การที่ครูมีทัศนคติที่ดีต่อนักเรียน ส่งด้านบวกต่อตัวนักเรียนอย่างมหาศาล

"ครูให้คำแนะนำเหล่านี้เพราะครูคาดหวังในตัวเธอไว้สูงและเชื่อว่าเธอสามารถทำตามความคาดหวังนั้นได้"

            สมัยที่ผมเริ่มต้นเป็นครูใหม่ ๆ โรงเรียนได้จัดฝึกอบรมเกี่ยวกับสัปดาห์ศิษย์-ลูก เป็นช่วงระหว่างครูและผู้ปกครองได้สื่อสารแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับตัวนักเรียนและกระบวนการเรียนการสอนของระดับชั้นนั้น ๆ เพื่อให้เป็นผลประโยชน์แก่ตัวนักเรียน จึงเป็นเหตุผลให้ทางโรงเรียนมีการจัดอบรมดังกล่าว ซึ่งการอบรมในวันนั้นได้ทำให้ผมตกตะกอนความคิดบางอย่างขึ้นมา และเห็นถึงความสำคัญระหว่างการสื่อสารแลกเปลี่ยนกันของผู้ปกครอง สุดท้ายในช่วงแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกของคุณครูที่มีต่อการอบรมศิษย์-ลูกในวันนั้นผมได้นำเสนอว่า 

"ข้อมูลบางอย่างของผู้ปกครองอาจเป็นจุดเล็ก ๆ ที่สามารถพลิกชีวิตของเด็กคนนั้นเลยก็ได้" 

            ความคิดเห็นของผมที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญนั้นได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติของผมไปอย่างถาวร มองเล็งเห็นว่าจุดเล็ก ๆ บางอาจมีผลต่อชีวิตของใครบางคนเกินกว่าที่เราจะคาดคิดได้ ผู้อ่านบางคนอาจจะเคยเผชิญกับประสบการณ์บางอย่างที่เปลี่ยนแปลงชีวิตไปตลอดกาลกันมาบ้างแล้ว บางคนอาจจะเคยประสบกับเรื่องราวที่ใหญ่โตอันไม่สามารถลืมเลือนได้ ในทางกลับกันบางคนอาจจะประสบกับเหตุการณ์อันเล็กน้อย แต่กลับมีผลต่อชีวิตอย่างใหญ่หลวง 

            การศึกษาก็เป็นสิ่งเดียวกัน เด็กนักเรียนบางคนอาจจะดำเนินชีวิตไปอย่างไร้แรงจูงใจบนโลกที่ทุกอย่างพัฒนาอย่างรวดเร็ว เขาอาจรู้สึกว่าคนอื่น ๆ ล้วนเก่งกว่าเขาทั้งนั้น ตนเองไม่ได้เรื่องเลยทั้งดนตรี กีฬา หรือเรื่องการเรียน สิ่งมีชีวิตอย่างเราจะมีประโยชน์อะไร องค์ความคิดนี้เกิดขึ้นนักเรียนหลายคนทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับความคิดและความรู้สึก ที่เรียกว่า "ทัศนคติดเชิงลบที่มีต่อตนเอง" ซึ่งมันดูดกลืนแรงจูงใจไปเสียแทบหมด 

            แต่แรงจูงใจที่ถูกดูดกลืนก็สามารถลุกโชนขึ้นมาใหม่ได้เสมอ หากเราหาจุดเปลี่ยนเล็ก ๆ ได้เจอ และไม่จำเป็นว่าจุดเปลี่ยนนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วผลจะตามมาโดยทันที แต่มันอาจเป็นเหมือนการหย่อนเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลงให้เติบโตขึ้นก็ได้เช่นเดียวกัน และผมมองว่าปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงก็คือทัศนคติที่ดีของครูที่มีต่อนักเรียนของพวกเขา บทความนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อนำเสนอความสำคัญของทัศนคติดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งด้านบวกต่อตัวนักเรียนอย่างมหาศาลได้

อิทธิพลของทัศนคติที่ดีที่ครูมีต่อนักเรียน

            ก่อนอื่นผมขออธิบายเกี่ยวกับทัศนคติสั้น ๆ เสียก่อน ทัศนคติหมายถึง ความคิดและความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งตัวเขาเอง ซึ่งสามารถเป็นไปได้ทั้งทางบวกและทางลบ และเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจบทความนี้ตรงกันมากขึ้นผมจึงขอนิยาม "การที่ครูมีทัศนคติที่ดีต่อนักเรียน" ว่าหมายถึง การที่ครูมีความคิดและความรู้สึกในด้านบวกกับนักเรียนของตนเอง โดยครูจะแสดงออกในทิศทางบวกไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นหรือความคาดหวังในตัวของนักเรียนของเขา

            หากพูดถึงความคาดหวังก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดถึงการศึกษาของ โรเบิร์ต โรเซนธาล (Robert Rosenthal) นักวิจัยผู้มีชื่อเสียงด้านศาสตร์แห่งความคาดหวัง โดยเขาได้ทำการทดลองที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง และค้นพบปรากฎการณ์ที่เขาเรียกว่า "พิกมาเลียนเอฟเฟ็กต์" (Pygmalion Effect) ในการทดลองโรเซนธาลได้ให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล - เกรด 5 (ป.5) ทำแบบทดสอบวัดสติปัญญา (IQ) ซึ่งครูของพวกเขาเชื่อว่าผลการทดสอบคือตัวบ่งชี้ว่านักเรียนจะพัฒนาการทางวิชาการเป็นเลิศในปีนั้่นหรือไม่ เรียกได้ว่าเป็นแบบทดสอบหา "ดาวรุ่ง" ด้านวิชาการนั่นเอง 

            จากนั้นนักวิจัยจึงส่งต่อรายชื่อเด็กนักเรียนที่จัดอยู่ในกลุ่ม "ดาวรุ่ง" นี้ให้ครู แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กที่มีชื่ออยู่ในกลุ่มนี้มาจากการสุ่ม ไม่ได้อ้างอิงจากผลคะแนนสอบวัดสติปัญญาแต่อย่างใด การทดลองดำเนินผ่านไปหนึ่งปี พบว่านักเรียนร้อยละ 20 มีผลการเรียนดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่ม "ดาวรุ่ง" เหตุผลเป็นเช่นนี้เพราะครูตั้งความหวังกับนักเรียนในกลุ่มดังกล่าวไว้สูง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยวาจาหรือท่าทางล้วนสื่อถึงความคาดหวัง ผลที่ตามมาก็คือนักเรียนกล้าทำในสิ่งที่ท้าทายและพยายามบรรลุความคาดหวังที่ครูตั้งเอาไว้โดยที่ไม่รู้ตัว

นักเรียนกล้าทำในสิ่งที่ท้าทายและพยายามบรรลุความคาดหวังที่ครูตั้งเอาไว้โดยที่ไม่รู้ตัว

            ความคาดหวังนี้ล้วนสอดคล้องกับความหมายของทัศนคติที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น กล่าวคือ ครูรู้สึกในด้านบวกกับนักเรียนกลุ่ม "ดาวรุ่ง" จึงเป็นเหตุผลที่นักเรียนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ดีมากขึ้น เบเวอร์ลี แคนเทลโล (Beverly Cantello) ครูคนหนึ่งที่เข้าร่วมการทดลองของโรเซนธาล ได้ให้สัมภาษณ์ในปี 2015 ซึ่งแม้ว่าเธอจะไม่พอใจนักเมื่อรู้ภายหลังว่าตนมีส่วนร่วมเช่นใดในการทดลอง แต่หลังจากนั้นมันกลับมีอิทธิพลอย่างยิ่งกับอาชีพของเธอ 

            แคนเทลโลอธิบายว่าเธอเริ่มเขียนแผนการสอนที่ซับซ้อนกว่าเดิม อีกทั้งเธอยังตระหนักมากขึ้นอีกถึงบทบาทสำคัญของความคาดหวังที่มีต่อความสำเร็จของนักเรียน ซึ่งโรเซนธาลได้แจกแจงปัจจัยสี่ข้อที่อธิบายว่าความคาดหวังกระตุ้นให้เกิดความสำเร็จมากขึ้นได้อย่างไรไว้ดังนี้

            1) บรรยากาศ: ครูแสดงพฤติกรรมที่อบอุ่นและคุ้นเคยกับนักเรียน

            2) สิ่งที่ให้: ครูทุ่มเทเวลาและพลังกายให้กับนักเรียนที่ตั้งความหวังไว้สูงมากกว่านักเรียนทั่วไป

            3) สิ่งที่ได้: ครูเรียกนักเรียนที่ตั้งความหวังไว้สูงตอบคำถามบ่อยกว่า และแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นว่านักเรียนจะทราบคำตอบ

            4) คำติชม: ครูโต้ตอบบ่อยครั้ง และให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะที่มีคุณภาพต่อนักเรียนที่ตั้งความหวังไว้สูง

            โรเซนธาลอธิบายเพิ่มเติมว่า พฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในจิตใต้สำนึก เช่นเดียวกับอาการหงุดหงิด การขมวดคิ้ว การลูบหลังให้กำลังใจ และการยิ้มซึ่งล้วนเป็นปฏิกิริยาที่ครูหรือคนทั่วไปทำโดยไม่ได้ตั้งใจ ท่าทางภาษากายนับครั้งไม่ถ้วนที่ครูแสดงออกไปในทุก ๆ วันจะสื่อสารความรู้สึกและทัศนคติที่มีต่อนักเรียน จึงเป็นเหตุผลที่แคนเทลโลพัฒนาแผนการสอนที่จะส่งเสริมให้ความสามารถของนักเรียนก้าวไปไกลมากขึ้น เหตุเกิดจากความเชื่อมั่นที่เธอมีต่อนักเรียนของเธอ ในทางตรงกันข้ามหากเธอมีทัศนคติที่ไม่ดี ไม่เชื่อมั่นในตัวนักเรียน การแสดงออกของเธอทั้งภาษากายและกระบวนการสอนก็จะแตกต่างไปอย่างแน่นอ

            นอกจากนั้นในหนังสือ The Growth Mindset Coach: A Teacher's Month-by-Month Handbook for Empowering Students to Achieve ที่เขีนนโดย แอนนี่ บร็อค (Annie Brock) และ เฮเธอร์ ฮันด์ลีย์ (Heather Hundley) ยังได้อธิบายถึงงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่านักเรียนตอบสนองต่อคำพูดและภาษากายที่ครูแสดงออกถึงความคาดหวังในตัวนักเรียน และการแสดงออกถึงความคาดหวังก็สามารถส่งเสริมความสำเร็จของพวกเขาได้อย่างดี

            สิ่งนี้สอดคล้องกับทัศนคติของครูที่มีต่อนักเรียน ถ้าครูเห็นศักยภาพของนักเรียนก็จะเกิดความคาดหวังขึ้นมา อย่างไรก็ตามการที่ครูจะมีทัศนคติที่ดีต่อนักเรียน จนสามารถคาดหวังในศักยภาพของนักเรียนได้ครูจะต้องมีชุดความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ที่เชื่อว่าสติปัญญาและคุณสมบัติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถหรือพรสวรรค์สามารถพัฒนาได้ด้วยความพยายาม การเรียนรู้ และความทุ่มเท แตกต่างกับชุดความคิดตายตัว (Fixed Mindset) ที่เชื่อว่าสติปัญญา คุณสมบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถหรือพรสวรรค์เป็นสิ่งตายตัว ไม่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้

            มีการศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจของ เดวิด เยเกอร์ (David Yeager) และคณะ พวกเขาได้ออกแบบการทดลองกับนักเรียนเกรด 7 (ม.1) โดยให้นักเรียนส่งเรียงความฉบับร่างในหัวข้อ "ฮีโร่ในดวงใจ" ตามที่ได้รับมอบหมาย ครูตรวจเรียงความดังกล่าวตามปกติประกอบกับมีการให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะด้านไวยากรณ์ การเลือกใช้คำ และความชัดเจนของเนื้อหา พร้อมกับให้กำลังใจอย่างที่ครูทำเป็นประจำ 

            จากนั้นนักวิจัยจะสุ่มเลือกเรียงความและแปะโพสอิตที่มีข้อความว่า "ครูให้คำแนะนำเหล่านี้เพราะครูคาดหวังในตัวเธอไว้สูงและเชื่อว่าเธอสามารถทำตามความคาดหวังนั้นได้" ส่วนแบบที่สองเป็นข้อความควบคุม ที่สร้างแรงบันดาลใจน้อยกว่าแบบแรก มีใจความว่า "ครูให้คำแนะนำเหล่านี้เพื่อเธอจะได้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรียงความที่ส่งมา" หลังจากนั้นนักเรียนทั้งสองกลุ่มจะได้รับเรียงความไปแก้ไขอีกหนึ่งครั้ง

            ผลการทดลองพบว่า นักเรียนที่ได้รับข้อความสร้างแรงบันดาลใจมีแนวโน้มที่จะเลือกแก้ไขและส่งเรียงความใหม่อีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังพบว่านักเรียนชาวแอฟริกันที่ได้รับข้อความแสดงความคาดหวัง เลือกที่จะส่งเรียงความอีกครั้งถึงร้อยละ 60 ซึ่งเป็นจำนวนที่มากจนน่าประหลาดใจเมื่อเทียบกับนักเรียนอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับข้อความในแบบเดียวกัน คณะวิจัยสรุปว่านักเรียนจะได้รับประโยชน์จากคำติชมและข้อเสนอแนะอย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อได้รับข้อความที่แสดงถึงความเชื่อมั่นของครูว่านักเรียนจะบรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานที่คาดหวังไว้สูงได้

            สิ่งที่พิเศษอย่างมากก็คือมันได้ผลดีกับกรณีของนักเรียนที่ปกติแล้วมักไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ข้อเสนอแนะต่อผลงานของนักเรียนจะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นพัฒนาการด้านวิชาการน้อยมาก หากปราศจากการกระตุ้นด้วยคำติชมเชิงจิตวิทยา (เช่น "ครูตั้งความหสังกับเธอไว้สูงมากนะ และเชื่อว่าเธอทำตามนั้นได้แน่นอน") การศึกษาดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าอยู่ดี ๆ นักเรียนก็เก่งขึ้นมาเมื่อครูแสดงออกว่าเชื่อมั่นในตัวนักเรียน แต่มันทำให้พวกเขามีความพยายามมากขึ้นเพราะรู้ว่ามีคนเชื่อมั่นในตัวเขาหรืออาจกล่าวได้ว่ามี "ทัศนคติที่ดีต่อตัวเขา"

            ผู้อ่านจะเห็นว่าหากนักเรียนรู้สึกว่าครูมีทัศนคติที่ดีต่อเขา เชื่อมั่นในตัวเขา หรือคาดหวังในตัวเขา นักเรียนจะตั้งใจและมีความพยายามมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ดีขึ้นได้ สิ่งนี้สอดคล้องกับการศึกษาของ แองเจล่า ดั๊กเวิร์ธ (Angela Duckworth) ผู้เขียนหนังสือ Grit ซึ่งเธอให้ความหมาย "ความเพียร" ว่าคือความทรหดอดทน มุ่งมั่นไปข้างหน้า ตั้งใจทำงานอย่างหนักโดยต้องใช้เวลา เธอกล่าวว่า "ผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่ผู้ที่มีความฉลาดทางด้านสติปัญญา (IQ) เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีความพยายามด้วย"

            การผสมผสานระหว่างความเพียรพยายามและทัศนคติที่ดีของครูที่มีต่อนักเรียนช่วยสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการปลูกฝังชุดความคิดแบบเติบโต แต่จะเป็นเช่นนั้นก็ต่อเมื่อครูแสดงออกโดยการให้กำลังใจนักเรียนในยามที่พวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทาย การให้คำวิจารณ์และคำชื่นชมอย่างเหมาะสมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดชุดความคิดแบบเติบโตที่ดีเยี่ยม ในทางกลับกันหากครูมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อนักเรียนและให้คำวิจารณ์ในด้านลบ ก็สามารถผลักดันนักเรียนไปสู่วังวนแห่งชุดความคิดแบบตายตัวได้เช่นกัน

            ดังนั้นการที่ครูมีทัศนคติที่ดีต่อนักเรียน จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนอย่างสูง และส่งผลด้านบวกต่อตัวนักเรียนอย่างมหาศาล สิ่งนี้อาจจะไม่ได้แสดงออกในเวลาอันสั้น แต่มันจะสะสมผ่านประสบการณ์ของพวกเขา และจะแสดงออกมาในวันใดวันหนึ่ง ยิ่งโลกในปัจจุบันกระบวนการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไป ข้อมูลที่สอนเริ่มที่จะไม่สำคัญเพราะนักเรียนสามารถศึกษาได้เอง สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือกระบวนการสอนของครูที่จะผลักดันให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจ แรงจูงใจที่จะพัฒนาต่อยอดผสมผสานความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน 

ก่อให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่างและงดงามของพวกเขาต่อไป

อ้างอิง

Brock, A., & Hundley, H. (2016). The Growth Mindset Coach: A Teacher's Month-by-Month Handbook for Empowering Students to Achieve. CA: Ulysses Press.

Duckworth, A. (2017). Grit: Why Passion and Resilience are the Secrets to Succes. UK: Penguin Random House.

Rosenthal, R. (2002). The Pygmalion effect and its mediating mechanisms. In J. Aronson (Ed.), Improving academic achievement: Impact of psychological factors on education (pp. 25–36). Academic Press. https://doi.org/10.1016/B978-012064455-1/50005-1

Yeager, D., Purdie-Vaughns, V., Garcia, J., Apfel, N., Brzustoski, P., Master, A., Hessert, W., Williams, M., & Cohen, G. (2014). Breaking the Cycle of Mistrust: Wise Interventions to Provide Critical Feedback Across the Racial Divide. Journal of Experimental Psychology: General. 143(2): 804-824. https://doi.org/10.1037/a0033906.

ความคิดเห็น