หลักคุณธรรมทั้ง 4 ประการ ตามแนวคิดทางปรัชญาสายสโตอิก (Stoicism)

มีปัญญา ต้องมีความยุติธรรม กล้าหาญ และวินัย ทั้งหมดมันจะต้องรวมเป็นแพ็คเกจ

            คุณธรรม เป็นนามธรรมอย่างหนึ่งที่สามารถอธิบายได้หลากหลายขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้คนที่อธิบายมัน ว่าตั้งอยู่บนแนวคิดใด เช่น ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสราม จิตวิทยา หรือหลักปรัชญาต่าง ๆ มากมาย อย่างไรก็ตามแกนหลักของคุณธรรมก็หนีไม่พ้นการเป็นคนที่ดี ทำในสิ่งที่ดีอย่างแน่นอน เพียงแต่การเป็นคนดี หรือทำในสิ่งที่ดีจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกลุ่ม ศาสนา ลัทธิ หรือแนวคิดใด

            ในบทความนี้ผมจะอธิบายหลักคุณธรรม 4 ประการ ตามแนวคิดทางปรัญญาสายสโตอิก (Stoicism) ซึ่งก่อนจะเริ่มเข้าสู่เนื้อหาของคุณธรรม ผมอยากอธิบายเกี่ยวกับปรัชญาสายนี้ให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้นเสียก่อน ปรัชญาสโตอิก เน้นการมีชีวิตที่มีคุณค่า สอดคล้องกับตัวตนสูงสุดของเรา มีคุณธรรมและสติปัญญา พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่า "ยูไดโมเนีย" หมายถึง การที่มนุษย์ตระหนักถึงตัวตนสูงสุดของตนเอง โดยเราจะต้องใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับตัวตนภายในเสียก่อน

            อ่านแล้วดูเป็นนามธรรม แต่จริง ๆ แล้วหลักปรัชญาสายนี้เข้าใจง่าย เรียบง่ายและเป็นพื้นฐานของจิตวิทยาที่เน้นการปรับกระบวนการคิด อารมณ์ และพฤติกรรมในปัจจุบัน การจะเข้าถึง "ยูไดโมเนีย" เราจะต้องใช้ชีวิตที่ดีงาม มีคุณธรรม มีเหตุผล และสอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งสามารถแสดงออกมาในรูปแบบของหน้าที่ที่เรามีต่อผู้คนรอบตัวเรา เช่น เคารพพ่อแม่ การเข้ากันได้กับเพื่อนฝูง และการให้ความสนใจในความอยู่ดีมีสุขของเพื่อนมนุษย์ 

            ผู้อ่านบางคนอื่นเบื่อหน่ายกับคำว่า "เป็นคนดี" จริงแล้ว คำ ๆ นี้ในปรัชญาสโตอิก ไม่ได้มองว่าจะต้องเป็นคนสมบูรณ์แบบ เพราะจริง ๆ แล้วในโลกนี้ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ แต่มันคือการเป็นคนดีเท่าที่จะเป็นได้ เมื่อบุคคลสามารถบรรลุถึงยูไดโมเนียได้แล้ว จะกลาบเป็นตัวตนแบบที่โดนัลด์ โรเบิร์ตสัน อธิบายว่า "เพราะเขาเดินตามเหตุผลและยอมรับชะตากรรมอย่างองอาจ เพราะมันอยู่นอกเหนือการควบคุมของเขา เขาได้ลอยตัวอยู่เหนือความปรารถนาและอารมณ์อันไร้เหตุผล เพื่อจะได้เข้าถึงความสงบสุขแห่งจิตใจ คุณลักษณะของเขาเป็นสิ่งน่าสรรเสริญ เปี่ยมด้วยเกียรติ และงดงาม"

จริง ๆ แล้วในโลกนี้ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ แต่มันคือการเป็นคนที่ดีเท่าที่จะเป็นได้ต่างหาก

คุณธรรมหลัก 4 ประการ

            การจะเข้าสู่ยูไดโมเนียได้ เราสามารถประเมินความก้าวหน้าด้วย 4 คุณลักษณะกว้าง ๆ ที่ชาวสโตอิกรับมาจากปรัชญาแบบโสเครตีส ในหนังสือ The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness ผู้เขียน โยนัส ซัลซ์เกเบอร์ (Jonas Salzgeber) อธิบายว่า ชาวสโตอิกได้มีการจำแนกแยกแยะความดีงามที่เป็นนามธรรมออกมาให้จับต้องได้ และแบ่งประเภทออกมาเป็นคุณลักษณะพึงปรารถนาสี่ประเภทที่เรารู้จักกันในนามของ คุณธรรมหลัก 4 ประการ (4 Cardinal Virtues) ดังต่อไปนี้

            ปัญญา คือ ความเข้าใจถ่องแท้ว่าควรจะแสดงออกและรู้สึกอย่างไรให้เหมาะสม รวมไปถึงการพิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วน มีวิจารณญาณที่สมบูรณ์ มีจิตสำนึกและมุมมองที่ดี ซึ่งเป็นด้านที่อยู่ตรงกันข้ามกับความเขลาหรือไร้ความคิด

            ความยุติธรรม คือ การรู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวหรือรู้สึกอย่างไรให้เหมาะสมกับความสัมพันธ์ที่เรามีกับผู้อื่น ความยุติธรรมรวมไปถึงการมีจิตใจที่ดี มีคุณธรรม เห็นแก่ส่วนรวมและความเท่าเทียม สิ่งนี้ตรงกันข้ามกับการทำผิดหรือความอยุติธรรม

            ความกล้าหาญ คือ การรู้ว่าควรปฏิบัติตัวและรู้สึกอย่างไรจึงจะเหมาะสมเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานที่การณ์ที่น่ากลัว ความกล้าหาญรวมไปถึงความเหี้ยมหาญ ความอดทนอดกลั้น ความซื่อสัตย์ และความมั่นใจ สิ่งนี้ตรงข้ามกับความขี้ขลาด

            ความมีวินัย (การควบคุมตัวเอง) คือ การู้ว่าควรปฏิบัติตัวและรู้สึกอย่างเหมาะสม แม้จะเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เช่น ความปรารถนาอันแรงกล้า แรงต้านทานภายใน หรือความลุ่มหลง การมีวิจัยในตนเองรวมไปถึงการมีระเบียบ การควบคุมตัวเอง การให้อภัย และความถ่อนตน สิ่งนี้ตรงกันข้ามกับความหยิ่งผยอง

            ผู้อ่านจะเห็นว่าคุณธรรมที่กล่าวมาจะมีด้านที่อยู่ตรงข้าม ซึ่งด้านที่อยู่ตรงข้ามกับ ปัญญา คือ ความเขลา ด้านอยู่ตรงข้ามกับความยุติธรรมคือความอยุติธรรม ด้านที่อยู่ตรงข้ามกับความกล้าหาญ คือ ความขี้ขลาด และที่น่าสนใจคือด้านที่อยู่ตรงข้ามกับการมีวิยัคือความหยิ่งผยอง ด้านตรงข้ามทั้งหมดนี้เราเรียกว่า ความชั่วร้าย 4 ประการ (4 Cardinal Vices) มันทำให้เรามีลักษณะนิสัยที่อ่อนแอที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมอันน่าอับอายและเบาปัญญา

            คุณธรรมหลายข้อค่อนข้างน่าสนใจโดยเฉพาะด้านตรงข้ามวินัยคือความหยิ่งผยอง เพราะ ปรัญญาสายสโตอิกมองว่า ความมีวินัยคือคุณธรรมที่หากมนุษย์มีจะสามารถต้านทานความลุ่มหลงอันเกิดจากสัญชาตญาณของมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นความลุ่มหลงในอำนาจ ลุ่มหลงที่จะเป็นคนสำคัญ ลุ่มหลงที่จะอยู่เหนือกว่าผู้อื่น ทั้งหมดนี้จะทำให้เราห่างไกลจากตัวตนที่มีคุณค่าสำหรับเพื่อนมนุษย์ และสิ่งนี้มันจะทำเราหยิ่งผยอง ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามกับความมีวินัยหรือใช้คำว่า "การควบคุมตนเองไม่ให้หลงใหลไปในสิ่งเหล่านั้นจะง่ายกว่า"

            คุณธรรมหลักทั้ง 4 ประการนี้สอดคล้องกับทุกศาสนาหรือวัฒนธรรม เพราะไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรือวัฒนธรรมไหนก็ตามย่อมให้ความสำคัญกับตัวเราเองและผู้คนรอบข้างด้วยกันทั้งนั้น อย่างไรก็ตามหลักคุณธรรมทั้งหมดนี้จะต้องไปพร้อมกันทั้งหมดจึงจะเป็นผู้ที่มีคุณธรรม แม้ว่าคนผู้นั้นจะมีปัญญามากแค่ไหนก็ตาม แต่หากเขาขาดวินัย ความกล้าหาญ หรือความยุติธรรม ย่อมไม่ใช่คนที่มีคุณธรรมตามปรัชญาสายสโตอิก

            โยนัส ซัลซ์เกเบอร์ ได้เปรียบเปรยได้อย่างสนใจ เขาอธิบายว่า "เพราะถึงที่สุดแล้วเราก็คงไม่อยากเรียกโจรปล้นธนาคารที่มีวินัยสูงและกล้าหาญว่าเป็นคนที่มีคุณธรรมแน่นอน" กล่าวคือ มีปัญญา ต้องมีความยุติธรรม กล้าหาญ และวินัย ทั้งหมดมันจะต้องรวมเป็นแพ็คเกจ ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามปรัชญาสโตอิกไม่ได้คาดหวังให้เรามีคุณธรรมที่สมบูรณ์ในทันที เพราะชีวิตก็เหมือนเถาองุ่นที่อาจจะไม่ได้ให้ผลองุ่นที่สมบูรณ์ในปีแรก และอาจะยังให้ผลที่มีรสชาติเปรี้ยวแม้ในตอนที่โตเต็มที่แล้ว

            เราสามารถที่จะพัฒนาตัวเราเอง ลองผิดลองถูก ฝึกฝนและพยายามเพื่อให้เราเป็นคนที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะความไม่สมบูรณ์แบบก็คือความสมบูรณ์แบบตามธรรมชาติ กล่าวคือ เราไม่สามารถเป็นคนที่สมบูรณ์แบบได้อย่างแน่นอน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ เราไม่มีวันที่จะสมบูรณ์แบบได้ ชีวิตประกอบด้วยข้อบกพร่องและบทเรียนมากมายที่หลากหลาย 

            อีกจุดเด่นสำคัญของปรัชญาสายสโตอิกคือการใช้สติ พิจารณาในทุกชั่วขณะของชีวิต การตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองทำ การตั้งคำถามกับความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นภายใน และหาวิธีจัดการให้เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับหลักพุทธศาสนา และจิตวิทยาในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาของ ฟิลิป เวอร์แดน (Philippe Verduyn) และคณะที่พบว่า เทคนิคการพูดคุยกับตัวเองอย่างมีระยะห่าง พวกเขาค้นพบว่าการสร้างระยะห่างสามารถลดระยะเวลาที่รู้สึกไม่ดีต่อเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอารมณ์เชิงลบขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ หรือความโศกเศร้าได้

            ครั้งหนึ่ง เซเนกา (Seneca) นักปรัชญาชื่อดังชาวโรมัน ได้เล่าถึงชั่วขณะที่เขาพูดคุยกับตัวเองไว้ในจดหมายของเขาที่ชื่อ On Anger เขาเล่าว่า "เมื่อแสงสว่างลาลับ ภรรยาข้าเงียบเสียงลงเพราะเธอรู้นิสัยใจคอของข้า ข้าเริ่มสำรวจวันที่ผ่านไป ดูว่าได้ทำและพูดอะไรไปบ้าง" นอกจากนั้นเขาได้ยกตัวอย่างบางเรื่อง เช่น เหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่เขาโกรธอย่างมาก เพราะไม่ได้ที่นั่งเหมาะสมที่เขาสมควรได้รับ เขาใช้เวลาตลอดเย็นวันนั้นโกรธผู้เป็นเจ้าภาพที่จัดหาที่นั่งให้เขาและแขกเหรื่อที่นั่งอยู่เหนือเขา "เจ้ามันบ้าไปแล้ว" เขาเขียนลงในบันทึก "มันต่างอะไรกันเล่า กับส่วนของเบาะที่เจ้าเอาน้ำหนักตัวไปวางไว้"

            ผู้อ่านจะเห็นว่าคุณธรรมทั้ง 4 ประการ ตามแนวคิดปรัชญาสายสโตอิก ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร ไม่เพียงแค่นั้นมันยังน่าสนใจอย่างมาก เพราะมีบางข้อที่แตกต่างกับคุณธรรมอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน โดยเฉพาะความกล้าหาญ ที่หมายถึง การรู้ว่าควรปฏิบัติตัวและรู้สึกอย่างไรจึงจะเหมาะสมเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานที่การณ์ที่น่ากลัว เพราะหากลองพิจาณาสถานการณ์ที่ทำให้พวกเราเขลากลัว พบว่ามีมากมายในปัจจุบันซึ่งทำให้เราหาทางออกโดยการ ไม่ทำอะไรเลย ผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ จนสร้างปัญหาที่ใหญ่โตเกินกว่าจะรับมันได้

            ความกล้าหาญ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรากล้าเผชิญหน้ากับปัญหาหรือกับสถานการณ์ที่ทำเราหวาดวิตก พร้อมกันนั่นเราจะต้องใช้วินัย (การควบคุมตัวเอง) ให้เดินก้าวไปข้างหน้า และใช้สติปัญญาในการพิจารณาว่าควรจะตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไรดี สุดท้ายเราจะต้องมีความยุติธรรมต่อทั้งผู้อื่นและตัวเองเราเอง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหลักคุณธรรมของสายสโตอีก ที่เรียบง่ายและยังเป็นการ

ยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองให้ก้าวหน้ามากขึ้นอีกด้วย

อ้างอิง

Salzgeber, J. (2019). The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness. https://www.njlifehacks.com/

Verduyn, P., Van Mechelen, I., Kross, E., Chezzi, C., & Van Bever, F. (2012). The relationship between self-distancing and the duration of negative and positive emotional experiences in daily life. Emotion. 12(6), 1248-1263.

ความคิดเห็น