วัฒนธรรมที่แข่งขันกันว่าใครนอนน้อยสุด เป็นเรื่องไร้สาระ

คุณอาจกำลังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำร้ายสุขภาพกาย ใจ และการเรียนรู้ของตัวเองอย่างคาดไม่ถึง

            ผมนึกย้อนความทรงจำสมัยเด็กในสมัยที่เล่นเกมออนไลน์ โยกัง ที่พึ่งเปิดตัวเข้ามา ผมเล่นเกมนี้อย่างบ้าพลังพร้อมกับเพื่อนหลายคน เป็นความทรงจำที่สนุกมาก ผมสามารถเก็บเลเวลได้อย่างรวดเร็ว และมักจะคุยโอ้อวดกับเพื่อนว่าตัวเองอดนอนเพื่อเก็บเลเวล เช่นเดียวกับเพื่อนของผมก็โอ้อวดกลับมาเช่นเดียวกัน พอโตขึ้นมาก็โอ้อวดว่าทำรายงาน ทำการบ้าน อ่านหนังสือสอบจนไม่ได้นอน และไม่ใช่แค่ผมคนเดียวเพื่อนของผมก็เช่นเดียวกัน พวกเราต่างแข่งขันกันว่าใครนอนน้อยสุด ซึ่งมันเป็นเรื่องไร้สาระมาก

            การแข่งขันกันว่าใครนอนน้อยสุดไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแค่คนรอบตัวผม แต่เกิดขึ้นกับหลายคนในสังคมจนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว และสิ่งนี้ไม่ได้เกิดกับแค่เด็กที่โอ้อวดกันเรื่องเกม หรือการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่จำนวนมากที่สมองเติบโตจนสมบูรณ์แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการอวด หรือ ขิงกันว่าตัวเองทำงานจนดึกดื่น ขยัน ตั้งใจทำงาน หลายคนถึงขนาดตั้งใจส่งงานตอนกลางดึกถึงใกล้สว่างเพราะคนอื่นจะได้รู้ว่าตนเองขยันและทุ่มเท ซึ่งก็ทำให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นที่เลิกงานปกติต้องรู้สึกผิดหรือได้รับผลกระทบไปด้วย

            อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้ว พฤติกรรมแข่งขันกันว่าใครนอนน้อยสุดกลายเป็นวัฒนธรรมที่เกิดในทุกช่วงวัย ทั้ง ๆ ที่การนอนน้อยเป็นผลร้ายต่อสุขภาพและสมองอย่างมาก อีกทั้งการนอนเต็มอิ่มหรือพักผ่อนอย่างเพียงพอจะสร้างผลดีต่อสมองอย่างมากด้วย ในบทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอและจูงใจให้ผู้อ่านทุกท่าน ผักผ่อนให้เพียงพอ และเลิกโอ้อวด แข่งขันกันว่าใครนอนน้อยสุด เพราะว่าการทำร้ายสุขภาพตัวเอง เพื่อที่จะแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองมีค่า มีตัวตน หรือเป็นคนสำคัญ เป็นเรื่องที่ไร้สาระอย่างมาก

การนอนน้อยเป็นผลร้ายต่อสุขภาพอย่างมาก

            การอวดว่าตัวเองนอนน้อยกลายเป็นวัฒนธรรมที่พบเห็นกันได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ใหญ่ก็ตาม ซึ่งแต่ละคนมีเหตุผลของการอวดที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นแค่โอ้อวดเฉย ๆ เหมือนเป็นโล่เกียรติยศที่ทำให้ตัวเองมีค่า ดูมีความสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การอดนอนเพื่อทำการบ้าน การอดนอนเพื่อเล่นเกม ไม่ต่างกับการบอกว่าตัวเองเป็นคนคอแข็ง สามารถดื่มได้ยันสว่าง ซึ่งมักจะพบเห็นการโอ้อวดนี้จากนักเรียนวัยรุ่นหรือนักศึกษา

            ในหนังสือ The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives หนึ่งในผู้เขียน เน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) เคยนัดหมายนักเรียนมัธยมปลายจากโรงเรียนหญิงล้วนชั้นแนวหน้า 4 คนติดต่อกัน ทั้งหมดพึ่งส่งรายงานประจำภาคเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ไป เด็กผู้หญิงคนแรกค่อนข้างร่าเริง "หนูทำรายงานถึงประมาณตี 2 ค่ะ" เธอบอก เมื่อเธอเดินออกไปแล้ว เด็กผู้หญิงอีกคนก็เดินเข้ามา เน็ดทักว่า "ว้าว หนูดูเหนื่อยมาก รายงานยากมากเลยเหรอ" เธอตอบว่า "ค่ะ เมื่อคืนหนูนอนแค่สองชั่วโมง" 

            ไม่เพียงแค่นั้น เด็กหญิงคนที่ 3 ชนะเด็กหญิงทั้งสองคนเพราะเธอทำรายงานจนเช้า แต่สุดท้ายผู้ชนะคนสุดท้ายก็คือเด็กหญิงคนที่ 4 ที่เข้ามาด้วยสภาพเหมือนเป็ดที่หัวฟัดหัวเหวี่ยง เพราะเธอไม่ได้นอนมาสองคืนแล้ว จอห์นสันลงความเห็นว่าการแข่งขันนี้เป็นเรื่องไร้สาระมาก แต่ก็ช่วยให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของปรากฏการณ์นี้ หากเพื่อนร่วมห้องสองคนสอบวิชาเคมีเหมือนกัน คนหนึ่งเข้านอนตั้งแต่ 4 ทุ่ม ขณะที่อีกคนใช้เวลาตั้งแต่ 4 ทุ่ม - ตี 2 เพื่ออ่านหนังสือ คนที่นอนอาจรู้สึกว่าตนเตรียมตัวไม่มากพอ ในทางกลับกันคนที่ตื่นอยู่จนถึงตี 2 อาจคิดว่าการอ่านหนังสือมากเป็นพิเศษจะช่วยให้เธอพ้นผิดหากคะแนนออกมาไม่ดี 

พฤติกรรมแข่งขันกันว่าใครนอนน้อยสุดกลายเป็นวัฒนธรรมที่เกิดในทุกช่วงวัย

            สิ่งที่นักเรียนหรือนักศึกษาเป็นเราพอจะเข้าใจที่มาที่ไปได้ เพราะบางคนอาจมีความกังวล ในขณะที่บางคนอาจจะแค่อยากโอ้อวด เพราะการอดนอนเพื่อทำอะไรสักอย่างมันเหมือนกับว่าทุ่มเทกับมันมาก ทำให้เราดูเหมือนมีคุณค่า "ต่อให้เราผิดพลาดแต่เราก็ตั้งใจเต็มที่แล้วนะ" เช่นเดียวกันกับผมสมัยที่อดนอนเพื่อเล่นเกมและไปโอ้อวดกับเพื่อนนั้นแหละครับ เพราะผมอยากจะดูเก่ง ดูขยันที่เล่นได้นานขนาดนั้น อย่างไรก็ตามเหตุผลของผู้ใหญ่หลายคนที่อ้างว่าตัวเองอดนอนเพื่อทำงานให้เสร็จก็แตกต่างกันออกไป

            เพราะคนที่ทำงานจะใช้ข้ออ้างสำหรับการอดนอนของตัวเองแตกต่างกันออกไป บ้างก็มีเหตุผลเหมือนกับเด็กที่แค่อยากโอ้อวดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองทุ่มเท หรือหลายคนอาจมีจุดประสงค์ซ่อนเร้นบางอย่าง ยกตัวอย่าง เพื่อนที่ทำงานเก่าผม เธอมักจะอยู่สำนักจนดึกดื่นอยู่เสมอ และมักจะส่งงานกลางไลน์ดึกดื่น แม้ว่างานนั้นจะเป็นงานที่ผมส่งให้ตั้งแต่หัวค่ำแล้วก็ตาม ไม่เพียงแค่นั้น เวลาที่เธอใช้ในขณะที่อยู่สำนักงานจนดึกดื่นก็ชั่งไร้ค่ายิ่งนัก แต่การที่พฤติกรรมแบบนี้ยังคงอยู่ก็เพราะว่าพวกเรามีเจ้าของบริษัทงี่เง่าที่ชอบเอาเปรียบพนักงานตัวเองและให้ค่ากับการทำงานดึกนั้นแหละครับ 

            สรุปก็คือ การโอ้อวดว่าตัวเองนอนดึกจะแตกต่างไปตามช่วงวัย และขึ้นอยู่กับสถานการณ์ บางคนอาจแค่โอ้อวด วิตกกังวล เป็นข้ออ้างสำหรับความผิดหวังแต่บางคนอาจต้องการเลื่อนตำแหน่ง ต้องการให้คนเห็นความสำคัญ หรืออาจมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นอื่น ๆ แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ทุกคนอยากให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองมีค่าและมีความสำคัญ แต่อย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้นว่า ผมต้องการจะจูงใจให้ผู้อ่านทุกท่านผักผ่อนให้เพียงพอ และเลิกโอ้อวด เลิกแข่งขันกันว่าใครนอนน้อยสุด 

เพราะการนอนหลับคืออาหารสมอง และเป็นรากฐานของทุกสิ่ง ไม่ต่างกับต้นไม่ที่มีองค์ประกอบสำคัญก็คือราก

ประโยชน์ของการนอนหลับอย่างเพียงพอ

            1) การนอนหลับให้เพียงพอมีส่วนช่วยให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเวลาที่เรานอนหลับไม่เพียงพอ อะมิกดาลาที่เป็นส่วนตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่สะเทือนอารมณ์ของสมองจะทำงานไวขึ้น คล้ายกับสมองของบุคคลที่เป็นโรควิตกกังวล เป็นเหตุผลที่เรามักจะพบเห็นคนที่นอนหลับไม่เพียงพอมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายมาก ไม่เพียงแค่นั้นการนอนหลับไม่เพียงพอยังลดความยืดหยุ่นทางจิตใจ ลดสมรรถภาพในการพิจารณาสถานการณ์รอบ ๆ ตัว และทำให้การตัดสินใจแย่ลงกว่าปกติอีกด้วย ดังนั้นการนอนหลับให้เพียงพอจะช่วยให้เราลดความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ที่เกินจะควบคุมได้

            2) การนอนหลับให้เพียงพอสามารถทำให้เราดูแลสุขภาพได้ดีกว่านอนไม่เพียงพอ เนื่องจากการที่เราพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำลายการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและก่อให้โรคอ้วน ผลการศึกษาเด็กในประเทศญี่ปุ่น แคนาดา และออสเตรีเลีย พบว่าเด็กที่นอนหลับน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันมีอัตราการเป็นโรคอ้วนสูงกว่าเด็กที่นอน 10 ชั่วโมงถึง ร้อยละ 300 สอดคล้องกับงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่พบว่า วัยรุ่นจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอ้วนสูงกว่าร้อยละ 80 ต่อแต่ละชั่วโมงการนอนหลับที่สูญเสียไป ไม่เพียงแค่นั้นยังมีการศึกษาที่พบว่า วัยรุ่นที่นอนหลับไม่เพียงพอจะป่วยง่าย เนื่องจากการผักผ่อนไม่เพียงพอทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ดังนั้นการนอนหลับให้เพียงพอ นอนหลับลึกหลายชั่วโมงจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับสุขภาพตัวเองได้ง่ายขึ้น

            3) การนอนหลับสำคัญต่อกาเรียนรู้ เนื่องจากการนอนหลับสามารถคืนชีวิตชีวาให้สมองและพัฒนาสมาธิให้พร้อมต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เนื่องจากในระยะหลับตื้น (non-REM) เป็นระยะที่ยังไม่มีการกลอกของลูกตา นักวิทยาศาสตร์พบกิจกรรมของคลื้นไฟฟ้าสมองที่เกิดขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ เรียกว่า กระสวยการนอน (Sleep Spindle) ที่ช่วยให้สมองโอนถ่ายข้อมูลจากแหล่งเก็บข้อมูลชั่วคราวในฮิปโปแคมปัส (สมองส่วนความจำ) ไปยังแหล่งเก็บข้อมูลระยะยาวในคอร์เทกซ์ แมตธิว วอล์กเกอร์ (Matthew Walker) ผู้เขียนหนังสือ Why We Sleep: Unlocking the Power of Sleep and Dreams เปรียบเทียบกระบวนการดังกล่าวว่าเป็นการกดปุ่นบันทึกคลื่นไฟฟ้า ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลแต่ละชิ้นที่กระจายอยู่ในแต่ละส่วนของสมอง เพื่อถักทอเป็นกรอบแห่งการทำความเข้าใจ

            จึงไม่น่าแปลงใจเลยที่การนอนหลับเกี่ยวพันกับผลการเรียน งานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรายงานการนอนหลับไม่เพียงพอของนักเรียน กับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ลดลง ที่น่าตลกก็คือในสังคมไทยให้คุณค่าต่อการมาโรงเรียนเช้าเป็นพิเศษ และมักจะทำโทษเด็กนักเรียนที่มาโรงเรียนสาย ทั้ง ๆ ที่มีการศึกษาพบว่าการขยับเวลาเข้าเรียนให้สายกว่าปกติ สามารถลดจำนวนการขาดเรียนและความเฉื่อยชาได้ และบรรเทาความง่วงระหว่างเรียนได้ นอกจากนั้นยังมีผลต่อการพัฒนาอารมณ์และความรู้สึกของนักเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับประโยชน์ในข้อที่ 1

            อีกทั้งยังมีการศึกษาของ ไคลา วาลสตรอม (Kyla Wahlstrom) ในกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายจำนวน 9,000 คน พบว่า เมื่อเวลาเข้าเรียนเลื่อนเป็น 8.35 นาทีเป็นต้นไป ผลการเรียนของนักเรียนมัธยมปลายจะดีขึ้นร้อยละ 25 การศึกษาดังกล่าวเป็นเรื่องท้าทายวัฒนธรรมของประเทศไทยอย่างมาก แพทย์ทุกคนต่างรู้ถึงข้อดีของการนอนหลับให้เพียงพอ แต่มักจะโทษไปที่พฤติกรรมการเล่นเกม ปัญหาส่วนตัว และพฤติกรรมอื่น ๆ ของเด็กเองที่ทำให้นอนดึกและไม่สามารถตื่นเช้าได้ 

โดยขาดการพิจารณาถึงบริบทต่าง ๆ ในปัจจุบันและธรรมชาติของมนุษย์ 

            4) การนอนหลับอย่างเพียงพอสามารถบรรเทาความเจ็บปวดจากประสบการณ์สะเทือนอารมณ์ได้ เนื่องจาก การหลับในระยะหลับลึกที่มีการกลอกของลูกตา (Rapid Eye Movement - REM) ซึ่งคือช่วงเวลาที่เรามักจะฝัน เป็นช่วงเดียวเท่านั้นในระยะ 24 ชั่วโมง ที่ความเจ็บปวดจากประสบการณ์สะเทือนอารมณ์จะบรรเทาลง แมตธิว วอล์กเกอร์ กล่าวว่าในระยะที่มีการกลอกของลูกตา (หลับลึก) สมองจะปลุกอารมณ์และความทรงจำที่มีปัญหาและนำกลับเข้ามาในจิตใจผ่านการฝันเพื่อทบทวนอารมณ์และความทรงจำดังกล่าวในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยโดยปราศจากความเครียด

            คำถามก็คือ แล้วเราควรจะนอนกี่ชั่วโมงดี ในหนังสือ The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives ผู้เขียน วิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) นักประสาทจิตวิทยาคลินิก และ เน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) นักจิตวิทยาการศึกษา เสนอว่า เด็กปฐมวัยต้องการการนอนหลับ 10-13 ชั่วโมงต่อวัน เด็กอายุ 6-13 ปีต้องการการนอนหลับ 9-11 ชั่วโมงต่อวัน วัยรุ่นอายุ 14-17 ปี ต้องการการนอนหลับ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน และคนหนุ่มสาวอายุตั้งแต่ 18-25 ปีต้องการการนอนหลับ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน

            จริง ๆ แล้วประโยชน์ของการนอนหลับมีมากมายจนนับไม่ถ้วน แต่ผมยกประโยชน์ด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการเรียนรู้ขึ้นมา เนื่องจากเราทุกคนต่างก็ต้องการสุขภาพที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพใจที่สามารถจัดการอารมณ์ในแต่ละวันได้ดีมากขึ้น และต้องการเรียนที่จะเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคที่จำเป็นต้องการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต และมีข้อมูลมหาศาลให้ค้นพบและศึกษาในแต่ละวัน กล่าวคือ หากเราสามารถรักษาสุขภาพกาย ใจ และการเรียนรู้ได้ ก็จะสามารถทำให้เรามีคุณภาพในการดำเนินชีวิตได้ดีมากขึ้น 

            เมื่อเรารู้ข้อดีของการนอนพักผ่อนแล้ว ผมก็อยากจะให้ผู้อ่านทุกคนเลิกให้ค่ากับการอดหลับอดนอนเพื่อที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งกันเล่นเกม เรียน ทำรายงาน หรือทำงานก็ตาม โดยเฉพาะกับหัวหน้าหรือเจ้าของบริษัทที่ให้ค่ากับการอดหลับอดนอนของพนักงาน คุณกำลังเป็นส่วนหนึ่งที่กำลังทำร้ายสุขภาพกาย ใจ และการเรียนรู้อย่างคาดไม่ถึง ดังนั้นคุณควรที่จะเปลี่ยนทัศนคติเพื่อลูกน้อง พนักงาน องค์กร และตัวคุณเองด้วย และเพื่อที่จะทำให้วัฒธรรมแข่งกันอดนอนเพื่อเอาหน้า หรือเพิ่มคุณค่าหรือความสำคัญให้กับตัวเองลดลงไปหรือหายไปเลย

เพราะวัฒนธรรมดังกล่าวมันเป็นเรื่องไร้สาระมาก 

อ้างอิง

Bronson, P., & Merryman, A. (2011). NutureShock: New Thinking About Children. NY: Twelve.

Fischetti, M. (2014). Sleepy Teens: High School Should Start Later in the Morning. https://blogs.scientificamerican.com/observations/sleepy-teens-high-school-should-start-later-in-the-morning/

Gupta, N., Mueller, W., Chan, W., & Meininger, J. (2002). Is obesity associated with poor sleep quality in adolescents?. American Journal of Human Biology. 14(6): 762-768. https://doi.org/10.1002/ajhb.10093

Stixrud, W., & Johnson, N. (2018). The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives. NY: Viking.

Walker, M. (2017). Why We Sleep: Unlocking the Power of Sleep and Dreams. NY: Scribner.

Watson, N., Buchwald, D., Delrow, J., Altemeier, W., Vitiello, M., Pack, A., Bamshad, M., Noonan, C., Gharib, S. (2017). Transcriptional Signatures of Sleep Duration Discordance in Monozygotic Twins. Sleep. 40(1). doi.org/10.1093/sleep/zsw019.

Wolfson, A., & Carskadon, M. (2003). Understanding adolescent's sleep patterns and school performance: a critical appraisal. Sleep Medicine Reviews. 7(6): 491-506.

ความคิดเห็น