ข้อคิดที่ได้จากเรื่องราว เฮนรี แอรอน นักเบสบอลจากดินสู่ดาว

"เขาฝึกซ้อมโดยใช้ก้านไม้หวดฝาขวดที่น้องชายโยนให้"

            ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรามีเรื่องราวน่าสนใจของผู้คนที่เกิดมาด้วยความยากจน แต่ด้วยความพยายาม อดทน พัฒนาตนเอง จนสามารถก้าวขึ้นมายืนอยู่บนจุดสูงสุดได้ และเรื่องราวเหล่านี้ก็กินใจของผู้คนอย่างมาก ในความคิดเห็นของผมเป็นเพราะเราเกือบทุกคนรู้สึกเป็นทุกข์กับความเป็นอยู่ไม่มากก็น้อย แม้เราทุกคนจะพอมีความสุขบ้างก็ตาม แต่การที่ได้เห็นชีวิตของใครหลายคนที่น่าสงสารแต่สุดท้ายก็หลุดพ้นจากวิกฤตนั้นไปได้ มันทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้มีความหวังขึ้นมาบ้าง และเรื่องราวของ เฮนรี แอรอน ก็เป็นตัวอย่างที่ดี

เรื่องราว เฮนรี แอรอน นักเบสบอลจากดินสู่ดาว

            เฮนรี แอรอน (Henry Aaron) เป็นนักกีฬาที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เติบโตขึ้นมาในภาคใต้ของอเมริกายุคแบ่งแยกสีผิว สมัยเด็กเฮนรีมักจะมองดูพ่อของเขาถูกบังคับให้ยอมสละคิวตอนต่อแถวซื้อของในร้านค้าให้กับคนผิวขาวทุกคนที่เดินเข้ามา จนกระทั่งเขาได้ดูเรื่องราวของ แจ็คกี้ โรบินสัน (Jackie Robinson) ผู้ซึ่งสามารถทลายเส้นแบ่งสีผิวของกีฬาเบสบอลลงได้ ทำให้เฮนรี่ในวัย 13 ขวบเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจและเชื่อว่าวันหนึ่งของเขาจะเป็นผู้เล่นในเมเจอร์ลีกได้เหมือนกัน

            เฮนรีไม่มีไม้หรือลูกเบสบอล เขาจึงฝึกซ้อมโดยใช้สิ่งของที่เขามี นั่นคือ "ก้านไม้" เขาเอาก้านไม้มาหวดฝาขวดที่น้องชายโยนให้ นอกจากฝาขวดแล้วเขายังใช้สิ่งของอื่น ๆ ที่หาได้ตามท้องถนนเพื่อใช้สำหรับฝึกฝน พัฒนาตัวเองตามความฝันที่เขาตั้งใจเอาไว้ (แต่ส่วนใหญ่จะเป็นฝาขวด) และด้วยความมุมานะ ทุ่มเท บวกกับฝาขวดและก้านไม้นี้เองที่ทำให้อนาคตเขาสามารถทำลายสถิติโฮมรันตลอดชีวิตของแบบ รูท (Babe Ruth) ซึ่งเป็นนักเบสบอลมืออาชีพชาวอเมริกันชื่อดังได้

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องราว เฮนรี แอรอน 

            เรื่องราวนี้เป็นเรื่องสั้น ๆ ที่น่าสนใจและสามารถนำมาเป็นข้อได้มากมายนอกเหนือยจากความมุมานะ พยายามที่ผมจะกล่าวต่อไป เรื่องราวของ เฮนรี แอรอน ผมได้นำมาจากหนังสือ The Tyranny of Merit: What's Become of the Common Good? ผู้เขียน ไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาได้ยกเรื่องราวของแอรอนมาเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับ "คู่ควรนิยม" และ "ความเท่าเทียมของโอกาส" ได้อย่างยอดเยี่ยม

"เฮนรีมักจะมองดูพ่อของเขาถูกบังคับให้ยอมสละคิวในร้านค้าให้กับคนผิวขาวทุกคนที่เดินเข้ามา"

            1) ความเพียร ก่อนที่ผมจะเริ่มต้นเกี่ยวกับประเด็นด้านความเท่าเทียม ผมอยากจะพูดถึงความเพียรเสียก่อน ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตาม ความเพียร คือ การพยายามกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความเข้มแข็ง อดทน ไม่ทอดทิ้งหรือท้อถอย ข้อคิดเกี่ยวกับความเพียรเป็นสิ่งที่เรามักจะพบเห็นกันในเรื่องราวมากมาย โดยเฉพาะหลักธรรมของพระพุทธศาสนา "อิทธิบาท 4" ก็มีความเพียรเป็นหนึ่งในนั้น นอกจากนั้นยังมีการศึกษาของ แองเจล่า ดั๊กเวิร์ธ (Angela Duckworth) ผู้เขียนหนังสือ Grit ที่พบว่า ความเพียรเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บุคคลประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ผู้ที่มีความฉลาดทางด้านสติปัญญา (IQ) เพียงอย่างเดียว

            เฮนรี แอรอน เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนที่มีความเพียร พยายาม และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองตามความปรารถนาที่ตนเองตั้งเป้าเอาไว้ ซึ่งสอดคล้องกับสูตรความสำเร็จของดั๊กเวิร์ธ เธออธิบายการจะประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีความอดทนและความหลงใหลไปด้วยกัน (ความหลงใหล (Passion) + ความอดทน (Perseverance)) นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บุคคลในประวัติศาสตร์มากมายประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามผมรู้จักผู้คนมากมายที่มีความเพียรแม้พวกเขาจะไม่ประสบความสำเร็จตามสูตรค่านิยมของสังคมก็ตาม แต่พวกเขาก็สามารถมีชีวิตที่พวกเขาพึงพอใจได้ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องเพียรพยายามที่จะประสบความสำเร็จตามค่านิมยม แต่ความเพียรก็ยังเป็นตัวแปรหนึ่งที่จะพาเราให้มีชีวิตที่เราพึงพอใจได้อยู่ดี

            2) ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาส มีคำพูดหนึ่งที่ผมมักได้ยินตั้งแต่ยังเป็นเด็กนั่นคือ "ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั้น" ผมไม่ชอบคำนี้มาตั้งแต่ยังเด็ก เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่ล้มเหลวกับชีวิตและการเรียนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทั้งการที่พ่อแม่แยกทางกัน แม่เป็นโรคจิตเภท และโรงเรียนที่แทบไม่ได้ไป ถึงขนาดที่ผมหยุดการเรียนไปสามปีสมัยประถมปลาย จึงเป็นเหตุผลที่ผมไม่ชอบคำพูดนี้อย่างมาก เพราะผมคิดว่าตัวเองก็พยายามทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว แต่มันก็ไม่เคยจะสำเร็จเสียที บางคนอาจจะพูดว่า "เธอยังพยายามไม่พอ" คำถามของผมก็คือ "แล้วเท่าไหร่กันถึงจะพอเสียที"

            แม้ผมจะสามารถยืนหยัดกลับมาเรียนจบปริญญาโทจนกลายมาเป็นครูได้ แต่ชีวิตที่ต้องแบกความทรงจำหรือประสบการณ์ที่หนักอึ้งขนาดนั้นมันก็ชวนให้เหนื่อยล้าในหลายครั้งหลายคราเหลือเกิน และยังมีผู้คนอีกมากมายบนโลกใบนี้ที่ต้องเผชิญหน้ากับความสับสนอลหม่าน เมื่อคุณวิ่งแล้วล้ม วิ่งแล้วล้ม วิ่งแล้วล้ม แน่นอนคุณสามารถลุกขึ้นมาวิ่งใหม่ได้เรื่อย ๆ แต่ความเจ็บปวดจากการล้มและกำลังใจที่แห้งเหือดก็ทำให้ใครหลายคนล้มนอนอยู่ตรงนั้น ซ้ำร้ายกว่านั้นกลับโดนคนรอบข้างที่เถิดทูนบูชาคนที่ล้มแล้วยังวิ่งต่อได้ หรือคนที่มีโอกาสมากพอทำให้เขาวิ่งได้เรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีทางล้ม ค่านิยมดังกล่าวทำให้คนล้มยากที่จะลุกขึ้นมาได้อีก 

            3) ไม่ว่าชีวิตมันจะแย่สักแค่ไหน ไม่ได้หมายความว่าเราต้องยอมแพ้ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาส ไม่ใช่ทุกคนที่จะลุกขึ้นมาในขณะที่ล้มอย่างรุนแรง ไม่ใช่ทุกคนที่พยายามแล้วจะสำเร็จ แต่ชีวิตมันก็ต้องเคลื่อนไปข้างหน้า แม้เราจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกับใคร ๆ ไม่มีรถขับ ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่มีอะไรก็ตามที่ยึดโยงกับค่านิยมของคนส่วนมากในสังคม ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะต้องสิ้นสุดลง แน่นอนว่ามันเหนื่อยที่เห็นคนอื่นก้าวขึ้นไปสูงกว่าตัวเรา มีทุกสิ่งทุกอยากที่เราปรารถนาตามสัญชาตญาณของมนุษย์ แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญของที่สุดในชีวิตของเราอย่างแน่นอน

            ผู้คนต่างคิดว่าข้าวของ ทรัพย์สิน เงินทอง เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย สำหรับผมแล้วสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการมีที่ซุกหัวนอนให้ความอบอุ่น (แม้เราจะไม่ได้เป็นเจ้าของมันก็ตาม) อาหารการกิน สุขภาพ และผู้คนที่เรารักและรักเรา การมีปัจจัยเหล่านี้ครบย่อมทำให้ชีวิตของเรามีความสุขได้แล้ว แน่นอนว่าเราอาจจะมีความอยากได้ตามความเป็นมนุษย์ของเรา แต่เราควรจะตระหนักไว้ว่าอะไรกันแน่ที่สำคัญ อะไรกันแน่ที่เราควรจะให้คุณค่า หากเราให้คุณค่ากับสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ย่อมทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นและสามารถลุกขึ้นวิ่งต่อได้ แม้จะล้มลงด้วยความเจ็บปวดแค่ไหนก็ตาม 

            หากเรานำทั้งสามข้อคิดมาพิจารณาเราจะเห็นว่า มันเหมือนกับชีวิตหนึ่งของมนุษย์ พวกเราต่างก็เคยพยายามกับหลายสิ่งหลายอย่าง เมื่อพยายามจนถึงระดับหนึ่งเราจะถามตัวเองว่า "ทำไมเราถึงไม่ได้สำเร็จเหมือนกับคนอื่น" "ทำไมเราถึงไม่มีเท่ากับคนอื่นหรือได้เท่ากับคนอื่น" นั่นเป็นเพราะว่าโอกาสของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน มีหลายคนบนโลกที่ขาดโอกาส และต่อให้เขาพยายามมากแค่ไหนก็ยากที่จะก้าวขึ้นมาได้บนสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำได้ ซ้ำร้ายกว่านั้นผู้คนในสังคมยังให้ค่ากับหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องแลกด้วยทรัพย์สินเงินทองมากมายอีกด้วย

            อย่างไรก็ตามต่อให้โอกาสของเราจะไม่เท่ากับคนอื่น ก็ไม่ได้หมายความเราจะต้องหยุดเพียร พยายามลุกขึ้นเดินต่อไปบนเส้นทางแห่งชีวิตที่ไม่เคยง่ายนี้ เพราะเราเกิดมาเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แม้ชีวิตนี้มันจะไม่ได้มีความหมายมากขนาดนั้นก็ตาม แต่ชีวิตของเรายังมีหนทางอีกยาวไกล จึงเป็นเหตุลผลที่เราไม่ควรดำเนินชีวิตด้วยการมีความทุกข์มากกว่าสุข เราควรหาความสุขให้กับตัวเองเพื่อรักษาสมดุลของชีวิตให้เดินต่อไปได้ แม้เราจะไม่สามารถลุกขึ้นจากดินสู่ดาวได้แบบ เฮนรี แอรอน แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องยอมแพ้กับชีวิต เพราะต่อให้ฝ่าเท้าของเราอยู่บนดิน

ก็สามารถแหงนหน้ามองดูดวงดาวที่งดงามตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตได้

อ้างอิง

Sandel, M. (2020). The Tyranny of Merit: What's Become of the Common Good?. NY: Farrar, Straus and Giroux.

คาลอส บุญสุภา. (2564). อิทธิบาท 4 หลักธรรมแห่งความสำเร็จ. https://sircr.blogspot.com/2021/05/4.html

ความคิดเห็น