เราควรสอนให้เด็กใฝ่รู้และเข้าใจโลกใบนี้มากขึ้น

ไม่มีใครคนใดในโลกนี้ที่จะเข้าใจทุกอย่างถูกต้องไปเสียหมด 

            แวดวงการศึกษาในปัจจุบันให้ความสำคัญกับทักษะในศตวรรษที่ 21 อย่างมาก เป็นทักษะประเภท Soft Skills ซึ่งเป็นทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะ ที่เป็นลักษณะอุปนิสัย ที่ช่วยให้เราทำงานและสื่อสารกับผู้อื่น ได้ดีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม ทักษะชีวิต ทักษะการแก้ไขปัญหา และ การรู้เท่าทันสื่อ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ทักษะที่จะฝึกฝนได้โดยตรง แต่เป็นทักษะที่จะต้องหล่อหลอมจากประสบการณ์ของตัวบุคคล

            หากถามผมว่าทักษะไหนสำคัญมากที่สุด ผมคงเลือก "นิสัยการใฝ่เรียนรู้" เนื่องจากในปัจจุบันมีข้อมูล และบทเรียนมหาศาล ทั้งที่ถูกต้องและที่ผิดพลาด การใฝ่รู้จะพาเราท่องไปบนโลกแห่งความรู้ และทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความสำคัญกับทั้งตัวเราเองและสังคม โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับโลกใบนี้ โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางสิ่งเลวร้ายที่กำลังทำให้โลกก้าวไปข้างหน้าช้าลงอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

            ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโลกใบนี้จะช่วยเปิดมุมมองของเราให้กว้างมากขึ้น และยังทำให้เรามองโลกในมุมมองเชิงบวกมากขึ้นอีกด้วย แม้ชีวิตของเราจะไม่ได้ผาสุข มีทุกข์ มีเศร้า มีเสียใจ มีผิดหวังก็ตาม แต่ความจริงก็คือความจริง เมื่อเราเรียนรู้เกี่ยวกับโลกใบนี้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความก้าวหน้า ความยากจน มันจะช่วยให้เราถ่อมตัวมากขึ้น คิดว่าตัวเองสำคัญน้อยลง ทำให้ตัวเราเบาลง ซึ่งจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้าด้วยใจที่สบายมากยิ่งขึ้น

เราควรสอนให้เด็กเป็นคนที่ใฝ่เรียนรู้

            อย่างที่ผมได้กล่าวเอาไว้ว่า "การใฝ่รู้จะพาเราท่องไปบนโลกแห่งความรู้ และทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความสำคัญกับทั้งตัวเราเองและสังคม" บนโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาล และเป็นข้อมูลที่สำคัญ มีแต่คนที่ใฝ่รู้เท่านั้นที่จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักเรียน อาจารย์ หรือนักวิชาการเท่านั้นที่จะต้องศึกษาใฝ่รู้ แต่ทุกอาชีพก็ล้วนมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนสิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตนเองให้ก้าวทันโลกใบนี้อยู่เสมอ

            หลายคนอาจจะคิดว่าทำไมทุกอาชีพถึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้มากมายด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีวิตโดยตรง แต่จริง ๆ แล้วการเรียนรู้จะสะสมเป็นประสบการณ์ทางอ้อม เป็นการขยายมุมมองต่อโลกใบนี้ให้กว้างมากขึ้น อีกทั้งข้อมูลต่าง ๆ ที่เราเรียนรู้จะเชื่อมโยงและผูกกัน ยกตัวอย่างเช่น การเข้าใจมนุษย์อย่างลึกซึ้งจำเป็นที่จะต้องศึกษาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ชีววิทยา จิตวิทยา และศาสตร์อื่น ๆ ที่ดูแล้วอาจไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันเสียด้วยซ้ำ

การใฝ่รู้จะพาเราท่องไปบนโลกแห่งความรู้และข้อมูลที่มีความสำคัญกับทั้งตัวเราเองและสังคม

            ฮานส์ รอสลิง (Hans Rosling) แพทย์ นักวิชาการ ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพผู้ทรงอิทธิพลอันดับต้น ๆ ของโลก กล่าวว่า ความใฝ่รู้ หมายถึงการเปิดรับข้อมูลใหม่และอยากค้นหาข้อมูลใหม่เสมอ ความใฝ่รู้คือการยอมรับข้อเท็จจริงที่ไม่เข้ากับมุมมองของตนเองและพยายามทำความเข้าใจความหมายของข้อเท็จจริงนั้น รอสลิงมองว่าการยอมรับข้อเท็จจริงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต และควรจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีใครคนใดในโลกนี้ที่จะเข้าใจทุกอย่างถูกต้องไปเสียหมด 

เราต่างก็มีความเข้าใจที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อนกันได้ทั้งนั้น

            การยอมให้ข้อผิดพลาดกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้แทนที่จะเป็นความอับอาย "ทำไมฉันถึงได้เข้าใจผิดเรื่องนี้ได้ขนาดนั้น แล้วฉันได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดนี้ ผู้คนไม่ได้โง่ ดังนั้นทำไมพวกเขาถึงใช้วิธีแก้ปัญหาแบบนี้" การเป็นผู้ใฝ่รู้นั้นน่าตื่นเต้นเพราะมันทำให้เราได้ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจอยู่เสมอ แม้ว่าหลายครั้งเราจะพบเจอกับความรู้ที่น่าเบื่อ ข้อมูลที่ไร้สาระ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนเป็นประสบการณ์ เป็นบทเรียนที่มีค่า เหมือนกับการที่เรารู้จักตัวเองมากขึ้นจากการที่ได้รู้ว่าตัวเองไม่ชอบอะไรบ้าง

            ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงควรสอนเด็กให้เป็นคนที่ใฝ่เรียนรู้ เพราะโลกนี้เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และปัญหาของผู้ใหญ่ที่ไม่รู้นั้นแก้ไม่ได้ด้วยการสอนคนรุ่นต่อไปในโรงเรียน เรื่องของโลกที่เรียนในโรงเรียนจะล้าสมัยมากใน 10 หรือ 20 ปีหลังจากที่เขาศึกษาจบไปแล้ว ดังนั้นเราจึงควรสอนเด็กให้มีกรอบความคิดที่ทันสมัยและอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง รู้จักโลกนี้มากขึ้น และฝึกฝนเด็ก ๆ ให้ใช้หลักทั่วไปของการรู้ข้อเท็จจริง สิ่งนี้จะทำให้พวกเขารับรู้ข่าวจากทั่วโลกโดยพิจารณาบริบทร่วมและตระหนักรู้ได้เมื่อสื่อนำเสนอข่าวที่เกินจริงเพื่อกระตุ้นสัญชาตญาณมนุษย์ภายในตัวเราให้ทำงานตามที่พวกเขาต้องการ

เราควรสอนเด็กให้เข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโลกใบนี้มากขึ้น

            ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องฝึกฝนทักษะต่าง ๆ แยกออกจากกัน เช่น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม ทักษะชีวิต ทักษะการแก้ไขปัญหา และ การรู้เท่าทันสื่อ เพราะเราสามารถศึกษาข้อเท็จจริงให้กว้างและลึกมากที่สุด ซึ่งจะทำให้เราสามารถตัดสินใจ เข้าใจ และแก้ไขปัญหาได้เฉียบคมมากขึ้น อีกทั้งการถ่ายทอดข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้เด็กเรียนรู้ ยังเป็นการช่วยป้องกันคนรุ่นต่อไปจากความไม่รู้อีกด้วย

            ในหนังสือ Factfulness: Ten Reasons We're Wrong About the World and Why Things Are Better Than You Think ผู้เขียน ฮานส์ รอสลิง (Hans Rosling) มีความคิดเห็นว่าเราควรสอนข้อเท็จจริงสำคัญเกี่ยวกับโลกใบนี้เพื่อช่วยให้ลูกหลานของเราเข้าใจโลกนี้มากขึ้น ซึ่งเขามีความเห็นว่ามนุษย์มีประสบการณ์ที่จะคล้อยตามสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น ข่าวสาร และการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งจะทำให้เราเป็นทุกข์ และดำเนินชีวิตในทิศทางที่ผิดพลาด รอสลิง จึงได้นำเสนอข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

            1) เราควรสอนลูกหลานของเราว่า ประเทศในโลกแบ่งได้เป็นระดับสุขภาพ และระดับรายได้ต่าง ๆ (ไม่ได้แบ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนาอีกต่อไปแล้ว) และส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลาง

            2) เราควรสอนพวกเขาถึงตำแหน่งทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เทียบกับประเทศอื่นในโลก และสอนว่าสิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงในทิศทางไหน

            3) เราควรสอนพวกเขาให้รู้ว่าประเทศของเขาเลื่อนระดับรายได้มาถึงจุดที่เป็นอยู่วันนี้ได้อย่างไร และจะใช้ความรู้นั้นอย่างไรเพื่อเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศอื่น ๆ 

            4) เราควรสอนพวกเขาว่าผู้คนกำลังเลื่อนระดับรายได้ขึ้นมา และสิ่งต่าง ๆ กำลังพัฒนาขึ้นเพื่อพวกเขา

            5) เราควรสอนพวกเขาว่าชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตเป็นอย่างไร เพื่อพวกเขาจะได้ไม่หลงผิดคิดว่าไม่ได้เกิดความก้าวหน้าในประเทศหรือในโลกแต่อย่างใด

            6) เราควรสอนพวกเขาว่าทำอย่างไรให้มีความคิดสองด้านพร้อมกันว่าสิ่งที่ไม่ดีเกิดอยู่ในโลกใบนี้ แต่หลาย ๆ สิ่งกำลังดีขึ้น 

            7) เราควรสอนพวกเขาว่าการเหมารวมทางวัฒนธรรมและศาสนานั้นไม่มีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจโลก และผู้อื่นเลย

            8) เราควรสอนพวกเขาว่าควรบริโภคข่าวสารอย่างไร และจะรับรู้เรื่องเกินจริงโดยไม่รู้สึกเครียดหรือสิ้นหวังได้อย่างไร

            9) เราควรสอนพวกเขาว่าวิธีง่าย ๆ อะไรบ้างที่ผู้คนอาจใช้ตัวเลขมาหลอกลวงพวกเขา

            10) เราควรสอนพวกเขาว่าโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอและพวกเขาจะต้องพัฒนาความรู้และมุมมองต่อโลกให้ทันสมัยไปตลอดชีวิต

            รอสลิง ยังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า "ที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด เราควรสอนลูกหลานของเราเรื่องความถ่อมตนและความใฝ่รู้" เพราะสำหรับรอสลิงแล้ว ความถ่อมตน หมายถึง การตระหนักรู้ว่าสัญชาตญาณของเราทำให้การรู้ข้อเท็จริงนั้นยากลำบากเพียงใด ความถ่อมตนคือการยอมรับในความรู้ที่ตนเองมี และยินดีจะกล่าวว่า "ไม่รู้" และเมื่อมีความคิดเห็นอย่างหนึ่งอยู่แล้วก็พร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนแปลงความคิด หากได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงใหม่

            ไม่เพียงแค่นั้น การเป็นผู้ถ่อมตนทำให้เราผ่อนคลาย ทำให้เราไม่ต้องรู้สึกกดดันว่าจะต้องมีความคิดเห็นกับทุกอย่าง ไม่ต้องรู้สึกว่าต้องเตรียมตัวปกป้องความคิดเห็นของตนเองตลอดเวลา ชีวิตที่ต้องวิ่งหาความถูกต้องตลอดเวลาเป็นชีวิตที่เหนื่อยล้าและเต็มไปด้วยความทุกข์ แม้เราจะปฏิเสธว่าไม่รู้สึกทุกข์แต่ไม่มีใครหนีพ้นได้ ความทุกข์จะตามมาในรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่ใช่หยาดน้ำตาเสมอไป ดังนั้นการสอนให้เด็กใฝ่รู้ และเข้าใจข้อเท็จจริงของโลกใบนี้อย่างถ่อมตัวจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อความหลงผิด 

และความไม่รู้ที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ได้อย่างดีเยี่ยม

อ้างอิง

Rosling, H., Rönnlund, A., & Rosling, O. (2018). Factfulness: Ten Reasons We're Wrong About the World--and Why Things Are Better Than You Think. NY: Flatiron Books.

ความคิดเห็น