การจ่ายยาทางสังคมเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี (Social Prescribing for Mental health)

การจ่ายยาทางสังคมเป็นการใช้กิจกรรมทางสังคมเพื่อเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจผู้ป่วย

            ผมเข้าใจว่าผู้อ่านทุกคนที่กดเข้ามาอ่านในบทความนี้คงทราบแล้วว่า อัตราผู้ป่วยที่เผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตในปัจจบุนไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า ความเครียด หรือความวิตกกังวล เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะโรคซึมเศร้าที่กำลังเป็นปัญหารุนแรงมากของสังคมในขณะนี้ ส่งผลให้เกิดวิธีการรักษามากมายทั้งที่ไม่สมเหตุสมผลและที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ ซึ่งวิธีที่มีเหตุผลที่เราคุ้นเคยกันอย่างมากก็คือการจ่ายยาและการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา 

            การจ่ายยาและการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม และประสบความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีช่องโหว่บางอย่างเกิดขึ้นเสมอ เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่หายหรือรู้สึกดีขึ้นแต่สุดท้ายต้องกลับมามีปัญหาเหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะพวกเขาต้องกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิม สังคมแบบเดิม หรือวัฒนธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งหมดนั้นสิ่งแวดล้อมที่ทรงอิทธิพลในเชิงลบอย่างมาก

            ดังนั้นการจะเยียวยาสุขภาพจิตจะเน้นเพียงแค่ให้คำแนะนำ สอน ให้คำปรึกษา หรือจ่ายยาอย่างเดียวไม่ได้ แต่จำเป็นที่จะต้องมุ่งเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ซึ่งวิธีการหนึ่งนอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่รอบ ๆ ตัวก็คือ "สังคม" หรือเรียกว่า "การจ่ายยาทางสังคม" (Social Prescribing) เป็นสิ่งที่ผมอยากนำเสนอในบทความครั้งนี้ และหวังว่าจะเป็นแนวทางรูปแบบหนึ่งที่สามารถร่วมประสานกับการรักษาที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันได้

การจ่ายยาทางสังคมเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี

            การจ่ายยาทางสังคม (Social Prescribing) เป็นรูปแบบการเยียวแบบหนึ่ง ที่สามารถนำไปใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่หรือหน่วยงานในท้องถิ่น เพราะหัวใจสำคัญก็คือการเน้นการเชื่อมผู้คนเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีมากยิ่งขึ้นผ่านการแทรกแซงด้วยกระบวนการทางสังคมไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมต่าง ๆ  ชมรมงานอดิเรก ชมรมกีฬา กลุ่มช่วยเหลือตนเอง (Self Help) ห้องสมุด กลุ่มเพื่อน กลุ่มการเรียนรู้ การทำสวน ฯลฯ

            ในหนังสือ Lost Connections: Why You’re Depressed and How to Find Hope ผู้เขียน โยฮันน์ ฮารี (Jonathan Hari) ได้เล่าถึงทีมแพทย์ที่บรอมลีย์ บาย โบว์ ที่แม้พวกเขาจะให้ยารักษาคนไข้โรคซึมเศร้า แต่พวกเขามองว่ายาเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของภาพใหญ่เท่านั้น มันไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาในระยะยาว ซอล มอร์มอต หมอท่านหนึ่งได้เปรียบเปรยการให้ยารักษาโรคซึมเศร้าว่า เป็นการติดพลาสเตอร์ทับลงไป บนความเจ็บปวดของคนไข้ ทำแบบนั้นไม่มีประโยชน์ แต่ควรจะรับมือกับเหตุผลที่ทำให้เขาเป็นเช่นนี้ตั้งแต่แรก ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ไม่อย่างนั้นผู้ป่วยก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก

สิ่งสำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ไม่อย่างนั้นผู้ป่วยก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก

            ที่บรอมลีย์ บาย โบว์ มีแนวทางการจ่ายยาทางสังคมเช่นเดียวกัน ซึ่งพวกเขานิยามว่า เป็นการใช้กิจกรรมทางสังคมเพื่อเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจผู้ป่วย แซมซึ่งเป็นหัวหน้าศูนย์แพทย์ที่บรอมลีย์ บาย โบว์มองว่าการจ่ายยาทางสังคมเป็นแนวทางที่ใช้เงินน้อยกว่าการใช้ยาต้านเศร้าอย่างมหาศาล ซึ่งมีการศึกษาการร่วมกันทำสวน ที่เรียกว่าพืชสวนบำบัด พบว่าทำให้บุคคลมีสุขภาพจิตดีขึ้น ไม่เพียงแค่นั้นยังมีผลงานศึกษาในลักษณะเชิงสังคมใกล้เคียงกันที่พบว่า 

การจ่ายยาทางสังคมได้ผลดีมากกว่าการให้ยาต้านซึมเศร้าเกินสองเท่า 

            เรามักจะพบว่าการรักษาโรคซึมเศร้า หรือโรคทางสุขภาพจิตด้านอื่น ๆ มักจะมีกลุ่มหรือสาขาแตกย่อยกันออกไป เช่น กลุ่มที่เน้นการให้ยา กลุ่มที่เน้นการบำบัดความคิดและพฤติกรรม และกลุ่มที่ใช้กระบวนการทางสังคม แต่ผม นักจิตวิทยา จิตแพทย์หลายคนมองว่าเราสามารถบำบัดสุขภาพจิตได้โดยใช้กระบวนการที่แตกต่างดังกล่าวร่วมกันได้ กล่าวคือ เราสามารถให้ยาได้พร้อมกับบำบัดความคิดและพฤติกรรม รวมไปถึงการใช้กระบวนการทางสังคม หรือเรียกว่า "การจ่ายยาทางสังคม" ร่วมกันได้

            โดยเฉพาะการจ่ายยาทางสังคมมักจะเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยพูดถึง เพราะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา สถานที่ และผู้คน อีกทั้งยังต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสรรค์รูปแบบกิจกรรมอีกด้วย เพราะการทำกิจกรรมทางสังคมโดยปราศจากความร่วมมือหรือความพึพอใจของผู้เข้าร่วม ผลที่ได้ก็ย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นการจ่ายยาทางสังคมควรจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและประกอบไปด้วยผู้คนที่ปรารถนาดีต่อกัน ช่วยเหลือกัน มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน แม้จะเป็นเรื่องยากแต่หากชุมชนใดสามารถก่อร่างสร้างกระบวนการดังกล่าวได้ก็จะประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี

            เพราะอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นสภาพแวดล้อมคือสิ่งที่สำคัญที่สุด แม้ว่าผู้ป่วยทางสุขภาพจิตจะไปหาแพทย์ที่เก่งที่สุดในโลกก็ตาม แต่สุดท้ายเมื่อเขาต้องกลับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ก็ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตกลับคืนมาได้ ยกตัวอย่างเช่น พนักงานที่เป็นโรคซึมเศร้าเพราะอยู่ในที่ทำงานที่มีความสัมพันธ์แบบเป็นพิษ แม้เขาจะสามารถรับมือกับความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถรับมือได้อย่างถาวร สุดท้ายโรคซึมเศร้าที่เหมือนจะหายไปแล้วก็สามารถกลับคืนมาได้ ดังนั้น

มิติทางชีววิทยา จิตวิทยา และสังคม ควรจะไปพร้อม ๆ กันเพื่อสร้างสมดุลแห่งสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ต่อไป

อ้างอิง

Hari, J. (2018). Lost Connections: Why You’re Depressed and How to Find Hope. NY: Bloomsbury USA.

ความคิดเห็น