ทบทวนเรื่องราวในแต่ละวันของคุณ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตให้เข้มแข็ง

ถ้าเราไม่รู้ว่าเราผิดพลาดตรงไหน แล้วเราจะพัฒนาตัวเองหรือเป็นคนที่ดีขึ้นได้อย่างไร    

            ผมมักจะแนะนำให้เพื่อน ๆ ที่มักจะเข้ามาปรึกษาปัญหาชีวิตให้เขียนไดอารี่ก่อนนอนทุกวัน เพราะเป็นการทบทวนเรื่องราวในแต่ละวันของตัวเองและยังเสริมสร้างวินัยในการสามารถพัฒนาตัวเอง คลายความเครีย และเพิ่มทักษะในการเข้าใจตัวเองและการรับมือกับความเครียด นอกจากนั้นยังสอดคล้องกับการการศึกษาทางจิตวิทยามากมายที่รับรองประสิทธิผลของการเขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน 

            ยกตัวอย่างเช่น การเขียนเพื่อระบายอารมณ์ (Expressive Writing) ซึ่งเป็นการศึกษาของ เจมส์ เพนน์เบเกอร์ (James Pennebaker) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส โดยเขาแนะนำให้เขียนประสบการณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในวันนี้ รอบสัปดาห์ เดือน หรือปีที่ผ่านมา ประมาณ 15-20 นาที โดยใช้เวลา 3-4 วัน ผลที่ได้จะการเขียนระบายความรู้สึกจะช่วยให้เราสามารถจัดการอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้อย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับการปลดปล่อยอารมณ์ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่เชื่อว่าหากมนุษย์ได้หาทางปลดปล่อยอารมณ์ที่เก็บเอาไว้ในจิตใต้สำนึกออกมาได้ ก็จะสามารถบรรเทาอารมณ์เชิงลบได้

            ในหนังสือ Opening Up by Writing It Down เพนน์เบเกอร์ได้ทำการวิจัยและพบว่าคนที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตที่ส่งผลสะเทือนต่ออารมณ์ของตัวเองจะได้คะแนนเพิ่มขึ้นทั้งการเขียนช่วยให้สุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น หดหู่น้อยลง ภูมิคุ้มกันมากขึ้น และมีความดันโลหินน้อยลงอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น อีกทั้งมันยังทำให้พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ความจำดีขึ้น และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากขึ้นอีกด้วย

            ผู้อ่านจะเห็นว่าการเขียนเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเองมีประโยชน์มากกว่าที่เราคาดฝันเอาไว้เยอะมาก ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้การเขียนระบายความรู้สึกเข้ากับการเขียนเรื่องราวในแต่ละวัน (Dairy) นอกจากแล้วการทบทวนเรื่องราวของชีวิตยังสอดคล้องกับแนวคิดปรัชญาสายสโตอิก ซึ่ง เซเนกา นักปรัชญาโรมันชื่อดัง ได้แนะนำให้นั่งลงพร้อมสมุดบันทึกและทบทวนว่า "เราทำอะไรลงไปบ้าง "อะไรที่ทำได้ดี" "อะไรที่ทำได้ไม่ดีเลย และ "เราจะปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง"

"เราทำอะไรลงไปบ้าง "อะไรที่ทำได้ดี" "อะไรที่ทำได้ไม่ดีเลย และ "เราจะปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง"

            เซเนกาแนะนำเป็นรูปธรรมเพิ่มเติมว่า ถ้าเราอยากให้จิตใจเติบโตอย่างงอกงาม เราจะต้องพัฒนาด้วยการถามคำถามดังต่อไปนี้

            1) มีนิสัยแย่ ๆ ที่ฉันแก้ให้ดีขึ้นได้ในวันนี้หรือไม่

            2) ข้อผิดพลาดใดที่ฉันยืนกรานที่จะไม่ทำ

            3) ฉันเป็นคนดีขึ้นในด้านไหนบ้าง

            เขาเปรียบการตรวจสอบตัวเองดังกล่าวว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์คดีของตัวเองในห้องส่วนตัวทุกคืน เขาตัดสินการกระทำของตัวเองและพยายามที่จะไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีก "ฉันใช้โอกาสนี้อย่างมีประโยชน์ด้วยการยื่นอุทธรณ์คดีความของฉันในห้องส่วนตัว เมื่อแสงของวันค่อย ๆ มืดดับลงและภรรยาของฉันอยู่ในความเงียบเพราะรู้ในสิ่งที่ฉันทำจนเป็นนิสัย ฉันสำรวจตรวจสอบวันที่ผ่านไป ทบทวนในสิ่งที่ฉันทำและพูดออกไป ฉันไม่ปิดบังตัวเอง ไม่ให้มีเรื่องใดผ่านเลย ฉันไม่มีอะไรต้องกลัวในสิ่งที่ทำผิดพลาดไป เมื่อฉันยังสามารถพูดได้ว่า ดูไว้เพื่อที่ได้ไม่ทำเช่นนั้น แต่ตอนนี้ฉันให้อภัยตนเองนะ"

            ชาวสโตอีกเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า "การเอาใจใส่" (Attention) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องรู้ในการฝึกฝนปรัชญาสโตอีก หากเราต้องการแสดงตัวตนสูงสุดของตัวเองออกมาตลอดเวลา เราจะต้องมีสติรับรู้การกระทำของตัวเอง ไม่เช่นนั้นเราจะพลาดพลั้งเข้าสู่การตอบสนองแบบไม่ทันยั้งคิด สุดท้ายเราจะทำในสิ่งที่แย่ลงไป เพราะเราไม่มีสติในการยับยั้งความคิดที่ฉับไวนั้น

            ด้วยสาเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมนิสัยการทบทวนประจำวันจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในปรัชญาสโตอิก ถ้าเราไม่รู้ว่าเราผิดพลาดตรงไหน แล้วเราจะพัฒนาตัวเองหรือเป็นคนที่ดีขึ้นได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เราทบทวนตัวเองที่โมโหและส่งเสียงดังตำหนิเพื่อนร่วมงานที่ทำผิดพลาด ครั้งต่อไปเมื่อเราตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดิม เราก็จะมีสติมากพอและตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้อง คือ สงบสติอารมณ์ อดทน และให้อถัย

            การที่เราโกรธและแสดงพฤติกรรมที่เลวร้ายกับคนอื่น มันก็ย่อมส่งผลเลวร้ายกลับสู่ตัวเราเอง เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาให้คนอื่นปฏิบัติกับตนเองในทิศทางที่ดี ดังนั้นการที่เราทำในสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่เราปรารถนาย่อมเกิดความขัดแย้งภายในตัวเอง และทำให้ลึก ๆ แล้วเรารู้สึกแย่กับตัวเอง การที่เรามีสติแล้วยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของตัวเอง ย่อมทำให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้นอย่างแน่นอน

            นอกจากเราจะใช้การตั้งคำถามทบทวนตัวเองเพื่อให้มีสติมากขึ้นแล้ว เรายังสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไปได้อีกด้วย ในหนังสือ The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness ผู้เขียน โยนัส ซัลซ์เกเบอร์ (Jonas Salzgeber) แนะนำว่า เราควรฝึกฝนพัฒนาปรับปรุงตัวเองก่อนนอนอย่างเรียบง่าย โดยเขาเรียกแบบฝึกนี้ว่า ดี ดีกว่า และดีที่สุด ด้วยการถามตัวเองสามคำถามง่าย ๆ ว่า

            1) ดี: เราทำอะไรดีในวันนี้บ้าง

            2) ดีกว่า: เราจะปรับปรุงตัวอย่างไร 

            3) ดีที่สุด: ต้องทำอะไรบ้างถ้าอยากเป็นตัวเองในแบบที่ดีที่สุด

            อย่างไรก็ตามการจะเป็นคนที่ดีขึ้นและมีสุขภาพจิตที่ดีได้นั้น เราจะต้องตระหนักในความเป็นมนุษย์ของเรา ว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มักจะทำผิดพลาดและผิดหวังอยู่เสมอ และหลายคนก็มักจะเก็บประสบการณ์เหล่านั้นมาคิดวกวนไม่สิ้นสุด ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราจะต้องรู้จักมีเมตตาต่อตนเอง ให้อภัยตนเอง คุณพยายามทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วในตอนนี้แล้ว 

สักวันหนึ่งคุณจะเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้นกว่าวันนี้แน่นอน

อ้างอิง

Kross, E. (2021). Chatter: The Voice in Your Head, Why It Matters, and How to Harness It. NY: Crown.

Pennebaker, J., & Smyth, J. (2016). Opening Up by Writing It Down (3th ed.). How Expressive Writing Improves Health and Eases Emotional Pain. NY: Guilford Press.

Salzgeber, J. (2019). The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness. https://www.njlifehacks.com/

ความคิดเห็น