สถานการณ์รอบตัว มีผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์อย่างคาดไม่ถึง

เราอาจไม่มีวันรู้ได้เลยว่าการตัดสินใจของเราถูกหรือผิดกันแน่

            เป็นเรื่องที่เราเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่ามนุษย์เรามีการตัดสินใจที่ไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า แต่ละคนจะเลือกซื้อสินค้าแตกต่างกัน เวลาที่ผมไปห้องสรรพสินค้า พบมักจะพบเห็นสินค้าที่ให้ตายยังไงต่อให้ผมมีเงินมากมายแค่ไหน ก็จะไม่ซื้ออย่างเด็ดขาด แต่ในความเป็นจริงแล้วสินค้านั้นกลับเป็นสินค้าขายดีอย่างคาดไม่ถึง และผมก็เชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้ก็มักเกิดขึ้นกับผู้อ่านเช่นเดียวกัน สรุปง่าย ๆ ก็คือ เรามีกระบวนการตัดสินใจที่แตกต่างกันออกไป

            คำถามที่น่าสนใจก็คือแล้วการตัดสินใจของเราแตกต่างกันเพราะอะไร ในทางจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์สามารถอธิบายได้อย่างไม่รู้จบ ยกตัวอย่างเช่น ค่านิยมที่แตกต่างกัน ประสบการณ์ในอดีตที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะชอบสะสมการ์ดยูกิอยู่ในปัจจุบัน เพราะในอดีตเรารู้สึกสนุกอย่างมากที่ได้เล่นการ์ดยูกิกับเพื่อน หรือ บางคนอาจจะชอบสะสมโมเดลเพราะในอดีตอยากได้ แต่ที่บ้านไม่มีฐานะมากพอ หรือ บางคนอาจจะต้องการให้มีโทษประหารชีวิต แต่บางคนอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะมีความเชื่อที่แตกต่างกัน

            จะเห็นว่า บุคลิกภาพ ประสบการณ์ในอดีต ความเชื่อ ค่านิยม ที่แตกต่างกันสามารถกำหนดการตัดสินใจของมนุษย์เราให้แตกต่างกันออกไปได้ แต่มีอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะมีผลต่อการตัดสินใจของเราอย่างคาดไม่ถึง นั่นก็คือสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์รอบ ๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศ ความเหนื่อยล้า อารมณ์ (สถานการณ์ภายนอกมากระทบให้เกิด) รวมไปถึงอุนหภูมิห้องก็มีผลต่อการตัดสินใจของเราเช่นเดียวกัน ดังนั้นบทความนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้อ่านที่ปรารถนาจะเข้าใจกลไกทางจิตวิทยาภายในตัวเรา และปรารถนาที่จะเข้าใจตนเองมากขึ้น

สถานการณ์รอบตัวมีผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์

            ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับ อิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้เราแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมา เช่น ความอ่อนโยน อบอุ่น โอนอ่อนผ่อนตามเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมหนึ่ง เช่น ร้านกาแฟ ที่ทำงาน หรืออยู่สังคมที่ไม่คุ้นเคย แต่กลับแสดงพฤติกรรม ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตร เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยอย่างบ้าน หรือเวลาที่อยู่กับเพื่อนสนิท ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมหรือผู้คนที่เราคุ้นเคย

            หรีอสภาพแวดล้อมภายนอก (สิ่งเร้า) ที่กระตุ้นให้เราแสดงออกแตกต่างกันไป เช่น เวลาเราอยู่ในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดก็จะรับประทานอาหารเร็วขึ้น ด้วยสีของร้านบ้าง หรือเพลงบ้าง แต่จะรับประทานอาหารช้าลงหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผ่อยคลาย เพลงเบา ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่วัตถุอย่างเดียวที่มีอิทธิพลต่อเรา แต่สังคมก็มีอิทธิพลกับเราด้วยเหมือนกัน เช่น เราอาจจะค่อย ๆ มีความคิดที่จำเจมากขึ้น เมื่อคนรอบ ๆ ตัวเป็นคนที่คิดแบบจำเจ พูดง่าย ๆ พฤติกรรมเราจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามคนรอบ ๆ ตัว

            จะเห็นว่าบริบท สถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อม มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเราอย่างมาก ซี่งในบทความนี้จะเป็นการต่อยอดเพิ่มเติม แต่จะให้ความสำคัญไปที่กระบวนการตัดสินใจ ดังนั้นอย่างแรกเลยเราต้องเข้าใจการตัดสินใจให้มากขึ้นเสียก่อน ซึ่งการตัดสินใจ หมายถึง กระบวนการที่มนุษย์ใช้ในการตัดสินใจ คัดกรอง หรือระบุทางเลือกเดียวที่ดีที่สุดที่ตรงกับความต้องการ และวัตถุประสงค์ของตนเอง ดังนั้น การตัดสินใจก็คือระบุหรือการเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สอดคล้องกับตัวตนเองของเรานั่นเอง

"ทางไหนคือเส้นทางที่ถูกต้องกันแน่ เราอาจจะไม่มีวันรู้เลยก็ได้"

            จะเห็นว่ากระบวนการตัดสินใจมีความเป็นตัวตนของเราเข้าไปเกี่ยวข้องเยอะมาก จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่เราจะตัดสินใจโดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่เพียงแค่นั้นตัวตนของเรายังได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อม บริบท หรือสถานการณ์ที่มากระตุ้น การตัดสินใจก็เช่นเดียวกันมีอิทธิพลของบริบท สภาพแวดล้อม สถานการณ์เข้ามากระตุ้นให้เราตัดสินใจแตกต่างกันออกไป ในบทความนี้ผมจะใช้คำว่าสถานการณ์ แต่อยากให้ผู้อ่านเข้าใจความสอดคล้องของ สภาพแวดล้อม บริบท และสถานการณ์ว่าเป็นตัวแปรที่แทบจะไม่แตกต่างกัน

            ในหนังสือ Noise: A Flaw in Human Judgment ที่เขียนโดย แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) โอลิวิเยร์ ซิโบนี (Olivier Sibony) และ แคส ซันสตีน (Cass Sunstein) ซึ่งคาฮ์นะมันเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ไม่เพียงแค่นั้น ผู้เขียนท่านอื่นก็เป็นนักวิจัยอันดับต้น ๆ ของโลกเช่นกัน พวกเขาได้ร่วมกันวิจัยและเขียนหนังสือเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ที่มีสิ่งรบกวน (Noise) มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือสถานการณ์ ที่พวกเขาเรียกว่า "คลื่นรบกวนตามโอกาส" คือความแปรปรวนที่อยู่ปะปนกับความเป็นไปได้ที่เรามองไม่เห็น ทำให้เราตัดสินใจโดยขาดความแม่นยำ ไม่คงเส้นคงวา ถ้าใช้ภาษาด้านการวิจัย เรียกว่า "ไม่เที่ยงตรง"

            เหล่าผู้เขียนหนังสือเรื่อง Noise ได้เล่าถึง งานวิจัยเกี่ยวกับการพิจารณาคดีในศาลเยาวชน พวกเขาพบว่า ถ้าทีมฟุตบอลท้องถิ่นแพ้การแข่งขันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาจะเขี้ยวเป็นพิเศษเมื่อนั่งบัลลังก์ในวันจันทร์ (บางครั้งก็จะเขี้ยวตลอดสัปดาห์) และจำเลยผิวดำ (การศึกษาในสหรัฐอเมริกา) ได้รับผลกระทบหนักกว่าใครจากความเขี้ยวพิเศษนี้ และยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่ประมวลคำพิพากษา 1.5 ล้านคดีในระยะเวลา 30 ปี ซึ่งได้ข้อสรุปคล้ายกันนั้นคือ หลังวันที่ทีมฟุตบอลท้องถิ่นพ่ายแพ้ ผู้พิพากษาจะตัดสินโทษโหดกว่าหลังวันที่ทีมชนะ

            ไม่เพียงแค่นั้นเพราะยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ประมวลผลการตัดสินเช่นเดียวกัน แต่งานนี้ประมวลคำตัดสินมากถึง 6 ล้านครั้งในฝรั่งเศษระยะเวลา 12 ปี พบว่าจำเลยได้รับความเห็นใจเป็นพิเศษในวันเกิด (ในที่นี้คือวันเกิดจำเลย) แม้แต่ในปัจจัยที่ไม่เกี่ยวสักนิดอย่างอุณหภูมิของอากาศภายนอกก็มีอิทธิพลต่อผู้พิพากษาเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นมีการศึกษาอีกชิ้นที่ประมวลคำตัดสินของศาลผู้ลี้ภัยจำนวน 207,000 คดี ในช่วงเวลา 4 ปี พบว่าอุณหภูมิของอากาศในแต่ละวันส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าวันไหนอากาศร้อน ผู้ลี้ภัยมักไม่ค่อยได้รับไฟเขียวจากศาล 

            จากการศึกษาทั้งหมดสามารถสรุปได้เลยว่าสถานการณ์รอบตัวอย่างเช่น วันเกิดจำเลย การพ่ายแพ้ของทีมฟุตบอลท้องถิ่น สภาพอากาศภายนอก มีผลต่อการตัดสินคดีความของผู้พิพากษา และสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่คลื่นรบกวนตามโอกาสสามารถเกิดขึ้นกับทุกวงการ ยกตัวอย่างเช่น วงการแพทย์ ที่มีการศึกษาที่การเยี่ยมผู้ป่วยในการรักษาระดับปฐมภูมิเกือบ 700,000 ครั้ง พบว่าแพทย์มักจ่ายยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (ยาแก้ปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง เช่น มอร์ฟีน) ในช่วงท้ายของวันที่เหนื่อยล้า 

            แน่นอนว่าไม่มีเหตุผลเลยที่คนไข้ช่วงสี่โมงเย็นจะมีอาการปวดมากกว่าคนไข้ตอนเก้าโมงเช้า หรือหากหมอตรวจคนไข้ไม่ทันตามกำหนดก็ไม่น่าจะมีผลต่อดุลยพินิจการจ่ายยา นอกจากนี้ รูปแบบดังกล่าวยังไม่เกิดกับดุลยพินิจการจ่ายยาแก้อักเสบประเภทไม่มีสเตรียรอยด์ หรือการตัดสินใจส่งตัวไปพบนักกายภาพบำบัด จึงอาจกล่าวได้ว่า เมื่อหมอถูกกดดันด้วยเวลาที่จำกัด ก็มักจะหันไปพึ่งการแก้ปัญหาแบบเอาง่ายเข้าว่า แม้จะมีผลเสียรุนแรงก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง ที่เมื่อใกล้หมดวัน หมอเลือกจ่ายยาปฏิชีวนะมากกว่าจะให้คนไข้ได้รับการรักษาอื่น ๆ ที่เป็นผลกระทบน้อยกว่า

            ในช่วงท้ายของวัน แพทย์จะมีความเครียด และความเหนื่อยล้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้แม้จะไม่สอดคล้องโดยตรงกับกรณีของผู้พิพากษา แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันบางส่วน นั่นคือ "อารมณ์"  เพราะเมื่อสภาพอากาศแย่ก็ส่งผลต่อความเชื่อมโยงกับการกระตุ้นความทรงจำ เช่น การกำหนดโทษของศาลมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นถ้าอากาศข้างนอกร้อน เช่นเดียวกันความเครียดและความเหนื่อยล้าก็ส่งผลกระต่ออารมณ์ของบุคคล ทั้งหมดนั้นทำให้การตัดสินใจของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่อาจจะส่งผลเสียให้กับจำเลย หรือคนไข้ (หมอส่วนมากที่จ่ายยาแก้ปวดรุนแรงให้กับคนไข้หลังจากเหนื่อยล้า ผู้พิพากษาส่วนมากที่ตัดสินโทษรุนแรงในวันที่อากาศร้อน หรือในสัปดาห์ที่ทีมฟุตบอลแพ้)

            จึงสามารถสรุปได้ว่า ความผิดหวัง ความเหนื่อยล้า ความเครียด สภาพอากาศ และยังมีปัจจัยอีกมากมายที่กระตุ้นให้เกิดความแปรปรวนที่เราไม่ต้องการในการพิจารณาเรื่องเดียวกันโดยคนคนเดียวกัน หรือกล่าวคือทำให้การตัดสินใจของเราเกิดข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นผมไม่สามารถสรุปได้ว่าในวันที่อากาศสบาย อารมณ์ดี หรือช่วงเช้าของวันจะทำให้เราตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราอาจไม่มีวันรู้ได้เลยว่าการตัดสินใจของเราถูกหรือผิดกันแน่ ทำได้เพียงแค่พิจารณาเป็นรายกรณี ไป

และใช้สติในการประเมินสถานการณ์รอบ ๆ ตัวอยู่เสมอ

ความจริงมักจะชกที่หน้าเราอยู่เสมอ

            เวลาที่เราเผชิญหน้ากับความจริง โดยส่วนใหญ่เราจะรู้สึกอับอาย และเจ็บปวด หลายครั้งเราไม่อยากนึกถึงมัน ลองนึกภาพผู้พิพากษาหรือหมอที่รู้ว่าตัวเองทำในสิ่งที่ผิดพลาด เพียงแค่อยู่ในสถานการณ์ที่เหนื่อยล้า หรือวันที่อากาศอบอ้าวดูสิครับ พวกเขาคงจะรู้สึกแย่ อับอาย และเจ็บปวด หรือไม่ก็ปฏิเสธความจริงไปเลย ซึ่งคนส่วนมากเลือกทางนี้เพราะง่ายที่สุด ไม่เจ็บปวด แต่เมื่อใช้บ่อย ๆ ก็มักจะทำให้เราเสียนิสัย และกลายเป็นคนที่ไม่ได้ความไปในท้ายที่สุด

            ความจริงสำหรับผมจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเสมอ เมื่อเราพบเจอกับมันเราจะต้องเข้มแข็งและยอมรับเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าให้ได้ ซึ่งผมคิดว่ามันจะเกิดผลดีในท้ายที่สุดกับตัวเราเอง และวิธีอย่างหนึ่งที่เราสามารถใช้ได้ก็คือการสังเกต และใช้สติ พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว เรารู้สึกอย่างไรในวันที่อากาศร้อน อบอ้าว เราสื่อสารอย่างไรกับคนที่เค้าปฏิบัติกับเราดีหรือไม่ดี เรามักจะอารมณ์ร้อนเมื่อสิ่งรอบ ๆ ตัวเป็นอย่างไร เหมือนกับการที่เรารู้ตัวว่าเราจะทำงานได้ดีมากขึ้นเมื่อฟังเพลงที่ชอบ เพลงบรรเลง หรือเสียงธรรมชาตินั้นแหละครับ

            สิ่งที่ผมอยากจะปิดท้ายก็คือ แทบจะตลอดเวลาเราส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่กับความเชื่ออย่างไม่เคยตั้งข้อสงสัย เราเชื่อว่าโลกเป็นอย่างที่เราคิดว่ามันเป็น นักจิตวิทยาด้านพัฒนาการเชื่อว่า การยึดตัวเป็นศูนย์กลางได้หายไปจากเราเมื่อเราเติบโตขึ้น แต่ผมคิดว่าเราค่อย ๆ เข้าใจความเป็นจริงของโลกมากขึ้นมาผ่านประสบการณ์ และการเติบโตของสติปัญญา กล่าวคือ เราไม่ได้เลิกยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่เราค่อย ๆ ประนีประนอมกับความเป็นจริง อันเป็นผลจากสติปัญญาที่พัฒนามากขึ้น

            จึงเป็นเหตุผลที่ในปัจจุบันแม้ว่าสมองของเราจะพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว แต่เราก็ยังเชื่อว่า "คนอื่นก็มองโลกอย่างที่ฉันมองนี่แหละ" ความเชื่อแบบนี้ เหล่าผู้เขียนหนังสือ Noise เรียกมันว่า สัจจนิยมสามัญ หรือสัจจนิยมผิวเผิน (Naive realism) คือแนวคิดด้านจิตวิทยาสังคมที่พูดถึงแนวโน้มของมนุษย์ที่คิดว่าทุกคนต้องคิดเห็นและมองสิ่งต่าง ๆ เหมือนกันไปหมด หรือสิ่งที่มองเห็นกับความเป็นจริงคือสิ่งเดียวกัน 

            สัจจนิยมผิวเผิน (ขอใช้คำนี้น่าจะเข้าใจง่ายกว่า) มีส่วนสำคัญต่อการเข้าใจความจริงผ่านการสื่อสารกับผู้อื่น เราไม่ค่อยตั้งคำถามกับมัน เรายึดมั่นอยู่กับการตีความโลกรอบตัวเราเพียงแบบเดียว และน้อยครั้งที่จะพยายามนึกถึงความเป็นไปได้อื่นที่แตกต่างออกไป การตีความแบบเดียวนี้เพียงพอสำหรับเราแล้ว ประสบการณ์ของเรายืนยันว่ามันถูกต้องแท้จริง เราไม่ได้ใช้ชีวิตโดยการจินตนาการถึงโลกแบบอื่นไปพร้อม ๆ กัน พูดง่าย ๆ เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจกับผู้คนบนโลกใบนี้ 

โดยไม่ได้สังเกตเลยว่าพวกเขาไม่ได้มองโลกแบบเดียวกับเรา

อ้างอิง

Gladwell, M. (2002). The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference NY: Back Bay Books.

Kahneman, D., Sibony, O., & Sunstein, C. (2021). Noise: A Flaw in Human Judgment. NY: Little, Brown Spark.

คาลอส บุญสุภา. (2564). อิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม (Environmental Influences). https://sircr.blogspot.com/2021/10/environmental-influences.html

ความคิดเห็น