ชีวิตที่มีความสุข ในทัศนะของปรัชญาสายสโตอิก

"สิ่งต่าง ๆ ภายนอกไม่ได้อยู่ในอำนาจควบคุมของฉัน แต่เจตจำนงต่างหากที่ใช่"

            ความสุขคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนามากที่สุด และเราจะรู้สึกอยากมีความสุขมากที่สุด ในช่วงที่เรากำลังอยู่ในสภาพทุกข์ใจ อันเกิดจากอารมณ์เศร้า เหงา ผิดหวัง เครียด หรือปวดร้าว โดยส่วนมากแล้วเมื่อเรากำลังทำในสิ่งที่ตนเองพึงพอใจ เราจะไม่ตั้งคำถามถึงความสุข ซึ่งแตกต่างกับในสภาวะทุกข์ ที่เราจะพยายามหาสิ่งของหรือปัจจัยภายนอกอื่น ๆ มาเพิ่มเติมเต็ม สร้างความบันเทิง หรือทำให้เราอิ่มท้อง เพื่อทำให้เราเกิดความสุขขึ้นมา ซึ่งเป็นกระบวนการที่เราพยายามจะควบคุมสิ่งต่าง ๆ ให้เราเกิดความพอใจ

            โลกใบนี้ประกอบไปด้วยสิ่งที่เราควบคุมได้ และสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ มนุษย์ทุกคนพยายามที่จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างจนลืมไปว่า "เราไม่สามารถควบคุมได้ทุกสิ่งอย่าง" เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอากาศให้เย็นลงได้ ไม่สามารถหยุดฝนได้ และไม่สามารถทำให้ตัวเองดูดีขึ้นได้ แม้เราจะพยายามลดน้ำหนักมากแค่ไหนก็ตาม เพราะการจะดูดีหรือดูไม่ดี ส่วนหนึ่งมันขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้อื่นที่ตัดสินใจเรา 

            ปรัชญาสายสโตอิกให้ความสำคัญกับสิ่งที่มนุษย์สามารถควบคุมได้เท่านั้น มาร์คัส ออเรเลียส จักรพรรดินักปรัชญาผู้เรืองอำนาจในยุคโรมัน อธิบายว่า "เราสามารถแสดงคุณธรรมซึ่งล้วนอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของเรา" ซึ่งเราจะต้องใช้สติปัญญาเพื่อแยกแยะระหว่างสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเราออกจากสิ่งที่ไม่ใช่ การมีสุขภาพจิตที่ดี คือการจัดการในสิ่งที่ควบคุมได้ ยอมรับในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้  

            เพราะการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เช่น อดีต อนาคต เป็นรากของความทุกข์ มันอยู่นอกขอบเขตของเรา เป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีความสุขโดยเชื่อมโยงกับสิ่งที่ถวิลหาซึ่งไม่มีอยู่จริงในปัจจุบัน เพราะความสุขที่แท้จริงมีนัยของการได้ครอบครองสิ่งที่เราปรารถนา เหมือนความอื่มกับอาหาร มันต้องไม่มีความกระหายหิวอีกต่อไป

            ทุกวันนี้เราทุกคนมีความสุขแบบมีเงื่อนไข โดยเราผูกความสุขไว้กับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต "ฉันจะมีความสุขหลังจากสอบเสร็จ" "ฉันจะมีความสุขเมื่อได้รถคันสวย บ้านหลังโต" "ฉันจะมีความสุขเมื่อได้โบนัส" มันไม่ต่างกับการที่เราตั้งเป้าหมายไว้ที่เส้นขอบฟ้า ต่อให้เราเดินทางเป็นไมล์ ๆ มันก็ไม่ได้ขยับเข้าไปใกล้เลย เพราะเมื่อไหร่ที่เราถึงเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ มันก็จะมีเป้าอื่น ๆ โผล่ขึ้นมาทันที กล่าวคือ ยิ่งเราตั้งเงื่อนไขกับการมีความสุขมากเท่าไหร่ ความสุขก็จะวิ่งหนีเราไปไกลมากขึ้นเท่านั้น

ยิ่งตั้งเงื่อนไขกับการมีความสุขมากเท่าไหร่ ความสุขก็จะวิ่งหนีไปไกลมากขึ้นเท่านั้น

            เราจะต้องเลือกระหว่างการโหยหาสิ่งที่เราไม่มี หรือการที่เรามีโอกาสที่จะมีความสุขจริง ๆ เพราะความสุขที่แท้จริงคือเมื่อเรามีทั้งหมดที่เราปรารถนาแล้ว เอพิคเตตัส นักปรัชญาชาวกรีก กล่าวว่า "สิ่งต่าง ๆ ภายนอกไม่ได้อยู่ในอำนาจควบคุมของฉัน แต่เจตจำนงต่างหากที่ใช่ ฉันจะไปค้นหาความดี ความเลวที่ไหน ภายในนี่เอง ในสิ่งที่ฉันเป็นเจ้าของ แต่กับสิ่งที่ไม่ได้เป็นของฉันแล้ว มันไม่มีอะไรที่ดีหรือเลว"

            สิ่งที่ เอพิคเตตัส อธิบายก็คือ เราจะต้องค้นหาสิ่งที่ดีภายในตัวเอง เราจะต้องค้นหาความสุขภายในตัวเรา ไม่ใช่กับสิ่งภายนอก เพราะมันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเราอย่างแท้จริง ธรรมชาติได้ตระเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นไว้ให้เราแล้ว เพื่อให้เราสร้างชีวิตที่น่าพึงพอใจและมีความสุข ไม่ว่าเราจะเจอความทุกข์ยากเพียงใดในชีวิต ดังนั้นหากเราต้องการพบความพึงพอใจ เราต้องเปลี่ยนตัวเองและความปรารถนาของเราเองเสียก่อน

            เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกรอบตัวเราได้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็เพียงแต่วิธีที่เรามองสิ่งต่าง ๆ รอบตัว รวมทั้งสิ่งที่เราเลือกเพื่อรับมือกับมัน ในหนังสือ The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness ผู้เขียน โยนัส ซัลซ์เกเบอร์ (Jonas Salzgeber) แนะนำว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ภายนอกได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อเหตุการณ์เหล่านั้นได้

            ความสุขจึงขึ้นอยู่กับการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น มากกว่าการพยายามเข้าไปควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้น หากอะไรก็ตามเกิดขึ้นกับเรา จิตใจของเราก็จะต้องพร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนสิ่งนั้นให้กลายเป็นโชคดี ด้วยการตอบสนองที่พร้อมด้วยความดีงาม กล่าวคือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเราก็ตาม มันขึ้นอยู่กับการตอบสนองของเราเอง ความทุกข์และความสุขที่เกิดขึ้นก็เช่นเดียวกัน มันอยู่ที่ตัวเราเองที่จะกำหนดมัน 

            นั่นเป็นเหตุผลที่คนบางคนต่อให้เจอสถานการณ์เดียวกัน แต่ตอบสนองแตกต่างกัน บางคนสุข บางคนทุกข์ แน่นอนมันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ หากเราโดนเจ้านายด่าอย่างแรง เราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดเขาได้ เราไม่สามารถหยุดเขาจากการเป็นคนไร้คุณค่าได้ เราเพียงแค่ปรับใจของเราให้ตอบสนองอย่างถูกต้อง งดงาม และดีงามได้เท่านั้นเอง นั้นแหละคือสิ่งที่เราพอจะทำได้ และเราก็ต้องทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

            โยนัส ซัลซ์เกเบอร์ ได้เล่าถึงนักปรัชญาสายสโตอิกหลายคนในประวัติศาสตร์ที่ถูกเนรเทศออกไปอยู่ในสถานที่ที่เลวร้าย แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ยังคงมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์แม้ในยามถูกเนรเทศ เพราะอิสรภาพของพวกเขาประกอบสร้างขึ้นจากความสามารถในการทำตามธรรมชาติที่เปี่ยมเหตุผลของตนเอง ซึ่งก็คือการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ควบคุมได้ แล้วปล่อยให้ที่เหลือเป็นไปอย่างที่มันต้องเป็น 

            ทุก ๆ อุปสรรคล้วนกลายเป็นโอกาสที่จะฝึกฝนคุณธรรมตามแนวคิดของสโตอิกที่ประกอบไปด้วย ปัญญา ความกล้าหาญ ความยุติธรรม และวินัย (การควบคุมตนเอง) ชาวสโตอิกในอุดมคติเพียงตอบสนองต่อสิ่งใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับเหตุผลและตัวตนสูงสุดของพวกเขา และพวกเขาใส่ใจเพียงแค่สิ่งที่พวกเขาสามารถควบคุมได้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เขาจึงยังคงเป็นอิสระแม้ในยามที่ถูกเนรเทศหรือถูกจองจำ

            ชีวิตที่มีความสุขในทัศนะของปรัชญาสายสโตอิกจึงเป็นการที่เราใส่ใจกับสิ่งที่เราควบคุมได้อย่างแท้จริง นั่นคือวิจารณญาณและการตัดสินใจ หากมีใครมาทำให้เราช้ำใจ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนคนนั้นได้ แต่เราสามารถจัดการกับความคิดตัวเองได้ แม้เราจะไม่สามารถจัดการความทุกข์ของเราได้ในทันที แต่มันก็เป็นทางเดียวเท่านั้นที่เราพอจะทำได้ เราเพียงแค่จัดการในสัดส่วนที่เราพอจะทำได้เท่านั้น และเมื่อเราลดคุณค่าต่อสิ่งที่อยู่ภายนอกและให้คุณค่ากับสิ่งที่อยู่ภายในมากเท่าไหร่ 

เราก็จะมีชีวิตที่มีความสุขมากเท่านั้น

อ้างอิง

Salzgeber, J. (2019). The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness. https://www.njlifehacks.com/

ความคิดเห็น