ควรจะ ถ่อมตัว อย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อตนเองและคนรอบข้าง

ความถ่อมตัวเปรียบเสมือนกับยาถอนพิษที่จะช่วยให้หลุดพ้น 
จากการติดอยู่บนยอดเขาแห่งความโง่เขลา

            ความถ่อมตัว เป็นลักษณะหนึ่งที่ผมเชื่อว่าแต่คนให้นิยามแตกต่างกัน มองแตกต่างกัน บางคนมองว่าความถ่อมตัวเป็นการแสดงความเคารพ ยกย่อง นอบน้อมต่อผู้อื่น บางคนมองว่าความถ่อมตัวไม่ต่างจากการย่อตัวเองลง หรือเป็นการลดความสำคัญของตัวเองลง ไม่เพียงแค่นั้นบางคนยังมองความถ่อมตัวในมุมมองแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือไม่กล้าแสดงออก แต่ก็มีใครหลายคนในปัจจุบันที่มองความถ่อมตัวว่าเป็นลักษณะที่น่าชื่นชม และเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะมี

            โดยส่วนตัวผมมองว่าความถ่อมตัวเป็นลักษณะที่ทุกคนควรมี เพราะมนุษย์ทุกคนเรียนรู้จากความผิดพลาดอยู่เสมอ เรียกได้ว่าถ้าเราไม่ผิดพลาด เราก็จะไม่มีทางได้เรียนรู้อะไรได้เลย ดังนั้นความผิดพลาดมันจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ การที่เราถ่อมตัวเราลงมา มันจะช่วยให้เรารับมือกับความผิดพลาด ความล้มเหลวได้อย่างดี มากกว่าที่เราจะเย่อหยิ่ง ไม่เพียงแค่นั้นมนุษย์ทุกคนอยากจะมองว่าตัวเองเป็นคนที่สำคัญ ดังนั้นหากเราแสดงออกอย่างเย่อหยิ่งหรือไปลดทอนคุณค่าในตัวของคนอื่นลง มันก็ย่อมทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ ๆ

และเราเองนี้แหละเสี่ยงจะโดดเหยี่ยมซ้ำเมื่อเราล้มลงสักวันหนึ่ง

            ผมมองว่า ความถ่อมตน (Humility) หมายถึง การที่เราเลือกลดอัตตาของตัวเองให้เล็กลง เป็นทัศนคติที่ถูกสร้างมาจากประสบการณ์ และตระหนักถึงความจริงที่ว่าโลกใบนี้มีสิ่งให้เรียนรู้มากมาย และคนรอบ ๆ ตัวเราก็มักจะมีคนที่เก่งกว่าเราบางด้านเสมอ ทุกคนมีคุณค่า เราจึงไม่จำเป็นต้องแสดงอัตตาของเรามากจนเกินไป ซึ่งแตกต่างกับการอ่อนน้อม (Modesty) ที่เรากดคุณค่าของตนเองและยกย่องผู้อื่น อย่างไรก็ตามความถ่อมตัวไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่แสดงความสามารถ หรือความมั่นใจออกมาได้เลย 

            เราสามารถภูมิใจในตนเอง เพียงแต่เลือกแสดงออกแบบไม่มากจนเกินไป ไม่ไปลดทอนคุณค่าในตัวคนอื่น เพราะว่า มนุษย์ทุกคนผิดพลาดอยู่เสมอ ไม่มีอะไรแน่นอนเสมอไป ความสำเร็จและความสุขก็ไม่ได้ยั่งยืน ทุกสิ่งสามารถเสื่อมไปได้ตามกาลเวลา นั้นจึงเป็นการที่เราหดตัวเราเล็กลงเพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจโลกใบนี้ให้มากขึ้น บทความนี้ผมจึงเขียนเกี่ยวกับเรื่อง "ถ่อมตัว" อย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เพื่อให้ผู้อ่านสามารถดำรงชีวิตบนโลกใบอย่างรู้คุณค่าในตัวเอง พร้อมกับตระหนักในคุณค่าต่อผู้อื่น

เราสามารถถ่อมตัวและมั่นใจพร้อมกันได้

            ถ้าถามผมว่าอะไรที่มนุษย์เราต้องการมากที่สุด ให้ผมเลือกมาอย่างเดียว ผมจะตอบว่า "ความสำคัญ" ไม่ว่าคนคนนั้นจะร้องเพลง บ้าอำนาจ เป็นฆาตกรต่อเนื่อง ตั้งใจเรียน หรือช่วยเหลือผู้อื่น มันเป็นเพราะว่าเราทุกคนอยากจะมีความสำคัญต่อโลกใบนี้ นั่นจึงทำให้เราอยากมีคุณค่าและมีความหมายมากขึ้น ทำให้หลายคนแสดงออกอย่างเวอร์เกินไปบ้าง บางคนมั่นใจในตัวเองมากจนเกินไป บางคนหลงตัวเอง เพราะพวกเขามองว่าตัวเองเป็นคนที่สำคัญอย่างมาก มันเป็นการตอบสนองต่อความปรารถนาภายในตัวเองอย่างล้นเกิน

            เมื่อเราพยายามตอบสนองต่อความปรารถนาภายในตัวเองอย่างล้นเกิน มันจะทำให้เราแสดงออกอย่างโง่ ๆ เราทะนงตัวเพราะเราไม่รู้ผสมผสานไปกับเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในตัวเอง มันจะทำให้เราไม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดจากตัวเองเลย ทั้ง ๆ ที่ความผิดพลาดเป็นหัวใจของการเรียนรู้  ถ้าเราไม่ผิดพลาด เราก็จะไม่มีทางได้เรียนรู้อะไรได้เลย ดังนั้นความถ่อมตัวจึงเปรียบเสมือนกับยาถอนพิษที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากการติดอยู่บนยอดเขาแห่งความโง่เขลา

            ทิม เออร์บัน (Tim Urban) บล็อกเกอร์ที่มีชื่อเสียง อธิบายไว้ว่า ในขณะที่ความถ่อมตัวเป็นตัวกรองที่ซึมซับประสบการณ์ชีวิตและเปลี่ยนมันให้กลายเป็นความรู้และภูมิปัญญา ความทะนงตัวกลับเป็นเกราะยางที่มีแต่จะทำให้ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านเข้ามาเด้งกลับออกไปเท่านั้น สิ่งที่เออร์บันกล่าวออกมาเป็นความจริงที่ปฏิเสธได้ยาก เรามักพบเห็นคนที่ทะนงตัวแสดงออกอย่างมั่นใจ และแสดงความมีอคติต่อข้อมูลที่เขาไม่เห็นด้วยอย่างมากล้นจนเกินไปอยู่เสมอ

            หลายครั้งเรามักจะคิดว่าโลกใบนี้ทุกอย่างมี ซ้าย กลาง และขวาอยู่เสมอ มีความดี ก็มีความชั่ว และมีสิ่งที่อยู่ตรงกลาง มีรวย มีจน และมีปานกลาง เช่นเดียวกันกับกรณีความถ่อมตัว หากด้านซ้ายสุดของความมั่นใจเป็นความทะนงตัว ขวาสุดคงเป็นการยอมจำนน ดังนั้นเราจึงควรจะเลือกทางสายกลางเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยมากที่สุด เป็นความมั่นใจในระดับที่เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งผมคิดว่ามันไม่มีจริง 

            อย่าเข้าใจผิดนะครับผมไม่ได้คิดว่าทางสายกลายไม่มีจริง เพียงแต่มันยากมากที่จะหาเส้นทางนั้นพบเจอ เพราะจริง ๆ แล้วทุกอย่างเป็นมันสเปกตรัมที่มีหลากหลายเฉดสี ซึ่งมันยากไปจนถึงไม่มีทางระบุได้ชัดเจนด้วยซ้ำว่าตรงกลางมันอยู่ส่วนไหนกันแน่ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องหาความพอดีระหว่างความทะนงตัว หรือความยอมจำนน เพียงแต่เราสามารถถ่อมตัวไปพร้อมกับผลลัพธ์ที่ดีได้ 

            เรามักจะมองความถ่อมตัวอย่างเข้าใจผิด อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ผู้เขียนหนังสือ Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know ให้ความเห็นว่า ความถ่อมตัวไม่ใช่การมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ แต่เขาอธิบายว่ามันมาจากรากศัพท์ภาษาละตินของคำว่า Humility มีความหมายว่า "จากพื้นดิน (From the earth)" มันเกี่ยวข้องกับการมีวิจารณญาณ (Being Grounded) โดยตระหนักว่าเราต่างก็มีข้อบกพร่องและทำผิดพลาดกันได้

            ความั่นใจเป็นตัวประเมินว่าเราเชื่อมั่นในตัวเองมากแค่ไหน มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าประเด็นนี้แตกต่างจากประเด็นที่ว่าเราเชื่อมั่นในวิธีการของตัวเองมากเพียงใด เราอาจมั่นใจในความสามารถของตัวเองที่จะบรรลุเป้าหมายในอนาคต และขณะเดียวกันก็มีความถ่อมตัวในการตั้งคำถามว่าปัจจุบันตัวเองมีเครื่องมือที่เหมาะสมหรือยัง นั่นคือจุดลงตัวของความมั่นใจ กล่าวคือ ทั้งความมั่นใจและความถ่อมตัวสามารถไปด้วยกันได้อย่างลงตัวมากกว่าที่เราคิดเอาไว้

เราควรจะความถ่อมตัวแบบมั่นใจหรือมีศรัทธาในความสามารถของตัวเอง

เราทะนงตัวจนตาบอดเมื่อเราปักใจเชื่ออย่างเต็มที่ในจุดแข็งและกลยุทธ์ของตัวเอง เราเคลือบแคลงสงสัยจนกลายเป็นอัมพาตเมื่อเราขาดความเชื่อมั่นในทั้งสองอย่างนั้น เราอาจถูกครอบงำด้วยปมด้อยเมื่อเรารู้วิธีการที่ถูกต้องแต่กลับไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองที่จะลงมือปฏิบัติ สิ่งที่เราควรจะทำคือมีความถ่อมตัวแบบมั่นใจหรือมีศรัทธาในความสามารถของตัวเอง และขณะเดียวกันก็ยอมรับด้วยว่าเราอาจไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องหรือแม้แต่กำลังแก้ปัญหาถูกเรื่อง แนวทางนี้จะทำให้เราเกิดความเคลือบแคลงสงสัยมากพอที่จะทบทวนความรู้เดิมของเราอีกครั้ง 

และเกิดความมั่นใจมากพอที่จะแสวงหาความเข้าใจที่ถ่องแท้ในเรื่องใหม่ ๆ 

            อดัม แกรนต์ ยังได้นำเสนอโมเดลที่เรียกว่าจุดลงตัวของความมั่นใจ ที่ประกอบไปด้วย ความแน่ใจ และไม่แน่ใจที่มีต่อเครื่องมือหรือปัจจัยภายนอกบางอย่าง เช่น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว ผู้อื่น หรืออุปกรณ์บางอย่าง และความเชื่อมั่นในตัวเอง ที่ประกอบไปด้วย ความไม่มั่นคง และความมั่นคง เป็นมุมมองที่เรามีต่อตัวเองไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบใดก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะไม่มั่นใจในข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษ แต่เรารู้สึกมั่นคงว่าเรามีความสามารถ และพยายามอย่างเต็มที่แล้ว

            ความถ่อมตัวแบบมั่นใจ จึงเป็นสิ่งที่อยู่ระหว่าง ความไม่แน่ใจที่มีต่อเครื่องมือหรือปัจจัยภายนอก และความมั่นคงที่มีต่อความเชื่อมั่นในตัวเราเอง การที่เราทั้งแน่ใจในปัจจัยภายนอกมากจนเกินไป มั่นคงในความเชื่อที่มีต่อตัวเองมากเกินไป จะทำให้เราทะนงตัวแบบมืดบอด ซึ่งเป็นสิ่งที่ ทิม เออร์บัน เรียกว่า "เกราะยางที่มีแต่จะทำให้ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านเข้ามาเด้งกลับออกไปเท่านั้น" ตรงกันข้ามกับความเคลื่อบแคลงสงสัยที่บั่นทอนกำลังใจของตัวเอง ที่มักพบในคนที่เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ หรือเผชิญกับภาวะซึมเศร้า

            ความถ่อมตัวแบบมั่นใจจะทำให้เราคิดทบทวนต่อทั้งปัจจัยภายในและภายนอกตัวเอง และยังช่วยให้การคิดทบทวนของเรามีคุณภาพมากขึ้นด้วย อดัม แกรนต์ ยังได้นำเสนอการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ศึกษาอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพความเป็นผู้นำในสหรัฐอเมริกาและจีน พบว่า ทีมที่มีประสิทธิภาพและมีความคิดสร้างสรรค์สูงสุดไม่ได้มีผู้นำที่เป็นคนมั่นใจหรือถ่อมตัว แต่ผู้นำที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ทั้งคะแนนความมั่นใจและความถ่อมตัวในระดับสูง

            เพราะถึงแม้ว่าพวกเขาจะเชื่อมั่นในจุดแข็งของตัวเอง แต่พวกเขาก็ตระหนักถึงจุดอ่อนของตัวเองเป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน พวกเขารู้ว่าจำเป็นต้องรับรู้และก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ถ้าพวกเขาต้องการท้าทายขีดจำกัดของความยิ่งใหญ่ เพราะหากเราเอาแต่คิดว่าเราจะต้องปราศจากความผิดพลาด มันก็จะทำให้เรามองไม่เห็นจุดบอดอะไรเลย อย่างที่ผมได้เน้นย้ำมาสองครั้งในบทความนี้แล้วว่า "ความผิดพลาดเป็นหัวใจของการเรียนรู้  ถ้าเราไม่ผิดพลาด เราก็จะไม่มีทางได้เรียนรู้อะไรได้เลย" ดังนั้นการที่เราถ่อมตัวแบบมั่นใจจะช่วยให้เรายอมรับข้อผิดพลาดซึ่งเป็นกุญแจของการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น 

มันเป็นการโอบรับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์เอาไว้

            แกรนต์ได้เล่าในหนังสือ Think Again อีกว่า เขาเคยสอนนักศึกษาที่อัจฉริยะ พวกเขาได้จดสิทธิบัตรก่อนที่พวกเขาจะดื่มสุราได้อย่างถูกกฎหมายเสียอีก บางคนก็เป็นเซียนหมากรุกก่อนจะขับรถเป็นด้วยซ้ำ ทว่าคนเหล่านี้ก็ยังต้องต่อสู้กับความรู้สึกไม่มั่นคงและเคลือบแคลงสงสัยในความสามารถของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ผู้อ่านหลายคนคงมีเพื่อนที่ทำข้อสอบได้คะแนนสูงมาก แต่รู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองทำได้หรือไม่อยู่บ้าง ก็เป็นแบบนั้นแหละครับ ไม่ใช่ว่าเขาแกล้งเป็นทำไม่ได้ แต่เขาเพียงแค่ไม่มั่นใจเท่านั้นแหละครับ

ประโยชน์ของความถ่อมตัวอย่างมั่นใจ

            การที่เราถ่อมตัวอย่างมั่นใจจะเป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด เพราะเราทุกคนต้องทำผิดพลาดอย่างแน่นอน และเราก็มักโดนความกลัวว่าตัวเองไม่เก่งเข้าครอบงำเสมอ คำแนะนำของแกรนต์ก็คือ ให้เพิกเฉยต่อความกลัวเหล่านั้นซะ หรือไม่ก็ยกประโยชน์แห่งความเคลือบแคลงสงสัยให้กับตัวเอง เราอาจอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเมื่อยอมรับความรู้สึกดังกล่าว เพราะความกลัวเหล่านั้นจะทำให้เราได้รับประโยชน์มากเกินกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้ มันจูงใจให้เราเป็นคนในแบบที่ควรจะเป็นดังนี้

            1) จูงใจให้เราทำงานหนักมากขึ้น ความรู้สึกว่าตัวเราเองไม่เก่งจะเป็นแรงผลักดันให้เราวิ่งต่อไปจนสุดทาง มันเป็นการที่เราไม่นิ่งนอนใจ อีกทั้งเรายังกังวลว่าจะทำให้คนอื่นผิดหวัง ทำให้เราต้องพิสูจน์ตัวเองมากขึ้น กล่าวคือ คนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งอาจเป็นคนสุดท้ายที่กระโดดเข้าร่วมวง แต่พวกเขาจะเป็นคนสุดท้ายที่จะถอนตัวอย่างแน่นอน สิ่งนี้มันจึงเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเองและผู้อื่นอย่างปฏิเสธไม่ได้

            2) จูงใจให้เราทำงานอย่างฉลาดมากขึ้น เพราะเมื่อเราไม่คิดว่าตัวเองจะชนะ รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ความรู้สึกดังกล่าวจะผลักดันให้เรามีทัศนคติแบบมือใหม่ ชักนำให้เราตั้งคำถามในสิ่งที่คนอื่นมองข้ามไป ทำให้เรามั่นทบทวนตัวเองมากขึ้น พัฒนาตนเองมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ผมสอนช่วงแรก ๆ ผมพบว่าตัวเองไม่เก่งเลย และผมก็ไม่มั่นใจสักครั้งในระหว่างที่ตัวเองสอน มันจึงทำให้ผมหากลยุทธ์ หาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะสอนได้ดีขึ้น และลดความเสียหายจากความผิดพลาดให้มากที่สุด

            3) จูงใจให้เราเป็นนักเรียนรู้ที่ดีขึ้น เพราะการที่เราเคลือบแคลงความสามารถของตัวเอง จะทำให้เราจะไม่หลงละเลิง อีกทั้งยังส่งเสริมให้เราพยายามขวนขวาย ค้นหาความเข้าใจในบางสิ่งอย่างถ่องแท้ เหมือนกับที่นักจิตวิทยา อลิซาเบธ ครัมเร แมนคูโซ (Elizabeth Krumrei Mancuso) และ ไบรอัน นิวแมน (Brian Newman) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการถ่อมตัวทางปัญญาในมิติเชิงการเมือง กล่าวไว้ว่า "การเรียนรู้ต้องอาศัยความถ่อมตัวเพื่อให้ตระหนักว่าเรายังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้" 

            มีการศึกษาที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งของ แดเนียลล์ ทุสซิง (Danielle Tussing) เขาได้รวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งมีการหมุนเวียนการเป็นหัวหน้าเวรของพยาบาลระหว่างกะต่าง ๆ ซึ่งทำให้พวกเขาต้องลงเอยด้วยการเป็นบทบาทผู้นำถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของตัวเองก็ตาม ทุสซิงพบว่า พยาบาลที่รู้สึกลังเลที่จะรับบทบาทนั้นกลับกลายเป็นผู้นำที่มีปริทธิภาพมากที่สุด สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพวกเขามีแนวโน้มสูงที่จะขอความคิดเห็นที่สองจากเพื่อนร่วมงาน  

            พวกเขามองว่าตัวเองอยู่ในสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกัน และรู้ว่าหลายสิ่งที่ตัวเองขาดประสบการณ์และความเชื่ยวชาญสามารถทดแทนได้ด้วยการรับฟัง การถ่อมตัวอย่างมั่นใจจึงมีประโยชน์ต่อทั้งตัวเองและผู้อื่นอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะการที่เราขอคำแนะนำจากคนอื่น มันเป็นการที่เรามองคนอื่นในเชิงยกย่อง ไม่ใช่มองผู้อื่นว่าอ่อนด้อยกว่าเรา กล่าวคือเราให้ความสำคัญกับผู้อื่น เราจึงพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ซึ่งจะทำให้เราและคนรอบตัวได้รับประโยชน์อย่างคาดไม่ถึง

เพราะผู้ที่แนะนำเราก็จะรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ
และพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับเราที่รับฟังอย่างถ่อมตัวแต่มั่นใจ

อ้างอิง

Grant, A. (2021). Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know. NY: Viking.

Mancuso, E., & Newman, B. (2020). Intellectual Humility in the Sociopolitical domain. Self and Identity 19(9):1-28. https://doi.org/10.1080/15298868.2020.1714711.

Tussing, D. (2018). Hesitant at the Helm: The Effectiveness-Emergence Paradox of Reluctance to Lead. https://repository.upenn.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=4674&context=edissertations.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ทำไมเราถึงต้อง ถ่อมตน (Humility). https://sircr.blogspot.com/2021/04/humility.html.

ความคิดเห็น