การปล่อยวาง คือสิ่งสำคัญที่ทุกคนรู้ดีแต่ทำยาก

"สุดท้ายความจริงก็จะต้องวิ่งชนเราจนกระเด็นหงายหลังล้มไปอยู่ดี"

            คำว่า "ปล่อยวาง" เป็นคำพูดที่ติดปากคนแทบทุกคน ลองจินตนาการถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่กำลังเมามายกันอยู่ในบาร์แห่งหนึ่ง จากนั้นมีหนึ่งในเพื่อนที่พึ่งอกหักจากผู้หญิงในฝันร้องไห้ฟูมฟายออกมา ผมเชื่อว่าจะต้องมีเพื่อนสักคนที่พูดปลอบเพื่อนผู้แสนอ่อนไหวและกำลังเจ็บปวดคนนั้นว่า "ปล่อยวางเถอะ" อย่างแน่นอน

            หากเจาะลึกลงไปบนความเจ็บปวดของการอกหักจะพบว่า มันคือการที่เราคาดหวังให้ใครสักคนหนึ่งรักและทำในแบบที่เราคิด แต่ทุก ๆ อย่างมันเหนือการควบคุมของเรา เขาหรือเธอคนนั้นเปลี่ยนไป ทุก ๆ อย่างที่เราคาดหวังก็กลายเป็นความรู้สึกผิดหวัง แล้วสุดท้ายก็... "เราเลิกกันเถอะ" 

            ความคาดหวังไม่เพียงเกิดขึ้นแค่กับความรักอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกสถานการณ์ ไม่จำเป็นต้องเป็นความสัมพันธ์เท่านั้น แต่อาจจะเป็นดิน ฟ้า อากาศ สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ มนุษย์มีกลไกป้องกันตัวเองที่จะพยายามอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นให้สอดคล้องกับความคิดของตนเอง เป็นสัญชาตญาณที่พยายามทำให้สิ่งรอบตัวที่ยากต่อการเข้าใจ กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับตัวเราเอง

            อาจจะเรียกกระบวนการนี้ว่า "อคติ" หรือ "กลไกป้องกันตนเอง" ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริง เพราะสุดท้ายความจริงก็จะต้องวิ่งชนเราจนกระเด็นหงายหลังล้มไปอยู่ดี ความผิดหวังก็จึงเกิดขึ้นมา ความเศร้า ความไม่สบายใจ หรือเรียกรวมกันว่าความทุกข์ จากนั้นสำหรับหลายคนอาจจะกลายเป็นความโกรธแค้น เกลียดชังตามมา 

            ความทุกข์คือธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน มันเป็นการที่มนุษย์พยายามฝืนต้านกระแสน้ำแห่งความจริง แดน มิลล์แมน (Dan Millman) อธิบายไว้ในหนังสือชื่อ Way of the Peaceful Warrior: A Book That Changes Lives ว่า "เหตุการณ์ต่าง ๆ อาจทำให้เราเจ็บปวดทางกายก็จริง แต่ความทุกข์เกิดจากการฝืนต้านในสิ่งที่เป็น จากการต่อสู้กับความจริง" นักเรียนที่ทุกข์เพราะได้คะแนนสอบ 27/30 (เพื่อนได้คะแนนเต็ม) หรือพนักงานที่ทุกข์เพราะตกงาน หรืออื่น ๆ อีกมากมาย 

ความทุกข์เกิดจากการฝืนต้านในสิ่งที่เป็น จากการต่อสู้กับความจริง

            เมื่อความจริงบังเกิดขึ้นตรงหน้า สอบได้คะแนนไม่ได้ดั่งใจหรือจะตกงานก็ตาม มนุษย์จะพยายามต่อต้านความจริงนั้น โดยกลั่นออกมาเป็นความรู้สึกเชิงลบ เช่น เศร้า ไม่สบายใจ เครียด โกรธ หรืออิจฉา เพื่อจะทำอะไรกับสถานการณ์นั้นสักอย่าง แต่ก็อย่างที่ผมกล่าวเอาไว้ข้างต้นว่า "สุดท้ายความจริงก็จะต้องวิ่งชนเราจนกระเด็นหงายหลังล้มไปอยู่ดี" กล่าวคือเราทุกข์เพราะความคาดหวังที่กำลังต่อสู้กับความจริง

            "ฉันต้องได้คะแนนเต็มสิ" หรือ "คนมีความสามารถและสำคัญอย่างฉันไม่ควรตกงาน" เราอยากให้ทุกอย่างเป็นในแบบที่เราต้องการ ในแบบที่เราคาดหวังว่ามันน่าจะเป็น เราพยายามจะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งมันเป็นไม่ได้ ผลสุดท้ายก็คือความผิดหวัง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราปรารถนาสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจควบคุม ความสงบนิ่งและความมั่นใจของเราจะปั่นป่วน 

            แน่นอนในสถานการณ์ที่เราพบเจอกับความทุกข์ เราอาจจะบอกกับตัวเองว่า "ปล่อยวางสิ" "ปล่อยวางเถอะ  เดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเอง" แต่ร่างกายและจิตใจของเราโดยส่วนมากก็มักจะไม่วิ่งตามคำภาวนานั้น ตรงกันข้ามความทุกข์แทบจะไม่ขยับไปไหนเลยด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมจิตใจของตัวเอง ให้เข้าใจความเป็นจริง และปล่อยวางได้

            ในมหากาพย์เมตามอร์โฟเซส (Metamorphoses) โอวิด (Ovid) ได้บรรยายถึงมีเดียผู้ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างความรักที่เธอมีจต่อเจสันกับหน้าที่ที่มีต่อบิดา เธอจึงคร่ำครวญว่า "ข้าถูกลากไปด้วยพลังประหลาดแบบใหม่ ความปรารถนาและเหตุผลดึงข้าไปคนละทาง ข้าเห็นเส้นทางที่ถูกต้องและยอมรับว่าถูก ทว่ากลับเดินไปตามเส้นทางที่ผิด"

            ผมชอบการพรรณาของมีเดียอย่างมาก เพราะมันสะท้อนถึงธรรมชาติของมนุษย์ผู้ที่มักจะเดินตามเส้นทางแห่งอารมณ์ มากกว่าความคิดที่สมเหตุสมผล ในหนังสือ The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness ผู้เขียน โยนัส ซัลซ์เกเบอร์ (Jonas Salzgeber) ได้แนะนำให้ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับทุกเรื่องไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ถ้ามันมีคนขับรถตัดหน้าก็ปล่อยเขาไป ถ้าเกรดออกมาแย่หรือไม่ตรงตามความต้องการของเรา มันก็ต้องเป็นแบบนั้น และเรามีโอกาสทำให้มันดีขึ้นได้ หรือจัดการกับความปรารถนาที่ไม่สมเหตุสมผล (อยากได้คะแนนเต็ม) 

            การปล่อยคือสิ่งที่จะช่วยเราให้ลุกขึ้นเมื่อเราวิ่งชนเข้ากับความจริงจนเจ็บปวด มันคือการที่เราตระหนักรู้ว่า "เราสามารถควบคุมการกระทำของเราได้ แม้ไม่อาจควบคุมผลลัพธ์ได้ก็ตาม" ดังนั้นเราควรจะพุ่งความสนใจไปกับสิ่งที่เราควบคุมได้ และปล่อยให้ทุกอย่างที่เหลือเกิดขึ้นอย่างที่มันเป็น เพราะสิ่งที่เหลือเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเราเลย 

            เราไม่สามารถควบคุมคนรักให้รักเราตลอดไปได้ เราไม่สามารถควบคุมให้คนอื่นตามใจเราได้เสมอไป เราไม่สามารถควบคุมครูเพื่อให้เกรดตามใจเราได้ และเราไม่สามารถควบคุมผู้บริหารเพื่อให้เราได้ทำงานอยู่ต่อไปได้ ถ้ารถไฟมาช้า มันก็คือช้า บางทีมันอาจจะดีก็ได้ที่มันมาช้า ใครจะไปรู้ แต่ทั้งหมดที่เรารู้ก็คือรถไฟยังไม่มา ดังนั้นชั่งมัน 

"เพราะคนอื่นเป็นคนขับรถไฟ ไม่ใช่เราที่เป็นคนขับ ปล่อยวางเถอะ"

อ้างอิง

Millman, D. (2006). Way of the Peaceful Warrior: A Book That Changes Lives. CA: HJ Kramer.

Salzgeber, J. (2019). The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness. https://www.njlifehacks.com/

คาลอส บุญสุภา. (2564). ความลับของจิตไร้สำนึก หรือ จิตใต้สำนึก (Unconsciouns). https://sircr.blogspot.com/2021/07/unconsciouns.html

ความคิดเห็น