ข้อคิดที่ได้จากนิทาน ชาวนาจีน ผู้ยอมรับกับโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอน

"เราจะต้องทำให้ตัวให้เป็น อนัตตา ไม่แบกรับความทุกข์ของความเปลี่ยนแปลงเข้ามาให้ช้ำใจ"

            อารยธรรมจีน เป็นอารยธรรมที่มีการบันทึกเรื่องราวไว้จำนวนมากตลอดประวัติศาสตร์ เป็นอารยธรรมที่มีขึ้นมีลง และน่าสนใจ ทำให้อารยธรรมจีนได้ฝากความรู้มากมายทางประวัติศาสตร์ รวมไปถึงนิทานสอนใจจำนวนมาก เช่นเดียวกับนิทานชาวนาจีนที่ผมหยิบยกขึ้นมาเขียนในบทความนี้ ผมอ่านเจอในหนังสือ The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives เขียนโดย วิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) และ เน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson)

            สติกซ์รัดและจอห์นสัน เรียกนิทานชาวนาจีนเรื่องนี้ว่า "ชาวนาผู้เฉลี่ยวฉลาด" แต่ชาวนาคนนี้จะฉลาดจริงหรือไม่ ผมจะวิเคราะห์ในช่วงท้าย เพราะนิทานชาวนาเรื่องนี้นอกจากจะสอนใจเรื่องการยอมรับความเป็นจริงแล้ว ยังสอนเกี่ยวกับเรื่องสัจธรรมข้อสำคัญ นั่นคือ "โลกนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน" ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตรงกับหลักธรรมของศาสนาพุทธ "ไตรลักษณ์" เป็นกฎสำคัญแห่งธรรมชาติ ซึ่งผมจะอธิบายหลักธรรมนี้ในช่วงท้ายเช่นเดียวกัน

นิทานชาวนาจีน ผู้ยอมรับกับโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอน

            มีชาวนาคนหนึ่งเป็นผู้ที่ยากจนมาก เขามีลูกชายเพียงคนเดียว และมีม้าสำหรับไถนาเพียงตัวเดียวเท่านั้น วันหนึ่งม้าตัวนั้นได้หนีไป เพื่อนบ้านของเขามาหาแล้วพูดว่า "น่าสงสารเสียจริง เจ้าจนอยู่แล้ว ม้ายังมาหายไปอีก" ชาวนาตอบว่า "อาจจะใช่หรืออาจจะไม่ ยากจะบอก" 

            สัปดาห์ถัดมาชาวนากับลูกชายออกไปลากคันไถอย่างทุลักทุเล ซึ่งงานในไร่นาน่าเบื่อเหลือแสน เป็นงานที่ต้องใช้เวลานานและยากลำบาก ทว่าราวหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น ม้าตัวเดิมก็กลับมาพร้อมกับม้าป่าอีกสองตัว ดูเหมือนมันจะเจอฝูงม้าเข้า และม้าสองตัวนี้ก็ตามกลับมา เพื่อนบ้านจึงพูดว่า "โชคดีอะไรเช่นนี้ ตอนนี้เจ้าก็มีม้าไว้ไถนาถึงสามตัวแล้วสิ" ชาวนาตอบว่า "อาจจะใช่หรืออาจจะไม่ ยากจะบอก" 

            ต่อมาลูกชายของชาวนาพยายามฝึกม้าป่าให้เชื่อง จึงถูกเหวี่ยงตกลงจากหลังม้าจนขาหักบิดเบี้ยวน่ากลัว "น่าสงสารเสียจริง" เพื่อนบ้านกล่าวกับชาวนาระหว่างที่ลูกของเขาพักรักษาตัว ชาวนาจึงตอบว่า "อาจจะใช่หรืออาจจะไม่ ยากจะบอก" 

            หลังจากนั้นไม่นาน ระหว่างที่ลูกชาวยังนอนซม ก็มีราชโองการจากจักรพรรดิว่าจะบุกโจมตีดินแดนมองโกล จึงขอทุกครอบครัวต้องส่งลูกชายไปรบ ลูกชาวนาเดินไม่ได้ จึงไปรบไม่ได้ เขาจึงรอดชีวิตจากการต้องไปรบ กลายเป็นเพียงคนเดียวในหมู่บ้านที่ไม่โดนเกณฑ์มหาร ชาวบ้านจึงพากันมาที่บ้านชาวนาและบอกว่า "โชคดีอะไรเช่นนี้" ชาวนาจึงตอบพวกเขาไปว่า "อาจจะใช่หรืออาจจะไม่ ยากจะบอก" 

ข้อคิดที่ได้จากนิทานชาวนาจีน

            เหตุผลที่ผมชอบนิทานเรื่องนี้ เหตุผลแรกเพราะว่าเนื้อหาที่สั้นกะทัดรัด ผู้อ่านสามารถอ่านจบได้อย่างรวดเร็ว เหตุผลข้อสองก็คือ เป็นนิทานที่ดูจริงมาก ไม่มีตัวเอกที่ฉลาดหลากแหลมหรือฉลาดแกมโกงเหมือนกับศรีธนญชัย มีเพียงชาวนาคนหนึ่งที่อยู่นิ่ง ๆ แล้วก็มีสิ่งมากมายเกิดขึ้นรอบตัวเขา เหมือนกับชีวิตของพวกเราในทุกวันนี้แหละ ที่ต่างก็ทำงาน เรียนหนังสือไปเรื่อย ๆ แต่เรื่องราวทั้งดีและร้ายก็วิ่งเข้ามาหาเราสลับกันไป ไม่ต่างอะไรกับกระสุนปืน บางครั้งก็มีเรื่องดีเข้ามาติด ๆ กัน แต่บางครั้งก็มีเรื่องร้ายเข้ามาติด ๆ เช่นเดียวกัน

"อาจจะใช่หรืออาจจะไม่ ยากจะบอก"

            1) โลกนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สิ่งที่เรามั่นใจหลายครั้งมันก็พังทลายลงในฉับพลัน ผู้อ่านจะเห็นจากเรื่องราวของชาวนาที่อยู่ดี ๆ ม้าก็หายไป แล้วม้าก็กลับมา ลูกชายคนเดียวขาหัก สุดท้ายก็ดันมีราชโองการเรียกตัวไปเกณฑ์ทหาร ทุก ๆ อย่างเกิดขึ้นโดยที่ชาวนาไม่มีทางที่จะคาดการณ์ได้เลย จึงเป็นเหตุให้ชาวนามักพูดว่า "อาจจะใช่หรืออาจจะไม่ ยากจะบอก" แทบทุกครั้งที่เกิดเรื่องราวทั้งดีและไม่ดี ผมคิดว่าชาวนากำลังจะบอกว่า "ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอย่าคิดว่ามันเป็นโชคดี หรือโชคร้าย เพราะชีวิตมันเต็มไปด้วยเรื่องที่ดีและเรื่องที่ร้ายเข้ามาสลับกันไป"

            2) สัจธรรมของชีวิตประกอบด้วยไตรลักษณ์ 1) อนิจจตา คือ ความไม่เที่ยง 2) ทุกขตา ความทุกข์ 3) อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน อย่างแรกเลยเราจะเห็นได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวนาผู้ยากจน ไม่ว่าจะเป็นม้าหายไป (โชคร้าย) ม้ากลับมาสามตัว (โชคดี) ลูกชายบาดเจ็บที่ขา (โชคร้าย) ลูกไม่ต้องไปเกณฑ์ทหารเพราะบาดเจ็บ (โชคดี) กล่าวคือ โชคดี และโชคร้ายที่เกิดขึ้นซัดเข้ามาเป็นระลอก ๆ เหมือนกับคลื่นทะเลซัดเข้าหาชายฝั่ง สลับกันไปมา สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เที่ยงที่เกิดขึ้น (อนิจจตา) ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ บางครั้งสิ่งที่ดีเกิดขึ้น บางครั้งสิ่งที่เลวร้ายก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

            อย่างที่สอง ความไม่เที่ยงทำให้เราเกิดความทุกข์ (ทุกขตา) เพราะโชคดีที่เกิดขึ้น มันก็โดนความโชคร้ายเข้ามากลบ สุดท้ายไม่ว่าเรื่องดี ๆ จะเกิดขึ้นกับเราสักแค่ไหนก็ตาม เรื่องร้าย ๆ ก็จะต้องตามมาอยู่ดี ทั้งหมดนี้เต็มไปด้วยความสับสน ความผิดหวัง ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความไม่เที่ยงที่เกิดขึ้น หรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น ความสับสน ความผิดหวังทุกอย่างคือสัจธรรม คือความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ มันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตัวเราเองเพียงอย่างเดียว เราไม่ได้มีอำนาจที่จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ (อนัตตา) 

ในเมื่อเราไม่มีอำนาจจะกำหนดความเป็นจริง เราก็ไม่ควรความทุกข์เข้ามาทำร้ายตัวเราซ้ำไปอีก

            3) ชาวนาผู้นี้เป็นผู้เฉลี่ยวฉลาด ผมเห็นด้วยกับทั้ง วิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) และ เน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) ผู้เขียนหนังสือ The Self-Driven Child ที่มองว่าชาวนาผู้นี้ฉลาด เพราะว่าในความเห็นของผม ความฉลาดไม่ได้เป็นความร่ำรวย การความสามารถที่น่าประทับใจ หรือการคิดคำนวณ คิดวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ แต่เป็นการเข้าใจและยอมรับกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จากเรื่องราวของชาวนาผู้นี้ไม่ว่าจะเกิดเรื่องดีหรือร้าย เขาก็จะบอกว่า "อาจจะใช่หรืออาจจะไม่ ยากจะบอก" 

ชาวนาผู้นี้เข้าใจความเป็นจริงที่ว่า สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เฉกเช่นเดียวกับสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้าตลอดไปเช่นเดียวกัน สิ่งมีชีวิตอย่างเราจึงต้องปรับตัว หาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น แต่หากเราไม่สามารถจัดการกับปัญหานั้นได้ เราก็จะต้องยอมรับความเป็นจริงและปล่อยวาง เพราะความจริงประกอบไปด้วย อนิจจตา และทุกขตา ดังนั้นเราจะต้องทำให้ตัวให้เป็น อนัตตา ไม่แบกรับความทุกข์ของความเปลี่ยนแปลงเข้ามาให้ช้ำใจจนมากเกินไป (ทุกข์ได้บ้างไม่เป็นไร) 

            สิ่งนี้สอดคล้องกับบทภาวนาของศาสนาคริสต์ Serenity Prayer ที่มีเนื้อหาว่า "ข้าแต่พระเป็นเจ้า ขอทรงโปรดประทานความสงบแก่ลูกในการยอมรับสิ่งที่ลูกไม่อาจเปลี่ยน 

ความกล้าที่จะเปลี่ยนสิ่งที่ลูกเปลี่ยนได้ และปัญญาที่จะรู้ถึงความแตกต่าง"

อ้างอิง

Stixrud, W., & Johnson, N. (2018). The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives. NY: Viking.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ทุนทางจิตใจ หรือ ทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychological Capital). https://sircr.blogspot.com/2021/06/positive-psychological-capital.html

ความคิดเห็น