เหมาเจ๋อตง (Mao Zedong) กับการตัดสินใจด้านสาธารณสุขที่ผิดพลาดร้ายแรง

การคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตจากความอดอยากอยู่ระหว่าง 15 - 30 ล้านคน

            เรารู้จักเหมาเจ๋อตงกันอย่างดีว่าเป็นอดีตผู้นำประเทศและผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน รูปภาพของเขาที่ถูกตั้งโชว์ตามร้านค้าต่าง ๆ หรือภายในบ้านเรือน เรียกได้ว่าแทบทุกที่อยู่อาศัยของประชาชนจีนจะมีรูปของเขาแทบทั้งสิ้น นโยบายของเหมาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) เริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1966 เมื่อเขาปลุกระดมให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ออกไปจับกุม ทำร้าย หรือแม้แต่เข่นฆ่าบุคคลที่เชื่อมั่นในความคิดเก่า นิสัยเก่า ธรรมเนียมเก่า และวัฒนธรรมเก่า 

            เหมาเจ๋อตงมองว่าความคิดดังกล่าวนั้นจะเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งความเจริญของประเทศ การปฏิวัติอันนองเลือดนี้กินระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินให้กับประเทศจีนอย่างแสนสาหัส ผู้คนเป็นล้านต่าง ๆ ล้มตายตลอดระยะเวลาของการปฏิวัติ แต่นี้ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเพียงอย่างเดียวที่เขาตัดสินใจ ยังมีนโยบายหนึ่งที่ส่งผลให้ประชาชนจีนเสียชีวิตกว่า 15 - 30 ล้านคน (ตัวเลขจากการคาดการณ์)

            นโยบายนี้ชื่อว่า "การรณรงค์ปราบสี่สัตว์รังควาน" (Four Pests Campaign) เป็นนโยบายที่ ทอม ฟิลลิปส์ (Tom Phillips) ผู้เขียนหนังสือ Humans: A Brief History of How We F*cked It All Up กล่าวว่า เป็นนโยบายสาธารณสุขที่ก่อหายนะสูงสุดเท่าที่เคยปรากฎมา แน่นอนว่าเหมาไม่ได้เจตนาจะทำให้เกิดสิ่งเลวร้ายตามมาขนาดนี้ แต่มันเป็นความผิดพลาดของการตัดสินใจที่ใหญ่หลวงของเขา

            ระหว่างที่สหายคอมมิวนิสต์ของประธานเหมาปกครองแผ่นดินจีนในปลายปี 1949 จีนกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการแพทย์ โรคระบาดมากมายเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น อหิวาตกโรค กาฬโรค หรือมาลาเรียพบได้ดาษดื่น เหมาต้องหาทางทำอะไรสักอย่าง เพราะเขาหวังจะบรรลุเป้าหมายในการนำจีนก้าวจากชาติที่พึ่งพาเกษตรกรรมไปสู้การเป็นชาติมหาอำนาจอุตสาหกรรมสมัยใหม่

            ปัญหาเริ่มต้นจากการที่เหมาโทษโรคระบาดมากมายพวกนี้ว่าเป็นสาเหตุของสัตว์ต่าง ๆ แน่นอนว่ายุงแพร่เชื้อมาลาเรีย หนูแพร่เชื้อกาฬโรค การลดจำนวนสัตว์เหล่านี้ก็อาจไม่ใช่เรื่องแย่จนเกินไป แต่ดันมีสัตว์บางสปีชีส์ที่เหมาใส่เพิ่มเข้าไปโดยไม่ได้ขอความเห็นผู้เชี่ยวชาญเลยก็คือแมลงวันด้วยเหตุผลว่าพวกมันน่ารำคาญ รวมไปถึง "นกกระจอก" ที่เป็นพระเอกหลักของเรื่องนี้

หนึ่งในการตัดสินใจด้านสาธารณสุขที่ผิดพลาดร้ายแรงมากก็คือการสั่งฆ่านกกระจอก

            แม้นกชนิดนี้จะชื่อว่านกกระจอก แต่มันไม่ได้กระจอกเหมือนชื่อนะครับ พวกเขามองว่านกชนิดนี้เป็นตัวปัญหา พวกมันกินเมล็ดพืช ซึ่งควรนำไปเลี้ยงปากท้องชาวจีนมากถึง 4.5 กิโลกรัมต่อปี พวกเขาคำนวณดูแล้วพบว่า การกวาดล้างนอกกระจอกหนึ่งล้านตัวจะทำให้คน 60,000 คนมีอาหารกิน นั่นจึงเป็นเหตุผลให้การรณรงค์ปราบสี่สัตว์รังควานเริ่มต้นในปี 1958 พร้อมกับการติดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ทั่วเมือง และเรียกร้องให้พลเมืองทุกคนตั้งแต่เด็กจนถึงคนชราร่วมภารกิจขุดรากถอนโคนสัตว์พวกนี้

            พวกเขาผลิตวาทกรรมโดยประกาศว่า "นกเป็นสัตว์สาธารณะของพวกทุนนิยม" ทำให้ประชาชนใช้ข้าวของทุกชิ้นเป็นอาวุธ ตั้งแต่ปืนไฟเฟิลไปจนถึงไม้ตีแมลงวัน นักเรียนได้รับการฝึกฝนให้สอยนกกระจอกให้ได้มากที่สุด ผู้คนที่ถูกล้างสมองให้เกลียดนกกระจอกต่างวิ่งกรูกันออกมาบนท้องถนน โบกธงด้วยความปีติยินดีขณะร่วมกันฆ่านกกระจอก

            รังนกกระจอกถูกฉีกทิ้ง ไข่ของมันถูกทำลายแหลกลาญ ขณะที่พลเมืองจีนตีหม้อตีกระทะไล่พวกมันให้พ้นต้นไม้โดยไม่หยุดพัก ประเมินกันว่าเฉพาะในเซี่ยงไฮ้เมืองเดียวมีนกกระจอกเกือบ 200,000 ตัวตายในวันแรกของการประกาศสงคราม เรียกได้ว่านโยบายนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงสม ประชาชนรวมใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อขจัดนกกระจอกและสัตว์ที่เหลือตามนโยบาย และประกาศชัยชนะเหนือพวกมัน

            โดยรวมแล้วประเมินกันว่าการรณรงค์ปราบสี่สัตว์รังควานนี้ ประชาชนและทางการสังหารหนูไป 1,500 ล้านตัว ยุง 11 ล้านกิโลกัรม แมลงวัน 100 ล้านกิโลกรัม และนอกกระจอก 1,000 ล้านตัว แต่โชคร้ายหรือเวรกรรมก็ไม่ทราบ ไม่นานนักก็ปรากฎชัดเจนว่าชัยชนะนี้กลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ยิ่ง เพราะมันดันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างใหญ่หลวง นกกระจอกกว่าพันล้านตัวไม่ได้กินแต่เมล็ดพืชเท่านั้น พวกมันยังกินแมลงสารพัดและที่สำคัญก็คือพวกมันกินตั๊กแตนทซึ่งเป็นศัตรูตัวสำคัญของเกษตรกร

            กลายเป็นว่าจู่ ๆ ตั๊กแตนในจีนก็ไม่ต้องกลัวการถูกนกกระจอกกิน จึงไม่ต่างกับการเปิดทางให้พวกมันได้เฉลิมฉลอง ตั๊กแตนมากมายรุมเขมือบธัญพืชทั่วประเทศจีนเป็นฝูงใหญ่ราวกับเมฆ พวกมันนำหายนะมาเยือนประชาชนจีน จากตัวเลขของการคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตจากความอดอยากอยู่ระหว่าง 15 - 30 ล้านคน ที่น่ากลัวก็คือตัวเลขจริง ๆ อาจจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำ

            แน่นอนว่าไม่ใช่การกวาดล้างนกกระจอกอย่างเดียวที่ทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ แต่มีการตัดสินใจผิดพลาดอีกหลายอย่างที่มีส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเพาะปลูกเพื่อยังชีพแบบเดิม ๆ หายนะจากเทคนิคเกษตรกรรมใหม่ที่อิงวิทยาศาสตร์เทียมไร้สาระของนักชีววิทยาโซเวียต หรือการที่รัฐบาลกลางเข้ารวบรวมผลผลิตทั้งหมดแล้วผันมันออกไปให้ชุมชน ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตภัยแล้งหรือน้ำท่วมจึงทำให้จีนไม่มีอาหารสำรองมาประคับประคองตัวเอง ประชาชนก็ไม่มีจะกินเพราะส่งทางการหมดส่งผลให้หลายชีวิตล้มตายอยากความหิวโหย

            แต่การกวาดล้างนกกระจอกนี้แหละที่สร้างหายนะรุนแรงมากที่สุด จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญตัวจริงอย่าง เจิ้งจั้วซิน (Tso-hsin Cheng) นักปักษีวิทยาที่พยายามเตือนผู้คนว่าการรณรงค์ปราบสี่สัตว์รรังควานเป็นความคิดที่แย่อย่างมาก แม้ความเห็นของเขาจะถูกรับฟังและได้มีการนำเอาตัวเรือดใส่แทนนกกระจอกในรายการสัตว์ทั้งสี่แต่ก็สายเกินไปแล้ว เพราะพวกเขาไม่สามารถชุบชีวิตนักกระจอกพันล้านตัวกลับมาได้

ข้อคิด

            1) อีโก้ของเผด็จการจะนำไปสู่หายนะเสมอ ไม่ใช่เพียงแค่การเมืองการปกครองเท่านั้นนะครับที่จะมีเผด็จการ แต่ครอบครัว ความสัมพันธ์ องค์กร สังคมก็สามารถมีเผด็จการได้ทั้งนั้น การยึดหรือรวบอำนาจ มักใหญ่ใฝ่สูง อยากเป็นคนสำคัญ อยากได้รับการยอมรับเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และทั้งหมดนี้ก็มักจะพาองคาพยพไปสู่หายนะเสมอ การตัดสินใจด้านสาธารณสุขของเหมาเจ๋อตงครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน

            โดยปกติแล้วมนุษย์เรามักจะได้ใช้ทางลัดที่รวดเร็วของสมองในการตัดสินใจเสมอ หนึ่งในทางลัดนั้นก็คือ "การแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักปักใจ (Anchoring Heuristic) และ "การแก้ไขปัญหาโดยใช้ทางเลือกที่มองเห็น " (Availability Heuristic) ทั้งสองแนวทางต่างสร้างความวุ่นวายไม่รู้จบ ทั้งหมดนี้มักจะพามนุษย์เราตกอยู่ภายใต้อิทธิพลอันมหาศาลของข้อมูลส่วนแรกที่เรารับรู้เท่านั้น และเมื่อต้องตัดสินใจเกี่ยวกับบางสิ่งโดยไม่มีข้อมูลในมือมากมายเท่าไหร่

            ในกรณีของผู้นำเผด็จการมันชัดเจนอย่างมาก พวกเขาปิดรับข้อมูลจากรอบตัวและมั่นใจว่าความคิดตัวเองถูกต้องมากที่สุด ยิ่งเป็นเผด็จการชนิดที่จับลงโทษไปเสียทุกอย่าง ย่อมไม่มีใครที่จะแย้งความคิดเห็นของผู้นำเลย ซึ่งนั้นก็พาให้หลายประเทศล้มจมไปนับต่อนับ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมันภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ฝรั่งเศสภายใต้การนำของนโปเลียน โบนาปาร์ต และนโยบายครั้งนี้ก็พาให้ประชาชนจีนหลายสิบล้านคนต้องจบชีวิตลงด้วยความอดอยาก แม้จะมีเสียงจากนักวิทยาศาสตร์เตือนเอาไว้แล้วก็ตาม

            2) ระบบนิเวศเป็นสิ่งซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้ ปกติแล้วเรามักจะคิดว่าลองจับสปีชีส์นี้ขึ้นมาแล้วไปใส่ตรงนั้นดู หรือลองสามสปีชีว์ไว้ตรงนี้แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ ณ จุดนั้นเองที่ผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจปรากฎกายขึ้นมา และแทบจะทุกครั้งมันก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่แห่งความล้มเหลวอีกด้วย ยิ่งมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มั่นใจในตัวเองสูงและมักง่าย จึงทำให้สิ่งมีชีวิตหลายสปีชีส์ต้องศูนย์พันธุ์ 

            ยกตัวอย่างเช่น การนำคางคกอ้อยมาสู่ออสเตรเลียด้วยความหวังดีเพื่อจะนำไปกินสัตว์จอมรังควานอย่างด้วยอ้อย แต่พวกมันดันกินแทบทุกอย่างยกเว้นด้วงอ้อย ในกรณีของประเทศจีนต้องเผชิญกับความอดอยากรุนแรงจากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์นกกระจอก แต่สุดท้ายเป็นชีวิตคนหลักสิบล้านที่ต้องจบสิ้นจากความมักง่ายที่ที่จะแทรกแซงระบบนิเวศของรัฐบาล

            ทั้งสองข้อนี้รวมกันจนทำให้ประชาชนตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งนโยบายที่ทำให้คนตายเป็นล้านจะไม่เกิดขึ้นหากเหมาเจ๋อตงและคณะทำงานคนอื่น ๆ ฟังเสียงของนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญ และมันจะไม่เกิดขึ้นหากผู้นำไม่เป็นเผด็จการบ้าอำนาจ มันก็เหมือนตอนที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์บุกโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา เขาไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้น และไม่มีใครกล้าแสดงความคิดเห็น คณะทำงานแต่ละคน "Say Yes" กันทั้งนั้น สุดท้ายเยอรมันก็พบกับความพ่ายแพ้แบบพินาศทั้ง ๆ ที่ในประวัติศาสตร์ก็มีบทเรียนจากครั้งที่นโปเลียนบุกรัสเซียแล้วแท้ ๆ 

ผมหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะหยิบยกเรื่องราวนี้มาเป็นบทเรียนถึงหายนะของผู้นำเผด็จการบ้าอำนาจนะครับ

อ้างอิง

Phillips, T. (2019). Humans: A Brief History of How We F*cked It All Up. NY: Hanover Square Press.

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์. (2565). 46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก. https://www.the101.world/mao-zedong/

ความคิดเห็น