การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ (Phenomenal Learning) นวัตกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์

ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้คิดด้วยมุมมองเฉพาะสาขาวิชา แต่สมองของมนุษย์ทำความเข้าใจโลกอย่างเป็นองค์รวม

            หลายแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกัน ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructionism) ที่พัฒนาโดย Seymour Papert จากมหาวิทยาลัย M.I.T. (Massachusette Institute of Technology) การจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child Center Learning) หรือ การเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ที่ต่างก็เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและผู้สอนจะเปลี่ยนบทบาทตนเองเป็นผู้อํานวยความสะดวก (Facilitator)

            ผู้อ่านบางท่านที่มีความรู้ด้านการศึกษาอาจจะเห็นถึงความแตกต่าง ซึ่งก็จริงที่ทั้งสามแนวคิดมีความแตกต่างกัน แต่เมื่อเริ่มจัดกระบวนการเรียนการสอนจริง ก็เป็นเรื่องยากที่จะมองไม่เห็นความแตกต่าง แต่เมื่อผมลงลึกไปเรื่อย ๆ ก็พบว่าไม่แปลกที่ทั้งสามแนวคิดหรือแนวคิดอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้จะมีความสอดคล้องหรือเชื่อมโยงกัน เพราะในความจริงแล้วการเรียนการสอนที่ประสบความสำเร็จ ก็ล้วนจะต้องเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางทั้งนั้น และไม่เพียงแค่การจัดการเรียนการสอนเท่านั้น แต่รวมไปถึงการประเมินผลด้วย

            การประเมินผลจะต้องมุ่งเน้นไปที่จุดเริ่มต้น นั่นคือการเลือกหรือสร้างเครื่องมือที่วัดได้อย่างเที่ยงตรง และเครื่องมือวัดรวมไปถึงวิธีการประเมินต้องสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียน โดยจะต้องมุ่งเน้นการประเมินเพื่อทราบถึงศักยภาพ ทราบถึงพัฒนาการ จุดเด่น จุดด้อย เพื่อผู้สอนจะต้องทำการศึกษาและพัฒนากระบวนการส่งเสริม แก้ไข และพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับศักยภาพของเขา ซึ่งมีแนวคิดหนึ่งที่ผมมองว่าจะเป็นแนวคิดสำหรับอนาคตของกระบวนการศึกษาในโลกใบนี้ นั่นคือ "การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์" (Phenomenal Learning) 

การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ (Phenomenal Learning) นวัตกรรมแห่งอนาคต

            การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ เป็นการเรียนแบบองค์รวมซึ่งมีพื้นฐานจากความคิดที่ว่า นักเรียนต้องเรียนรู้ที่จะร่วมมือกันสร้างทางออกใหม่ ๆ และผสมผสานความรู้จากวิชาต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา ความรู้ที่เรียนในโรงเรียนจะต้องเชื่อมโยงกับปัญหาในชีวิตจริง ซึ่งโดยพื่้นฐานแล้ว การเรียนรู้นี้ควรจะไปให้ไกลเกินขอบเขตสาขาวิชาเดียว นอกจากนั้นจะต้องวิเคราะห์ปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในโลก เช่น ความยากจน การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือเศรษฐกิจโลก จากหลายมุมมองและผ่านกรอบของสาขาวิชาต่าง ๆ 

"การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ เป็นการเรียนแบบองค์รวมที่ผสมผสานความรู้จากวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน"

            ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพียงการกระโจนลงไปสู่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความเข้าใจที่มีอยู่เดิมของเราขึ้นมาใหม่ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การอภิปราย วาดแผนผังความคิด เขียน หรือวิธีอื่น ๆ แล้วไตร่ตรองคำถามที่นักเรียนเห็นว่าสำคัญจริง ๆ กล่าวคือไม่ใช่เพียงเนื้อหาที่ผสมผสานวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องให้ความสำคัญไปที่กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย

            กระบวนการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์เริ่มในช่วงปี 1998 - 2001 โดยไมยาลีซา เราส์เทอ-ฟอน ไรต์ เขาเริ่มใช้กับผู้ศึกษาจิตวิทยาการศึกษาเป็นวิชาเอกเพียงไม่กี่คน ในคณะศึกษาศาสตร์ของหมาวิทยาลัยเฮลซิงกิ โดยศาสตราจารย์ไมยาลีซา และตัวนักศึกษาจะร่วมกันวิเคราะห์แต่ละวิชาในโรงเรียน โดยมองจากแง่มุมต่าง ๆ ที่ควรเรียนรู้เกี่ยวกับโลกและตัวเราในฐานะประชากรโลก ซึ่งจะต้องอาศัยศาสตร์หลายแขนงร่วมกัน ในสมัยนั้นจึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ก็ไม่แปลกเพราะหากลองคิดดูว่าการแสดงความคิดเห็นว่าแต่ละวิชาควรอยู่ร่วมกันในวิชาเดียว คงไม่เป็นที่น่าพอใจของครูสมัยนั้นอย่างแน่นอน ไม่ต้องพูดถึงประเทศไทยแม้แต่ในปัจจุบันก็ตาม

            อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ ไม่ได้มุ่งพยายามจะยุบสาขาวิชา แต่เป็นการผสมผสานมุมมองจากวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น วิชาชีววิทยาก็สามารถเชื่อมโยงกับจิตวิทยา ประวัติศาสตร์ หรือสถิติได้ โดยเฉพาะหน่วยเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์ หากเราพิจารณาถึงหนังสือ Sapiens a Brief History of Humankind ที่ผสมผสานระหว่างปรัชญา ชีววิทยา ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ จิตวิทยา และอื่น ๆ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว รวมไปถึงหนังสือ Upheaval: How Nations Cope with Crisis and Change ก็ผสมผสานระหว่างพฤติกรรมศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา ด้วยเช่นกัน

            จึงไม่แปลกที่การเรียนรู้ในอนาคตที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลในรายวิชาหนึ่งได้อย่างง่ายดายเพียงแค่กระดิกนิ้วเท่านั้น จำเป็นจะต้องผสมผสานระหว่างวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้นธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้คิดด้วยมุมมองเฉพาะสาขาวิชา แต่สมองของมนุษย์ทำความเข้าใจโลกอย่างเป็นองค์รวม การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จึงเป็นวิธีการมองโลกที่ช่วยสร้างสะพานเชื่อมโยงสาขาวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น วิธีคิดแบบ STEAM ที่รวมเอา วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Teachnology) วิศวกรรม (Engineering) ศิลปะ (Arts) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) เข้าด้วยกัน

            เพียงแต่การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ก้าวไปไกลกว่านั้นอีกขั้นหนึ่ง เนื่องจากการเรียนรู้ดังกล่าวไม่จำกัดสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องในหลายกรณี กล่าวคือ การเพิ่มศิลปะเข้าไปในกลุ่มวิชาด้านวิทยาศาสตร์ยังไม่เพียงพอ เราจะต้องเพิ่มมนุษยศาสตร์และหัวข้ออื่น ๆ เข้าไปด้วย เพื่อไม่ให้จำกัดความคิดจนเกินไปและขยายขอบเขตการสร้างสรรค์ให้ไกลไปเรื่อย ๆ การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์จึงไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของสาขาวิชาและความรู้เฉพาะแขนงต่าง ๆ แต่ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสาขาวิชาและความรู้เหล่านั้นด้วยการสืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง

            การคิดแบบองค์รวมและสหวิทยาการนั้นจึงสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาโครงสร้างอันย่ำแย่และปัญหาสังคม วัฒนธรรมที่มีความซับซ้อนในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบโรงเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เราจะไม่สามารถทำเพียงแค่ใช้สถาปนิกและวิศวกรเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องประสานองค์ความรู้หลาย ๆ ด้านทั้งการศึกษาพิเศษ จิตวิทยา สังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และศึกษาศาสตร์เข้าด้วยกันเพื่อสร้างโรงเรียนให้ดีที่สุด กล่าวคือจำเป็นต้องอาศัยคสามเชี่ยวชาญในหลาย ๆ สาขาวิชารวมกันเพื่อสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างขึ้นมา

รูปแบบการสอนของการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์

            ย้ำอีกครั้งว่าการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ไม่ได้มองข้ามความสำคัญของการเรียนแยกตามสาขา แน่นอนว่าการเรียนตรรกะความคิดของวิชาต่าง ๆ นั้นสำคัญ แต่เมื่อมองความรู้อย่างเป็นระบบโดยการใช้การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ เราก็จะสามารถพัฒนาแนวปฏิบัติในการสร้างความรู้ใหม่ ๆ ละเว้นการแบ่งแยกระหว่างสาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างใด และยังช่วยให้ชุมชนโรงเรียนให้ได้เรียนรู้ปฏิสัมพันธ์สร้างสรรค์แบบใหม่ด้วย

            การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์สามารถนำเอาโมเดลสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Engaging Learning Environment - ELE) เข้ามาผสมผสานได้ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยตั้งแต่ต้น ทุกคนควรรู้สึกว่าตนสามารถเสนอความคิดแบบใดก็ได้ ดึงดูดความสนใจมากยิ่งขึ้นด้วยการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเลือกปรากฏการณ์ที่จะศึกษา ซึ่งต้องอาศัยการระดมความคิดเพื่อกระตุ้นความรู้ ทักษะ และคำถามที่นักเรียนมีอยู่ก่อนหน้าโดยไม่ควรปฏิเสธความคิดใดก็ตามที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน 

            ยกตัวอย่างเช่น ในวิชาภูมิศาสตร์ ครูแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นห้ากลุ่ม และมอบหมายให้แต่ละกลุ่มศึกษาหนึ่งทวีป (อาจจะให้แต่กลุ่มเลือกเอง) โดยครูจะแนะนำนักเรียนให้รู้จักเครืองมือในการประเมินตนเองและประเมินเพื่อน จากนั้นครูจะสอนให้แต่ละกลุ่มพิจารณาหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามทวีปที่ศึกษา อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญก็คือครูอาจให้ทุกกลุ่มคิดประเด็นขึ้นมาให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศ พรรณพืช สัตว์ วัฒนธรรม ศาสนา ชาติ และประเทศ รวมถึงภาษา เขตเวลา และการคำนวณสกุลเงินยูโร

            อีกทั้งยังสามารถทำโครงงานเป็นภาษาอังกฤษ โดยการเขียนโฆษณาการท่องเที่ยวเกี่ยวกับสถานที่ที่นักเรียนสนใจ นอกจากนั้นยังสามารถเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัฒนธรรมดนตรี อากาศ อุปกรณ์ใช้ในงานต่าง ๆ ในภูมิประเทศที่แตกต่างกัน หรือลงลึกไปที่พันธุกรรม และกระบวนการคิดทางจิตวิทยาที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จากทั้งหมดนี้จะเห็นว่าเป็นการผสมผสานวิชาชีววิทยา ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ดนตรี ปรัชญา และพฤติกรรมศาสตร์ เข้าด้วยกัน

            จากรายงานการอบรมและสัมมนาการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ณ คณะพฤติกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Helsinki ประเทศฟินแลนด์ ได้นำเสนอตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างวิชาฟิสิกส์และวิชาประวัติศาสตร์ โดยใช้เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การขยายอำนาจของนาซีเยอรมัน การพัฒนาความรู้เกี่ยวกับกัมมันตรังสีและโครงสร้างอะตอม แนวคิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น การเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ก่อนและหลังการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 

            การจัดการเรียนรู้ครั้งนี้จัดให้กับเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6 ที่มีความรู้พื้นฐานด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์ โดยมีกระบวนการจัดการเรียนการสอนโดังนี้ 

            1) ทำการทดลองเรื่องการเบนของรังสีแอลฟาในสนามแม่เหล็ก 2) แบ่งกลุ่มผู้เรียน กลุ่มละสามคนและเลือกหัวข้อที่นักเรียนสนใจ 3)ผู้เรียนมีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม แบ่งหน้าที่ร่วมกันให้ความรู้อภิปรายโต้แย้งรวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้จัดกระทำและนำเสนอข้อมูลภายในกลุ่มของตนเอง จากนั้นแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนต่างกลุ่ม และ 4) ครูให้นักเรียนดู Timeline การค้นพบอะตอม และการคิดค้นนิวเคลียร์ ควบคู่ไปกับการที่ครูวิชาประวัติศาสตร์สอนตำแหน่งประเทศเกิดของนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบแต่ละช่วงเวลาบนแผนที่โลก

            Piia Nuora และ Jouni Välisaari ได้นำทำการศึกษาเกี่ยวกับวิชา เคมีในครัว (Kitchen Chemistry: KC) ของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา โดยผสมผสานระหว่างวิชาเคมีและคหกรรม เป็นการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาทักษะข้ามพรมแดนในแต่ละวิชา ซึ่งจากการทำวิจัยของพวกเขาพบว่า นักเรียนมีแรงจูงใจและตื่นเต้นกับการเรียนในวิชานี้อย่างมาก และเป็นรูปแบบการสอนที่น่าสนใจ

            จะเห็นว่าการผสมผสานระหว่างวิชาต่าง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่การแตะบางส่วนของวิชา เช่น นำเลขาคณิตมาวาดรูปประกอบกันในวิชาศิลปะเพียงแค่คาบเดียวแล้วจบ แต่ต้องผสมผสานออกมาเป็นหลาย ๆ คาบเรียน ไม่เพียงแค่นั้น แต่นักเรียนจะต้องร่วมการอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้มากที่สุด โดยครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้สนับสนุน เช่น ให้นักเรียนหาข้อมูลและวิเคราะห์พร้อมกับนำเสนอด้วยตนเอง วิธีการสอนดังกล่าวจึงสอดคล้องกับ การเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructionism) ซึ่งจากผลการศึกษาของ Vasileios Symeonidis และ Johanna F. Schwarz พบว่า การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ สามารถนำไปเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้

แนวทางการประเมินการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์

            การประเมินการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์มีหลายมิติ และอาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่คิดภายในกรอบสาขาวิชาของตนเองเท่านั้น เพราะจำเป็นต้องใช้เกณฑ์การประเมินแบบองค์รวมและนักเรียนควรได้รู้ว่าจะประเมินประเด็นอะไรบ้าง ในโครงการครุศึกษาของฟินแลนด์ พวกเขาประเมินแต่ละทีมโดยรวม ทุกคนในทีมจะได้คะแนนเท่ากัน แค่ดูผลผลิตเท่านั้นไม่พอ แต่ควรประเมินความสำเร็จของกระบวนการด้วย (ผลผลิตอาจเป็นบล็อก วีดีโอ การอภิปราย หรือเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร) โดยสามารถประเมินผ่านการประเมินตนเอง การประเมินโดยเพื่อนระหว่างกระบวนการทั้งหมด

            สามารถประเมินผลลัพธ์สุดท้ายโดยพิจารณาว่านักเรียนได้พัฒนาแนวปฏิบัติแบบผู้เชี่ยวชาญอย่างไรบ้างในการดำเนินโครงงานนี้ เช่น ได้ตอบคำถามหรือสมมติฐานชั่วคราวหรือไม่ นักเรียนเข้าใจปรากฎการณ์ที่ศึกษาอย่างลึกซึ้งและกว้างเพียงใด วิธีการทำงานมีความหมายหรือไม่ พวกเขาทุ่มเทให้กับการสืบเสาะหาความรู้เพียงใด หรือพวกเขามีกระบวนการสื่อสารและการทำงานในกลุ่มอย่างไรบ้าง 

            นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยสำหรับการประเมินก็คือการตั้งเป้าหมายหรือการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ ซึ่งควรจะไปด้วยกันกับการประเมิน และเมื่อจะต้องประเมินโครงการครูควรใส่ใจขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการทำงานโดยเริ่มตั้งแต่ความคิดตั้งต้น นอกเหนือไปจากงานที่เสร็จแล้วการประเมินยังควรใส่ใจการออกแบบขั้นตอนการทำงาน เทคนิคที่เลือก รวมถึงการเลือกและจัดการอุปกรณ์ด้วย 

            ดังนั้นครูจะต้องช่วยนักเรียนให้ตั้งเป้าหมายในระดับส่วนตัวและระดับกลุ่มด้วย การตั้งเป้าหมายและช่วยวางแผนการแบ่งภาระงานอย่างเท่าเทียมก็เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินอย่างต่อเนื่องและการนำเสนอ เกณฑ์การประเมินต้องคำนึงถึงปริมาณข้อมูล ความสร้างสรรค์ และความสามารถของนักเรียนในการอธิบายการเรียนรู้ รวมถึงความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับงานที่ทำ นอกจากนั้น ต้องอย่าลืมประเมินความมุ่งมั่นรับผิดชอบที่จะทำงานร่วมกันด้วย เพราะความสามารถและความมุ่งมั่นที่จะดูแลเครื่องมือที่ใช้ร่วมกันและการสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียน (สภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นกลุ่มของนักเรียน) ก็เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินเช่นเดียวกัน

            ผมยกตัวอย่างจากวิชาภูมิศาสตร์ที่ผมได้นำเสนอไปข้างต้น ซึ่งเป็นการสอนแบบผสมผสานที่ครูให้แต่ละกลุ่มพิจารณาหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามทวีปที่ศึกษา ทุกกลุ่มคิดประเด็นขึ้นมาให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศ พรรณพืช สัตว์ วัฒนธรรม ศาสนา ชาติ และประเทศ รวมถึงภาษา เขตเวลา และการคำนวณสกุลเงินยูโร รวมไปถึงการเขียนรายงานหรือทำโครงงานเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเชิญชวนให้มาท่องเที่ยวในประเทศหรือภูมิประเทศที่นักเรียนสนใจ (อาจจะแบ่งออกเป็นหลายคาบเรียน)

            การประเมินการเรียนการสอนดังกล่าว จะต้องให้นักเรียนประเมินตนเองและเพื่อนในแต่ละคาบเรียน การประเมินนี้จะเป็นพื้นฐานการประเมินโดยครูต่อไป และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือครูควรจะแจ้งเกณฑ์การประเมินกับนักเรียนตั้งแต่เริ่มต้น และการประเมินครั้งสุดท้ายจะพิจารณาจากผลงานที่นักเรียนผลิตขึ้น รวมไปถึงกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น ตลอดช่วงเวลาทำโครงการ รายงาน กิจกรรม การประเมินจะเน้นการออกแบบ ขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ เทคนิคต่าง ๆ การเลือกและการจัดการอุปกรณ์ สุดท้ายคือผลงานที่เสร็จสมบูรณ์และการนำเสนอผลงานกับกลุ่มอื่น ๆ 

            Kirsti Lonka และ Suvi Westling ผู้เขียนหนังสือ Phenomenal Learning from Finland ในหัวเรื่องการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ ได้แนะนำการประเมินการเรียนผ่านปรากฎการว่า วิธีการหลีกเลี่ยงคนที่อู้งานในกลุ่ม นักเรียนจะได้รับคำสั่งให้รายงานบางหัวข้อโดยใช้เครื่องมือประเมินตนเองและเพื่อน ประการแรกพวกเขาวางแผนเพื่อแบ่งภาระงานอย่างเท่าเทียมกันอย่างไร ประการที่สอง พวกเขาได้ทำตามแผนที่วางไว้ได้มากน้อยเพียงไร และกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง 

การประยุกต์ใช้

            ในการนำมาประยุกต์ในกับระบบประเมินปกติที่นิยมใช้ในปัจจุบันของประเทศ เราสามารถใช้รูปแบบการประเมินดังกล่าวร่วมกับรูปแบบการประเมินผลงานและการประเมินโดยใช้แบบทดสอบในปลายภาคเรียน อย่างไรก็ตามการประเมินปลายภาคเรียน เป็นเพียงการประเมินว่านักเรียนมีความรู้ที่สอดคล้องกับข้อสอบอย่างไรเท่านั้น แต่การประเมินที่กระบวนการจะเป็นการประเมินแบบองค์รวม เพราะแต่ละคนจะมีกระบวนการทำงาน วิธีการแก้ไขปัญหา การตัดสินใจ และความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันออกไป

            ดังนั้นวิธีการสอนแบบ การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ (Phenomenal Learning) จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากผู้สอนไม่ทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ และผู้สอนควรมีชุดความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ที่เชื่อว่าสติปัญญาและคุณสมบัติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถหรือพรสวรรค์สามารถพัฒนาได้ด้วยความพยายาม การเรียนรู้ และความทุ่มเท แตกต่างกับชุดความคิดตายตัว (Fixed Mindset) ที่เชื่อว่าสติปัญญา คุณสมบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถหรือพรสวรรค์เป็นสิ่งตายตัว ไม่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้

            ครูที่มีชุดความคิดแบบเติบโตจะมองว่าหลักสูตรที่ไม่มีคุณภาพที่เป็นอยู่ สามารถปรับให้ดีขึ้นได้เรื่อย ๆ และมุ่งมั่นที่จะใช้เวลาในการพัฒนาวิธีการสอนของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ จำเป็นต้องสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัย โดยสามารถผสมผสานโมเดลสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Engaging Learning Environment - ELE) เพราะกระบวนการดังกล่าวให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยตั้งแต่ต้น ทุกคนควรรู้สึกว่าตนสามารถเสนอความคิดแบบใดก็ได้ 

            เหตุผลที่ผมมองว่าการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ก็เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเชื่อมโยงกันเป็นเส้นผ่านจุดต่าง ๆ การที่เราสามารถขยายจุดให่้ได้มากที่สุดก็จะสามารถลากเส้นได้มากขึ้นเท่านั้น สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) เรียกสิ่งนี้ว่า การเชื่อมต่อจุด (Connecting the dots) เขาอธิบายว่า "การเรียนรู้ก็เหมือนกับ จุด (Dots) ที่เชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกันจนเป็นเส้นที่เชื่อมโยงจุดต่าง ๆ เข้าหากันกลายเป็นเครือข่ายที่เรียกว่า ประสบการณ์"

            การผสมผสานวิชาไม่ใช่องค์ความรู้ใหม่ เพราะในปัจจุบันมีผลงานมากมายในโลกที่ผสมผสานระหว่างวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นการทำลายพรมแดนทางสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ Guns, Germs, and Steel ที่อธิบายความเป็นมาของมนุษย์ในปัจจุบันผ่านประวัติศาสตร์ ชีววิทยา ภูมิศาสตร์ และพฤติกรรมศาสตร์ หรือหนังสือ Upheaval: How Nations Cope with Crisis and Change และ Sapiens a Brief History of Humankind ที่ผมยกตัวอย่างไว้ข้างต้น 

            นอกจากนั้นแล้ว ในพื้นฐานการประเมินผลทางการศึกษาควรมุ่งเน้นการประเมินเพื่อพิจารณาพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคน ไม่ใช่การตัดสินว่านักเรียนได้คะแนนเท่าไหร่ หรือได้เกรดเท่าไหร่ ถ้าประเมินแล้วนักเรียนไม่ได้บรรลุตามจุดมุ่งหมายที่วางเอาไว้ ครูก็จะต้องพิจารณาว่ากระบวนการในขั้นตอนใดที่ยังบกพร่องและจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง ดังนั้นหากจะประเมินพัฒนาการของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การประเมินผลงานและคะแนนสอบอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ

            แต่จะต้องประเมินผ่านกระบวนการของนักเรียน ผ่านการประเมินตนเองของนักเรียน ผ่านการประเมินจากเพื่อน ว่าพวกเขาวางแผนเพื่อแบ่งภาระงานอย่างไร และกระบวนการทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ พวกเขามีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งสอดค้องกับลักษณะเด่นของการประเมินในประเทศฟินแลนด์ที่ครูมีกระบวนการวัดทักษะและความรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ใช้ผลการวัดที่ผ่านการยืนยันซึ่งกันจนมั่นใจในการตัดสินผลของนักเรียน และมีการสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับเพื่อนนักเรียน และสะท้อนผลจากตัวนักเรียนเองด้วย

            จึงเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาในประเทศไทยที่จะต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ให้มากที่สุด เราไม่จำเป็นต้องยกแผงทั้งระบบหรือเปลี่ยนแปลงทั้งหมด เนื่องจากวัฒนธรรมทุกอย่างเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายในเวลาอันสั้น พวกเราสามารถพัฒนารูปแบบการสอนที่ผสมผสานระหว่างสาขาวิชาได้ โดยค่อย ๆ เริ่มจากบางคาบเรียนเพื่อทำการศึกษาวิจัย โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าการถ่ายทอดเนื้อหา (ซึ่งยังคงจำเป็นอยู่บ้าง) 

และสุดท้ายเราจะต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการประเมินผลที่ประเมินจากผลงาน สอบกลางภาค และสอบปลายภาคเสียที ซึ่งเราสามารถประนีประนอมระหว่างระบบการประเมินที่กระบวนการ การประเมินตนเอง การประเมินโดยเพื่อน และการประเมินโดยครูเข้ากับการสอบวัดความรู้และประเมินผลผลิตแบบเดิมก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะออกแบบและให้แบ่งสัดส่วนอย่างไร ผมแนะนำว่าคุณครูสามารถทดลองการประเมินรูปแบบต่าง ๆ ได้เสมอ เพียงแต่อาจจะเริ่มจากการให้สัดส่วนคะแนนที่น้อยและค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อกระบวนการเรียนรู้เริ่มอยู่ตัว สรุปก็คือ

หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในประเทศไทย คือการประนีประนอมระหว่างระบเก่า และระบบใหม่

อ้างอิง

Brock, A., & Hundley, H. (2016). The Growth Mindset Coach: A Teacher's Month-by-Month Handbook for Empowering Students to Achieve. CA: Ulysses Press.

Lonka, K., Makkonen,J. Berg, M., Talvio, M., Maksniemi, E., Kruskopf, M., Lammassaari, H., Hietajärvi, L., & Westling. S. (2018). Phenomenal Learning from Finland. Helsinki: Edita.

Nuora, P. & Välisaari, J. (2019). Kitchen chemistry course for chemistry education students: influences on chemistry teaching and teacher education – a multiple case study. Chemistry Teacher International. 2(1), 1–10. https://doi.org/10.1515/cti-2018-0021

Prawat, S. (1992). Teacher's beliefs about teaching and learning: A constructivist perspective. American Journal of Education, 100(3), 354-395. https://doi.org/10.1086/444021

Smith, D. (2013). How to Think Like Steve Jobs. UK: Michael O' Mara Books.

Symeonidis, V. & Schwarz, J. F. (2016). Phenomenon-Based Teaching and Learning through the Pedagogical Lenses of Phenomenology: The Recent Curriculum Reform in Finland. Forum Oświatowe. 28(2), 31–47. http://www.edite.eu/wp-content/uploads/2017/11/Phenomenon-based-teaching-and-learning-through-the-pedagogical-lenses-of-phenomenology_The-recent-curriculum-reform-in-Finland.pdf

กลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สานักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2562) รายงานการอบรมหลักสูตรการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ณ คณะพฤติกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Helsinki ประเทศฟินแลนด์ 13 - 20 มีนาคม 2562. https://www.obec.go.th/wp-content/uploads/2019/06/Finland-สวก.pdf

สมนึก ภัททิยธนี. (2565). การวัดผลการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 13. กาฬสินธุ์: ประสานการพิมพ์.

ความคิดเห็น