ชีวิตคือความไม่แน่นอน สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ในท้ายที่สุดแล้ว เรามาตัวเปล่า เราก็ต้องไปตัวเปล่า

            ผมมักจะสังเกตตัวเองเวลาที่มีความสุขกับอะไรสักอย่างหนึ่ง ผมมักจะปรารถนาให้เวลาเดินช้าที่สุด เวลาที่กินอะไรสักอย่างที่ชอบ เวลาที่สังสรรค์กับเพื่อนและพูดคุยเรื่องที่สนุกสนาน ไม่เว้นแม้ตอนที่ได้อะไรมาใหม่สักอย่าง ผมจะปรารถนาให้สิ่งนั้นสร้างความสุขให้กับตัวเองไปนาน ๆ ตลอดไปเลยยิ่งดี แต่สุดท้ายทุกสิ่งก็ไม่เป็นอย่างที่ผมปรารถนาเลย

            ความสุขที่เคยคาดหวังจางหายไปในเวลาไม่นาน ที่ตลกไปกว่านั้นก็คือหลายคนก็ยังปรารถนาหรือคาดหวังแบบเดิม ๆ เพื่อเติมเต็มความปรารถนาที่ไม่สมหวังแบบเดิม กล่าวคือ เราคาดหวังว่าสิ่งต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงแตกต่างออกไปจากสถานการณ์แบบเดิม ๆ เราคาดหวังว่าเราจะมีความสุขตลอดไปกับสิ่งที่เราใช้จ่ายซื้อมันมา หรือคาดหวังให้ความรักของใครสักคนที่มีให้เราคงอยู่ตลอดไป 

            อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เคยกล่าวไว้ว่า "มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่ทำสิ่งเดิมซ้ำๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง" ซึ่งผมเชื่อว่าผู้อ่านแทบทุคนรวมทั้งผมก็รู้จักคำกล่าวนี้ดี แต่พวกเรากลับคาดหวังผลลัพธ์ที่แตกต่างไปเสมอ ต่อให้เราทำสิ่งเดิม ๆ 

            ข้อเท็จจริงสำคัญที่พวกเราทุกคนจะต้องจดจำไว้ก็คือสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ มันไหลผ่านเลยไป สิ่งใหม่ ๆ เข้ามาแล้วก็ผ่านเลยไป ซึ่งหลายครั้งมันไม่กลับคืนมา ดังนั้นเราจึงควรย้ำเตือนตัวเองไว้ว่าคนที่เรารักมีค่ามากแค่ไหน เพราะในไม่ช้าพวกเขาก็จะพัดผ่านเลยไป เราควรจดจำไว้ว่าเราโชคดีแล้วที่สามารถมีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ และความสุขเช่นนั้นของเราก็อาจสิ้นสุดลงได้ในทันที 

            หลายคนพยายามอย่างหนักที่จะควบคุมจิตใจของตัวเอง เราจะต้องเข้มแข็งมากขึ้น หงุดหงิดน้อยลง โกรธน้อยลง มีความสุขมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลง แต่สิ่งที่เราไม่เคยตระหนักเลยก็คือจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้อย่างแท้จริง เมื่อมันเกิดขึ้นก็คือเกิดขึ้น จิตใจของเราเป็นสิ่งที่บ่มเพราะผ่านกาลเวลาและประสบการณ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้

            ความเหงา ความกลัว ความไม่มั่นใจ ต่างเกิดขึ้นและเราควบคุมมันไม่ได้ หลายคนเผชิญกับช่วงชีวิตที่เจ็บปวดและบอบช้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราสามารถพัฒนาจิตวิญญาณนี้ให้สูงขึ้นเพื่อรับมือทุกความเปลี่ยนแปลงที่ธรรมชาติส่งมาให้อย่างกล้าหาญได้ และใช้ความมุ่งมั่นของเราอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง

จิตใจของเราเป็นสิ่งที่บ่มเพราะผ่านกาลเวลาและประสบการณ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้

            ในหนังสือ The Little Book of Stoicism ผู้เขียน โยนัส ซัลซ์เกเบอร์ (Jonas Salzgeber) อธิบายว่า "เราเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะหยุดยั้งตัวเองจากการบ่มเพาะขัดเกลาคุณสมบัติเหล่านี้ มันเป็นสิ่งที่อยู่ใต้อำนาจของเราที่จะยับยั้งความเลวร้ายในใจ ปรามความเย่อหยิ่งจองหอง หยุดความมักใหญ่ใฝ่สูงจากชื่อเสียง และควบคุมอารมณ์ของตัวเอง"

            ปรัชญาสโตอิกไม่ได้สอนเราให้ควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ เศร้า เหงา โกรธ กลัว วิตกกังวล ออกมาแต่ปรัชญาสายนี้พยายามจะสอนให้เราควบคุมการแสดงออกจากอารมณ์ กล่าวคือ แม้เราจะเศร้า โกรธ เกลียด เราสามารถกำหนดการแสดงออกของเราเองได้ เราสามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้ปัจจัยภายนอกอะไรบ้างมามีความหมายกับเรา เราไม่จำเป็นต้องถูกลากจูงไปทั่วโดยสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เราสามารถรักษาความสงบนิ่งไว้ได้โดยไม่ต้องเจ็บปวดและรำคาญใจเลยด้วยซ้ำ 

            หากพิจารณาในเชิงจิตวิทยาจะพบว่า มีหลายอย่างที่สอดคล้องกัน แตกต่างตรงที่ว่าเราสามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้ แต่เราจะต้องแสดงออกอย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเศร้าเราสามารถร้องไห้ออกมาได้ แต่ไม่ใช่ร้องไห้ฟูมฟายต่อหน้าคนอื่นจำนวนมาก เราสามารถร้องไห้ออกมาให้คนที่เราไว้ใจหรือปรารถนาดีกับเราเห็นเพื่อเป็นการระบายความรู้สึกที่เอ่อล้นออกไป

            ดังนั้นเราสามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้ สามารถแสดงออกถึงความสุขและความทุกข์ได้ แต่ควรแสดงออกอย่างเหมาะสม และการที่เราจะแสดงออกอย่างเหมาะสมหรือสามารถจัดการความไม่สมหวัง สมปรารถนาได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ก็ด้วยการตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า รถของเรา คอมพิวเตอร์ สัตว์เลี้ยง ร่ายกาง สถานภาพ ความสัมพันธ์ ทั้งหมดคือความไม่แน่นอนและสามารถถูกพรากได้ภายในเสี้ยววินาที 

            เราอาจจะทำงานจนดึกดื่นและเหน็ดเหนื่อยเพื่อจะได้รับการยอมรับ คำชม หรือรางวัลต่าง ๆ มากมาย แต่กระนั้นมันก็อาจจากเราไปได้ตลอดเวลา จะด้วยชะตากรรม โชคร้าย หรือความตาย สามารถยึดมันไปจากเราได้โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าใด ๆ เราไม่เคยได้เตรียมตัวรับมือกับการสูญเสียเช่นนั้น เราคิดว่าเราเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้น และจะรู้ตัวว่าไม่ใช่ก็ต่อเมื่อมันจากเราไปแล้ว

            และเมื่อถึงจุดนั้นมันก็ช่างเป็นเรื่องยากเย็นเสียเหลือเกินที่จะรับมือได้ ความเศร้าเสียใจ สิ้นหวัง ราวกับหลงทางในเขาวงกต ยากที่จะหาทางออกได้แม้เราจะเดินไปไกลสักเท่าไหร่ก็ตาม มันก็อาจจะย้อนกลับมาที่เดิมได้เสมอ เซเนกา นักปรัชญาชื่อดังชาวโรมัน อธิบายว่า "เราไม่สามารถรับมือกับการสูญเสียเช่นนั้นได้ ก็เพราะเราไม่ได้คิดถึงความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไปตั้งแต่แรก"

            ซัลซ์เกเบอร์แนะนำให้เราคิดว่าทุกอย่างที่เรามีเป็นของที่ยืมมา เพื่อสนิท คู่ชีวิต ลูก ๆ สัตว์เลี้ยงสุดรัก สุขภาพ สถานภาพ ทรัพย์สิน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรายืมมา และสักวันหนึ่งเราจะต้องคืนทั้งหมดนี้ เมื่อเราตระหนักอย่างนี้ได้ โชคร้ายจะเล่นงานเราเบาลงและเราจะสามารถรับมือกับการสูญเสีย ความไม่สมหวังได้ดียิ่งขึ้น เพราะในท้ายที่สุดแล้ว เรามาตัวเปล่า เราก็ต้องไปตัวเปล่า

            อย่างไรก็ตามการคิดแบบปรัชญาสโตอิกเช่นนี้ก็ยากเสียเหลือเกิน เพราะเราเป็นมนุษย์ที่มีสัญชาตญาณอันไม่น่าอภิรมณ์นัก เราอิจฉา หวง หึง และมีอารมณ์หลายอย่างที่ไม่พึงปรารถนา เราพร้อมจะร้องไห้และแสดงอารมณ์โมโหร้ายเมื่อทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถจัดการอารมณ์เหล่านี้ได้เลย อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ว่า "เราสามารถแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสมได้"

            เราสามารถตระหนักว่าสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน เราเพียงหยิบยืมทุกสิ่งทุกอย่างมาเท่านั้น และเมื่อเราตายไปก็มีเพียงความว่างเปล่าเท่านั้นที่เราจะเอาไปได้ เพื่อที่จะจัดการกับความสูญเสีย ความผิดพลาด ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา เราสามารถใช้ข้อเท็จจริงนี้มาโต้แย้งความคิดที่อยากจะครอบครองทุกสิ่งทุกอย่าง และกำหนดการแสดงออกของเราด้วยความ "นิ่งเฉย" จากการปล่อยวาง

            ผมแนะนำให้เราทุกคนเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีตอนนี้ เพราะมันอาจสูญสิ้นไปในวันพรุ่งนี้ ชีวิตเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น เรียนรู้ที่จะมีความสุขกับสิ่งของและผู้คนโดยไม่ยึดติดและไม่อาลัย เมื่อนั้นแล้วต่อให้เป็นทุกข์กับการสูญเสีย ไม่สมหวัง เราก็จะสามารถจัดการมันอย่างสมเหตุสมผลได้  เพราะสิ่งที่เราปรารถนามันไม่ได้เป็นของเรา 

มันถูกมอบให้เราเพียงชั่วขณะ ไม่ใช่ชั่วนิรันดร์

อ้างอิง

Salzgeber, J. (2019). The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness. https://www.njlifehacks.com/

คาลอส บุญสุภา. (2565). สุขภาพจิตที่ดี คือการจัดการในสิ่งที่ควบคุมได้ ยอมรับในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้. https://sircr.blogspot.com/2022/10/blog-post_10.html

ความคิดเห็น