อิทธิพลทางลบของการบ้าน และการเรียนที่เครียดมากจนเกินไป

"ความเบื่อหน่ายไร้จุดจบซึ่งมีความประหวั่นพรั่นพรึงทิ่มแทงเป็นระยะ"

            ในช่วงระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้นักเรียนและนักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ ส่งผลให้เกิดปัญหาจำนวนมากขึ้นมา หนึ่งในนั้นก็คือการบ้านที่มากจนเกินไป ซึ่งเรามักจะพบเห็นกันอย่างแพร่หลายบนโลกออนไลน์ ผู้ใหญ่หลายคนแทบไม่เป็นอันทำงานเพราะมัวแต่ช่วยลูกสำหรับการเรียนและการบ้าน ไม่เพียงแค่ในสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้นที่เราพบเห็นการบ้านจำนวนมหาศาล แต่โดยทั่วไปแล้วหัวข้อเรื่องจำนวนการบ้านก็เป็นเรื่องให้วิพากษ์วิจารณ์กันมากจนเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

            นอกจากการบ้านจำนวนมากแล้ว การเรียนหนักยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้นอกจากการเรียนเป็นจำนวนหลายชั่วโมงและเรียนหลายวิชาติดต่อกันแล้ว นักเรียนหลายคนยังต้องไปเรียนพิเศษนอกเหนือจากเวลาเรียน เพื่อที่จะแข่งขันกับคนอื่น ๆ หรือเตรียมตัวเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการให้ได้ แม้ว่าเด็กบางคนจะมีผลการเรียนที่ดีแค่ไหนก็ตาม แต่ก็เข้าสู่วัฒนธรรมแห่งการเรียนหนักอยู่ดี

            ทั้งจำนวนการบ้าน และการเรียนที่มากจนเกินไป ทำให้นักเรียนหลายคนเผชิญกับปัญหาความเครียด ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก และส่งผลทำให้ความคิดเลอะเลือน ความจำไม่ดี เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ยาก ตัดสินใจได้ไม่ดี อีกทั้งยังทำให้เกิดความวิตกกังวล โกรธ โมโหง่าย ไม่มั่นคงทางอารมณ์ เบื่อซึม ท้อแท้ และยังทำให้เกิดปัญหาโรคภายไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ บทความนี้ผมจึงอยากนำเสนออิทธิพลทางลบของการบ้าน และการเรียนที่เครียดมากจนเกินไป ว่ามีผลร้ายต่อลูกหลานและนักเรียนของเรามากแค่ไหน

ความเครียดและแรงกดดันจากการเรียน

            ทุกวันนี้เราค้นพบว่าความเครียดเบา ๆ เป็นแรงกระตุ้นที่ดี เพราะมนุษย์เราต้องการแรงกระตุ้นในระดับหนึ่งจากความสงสงสัย ความตื่นเต้น หรือความเครียดสักเล็กน้อย เพื่อไปถึงระดับที่ความคิดเฉียบแหลมที่สุด แต่ความเครียดที่มากจนเกินไปก็ส่งผลต่อกระบวนการคิด อารมณ์ และร่างกายอย่างมาก ยิ่งเรามีความเครียดมากขึ้น เราก็จะสูญเสียสมาธิ สมองจะไร้ประสิทธิภาพ 

            นักเรียนแต่ละคนมีแรงจูงใจภายในที่แตกต่างกัน บางคนอาจเรียนรู้และทำได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีความท้าทายสูงแต่มีภัยคุกคามต่ำ กล่าวคือได้รับบทเรียนที่ยากในสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเรียนรู้ซึ่งพวกเขาสามารถสำรวจแง่มุมต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย ทำผิดพลาดได้ และใช้เวลาได้เท่าที่ต้องกาารในการเรียนรู้และรังสรรค์ผลงาน เมื่อนักเรียนผิดพลาดได้ก็จะยินดีรับความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างแท้จริง สร้างสมองที่ทำงานเต็มศักยภาพและเป็นสุข

            แต่ความจริงแล้วเด็กจำนวนมากไม่ได้เรียนรู้ในสภาพแวดล้อมดังกล่าว หากแต่เรียนรู้ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษต่อสมอง แต่ละวันอัดแน่นด้วยความเครียดและความเหนื่อยล้า พ่วงด้วยความเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง ในหนังสือ The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives ผู้เขียน วิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) และ เน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) ได้เปรียบเปรยการเรียนกับสงคราม โดยพวกเขากล่าวว่า "ความเบื่อหน่ายไร้จุดจบซึ่งมีความประหวั่นพรั่นพรึงทิ่มแทงเป็นระยะ" ด้วยเหตุนี้นักเรียนหลายคนจึงเรียนรู้ได้ไม่ดีและป่วยด้วยความเครียด

ทุกวันนี้ผู้เรียนจำนวนมากเรียนรู้ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษต่อสมอง

            ระดับความเครียดที่สูงเกินไปจะส่งผลให้คอร์แทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้ารวน ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน การรับรู้ที่ซับซ้อน บุคลิก การตัดสินใจ และการควบคุมพฤติกรรม สมองส่วนนี้ต้องการโดพามีนและนอร์เอฟิเนฟรินในปริมาณสมดุลเพื่อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หากคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าทำงานได้ไม่เต็มกำลัง ผู้เรียนจะสูญเสียความสามารถในการคงสมาธิและจดจ่อ 

            ไม่เพียงแค่นั้นคอร์แทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้ายังเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น "สมองส่วนบริหาร (Executive functions : EF)" เป็นความสามารถของสมองที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งมีทักษะบริหารจัดการหลักสามประการได้แก่ การยับยั้งชั่งใจ ความจำใช้งาน และความยืดหยุ่นทางความคิด ดังนั้นการที่ผู้เรียนเครียดจากการทำการบ้านหรือการเรียนมากจนเกินไป ก็จะส่งผลให้ทักษะบริหารทั้งสามประการด้วยประสิทธิภาพลง

            ในบรรดาทักษะบริหารจัดการทั้งหมด ความจำใช้งานเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ เพราะเป็นทักษะที่ทำให้มนุษย์สามารถคงข้อมูลไว้ในความคิดได้ระหว่างการจัดการบางสิ่งบางอย่าง ความจำใช้งานจะมอบอำนาจให้เราเป็นผู้ปะติดปะต่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคต สร้างการเชื่อมโยง และเป็นกุญแจสู่ความคิดสร้างสรรค์ เพราะโดยปกติเรามักจะพึ่งพาสัญชาตญาณ มากกว่ากระบวนการคิดอย่างมีสติ ดังนั้นการคิดระหว่างทำอะไรสักอาจสามารถฉีกแนวออกไปนอกกรอบได้

            ในหนังสือ The Self-Driven Child สติกซ์รัด และ จอห์นสัน ยังกล่าวอีกว่าผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ความจำใช้งานคือการเรียนรู้ที่จะมาแทนที่ไอคิว (IQ) ในที่สุด เนื่องจากความจำใช้งาน (การเรียรู้) สามารถพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและการประสบความสำเร็จในชีวิตได้ดีกว่าไอคิว เมื่อผู้เรียนเครียดและมีความจำใช้งานไม่สมบูรณ์ จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้เรียนที่จะผนวกข้อมูล จับใจความ และจดจำบทบรรยายยืดยาว 

            สมองส่วนนี้จึงเหมือนหน่วยความจำรองหรือแรมในคอมพิวเตอร์ที่ทำให้โปรแกรมต่าง ๆ ทำงานได้ ซึ่งการมีความเครียดก็จะส่งผลให้เกิดภาระทางปัญญา (Cognitive Load) ขนาดใหญ่จากการมีเรื่องคิดจำนวนมากเกินไป ก็ไม่ต่างอะไรกับการเปิดเว็บบราวเซอร์หลายหน้าต่าง และใช้โปรแกรมหลายตัวพร้อมกัน เมื่อถึงจุดหนึ่งคอมพิวเตอร์จะทำงานช้าลงหรือค้าง ในทางเดียวกันหากเครียดมากไปสมองก็สามารถเป็นเช่นนั้นได้เหมือนกัน

            เมื่อผู้เรียนเครียดและอ่อนล้า พวกเขาจะลงแรงมากแต่ได้รับผลตอบแทนน้อยลง การบ้านมักสร้างความตึงเครียดระหว่างลูก ๆ กับพ่อแม่ สร้างความร้าวฉานในความสัมพันธ์และบ่อนทำลายความรู้สึกถึงอิสระในตนเองของเด็ก อีกทั้งยังทำให้วิถีทางและเป้าหมายไม่สอดคล้องกัน บ่อยครั้งจะเห็นผู้เรียนที่สอบได้คะแนนดีและเข้าใจบทเรียนทะลุปรุโปร่งทว่ามีเกรดเฉลี่ยสะสม 3 หรือ 2.5 เพราะไม่ส่งการบ้าน ซึ่งในประเทศไทยเรามักพบว่าการไม่ส่งการบ้านเพียงหนึ่งชิ้นอาจหมายถึงไม่มีสิทธิ์สอบเลยด้วยซ้ำ

สร้างแรงจูงใจแทนการบังคับทำการบ้าน

            นักเรียนในฟินแลนด์ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาที่สุดในโลก มีปริมาณการบ้านน้อยมาก นักเรียนในประเทศฟินแลนด์ใช้เวลาในการทำการบ้านแทบไม่เกินครึ่งชั่วโมงต่อวัน ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) โฆษกคนสำคัญแห่งวงการศึกษาฟินแลนด์กล่าวว่า "นักเรียนระดับประถมศึกษาลงมาจำนวนมากทำการบ้านเสร็จก่อนกลับบ้าน และนักเรียนอายุ 15 ปี ในฟินแลนด์ไม่ใช้บริการติวเตอร์หรือเรียนพิเศษนอกโรงเรียน"

            ซอห์ลเบิกร์กชี้ว่า ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้สมรรถนะของนักเรียนฟินแลนด์น่าทึ่ง เพราะนักเรียนในเอเชียจำนวนมากซึ่งมีศักยภาพใกล้เคียงกันในทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต้องเรียนพิเศษหรือลงทะเบียนเรียนเพิ่มเติม ทั้ง วิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) และ เน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) ผู้เขียน The Self-Driven Child ปรารถนาให้นักเรียนทุกคนทุ่มเทเวลาให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองจริง ๆ มากกว่าจะใช้เวลาไปกับการทำการบ้านจนแทบไม่รู้จักตัวเองเลย

            สติกซ์รัด และ จอห์นสัน มีคติประจำใจว่า "สร้างแรงบันดาลใจโดยไม่บังคับ" พวกเขาอยากให้ครูจุดประกายการเรียนรู้นอกห้องเรียนของเด็ก งานวิจัยหลายชิ้นเผยว่าเมื่อเด็กเลือกหัวข้อที่เรียนได้ แนวโน้มที่พวกเขาจะตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายและทำจนสำเร็จจะสูงขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่น่าดึงดูดใจสำหรับการมอบหมายการบ้านแบบสัมครใจทำและไม่มีคะแนน พวกเขาเชื่อในการแนะนำการบ้านให้ผู้เรียนและจูงใจให้พวกเขาทำ หรือเพิ่มทางเลือกอื่นที่ส่งเสริมความเข้าใจในบทเรียนโดยไม่บังคับหรือคำนวณเป็นคะแนน

            เมื่อมอบหมายการบ้านครูควรขี้แจงว่าผู้เรียนจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้างจากการทำการบ้านพร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เรียน แนวทางนี้แตกต่างจากการสั่งว่า "อ่านหนังสือหน้า 10-20 จากนั้นทำแบบฝึกหัด 10 ข้อ" แต่ควรจะแนะนำว่า "หลังกลับจากโรงเรียน ถ้าผู้เรียนทำแบบฝึกหัด 10 ข้อนี้ราว 20 นาที สมองจะสร้างความเชื่อมโยงใหม่ระหว่างนอนหลับคืนนี้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจเนื้อหาที่เรียนรู้ในวันนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น แต่ถ้าเหนื่อยหรือเครียดเกินไปก็ควรไปทำอย่างอื่น เพื่อให้สดชื่นขึ้นแล้วค่อยกลับมาทำก็ได้"

            อย่างไรก็ตาม การบ้านก็มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะมันเป็นการทำให้ผู้เรียนได้ทบทวนเนื้อหาที่เรียนอีกทีหนึ่ง เพียงแต่การให้การบ้านที่เยอะเกินไป หรือยากเกินไป จะทำให้เพิ่มภาระทางปัญญากับผู้เรียน ทำให้เกิดความเครียดที่ส่งผลเสียต่อความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม อีกทั้งหากทุกวิชาสั่งการบ้านพร้อมกันยิ่งจะทำให้ผู้เรียนสูญเสียเวลาในการทำกิจกรรมอย่างอื่นที่จะทำให้พวกเขามีความสุข และเป็นการทำความรู้จักกับตัวเองมากยิ่งขึ้น ต่อให้กิจกรรมนั้นอาจจะเป็นการเล่นเกมก็ตาม

            สตีเฟน ฟราย (Stephen Fry) ผู้เขียน Mythos ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานเทพกรีก ได้กล่าวเกี่ยวกับชาวกรีกโบราณเอาไว้ว่า "พวกเขาดูฉลาด ลึกซึ้ง และมีชีวิตชีวา เข้าใจธรรมชาติที่แตกต่างในตนเอง" สิ่งนี้ไม่แปลกเลยเพราะแม้แต่ห้องโถงหน้าวิหารเทพอะพอลโลที่เดลฟียังมีข้อความถูกสลักว่า "จงรู้จักตัวเอง" แม้แต่สถาปัตยกรรมโบราณยังให้ความสำคัญกับตัวเอง ไม่เพียงแค่นั้นปรัชญาของศาสนาพุทธก็ให้ความสำคัญกับการเข้าใจตัวเองเช่นเดียวกัน แล้วเพราะเหตุใดพวกเรากลับให้ความสำคัญกับอนาคตว่าจะต้องได้เกรด 4 ทำงานดี ๆ ประสบความสำเร็จ

มากเสียกว่าการเข้าใจว่าลึก ๆ แล้วตัวเราเองปรารถนาอะไรกันแน่

อ้างอิง

Fry, S. (2017). Mythos: The Greek Myths Retold. London: Michael Joseph.

Sahlberg, P. (2011). Finnish lessons: What can the world learn from educational change in Finland? New York, NY: Teachers College Press.

Stixrud, W., & Johnson, N. (2018). The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives. NY: Viking.

คาลอส บุญสุภา. (2564). มารู้จักกับ ความเครียด (Stress). https://sircr.blogspot.com/2021/04/blog-post_16.html

ความคิดเห็น