ปรากฏการเหมารวม หนึ่งในข้อด้อยของมนุษย์เรา (Stereotype)

คนบางคนมีความสามารถที่จะบิดเบือนหรือพลิกความคิดของตัวเองจนกระทั่งเจอมุมที่เขาพอใจ

            ตอนที่ผมเรียนวิชาจิตวิทยาพัฒนาการสมัยปริญญาตรี ผมได้เรียนรู้กระบวนการคิดของเด็กช่วงวัยประมาณ 3 -4 ขวบ เด็กในช่วงนี้ จะคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้หมุนรอบตัวเขา เขาจะมองทุกอย่างในมุมมองของตัวเอง ในทฤษฎีพัฒนาการจะเรียกสิ่งนี้ว่า ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric) สิ่งนี้ทำให้เด็กคิดว่ามุมมองของตัวเองถูกที่สุด เช่น "น้ำแดงที่ฉันกินคือน้ำแดงที่อร่อยและดีที่สุด" หรือ "สัตว์ที่มี 2 หูจะต้องเป็นสุนัขเท่านั้น เพราะที่บ้านสุนัขก็มี 2 หู"

            ฌ็อง เพียเจต์ (Jean Piaget) เป็นนักจิตวิทยาชาวสวิสเซอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา ได้อธิบายการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางว่า เด็กจะโยงความสัมพันธ์ของแต่ละเหตุการณ์มาเชื่อมถึงกัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เขาจะมีความเข้าใจต่อสิ่งต่าง ๆ ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งกระบวนการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจะค่อย ๆ หายไปเมื่อสมองพัฒนามากขึ้น แต่ผมมองว่ากระบวนการดังกล่าวมันไม่เคยหายไป มันยังคงอยู่ เพราะความรู้สึกที่เราเข้าใจทุกอย่างในโลกนี้ และความคิดของฉันถูกต้องแน่นอน มันเป็นความรู้สึกที่แสนวิเศษ

            เหตุผลที่เรารู้สึกวิเศษก็เพราะว่าทุกอย่างมันง่ายดายอย่างมาก การเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มันเป็นการต้องยอมรับว่าสิ่งที่ตัวเองเคยคิด เคยเชื่อมันเป็นเรื่อง "ผิด" กระบวนการเปลี่ยนผ่านการตระหนักรู้ดังกล่าว มันทำให้เรารู้สึกเหนื่อย รู้สึกผิดหวังในตัวเอง รู้สึกคับข้องใจ และที่สำคัญคือมัน "ยาก" แล้วอะไรที่ง่ายที่สุด คำตอบก็คือ "การเหมารวม (Stereotype)" 

            มันเป็นสิ่งที่ง่ายอย่างมาก เช่น ตำรวจจะต้องชอบกินโดนัท เพราะเราเรียนรู้มันจากภาพยนตร์หลายเรื่องในอดีต ด้วยความง่ายดังกล่าว มันก็สร้างปัญหา ความขัดแย้ง ที่คาราคาซังจนสามารถก่อเกิดปัญหาคร่าชีวิตคนไปหลายล้านคนได้ บทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอว่าการเหมารวมเป็นข้อด้อยอย่างหนึ่งของมนุษย์ และผมอยากนำเสนอวิธีการหลุดออกจากวงจรแห่งความมักง่ายที่เรียกว่าการเหมารวมด้วย

ปรากฏการเหมารวม 

            การเหมารวม หมายถึง ทัศนคติที่เกิดจากประสบการณ์ในอดีตหล่อหลอมจนเป็นความเชื่อ และกลายเป็นมาตรฐานในการตัดสิน ซึ่งสามารถเป็นได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ศาสนา การเมือง เพศ สิ่งของ สัตว์ นิสัยใจคอ พฤติกรรม ฯลฯ อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การใช้ประสบการณ์ในอดีตเป็นตัวตัดสินสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวในปัจจุบัน และเมื่อทัศนคติเหมารวมเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะกำจัดมันเนื่องด้วยเหตุผลทั้งจิตใจและทางสังคม

โจชัว แอรอนสัน (Joshua Aronson) เรียกสิ่งนี้ว่า ภัยคุกคามของการเหมารวม (Stereotype Threat)

            นักจิตวิทยาชื่อดัง จอร์จ เคลลี ตั้งข้อสังเกตว่า ความเชื่อของเราเป็นเหมือนแว่นตาส่องความเป็นจริง เราใช้แว่นตานั้นทำความเข้าใจโลกและสำรวจสภาพแวดล้อมรอบตัว ภักคุกคามต่อความคิดเห็นของเราทำให้แว่นตาแตกร้าว ส่งผลให้การมองเห็นของเราพร่ามัวลง จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกระแวดระวัง เราจะมีท่าทีเป็นศัตรูเป็นพิเศษเวลาที่พยายามปกป้องความคิดเห็นซึ่งเรารู้อยู่ลึก ๆ ว่าไม่ถูกต้อง แทนที่จะลองสวมแว่นตาอันอื่น เรากลับบิดเบือนความคิดของตัวเองไปมาจนกระทั่งเจอมุมที่ทำให้มุมมองปัจจุบันของเรายังคงสมบูรณ์เหมือนเดิม

เราบิดเบือนความคิดของตัวเองไปมาจนกระทั่งเจอมุมที่ทำให้มุมมองปัจจุบันของเรายังคงสมบูรณ์เหมือนเดิม

            ปรากฏการเหมารวมคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน แต่บางคนมีความสามารถที่จะบิดเบือนหรือพลิกความคิดของตัวเองจนกระทั่งเจอมุมที่เขาพอใจ และต่อให้เราจะไม่สามารถหามุมที่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้เจอ ก็จะพยายามเสกมุมนั้นขึ้นมาเองจนได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดูน่าเหลือเชื่อแค่ไหนก็ตาม ไม่ต่างอะไรกับคนที่เป็นโรคจิตเภท ที่มีความคิด ความเชื่อที่หลงผิด จึงเป็นเหตุให้เราพบความแปลก วิกลจริตในสังคมมากมาย ยกตัวอย่าง (แบบสุดโต่ง) เช่น การเห็นเหมารวมว่า อดีตนายกทักษิณ ชินวัตรจ้างนักเรียน นักศึกษาให้ออกมาชุมนุมจนติดคุก หรือ ชาวโรฮิงญาทุกคนเป็นคนชั่วที่ไม่ควรค่าต่อการมีชีวิตอยู่

            เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ทัศนคติเหมารวมติดแน่นก็คือ เรามักมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีทัศนคติเหมารวมแบบเดียวกัน ซึ่งทำให้ทัศนคติเหมารวมนั้นสุดโต่งมากขึ้นไปอีก ในหนังสือ Think Again: The Power of Knowing What you don't know อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ผู้เขียนเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า การแบ่งขั้วของกลุ่ม (Group Polarization) และปรากฎให้เห็นในการทดลองหลายร้อยครั้ง คณะลูกขุนที่มีความเชื่อแบบอำนาจนิยมจะเสนอบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นหลังจากพิจารณาคดีร่วมกัน หรือความเชื่อเกี่ยวกับคนแอฟริกันอเมริกัน เป็นคนไม่ดี 

            การแบ่งขั้วนี้ได้รับการเสริมแรงโดยการคล้ายตามกัน (Conformity) กล่าวคือ สมาชิกกลุ่มระดับทั่วไปจะกลายเป็นที่ยอมรับและได้รับสถานะจากการเจริญรอยตามสมาชิกผู้เป็นต้นแบบชั้นยอดของกลุ่มซึ่งมักจะเป็นคนที่มีมุมมองแบบสุดโต่งที่สุด ดังเช่นตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาก่อนหน้านี้ จึงไม่แปลกว่าเมื่อเราเติบโตมาในครอบครัวที่เกลียดเสื้อแดง เกลียดอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ก็จะทำให้ความเกลียดเข้มข้นมากขึ้นจากการแบ่งขั่วของกลุ่ม และยิ่งเราได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการสนุบสนุนของพรรคที่อยู่ตรงกันข้ามกับความเชื่อของเรา ไม่นานความรู้สึกรังเกียจของเราก็จะยิ่งทวีความรุนแรงฝังแน่น 

จนทำให้สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ยากจะแก้ไขได้

            ในหนังสือ The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives ผู้เขียน วิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud)  และ เน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) ได้เล่าถึงปรากฎการเหมารวม โดยพวกเขายกตัวอย่างสถานการณ์ของเด็กชายชาวแอฟริกันอเมริกันที่นั่งท่ามกลางเด็กผิวขาวในห้องสอบ เด็กคนนั้นเข้าห้องมาพร้อมสัมภาระที่มากกว่าเพียงดินสอดำสองบี เป็นไปได้ว่าเขานำเป้ที่บรรจุสิ่งที่คนอื่นจินจนาการเกี่ยวกับเขาไว้เต็มใบเข้ามาด้วย (เช่น ระเบิด) 

            ที่น่ากลัวก็คือ ต่อให้เด็กแอฟริกันอเมริกันคนนั้นรู้ว่าการเหมารวมที่เขากำลังจินตนาการไม่มีที่มาที่ไป เขาก็อาจเชื่อเต็มอกว่าคนอื่นคิดในทางร้ายเกี่ยวกับตัวเขาเอง สิ่งนี้ค่อนข้างน่ากลัวเพราะมันจะสร้างความเครียด ความกดดันแก่เขา และภายใต้ความเครียดนั้น ความคิดเขาอาจเลื่อนไถลจากความสำเร็จไปสู่ความล้มเหลว "ทุกคนที่เห็นคะแนนสอบต่ำ ๆ ของฉันต้องรู้แน่ ๆ ว่าฉันเป็นคนดำ แล้วพวกเขาก็จะยิ่งเชื่อว่าคนดำไม่เก่ง" 

            สิ่งที่ สติกซ์รัด และ จอห์นสัน ได้นำเสนอในหนังสือ The Self-Driven Child เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะภายคุกคามของการเหมารวมไม่ได้มาจากการถูกกระทำของเด็กผิวดำโดยคนอื่น ยังไม่มีใครกล่าวหาเขาเลยว่าเด็กคนนี้พกระเบิดพลีชีพเข้ามาในห้องสอบ แต่เด็กผิวดำคนนี้กลับมองว่าคนอื่นต้องคิดแบบนี้อย่างแน่นอน กล่าวคือ เขาถูกกระทำโดยความคิดของเขาเอง เขาได้เหมารวมตัวเองว่าคนอื่นต้องคิดในเชิงลบต่อตัวเขาเองอย่างแน่นอน 

            อย่างไรก็ตาม สติกซ์รัด และ จอห์นสัน ก็ได้ให้คำแนะนำแก่กับบุคคลที่โดนความคิดของตัวเองเล่นงาน โดยพวกเขาแนะนำว่า ให้ลองตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพใหญ่ในชีวิต เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและเสริมสร้างความสามารถในการกำกับตัวเอง เช่น "แก่นของคุณค่าในตัวฉันคืออะไร" "อะไรที่สำคัญกับฉันจริง ๆ กันแน่" หรือ "ฉันเป็นใครกันแน่" คำถามเหล่านี้จะเป็นการเตือนสติตัวเอง และตระหนักว่าตัวเองเป็นมากกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ในตอนนี้ 

            คำแนะนำเกี่ยวกับการคิดทบทวนของสติกซ์รัด และ จอห์นสันเป็นความคิดที่น่าสนใจมาก และทำให้ผมอยากให้คำแนะนำเพื่อให้เราหลุดพ้นจากการเป็นคนประเภทที่ชอบเหมารวม เพราะเราคงทำให้ใครเปลี่ยนความคิดไม่ได้ (หรือทำได้ยาก) ดังนั้นหากเราสามารถเปลี่ยนความคิดของตัวเองได้ อย่างน้อยเราก็จะสามารถหยุดตัวเราเองจากการทำร้ายตัวเองโดยไม่เจตนาได้ เหมือนกับตัวอย่างเด็กแอฟริกันอเมริกันที่คิดว่าคนอื่นต้องมองตัวเองเป็นมือระเบิดอย่างแน่นอน

การหลุดออกจากการเป็นคนชอบเหมารวม

            หนทางที่จะหลุดออกจากการเป็นพวกชอบเหมารวมได้ เราจะต้องมองเห็นภาพใหญ่ให้มากที่สุด ในวันที่ยาน Voyager 1 กำลังจะเดินทางออกนอกระบบสุริยะ คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกคนหนึ่ง ได้ขอให้ทีมงานช่วยหันกล้องของยานกลับมายังโลกในขณะที่ยานกำลังจะเดินทางเลยจากโลกไปไกลแสนไกล  ภาพที่ได้มาเป็นภาพ "จุดเล็ก ๆ" เท่านั้น ซึ่งภาพดังกล่าวมันทำให้เราตระหนักว่าความจริงแล้วเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กจิ๋วในจักรวาลนี้ 

            เซแกน กล่าวว่า "โลกของเรา เป็นดั่งเวทีเล็ก ๆ ท่ามกลางโรงละครแห่งจัการวาลอันกว้างใหญ่ จินตนาการถึงเลือดเนื้อที่หลั่งไหล เชือดเฉือนโดยเหล่านายพลและจักรพรรดิ ที่หวังความรุ่งโรจน์เพียงชั่วคราวบนเศษเสี้ยวแห่งฝุ่นผง เคยมีคนพูดไว้ว่าดาราศาสตร์นั้นทำให้เรารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ผมขอเพิ่มว่ามันคือการเข้าถึงตัวตน คงไม่มีสิ่งใดที่จะแสดงความโง่เขลาของความคิดมนุษย์ไปได้มากกว่าภาพถ่ายโลกของเราจากระยะไกลนี้ มันคือความรับผิดชอบของเรา ที่จะถ้อยที ถ้อยอาศัยต่อกันและกัน"

            สิ่งนี้สอดคล้องกับปรากฎการณ์ภาพรวม (Overview Effect) ที่อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ได้เล่าไว้ในหนังสือ Think Again โดยเขาเล่าถึง เจฟฟ์ แอชบี ผู้บัญชาการกระสวยอวกาศที่หวนนึกถึงครั้งแรกที่มองย้อนกลับมายังโลกขณะอยู่ในอวกาศ ประสบการณ์นั้นเปลี่ยนแปลงเขาไปตลอดกาล เจฟฟ์ แอชบี เล่าว่า "เมื่ออยู่บนโลก นักบินอวกาศจะแหงนมองดวงดาว เพราะพวกเราส่วนใหญ่เป็นพวกคลั่งไคล้ดวงดาว พอมาอยู่ในอวกาศ ดวงดาวทั้งหลายก็ยังมีหน้าตาเหมือนตอนมองจากโลก"

            "แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมากก็คือโลกหรือมุมมองที่โลกมอบให้กับคุณ แวบแรกที่ผมมองเห็นโลกจากอวกาศคือหลังขึ้นเที่ยวบินแรกไปแล้วประมาณ 15 นาที เมื่อผมเงยหน้าขึ้นจากรายการตรวจสอบแล้วมองผ่านหน้าต่างออกไป ผมก็พบว่าเราอยู่เหนือส่วนที่สว่างไสวของโลกแล้ว เบื้องล่างของผมคือทวีปแอฟริกา และมันกำลังเคลื่อนผ่านเราไป แบบเดียวกับที่เมืองเมืองหนึ่งเคลื่อนผ่านเราเวลาที่มองลงมาจากเครื่องบิน"

            "เมื่อวนรอบโลกเป็นเวลา 90 นาที คุณจะมองเห็นส่วนโค้งสีฟ้าบาง ๆ ของชั้นบรรยากาศ พอได้เห็นว่ามนุษยชาติทั้งหมดดำรงชีวตอยู่ภายในชั้นบรรยากาศที่เปราะบางแค่ไหน คุณก็จะมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างใครสักคนจากฟากหนึ่งของโลกกับใครสักคนในอีกฟากหนึ่งของโลกได้อย่างง่ายดาย มันไม่มีเขตแดนให้เห็นอย่างชัดเจนเลย จึงดูเหมือนว่าเราทุกคนดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันภายในชั้นบรรยากาศเดียวกันนี้"

            เมื่อเราได้เห็นภาพรวมของโลกจากอวกาศ เราจะตระหนักว่าตัวเองมีอัตลักษณ์เหมือนกับมนุษย์ทุกคน และผมก็อยากทำให้ปรากฎการณ์ภาพรวมเกิดขึ้นกับเราทุกคน ซึ่งข้อคิดดังกล่าวไม่ได้แตกต่างกับสิ่งที่ วิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud)  และ เน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) ผู้เขียน The Self-Driven Child ได้แนะนำให้เรามองภาพใหญ่เกี่ยวกับตัวเอง เช่น "แก่นขอบคุณค่าในตัวฉันคืออะไร" หรือ "อะไรที่สำคัญกับฉันจริง ๆ กันแน่" เพียงแต่แค่เปลี่ยนแปลงเป็น "ฉันเป็นมนุษย์เหมือนกับทุกคน เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีใจกลางเหมือนกัน เพียงแค่บุคลิกภาพแตกต่างกันเท่านั้นเอง" 

            ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะไปเหมารวมคนอื่นว่าเขาแตกต่าง เขาเป็นใคร เขามีความคิดทางการเมืองที่เลวร้ายอย่างมาก เพราะเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีผิด มีพลาด และสักวันหนึ่งเราก็จะต้องจากโลกนี้ไป ยิ่งไปกว่านั้น ในเมื่อเราเป็นมนุษย์เหมือนกันเราจะอาฆาตพยาบาทผู้คนที่คิดแตกต่างกับเราไปเพื่ออะไร คำถามเหล่านี้จะช่วยเปิดมุมมองความคิดของเราให้กว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตามการต่อสู้กับอคติ หรือการเหมารวมก็ยังคงดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ 

แต่การที่เราพยายามต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง มุมมองที่ถูกต้อง มันก็ทำให้เรากลายเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้นแล้ว

อ้างอิง

Aronson, J. (2004). The Threat of Stereotype. Educational leadership: journal of the Department of Supervision and Curriculum Development, N.E.A. 62(3): 14-19.

Grant, A. (2021). Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know. NY: Viking.

Stixrud, W., & Johnson, N. (2018). The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives. NY: Viking.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ทำไมเราถึงต้อง ถ่อมตน (Humility). https://sircr.blogspot.com/2021/04/humility.html.

ความคิดเห็น