ข้อคิดที่ได้จากตำนาน ปีศาจไซเรน (Siren) เสียงร้องเพลงแห่งความตาย

ตำนานเกี่ยวกับไซเรนและอดิสเซียสสะท้อนความเป็นมนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยม

            ตำนานกรีกหลายชิ้นถูกนำมาใช้อธิบายทฤษฎีทางจิตวิทยาและพฤติกรรมของมนุษย์มากมาย ยกตัวอย่างตำนาน ออดิปุส (Oedipus) ที่ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ได้ใช้อธิบายปมในทฤษฎีของเขา ซึ่งในบทความนี้ผมได้หยิบยกตำนานที่นอกจากจะนำมาใช้อธิบายธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างดีแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นวิธีการรับมือกับปัญหาในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากอีกด้วย โดยตำนานในวันนี้เป็นบทประพันธ์มหากาพย์กรีกโบราณ หนึ่งในสองเรื่องของโฮเมอร์ชื่อโอดีสซีย์ (Odyssey)

            โอดีสซีย์ เป็นเรื่องราวการผจญภัยของ โอดิสเซียส (Odysseus) หรือในชื่อภาษาละตินเรียกว่า ยูลิสซีส (Ulysses) เป็นช่วงเวลาการเดินทางกลับบ้านของเขาที่กินเวลาถึงสิบปีหลังเสร็จสิ้นสงครามเมืองทรอยที่เรารู้จักกันดีในเรื่องอคิลลีส (Achilles) เขามีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านสติปัญญา และไหวพริบที่ว่องไว ปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ โอดีสซีย์เป็นมหากาพย์ดังนั้นจะมีเรื่องราวการผจญภัยมากมาย ซึ่งผมหยิบยกเรื่องราวหนึ่งเกี่ยวกับตำนานปีศาจไซเรน (Siren) ขึ้นมา และวิเคราะห์ออกมาเป็นแง่มุมเชิงจิตวิทยาเป็นข้อคิดให้กับท่านผู้ฟังในตอนท้ายอีกที

ตำนานปีศาจไซเรนเสียงร้องเพลงแห่งความตาย

            หลังจากที่โอดิสเซียสเดินทางกลับจากสงครามกรุงทอยผ่านทางทะเลซึ่งเป็นจุดที่รู้กันดีว่าปีศาจไซเรนจะมาร้องเพลงในบริเวณนั้น ไซเรนมีเสียงอันไพเราะ มีความสามารถในการสะกดจิตให้ผู้อื่นเพื่อทำตามที่ตนต้องการ นักเดินทางที่เดินเรือผ่านมายังบริเวณใกล้เคียงที่ไซเรนอาศัยอยู่ ต่างก็หลงใหลเสียงเพลงอันไพเราะของไซเรน และตกอยู่ในภาวะไร้สติจนไม่สามารถบังคับเรือไม่ได้ ชนหินโสโครกจนจมน้ำ และถูกนำไปเป็นอาหารในท้ายที่สุด

            อดิสเซียสเกิดอยากฟังเสียงร้องเพลงของไซเรนสักครั้งหนึ่งว่ามันจะไพเราะสักแค่ไหน เนื่องจากตามเรื่องเล่าแล้วไซเรนสามารถร้องเพลงที่ไพเราะจนไม่ว่ามนุษย์หน้าไหนก็ถูกสะกดหยุดนิ่งไปทุกราย อดิสเซียสรู้ตัวดีว่าตัวเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งมีกิเลสตัณหาไม่ต่างกับมนุษย์คนอื่น ๆ ถ้าได้ยินเสียงนี้ เขาก็อาจจะถูกสสะกดจนขับเรือไปหาต้นเสียงนั้นและตายแบบผู้อื่นแน่นอน

            อดิสเซียสจึงสั่งให้ลูกเรืออุดหูด้วยขี้ผึ้งเพื่อจะได้ไม่เคลิบเคลิ้มไปกับเสียงเพลงมรณะ ซ้ำยังบอกให้ลูกเรือมัดเขาเอาไว้กับเสากระโดงเรือด้วย เพราะเขาอยากลองฟังเสียงโดยไม่เผลอใจบังคับเรือเข้าไปใกล้พวกนางขณะตกอยู่ในภาวะเร่าร้อน โดยเขาสั่งกับลูกเรือของตัวเองไม่ว่าเขาจะขอวิงวอนให้แก้เชือกอย่างไรก็ห้ามแก้ให้โดยเด็ดขาด

            ทุกอย่างเป็นไปตามคาด เสียงร้องเพลงของไซเรนดึงดูดให้อดิสเซียสเกิดภาวะเร่าร้อนจนพยายามแก้เชือก และออกคำสั่งให้ลูกเรือแกะเชือกให้กับตนเอง จนกระทั่งเมื่อเรือได้เดินทางผ่านเส้นทางแห่งมรณะไปแล้ว อดิสเซียสที่หลุดออกจากสภาพถูกสะกดก็ได้รับการปล่อยตัว และเดินทางกลับต่อไป  

ข้อคิดที่ได้จากตำนานปีศาจไซเรน

            ตำนานเกี่ยวกับไซเรนและอดิสเซียสสะท้อนความเป็นมนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะโดยปกติเรามักจะคุ้นเคยกับตัวเอกในวรรณกรรมที่ฉลาดหลากแหลมและเต็มไปด้วยคุณธรรม แต่อดิสเซียสมีในสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกัน นั่นคือ "กิเลศ" และเขาเลือกที่จะแสดงมันออกมาอย่างชาญฉลาดโดยรับมือกับสถานการณ์รอบตัวได้อย่างยอดเยี่ยม เหมือนกับที่ ซุนวู (Sun Tzu) เคยกล่าวไว้ว่า "หากรู้เขารู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด ถ้าไม่รู้เขา แต่รู้เพียงตัวเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธนั้นแล"

อดิสเซียสมีในสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกัน นั่นคือ "กิเลศ"

            1) ตระหนักถึงกิเลศในตัวเอง กิเลศคือหมายถึงอารมณ์ของมนุษย์ที่มีจำนวนมากจนนับไม่ถ้วน แต่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญที่อารมณ์โลภ โกรธ และหลง เพราะเป็นอารมณ์ที่เข้าใจได้โดยง่าย และสามารถเป็นบ่อเกิดของอารมณ์อื่นที่ซับซ้อนต่อไปได้ อดิสเซียสเข้าใจตัวเองดีว่าตนเองมีความใคร่รู้เกี่ยวกับเสียงของไซเรนว่าจะไพเราะแค่ไหน และรู้แน่นอนว่าตนเองจะต้องหลงใหลไปกับเสียงนั้นจนสุดท้ายต้องตาย หากอดิสเซียสเป็นเหมือนกับคนทั่วไปที่มุ่งหาแต่ความใคร่รู้ จนไม่ตระหนักถึงความเปราะบางของตนเอง สุดท้ายก็ต้องตายอย่างอนาถแน่นอน

            2) รู้จักประนีประนอมกับหลงใหลของตนเอง เมื่ออดิสเซียสตระหนักถึงกิเลศภายในจิตใจของตนเอง เขาจึงหาทางพยายามจัดการกับมัน ในที่นี้เขาสั่งให้ลูกเรือมัดเขาเอาไว้กับเสากระโดงเรือ กล่าวคือ เขารู้ว่าเสียงของไซเรนเป็นเสียงเพลงมรณะ แต่เขาก็มีความอยากรู้อยากเห็นว่าเสียงนั้นจะเป็นอย่างไร ไพเราะแค่ไหน เขาจึงหาวิธีแก้ไขปัญหานี้โดยการมัดตัวเองเอาไว้แทนการเอาขี้ผึ้งมาอุดหู เพื่อที่จะได้ทำตามความปรารถนาของตนเองโดยการฟังเสียงอันไพเราะที่เต็มไปด้วยมนต์สะกดได้อย่างปลอดภัย 

            ความหลงใหล แรงปรารถนา ความต้องการ คือแรงจูงใจภายในของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้น่ากลัวแต่อย่างใด มันคือธรรมชาติของมนุษย์ การที่เราพยายามบอกว่าตัวเองไม่มีแรงจูงใจ หรือความปรารถนาอะไรเลยมันคือการปฏิเสธความเป็นจริง โดยการพยายามสร้างคุณค่าอันหลวงหลอกว่าตัวเองเป็นสมุมติเทพที่ปราศจากกิเลศ เพราะแม้สิ่งที่อดิสเซียสทำอาจจะเป็นความเสี่ยงแต่ก็เพราะเขาคือมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งนี้แหละ เขาจึงทำในสิ่งที่อาจจะพาตัวเองไปสู่ความผิดพลาดได้ แต่เขาก็จะได้เรียนรู้ความผิดพลาดนั้นต่อไป ลองคิดดูว่าหากเราไม่มีความปรารถนาอะไรเลย เราก็จะไม่พาตัวเองไปสู่ความล้มเหลว ผิดพลาด อับอาย ซึ่งสุดท้ายเราจะไม่มีวันได้เรียนรู้อะไรเลย 

เราคงจะกลายเป็นโง่เง่าเต่าตุ่นที่กลวงโบ๋ไปจนวันตาย

            3) ควบคุมสิ่งเร้าเพื่อลดการตอบสนอง กลยุทธ์ของอดิสเซียสนอกจากเขาจะผูกตนเองไว้กับเสากระโดงเรือแล้ว เขายังยัดขี้ผึ้งเข้าไปในหูของลูกเรือทุกคน เพื่อควบคุมการตอบสนองของลูกเรือ พูดง่าย ๆ ลูกเรือจะต้องหลงใหลในเสียงของไซเรนอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากไม่ได้ยินเสียงทุกคนก็จะปลอดภัย กลยุทธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับปรัชญาในทั่วทุกมุมโลก นั่นก็คือ เข้าใจโลกและเข้าใจตัวเอง "ในเมื่อเสียงของไซเรนอันตรายก็อุดหูซะก็สิ้นเรื่อง" แนวทางดังกล่าวเรียกว่า "การควบคุมสิ่งเร้า" ซึ่งเป็นวิธีการที่กำลังเป็นที่พูดถึงในปัจจุบัน

            ในหนังสือ Nudge: Improving Decisions About Health, Wealth, and Happiness ผู้เขียน ริชาร์ด ธาเลอร์ (Richard Thaler) และ แคส ซันสตีน (Cass Sunstein) ได้เล่าถึงสนามบิน Schipolในเมือง Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่พบว่าสุภาพบุรุษยืนปัสสวะกระเส็นออกมานอกโถอยู่เสมอ สนามบินแห่งนี้จึงคิดวิธีการแก้ไขปัญหาโดยการติดสติ๊กเกอร์แมลงวันขนาดเล็กเอาไว้ทุกโถในสนามบิน ทำให้ลดการกระเส็นถึง 80% ส่งผลให้สนามบิน Schipol สามารถลดภาระและค่าใช้จ่ายในการจ้างคนมาทำความสะอาดได้อย่างมหาศาลต่อปี 

            กรณีของอดิสเซียสและลูกเรือก็เช่นเดียวกัน พวกเขานำขี้ผึ้งมาอุดหูเพื่อควบคุมสิ่งเร้าหรือสภาพแวดล้อมไม่ให้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของพวกเขา (ไม่ให้เสียงของไซเรนล่อให้พวกเขาแล่นเรือไปชนหินจนตายทุกคน) เรื่องราวนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ ทั้งการควบคุมสิ่งเร้า การตระหนักถึงกิเลศหรืออารมณ์ในตนเอง การประนีประนอมระหว่างความปรารถนาและความเป็นจริงที่เกิดขึ้น 

แนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางที่น่าสนใจและเหมาะสมกับบริบทในปัจจุบันอย่างยิ่ง

อ้างอิง

Thaler, R. & Sunstein, C. (2009). Nudge: Improving Decisions About Health, Wealth, and Happiness. NY: Penguin Books.

คาลอส บุญสุภา. (2564). อิทธิพลของ สิ่งเร้า (Stimulus) แรงกดดันที่ยากจะต้านทาน. https://sircr.blogspot.com/2021/10/stimulus.html

บุญศักดิ์ แสงระวี. (2558). ตำราพิชัยสงครามซุนวู. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.

ความคิดเห็น