ควบคุมตัวเองเพื่อไม่ให้ตกเป็นทาสของสิ่งเร้า เป็นกุญแจเข้าถึงสุขภาพจิตที่ดี

เพราะอะไรเราถึงยกจิตใจของตัวเองใส่มือใครก็ตามที่ผ่านมา เพื่อให้เขาทำร้ายท่านด้วยล่ะ

            พื้นฐานของการมีสุขภาพจิตที่ดีคือการ "รู้สึกดีต่อตนเองและผู้อื่น" เป็นความหมายที่ผมชอบมาก เรียบง่ายมาก การรู้สึกดีต่อผู้อื่นรวมไปถึงการมีทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น หรือหากอธิบายเพิ่มเติมก็คือการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากพอที่จะควบคุมการแสดงของตนเองไม่ให้ไปกระทบกับผู้อื่น และเช่นเดียวกันการรู้สึกดีต่อตนเองก็คือการควบคุมไม่ให้จิตใจของตนเองต้องตกไปสู่สภาพที่เลวร้าย โดยการก่นด่าและทำร้ายตัวเองด้วยความคาดหวังและการตำหนิที่เกินเหตุ

            การที่เราจะสามารถควบคุมตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะต้องเป็นตัวของตัวเองให้มากพอเสียก่อน ข้อความนี้ค่อนข้างเป็นนามธรรม ขอเวลาผมอธิบายอีกเล็กน้อย การที่เราเป็นตัวของตัวเองมันคือการที่เรามีอำนาจมากพอจะสั่งการ ควบคุม และมีสติ เรียกว่าการเป็นนายของตัวเอง ในทางกลับกันหากเราไม่สามารถสั่งการ ควบคุม หรือมีสติ ก็หมายถึงการที่เราตกเป็นทาสของบางสิ่งบางอย่าง

            แล้วเราตกเป็นทาสของอะไร คำตอบก็คือ "อะไรก็ได้" จะเป็นครอบครัว เพื่อน ผู้คนอื่น ๆ หรือ สิ่งของ กล่าวคือ เราสามารถเป็นทาสของทุกสิ่งทุกอย่างได้ทั้งนั้น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือสิ่งเร้า มันคือสิ่งที่เข้ามากระทบเราและทำให้เราแสดงพฤติกรรมออกมา ยกตัวอย่างเช่น เราติดตามข่าวสารอย่างบ้าคลั่ง ไม่ว่าจะเป็นข่าวสงคราม การเมือง หรือข่าวฆาตกรรมหมู่ที่แสนน่าเศร้า มันก็อาจจะทำให้เราตกเป็นทาสของข่าวนั่นเอง

            พวกเราแทบทุกคนต่างเต้นวนไปวนมาเพราะเหตุปัจจัยภายนอกและการตอบสนองโดยไม่ยั้งคิดอยู่ตลอดเวลาเหมือนหุ่นเชิดที่เราปล่อยให้คนอื่นชักใยและเต้นไปตามใจชอบของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นความเห็นที่คลุมเครือของเพื่อนร่วมงาน คนที่เราแอบชอบโทรมา หรือตำวิจารณ์จากคนแปลกหน้า เราถูกปั่นหัวด้วยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เราปล่อยให้พวกเขากดปุ่มบังคับควบคุมเราได้ตลอดเวลา

            แถมเรายังปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีชีวิตอย่างที่ผมได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับข่าวไว้ข้างต้น มาควบคุมและเชิดเราด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นลมฟ้าอากาศ โซเชียลมีเดีย และผลการแข่งขันกีฬามาชักใยเราอีกด้วย ไม่ต่างกับการที่เราเต้นรำกลางแสงแดดสาดส่องและฟาดหัวฟาดหางกับจิตใจของตนเอง เราเชียร์ให้ทีมโปรดทำประตูได้ และไม่พอใจประตูเสมอในช่วงท้ายเกม เหมือนกับในสมัยเด็กที่ผมมักจะทะเลาะกับเพื่อนเรื่องผลการแข่งขันฟุตบอล

เราเต้นวนไปวนมาเพราะเหตุปัจจัยภายนอกและการตอบสนองโดยไม่ยั้งคิดอยู่ตลอดเวลา

            ในหนังสือ Noise: A Flaw in Human Judgment ที่เขียนโดย แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) โอลิวิเยร์ ซิโบนี (Olivier Sibony) และ แคส ซันสตีน (Cass Sunstein)  พวกเขาได้ร่วมกันวิจัยและเขียนหนังสือเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ที่มีสิ่งรบกวน (Noise) มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือสถานการณ์ ที่พวกเขาเรียกว่า "คลื่นรบกวนตามโอกาส" คือความแปรปรวนที่อยู่ปะปนกับความเป็นไปได้ที่เรามองไม่เห็น ทำให้เราตัดสินใจโดยขาดความแม่นยำ ไม่คงเส้นคงวา ถ้าใช้ภาษาด้านการวิจัย เรียกว่า "ไม่เที่ยงตรง"

            พวกเขาได้เล่าถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการพิจารณาคดีในศาลเยาวชน ที่พบว่า ถ้าทีมฟุตบอลท้องถิ่นแพ้การแข่งขันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาจะเขี้ยวเป็นพิเศษเมื่อนั่งบัลลังก์ในวันจันทร์ (บางครั้งก็จะเขี้ยวตลอดสัปดาห์) และจำเลยผิวดำ (การศึกษาในสหรัฐอเมริกา) ได้รับผลกระทบหนักกว่าใครจากความเขี้ยวพิเศษนี้ และยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่ประมวลคำพิพากษา 1.5 ล้านคดีในระยะเวลา 30 ปี ซึ่งได้ข้อสรุปคล้ายกันนั้นคือ หลังวันที่ทีมฟุตบอลท้องถิ่นพ่ายแพ้ ผู้พิพากษาจะตัดสินโทษโหดกว่าหลังวันที่ทีมชนะ

            นี่คือความบ้าคลั่ง จิตใจเป็นของเรา ไม่ใช่สิ่งของที่เราครอบครอง ไม่ใช่เพื่อน ๆ มีเพียงจิตใจเท่านั้นที่เป็นของเรา แต่เราไม่เคยตระหนัก ซึ่งมันดันอยู่ในมือของข่าวสาร ดินฟ้าอากาศ กรรมการผู้ตัดสิน หรือ บุคคลรอบ ๆ ตัวที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับเราแท้ ๆ ในหนังสือ The Little Book of Stoicism ผู้เขียน โยนัส ซัลซ์เกเบอร์ (Jonas Salzgeber) อธิบายว่า "ท่านมีอะไรบางอย่างในตัวเองที่มีพลังอำนาจและศักดิ์สิทธิ์กว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดความปรารถนาทางกายและชักใยท่านราวกับหุ่นเชิดตัวหนึ่ง"

            เราสามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้ปัจจัยภายนอกอะไรบ้างมามีความหมายกับเรา เราไม่จำเป็นต้องถูกลากจูงไปทั่วโดยสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เราสามารถรักษาความสงบนิ่งไว้ได้โดยไม่ต้องเจ็บปวดและรำคาญใจเลยด้วยซ้ำ แทนที่จะถูกลากจูงไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้น เราต้องยึดโยงกับคุณค่าที่ลึกซึ้งนำทางเราไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราต้องยึดโยงกับคุณค่าของความสงบ สันติ ความอดทน ความเมตตา การยอมรับ ความยุติธรรม ความพยายาม และวินัยในตนเอง

            ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะกลับมาควบคุมสถานการณ์ของตัวเราเอง สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คืออย่าให้ตัวเองถูกใช้งาน มาร์คัส ออเรเลียส จักรพรรดินักปรัชญาผู้เรืองอำนาจในยุคโรมัน มักจะเตือนตัวเองให้อยู่ในความสงบ เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาอยู่กับตัวเอง เขาจะพิจารณาปัญหาตรงหน้าอย่างที่มันเป็น ขณะเดียวกันก็รักษาคุณค่าในใจตัวเองไว้ จากนั้นก็เลือกการตอบสนองที่เหมาะสมด้วยความอ่อนโยน สง่างาม และจริงใจ 

            สิ่งที่เขาแนะนำมันง่ายมาก คืออย่าหงุดหงิดและทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้นเอง ถ้าเราใส่ความตระหนักรู้เข้าไปในสถานการณ์ ซึ่งสติพร้อมให้เราใช้งานเสมอ แต่ก่อนอื่นเราต้องพยายามที่จะไม่หงุดหงิด และมองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยใจเป็นกลาง ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาคุณค่าในใจเอาไว้แล้วแสดงออกไปตามนั้น 

            ทั้งหมดนี้จะทำให้เราก้าวถอยออกมาจากสิ่งเหล่านั้น แทนที่จะปล่อยให้มันกวาดเราหายไป เราเพียงต้องหลีกเลี่ยงการตอบสนองที่เร่งรีบเท่านั้นเอง ซัลซ์เกเบอร์ แนะนำให้เรา "หลีกเลี่ยงความเร่งรีบ รักษาความสงบไว้ แล้วเราจะไม่ถูกชักใยให้ลอยไปลอยมาเหมือนหุ่นเชิด"

            เอพิคเตตัส นักปรัชญาสโตอิกชื่อดัง กล่าวว่า "ถ้ามีคนโยนร่างกายของท่านไปให้ใครสักคนที่เดินผ่านไป ท่านก็คงโกรธมาก แต่ท่านกลับยกจิตใจของตัวเองใส่มือใครก็ตามที่ผ่านมา เพื่อให้เขาทำร้ายท่าน ทำให้ท่านคับข้องและสับสน ท่านไม่อายบ้างหรือ" 

            จากแหล่งข้อมูลทั้งหลายสามารถสรุปได้ว่า เรามักถูกชักจูงด้วยสิ่งเร้าและสถานการณ์ที่เกิดรอบ ๆ ตัว ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมซึ่งหลายครั้งเราไม่ได้ปรารถนา ซึ่งเราควรจะรักษาสติและสงบเอาไว้ อย่าให้สิ่งเร้าเชิดเราไปเต้นหรือทำอะไรที่เราไม่ต้องการ เราคงไม่ต้องการเป็นทาสของใครอย่างแน่นอนใช่มั้ยครับ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะกลับมาเป็นนายของตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง 

เพราะนั่นเป็นหนทางเข้าถึงความสงบในจิตใจและการมีสุขภาพจิตที่ดี

อ้างอิง

Kahneman, D., Sibony, O., & Sunstein, C. (2021). Noise: A Flaw in Human Judgment. NY: Little, Brown Spark.

Salzgeber, J. (2019). The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness. https://www.njlifehacks.com/

คาลอส บุญสุภา. (2565). สถานการณ์รอบตัว มีผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์อย่างคาดไม่ถึง. https://sircr.blogspot.com/2022/07/blog-post_29.html

ความคิดเห็น