วัฒนธรรมการเอาหน้าสร้างภาพ พิษระบาดในสังคมการทำงาน

คนที่กระหายความสนใจและการยอมรับ พวกเขาพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา 

            ในช่วงเวลาที่ผมพูดคุยกับเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนที่ทำงานในหลากหลายองค์กรแตกต่างกัน มีหลายสิ่งที่พวกเราพบเจอเหมือนกันไม่ว่าะจะเป็น ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ การใช้อำนาจเกินขอบเขตของผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าของบริษัท การนินทาลับหลัง การใช้อารมณ์โกรธอย่างรุนแรง รวมไปถึงการเอาหน้าสร้างภาพ

            ปัญหาทั้งหมดที่ผมรวบรวมได้จากการสนทนาล้วนเป็นสิ่งที่เลวร้ายในองค์กรทั้งสิ้น และสามารถสร้างผลกระทบทางจิตใจต่อพนักงานอย่างรุนแรงได้เลย แต่มีปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจเพราะไม่ได้สร้างผลกระทบทางจิตใจที่รุนแรงอะไรถ้าเทียบกับการใช้อำนาจรูปแบบอื่น ๆ แต่มันเป็นความน่ารำคาญ น่าหงุดหงิด และน่าขำขัน ซึ่งผมคิดว่าเราทุกคนน่าจะพบเห็นหรือมีหลายคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้นั่นคือ "พฤติกรรมการเอาหน้าสร้างภาพ"

            เหตุผลที่ผมสนใจพฤติกรรมนี้เพราะไม่ว่าผมจะเรียนหรือทำงานที่ไหนก็ตาม ผมมักจะพบบุคคลที่มีพฤติกรรมประเภทนี้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเจตนาส่งงานดึกดื่น การบอกกับหัวหน้าว่าตัวเองทำอะไรบ้างตลอดทุกครั้งที่เจอ การอยู่ในที่ทำงานจนดึกดื่น และที่เลวร้ายที่สุดคือการกดคนอื่นเพื่อให้ตัวเองดูดี ซึ่งหมายถึง การที่คนคนหนึ่งพยายามทำให้ตัวเองดูดีโดยการโทษคนอื่นหรือดูถูกคนอื่นให้ตกต่ำ

            โดยเฉพาะการโทษคนอื่นหรือดูกถูกคนอื่นนี้แหละที่สามารถสร้างผลกระทบทางจิตใจให้กับผู้คนในที่ทำงานได้อย่างคาดไม่ถึง นอกจากนั้นพฤติกรรมเหล่านี้ยังพบเห็นและสามารถก่อตัวจนกลายเป็นวัฒนธรรมได้ เพราะพฤติกรรมการเอาหน้าสร้างภาพเหมือนกับสารพิษที่สามารถแพร่กระจายได้เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ซึ่งผมเรียกว่า "วัฒนธรรมการเอาหน้าสร้างภาพ" 

            ผมได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการเอาหน้าสร้างภาพว่ามีหลักทางจิตวิทยาใดบ้างที่อยู่เบื้องหลังและพบว่ามีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้อง แต่ในบทความนี้ผมจะพูดถึงปัจจัยใหญ่ ๆ ที่ผู้อ่านหลายคนสามารถเชื่อมโยงและเข้าใจได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจธรรมชาติของผู้คนที่แสดงพฤติกรรมนี้ หรือได้พิจารณาสำรวจตัวเองเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมแบบนี้ที่สามารถก่อตัวเป็นผลกระทบเชิงลบให้กับองค์กรได้

การกดคนอื่นเพื่อตัวเองดูดี คือการที่คนคนหนึ่งพยายามทำให้ตัวเองดูดีโดยการโทษคนอื่นหรือดูถูกคนอื่น

            อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น พฤติกรรมการเอาหน้าสร้างภาพสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่มีสาเหตุทางจิตวิทยาใหญ่ ๆ ไม่กี่อย่างเท่านั้นที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งผมแบ่งออกเป็น 3 ข้อใหญ่ดังต่อไปนี้

            1) ความไม่ปลอดภัย ข้อนี้เป็นปัจจัยที่ใหญ่ที่สุดเบื้องหลังพฤติกรรมการเอาหน้าสร้างภาพ ซึ่งเรามักจะพบเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ในองค์กรที่มีแข่งขันค่อนข้างสูง หรือมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย พนักงานรู้สึกเหมือนโดนบีบให้มีคุณค่าลดน้อยลงทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ทำให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังอยู่ในที่ที่ไม่ปลอดภัยและต้องหาทางทำอะไรสักเพื่อจะให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

            อย่างไรก็ตามพฤติกรรมที่แสดงออกมาขึ้นอยู่กับตัวบุคคลแต่ละคน บางคนอาจจะแค่เอาหน้าแบบทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น อาสาช่วยงาน ชมเชย ตอบรับข้อความในไลน์ตลอดเวลา ซึ่งผมมองว่ามันก็น่ารักดีไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็มีพฤติกรรมบางอย่างที่รุนแรงเกินไป เช่น ดุด่าว่ากล่าวเพื่อนร่วมงานต่อหน้าผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าของบริษัท เพื่อให้ตัวเองรู้สึกเหนือกว่าหรือรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น "ฉันไม่ได้เป็นคนทำผิดนะพวกมันต่างหาก"

            2) กระหายสถานะทางสังคม สถานะทางสังคมคือระดับคุณค่าทางสังคมอันประกอบไปด้วย ความเคารพ เกียรติยศ คุณค่า ความนับถือที่บุคคลพิจารณาว่าตนได้ถือครอง ซึ่งเรามักจะใช้วิธีการเปรียบเทียบกับผู้อื่นรอบตัวเพื่อกำหนดสถานะทางสังคมให้กับตัวเองโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เป็นกลไกเพื่อวิเคราะห์ว่าเราบางสิ่งบางอย่างมากพอหรือไม่ เมื่อเพื่อนบ้านถอยรถคันใหม่ เราไม่ได้คิดหรอกว่า "ดีจัง รถสวย" หรือ "ดีจัง แบบนี้ต้องหามาขับบ้าง" แต่เรารู้สึกอยากแข่งขันขึ้นมา และหันมามองรถตัวเอง พร้อมกับสังเกตเห็นว่ารถตัวเองเก่าแล้ว หรือรถคันนี้ไม่ดีเหมือนเมื่อก่อนเลย 

            ยกตัวอย่างการศึกษาหนึ่งของคอลเลจบอร์ด (College Board) ซึ่งเป็นผู้ออกข้อสอบ SAT สำหรับเข้ามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจำนวนราวหนึ่งล้านคน ระบุอันดับของตนเองโดยเทียบกับนักเรียนกลุ่มมัธยฐาน (กลุ่มที่มีคะแนนอยู่ในระดับกลาง) การจัดอันดับไม่ได้พิจารณาแค่ผลการสอบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลักษณะส่วนตัว เช่น ความเป็นผู้นำและการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น นักเรียนร้อยละ 70 ระบุว่าตัวเองอยู่เหนือมัธยฐานด้านความเป็นผู้นำ และร้อยละ 85 ระบุว่าตัวเองอยู่เหนือมัธยฐานด้านการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น               

            การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าคนเราส่วนมากเชื่อว่าตนเองฉลาด อดทนอดกลั้น มุ่งมั่น ตั้งใจ เก่ง และมีคุณสมบัติเชิงบวกอื่น ๆ เหนือกว่าคนทั่วไป ยิ่งเราให้ความสำคัญกับคุณลักษณะนั้น เราก็ยิ่งให้คะแนนตัวเองเกินจริงมากขึ้น ทั้งหมดนี้คือการผลักดันให้ตัวเองก้าวเข้าสู่บันไดในใจขั้นสูงขึ้นและเป็นบันไดที่สูงกว่าผู้อื่น

            อย่างไรก็ตามการดันตัวเองให้สูงกว่าคนอื่นก็ไม่ได้เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะยกระดับสถานะทางสังคม หลายครั้งการดึงคนอื่นให้ต่ำลงมาด้วยก็สามารถยกระดับสถานะทางสังคมได้เช่นกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่หลายคนในองค์กรเลือกใช้วิธีการดุ ด่า ตำหนิ ผู้อื่นให้ผู้คนมากมายเห็นทั้ง ๆ ที่มันไม่จำเป็น เพราะมันทำให้เหยื่ออยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า หรือแม้แต่การสร้างภาพว่าขยันและทุ่มเทมากกว่าคนอื่นก็เป็นการกดคนอื่นให้ต่ำลงกว่าตัวเองได้เช่นเดียวกัน

            3) อยากได้รับความสนใจและการยอมรับ ข้อนี้เป็นพื้นฐานทั่วไปเหตุผลที่ผมรวมเอาความอยากได้รับความสนใจกับการยอมรับขึ้นมาเพราะว่า ตัวแปรทั้งสองมีความสอดคล้องกัน ซึ่งมันอาจจะมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กของแต่ละคน บุคคลบางคนอาจจะได้รับความสนใจมาตั้งแต่วัยเด็ก อาจจะเป็นลูกคนเล็กจึงเสพติดนิสัยที่จะต้องมีผู้อื่นคอยให้ความสนใจอยู่เสมอ และเลือกที่จะแสดงพฤติกรรมอะไรก็ได้เพื่อให้คนสนใจและการยอมรับอย่างที่เคยได้มาก่อน

            แต่ในบางกรณีวัยเด็กของใครหลายคนอาจจะไม่ได้รับความสนใจและการยอมรับเลย จึงทดแทนความรู้สึกลึก ๆ ที่ปรารถนา โดยการทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนสนใจและยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมเอาหน้าพื้นฐานไปจนถึงการกดคนอื่นเพื่อตัวเองได้รับความสนใจและการยอมรับ 

            ข้อนี้มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะกับคนที่กระหายความสนใจและการยอมรับ พวกเขาพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา บางคนไม่รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองในด้านอื่น เพื่อนไม่ให้ค่า ครอบครัวไม่ให้ค่า "อย่างนั้นฉันขอมีค่าในที่ทำงานแล้วกัน" ใครบางคนอาจจะโกหกสร้างเรื่องให้ตัวเองได้รับความสนใจ ยอมรับ หรือยกย่อง ยกตัวอย่างเช่น การพูดถึงผลงานประสบความสำเร็จหรือความสามารถของตัวเองที่เกินความเป็นจริงออกมาบ่อย ๆ 

            และหากมันไม่มากพอ "ฉันก็พร้อมที่จะสร้างความดราม่า สร้างความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ และการนินทาลับหลังร้าย ๆ" ผู้อ่านจะเห็นว่าพฤติกรรมลบ ๆ เกือบทุกอย่างสามารถแสดงออกมาได้จากบุคคลที่เสพติดความสนใจและการยอมรับ จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างมากที่คนประเภทนี้ได้ถือครองอำนาจควบคุมผู้คนจำนวนมาก เพราะมันอาจจะนำมาซึ่งความพินาศย่อยยับขององค์กรได้

            สามข้อที่ผมกล่าวไปยังไม่ใช่ปัจจัยทางจิตวิทยาทั้งหมดที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมการเอาหน้าสร้างภาพ ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่ผมยังไม่กล่าวถึง แต่สิ่งที่สำคัญก็คือพฤติกรรมนี้สามารถกลายไปเป็นวัฒนธรรมขององค์กรได้ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้บังคับบัญชา หากเขาเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้แล้วเมินไม่ให้คุณค่ากับพฤติกรรมเหล่านี้ วัฒธรรมที่เป็นพิษนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นมา

            ในทางตรงกันข้ามหากผู้บังคับบัญชาเห็นดีเห็นงามกับคนที่เอาหน้าสร้างาภพ กับคนที่กดคนอื่นเพื่อให้ตัวเองได้รับความสนใจ การยอมรับ รู้สึกสึกปลอดภัย และมีสถานะทางสังคมที่สูงขึ้น พนักงานหลายคนก็รู้สึกมีคุณค่าในตัวเองที่ลดลงและก็พร้อมจะทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเอง พวกเขาก็จะแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ออกเพื่อความอยู่รอด 

ซึ่งจะทำให้เกิดพิษแห่งการเอาหน้าสร้างภาพที่ระบาดไปทั่วทุกทิศในองค์กรต่อไป

อ้างอิง

Parvez, H. (2021). The psychology of people who show off. https://www.psychmechanics.com/people-who-show-off/

Payne, K. (2017). The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die. NY: Viking.

คาลอส บุญสุภา. (2565). เราทุกคนต่างโหยหา สถานะทางสังคม แทบทั้งสิ้น (Social Status). https://sircr.blogspot.com/2022/07/social-status.html


ความคิดเห็น