สร้างความมั่นใจในตัวเอง โดยการยืนยันจุดแข็งของตนเอง

อย่าลืมว่าแต่ละคนมีจุดเด่นด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบ น่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ หรือเห็นอกเห็นใจ

            สิ่งหนึ่งที่ผมมักพบเจอจากคนใกล้ตัวที่มีปัญหาซึมเศร้า เครียด วิตกกังวลค่อน ก็คือพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง และเมื่อผมตั้งคำถามกับพวกเขาเพิ่มเติมว่า "รู้สึกอย่างไรเวลาที่ทำงาน" "มีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง" "มีความรับผิดชอบในระดับไหน 1 - 5" (ผู้อ่านสามารถลองตอบคำถามในใจดูได้นะครับ) ซึ่งผมมักจะได้รับคำตอบจากคำถามประเภทนี้ในเชิงบวกเสมอ

            แต่มีคำถามประเภทหนึ่งที่มักจะได้ผลตอบลัพธ์ในเชิงลบ ผมอยากให้ผู้อ่านลองตอบคำถามเหล่านี้ดูด้วยครับ "คุณรู้สึกว่าตัวเองมีความั่นใจหรือไม่" หรือ "ให้ประเมินตนเองว่ามีความมั่นใจในระดับไหน" ผมเชื่อว่าผู้อ่านส่วนใหญ่จะรู้สึกมั่นใจในระดับกลาง ๆ ไปจนถึงไม่มั่นใจเลย ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นมันก็สอดคล้องกับคนใกล้ตัวผมอย่างมาก หลายคนมีความสามารถในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ สามารถแก้ไขปัญหาได้ดี แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความมั่นใจในตัวเอง

            หลายคนมีเหตุผลสนับสนุน "ฉันไม่เก่งเลย" คนรอบตัวผมหลายคนเล่าเหตุผลสนับสนุนมากมาย ยกตัวอย่างเช่น "มีคนที่เก่งกว่าเสมอ" หรือ "ถ้าเก่งจริงก็ต้องมีคนเห็นแล้วสิ" จะเห็นว่าส่วนใหญ่มักจะอ้างอิงจากสภาพแวดล้อมเสียทั้งหมด กล่าวคือ พวกเขารู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะสังเกตสิ่งแวดล้อมและตีความเพื่อตัดสินตัวเอง 

            กระบวนการสังเกตสิ่งแวดล้อมเพื่อตัดสินตัวเองนี่แหละที่มันจะทำให้เราเกิดความรู้สึกเชิงลบขึ้นมา โดยเฉพาะกับคนที่อยู่สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ เพื่อนร่วมงานโทษกันเอง ไม่มีความรับผิดชอบ โยนความรับผิดชอบไปมา ต่อว่าด่าทอหรือนินทาในเชิงลบ เพราะต่อให้เราเก่งแค่ไหนแต่เมื่อเจอสถานที่ทำงานที่แวดล้อมไปด้วยพิษก็ไม่สามารถรู้สึกว่าตัวเองเก่งได้อยู่ดี และไม่เพียงแค่สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความรู้ที่เรามีด้วย บางคนศึกษาหาความรู้มากมายจนพบว่า ตัวเราเป็นเพียงแค่สิ่งมีชีวิตเล็กจ้อย ยังมีคนอีกมากมายที่เก่งและดีกว่าเรา

            เอ็มมา เฮ็ปเบิร์น (Emma Hepburn) ผู้เขียนหนังสือ A Toolkit for Modern Life มองว่าสิ่งนี้คือความย้อนแย้งของโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เพราะมันเกิดขึ้นในหมู่ผู้คนที่รู้จริง เธอยกตัวอย่างผลการศึกษาทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ปรากฎการณ์ ดันนิง - ครูเกอร์ (Dunning - Kruger Effect) ที่อธิบายว่าบ่อยครั้ง ยิ่งเรามีความสามารถเพิ่มมากขึ้น เราจะคิดว่าตัวเองมีความสามารถน้อยลง เพราะตระหนักมากขึ้นว่าตัวเองไม่รู้มากแค่ไหน กล่าวคือ ยิ่งเรารู้มากขึ้น เก่งมากขึ้น เราจะตระหนักถึงความจริงว่า ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เรายังไม่รู้

ต่อให้เราเก่งแค่ไหนแต่เมื่อเจอสถานที่ทำงานที่แวดล้อมไปด้วยพิษก็ไม่สามารถรู้สึกว่าตัวเองเก่งได้อยู่ดี

            แน่นอนการศึกษาหาความรู้เป็นเรื่องที่ดีและทำให้มนุษยชาติเติบโตก้าวหน้าจนถึงทุกวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้นมันทำให้เรารู้สึกถ่อมตัวมากขึ้นด้วย ทิม เออร์บัน (Tim Urban) บล็อกเกอร์ที่มีชื่อเสียง อธิบายไว้ว่า ในขณะที่ความถ่อมตัวเป็นตัวกรองที่ซึมซับประสบการณ์ชีวิตและเปลี่ยนมันให้กลายเป็นความรู้และภูมิปัญญา ตรงกันข้ามกับความทะนงตัวที่จะกลายเป็นเกราะยางที่มีแต่จะทำให้ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านเข้ามาเด้งกลับออกไปเท่านั้น

            อย่างไรก็ตามต่อให้เราเก่ง มีความรู้ รับผิดชอบ ถ่อมตัว และดีมากแค่ไหน แต่มันก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมด้วย หากสภาพแวดล้อมเป็นพิษอย่างที่ผมยกตัวอย่างมาก็ย่อมบ่อนทำลายความมั่นใจของเราให้เหือดแห้งตามไปด้วย หลายคนซึมเศร้า หลายคนกดดันหรือเครียดมากเกินไปจนเป็นความดันสูง นอนไม่หลับ และพยายามสร้างความสุขให้กับตัวเองด้วยการใช้เงินมากขึ้น หรือรับประทานมากขึ้นจนเกิดปัญหาบานปลายตามมา

            แน่นอนว่าหลายคนไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมได้ และหลายคนก็มีเงื่อนไขที่ไม่สามารถย้ายงานได้ ดังนั้นผมจึงอยากเสนอให้สร้างความมั่นใจกับตัวเอง โดยการยืนยันจุดแข็งของตนเอง อย่าลืมว่าแต่ละคนมีจุดเด่นด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบ น่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ เห็นอกเห็น หรือมีจริยธรรมในการทำงาน เพียงแต่เราจะต้องย้ำเตือนกับตัวเองว่า "เราเป็นคนที่มีคุณค่า" ไม่ว่าเราจะมองว่าตัวเองมีข้อบกพร่องใด ๆ ก็ตาม

            การที่เราสามารถยืนยันคุณค่าหรือจุดแข็งของตัวเองได้จะช่วยกระตุ้นความเคารพตัวเองของเราได้ทันที และส่งผลให้เรารู้สึกเปราะบางต่อประสบการณ์การถูกปฏิเสธหรือความล้มเหลวน้อยลง นอกจากนั้นยังมีประโยชน์อีกประการหนึ่งของการยืนยันกับตัวเอง คือมันส่งผลดีต่อเราด้วย แม้กระทั่งเมื่อคุณสมบัติที่เรากำลังยืนยันอยู่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในขณะนั้นก็ตาม

            ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเจ็บปวดจากการไม่ได้ขึ้นเงินเดือน เราไม่จำเป็นต้องยืนยันคุณค่าถึงความสามารถในการทำงานเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น แต่การยืนยันว่าเราเป็นเพื่อนที่ดี เป็นคนรักที่ดี เป็นคนที่ชอบรับฟัง ช่างสังเกต ซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อหน้าที่ ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นกับตัวเองขณะเดินออกมจากห้องทำงานของหัวหน้าโดยไม่ได้ขึ้นเงินเดือนตามที่เราคาดหวังเอาไว้ได้

            ในหนังสือ Emotional First Aid เขียนโดย กาย วินช์ (Guy Winch) นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียง ได้แนะนำแบบฝึกหัดสำหรับการยืนยันเกี่ยวกับตัวเองที่น่าสนใจอย่างมาก เขาแนะนำว่าให้ฝึกหัดการเขียนต่อไปนี้อย่างสม่ำเสมอที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ทุกสัปดาห์ได้จะดีมาก ยิ่งทุกวันได้ยิ่งดี) ที่สำคัญเป็นพิเศษคือการทำแบบฝึกนี้หลังจากเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดสูง 

            หรืออาจเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกว่าความเคารพหรือการเห็นคุณค่าในตัวเองลดลง เช่น เมื่อสมัครงาน สมัครเรียน รอผลการสอบ เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่ความเคารพตัวเองของเราอาจเปราะบางที่สุด กาย วินช์แนะนำให้ใช้กระดาษเปล่าสองแผ่น

            1) ในกระดาษแผ่นแรก ทำรายการคุณสมบัติสำคัญของเรา รวมถึงความสำเร็จที่ผ่านมาซึ่งสำคัญหรือมีความหมายต่อเรา ตั้งเป้าไว้ที่สิบอย่าง และถ้าจะให้ดีควรนึกเพิ่มให้ได้มากกว่านี้ยิ่งหลายข้อยิ่งดี

            2) ถ้าขณะระดมความคิดเพื่อเขียนรายการของเรา เราคิดถึงการตอบสนองในเชิงลบ (เช่น "เพื่อนร่วมงานคิดว่าฉันเป็นพนักงานไม่เอาไหน") โทษตัวเอง (เช่น "ฉันมันคนขี้แพ้") หรือประชดประชัน (เช่น "มีอะไรที่ฉันเก่งบ้างหรือ ขอคิดก่อนนะ กิน หายใจ นอนหลับ") ให้เราเขียนลงไปในกระดาษแผ่นที่สอง

            3) เลือกหนึ่งข้อจากกระดาษแผ่นแรกที่มีความหมายต่อเราเป็นพิเศษ แล้วเขียนเรียงความสั้น ๆ (อย่างน้อยหนึ่งย่อหน้า) ว่าทำไมคุณสมบัติ ความสำเร็จ หรือประสบการณ์นี้จึงมีความหมายต่อเรา และเราหวังจะให้มันมีบทบาทอย่างไรต่อชีวิตเรา

            4) เมื่อเราเขียนเรียงความจบแล้ว หยิบกระดาษแผ่นที่สองขึ้นมาขยำเป็นก้อนกลมแล้วขว้างลงถังขยะซึ่งเป็นที่สำหรับมัน

            5) ในวันต่อ ๆ มา ให้เลือกข้ออื่น ๆ จากรายการคุณสมบัติของเราแล้วเขียนเกี่ยวกับคุณสมบัตินั้น ๆ เขียนทุกวันได้ยิ่งดี จนกว่าจะครบทุกข้อในรายการ เราสามารถเพิ่มเติมคุณสมบัติในรายการของเราได้ทุกเมื่อ หรือเขียนเกี่ยวกับคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งหลาย ๆ ครั้งได้ตามใจชอบ

            การที่เราฝึกหัดยืนยันจุดแข็งอยู่เป็นประจำย่อมทำให้เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อความรู้สึกเชิงลบได้ เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายแก่ความเคารพตัวเองเมื่อไหร่ อีกทั้งการเคารพตัวเองนอกจากจะสัมพันธ์กับความมั่นใจในตัวเอง ยังสัมพันธ์กับการเห็นคุณค่าในตนเองด้วย เพราะตัวแปรทั้งหมดเป็นความรู้สึกเชิงบวกที่บุคคลมีต่อตนเอง กล่าวคือ หากเรารู้สึกกับตัวเองในเชิงบวก ก็จะส่งผลให้ตัวแปรทั้งสามเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

            สิ่งที่ผมไม่ต้องการเห็นอย่างยิ่งก็คือ การที่คนเห็นแก่ตัว เป็นสารพิษที่เลวร้าย มั่นใจในตัวเองแบบโง่ ๆ ทำร้ายความรู้สึกของคนที่เห็นอกเห็นใจ เห็นในคุณค่าของคนอื่น คนดี ๆ มากมายต้องล้มลงด้วยความเศร้า  และความเจ็บปวด มันเป็นความสูญเสียซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงจรต่อไป การที่พนักงานดี ๆ หลายคนสามารถจัดการกับความรู้สึกเชิงลบ และพัฒนามุมมองเชิงบวกอย่างความมั่นใจในตัวเอง ความเคารพในตัวเอง และการเห็นคุณค่าในตนเองได้

ย่อมสามารถสร้างภาพแวดล้อมดีและเห็นคุณค่าของกันและกันได้เช่นเดียวกัน

อ้างอิง

Grant, A. (2021). Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know. NY: Viking.

Hepburn, E. (2022). A Toolkit for Modern Life: 53 Ways to Look After Your Mind. London: Greenfinch.

ความคิดเห็น