บุคคลที่เราโกหกหลอกลวงมากที่สุด ก็คือตัวเราเอง

"หลักการข้อแรกคือคุณต้องไม่หลอกตัวเอง และระวังไว้นะครับ ตัวคุณเองนั่นแหละคือคนที่หลอกง่ายที่สุด"

            แทบทุกศาสนาพูดถึงความเลวร้ายและผลกรรมของการโกหกคนอื่น การหลอกหลวงคนอื่น เพราะหลักธรรมแต่ละศาสนาเข้าใจถึงข้อเสียในตัวมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ต้องการจะเอาตัวรอด และสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเอง ทำให้หลายครั้งเราโกหกคนอื่นแม้หลายครั้งเรื่องราวที่เราโกหกจะดูไร้สาระและดูไม่เป็นไปตามหลักเหตุผลเลยก็ตาม

            ยกตัวอย่างเช่น เด็กน้อยที่ขโมยเงินของพ่อแม่ไปซื้อของที่ตนเองชอบ เลือกที่จะโกหกว่าไม่ได้ขโมยเพราะต้องการหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด แตกต่างกับเด็กที่เลือกฝืนใจตัวเองไม่ขโมยซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีพัฒนาการจริยธรรมของโคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg) ระยะที่ 1 ก่อนมีการมีวิจารณญาณทางศีลธรรม (Pre-Conventional level of Judgment) ช่วงอายุระหว่าง 2 - 10 ปี แบ่งออกเป็น 2 ขั้น

            ในสถานการณ์เด็กขโมยเงินจะสอดคล้องกับจิรยธรรมในขั้นที่ 1 ซึ่งจริยธรรมภายใต้การควบคุมของผู้อื่น (Heteronomous Morality) (อายุระหว่าง 2 - 7ปี) ในขั้นนี้เด็กจะตัดสินสิ่งที่ "ถูกต้อง" หรือ "ผิด" จาการที่เด็กได้รับรางวัลหรือการลงโทษ อธิบายแบบรวบรัดก็คือ เด็กบางคนเลือกฝืนใจไม่ขโมยเงินพ่อแม่เพราะกลัวลงโทษ (ระยะที่ 1 ขั้นที่ 1) แต่เด็กบางคนก็คิดว่าสิ่งของมันล้อตาล้อใจจึงเลือกที่จะขโมยและโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงผลกรรมที่จะตามมา

            การฝ่าฝืนจริยธรรมเบื้องต้นนี้พบเห็นได้มากมายในสังคมตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ นอกเหนือจากนั้นยังมีพฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์เราที่น่าสนใจ คือการปรับเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ บางคนถึงขั้นปรับเปลี่ยนความทรงจำเพื่อเข้าข้างตนเองโดยไม่รู้ตัวก็มี ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่ขโมยเงินพ่อแม่ เกิดความรู้สึกผิดเพราะฝ่าฝืนจริยธรรมขั้นต้น แต่เพื่อที่จะทำให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น เด็กคนนั้นจึงคิดว่า "ถ้าขโมยแล้วพ่อแม่ไม่เดือดร้อนถือว่าไม่ผิด"

            เด็กบางคนอาจถึงขั้นเปลี่ยนความทรงจำตัวเองว่าไม่ได้ขโมยเสียด้วยซ้ำ สิ่งนี้มันคือการปากว่าตาขยิบ เป็นกลไกการป้องกันตัวเองตามหลักจิตวิทยา (Defense Mechanisms) กล่าวคือ เราเลือกที่จะหลอกตัวเองเพราะต้องการที่จะปกป้องตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องจากการโดนทำโทษ ปกป้องจากความรู้สึกผิด ปกป้องจากการเป็นคนไม่ดีก็ตาม

            หลักจิตวิทยาเชิงบวกมักจะสอนเราเสมอว่า "มนุษย์ทุกคนปรารถนาอยากจะเป็นคนดี" ผมว่าไม่ใช่มุมมองที่ผิดอะไร เพราะเราอยากจะเป็นคนดีอย่างแน่นอน แต่เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เช่น อยากให้ผู้คนยอมรับ หลีกหนีการโดนทำโทษและความรู้สึกผิด หรีออยากจะอยู่เหนือกว่าคนอื่น ซึ่งในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงจะพบเห็นพฤติกรรมการอยากอยู่เหนือคนอื่นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากสภาพสังคมดังกล่าวจะบีบให้ผู้คนแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

การโกหกหลอกลวงตนเองคือการปากว่าตาขยิบ เป็นกลไกการป้องกันตัวเองตามหลักจิตวิทยา

            การโกหกหรือหลอกลวงตัวเองจึงเป็นกระบวนการที่น่าสนใจ และสามารถนำมาเป็นข้อมูลเพื่อให้เราสำรวจตนเอง ตระหนักรู้ในตนเองได้ดียิ่งขึ้น เราไม่ควรอย่างยิ่งที่จะคิดเอาเองว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงธรรม หรือเป็นคนดีอะไรขนาดนั้น เพราะมนุษย์ก็มีสัญชาตญาณที่จะตอบสนองกลับต่อสิ่งเร้า (ปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ) โดยอัตโนมัติ ต่างกันเพียงแค่เรามีจิตสำนึกที่ใช้สติในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ได้ เพียงแต่การใช้สติจะช้ากว่าสัญาชาตญาณเสมอ

            ในหนังสือ The Honest Truth About Dishonesty ผู้เขียน แดน อารีลีย์ (Dan Ariely) ได้เล่าถึงนักประสาทวิทยาด้านการรู้คิดชื่อ ไมเคิล แกซซานิกา (Michael Gazzaniga) ศาสตรจารย์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เขาอธิบายว่า สมองซีกซ้ายเป็น "ล่าม" ซึ่งทำหน้าที่เรียบเรียงเรื่องราวจากประสบการณ์ของเรา เขาได้ข้อสรุปมาจากการวิจัยที่ทำกับกลุ่มผู้ป่วยสมองส่วน คอร์ปิส แคลโลซัม (Corpus Callosum) ซึ่งเป็นกลุ่มเส้นประสาทที่เชื่อมต่อระหว่างสมองซีกซ้ายและขวาถูกผ่าออกไป

            เมื่อสะพานเชื่อมระหว่างสมองสองซีกถูกตัดออกไป จึงทำให้สมองทั้งสองซีกทำงานไม่ประสานกัน ส่งผลให้ผู้ป่วยเหล่านี้อาจรับรู้สิ่งเร้าได้โดยที่สมองอีกซีกไม่ได้รับรู้อะไรด้วยเลย แกซซานิกา ต้องการหาคำตอบว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากกระตุ้นให้สมองซีกขวาทำอะไรสักอย่าง จากนั้นก็ให้สมองซีกซ้าย (ซึ่งไม่รู้เรื่องอะไรเลย) คิดหาเหตุผลมาอธิบายการกระทำดังกล่าว

            เขาใช้อุปกรณ์พิเศษในการแสดงคำสั่งแก่สมองซีกขวาเพื่อทำให้กลุ่มทดลองหัวเราะ โดยขึ้นข้อความกระพริบว่า "หัวเราะ" ทันที่กลุ่มทดลองหัวเราะตามโดยไม่รู้สาเหตุ แกซซานิกาก็ถามว่า "หัวเราะทำไม" ผลที่ได้น่าสนใจมาก เพราะแทนที่กลุ่มทดลองจะบอกว่า "ไม่รู้" แต่ดันแต่งเรื่องขึ้นมาว่า "ก็พวกคุณแวะมาทดสอบเราอยู่ได้ทุกเดือน ขยันซะไม่มี" ดูเหมือนกลุ่มทดลองจะลงความเห็นว่านักประสาทวิทยาดูน่าขันเอามาก ๆ

            มนุษย์เราต้องการคำอธิบายสำหรับพฤติกรรมและสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว ต่อให้คำอธิบายที่ว่าจะแทบไม่มีอะไรเป็นความจริงเลยก็ตาม เพราะเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มักจะเล่าเรื่องราวอยู่เสมอ จนกระทั่งเราเจอคำอธิบายที่เราชอบและดูสมเหตุสมผลมากพอที่จะเชื่อ และยิ่งเรื่องราวนั้นสะท้อนถึงตัวเราในแง่บวกมากเท่าไหร่เราก็จะชอบมันมากขึ้นเท่านั้น

            ในหนังสือ Sapiens a Brief History of Humankind ผู้เขียน ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) อธิบายว่าเผ่าพันธ์เซเปียนส์ครองโลกได้จนถึงปัจจุบันจุดเปลี่ยนสำคัญก็คือ เรามีจินตนาการ ภาษา และเรื่องเล่า แตกต่างกับมนุษย์เผ่าพันธ์อื่นที่แม้จะมีประสิทธิภาพทางร่างกายและสมองที่มากกว่าเราก็ตาม เราสามารถหาเหตุผลที่ดูมีสาระบ้าง ไร้สาระบ้างมาอธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้นั่นเอง

            ลองนึกถึงมนุษย์โบราณที่ต้องเจอกับลมพายุรุนแรง ไม่แปลกที่คิดว่ามันมีเทพอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นการอธิบายที่ง่ายอย่างมาก นอกจากนั้นมนุษย์ยังสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับการบูชาเทพองค์นั้นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าควบคุมได้หรือปลอดภัยซึ่งสะท้อนถึงสัญชาตญาณแห่งการอยู่รอดและทำให้ตัวเองปลอดภัย มันดีกว่าที่พวกเขาจะได้ข้อสรุปว่า "ไม่รู้" ไปเสียทุกอย่าง

            ริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard Feynman) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลบอกเหล่าบัณฑิตในวันสำเร็จการศึกษาของพวกเขาที่สถาบันคาลเทคในปี 1974 ว่า "หลักการข้อแรกคือคุณต้องไม่หลอกตัวเองและระวังไว้นะครับ ตัวคุณเองนั่นแหละคือคนที่หลอกง่ายที่สุด" ในบทความนี้ผมได้เล่าและแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งในตัวเองของเรา ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างความจำเป็นที่จะต้องโกหกตัวเองหรือผู้อื่น กับความปรารถนาที่จะมองว่าตัวเองเป็นคนดีและซื่อสัตย์

            เราจึงพยายามหาเหตุผลมารองรับความไม่ซื่อสัตย์ด้วยการเล่าเรื่องให้ตัวเองฟังว่า เหตุผลใดการกระทำของเราจึงสามารถยอมรับได้ พฤติกรรมนี้สะท้อนให้เห็นว่าพวกเราช่ำชองศิลปะในการหลอกตัวเองไม่เบาเลยทีเดียว เมื่อเราเผชิญกับความขัดแย้งดังกล่าวความคิดของเราก็จะเข้าสู่กระบวนการเล่นแร่แปรธาตุทันที โดยพยายามสรรหาสารพัดเหตุผลมาปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ที่เคยตั้งไว้

            วิธีนี้ช่วยให้เราได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการจริง ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็หลอกลวงตัวเองให้เชื่อว่าเรากำลังเลือกในสิ่งที่มีหลักการและมีเหตุผลรองรับอย่างดี ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วอาจจะฟังดูไร้สาระก็เป็นได้ ซึ่งมันก็ไม่ดีเสมอไปเพราะมันสามารถทำให้เราหลงผิด หลงเข้าไปในจินตนาการและหลุดออกจากโลกความเป็นจริงได้ 

ดังนั้นเราจะต้องมีสติพิจารณาความคิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล สอดรับกับความเป็นจริงให้มากที่สุด

อ้างอิง

Ariely, D. (2013). The Honest Truth About Dishonesty: How We Lie to Everyone--Especially Ourselves. NY: Harper Perennial.

Harari, N. Y. (2015). Sapiens a Brief History of Humankind NY: Harper.

คาลอส บุญสุภา. (2561). ทฤษฎีพัฒนาการจริยธรรมของโคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg). https://sircr.blogspot.com/2018/04/lawrence-kohlberg.html

ความคิดเห็น