้วยการเน้นย้ำให้เห็นว่าเรายังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมาก ถ้าความรู้คืออำนาจ การรู้ตัวว่าเราไม่รู้สิ่งใดก็คือปัญญา

            การคิดตามหลักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับความถ่อมตัวมากกว่าความภาคภูมิใจ ให้ความสำคัญกับความเคลือบแคลงสงสัยมากกว่าความแน่ใจ และให้ความสำคัญกับความอยากรู้อยากเห็นมากกว่าการได้ข้อสรุป เมื่อเราเลิกสวมบทเป็นนักวิทยาศาสตร์ เลิกสงสัย วงจรการคิดทบทวนก็จะสลายไป แล้วเปิดทางให้วงจรความมั่นใจที่มากเกินไปเข้ามาแทนที่ เพราะความภาคภูมิใจจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นแทนที่จะเป็นความเคลือบแคลงสงสัย

            ดังนั้นการหลุดจากวงจรหายนะของการเป็นคนที่มั่นใจมากจนเกินไปก็คือการหมั่นคิดทบทวนในทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต โดยเฉพาะความคิดที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละบุคคล ซึ่งในปัจจุบันเรามักจะพบว่าความคิดเห็นของแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน มุมมองการมองโลกแตกต่างกัน ค่านิยมก็แตกต่างกันออกไปด้วย ไม่เพียงแค่นั้น ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันในทุกวันนี้ก็ฉุดกระชากให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น และยิ่งรัฐบาลใช้อำนาจกับประชาชนมากเท่าไหร่ ความขัดแย้งและความเกลียดชังก็ยิ่งบานปลายขึ้นมากเท่านั้น 

            การคิดทบทวนจึงเป็นอาวุธที่จะช่วยเราให้หลุดพ้นจากสภาวะแมวอ้วนที่ยึดติดกับความคิดของตัวเองมากไป  ซึ่งสุดท้ายความมั่นใจประเภทนี้จะก่อให้เกิดหายนะขึ้นกับชีวิตเราเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  บุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนต่างก็ตกม้าตายกันเพราะความมั่นใจที่มากเกินไปแทบทั้งสิ้น อย่างที่ อดัม แกรนต์ กล่าวเอาไว้ "ความภาคภูมิใจจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นแทนที่จะเป็นความเคลือบแคลงสงสัย ส่งผลให้เราเพ่งความสนใจอย่างแน่วแน่ไปกับการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนอื่น แต่ความคิดของเราเองกลับแน่วแน่ไม่เปลี่ยนแปลง มันทำให้เราเกิดอคติเพื่อยืนยันความเชื่อและอคติตามความพอใจ"

การเป็นคนที่มั่นใจเกินไปจึงทำให้เราปัดความคิด 
ที่ไม่สอดคล้องกับความคิดของเราเองอย่างน่าเสียดาย

อ้างอิง

Grant, A. (2021). Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know. NY: Viking.

ความคิดเห็น