ไม่มั่นใจในตัวเองบ้าง ก็ไม่เป็นไรนะ (Imposter Syndrome)

หากเราไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกเครียด เราก็จะต้องพัฒนาตัวเอง และเตรียมพร้อมตัวเองอย่างดีที่สุด

            คำว่า Imposter Syndrome หรือ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในปัจจุบัน ในครั้งแรกที่ผมได้ยิน ผมคิดว่าความไม่มั่นใจในตัวเองไม่น่าจะใช่ "โรค" เหมือนอย่างโรคซึมเศร้าหรือโรคจิตเภท แต่เมื่อพิจารณาอีกครั้งจึงพบว่า ความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มั่นใจในตัวเอง สำหรับบางคนมันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ่้นเพียงไม่กี่ครั้ง เพราะมันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงชีวิต ทุกการตัดสินใจ หรือทุกการแสดงออกได้เลย ดังนั้นในหลายกรณีมันก็อาจจะสร้างความเสียหายได้

            ความรู้สึกไม่มั่นใจสำหรับผมคล้ายกับความรู้สึกเศร้า เครียด วิตกกังวล ที่จะมีมากขึ้นเนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ทุกคนสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างง่ายดาย ทำให้โลกเราเปิดกว้างมากขึ้น กล่าวคือ หันซ้าย หันขวา ก็พบว่าทุกคนต่างประสบความสำเร็จ ดูดี ดูมีความสุขไปเสียทั้งหมด ยิ่งในยุคสมัยนี้มีการแข่งขันที่สูงมากขึ้น ในปัจจุบันสำหรับหลายคนปริญญาตรีอย่างเดียวไม่เพียงพอ บางคนเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป บางคนหาแหล่งเรียนรู้อบรมอย่างต่อเนื่อง แต่หลายคนกลับรู้สึกว่า 

ไม่ว่าตนเองจะเรียนรู้มากสักแค่ไหนก็ไม่มั่นใจในตัวเองสักที

            บทความนี้ผมไม่ได้จะอธิบายถึง Imposter Syndrome หรือ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งโดยตรง หากมีโอกาสครั้งหน้าอาจจะเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกที แต่ในบทความนี้ผมอยากจะนำเสนอเกี่ยวกับมุมมองที่ว่า "ไม่มั่นใจในตัวเองบ้าง ก็ไม่เป็นไรนะ" เพราะผมมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะไม่มั่นใจในตัวเองบ้าง มีเครียดเชิงบวกบ้าง มีความกดดันบ้าง มันทำให้เรารู้สึกถ่อมตัวมากขึ้น เพราะเราจะต้องไม่ลืมว่าพวกเราทุกคนสามารถผิดพลาด และล้มเหลวกันได้ทั้งนั้น

คนที่ไม่มั่นใจมากจะอยู่ในสถานการณ์ที่เคร่งเครียด

            ก่อนที่ผมจะนำเสนอข้อดีของการเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจ ผมอยากนำเสนอประเภทของความเครียดเสียก่อน เพราะผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนเข้าใจความเครียดผิดไปพอสมควร เรามักจะคิดว่าความเครียดเป็นเชิงลบไปเสียหมด เป็นการตอบสนองที่ไม่ดี และเราควรจะหลีกเลี่ยง แต่จริง ๆ มีความเครียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าที่เราคิดเอาไว้ สภาวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาเด็กแห่งชาติ (Natiomal Scientific Council on the Developing Child) แบ่งประเภทของความเครียดออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ดังต่อไปนี้

            1) ความเครียดเชิงบวก (Positive Stress) เป็นความเครียดที่กระตุ้นเด็กและผู้ใหญ่ให้เติบโต กล้าเสี่ยง และทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เรารู้สึกประหมาและเครียดเล็กน้อยก่อนที่จะนำเสนอผลงาน แต่เมื่อนำเสนอจบไปแล้วก็รู้สึกภาคภูมิใจอย่างมาก กล่าวคือ ความคิดประเภทนี้ทำให้เกิดความกระวนกระวาย ตื่นเต้น หรือความคาดหวังได้ทั้งนั้น ซึ่งถ้าหากไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป มันก็จะทำให้เราทำหลายสิ่งหลายอย่างได้ดีขึ้น 

            2) ความเครียดที่พอทนไหว (Tolerable Stress) เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ แต่ก็สามารถฟื้นคืนความยืดหยุ่นทางจิตใจ เป็นความรู้สึกที่มักจะเกิดขึ้นกับคนที่เผชิญสถานการณ์ที่เคร่งเครียด ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยครั้ง แต่เขาก็ยังพอมีเวลาที่จะฟื้นฟูตัวเองได้ กล่าวคือ เป็นภาวะความเครียดที่มากพอสมควร แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ มีช่วงเว้นวรรคมากพอที่จะฟื้นฟูตัวเองได้ ซึ่งกระบวนการฟื้นฟูตัวเองจะช่วยสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจได้

            3) ความเครียดที่เป็นพิษ (Toxic Stress) เป็นความเครียดที่ถูกกระตุ้นบ่อยครั้งและต่อเนื่องโดยปราศจากความช่วยเหลือ ความเครียดประเภทนี้เป็นความเครียดระดับสูง ยกตัวอย่างเช่น ความเครียดจากการเห็นเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย หรือเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งนับเป็นความเครียดเรื้อรัง หากไม่มีใครยื่นมาเข้ามาช่วยเหลือ เราจะรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมชีวิตได้เลย จึงไม่สามารถบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ได้ 

            เราจะเห็นได้ว่าความเครียดทั้ง 3 ประเภทแตกต่างกันที่ "ความสามารถในการควบคุม" ความเครียดเชิงบวก และความเครียดที่พอทนไหว เป็นประเภทของความเครียดที่เราสามารถจัดการอะไรได้บ้างเมื่อเกิดความเครียดขึ้นมา ในขณะที่ความเครียดเป็นพิษเป็นประเภทของความเครียดที่เราไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย และความเครียดที่เป็นพิษก็ยังสามารถทำลายความสามารถในการเติบโตได้อีกด้วย 

ความเครียดแต่ละประเภทแตกต่างกันที่ความสามารถในการควบคุม

            เหตุผลที่ผมต้องอธิบายประเภทของความเครียดทั้งหมดขึ้นมา เพื่อจะนำเสนอว่า คนที่ไม่มั่นใจในตัวเองมักจะเผชิญกับความเครียด ซึ่งแล้วแต่บุคคลว่าจะเผชิญกับความเครียดประเภทไหน คนที่ไม่มั่นใจมักจะมองว่าคนอื่นรู้สึกชิว ๆ เมื่อจะต้องนำเสนออะไรสักอย่างหนึ่ง หรือทำอะไรที่อยู่ในสภาวะกดดัน แต่แท้จริงแล้วมีน้อยคนมากที่ไม่รู้สึกเครียดเลย หลายคนมีความเครียดเชิงบวกก่อนที่จะทำอะไรสักอย่าง 

            ดังนั้นหากเราเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองก็เป็นไร เพียงแค่เราสามารถจัดการกับสถานการณ์รอบตัวได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราจะต้องนำเสนองาน เราก็จะต้องเตรียมพร้อมตัวเองให้ดี และเตรียมอุปกรณ์ที่ส่งเสริมการสนับสนุนให้มีประสิทธิภาพไม่มีว่าจะเป็น สไลด์ที่เหมาะสม การแต่งกายที่แสดงถึงความน่าเชื่อถือ หรือการทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ เมื่อเราสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ เราก็จะสามารถลดภาวะความเครียดให้อยู่ในประเภทเครียดเชิงบวกได้ 

หลุดออกจากพิษของความเครียดด้วยการสร้างความภาคภูมิใจ

            อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่มั่นใจในตัวเองหลายคนเผชิญกับความเครียดที่เป็นพิษจนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์อะไรได้เลย ผมแนะนำว่าเราจะต้องค่อย ๆ สร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้เกิดขึ้นมาเล็ก ๆ น้อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น การลดน้ำหนัก การอ่านหนังสือมากขึ้น การเขียน Blog หรือหัดพูดคุยกับคนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมา สอดคล้องกับค่านิยมของคนทั่วไปในสมัยนี้ 

เพราะการที่เราสามารถประสบความสำเร็จตามค่านิยมได้ มันจะทำให้จิตใต้สำนึกของเรายอมรับได้โดยง่าย

            เมื่อเราสามารถสร้างผลงานบางอย่างให้เกิดขึ้น มันจะหล่อหลอมให้เราเกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งจะทำให้เราลดความเครียด ความกดดัน ความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าลงได้ กล่าวคือ เมื่อเราเป็นพิษเพราะความเครียดเป็นเวลานาน เราจะต้องใช้ยาถอนพิษออกไปเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการความช่วยเหลือบ้าง หรือช่วยเหลือตัวเองโดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับจิตใจ โดยใช้วิธีสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเองบ้างก็ตาม 

            แต่การที่เราไม่มั่นใจในตัวเองมันก็มีข้อดีสำคำคัญอย่างที่ผมยกตัวอย่างมาก่อนหน้านี้ เพราะหากเราไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกเครียด หรืออึดอัด เราก็จะต้องพัฒนาตัวเอง เตรียมพร้อมตัวเองอย่างดีที่สุด และอีกข้อดีหนึ่งก็คือ "ความถ่อมตัว" คนที่ไม่มั่นใจในตัวเองส่วนใหญ่จะถ่อมตัว ไม่โอ้อวดตัวเอง และไม่ติดกับดักของความมั่นใจที่มากเกินไป 

            อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ผู้เขียนหนังสือ Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know ให้ความเห็นว่า ความถ่อมตัวไม่ใช่การมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ แต่เขาอธิบายว่ามันมาจากรากศัพท์ภาษาละตินของคำว่า Humility มีความหมายว่า "จากพื้นดิน (From the earth)" มันเกี่ยวข้องกับการมีวิจารณญาณ (Being Grounded) โดยตระหนักว่าเราต่างก็มีข้อบกพร่องและทำผิดพลาดกันได้ 

            ความไม่มั่นใจสามารถกลายเป็นแรงจูงใจสำคัญ ที่จะส่งเสริมเราให้ก้าวหน้าได้ 1) จูงใจให้เราทำงานหนักมากขึ้น ความรู้สึกว่าตัวเราเองไม่เก่งจะเป็นแรงผลักดันให้เราวิ่งต่อไปจนสุดทาง 2) จูงใจให้เราทำงานอย่างฉลาดมากขึ้น เพราะเมื่อเราไม่คิดว่าตัวเองจะชนะ รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง มันจะชักนำให้เราตั้งคำถามในสิ่งที่คนอื่นมองข้ามไป และ 3) จูงใจให้เราเป็นนักเรียนรู้ที่ดีขึ้น เพราะการที่เราเคลือบแคลงความสามารถของตัวเอง จะทำให้เราจะไม่หลงละเลิง อีกทั้งยังส่งเสริมให้เราพยายามขวนขวาย ค้นหาความเข้าใจในบางสิ่งอย่างถ่องแท้ 

            หากพูดถึงความไม่มั่นใจแล้ว ยังมีงานศึกษาที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งของ แดเนียลล์ ทุสซิง (Danielle Tussing) เขาได้รวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งมีการหมุนเวียนการเป็นหัวหน้าเวรของพยาบาลระหว่างกะต่าง ๆ ซึ่งทำให้พวกเขาต้องลงเอยด้วยการเป็นบทบาทผู้นำถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของตัวเองก็ตาม ทุสซิงพบว่า พยาบาลที่รู้สึกลังเลที่จะรับบทบาทนั้นกลับกลายเป็นผู้นำที่มีปริทธิภาพมากที่สุด สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพวกเขามีแนวโน้มสูงที่จะขอความคิดเห็นที่สองจากเพื่อนร่วมงาน  

            ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องปกติอย่างมากที่เราจะเป็นคนไม่มั่นใจ หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ บนโลกที่เราสามารถเข้าถึงภาพแห่งความประสบความสำเร็จของคนจำนวนมากเพียงแค่ปลายนิ้วคลิกเท่านั้น เพียงแต่ขอให้เราเตรียมความพร้อมตัวเอง เป็นคนที่ถ่อมตัว น่านับถือ พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เราก็จะหลุดออกจากพิษแห่งความเครียดที่รุนแรงได้ แม้เราจะเผชิญกับความเครียดเชิงบวกก็ตาม แต่มันก็เป็นสถานการณ์ปกติของมนุษย์ทั่วไปที่พบเจอ 

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ผมบอกว่า "ไม่มั่นใจในตัวเองบ้าง ก็ไม่เป็นไรนะ"

อ้างอิง 

Grant, A. (2021). Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know. NY: Viking.

National Scientific Council on the Developing Child. (2014). Excessive Stress Disrupts the Architecture of the Developing Brain. Journal of Children's Services, 9(2): 143-153. https://doi.org/10.1108/JCS-01-2014-0006

Stixrud, W., & Johnson, N. (2018). The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives. NY: Viking.

Tussing, D. (2018). Hesitant at the Helm: The Effectiveness-Emergence Paradox of Reluctance to Lead. https://repository.upenn.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=4674&context=edissertations.

คาลอส บุญสุภา. (2565). ควรจะ ถ่อมตัว อย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อตนเองและคนรอบข้าง. https://sircr.blogspot.com/2022/04/blog-post_16.html

ความคิดเห็น