เหตุผลที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ควรจะหมดหวังกับโลกในปัจจุบัน

เราสามารถรู้สึกแย่กับเหตุการณ์เลวร้าย ในขณะเดียวกันเราก็สามารถรู้สึกดีกับเหตุการณ์อื่นที่ดีไปพร้อมกันได้

            การที่ผมเป็นครูทำให้ผมได้มีโอกาสพบเจอกับเด็กนักเรียนไม่ว่าจะเป็นระดับชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา รวมไปถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ผมพบความแตกต่างระหว่างเด็กประถมและมัธยม เด็กประถมจะค่อนข้างมีความสุขและให้ความสนใจกับเพื่อนกับคุณครู แตกต่างกับเด็กมัธยมศึกษาที่จะให้ความสำคัญกับเพื่อน ความคิดของตนและสังคม ใช่ครับผมกำลังจะบอกว่าเด็กนักเรียนมัธยมในปัจจุบันให้ความสนใจกับสังคมมากกว่าที่เราคิด แม้ว่าเด็กหลายคนจะมองในเชิงลบก็ตาม

            เหตุผลที่พวกเขามองสังคมในเชิงลบก็เพราะ เขารู้สึกว่าสังคมเต็มไปด้วยเรื่องแย่ ๆ ผู้ที่ยึดอำนาจตั้งกฎกติกาขึ้นมาเพื่อเป็นประโยชน์กับตนเอง สังคมที่ให้ความสำคัญกับคนเพียงส่วนน้อย และบริหารโดยเน้นแก้ปัญหาในปัจจุบันมากกว่าวางรากฐานที่จะเติบโตไปสู่อนาคต และยังมีเรื่องอื่นอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขารู้สึกว่า "สังคมมันแย่" ซึ่งเป็นองค์ความคิดที่ส่งผลต่อพวกเขาอย่างน่ากลัว เพราะมันจะทำให้พวกเขาต่อต้านกับความคิดเห็นที่อยู่ตรงกันข้ามกับตนเองแทบจะเสียทั้งหมด และสามารถก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าไปจนถึงโรคซึมเศร้าได้ 

            สิ่งที่ผมกำลังจะบอกก็คือแม้ว่าพวกเขาจะคิดเกี่ยวกับสังคมได้อย่างถูกต้อง (ในความคิดเห็นของผม) ซึ่งพวกเขามีเหตุผลมากพอที่จะหมดหวังในสังคมแบบนี้ แต่ผมไม่อยากให้พวกเขาไปไกลถึงจุดนั้น เพราะจริง ๆ แล้วจุดสีฟ้าที่เรียกว่าโลกใบนี้ มันไม่ได้มีแต่เรื่องน่าหมดหวังขนาดนั้น ดังนั้นเราน่าจะมองหาจุดดี ๆ ที่มีความหวังบ้าง ประกอบกับเรื่องแย่ที่ชวนให้หมดหวัง เพราะผมไม่อยากให้พวกเราปฏิเสธความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทั้งสองมุม นี้จึงเป็นเหตุผลทึ่มีเขียนบทความนี้ขึ้นมา 

ผมเป็นหนึ่งคนที่รู้สึกแย่กับสังคมรอบตัวแต่ก็รู้สึกมีหวังกับโลกใบนี้จากการได้ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นครูของพวกเขา

เหตุผลที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ควรจะหมดหวังกับโลกในปัจจุบันนี้

            แม้ชื่อบทความของผมจะเป็นเรื่องที่สื่อถึงการมีความหวัง แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ดีเสียทุกอย่างและผมก็ไม่เชื่อเรื่องการมองหามุมบวกในเรื่องแย่ ๆ มันดูเป็นกระบวนการคิดที่ไร้สาระเสียสิ้นดี เพียงแต่ส่วนมากพวกเราเข้าใจผิดเกี่ยวกับมุมมอง เรามักจะตีค่าทุกอย่างโดยยึดเอามุมมองจากประสบการณ์รอบตัวของเรา ยกตัวอย่างเช่น เราเห็นข่าวว่าอาชญากรรมในโลกนี้มากขึ้น จากข่าวทางทีวีหรือทางเครือข่ายสังคมที่เราใช้บริการ จนลืมไปว่าสถิติจริง ๆ แล้วตัวเลขอาชญากรรมลดลงกว่าในอดีต

จุดสีฟ้าที่เรียกว่าโลกใบนี้ มันไม่ได้มีแต่เรื่องน่าหมดหวังขนาดนั้น

            ข่าวมักจะนำเสนอเหตุการณ์แย่ ๆ ในปัจจุบันเพื่อเตือนภัยพวกเราเสมอ ความรู้สึกร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับพวกเราถูกซ้ำเติมโดยที่เราจินตนาการว่าประวัติศาสตร์ของพวกเรานั้นแสนสวยสดงดงามโดยไม่ได้ตระหนักว่าปีที่แล้ว สิบปีที่แล้ว หรือห้าสิบปีที่แล้วก็เคยมีจำนวนเหตุการณ์ร้ายแรงเท่านี้หรืออาจจะมากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ ภาพลวงว่าสิ่งต่าง ๆ แย่ลงทำให้บางคนเครียดและทำให้ผู้คนสูญสิ้นความหวังโดยไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย ไม่เพียงแค่นั้นมุมมองเหล่านี้ยังเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่ครั้งหนึ่งอาจจะเคยเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรงไปจนถึงเด็กรุ่นใหม่ที่พึ่งเกิดมาบนโลกใบนี้เพียงระยะเวลาไม่กี่ปี

            เราทุกคนใช้ความรู้สึกแทนการคิด เราใช้สัญชาตญาณอันรวดเร็วของเราที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเตือนภัยอันตรายและตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว มากกว่าการคิดอย่างมีสติที่แสนจะชักช้า หากผมบอกผู้อ่านทุกคนว่าโลกนี้ค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับในอดีต ผู้อ่านแทบจะทุกคนคงจะหาว่าผมไร้สาระ แต่ในหนังสือ Factfulness: Ten Reasons We're Wrong About the World and Why Things Are Better Than You Think ผู้เขียน ฮานส์ รอสลิง (Hans Rosling) ค้นพบว่า ประชาชนที่เข้าถึงไฟฟ้ามีมากขึ้น เด็กเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น ผู้คนที่ยากจนสุด ๆ มีจำนวนลดลง และอาชญากรรมก็ลดลงด้วยเช่นเดียวกัน

            อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างมันชั่งแสนงดงาม ทุกอย่างรอบตัวเราล้วนน่ากลัว ไม่ว่าจะเป็นความพิการของของเด็กที่เกิดมา ภูมิอากาศที่เลวร้ายเรื่อย ๆ คนคลั่งชาติไร้สาระ เผด็จการบ้าอำนาจ นักการเมืองกะล่อน ขยะเป็นพิษ เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถแสดงออกอย่างมีเสรีภาพ หรือเด็กผู้หญิงที่ไม่ได้เรียนหนังสือแค่เพราะพวกเธอเป็นผู้หญิง ตราบเท่าที่มีเรื่องประเภทนี้อยู่ เราก็ไม่อาจทำใจสบายกับโลกใบนี้ได้เลย

            แต่การที่เราเลือกจะมองข้ามความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นก็ดูเป็นเรื่องไร้สาระเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการศึกษาของเด็กผู้หญิง เพราะการให้ความรู้ผู้หญิงนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นความคิดที่ดีที่สุดประการหนึ่งที่โลกเคยมีมา สิ่งมหัศจรรย์หลายอย่างเกิดขึ้นในสังคมเมื่อผู้หญิงได้รับการศึกษา แรงงานมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น การตัดสินใจดีขึ้นและแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น แม่ที่มีการศึกษาเลือกที่จะมีบุตรจำนวนน้อยและทำให้เด็กมีชีวิตรอดมากขึ้น การลงแรงและเวลากับการศึกษาของเด็กแต่ละคนนั้นเป็นเหมือนวัฏจักรแห่งความดีงาม

            แต่เดิมพ่อแม่ยากจนไม่สามารถส่งลูกทั้งหมดไปโรงเรียนได้มักจะเลือกส่งแต่เด็กผู้ชาย จนกระทั่งในปี 1970 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะในศาสนา วัฒนธรรม หรือทวีปใดก็ตาม พ่อแม่สามารถส่งลูกไปโรงเรียนได้ทั้งหมดทั้งลูกชายหรือลูกสาว ตอนนี้เด็กผู้หญิงได้รับการศึกษาใกล้เคียงกับเด็กผู้ชายแล้ว ร้อยละ 90 ของเด็กผู้หญิงได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา ขณะที่ตัวเลขสำหรับเด็กผู้ชายร้อยละ 92 ซึ่งแทบจะไม่แตกต่างกันเลย

            แม้ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นยังพบความแตกต่างอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะปฏิเสธความก้าวหน้าทั้งหมด และมองว่าโลกนี้มันแสนจะสิ้นหวังเหลือเกิน ผมไม่เห็นว่าการยินดีกับความก้าวหน้ากับการต่อสู้เพื่อให้มันดีขึ้นไปอีกจะขัดแย้งกันตรงไหน เราควรจะผลักดันเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้มีเสรีภาพอย่างที่พวกเขาต้องการ ได้มีโอกาสลองผิดลองถูก ล้มเหลวและลุกขึ้นมาด้วยตัวเขาเองพร้อมกับมีเราคอยอยู่ข้างหลัง เราควรจะสร้างบ้านเมื่องของเราที่เป็นของประชาชนไม่ใช่ของใครเพียงหยิบมือเดียว

            เราควรพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้มันเกิดขึ้น สิ่งนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เอง และหากเราหมดความหวังเพราะเข้าใจผิดอย่างไร้สาระ สิ่งนี้ก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน การหมดหวังอาจเป็นผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดของสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ ทั้ง ๆ ที่ความหวังเป็นพรสวรรค์ที่เราทุกคนได้รับมอบมาจากธรรมชาติ

เราจะมีความหวังอีกครั้งได้อย่างไร

            ความหวังสำหรับผมอาจจะไม่มีใช่อะไรที่วิเศษนัก แต่มันคือการที่ตระหนักรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังดีขึ้น แม้ความรู้สึกของเราจะพยายามบอกว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังแย่ลงก็ตาม พวกเราต่างเข้าใจผิดโดยชอบเอาความทุกข์ไปถ่วงดุลกับความสุข หรือเอาเรื่องลบมาถ่วงดุลด้วยเรื่องบวก ฮานส์ รอสลิงเปรียบสิ่งนี้เหมือนกับการเอาเกลือลงไปในอาหารในปริมาณมาก แม้มันอาจจะทำให้รสชาติดีขึ้น แต่มันก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

            รอสลิง เป็นแพทย์ นักวิชาการ ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพผู้ทรงอิทธิพลอันดับต้น ๆ ของโลก ได้แนะนำว่า การจะควบคุมสัญชาตญาณแห่งความเป็นลบสามารถทำได้โดยการ "ชักจูงให้ตัวเองคิดสองด้านในเวลาเดียวกัน" สิ่งนี้ไม่ได้แตกต่างอะไรกับวิธีการที่เราจะมีความหวังอีกครั้งหนึ่งได้ เราสามารถรู้สึกแย่กับเหตุการณ์หรือเรื่องราวเลวร้ายที่เกิดขึ้นได้ ในขณะเดียวกันเราก็สามารถรู้สึกดีกับเหตุการณ์หรือเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เราจึงสามารถมีหวังอีกครั้งหนึ่งได้ 

            เขายังแนะนำอีกว่า "เมื่อมีคนบอกว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังดีขึ้น ดูเหมือนเราคิดว่าเขาจะสื่อว่าไม่ต้องกังวล ทำใจสบาย ๆ หรือ มองข้ามไปซะ แต่เมื่อผมพูดว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังดีขึ้น ผมไม่ได้สื่อความหมายเช่นนั้น ผมไม่สนับสนุนให้มองข้ามปัญหาเลวร้ายต่าง ๆ ของโลกอย่างแน่นอน 

ผมกำลังบอกว่าสิ่งต่าง ๆ นั้น ทั้งแย่อยู่และกำลังดีขึ้นไปพร้อม ๆ กันได้"

            ในอดีตการผ่าตัดหัวใจในประเทศไทยเป็นสิ่งที่หรูหรา และเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเฉพาะชนชั้นสูง พวกเขาจะมองว่าชนชั้นล่างไม่สมควรที่จะได้รับการผ่าตัดที่มีราคาแพงขนาดนี้ มันเป็นสิ่งที่พวกเขามีศักยภาพเหนือกว่าชนชั้นล่างทั่วไป เช่นเดียวกับการรักษาโรคอื่น ๆ ที่มีราคาแพง แต่ในปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมาทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลง ประชาชนชั้นล่าง ๆ ที่ยากจนสามารถเข้าถึงการผ่าตัดที่มีราคาสูงได้ โดยใช้จ่ายในราคาที่ต่ำไปจนถึงไม่เสียเงิน มันจึงเป็นการขยับครั้งสำคัญของระยะห่างระหว่างคนจนและคนรวย

            แต่ในตอนนี้ประชาชนที่ยากจนต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้รับการรักษาในราคาที่ถูกและในบางกรณีก็ไม่ได้รับการรักษาในคุณภาพที่ดีนักเมื่อเทียบเท่ากับข้าราชการหรือผู้ที่มีกำลังในการจ่ายที่สูงกว่า อย่างไรก็ตามเราสามารถที่จะรู้สึกแย่กับเรื่องราวนี้และสามารถส่งเสียงเพื่อให้ภาครัฐปรับปรุงการบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กับการมีความรู้สึกดีที่ประชาชนยากจนสามารถรับบริการทางการแพทย์ในราคาต่ำหรือฟรีได้ 

            ผมแนะนำว่าเมื่อเราได้ยินสิ่งที่เลวร้ายให้สงบใจถามตัวเองว่า หากมีความก้าวหน้าเกิดขึ้นสักร้อยเหตุการณ์ เราจะได้ยินข่าวเหตุการณ์เหล่านั้นหรือไม่ เราอาจเคยได้ยินเหตุการณ์อัคคีภัยที่เลวร้ายรุนแรง แต่เราจะไม่ได้ยินเรื่องการลดลงของเหตุการณ์อัคคีภัยบนโลกใบนี้ หรือการลดลงของจำนวนเด็กที่จมน้ำ หรือการลดลงของการตายจากวัณโรคผ่านหน้าต่างบ้านในข่าว เราต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงทางบวกนั้นมีมากกว่ามาก แต่เรื่องเหล่านั้นมาไม่ถึงตัวเรา เราจะต้องค้นหาเรื่องราวเหล่านั้นด้วยตนเอง

            ทั้งหมดนี้เป็นทั้งจากความคิดเห็นของผมและความคิดเห็นของ ฮานส์ รอสลิง (Hans Rosling) ผู้เขียนหนังสือ Factfulness ที่สอดคล้องกัน จากประสบการณ์ของผมที่เคยรู้สึกสิ้นหวังกับประเทศไทยหรือกับโลกใบนี้ สิ้นหวังกับผู้คนที่เต็มไปด้วยหน้ากากแห่งศิลธรรมปากว่าตาขยิบอันน่ารังเกียจ แต่พอถึงจุด ๆ หนึ่งผมก็เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นสัญชาตญาณ เป็นระบบอัตโนมัติของผู้คน เมื่อพวกเขาเผชิญกับผู้คนที่เต็มไปด้วยหน้ากากอันหลอกหลวง มันก็ทำให้พวกเขาสวมใส่หน้ากากแบบนั้นไปโดยไม่ตั้งใจ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษให้เกิดขึ้นบนสังคม

            ผมเชื่อและคาดหวังในศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่ แม้ว่าพวกเขาจะแสดงออกอย่างรุนแรง ตรงไปตรงมา และอาจจะก้าวร้าวบ้าง (ขึ้นอยู่กับการนิยามคำว่าก้าวร้าวแต่ละคน) แต่ผมก็เข้าใจพลวัติของกระบวนการคิดที่เปลี่ยนไปของแต่ละยุค มันจำเป็นที่จะต้องมีความคิดเห็นที่ต่อต้านสิ่งที่เป็นอยู่เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า เด็กรุ่นใหม่ควรจะได้รับโอกาสที่แสดงอัตลักษณ์ของตนเองออกมา โดยไม่มีกำแพงแห่งค่านิยม เช่น ระเบียบวินัยข้อควรปฏิบัติ ข้อคิด กฎกติกา ที่เป็นค่านิยมของคนรุ่นก่อน สิ่งดังกล่าวทำให้พวกเขาพยายามทำลายกำแพงนั้นด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งหลายคนต้องจบด้วยความพ่ายแพ้และจมลงไปในทะเลแห่งความเศร้า

            ทุนวันนี้เด็กรุ่นใหม่กำลังวิ่งชนเข้ากับกำแพงล่องหนที่พวกเขาหลายคนไม่เข้าใจ รู้แต่ว่าสิ่งนี้มันขวางเส้นทางแห่งเสรีและความสุขของพวกเขาอยู่ พวกเขาอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ เราอาจจะไม่มีวันรู้ข้อเท็จจริงนี้ตลอดกาล ถ้าเราไม่เปิดโอกาสที่จะเรียนรู้ร่วมกัน ดังนั้นถ้าอยากให้เด็กรุ่นใหม่ให้โอกาสกับโลกใบนี้ มีความหวังกับโลกใบนี้ เข้าใจโลกใบนี้ในทิศทางบวกพร้อมไปกับการเข้าใจโลกนี้ในทิศทางลบอย่างมีตรรกะ เราจะต้องให้โอกาสเขาได้ทดลองวิธีคิดและมุมมองต่าง ๆ ด้วยตัวของเขาเอง เหมือนที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นว่า

"เราจะต้องให้โอกาสเขาได้ลองผิดลองถูก ล้มเหลวและลุกขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง" 

อ้างอิง

Rosling, H., Rönnlund, A., & Rosling, O. (2018). Factfulness: Ten Reasons We're Wrong About the World--and Why Things Are Better Than You Think. NY: Flatiron Books.

ความคิดเห็น