จิตวิทยาความรัก (Psychology of love) ฟื้นจากความเจ็บปวดของการเลิกรา

เมื่อความรู้สึกดี ๆ ได้เกิดขึ้นมันก็มีวันที่จะต้องเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

            ความรักคือความรู้สึกที่ถูกพูดถึงมากที่สุด เป็นความรู้ที่เต็มไปด้วยความสุขพร้อมกันนั้นก็สร้างความสับสนงงงวยมากที่สุดเช่นเดียวกัน ความรักเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของมนุษย์เรา เป็นแรงบัลดาลใจ และเป็นสะพานเชื่อมเราไปสู่โลกที่แตกต่างจากเดิม ไม่ว่าความรักนั้นจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม รักงานเขียน รักงานศิลปะ รักเพื่อน รักสัตว์ หรือรักใครสักคนอย่างโรแมนติก กล่าวคือความรัก คือความหลงใหลและผูกพันกับบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความโรแมนติกเสมอไป 

            แต่เรามักจะคุ้นเคยกับความรักในรูปแบบโรแมนติก เพราะมันเต็มไปด้วยช่วงเวลาที่แสนวิเศษและเป็นช่วงที่แสนอยากจะลืมเลือนซึ่งแม้ว่าจะใช้เวลาทั้งชีวิตก็มิอาจลืมเลือนได้เสียที ผมเชื่อว่าเราทุกคนต่างก็เคยมีความรักแบบโรแมนติกให้กับใครสักคน แม้เราอาจจะไม่ได้คบหากับคนคนนั้นหรือแต่งงานกับคนคนนั้นก็ตาม และเช่นเดียวกันสิ่งที่เราคุ้นเคยเท่ากับการมีความรักให้ใครสักคนก็คือ "การเลิกรา"

            การเลิกราเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดที่เราทุกคนต่างก็เคยเผชิญ ไม่เพียงแค่นั้นการเลิกรายังเป็นความเจ็บปวดที่เป็นบาดแผลอันทดทานยากเกินกว่าจะเยียวยาได้ในเวลาอันสั้น หลายคนใช้ระยะเวลาเป็นปี ๆ กว่าที่ความเจ็บปวดนี้จะทุเลาลง หรือในบางกรณีความเจ็บปวดนี้อาจจะคงทนไปตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนที่ผิดหวังกับความรัก คนที่เจ็บปวดจาการเลิกรา และจะมีวิธีใดบ้างที่จะฟื้นจากความเจ็บปวดเหล่านี้ได้

ความเจ็บปวดจากการเลิกรา

            คนทุกคนอาจจะมีสาเหตุของการเลิกราหรือการหย่าร้างที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจะเลิกเพราะเข้ากันไม่ได้ เพราะเบื่อ เพราะมีทัศนคติที่ไม่เหมือนกัน เพราะมีความแตกต่างกันในด้านสถานะทางสังคม มีฐานะทางการเงินที่แตกต่างกัน นอกใจ ทำให้ผิดหวัง นิสัยเปลี่ยนไป หรืออีกฝ่ายทำสิ่งที่เลวร้ายมากมาย ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่แล้วเหตุผลของการบอกเลิกจะแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุใหญ่ ๆ ซึ่งมาจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประกอบไปด้วย

            1) สาเหตุจากตัวบุคคล บางคนอาจจะมองว่าตนเองหรืออีกฝ่ายเป็นต้นตอของความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว ซึ่งมักจะพบเห็นได้ทั่วไป และจะแสดงออกเป็นการตำหนิตนเอง หรือตำหนิอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นสาเหตุของความสัมพันธ์ที่แตกสลาย การตำหนิตนเองจะทำให้เราตกอยู่ในวังวนของการกล่าวโทษตัวเองอย่างไม่รู้จบ เช่นเดียวกับการโยนความผิดให้คนรัก อาจส่งผลเสียจะส่งผลเสียต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง เพราะเราจะรู้สึกว่าแม้ต้นตอของปัญหาจะเป็นอีกฝ่ายหรือคู่รักของเขาก็ตาม แต่เราก็ไม่สามารถทำอะไรกับมันได้เลย

การโยนความผิดให้คนรัก อาจส่งผลเสียจะส่งผลเสียต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง

            2) สาเหตุที่มาจากปฏิสัมพันธ์ ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งในการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตระหนักดีว่าปัญหาชีวิตคู่ไม่จำเป็นต้องเกิดจากความผิดพลาดของคนคนเดียวเสมอไป ในทางกลับกันผู้หญิงเหล่านี้มองไปที่ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก พวกเธอมองว่าการแต่งงานนั้นพังทลายลงเนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การขาดการสื่อสารหรือความใกล้ชิด หรือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือค่านิยม

            ผู้อ่านจะเป็นว่า "สาเหตุที่มาจากปฏิสัมพันธ์" เป็นสาเหตุที่มีความซับซ้อนและต้องใช้กระบวนการคิดมากกว่าการโทษตนเองหรือผู้อื่น การทบทวนว่าเหตุใดปฏิสัมพันธ์ของเราจึงมาถึงจุดที่ล้มเหลวเป็นวิธีมองปัญหาตามความเป็นจริงและเป็นประโยชน์มากกว่าการโทษกันไปมา และจะทำให้เรารู้สึกว่าสามารถจัดการสถานการณ์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพราะหลายครั้งปัญหาก็เกิดจากมุมมองที่ไม่ตรงกันหรือวิธีการสื่อสารของคู่รักที่มีต่อกัน

            นักวิจัยที่ฮาร์วาร์ดชี้ว่าผู้หญิงที่เลือกพิจารณา "สาเหตุที่มาจากปฏิสัมพันธ์" มีแนวโน้มจะเห็นคุณค่าในตนเองมากกว่าผู้หญิงที่เลือกตำหนิคนรัก (สาเหตุจากตัวบุคคล) เมื่อนักวิจัยติดตามผู้หญิงเหล่านี้ไปสักระยะ พวกเขาพบว่าผู้หญิงที่เข้าใจธรรมชาติของปฏิสัมพันธ์จะมีความสุขมากกว่าและมีความรู้สึกเชิงบวกต่ออดีตสามีมากกว่าผู้หญิงอีกกลุ่ม แม้จะเป็นเรื่องง่ายกว่าอย่างมากที่จะกล่าวโทษคนอื่นสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ เพราะสมองของเราไม่จำเป็นต้องทำงานหนักเพื่อที่จะเข้าใจและหาเหตุผลของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

            แต่ถึงแม้ว่าวิธีการโทษคนอื่นหรือตนเองจะง่ายกว่าในระยะสั้น วิธีคิดเช่นนี้อาจจะทำร้ายตัวเราเองอย่างรุนแรงได้ในระยะยาว คนที่ตำหนิอีกฝ่ายอยู่เสมอมักจะเศร้ามากกว่าหลังจากเลิกราและคิดบวกน้อยกว่า ในทางกลับกันเมื่อเราให้เวลากับการหาสาเหตุของปัญหาและพิจารณาว่าทำไมปฏิสัมพันธ์ระหว่างเราทั้งสองจึงล้มเหลว เราจะมองสถานการณ์ได้ชัดเจนขึ้น และอาจเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เราทุกข์ทรมานไปมากกว่าเดิมอีกด้วย

ฟื้นจากความเจ็บปวดของการเลิกรา

            เมื่อเรากำลังมีความรัก ร่างกายของเราจะผลิตสารเคมีที่ทำให้รู้สึกพอใจ เช่น โดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลให้เกิดความกระปรี้กระเปร่าและร่าเริง และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ที่ทำให้ตื่นตัวและมีพลัง เมื่อแรกเข้าสู่ห้วงแห่งความรักเราจะมีแนวโน้มที่จะมีระดับของเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยในการควบคุมอารมณ์ต่ำกว่าในคนที่ไม่ได้กำลังมีความรัก สิ่งที่น่าสนใจคือ ระดับเซโรโทนินที่ลดลงนั้นเป็นสภาวะที่พบได้ในคนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ 

            จึงเป็นเหตุผลที่เมื่อเรามีความรักเราแทบไม่อาจเลิกคิดถึงและหมกหมุ่นเกี่ยวกับอีกฝ่ายได้เลย รวมไปถึงความรู้สึกหึงหวงและวิตกกังวลที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย และยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คืองานวิจัยของมหาวิทยาลัยสโตนีบรูกในสหรัฐอเมริกา ก็พบว่าเมื่อเราถูกบอกเลิก สมองของเราจะถูกกระตุ้นในบริเวณเดียวกันกับสมองของคนที่ติดยาและกำลังอยากยา ดังนั้นการถูกบอกเลิกโดยคนที่เรารักอย่างลุ่มหลงจึงสามารถทำให้เรารู้สึกเหมือนคนอยากยา เราจะโหยหาไม่สามารถหยุดคิดถึงอีกฝ่ายได้เลย

            ไม่เพียงแค่นั้นเมื่อเราถูกบอกเลิกกระแสธารแห่งสารเคมีที่เคยท่วมท้นและทำให้เรารู้สึกดี เช่น โดพามีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักของคนที่มีความรัก จะหยุดลงและสมองของเราจะเข้าสู่ภาวะ "ลงแดง" การเลิกราจึงทำให้อารมณ์ของเราดิ่ง และด้วยเหตุผลนี้เราจึงต้องหันไปหาสิ่งที่ช่วยชุบชูใจเพื่อให้เรามีอารมณ์ดีขึ้น มีความสุข และมีจุดมุ่งหมายในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นการที่เราจะสามารถฟื้นจากการเลิกราได้ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งในระหว่างนั้นหากเราสามารถทำความเข้าใจข้อเท็จจริงของความรักได้ จะช่วยเราได้อย่างดีในการฟื้นตัวกลับมา

            1) เราต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์เป็นสิ่งชั่วคราว เมื่อบางอย่างทำให้เรามีความสุขเราจะพยายามยึดมันไว้และไม่ต้องการที่จะปล่อยมันไป การยึดติดดังกล่าวอาจทำให้เราเป็นทุกข์ได้ เพราะความจริงก็คือทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงเป็นเหตุผลที่เราไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในความสัมพันธ์มากเกินไป แม้ว่ามันจะทำให้เรามีความสุขในช่วงเวลาหนึ่งก็ตาม เราอาจเคยมีช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ กับอดีตคนรัก แต่เราคงไม่อาจหวังให้สิ่งดี ๆ ที่เราเคยมีกลับมาได้ เพราะเมื่อความรู้สึกดี ๆ ได้เกิดขึ้นมันก็มีวันที่จะต้องเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เมื่อถึงเวลาเราก็จำเป็นต้องปล่อยมันไป 

ให้ประสบการณ์ที่ดีหล่อหลอมและผลักดันเราไปข้างหน้า และเมื่อถึงเวลาหนึ่งเราก็จำต้องปล่อยวาง และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ต่อไป

            2) สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการช่วยเหลือทางสังคม โดยเราสามารถพบปะเพื่อนฝูงเพื่อลดผลกระทบของความเครียด สิ่งนี้ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยอันโด่งดังเกี่ยวกับความสุขของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแล้วว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่สำคัญและส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพจิต การอกหักก็เช่นเดียวกัน เพื่อน ครอบครัว หรือสังคมสามารถช่วยเยียวยาให้เราลดผลกระทบของความเศร้าและความเจ็บปวดลงได้ ยิ่งเรามีเพื่อนที่ดีมากเท่าไหร่ก็ยิ่งช่วยเราได้มากขึ้นเท่านั้น

            3) เราจะต้องวิเคราะห์การเลิกราโดยพิจารณาสาเหตุที่มาจากปฏิสัมพันธ์ อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า "ผู้หญิงที่เลือกพิจารณา สาเหตุที่มาจากปฏิสัมพันธ์ มีแนวโน้มจะเห็นคุณค่าในตนเองมากกว่าผู้หญิงที่เลือกตำหนิคนรัก" การให้เหตุผลดังกล่าวจะเป็นการที่เรามีเมตตาต่อตัวเองและอดีตคนรักมากขึ้นอีกด้วย แม้ว่าจะเห็นได้ชัดเจนว่าอีกฝ่ายเป็นต้นเหตุแห่งความสัมพันธ์ที่พังพินาศ แต่การโทษอีกฝ่ายเพียงอย่างเดียวจะยิ่งจะสร้างความเกลียดชังและการเห็นคุณค่าในตนเองที่ลดลง (ลดลงเพราะเราไม่สามารถจัดการอะไรกับมันได้เลย)

            การที่อีกฝ่ายทำเรื่องแย่ ๆ กับเรามันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ซึ่งไม่สอดรับกับสัญชาตญาณที่จะอยากจะควบคุมและหาคำอธิบายให้ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวมนุษย์เลย ดังนั้นการที่เรารู้จักหาเหตุผลในด้านอื่น ๆ มาประกอบ เช่น "เพราะนิสัยที่แตกต่างกัน" "เพราะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน" หรือ "เพราะมีความเชื่อที่แตกต่างกัน" จึงทำอีกฝ่ายเลือกที่จะทอดทิ้งและจากไป เราไม่สามารถเปลี่ยนตัวเราเองและอีกฝ่ายได้อย่างแน่นอนเพราะเราก็เป็นเรา และเขาก็เป็นเขา เป็นข้อเท็จจริงที่มิอาจปฏิเสธได้

            โอลิเวีย รีมส์ (Olivia Remes) ผู้เขียนหนังสือ The Instant Mood Fix: Emergency remedies to beat anxiety, panic or stress ได้เล่าถึงพระรูปหนึ่งที่เธอได้พบระหว่างการเดินทาง พระรูปนั้นกล่าวว่า "คุณให้อภัยได้ แต่ไม่ได้แปลว่าคุณต้องลืม" หลายคนอาจจะพยายามลืมเลือนความสัมพันธ์ที่เจ็บปวดทั้ง ๆ ที่เป็นไปไม่ได้ เพราะต่อให้เราเลิกคิดถึงมัน เรื่องราวต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นก็วนเวียนอยู่ในจิตใต้สำนึกและหล่อหลอมจนกลายเป็นตัวตนของเราในทุกวันนี้ ดังนั้นเก็บบทเรียนที่ได้จากความสัมพันธ์ที่พังพินาศเอาไว้ในใจ และอภัยทั้งตัวเองและอีกฝ่าย 

จะทำให้เราเติบโตกลายเป็นตัวตนที่ดีกว่าเดิมมากขึ้น และพร้อมที่จะได้รับความรักอีกครั้งหนึ่ง

อ้างอิง

Aron, A.,  Fisher, H., Mashek, D., Strong, G.,  Li, H., & Brown., L. (2005). Reward, motivation, and emotion systems associated with early-stage intense romantic love. Journal of Neurophysiology. 94(1): 327-337. https://doi.org/10.1152/jn.00838.2004

Newman, H., & Langer, E. (1981). Post-divorce adaptation and the attribution of responsibility. Sex Roles. 7(1): 223–232.

Remes, O. (2021). The Instant Mood Fix: Emergency remedies to beat anxiety, panic or stress. UK: Ebury.

Seshadri, K. (2016). The neuroendocrinology of love. ​Indian Journal of Endocrinology and Metabolism. 20(4):558-563. https://doi.org/10.4103/2230-8210.183479

ความคิดเห็น