จะทำอย่างไรดีเมื่อสูญเสียแรงจูงใจไป (Lost Motivation)

แม้หลายครั้งภูมิทัศน์ทางอารมณ์จะอุดมไปด้วยอารมณ์เชิงลบ แต่แน่นอนมันก็มีอารมณ์เชิงบวกที่วิ่งไปแบบคู่ขนานด้วยแรงปรารถนาอยู่เสมอ

            ผมเชื่อว่าคำยอดฮิตในปัจจุบันตอนนี้ก็คือ ภาวะหมดไฟ (Burn Out Syndrome) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเรามีอารมณ์อ่อนเพลียหรือรู้สึกไม่มีอารมณ์ที่จะทำงาน เป็นภาวะที่มีอิทธิพลทางสุขภาพจิตค่อนข้างมากและยังส่งผลไปถึงสุขภาพกายหลายส่วน อย่างไรก็ตามภาวะหมดไฟถูกบรรจุเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ยากที่จะกู้คืนกลับมาได้ (แต่ทำได้) แตกต่างกับความรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจที่สามารถเกิดขึ้นและดับไปอย่างต่อเนื่องแม้จะเป็นวันเดียวกันก็ตาม 

            ความรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ ผมเรียกสิ่งนี้ว่า "สูญเสียแรงจูงใจ" ความรู้สึกดังกล่าวไม่ได้แตกต่างกับภาวะหมดไฟมากนัก ต่างกันที่ผลกระทบและระดับความรุนแรงของพฤติกรรมที่แสดงออกมา นอกจากนั้นภาวะนี้ยังสามารถเกิดขึ้นและหยุดลงสลับไปสลับมาได้อยู่เสมออย่างที่ผมกล่าวไว้ในย่อหน้าแรก การสูญเสียแรงจูงใจ เป็นความรู้สึกเชิงลบที่แสดงออกมาเมื่อเราอยู่ในสภาพแวดล้อม หรือสภาพจิตใจที่แย่ ซึ่งมักจะทำให้เราผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ เพื่อหลีกหนีความรู้สึกแย่ ๆ ออกมา แต่เราสามารถฟื้นคืนแรงจูงใจกลับคืนมาด้วยการปรับความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม และสภาพแวดล้อม

            ผมเป็นคนหนึ่งที่สูญเสียแรงจูงใจอยู่เสมอ แต่ก็สามารถเรียกแรงจูงใจกลับคืนมาได้เช่นกัน นอกจากนั้นคนรอบ ๆ ตัวของผมก็ประสบกับความรู้สึกเดียวกัน เมื่อพวกเขาจะต้องทำงานอะไรสักอย่าง หรือเรียนในเรื่องที่ยากมากขึ้น แต่ก็ไม่มีกำลังใจที่จะทำหรือเรียนเลย การเริ่มต้นกลายเป็นความรู้สึกแย่ ๆ ที่ทำให้เหนื่อยล้าอย่างยิ่ง ดังนั้นพวกเขาจึงใช้วิธีการหลีกหนีไปเรื่อย ๆ ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อนำเสนอเกี่ยวกับการสูญเสียแรงรูงใจไป และจะแก้ไขอย่างไรเพื่อฟื้นคืนแรงจูงใจกลับคืนมา 

จะทำอย่างไรดีเมื่อสูญเสียแรงจูงใจไป

            การสูญเสียแรงจูงใจ (Lost Motivation) หมายถึง ความรู้สึกอยากวิ่งหนีหรือหลบซ้อนกับสิ่งที่ทำหรือเป็นอยู่ ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนเคยทำอย่างมีแรงจูงใจมาก่อน ซึ่งมักจะแสดงออกด้วยการผัดวันประกันพรุ่ง หลายคนอาจจะเรียกช่วงเวลาที่มีแรงจูงใจว่า ช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ (Honeymoon Period) เป็นช่วงเริ่มต้นที่มีไฟ มีแรงจูงใจ ตื่นเต้น แต่ก็เหมือนกับความรักช่วงเวลาหวานชื้นจะต้องผ่านพ้นไป หากมีความผูกพันต่อกันและกันความสัมพันธ์ก็จะก้าวต่อไปได้ เช่นเดียวกันในการทำงาน การเรียน หรือการดำเนินชีวิตหากเราไม่มีความผูกพันกับทุกอย่างที่กล่าวมา ก็ย่อมสูญเสียแรงจูงใจไปอย่างแน่นอน

            ยกตัวอย่างการเรียน นักเรียนคนหนึ่งที่กำลังจะเปิดเทอม เขาเตรียมอุปกรณ์และเตรียมหนังสืออ่านอย่างดี สำหรับการเปิดเทอม เขามีความตั้งใจและมีแรงจูงใจในการเรียนอย่างมาก แต่สุดท้ายเมื่อเรียนผ่านไปสักระยะด้วยปัญหาส่วนตัว ด้วยปัญหาครอบครัว ปัญหาเพื่อนที่โรงเรียน ก็บีบให้แรงจูงใจค่อย ๆ หมดไปในท้ายที่สุด ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม การเรียนเริ่มยากขึ้น เนื้อหาบางอย่างเริ่มไม่เข้าใจ ทุกอย่างดูแย่ลงไปหมด เขาจึงเริ่มผัดวันประกันพรุ่งจนทุกอย่างเริ่มเลวร้ายไปกว่าเดิม

            การที่นักเรียนคนนั้นจะกลับมาได้จะต้องพึ่งพาทั้งตนเองและทางโรงเรียนหรือเพื่อนของเขา (สภาพแวดล้อม) ในกรณีที่เขามีครูที่น่ารักให้กำลังใจ ช่วยเหลือ หรือมีเพื่อนที่ดีส่งเสริมช่วยเหลือกัน ก็เหมือนกับความรักที่แม้จะหมดความหลงใหลไปแล้วแต่ก็ยังมีความผูกพันอยู่ อย่างไรก็ตามบทความนี้ผมคงไม่ไปไกลถึงการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กลับคืนมา แม้วิธีนี้จะน่าสนใจอย่างมากเพราะบริบทของสังคมรวมไปถึงรัฐบาลสามารถพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อกู้คืนแรงจูงใจของผู้คนได้

            แต่ผมจะเน้นไปที่การจัดการกับความรู้สึกภายในตัวเองเพื่อฟื้นคืนแรงจูงใจให้กลับคืนมา หรือลุกขึ้นมาจากการสูญเสียแรงจูงใจไป ซึ่งหากทุกท่านอ่านมาถึงจุดนี้จะเห็นว่าเมื่อเราสูญเสียแรงจูงใจไป สิ่งแรกที่เราจะทำก็คือ การผัดวันประกันพรุ่ง เป็นเหมือนการเปิดประตูไปสู่นรก เพราะเมื่อเราผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ มันก็จะทำให้ปัญหาที่หลีกหนีใหญ่มากขึ้น เหมือนกรณีนักเรียนที่หนีความขมขื่นของการไปโรงเรียนด้วยการหยุดเรียน ส่งผลให้การบ้านเยอะมากขึ้น ตามเนื้อหาไม่ทัน งานในห้องเยอะมากขึ้น โอกาสที่จะได้คะแนนดี ๆ น้อยลง และตามมาด้วยการหมดสิทธิสอบหรือต้องออกจากโรงเรียนไปในท้ายที่สุด

            เราทุกคนรู้ว่าการทำลายการผัดวันประกันพรุ่ง (Procrastination) คือการลงมือทำ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้โดยง่าย เพราะว่าเราไม่ชอบความรู้สึกแย่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นความคับข้องใจหรือหงุดหงิดในขณะที่กำลังทำงาน หรือความรู้สึกกดดันที่เราจะต้องเจอ ดังนั้นเราจึงทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อเลี่ยงความรู้สึกลบนี้ แม้ว่าการผัดมันออกไปจะได้ผลในระยะสั้นเพราะมันทำให้เราผ่อนคลายได้ในทันที แต่มันไม่ได้ผลในระยะยาว เพราะมันยิ่งจะก่อให้ไปสู่ความเครียดไม่ต่างอะไรกับการวิ่งวนในเขาวงกต ที่ยิ่งวิ่งลึกเข้าไปเท่าไหร่ก็ยากที่จะเจอทางออก

เมื่อเราผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งเกิดความเครียดเหมือนวิ่งวนในเขาวงกต

            นอกจากนั้นการผัดวันประกันพรุ่งยังเกี่ยวข้องกับการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เราไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้อย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงเลือกที่จะวิ่งหนีหรือหยุดไปเลยเสียดีกว่า ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อแรงจูงใจของเราหมดไปแล้ว หรือเราได้สูญเสียแรงจูงใจไปแล้วนั่นเอง อดีตโค้ชเทนนิส ทิม กัลล์เวย์ (Tim Gallwey) ผู้ที่ทำงานกับนักเทนนิสระดับโลกมาแล้วมากมาย ได้กล่าวว่า ประสิทธิภาพในชีวิตของเราเท่ากับศักยภาพลบด้วยการแทรกแซงที่มาจากความคิดเชิงลบและความเชื่อที่จำกัดศักยภาพตนเอง 

ประสิทธิภาพ = ศักยภาพ - การแทรกแซง 

            ผู้คนมีศักยภาพสูงกว่าที่พวกเขาคิด แต่การแทรกแซงทางความคิดและความรู้สึก หรือสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเข้ามาขวางทางของพวกเขาเอาไว้ ปิดกั้นการเติบโตของตนเองด้วยความคิดที่ว่า "ฉันทำไม่ได้" "ฉันมันโง่" "ฉันไม่ฉลาดเหมือนคนอื่น ๆ" หรือ "สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมันเลวร้าย" ความคิดเหล่านี้มีผลมากเสียจนไม่เพียงแต่ทำให้เราหมดกำลังใจหรือหมดแรงจูงใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานหรือการเรียนของเราด้วย แน่นอนว่ามีบางอย่างที่เราทำไม่ได้ (ในระยะเวลาอันจำกัด) หรือสังคมรอบตัวก็เลวร้ายจริง ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวหรือจินตนาการของเราทำให้เราสูญเสียแรงจูงใจไป 

            หลายคนอาจจะสูญเสียแรงจูงใจไปเล็กน้อย และเลือกที่จะผัดวันประกันพรุ่งโดยจินตนาการว่าพรุ่งนี้น่าจะมีอารมณ์ทำมากกว่านี้ แต่จริง ๆ แล้วเป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะเรากำลังคาดหวังอย่างโง่ ๆ ว่าพรุ่งนี้จะดีกว่าเมื่อวาน แม้ว่าประสบการณ์หลายต่อหลายครั้งจะพิสูจน์ให้เห็นว่ามันไม่จริง ที่เป็นแบบนี้เพราะว่าจิตใจของมนุษย์ชอบเล่นตลก บางคนอาจจะคิดว่ารออีกสักหน่อยแรงจูงใจก็จะกลับคืนมา แต่เมื่อ "อีกสักหน่อย" ได้ผ่านไปแล้ว เราก็ยังคงนอนจินตนาการว่าวันต่อ ๆ ไปแรงจูงใจจะกลับคืนมา

ลุกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

            เราสามารถพลิกสถานการณ์นี้ได้ เพียงลดการแทรกแซงจากความคิดเชิงลบให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งเราสามารถทำได้โดยการใช้การกระทำเข้าช่วย พูดง่าย ๆ ก็คือ หากเราผัดวันประกันพรุ่งจากอะไร ก็เริ่มลงมือจากการทำสิ่งนั้นแหละ โดยเราสามารถเริ่ม "ลงมือทำแบบชุ่ย ๆ" ไปก่อนได้ เพราะมันสำคัญที่การลงมือทำ ยกตัวอย่างเมื่อผมจะต้องเขียนบทความวิชาการ ที่ผมเบื่อจะเขียนอย่างมาก และรู้สึกไม่มีแรงจูงใจเลย แต่สุดท้ายผมก็ต้องเริ่มเขียนโดยการเขียนไปแบบชุ่ย ๆ ก่อน และค่อย ๆ ปรับแก้เพิ่มเติม สุดท้ายแรงจูงใจก็กลับคืนมาเป็นผลงานที่สำเร็จ

            สิ่งนี้ไม่ได้เป็นความคิดเห็นของผมอย่างเดียว แต่เป็นข้อเสนอของ โอลิเวีย รีมส์ (Olivia Remes) ผู้เขียนหนังสือ The Instant Mood Fix: Emergency remedies to beat anxiety, panic or stress เธอได้นำเสนอหลักการนี้ในการบรรยายหลายครั้ง และมีหลายคนที่นำไปใช้จนสามารถช่วยให้พวกเขาคลายความกังวลเกี่ยวกับการงานของพวกเขาไปได้ แนวทางดังกล่าวยังสอดคล้องกับนักเขียน จี.เค. เชสเตอร์ตัน (G.K. Chesterton) ที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า "อะไรก็ตามที่เราควรทำล้วนควรค่าแก่การทำแบบชุ่ย ๆ ไปก่อนในช่วงแรก" 

            วิธีต่อมาเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมา เมื่อเราสูญเสียแรงจูงใจไป เราก็ต้อง "เรียกแรงจูงใจกลับคืนมา" แม้เราจะไม่สามารถชิงช่วงเวลาอันหวานชื่นในวันที่ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ได้ แต่เราสามารถค้นหาความผูกพันที่สะสมเอาไว้ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ เราสามารถเติมเชื้อไฟโดยการเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเอง โอลิเวีย รีมส์เคยประสบกับวิกฤตกจากการเรียนปริญญาตรีเหมือนกับใครหลายคนในยุคสมัยนี้ เธอสูญเสียแรงจูงใจไปจากการอ่านงานวิจัยในวารสารจำนวนมากที่แห้งแล้ง จืดชื่น และเข้าใจยาก

            จนสุดท้ายเธอสามารถค้นหาความหมายบางอย่างที่ซ้อนอยู่ในการศึกษาของเธอ เธอพบเห็นผลกระทบจากความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าที่มีต่อชีวิตผู้คน และเห็นว่าการช่วยให้พวกเขาได้พบกับกลยุทธ์อันทรงพลังในการเผชิญหน้ากับปัญหานั้นสำคัญเพียงใด มุมมองของเธอก็เปลี่ยนไป เธอตระหนักว่าบทความทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่เงื่อนไขในการเรียนจบของเธอเท่านั้น แต่เป็นกุญแจสู่สุขภาวะ การค้นหาเป้าหมาย และการมีชีวิตที่ดี หรือให้ง่ายขึ้นคือ 

เธอพบเจอความผูกพันในความสัมพันธ์ที่หมดช่วงเวลาอันหอมหวานไปแล้วได้

            เราทุกคนต่างมีช่วงเวลาที่แย่ด้วยกันทั้งนั้น แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามเราก็ยังมีภูมิทัศน์ทางอารมณ์ที่สามารถดึงออกมาใช้ได้ตลอด แม้หลายครั้งภูมิทัศน์นี้จะอุดมไปด้วยอารมณ์เชิงลบ แต่แน่นอนมันก็มีอารมณ์เชิงบวกที่วิ่งไปแบบคู่ขนานด้วยแรงปรารถนาอยู่เสมอ ทุกวันนี้ผมต้องพบเจอกับนักเรียนที่มีปัญหาแตกต่างกันมากมาย ในบางวันผมก็รู้สึกไม่มีแรงจูงใจเหลืออยู่เลย แต่ผมต้องคอยหามุมมองเชิงบวกที่ขับเคลื่อนอยู่ให้เจอ ไม่ว่าจะเป็นความสุขของนักเรียน พัฒนาการที่ก้าวไปมากขึ้น รอยยิ้มเวลาที่สามารถตอบคำถามได้ และความสนุกสนานในการเรียนของพวกเขา

            เมื่อใดก็ตามที่สูญเสียแรงจูงใจไป เราสามารถลุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งได้โดยการก้าวเท้าไปแบบกลัว ๆ ดูก่อนสักข้างหนึ่ง ลงมือทำแบบชุ่ย ๆ หลังจากนั้นเราค่อยก้าวขาอีกข้างหนึ่งออกไป จนเดินต่อไปได้ ไม่เพียงแค่นั้นเรายังสามารถหาแรงจูงใจด้วยความคิดเชิงบวกมาเติมเป็นไฟปรารถนาได้เรื่อย ๆ เมื่อไฟมอดดับลงไปเป็นระยะ เราก็ยังสามารถเติบเชื้อไฟนี้ได้ อย่าเศร้าใจเมื่อมันดับไปเราทุกคนมีวันที่ล้มและก็มีวันที่ต้องลุกอยู่เสมอ และสุดท้ายเราสามารถเสริมสร้างสุขภาพกายของเราให้แข็งแรงและแจ่มใสมากขึ้น ด้วยการออกกำลังกายบ้าง เดินเยอะมากขึ้น นอนหลับให้นานขึ้น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น เราต้องทำให้สุขภาพกายที่เชื่อมโยงกับสุขภาพใจแข็งแรง

เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจุดไฟแห่งชีวิตให้ลุกไหม้สว่างไสวไปตลอดชีวิต

อ้างอิง

Gallwey, T. (2001). The Inner Game of Work: Focus, Learning, Pleasure, and Mobility in the Workplace. NY: Random House.

Remes, O. (2021). The Instant Mood Fix: Emergency remedies to beat anxiety, panic or stress. UK: Ebury.

Svartdal, F., Granmo, S., & Færevaag, F. (2018). On the Behavioral Side of Procrastination: Exploring Behavioral Delay in Real-Life Settings. Frontiers in Psychology. 9(746): 1-11. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2018.00746

Tice, D. & Baumeister, R. (1997). Longitudinal Study of Procrastination, Performance, Stress, and Health: The Costs and Benefits of Dawdling. Psychological Science 8(6):454-458. https://doi.org/10.1111/j.1467-9280.1997.tb00460.x

ความคิดเห็น